ข้อตกลงแห่งศตวรรษ 2020 (Deal of the Century) รื้อฟื้นคำประกาศบัลโฟร์ 1917

สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยแผนการตะวันออกกลางต่อสาธารณชนในวันที่ 28 ม.ค. 2020 ที่ทำเนียบขาวภายหลังรัฐบาลของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เวลาร่างแผนดังกล่าวถึง 2 ปี โดยแผนการตะวันออกกลางจะเป็นแนวทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

โดยปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้หารือถึงรายละเอียดของแผนการสันติภาพกับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 ม.ค. 2020) โดยภายหลังการหารือดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวชื่นชมแผนการดังกล่าวว่าเป็นแผนการสันติภาพแห่งประวัติศาสตร์

แผนสันติภาพหรือข้อตกลงแห่งศตวรรษครั้งนี้ ทำให้โลกอิสลามนึกถึงคำประกาศบัลโฟร์ที่รัฐบาลอังกฤษโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น นายอาเธอร์ บัลโฟร์ได้พิมพ์ข้อความจำนวน 67 คำส่งไปยังบิดาแห่งไซออนนิสต์ นายธิวดอร์ เฮิรติเซิล ซึ่งมีสาระหลักมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้แก่ชาวยิว สร้างตำนาน ”สัญญาจากผู้ที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของมอบให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ครอบครอง” ที่กลายเป็นปฐมเหตุแห่งความขัดเเย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อจนกระทั่งปัจจุบัน

ช่วงแถลงข่าว ประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยว่า แผนสันติภาพที่มีเนื้อหา 80 หน้านี้ ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของการสร้างสันติภาพและมีความแตกต่างกับแผนการที่ผ่านมา เรามีวิสัยทัศน์อันชัดเจนว่า อัลกุดส์คือเมืองหลวงของอิสราเอลอันเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น เขายืนยันว่า สันติภาพมีความจำเป็นที่คู่กรณีต้องเสียสละ แต่เราจะไม่เรียกร้องให้อิสราเอลเสียสละใดๆเพื่อสร้างสันติภาพ

ทรัมป์ได้กล่าวถึงผลงานตนเองที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้แก่อิสราเอลอาทิ ย้ายสถานทูตสหรัฐฯไปยังอัลกุดส์รวมทั้งยอมรับที่ราบสูงโกลานให้เป็นกรรมสิทธิ์ถาวรของอิสราเอล

ทรัมป์เปิดเผยว่าตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาแผนสันติภาพดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามาก บัดนี้ได้เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่จะปกครองแผ่นดินโดยสมบูรณ์ที่สามารถขยายเพิ่มขึ้นมากมายหลายเท่า

ทรัมป์ได้สัญญาจะมีการลงทุนเพื่อพัฒนาปาเลสไตน์ด้วยวงเงินจำนวน 50,000 ล้านดอลล่าร์ พร้อมยืนยันว่ากลุ่มต่อต้านแผนสันติภาพนี้โดยเฉพาะกลุ่มฮามาสและญิฮาดอิสลามจะต้องยุติบทบาทลง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อตกลงนี้จัดขึ้น ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิสราเอลที่ทำเนียบขาว โดยไม่มีคู่กรณีสำคัญคือผู้แทนของชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมแม้แต่คนเดียว ซึ่งทำให้เรานึกถึงสัญญาบัลโฟร์ที่เกิดขึ้นในปี 1917 หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา

ข้อตกลงแห่งศตวรรษครั้งนี้ มีชาติอาหรับส่งผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตร่วมเป็นสักขีพยาน 3 ประเทศคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรนและโอมาน ส่วนประเทศอาหรับอื่นๆต่างส่งสัญญาณที่ดีและชื่นชมกับความสำเร็จของข้อตกลงครั้งนี้ ในขณะที่สันนิบาตอาหรับ องค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี ยังไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ

ทั้งนี้ทางสหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติของรายละเอียดแผนการสันติภาพได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอิสราเอลมีปัญหาทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง โดยส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ไม่สามารถรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งส่งผลต่อความล่าช้าในการหาข้อสรุปต่อแผนการดังกล่าว

