ขอบคุณคูเวตจัดโครงการ “อักศอสยอง”

รัฐบาลคูเวตโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับองค์กรและประชาชนชาวคูเวตจัดโครงการ “อักศอสยอง” เพื่อรณรงค์บริจาคช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ ในวันที่ 21/5/2021 ที่ผ่านมา โดยภายในคืนเดียวสามารถระดมเงินบริจาคทั้งสิ้นจำนวน 2,331,267 ดีนาร์คูเวต (1 ดีนาร์ = 104.39 บาท) หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 243,360,962 บาท ขณะนี้ได้ปิดการรับบริจาคแล้ว

การรณรงค์ครั้งนี้มีหน่วยงานรัฐบาลเอกชน บริษัท องค์กร มูลนิธิและบุคคลชาวคูเวตจำนวน 58,965 รายเข้าร่วม โดยเร่งให้ความช่วยเหลือ 3 ด้าน ได้แก่การแพทย์ อาหารและที่อยู่อาศัย ที่ครอบคลุมทั้งในเขตกาซ่าและเวสต์แบงค์ โดยเฉพาะบริเวณอัลกุดส์

นี่คือ 1 ในความดีงามที่อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นรางวัลให้แก่ชาวปาเลสไตน์ หลังจากถูกโอบล้อมมิให้ส่งความช่วยเหลือใดๆแก่ชาวกาซ่านานกว่า 15 ปี

ต่อไปนี้ชาวกาซ่าจะถูกต่อเครื่องหายใจโดยชาวโลก โดยเฉพาะประชาชาติอิสลามที่มีจำนวนเกือบ 2 พันล้านคน หลังจากที่พวกเขาโดนบีบคอนานกว่า 15 ปี

อัลลอฮ์ให้ทางออกแก่ผู้ศรัทธาเสมอ

ถึงแม้จะใช้เวลานานและผ่านความยากลำบากสักปานใดก็ตาม

https://4aqsa.com/ensan?fbclid=IwAR2vDEtVikDHLhjPU7XPpzRAwbn2A2Jd6UXV0NE4xyovhxa0RCrPcompHFg


โดยทีมข่าวต่างประเทศ

การละหมาดและการละศีลอดครั้งแรก จากมัสยิดอายาโซเฟีย หลังจากปิดไป 86 ปี

เสียงอะซานแรกสำหรับละศีลอดดังขึ้นอีกครั้งจากหออะซานของมัสยิดอายาโซเฟียในเมืองอิสตันบูลของตุรกี  หลังจากหยุดชะงักไป 86 ปี จากการเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี 1934

ฉากทัศนียภาพกระชากหัวใจของสุเหร่าอายาโซเฟียในเย็นวันอังคาร เมื่อผู้อะซานได้ขึ้นไปบนหออะซานหนึ่งของมัสยิดอายาโซเฟีย อันเป็นหนึ่งในสี่หอของมัสยิด เพื่อให้สัญญาณละศีลอดและประกอบพิธีละหมาดสำหรับวันแรกของเดือนรอมฎอน

ช่างภาพในภูมิภาคได้จับภาพผู้อะซานที่ขึ้นไปยังหอคอย ในขณะที่อะซานดังก้องไปทั่วทั้งบริเวณ  สถานที่ที่ปรากฏขึ้นด้านหลังยังมีมัสยิดสุลต่านอาห์เหม็ดและเรือบางส่วนที่เตรียมจะข้ามช่องแคบบอสฟอรัส

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2020 ศาลยุติธรรมของตุรกีได้ออกคำพิพากษาให้อายาโซเฟียคืนสภาพกลับไปเป็นมัสยิดเหมือนเดิม หลังจากเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี  1934

คำพิพากษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในตุรกีโดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน  รวมถึงการสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่ปรากฏบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ในตุรกีตลอดจนนักวิชาการมุสลิมหลายพันคนทั่วโลก  ที่ยกย่องช่วงเวลาประวัติศาสตร์นี้ซึ่งพวกเขาเห็นว่า เป็นการฟื้นฟูสิทธิของชาวมุสลิมที่ถูกลิดรอนไป


