มนุษยธรรมต้องมาก่อน

รัฐบาลตุรกีส่งความช่วยเหลือครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่สหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบินประจำกองทัพอากาศตุรกีได้ลำเลียงความช่วยเหลือที่สนามบินกรุงวอชิงตัน

นายแอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า เราได้มอบความข่วยเหลือด้านการแพทย์ไปยัง 54 ประเทศทั่วโลก จากประเทศบอลข่านไปถึงแอฟริกา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และถือเป็นหน้าที่ของตุรกีที่จะต้องปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมครั้งนี้

สหรัฐอเมริกาโดนวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักหน่วง ล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อทะลุ 1.1 ล้าน คนตายดุจใบไม้ร่วงเกือบ 2 พันรายต่อวัน

การคะนึงคิดของผมคือให้โลกใบนี้ได้รับความดีงามของอิสลาม

Omandaily.om ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ฉบับวันที่ 29 /4/2020 ในคราวสัมมนานานาชาติว่าด้วยการพัฒนาศาสตร์กฎหมายอิสลามที่กรุงมัสคัต ประเทศโอมานระหว่างวันที่ 1-3/12/2019 โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามทั่วโลกกว่า 50 คนเข้าร่วม

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยประโยคว่า “ทุกเสี้ยวนาทีในคะนึงคิดของผม คืออยากให้โลกใบนี้ได้รับความดีงามของอิสลามพร้อมยืนยันว่าความแตกแยกในหมู่มนุษย์ หาใช่มีสาเหตุอื่นใดนอกจากผลพวงการทำงานของมารร้าย(ชัยฏอน)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยังได้กล่าวถึงอิสลามว่า เป็นศาสนาแห่งความโปรดปรานและสันติ และความขัดแย้งในประเด็นข้อปลีกย่อยทางอะกีดะฮ์เนื่องจากความไม่เข้าใจในองค์รวมศาสนา และไม่สมควรทำเป็นสาเหตุแห่งความแตกแยก

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยฟาฏอนีว่าในฐานะอธิการบดี เราได้ตั้งเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการนำสารอิสลามแห่งสันติไปยังสังคมในทุกระดับ ทุกคนสามารถเข้าเรียนในสถาบันแห่งนี้โดยไม่เลือกเพศ ศาสนาและอายุ ในขณะที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนกิจการของชาวมุสลิมด้วยดีมาโดยตลอดและให้อิสระแก่ชาวมุสลิมปฏิบัติตามความเชื่ออย่างอิสระเสรี http://www.ftu.ac.th/

พร้อมนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวถึงหนังสือที่ท่านเพิ่งเขียนเสร็จล่าสุดคือประชาชาติหนึ่งเดียววิถีชีวิตของชาวสุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยกล่าวย้ำอันตรายแผนการของมารร้าย (ชัยฏอน) ที่คอยยุแหย่ผู้คนให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชัง พร้อมระบุว่าการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมารร้ายเป็นสิ่งที่จำเป็นเหนือทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม https://www.omandaily.om/?p=786386

โรงพยาบาลศูนย์แห่งที่ 4 ในตุรกี

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2020 ประธานาธิบดีตุรกีนายแอร์โดอาน ได้เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลศูนย์แห่งใหม่ที่เมือง Basaksehir เมืองทางทิศตะวันตกของอิสตันบูลฝั่งยุโรป เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในนครอิสตันบูลและอันดับ 3 ของประเทศ ถือเป็นการเปิดตัวในเฟสแรก ส่วนเฟส 2 คาดว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2020 นี้

โรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2016 ใช้คนงานที่ครอบคลุมฝ่ายต่างๆจำนวน 6,000 คน โดยสร้างขึ้นบนเนื้อที่กว่า 600 ไร่ที่เมือง Basaksehir โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยจำนวน 32,700 รายต่อวัน พร้อมด้วย 2,640 เตียง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นผลความร่วมมือการลงทุนระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนโดยมีวัตถุประสงค์ให้บริการและสวัสดิการทางการแพทย์แก่ประชาชนในนครอิสตันบูลและพื้นที่ใกล้เคียง

โรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้ ได้ถูกออกแบบที่เชื่อมโยงกับระบบจราจรและการคมนาคมอย่างครบวงจร ทั้งทางบก ทางทะเลและอากาศ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาระบบจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ตัวอาคารได้ถูกออกแบบตามมาตรฐานต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรประจำการกว่า 10,000 คนในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 4,300 คน เจ้าหน้าที่แผนกบริการจำนวน 4,050 คน บุคลากรสายบริหารสำนักงานทั่วไป 810 คนและอื่นๆ