จากการขาดผู้ชนะที่เด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ส่งผลให้อิสราเอลจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนี้ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อต่อไป ดังนั้นทางสหรัฐฯ จึงเชิญผู้นำทางการเมืองของอิสราเอลมาหารือ เพื่อให้การจัดทำแผนสันติภาพสามารถหาข้อยุติได้

ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังต้องการสร้างหลักประกันว่า ตนสามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในการเลือกตั้งสมัยหน้า

ทางด้านประธานาธิบดีแอร์โดอานแห่งตุรกีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลตุรกี ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแผนสันติภาพนี้ พร้อมยืนยันว่าอัลกุดส์คือเส้นแดงที่ไม่มีใครสามารถแตะต้องได้

โดยทีมงานต่างประเทศ

ลิงค์อ้างอิง
https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/1/28/%d8%a3%d9%85%d9%8a%d8%b1%d9%83%d8%a7-%d8%b5%d9%81%d9%82%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d9%82%d8%b1%d9%86-%d8%ae%d8%b7%d8%a9-%d8%aa%d8%b1%d8%a7%d9%85%d8%a8-%d9%81%d9%84%d8%b3%d8%b7%d9%8a%d9%86-%d8%a5%d8%b3%d8%b1%d8%a7%d8%a6%d9%8a%d9%84?fbclid=iwar1ftjkghfniwd4jegjeevlb18_uc3ucrvj55oguzmfrf2gkgwfdwvixbu0

https://www.bbc.com/thai/international-41862209?fbclid=IwAR3l8_v5hTy26HyNcpLUx2m-VkCJn3uJcutfdAdEgrEgZHeLPEQuHHIOn5M

ไทย-ซาอุดิอาระเบีย : จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนามว่า ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน พร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียนั้น เป็นการเดินทางเยือนตามคำเชิญของฝ่ายซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าและยังถือเป็นการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในรอบ 30 ปี

ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลสะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย กับนายอาดิล บิน อะหมัด อัล-นูบีร รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเยือนครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี และถือเป็นพัฒนาการในทางบวกที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศต่อไป”

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะถือเป็นความก้าวหน้าในความพยายามของไทยมาช้านานที่ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย อะไรคือปัจจัยอันทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง เป็นคำถามที่ผมอยากลองอธิบายในบทความนี้ แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล “วงใน” ที่ผมยังไม่รู้และไม่เข้าใจอีกมาก แต่ก่อนที่จะตอบคำถามหลักของบทความ ขออนุญาตพาพวกเราย้อนกลับไปพิจารณาต้นตอปัญหาความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 30 ปีเสียก่อน


ย้อนรอยสัมพันธ์แตกร้าว : ไทย-ซาอุดิอาระเบีย

หากย้อนอดีตไปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียคือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบียถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 1989 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1990 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดิอาระเบียอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ยังคงไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว ในเดือนเดียวกัน นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-สะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา “อุ้ม” นายอัลรูไวลี่ไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

กรณีนี้ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย- ซาอุดิอาระเบียไม่ได้เลวร้ายลงเพียงเพราะคดีฆาตกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากกรณีที่คนงานไทย นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายซาอุดิอาระเบีย ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศอีกด้วย ตำรวจไทยไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการกลับส่งคืนให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร “บลูไดมอนด์” เม็ดใหญ่สุด หนักหนาสาหัสไปอีก เมื่อของกลางในส่วนที่ติดตามกลับมาได้ ยังมีการเอาไปปลอมแปลงก่อนเอาไปคืนให้ซาอุดิอาระเบียอีกด้วย ทั้งหมดจึงเป็น เรื่องของ “เหตุซ้ำกรรมซัด” ที่สร้างความอึดอัดเจ็บแค้นต่อซาอุดิอาระเบียอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งกรณีฆาตกรรมนักการทูต กรณีเพชรซาอุฯ และกรณีการอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่”

หากถามว่ากรณีใดสำคัญที่สุดที่ทางการไทยต้องรีบคลี่คลายเป็นลำดับแรก เราคงต้องกลับมาพิจารณาถึงลักษณะต้นตอของแต่ละกรณีปัญหา