โดย Ghazali Benmad

ดิ้นเฮือกสุดท้ายของกลุ่มเคมาลิสต์

ตุรกีเริ่มสอบสวน 103 นายพลนอกราชการที่ร่อนแถลงการณ์ปกป้องอะตาเติร์กและคัดค้านรัฐบาลตุรกี

กระทรวงกลาโหมตุรกีโจมตีแถลงการณ์ของนายทหารตุรกีที่เกษียณอายุแล้วว่า “ตาบอดเพราะความโลภและความอิจฉา”

วันอาทิตย์วันนี้ 4/4/2021 กระทรวงกลาโหมตุรกีโจมตีถ้อยแถลงของนายพลตุรกีที่เกษียณอายุราชการซึ่งออกเมื่อเย็นวันเสาร์

“กองทัพไม่สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ส่วนตัวของผู้ที่ไม่มีภารกิจหรือความรับผิดชอบใด ๆ ” กระทรวงกล่าวในแถลงการณ์

และเสริมว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าการเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวมีแต่จะทำร้ายประชาธิปไตยของเรา”

และเน้นว่า “ไม่สามารถใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายความทะเยอทะยานและความหวังส่วนตัวของผู้ที่ไม่มีภารกิจหรือความรับผิดชอบใด ๆ “

กระทรวงเน้นย้ำว่า “ผู้ที่ตาบอดและไม่ต้องการเห็นความสำเร็จของกองทัพตุรกี ทั้งกองทัพเรือ  กองทัพบกและกองทัพอากาศ  เป็นกลุ่มเดียวที่ถูกบังตาด้วยความโลภและความอิจฉา “

นอกจากนี้ในวันอาทิตย์วันนี้ สำนักงานอัยการในกรุงอังการาเมืองหลวงของตุรกีได้เปิดการสอบสวนแถลงการณ์ดังกล่าวของนายทหารที่เกษียณอายุแล้ว

ทั้งนี้ นายพลที่เกษียณอายุราชการ 103 คนในกองทัพเรือตุรกีลงนามในแถลงการณ์เมื่อเย็นวันเสาร์โดยมุ่งโจมตีรัฐบาลตุรกีและประธานาธิบดีแอร์โดฆานของตุรกี พร้อมข่มขู่สำทับ ห้ามแตะรัฐธรรมนูญและค่านิยมของอะตาเติร์ก


โดย Ghazali Benmad

ผลงานเถื่อนบัชชาร์

โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในแอเลบโปโดนกองกำลังทมิฬบัชชาร์ที่สนับสนุนโดยอิหร่านถล่มด้วยขีปนาวุธ ทำให้เด็กน้อย 6 คนเสียชีวิต และโรงพยาบาลได้รับความเสียหายทั้งหลัง

นับเป็นเวลานาน 10 ปีที่นายบัชชาร์ อะสัด เข่าฆ่า สังหารและทำลายบ้านเรือน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเปิดเผยจากกองกำลังที่มาจากอิหร่าน แต่ประชาคมโลกยังทำอะไรไม่ได้กับบัชชาร์แม้เพียงประณาม


ขอบคุณคลิปจาก TRT عربي

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

4 บุคคลทรงอิทธิพลในซีเรีย

หลังจากซีเรียต้องอยู่ภายใต้อุ้งมือของ 2 พ่อลูกตระกูลอะสัดมานานกว่า 50 ปี ซีเรียมีบุคคลอย่างน้อย 4 คนที่ทรงอิทธิพลเหนือดินแดนชาม ได้แก่