ปัจจุบันทั่วประเทศตุรกีมีโรงพยาบาลจำนวน 1,518 แห่ง ประกอบด้วย 240,000 เตียงสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและ 40,000 เตียงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะ

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ที่มา : https://www.aljazeera.net/news/healthmedicine/2020/4/19/%D9%85%D8%AF%D9%8A%D9%86%D8%A9-%D8%B7%D8%A8%D9%8A%D8%A9-%D8%AC%D8%AF%D9%8A%D8%AF%D8%A9-%D9%81%D9%8A-%D8%AA%D8%B1%D9%83%D9%8A%D8%A7

มองต่างมุมทีวีอัลจาซีร่าห์

Faisal Qasim นักจัดรายการทีวีอัลจาซีร่าห์ในรายการ มองต่างมุม ได้ตั้งประเด็นการพูดคุย เรื่อง จีนยุโรปและสหรัฐอเมริกา ระหว่างเผด็จการคอมมิวนิสต์จีนกับประเทศประชาธิปไตยแบบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ฝ่ายไหนสามารถรับมือวิกฤติโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านมาตอบประเด็น สรุปสาระหลักดังนี้

Majdi Khalil (รูปซ้ายมือ) นักสิทธิมนุษยชนชาวอียิปต์ นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ พำนักที่สหรัฐอเมริกา ผู้เกลียดชังอิสลามและชื่นชมยกย่องตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวโจมตีจีนว่า เป็นต้นเหตุของวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน และการที่จีนประกาศเปิดประเทศอีกครั้ง หลังมั่นใจว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของจีนตามนโยบายของระบบคอมมิวนิสต์ที่พยายามปกปิดสถานการณ์ที่เป็นจริงมาโดยตลอด เขายังเรียกร้องให้ยุโรปและสหรัฐอเมริกาดำเนินมาตรการลงโทษและให้บทเรียนอย่างสาสมแก่จีนในฐานะผู้รับผิดชอบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้

Anis Naqqash (รูปขวามือ) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองตะวันออกกลางชาวเลบานอนแกนนำองค์กรฟาตะห์ของอดีตผู้นำยัสเซอร์ อาราฟัต สนับสนุนกลุ่มหิสบุลลอฮ์ เลบานอนและอีหร่าน มีทัศนะว่าจีนประสบผลสำเร็จในการรับมือวิกฤติโควิด-19 และยังได้มอบความช่วยเหลือมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป ถึงขนาดนายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้ประกาศลดธงสหภาพยุโรปและยกธงชาติจีนแทน เพื่อแสดงความขอบคุณในมิตรไมตรีของจีนที่ให้ความช่วยเหลือแก่อิตาลีในการรับมือวิกฤติหนักของชาติขณะนี้ ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ ล้มเหลวที่จะแสดงจุดยืนที่ดีต่อประเทศสมาชิก เขามีทัศนะว่า หลังวิกฤตโควิด-19 นี้ โลกจะพบความเปลี่ยนแปลงภาวะการนำครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้สหรัฐฯต้องยอมรับสภาพที่แท้จริงของตนเอง

โดย ทีมงานต่างประเทศ

เปิดตัวหนังสือคู่มือโควิด-19 ภาษามลายู-รูมี ผ่านประชุมทางไกล

เปิดตัวทางการหนังสือคู่มือเผชิญโรคระบาดโควิด 19 ภาคภาษามลายู อักษรรูมี ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video conference)

เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาในเมืองไทย รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เปิดตัวหนังสือคู่มือเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ภาคภาษามลายู อักษรรูมี ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video conference) โดยมี ฯพณฯ YB. Dato’ Seri Dr. Zulkifli AL-Bakri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Dato’ Syeikh Haji Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอชุโกร์ต่ออัลลอฮ์ ท่ามกลางโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงขณะนี้ ด้วยความร่วมมือจากสภาอุละมาอฺมาเลเซีย (Persatuan Ulama Malaysia-PUM) ได้เปิดตัวหนังสือ “คู่มือเผชิญโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) “ ภาคภาษามลายู อักษรรูมี ซึ่งได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ฯพณฯ YB.Dato’ Seri Dr. Zulkifli AL-Bakri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนา ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เพิ่มความบารอกะฮ์และมีคุณค่ายิ่งขึ้น ขอขอบคุณ ฯพณฯ เป็นอย่างยิ่ง ขอขอบคูน Dato’ Syeikh Haji Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย และพี่น้องทุกท่านจากมาเลเซียที่ให้เกียรติร่วมเปิดตัวหนังสือเล่มนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนามาเลเซียกล่าวว่า รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยียุคใหม่ เปิดตัวหนังสือผ่าน Video conference ในวันนี้ ขอบคุณ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่ได้เขียนหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง พร้อมนำเสนอหลักคำสอนและแนวปฏิบัติที่สามารถเป็นคู่มือสำหรับมุสลิมและชนต่างศาสนิกทุกคน ในการเผชิญกับวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ขอบคุณสภาอุละมาอฺมาเลเซียที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้