1.กรณีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะเกิดจากต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย อันเกิดจากการที่ซาอุดิอาระเบียได้เข้าสลายม็อบในช่วงพิธีฮัจญ์ เมื่อ ค.ศ. 1987 จนทำให้ชาวอิหร่าน (ผู้ก่อม็อบประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ และอิสราเอล) ตายไปกว่า 200 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศ

2. กรณีลักลอบขโมยเพชรซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้เกิดจากการกระทำผิดของปัจเจกบุคคล ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนไทย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ในทางกลับกัน การที่เพชรซาอุถูกลักขโมยอย่างไม่ยากนัก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของระบบการรักษาความปลอดภัยของทางซาอุดิอาระเบียเองด้วย ฉะนั้น จึงต้องยอมรับสภาพและรับผิดชอบร่วมกัน แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ทำผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยจนได้ เมื่อทางซาอุดิอาระเบียจับได้ว่ารายการเพชรบางส่วนที่ส่งคืนเป็นของปลอม

3. คดีอุ้มฆ่าอัล-รูไวลี่ กรณีนี้ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะแทนที่เราจะเชื่อมโยงการฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบียกับกรณีความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย เรากลับเข้าใจว่าการตายของนักการทูตซาอุดิอาระเบียเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดิอาระเบีย จนนำไปสู่การ”อุ้ม” “อัลรูไวลี่” ไปกักขังไว้และบีบบังคับให้สารภาพผิด แต่ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเสียชีวิตของนักธุรกิจซาอุดิอาระเบียรายนี้อย่างเป็นปริศนา ฉะนั้น กรณีอัลรูไวลี่จึงมีความสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ เพราะการที่ไทยไม่สามารถจับคนฆ่าเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย และไม่สามารถนำเพชรของกลางที่ถูกขโมยมาให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมดนั้น ถือเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย แต่การ “อุ้มฆ่า” อัลรูไวลี่ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรงที่ยากจะให้อภัยได้


ไทยกับการดำเนินคดีกรณี “อัล-รูไวลี่”

หากมองจากมุมของซาอุดิอาระเบียเอง คดีอัลรูไวลี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะประการแรก อัลรูไวลี่เป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย พูดง่ายๆ คือเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ

ประการที่สองคือ ในธรรมเนียมปฏิบัติของระบบชนเผ่าอาหรับนั้น การถูกทำร้ายจนตายของสมาชิกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการชดใช้ด้วยชีวิต (หรืออาจเจรจาชดเชยเป็นสินไหม) ในอดีตความขัดแย้งส่วนตัวจนถึงระดับที่เอาชีวิตกันระหว่างสมาชิกของ 2 ชนเผ่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามนองเลือดที่ยื้อเยื้อเลยทีเดียว การตายหรือการหายตัวไปของอัลรูไวลี่จึงกลายเป็นกรณีที่สร้างความเจ็บแค้นต่อสมาชิกชนเผ่าคนอื่นๆ ที่เขาสังกัดอยู่

ประการสุดท้าย การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของอัลรูไวลี่ก่อให้เกิดประเด็นยุ่งยากทางหลักการศาสนาต่อครอบครัวของเขาทันที เพราะการไม่รู้แน่ชัดว่าเขาตายหรือยัง ทำให้การแบ่งมรดกให้หมู่เครือญาติไม่สามารถกระทำได้ นอกจากนั้น หากภรรยาของเขาต้องการแต่งงานใหม่ เธอก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันจนกว่าจะถึงเวลาที่กรอบศาสนากำหนด ฉะนั้น นอกจากครอบครัวของอัลรูไวลี่จะต้องทุกข์ระทมกับการรอคอยข่าวความคืบหน้าของอัลรูไวลี่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายในเรื่องกฎหมายมรดกและครอบครัว

ทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทย

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่คดีอัลรูไวลี่ไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2010 (ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี บางฝ่ายมองไกลไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไทยจะได้รับจากการจัดส่งแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว ฯลฯ จนดูเหมือนว่าความคืบหน้าในคดีอัลรูไวลี่จะ เป็นตัวชี้วัดผลประโยชน์ของไทยที่จะได้จากซาอุดิอาระเบียในอนาคต