            1.         ฮาฟิศ อะสัด ถือกำเนิดที่เมืองลาซิกียะฮ์ ถิ่นผู้นับถือลัทธินุศ็อยรีย์มีจำนวนไม่ถึง 5% ของประชากรซีเรียซึ่งมีจำนวนกว่า 90% ของประเทศเป็นมุสลิมสุนหนี่ สมัยที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปี 1967 เขาได้ฝากผลงานชิ้นโบว์แดงด้วยการขายที่ราบสูงโกลันให้แก่อิสราเอลในละครสงคราม 6 วันด้วยการรับสินบนจำนวน 6 ล้านดอลลาร์ ในปี 1970 เขาได้รับการคัดเลือกเป็นผู้นำด้วยคะแนนสนับสนุนท่วมท้นจำนวน 99.98 % โดยมีเสียงไม่เห็นด้วยเพียง 219 เสียงเท่านั้น เขาปกครองซีเรียทั้งประเทศเหมือนเป็นเรือกสวนไร่นาของตัวเอง ท่ามกลางน้ำตา คราบเลือดและซากศพของผู้บริสุทธิ์ชาวมุสลิมสุนหนี่ผู้บริสุทธิ์ เขาเสียชีวิตหลังจากสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าเหนือแผ่นดินซีเรียเมื่อปีค.ศ. 2000 ขณะอายุ 70 ปี

            2.         ชัยค์อัลอัลลามะฮ์ มูฮัมมัด สะอี้ด รอมฎอนอัลบูฏีย์ ชาวเคิร์ดผู้ถือกำเนิดที่ตุรกี แต่อพยพพร้อมบิดาและครอบครัว ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่กรุงดามัสกัส ซีเรีย เป็นอุละมาอฺผู้ยิ่งใหญ่สายอะชาอิเราะฮ์ ด้วยผลงานทางวิชาการด้านอิสลามศึกษามากมาย ชัยค์อัลบูฏีย์ถือเป็นผู้สนับสนุนผู้นำ 2 พ่อลูกตระกูลอะสัดอย่างสุดซอย ท่านได้นำละหมาดญะนาซะฮ์ของนายฮาฟิศ อะสัด และร่ำไห้ต่อหน้าศพอย่างอาลัยอาวรณ์ หลังจากนายบาสิล อะสัด(ลูกชายคนโตของนายฮาฟิศอะสัด) เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์ ท่านบอกว่าได้ฝันว่านายบาสิลอยู่ในสวรรค์ นอกจากนี้ท่านยังกล่าวขื่นชมนายหะซัน นัศรุลลอฮ์ ผู้นำฮิสบุลลอฮ์แห่งเลบานอน ท่านเสียชีวิตในเหตุการณ์ลอบสังหารด้วยระเบิดในมัสยิดที่ท่านสอนหนังสือเมื่อปี 2013 ขณะมีอายุ 84 ปี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและลบ โดยเฉพาะจุดยืนของท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการประท้วงรัฐบาลของชาวซีเรีย

غفر الله له  وتجاوز عنه ورحمه وأدخله فسيح جناته

          3.         ชัยค์อัลอัลลามะฮ์มูฮัมมัด อาลี อัศศอบูนีย์

อุละมาอฺผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค เกิดเมื่อ 1 มกราคม 1930 ที่เมืองหะลับ(แอเลบโป) ซีเรีย เสียชีวิตแล้ว เมื่อ 19 มีนาคม 2021 ขณะอายุ 91 ปี ถือเป็นการสูญเสียผู้รู้ที่สำคัญในโลกอิสลามโดยเฉพาะด้านตัฟซีรอัลกุรอาน เจ้าของผลงานตำราด้านอิสลามศึกษากว่า 50 เล่ม

ถูกรัฐบาลซีเรียยุคฮาฟิศอะสัด ขึ้นบัญชีดำหมายหัว เนื่องจากท่านมีทัศนะว่า ผู้นำคนไหนที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจโดยวิธีการบังคับและการใช้กำลัง ผู้นำคนนั้นจะต้องได้รับการต่อต้านจากประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้นำเรียกร้องประชาชนให้ปฏิเสธพระเจ้าและสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าอย่างฮาฟิศอะสัด