“ด้วยนามของอัลลอฮ์ ข้าพเจ้าขอเปิดตัวหนังสือ “คู่มือเผชิญโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” เขียนโดย รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ตั้งแต่บัดนี้ จงมุ่งหน้าต่อไป ด้วยความบารอกัตของอัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงตอบแทนด้วยความดีงามแก่ทุกท่าน “ รมว. กิจการศาสนามาเลเซียกล่าวทิ้งท้าย


ข่าวลือหวังดิสเครดิตตุรกี

Yusuf Katipoglu นักข่าวสายรัฐบาลตุรกีเขียนใน Facebook ของท่านมีใจความสรุปว่า
เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่วิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดลุกลามใหญ่โตทั่วโลกขณะนี้ พร้อมๆ กับการแพร่ระบาดของข่าวลือข่าวลวง ที่มีเจตนาใส่ร้ายและสร้างภาพลักษณ์เชิงลบแก่ตุรกี รัฐบาลและผู้นำ ผ่านสื่อโซเชียลต่างๆมากมาย จึงขอชี้แจงดังนี้

1. ข่าวลวงล่าสุดคือคลิปวิดีโอเหตุการณ์ชุลมุนชกต่อยและเหตุประท้วงรัฐบาลตุรกี พร้อมเหตุเเก่งแย่งอาหารของชาวตุรกีในบริเวณร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ที่เผยแพร่โดยสื่อประเทศอาหรับ ซึ่งในความเป็นจริง คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเบลเยียม แต่ถูกนำมาเชื่อมโยงว่าเกิดในตุรกีโดยที่สื่อแมลงวันที่เผยแพร่ ล้วนเป็นสื่อจากประเทศอาหรับ

2. ส่วนที่มีการแพร่ข่าวว่า รัฐบาลตุรกีเตรียมส่งมอบความช่วยเหลือเวชภัณฑ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แก่อิสราเอล ขอเรียนว่า โครงการนี้เป็นโครงการของนักธุรกิจชาวยิวในตุรกีที่จะส่งความช่วยเหลือแก่อิสราเอล(ยิวในตุรกีมีฐานะร่ำรวยและมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลาย 10 บริษัทที่ผูกขาดและมีอิทธิพลทางการตลาดตุรกี เหมือนเจ้าสัวในเมืองไทย-เแอดมิน) บริษัทเหล่านี้ได้ระดมเงินซื้ออุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 เพื่อบริจาคให้กับอิสราเอลโดยบรรทุกเครื่องบินจำนวน 3 ลำขณะที่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีตุรกี ได้สั่งชะลอการส่งออกดังกล่าวแล้ว จนกว่าบริษัทเหล่านั้น จะยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐบาลว่า จะต้องส่งความช่วยเหลือในปริมาณเท่ากันให้แก่ชาวปาเลสไตน์ด้วย โดยที่รัฐบาลอิสราเอลจะต้องสัญญาว่าจะนำสิ่งของดังกล่าวไปแจกจ่ายให้แก่ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งข่าวนี้ได้รับการเผยแพร่โดยโทรทัศน์อิสราเอลช่อง 12 แต่กลับถูกจงใจปกปิดโดยสำนักสื่อแมลงวันในประเทศอาหรับ ขณะนี้รัฐบาลตุรกีกำลังรอคำตอบจากอิสราเอลว่า จะรับเงื่อนไขนี้หรือไม่โดยตุรกียืนกรานว่า นี่คือเงื่อนไขเดียวที่จะอนุญาตให้ความช่วยเหลือถูกลำเลียงไปยังอิสราเอล

3. ตุรกีเป็นประเทศแรกๆที่ดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Sicial Distancing) เพื่อป้องกันสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ออกฟัตวาปิดมัสยิดและห้ามละหมาดวันศุกร์ ตลอดจนการชุมนมในวาระต่างๆ เราดำเนินมาตรการป้องกันและเยียวยาอย่างสุดความสามารถ อัลลอฮ์เท่านั้นทรงกำหนด เราพอใจและหวังดีต่อพระองค์เสมอ

4. ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ เราควรให้ความร่วมมือระหว่างกันในฐานะเรือนร่างเดียวกัน แทนที่จะโจมตี ซ้ำเติมระหว่างกัน และตุรกีได้รุดหน้าส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศต่างๆโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เพื่อทำหน้าที่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

อ้างอิง https://www.facebook.com/730835380267607/posts/4086922167992228/?d=n

Fake news | ประธานาธิบดีทรัมป์พึ่งมุสลิมปัดเป่าให้พ้นโควิด-19

ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19ขณะนี้ มีคลิปหนึ่งที่สร้างความฮือฮาในโลกอาหรับและโลกมุสลิมที่มีภาพของประธานาธิบดีทรัมป์ที่อยู่ท่ามกลางเจ้าหน้าที่บริหารประเทศระดับสูงกำลังให้ชายคนหนึ่งเป่าคาถาด้วยภาษาอาหรับสำเนียงชาวโมร็อคโก โดยคลิปดังกล่าว ตั้งชื่อคลิปเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งมีความหมายว่า ประธานาธิบดีทรัมป์พึ่งดุอาตามหลักการอิสลาม หวังให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (ดูคลิป 1)

หลังตรวจสอบแล้ว พบว่าคลิปดังกล่าวได้เผยแพร่เมื่อปี 2017 ขณะที่ทรัมป์และเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวชาวคริสเตียนได้ขอพรให้กับเหยื่อพายุเฮอริเคนฮาร์วี่ที่ถล่มสหรัฐฯเมื่อปี 2017 โดยมือดีไปเปลี่ยนเสียงเดิมเป็นบทดุอาด้วยภาษาอาหรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 (ดูคลิป 2)

จนกระทั่งมุสลิมหลายคนเชื่อว่าทรัมป์เชิญมุสลิมมาปัดเป่าไวรัสร้ายจริงๆที่ทำเนียบขาว

คลิปดังกล่าว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับความเป็นจริง จึงขอให้มุสลิมทุกคนเฝ้าระวังอย่าตกเป็นเหยื่อในโลกยุคโซเชียล ทางที่ดีที่สุดคือมาตรการ ชัวร์ก่อนแชร์

องค์การกิจการศาสนาตุรกีระบุ การละหมาดญะมาอะฮ์ที่มัสยิดและละหมาดวันศุกร์ช่วงโรคระบาด ขัดกับหลักการศาสนา

องค์การกิจการศาสนาของตุรกีให้ยาแรง ระบุ “การไปละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดช่วงโรคระบาดเป็นการกระทำที่ผิดหลักการอิสลาม”

ศ.ดร.อาลี อาร์บาช ประธานองค์การกิจการศาสนาของตุรกีฟัตวาว่า ไม่อนุญาตละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ในมัสยิดช่วงโรคระบาด

ศ.ดร.อาลี อาร์บาช กล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รายงานโดยสำนักข่าวอานาโตลู ( AA-Anadolu Agency ) สำนักข่าว Dogan และ TRTARABIC ว่า การประกาศงดละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ในมัสยิดเป็นเรื่องของมาตรการป้องกัน พร้อมชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัติตามคำสั่งในเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นตามหลักกฎหมายอิสลาม

ศ.ดร.อาลี อาร์บาชเสริมว่า การยืนกรานที่จะละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติทางศาสนา โดยเน้นว่าองค์การกิจการศาสนาของตุรกีใช้มาตรการป้องกันตามฟัตวาของสภาศาสนาอิสลามสูงสุด

อาร์บาชอธิบายว่า องค์การกิจการศาสนาของตุรกีได้ระงับการละหมาดญามาอะฮ์ในมัสยิดไปจนว่าจะพ้นระยะอันตรายจากไวรัส โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563 พร้อมย้ำว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรมและคุณธรรมที่องค์กรต้องรับผิดชอบ

ประธานองค์การกิจการศาสนาของตุรกีเน้นว่า “ในการเผชิญกับสภาวะอันตรายนี้ต้องใช้หลักการพื้นฐาน 3 ประการ คือ 1)การจัดการ 2) การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ และ 3)การวิงวอนดุอาอ์ นอกจากนั้น เรามีหน้าที่ในการปฏิบัติตามคำเตือนของรัฐ และกระทรวงสาธารณสุข

ประธานองค์การกิจการศาสนาของตุรกีระบุ “ไม่ใช่มุสลิมที่ถูกต้อง หากทำให้ชีวิตของชาวมุสลิมอื่นตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะการกระทำที่ไม่รับผิดชอบและไม่ยี่หระต่อสิ่งใด”