แต่แล้วความหวังดังกล่าวก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี่ และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้งดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อ้างว่า ตามมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัวไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน

ความเป็นไปดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายขณะนั้น ต้องออกมาเตือนรัฐบาลถึงความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับซาอุดิอาระเบียว่าอาจจะเลวร้ายลงจนถึงขั้นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จากที่เคยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมานาน ฉะนั้น การตัดสินใจกรณีการเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ของรัฐบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย อย่าลืมว่า ซาอุดิอาระเบียไม่ได้มีสถานะเหมือนกับประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นๆ เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศชั้นนำที่มีอิทธิพลเหนือประเทศมุสลิมอีกกว่า 50 ประเทศ

เป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การการประชุมอิสลาม เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสหรัฐ เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ตั้งของเมืองอันประเสริฐของชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2 แห่ง นั้นคือนครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมทั่วโลก หวังที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต รวมถึงมุสลิมในประเทศไทยด้วย


ปัจจัยอันนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์

ปลายเดือนมีนาคม 2014 หลังศาลยกฟ้องพลตำรวจโท สมคิด บุญถนอม และพวกในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ทำให้หลายฝ่ายมองไม่เห็นอนาคตการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย

แต่เมื่อปลายปีเดียวกันนั้น เรากลับเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบียเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 (อันถือเป็นการมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซาอุดิอาระเบีย) พร้อมทั้งได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ว่ากันว่าก่อนที่จะมีการหารือกันดังกล่าว ได้มีความพยายามจากบางฝ่ายช่วยประสานผลักดันให้เกิดการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเองที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย หรือนักการทูตฝ่ายไทยเองที่ขอความร่วมมือจากมิตรประเทศที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมานานอย่างบาห์เรนให้ช่วยเป็น “สื่อกลาง” เชื่อมต่อความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่มีการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย เราจึงเห็นนายกรัฐมนตรีบาห์เรน เจ้าชายคอลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัล-คอลีฟะฮ์ นั่งสนทนาอยู่ด้วย อันเป็นการหารือกันแบบสามฝ่าย

การประสานผลักดันของคนกลางย่อมเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งอันทำให้เกิดการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผมเชื่อว่าการกลับหลังหันของนโยบายต่างประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไทยเกิดจากสถานการณ์แวดล้อมซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของซาอุดิอาระเบียเอง

หากยังจำกันได้ช่วงกลางปี 2015 มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในซาอุดิอาระเบีย คือการปรับคณะรัฐมนตรี และการจัดลำดับการสืบสันติวงศ์ใหม่ของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนั้นคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลของซาอุดิอาระเบียมักจะมีแต่ผู้อาวุโสระดับสูง

นอกจากจะแต่งตั้งคนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด พระราชโอรสของกษัตริย์ เป็นรองมกุฎราชกุมารแล้ว ยังได้มีการแต่งตั้งคนนอกที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ แต่เป็นคนมีความสามารถอย่างนายอาดิล อัล-จูเบอีร์ เอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงวอชิงตันของสหรัฐ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนเจ้าชายซาอุด อัล-ฟัยซ็อล ที่ดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 40 ปี

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ้านเมืองจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ย่อมทำให้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของประเทศเปลี่ยนไป ผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับกรณีต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่พวกเขาตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ซาอุดิอาระเบียจะได้รับหากฟื้นความสัมพันธ์กับไทยมากกว่า

ปัญหาทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียในช่วงที่ผ่านมาอันเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศขาดดุลงบประมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 98,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องคิดโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ขึ้นมา เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็จะเปิดช่วงทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น

นโยบายนี้ย่อมต้องบีบให้ซาอุดิอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ แต่ครั้นจะหันไปร่วมมือกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางด้วยกันก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะแต่ละประเทศก็ล้วนมีปัญหาของตนเอง หลายประเทศต้องเผชิญภัยสงคราม บางประเทศเกิดภาวะรัฐล้มเหลว และมีอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศยากจน

ขณะที่มองไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่ระยะหลังสหรัฐฯเองที่ถือเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นที่สุดของซาอุดิอาระเบีย กลับออกกฎหมายเล่นงานซาอุดิอาระเบียในกรณีการก่อการร้าย 9/11

ในสภาพอย่างนี้ซาอุดิอาระเบียไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างพันธมิตรใหม่ และผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่หวังพึ่งสหรัฐฯประเทศเดียวเหมือนในอดีต ประเทศไทยก็อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ซาอุดิอาระเบียมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพครับ


ทำไมควรเร่งฟื้นคืนสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

วิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบียมีรายละเอียดเนื้อหาอยู่มาก แต่หากจะสรุปตามที่มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงให้สัมภาษณ์ไว้แก่สำนักข่าวอัล-อาราบียะฮ์ เมื่อปลายเดือนเมษายน 2017 ก็คงได้ใจความหลักๆ ว่า

วิสัยทัศน์นี้เป็นการวางแผนอนาคต 15 ปีของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันให้ได้ภายในปี 2020 จัดตั้งกองทุนมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แปรรูปบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ARAMCO โดยเอาหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 5 ออกมาขาย พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธด้วยตนเอง เพิ่มสัดส่วนแรงงานหญิง ลดอัตราการว่างงาน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สำคัญอื่นๆ ของประเทศนอกจากน้ำมัน เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ประเทศนี้ยังมีศักยภาพอยู่มาก

นอกจากนั้นยังจะเพิ่มความสามารถของราชอาณาจักรในการรองรับมุสลิมจากทั่วโลกที่จะเข้ามาแสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ จากปีละประมาณ 8 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 15 ล้านคน ในปี 2020 และเพิ่มเป็น 30 ล้านคน ในปี 2030 อีกทั้งเจ้าชายซัลมานทรงกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซาอุดีอาระเบียจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเยือน แต่เป็นการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้กรอบค่านิยมและความเชื่อความศรัทธาของราชอาณาจักร

คาดกันว่าการจะบรรลุความสำเร็จตามที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้วางไว้ในวิสัยทัศน์ 2030 ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันจะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ สิ่งที่ตามมาคือความต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และโอกาสทางธุรกิจที่จะเปิดให้สำหรับนักลงทุนทั่วโลก ที่จะหลั่งไหลเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันให้วิสัยทัศน์ 2030 กลายเป็นจริงขึ้นมา

สำหรับประเทศไทย เราเคยส่งแรงงานเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบียมากที่สุดเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จำนวนประมาณกว่า 2 แสนคน สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ก่อนที่แรงงานของเราจะลดจำนวนลงเหลือแค่หลักพันจากความสัมพันธ์ร้าวฉานอันเกี่ยวเนื่องกับคดี “เพชรซาอุฯ” การอุ้มฆ่านักการทูต-นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงปัญหาแรงงานล้นตลาดซาอุดีอาระเบียในยุคนั้น

แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตขณะนี้ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียจะยังไม่คืบหน้า แต่จากวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นโอกาสที่กระทรวงแรงงานต้องหาลู่ทางขยายตลาดแรงงานไทย เพราะซาอุดิอาระเบียกำลังมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งบริษัทลงทุนใหญ่ๆ ในซาอุดิอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐ ยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น ต่างก็เคยชื่นชอบแรงงานไทยมาก่อน

ขณะเดียวกันนโยบายเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวก็อาจเป็นช่องทางให้ไทยได้ฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาและความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่พอสมควร

ในอีกด้านหนึ่งการที่ไทยจะกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศนั้น เราต้องสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ หากดูสมการของความสัมพันธ์ในตะวันออกกลางชณะนี้จะเห็นว่าประเทศ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และตุรกีเป็นตัวเล่นหลักในสมการนี้ แต่ประเทศไทยยังมีความสัมพัน์ที่ดีไม่ครบกับทุกประเทศ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียยังไม่ปรากฏเต็มรูปแบบ