ชัยค์อัศศอบูนีย์ได้วิจารณ์นายบัชชาร์ อะสัด ประธานาธิบดีซีเรียคนปัจจุบันว่าเป็น มุสัยลิมะฮ์ อัลกัซซาบ และตักเตือนชัยค์มูฮัมมัด รอมฎอน อัลบูฏีย์ ด้วยคำตักเตือนที่รุนแรงชนิดไม่อ้อมค้อม เพราะชัยค์อัลบูฏีย์สนับสนุนนายฮาฟิศ อะสัด และบัชชาร์ อะสัด รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่ขาวซีเรียลุกขึ้นประท้วงนายบัชชาร์อะสัดเมื่อปี 2011

ด้วยจุดยืนอันดุดันและมั่นคงที่สนับสนุนและเคียงข้างการประท้วงของชาวซีเรีย ทำให้สื่ออาหรับและชาวซีเรียตั้งฉายาท่านว่า “الشيخ الثائر” หรือผู้เฒ่านักปฏิวัติและถือเป็นอุละมาอฺผู้ยืนหยัดพูดสัจธรรมต่อหน้าผู้นำเผด็จการ

غفر الله له ورحمه رحمة واسعة وأدخله فسيح جناته ورزق لأهله وذويه الصبر والسلوان

            4.         บัชชาร์ อะสัด

ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีปี 2000 หลังอสัญกรรมของบิดานายฮาฟิศ อะสัด และยังอยู่ยงคงกระพันในอำนาจจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 22 ปีแล้ว ผลงานเถื่อนในระยะเวลา 10 ปีหลังนี้คือการทำให้ประเทศซีเรียทั้งประเทศกลายเป็นทุ่งสังหารและดินแดนมิคสัญญีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทำให้มีผู้อพยพกว่า 10 ล้านคน ประชาชนถูกสังหารกว่า 1 ล้านคน บ้านเรือนและอาคารถูกถล่มจนราบเป็นหน้ากลอง แต่เขายังนั่งอยู่บนเก้าอี้ผู้นำสูงสุดของซีเรียอย่างเหนียวแน่น

3 คนได้จากไปแล้วด้วยผลงานอันมากมายทั้งดีและชั่ว ทั้งบวกและลบ แต่การตัดสินที่ยุติธรรมที่สุด ละเอียดที่สุดแม้เท่าผงธุลี คือการตัดสินของพระเจ้าผู้ทรงยุติธรรมและทรงรอบรู้ ทั้ง 3 ท่านกำลังได้รับการพิจารณาและรับผลอานิสงค์ที่ตนเองได้กระทำแล้ว

ส่วนอีกคน กำลังโลดแล่นบนยุทธจักรเถื่อนมากมาย เขาอาจจะรอดพ้นจากการตัดสินและได้รับการอุ้มชูจากมหาอำนาจบนโลกนี้ แต่เขาไม่มีวันรอดพ้นจากการพิพากษาของพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาลอย่างแน่นอน


โดย Mazlan Muhammad

สตรีชาวอเมริกันเข้ารับอิสลามหลังติดตามซีรีส์ประวัติศาสตร์ชื่อดังของตุรกี “Ertugrul Resurrection-คืนชีพคืนแผ่นดิน”

ได้รับอิทธิพลจากซีรีส์ประวัติศาสตร์ชื่อดังของตุรกี “Ertugrul Resurrection-คืนชีพคืนแผ่นดิน” สตรีชาวอเมริกันในนิวยอร์กซิตี้ประกาศนับถือศาสนาอิสลาม หลังจากติดตามเหตุการณ์ในซีรีส์ที่พูดถึงยุคที่มีส่วนในการก่อตั้งจักรวรรดิออตโตมัน