ประธานองค์การกิจการศาสนาของตุรกีเตือนว่า ไม่เหมาะสมที่มุสลิมผู้ศรัทธาจะงดเว้นมาตรการป้องกัน โดยอ้างว่า “ฉันจะไม่ประสบเพทภัยใดๆ ยกเว้นสิ่งที่ถูกลิขิตไว้แล้ว” ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบร่วมกัน เราจะต้องรักษาความปลอดภัยของผู้สูงอายุและพี่น้องของเราที่เป็นโรคเรื้อรัง

“มุสลิมที่แท้จริงจะดำเนินการป้องกันทุกรูปแบบ พร้อมทำหน้าที่อย่างชาญฉลาด และมีความรับผิดชอบ ปกป้องตัวเองและคนที่เขารักจากอันตราย ตามหลักการเรื่องของสิทธิของผู้ศรัทธาต่อพี่น้องร่วมศรัทธา” ประธานองค์การกิจการศาสนาของตุรกีระบุ

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตินี้ โลกมุสลิมหลายประเทศประกาศงดละหมาดที่มัสยิด เช่น กาตาร์ คูเวต ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และอื่นๆ รวมถึงงดละหมาดใน 3 มัสยิดสำคัญสูงสุดของอิสลาม ได้แก่ มัสยิดหะรอม ที่นครมักกะฮ์ มัสยิดนาบี ที่นครมาดีนะฮ์ และมัสยิดอักซอ ในอัลกุดส์

ถอดความโดย Ghazali Benmad

ตุรกีโดนพิษโควิด-19 เสียชีวิต 9 ราย ยอดติดเชื้อพุ่ง 670 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตุรกี นายฟัครุดดีน โคจา แถลงเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 21 มีนาคม 2020 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 311 คน ทำให้ทั่วตุรกีขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสม 670 รายโดยมีผู้เสียชีวิตจากไวรัสร้ายนี้ไปแล้ว 9 ราย

ก่อนหน้านี้กระทรวงกิจการศาสนาตุรกีได้ออกประกาศวันที่ 16 มีนาคม 2020 ให้งดละหมาดวันศุกร์ทั่วตุรกี ซึ่งในวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2020 ได้มีการงดละหมาดวันศุกร์ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตุรกี

อ่านเพิ่มเติม
https://bit.ly/2UoE3No
https://tr.agency/news-88147?fbclid=IwAR0VgGk0VrALC3dU69JLWMrrPJ8wxEWEO9ZpjQkevs_ouq-zxqgKa8T0_GA

เขียนโดย ทีมข่าวต่างประเทศ

สมาพันธ์อุละมาอฺมุสลิมโลกออกฟัตวาระงับละหมาดวันศุกร์และละหมาดญะมาอะฮฺในพื้นที่แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

สมาพันธ์อุละมาอฺมุสลิมโลกออกศาสนวินิจฉัยให้บรรดาอิมามมัสยิดทั่วโลกระงับการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญะมาอะฮฺ 5 เวลาในพื้นที่แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเข้าสู่ภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลกแล้ว

สมาพันธ์ฯได้ย้ำว่า การประกาศนี้มีผลต่อเนื่องจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมไวรัสร้ายนี้ได้ ทั้งนี้สมาพันธ์ฯได้ยกหลักฐานจากอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺที่ได้ห้ามบุคคลใดสร้างความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ยังมีหะดีษที่ระบุห้ามบุคคลที่มีกลิ่นตัวแรงเข้ามาในมัสยิด เพราะจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ดังนั้น การห้ามบุคคลที่ติดเชื้อไวรัสร้ายนี้เข้ามัสยิด จึงมีน้ำหนักมากกว่าหลายเท่า

ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2563 ระบุทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 145,771 ราย รักษาหาย 72,537 รายและเสียชีวิตไปแล้ว 5,439 ราย โดยมี 5 ประเทศที่มีโรคระบาดนี้อย่างรุนแรง 5 อันดับแรกคือจีนผู้ติดเชื้อ 80,824 เสียชีวิตแล้ว 3,189 อิตาลี( 17,660/ 1,266 ) อิหร่าน (11,364/514) เกาหลีใต้ (8,086/72) และสเปน (5,232/133)

กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศไทย ในวันเสาร์ที่ 24 มีนาคม 2563 พบยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 82 รายโดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

อ่านเพิ่มเติม https://bit.ly/2TPwRea

ทีมข่าวต่างประเทศ