ด้วยเหตุนี้ นโยบายหลักที่ประเทศไทยต้องสร้างขึ้นในตะวันออกกลางคือสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยต้องเป็นนโยบายที่การสานความสัมพันธ์กับประเทศหนึ่งแล้วไม่ให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์กับอีกประเทศหนึ่ง และวิธีที่ดีที่สุดคือฟื้นคืนสัมพันธ์ขั้นปรกติกับซาอุดิอาระเบีย (เหมือนที่เรามีกับอิหร่านและตุรกี) อันจะทำให้ไทยสามารถสร้างความสมดุลของสมการที่เป็นดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนี้ได้


เอกสารอ้างอิง

  • “ไทย-ซาอุฯ เล็งฟื้นสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี”. กรุงเทพธุรกิจ. 16 มกราคม 2563. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862383
  • ศราวุฒิ อารีย์. “ย้อนรอยคดีอัลรูไวลี่: ตัวชี้วัดสัมพันธภาพไทย-ซาอุดีฯ”. มติชนรายวัน. 21 กันยายน 2553. หน้า 6.
  • ศราวุฒิ อารีย์. “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 กับโอกาสของไทย”. คม ชัด ลึก. 13 พฤษภาคม 2559. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.komchadluek.net/news/politic/227548
  • อัคนี คคนัมพร. “สัมพันธ์ไทย – ซาอุดิฯ”. โลกวันนี้. 27 กันยายน 2553.
  • Saudi Vision 2030. สืบค้นออนไลน์จาก file:///D:/Users/7A41001/Downloads/Saudi_Vision2030_EN.pdf

ที่มา : www.msc.ias.chula.ac.th

บทความโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

สงครามกลางเมืองที่ลิเบีย

ทีวีอัลจาซีร่าหเผยแพร่ภาพ ชาวลิเบีย 150,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย ทั้งขาดน้ำและไฟฟ้าเนื่องจากการถล่มเมืองหลวงทรีโปลีของกองกำลังนายพลฮัฟตาร์ ในขณะที่เด็กนักเรียนจำนวนกว่า 90,000 คนไม่มีที่เรียนเนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งถูกถล่มเสียหายยับเยิน

กองกำลังนายพลฮัฟตาร์ยังคงเดินหน้ายึดเมืองและถล่มพลเรือนอย่างบ้าคลั่งเพื่อโค่นล้มรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ

กองกำลังฮัฟตาร์ได้รับการสนับสนุนด้านการทหารและอาวุธจากรัฐบาลอียิปต์ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย โดยมีสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปคอยให้ท้ายคุมเชิงอยู่เบื้องหลัง

ทีมข่าวต่างประเทศ

กองกำลังฮัฟตาร์ยึดโรงกลั่นน้ำมันดิบทางตะวันออกลิเบีย

สำนักข่าวอานาโตเลียรายงานว่า กองกำลังนายพลฮัฟตาร์นับร้อยคน ได้เข้าบุกยึดโรงกลั่นน้ำมันดิบทางภาคตะวันออกของลิเบียและสั่งปิดดำเนินการ ด้านโฆษกฝ่ายกองกำลังฮัฟตาร์ได้แถลงชื่นชมและสนับสนุนการปฎิบัติการครั้งนี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันลิเบีย เปิดเผยว่า ถือเป็นการสูญเสียรายได้ของประเทศครั้งยิ่งใหญ่

กองกำลังนายพลฮัฟตาร์ยังประกาศว่าจะปฏิบัติการปิดล้อมโรงกลั่นน้ำมันดิบแหล่งอื่นทั่วประเทศ พร้อมอ้างสาเหตุ เพราะไม่อยากให้ตกเป็นสมบัติของรัฐบาล อีกทั้งยังอ้างว่าประชาชนต้องการให้ปิดโรงกลั่นน้ำมันดิบของประเทศ เราจึงจำเป็นปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและไม่ยอมให้ตกเป็นสมบัติของใครผู้ใด

ในขณะที่ผู้อำนวยการโรงกลั่นน้ำมันลิเบียเปิดเผยว่า การปฎิบัติการของกองกำลังฮัฟตาร์ครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถผลิตน้ำมันจำนวน 700,000 บาร์เรลต่อวันและถือเป็นตัดท่อทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อฐานะทางการเงินของประเทศ เพราะการส่งออกน้ำมันและก๊าซ ถือเป็นรายได้หลักของประเทศลิเบียเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น