นางเปลี่ยนชื่อเป็น“คอดีญะฮ์” กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “อนาโตเลีย” ว่า เธอตัดสินใจเข้ารับอิสลามเนื่องจากได้รับผลกระทบจากซีรีส์เรื่อง The Resurrection of Ertugrul และสิ่งที่เธอได้ยินเกี่ยวกับพระเจ้า, อิสลาม, สันติภาพ, ความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่

หญิงวัย 60 ปีกล่าวว่า ก่อนที่เธอจะดูซีรีส์เธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับยุคประวัติศาสตร์นั้น และซีรีส์นี้ดึงดูดเธอด้วยการเสนอแนวคิดของศาสนาอิสลามความยุติธรรมและการช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่

เธอระบุว่าเธอรักตัวละครของแอร์ตุฆรุล ตูร์กูต  และ เซลจัน มากกว่าคนอื่น ๆ ในซีรีส์ โดยแสดงความผิดหวังเมื่อเธอรู้ว่า บัมซี  ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแอร์ตุฆรุลและยืนอยู่ข้างเขา

ตัวละครอิบนุอารอบีก็เป็นที่ชื่นชอบของเธอ  เธอดูซีรีส์นี้ 4 ครั้งติดต่อกันและตอนนี้เธอดูซีรีส์นี้เป็นครั้งที่ 5 โดยแสดงความชื่นชมในคุณค่าที่เขานำเสนอโดยเฉพาะเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้เธอยังชี้ให้เห็นว่าเธอถูก “แยกทางสังคม” โดยเพื่อนของเธอหลังจากที่พวกเขาทราบข่าวเกี่ยวกับการเข้ารับศาสนาอิสลามของเธอ โดยแสดงความหวังว่าเธอจะได้ไปเยือนตุรกี และชมสุสานทางประวัติศาสตร์ของตัวละครในซีรีส์โดยเร็วที่สุด


โดย Ghazali Benmad

ทหารอิสราเอลสั่งห้ามซ่อมแซมมัสยิดโดมทอง

24 มกราคม 2021 ทหารอิสราเอลบุกเข้ามัสยิดโดมทองพร้อมสั่งห้ามบูรณะซ่อมแซมมัสยิดในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ ประณามการ กระทำครั้งนี้และถือว่าเป็นการทำลายความรู้สึกของชาวอาหรับและมุสลิมทั่วโลก

กองกำลังอิสราเอลได้บุกเข้าไปในมัสยิดโดมทองในบริเวณมัสยิดอักศอและสั่งยุติการบูรณะซ่อมแซมข้างในมัสยิด พร้อมข่มขู่คนงานว่าจะขับไล่ออกจากสถานที่หรืออาจถูกจับกุม

ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง กองกำลังอิสราเอลได้สั่งห้ามการบูรณะซ่อมแซมห้องน้ำและห้องอาบน้ำละหมาดมัสยิดมัรวานมาแล้ว

กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์เรียกร้ององค์กรสากลโดยเฉพาะยูเนสโกให้รีบดำเนินการยับยั้งการกระทำของอิสราเอลในครั้งนี้ ทั้งนี้อาคารศาสนสถานของศาสนาคริสต์และอิสลามถูกละเมิดโดยกองกำลังอิสราเอลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมายาวนาน


โดยทีมข่าวต่างประเทศ

มนุษย์ในมุมมองของจอมเผด็จการ

คำกล่าวของประธานาธิบดีแห่งอียิปต์นายซีซีย์ได้สร้างกระแสความไม่พอใจแก่ชาวอียิปต์อย่างมาก หลังจากที่นายซีซีย์เรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์ควบคุมกำเนิด ก่อนที่พวกเขาจะเรียกร้องให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

หลังจากที่ชาวอียิปต์ทุกหมู่เหล่า ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง นายซีซีย์ได้กล่าวแก่ประชาชนว่าก่อนที่ท่านทั้งหลายจะเรียกร้องให้เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขอให้ท่านทั้งหลายเร่งดำเนินการคุมกำเนิดให้ได้ผลก่อน

คำพูดของนายซีซีย์ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนชาวอียิปต์อย่างมาก โดยเฉพาะชาวโลกออนไลน์ที่ได้ตอบโต้ว่า “เบื้องหลังความสำเร็จของญี่ปุ่น ทั้งๆที่เป็นประเทศที่เล็กกว่าอียิปต์ มีทรัพยากรน้อยกว่าและมากด้วยภัยธรรมชาติ เนื่องจากญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการศึกษา ในขณะที่รัฐบาลอียิปต์มองว่า มนุษย์เป็นตัวถ่วงความเจริญและการพัฒนา”

หะซัน อับดุรเราะห์มาน เขียนในทวีตส่วนตัวว่า “ การเพิ่มอัตราประชากรเป็นการเพิ่มขีดความสามารถสู่การพัฒนาและความเจริญของประเทศที่ปกครองโดยประชาธิปไตยที่แท้จริง ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการถือว่า มันเป็นตัวถ่วงความเจริญ”

ผู้ใช้ทวีตคนหนึ่งเขียนว่า “ เขามักจะอ้างความยากจน แล้วที่เขาสร้างปราสาทราชวังใหญ่โต รัฐบาลใช้งบประมานส่วนไหนกันแน่”

ในขณะที่ประชาชนผู้สนับสนุนนายซีซีย์ และยกย่องนายซีซีย์เป็นผู้ปกครองทรงคุณธรรมแห่งอียิปต์ กล่าวว่า มาตรการคุมกำเนิด เป็นโครงการที่เราต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะครอบครัวชาวอียิปต์จำนวนมากที่ไม่สามารถส่งเสียลูกหลานให้เรียนหนังสือ เนื่องจากมีลูกมากและไม่มีการควบคุมกำเนิด


อ้างจาก

https://www.aljazeera.net/programs/aja-interactive/2021/1/24/تسألوني-عن-التعليم-أسألكم-عن-تحديد?fbclid=IwAR3hJrhT5iZA1dGeMqo5TQ-chGWXcE9oze-K878UKb4OlGFnuxPRekFDs1g

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

รัฐบาลคูเวตแถลงซาอุดิอาระเบียคืนดีกับกาตาร์แล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวต นายอาห์มัด อัลมุบาร็อค อัศเศาะบาห์ แถลงว่า ซาอุดิอาระเบียประกาศรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับกาตาร์เนื่องในประชุมสุดยอดสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอุลา เมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะดีนะฮ์ 300 กม. เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวตกล่าวยืนยันว่า ได้มีข้อตกลงเปิดน่านฟ้าและพรมแดนทั้งทางบกและทะเลระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564

ก่อนหน้านี้เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต เชคนาวาฟ อัลอะห์มัด อัลญาบิร์ อัศเศาะบาห์ได้ออกแถลงการณ์ว่า ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ความพยายามในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ประสบผลสำเร็จ เราดีใจที่ความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้อง สามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีและมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและชาติอาหรับต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศตุรกีได้สดุดีต่อความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสองประเทศที่ถือเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องนี้ พร้อมระบุ มติเปิดพรมแดนระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ถือเป็นนิมิตหมายอันดีและมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขวิกฤตอ่าวอาหรับต่อไป

กาตาร์ถูกโดดเดี่ยวจากประเทศต่างๆ ภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 หลังจากซาอุดีอาระเบียและหลายประเทศในตะวันออกกลางประกาศระงับความสัมพันธ์กับกาตาร์ทุกมิติ พร้อมกับกล่าวหากาตาร์ว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและมีสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลอิหร่าน


อ้างอิง

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ปฏิบัติตามสัญญา แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 26 ปี

วารสาร AL-Mujtama แห่งคูเวตเผยแพร่ข่าวการให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีแอร์โดอาน ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอิสตันบูลระหว่างปี ค.ศ. 1994-1998