การบุกยึดโรงกลั่นน้ำมันดิบของรัฐบาลโดยกองกำลังฮัฟตาร์ครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเจรจาหลายฝ่ายเพียง 1 วัน เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง โดยที่การเจรจาจะมีขึ้นที่กรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมันในวันที่ 19 มกราคม 2563 และถือเป็นหนึ่งในผลงานเถื่อนของกองกำลังฮัฟตาร์ที่ต่อต้านรัฐบาลสมานฉันท์ซึ่งได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งสหรัฐอเมริกา อิยิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นชาติสำคัญที่คอยสนับสนุนด้านกองกำลัง วัตถุปัจจัยและงบประมาณให้แก่กองทัพฮัฟตาร์ จนสามารถสั่นคลอนรัฐบาลอันชอบธรรมของลิเบียขณะนี้

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม : https://bit.ly/372mSpU

อิสราเอลขึ้นบัญชีให้ตุรกีเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอิสราเอล

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่อิสราเอลจัดให้ตุรกีเป็นประเทศที่คุกคามความมั่นคงของอิสราเอล ประจำปี 2020

หนังสือพิมพ์ Times of Israel ฉบับวันอังคาร 14 มกราคม 2563 รายงานข่าว ว่า เป็นครั้งแรกที่หน่วยข่าวกรองของอิสราเอลได้ขึ้นบัญชีประเทศตุรกีเป็นประเทศคุกคามความมั่นคงของอิสราเอลอันเนื่องมาจากนโยบายของแอร์โดฆานที่สร้างความกังวลให้กับอิสราเอล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายงานของหน่วยข่าวกรองอิสราเอล ที่ส่งไปยังผู้บริหารประเทศทุกๆ ปี แต่กองทัพอิสราเอล ก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับตุรกีในปี 2020 แม้ว่าการคุกคามของตุรกีที่มีอิสราเอลที่มากขึ้นทุกๆปี ทำให้ตุรกีกลายเป็นอันตรายที่ร้ายแรงที่สุดประการหนึ่งที่จำเป็นจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดในปีหน้า

หนังสือพิมพ์ Times of Israel ยังกล่าวอีกว่า การกระทำของตุรกีที่คุกคามภูมิภาคนี้คือ ปฏิบัติการต้นน้ำสันติภาพในทางตอนเหนือของซีเรีย และข้อตกลงตุรกีลิเบียเกี่ยวกับน่านน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก

หนังสือพิมพ์ยังได้กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลเมื่อเดือนที่แล้วว่า ท่าทีอย่างเป็นทางการของอิสราเอล คือ ข้อตกลงระหว่างตุรกี-ลิเบียจะถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่นี่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะต้องส่งเรือรบไปปะทะกับตุรกี

ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากที่ตุรกีได้เริ่มปฏิบัติการต้นน้ำสันติภาพในทางตอนเหนือของซีเรีย เพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย PKK/PYD ทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติได้กล่าวต่อสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีตุรกีสั่นคลอนความมั่นคงในภูมิภาคนี้โดยการกระทำความรุนแรง และสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย

สิ่งเหล่านี้ยืนยันว่า อิสราเอลหวาดกลัวต่อบทบาทของตุรกีในภูมิภาคนี้ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนกรณีพิพาทเกี่ยวกับปาเลสไตน์ ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นอิสราเอลยังพยายามขัดขวางการให้ความช่วยเหลือขององค์กรบรรเทาทุกข์ของตุรกีในเมืองอัลกุดส์อีกด้วย

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ของอิสราเอลฉบับหนึ่งได้รายงานว่า ตุรกีได้ให้ความช่วยเหลือต่อชาวปาเลสไตน์ในการยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอัลกุดส์และเวสต์แบงก์ โดยการให้เอกสารโบราณของออตโตมันแก่ชาวปาเลสไตน์เพื่อใช้ยืนยันสิทธิ์กรรมสิทธิ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของอิสราเอล

ในวันนี้ ไม่ว่าตุรกี อาหรับ เปอร์เซีย จะแสดงบทไหน บทบอยคอตไม่คบอิสราเอล หรือบทต่อต้านอิสราเอล หรือไม่อย่างไร