โดยสำนักข่าวอัลญาซีร่าห์ ได้เผยแพร่ข่าววารสาร AL-Mujtama ฉบับที่ 1097 ประจำวันที่ 26/4/1994 ได้สัมภาษณ์นายแอร์โดอาน ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอิสตันบูลขณะนั้น ซึ่งเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า “ อายาโซเฟีย ไม่มีทางเปลี่ยนเป็นโบสถ์ได้ ถึงแม้จะมีความพยายามมากมายแค่ไหนก็ตาม” เขาย้ำว่า ความคิดนี้เป็นเพียงความเพ้อฝันเท่านั้น พร้อมกล่าวว่าอายาโซเฟีย คือศาสนสมบัติของชาวมุสลิมและจะคงอยู่ในสภาพนี้ตลอดไป”

แอร์โดอานให้สัมภาษณ์ว่า “พวกเราทุกคนทราบดีว่า กษัตริย์ผู้พิชิตสุลฏอน มูฮัมมัด อัลฟาติห์ ไม่ได้ยึดครองอายาโซเฟีย แต่พระองค์ได้บริจาคทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้ออายาโซเฟียและทรงวากัฟ (บริจาคเป็นศาสนสมบัติให้แก่ชาวมุสลิม) ผู้ใดที่ใช้มันอย่างผิดวัตถุประสงค์นี้ อัลลอฮ์และรอซูลจะสาปแช่งพวกเขา”

แอร์โดอานเสริมว่า “ หัวหน้าพรรครอฟาห์ ศ.ดร. นัจมุดดีน อัรบะกาน (พรรคสังกัดแอร์โดอานขณะนั้น)  ได้ประกาศว่า อายาโซเฟียจะกลับคืนเป็นมัสยิดอีกครั้ง และนี่คือสัญญาแห่งศาสนาที่เป็นภารกิจของพรรคราฟาห์ เราพร้อมปฎิบัติตามสัญญา เมื่อโอกาสมาถึง

เวลาผ่านไป 26 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 10/7/2020 ประธานาธิบดีแอร์โดอาน ได้ลงนามประกาศอายาโซเฟียเป็นมัสยิดอย่างเป็นทางการ โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การกิจการศาสนา พร้อมทวิตข้อความว่า ขอให้อัลลอฮ์ทรงประทานความสิริมงคลแก่ท่านทั้งหลาย มัสยิดอายาโซเฟีย

ประกาศฉบับนี้ ถือเป็นการยกเลิกกฎหมายที่เปลี่ยนมัสยิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปีค.ศ. 1934 หรือ 86 ปีที่แล้ว และเป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่แอร์โดอานได้สัญญากับประชาชนชาวตุรกีและประชาชาติมุสลิมเมื่อ 26 ปีที่ผ่านมา

และเมื่อวันที่ 3 ซุลหิจญะฮ์ 1441 (24/7/2020) ประธานาธิบดีแอร์โดอานร่วมกับคณะรัฐบาล ประชาชนนับแสนคน ร่วมกันละหมาดวันศุกร์แรกในรอบ 86 ปี ที่มัสยิดอายาโซเฟีย โดยการนำละหมาดของอิมามใหญ่อายาโซเฟีย พร้อมเสียงตักบีรเนื่องในวัน 10 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์ที่ดังกระหึ่มทั่วอิสตันบูล และถูกไลฟ์สดไปยังทั่วทุกมุมโลก

ถือเป็นวันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์อีกวันหนึ่งที่บันดาลความสุขให้แก่ชาวมุสลิมทั่วโลก ถึงแม้บรรดาผู้ปฎิเสธและผู้กลับกลอกจะชิงชังก็ตาม

 بسم الله والحمد لله والله أكبر


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

อ้างอิงจาก

https://mubasher.aljazeera.net/news/politics/2020/07/11/آيا-صوفيا-مسجدا-كيف-وفى-أردوغان-بوعد?gb=true