แต่ท้ายที่สุด พยานหลักฐานเริ่มปรากฏว่าใครเป็นใคร แท้จริงแล้ว ฝ่ายใดเป็นพิษภัยต่อความมั่นคงอิสราเอล และฝ่ายใดเป็นอาหารเสริมยาบำรุงสำหรับอิสราเอล

โดย Ghazali Benmad

หลังฤดูเพาะปลูก อิหร่านเก็บเกี่ยวอะไรบ้าง

สงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ใช้เวลาเพียง 6 วันระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ระหว่าง วันที่ 3-9 มกราคม 2020 ได้สิ้นสุดแล้ว ท่ามกลางอกสั่นขวัญหายของชาวโลก แต่สิ่งที่ต้องลุ้นระทึกหลังจากนี้คือ เกมส์ธุรกิจการเมืองและศาสนาระหว่าง 2 ชาติ ที่ประกาศเป็นศัตรูร่วมกว่า 40 ปี จะเกิดผลไปในทิศทางใดบ้าง ใครได้ใครเสียหรือทั้งคู่มีได้กับได้

อิหร่านคงต้องเร่งคว้าสถานการณ์นี้ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อรองรับแผนการอันยิ่งใหญ่ที่ได้กำหนดมาตั้งแต่การปฏิวัติโคมัยนี ปี 1979 ส่วนหนึ่งสรุปได้ดังนี้

1.ดับกระแสความไม่พึงพอใจของชาวอิหร่านที่มีต่อรัฐบาล

ก่อนเหตุการณ์สังหารนายพลสุไลมานี ชาวอิหร่านนับหมื่นคน ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเนื่องจากประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารราชการ จนกระทั่งลุกลามไปในอิรักและเลบานอน ซึ่งประชาชนทั้งสองประเทศนี้ได้แสดงปฏิกิริยาไม่ต้องการอยู่ในอำนาจของเตหะรานต่อไป

การชุมนุมไว้อาลัยต่อการสูญเสียของบุคคลสำคัญลำดับที่ 2 ของประเทศ ถือเป็นการร่วมสัตยาบันและแสดงการสวามิภักดิ์ครั้งใหม่ของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ทำให้รัฐบาลโรฮานีมีฐานสนับสนุนจากประชาชนอีกครั้ง ถึงแม้จะเป็นการซื้อเวลาและเป็นเพียงฐานน้ำแข็งก็ตาม

2.ความสำเร็จทางภูมิยุทธศาสตร์ (Geostrategy) ของอิหร่าน

หลังเกิดเหตุการณ์สังหารครั้งนี้ อิหร่านสามารถดึงทั้งรัสเซียและจีนเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่น โดยทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้ ต่างออกโรงประณามการปฎิบัติการของสหรัฐฯที่สังหารสุไลมานีอย่างเย้ยฟ้าท้าดิน อีกทั้งกลุ่มประเทศอียูและประชาคมโลก ต่างส่งสารแสดงความเสียใจแก่อิหร่านต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้

ความสำเร็จทางภูมิยุทธศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นผลตอบแทนอันสุดคุ้มของอิหร่านที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี ค.ศ.1979

3.การประกาศอำนาจอันเบ็ดเสร็จของอิหร่านเหนือแผ่นดินอิรัก

นับตั้งแต่บัดนี้ อิรักกลายเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิหร่านโดยบริบูรณ์ หลังจากรัฐบาลกลางอิรักซึ่งเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลอิหร่าน ได้เรียกร้องให้กองกำลังต่างชาติเคลื่อนย้ายออกจากอิรักโดยเร็ว ซึ่งกองทัพเยอรมันได้ตอบรับการเรียกร้องโดยทันที ในขณะที่สหรัฐฯได้วางเงื่อนไขให้จ่ายค่าเสียหายและค่าเคลื่อนย้ายฐานทัพด้วยโดยฝ่ายที่ต้องควักกระเป๋าเสียค่าใช้จ่ายครั้งนี้ หนีไม่พ้นอิรักและประเทศอ่าว ที่สหรัฐฯถือว่าช่วยเป็นยามรักษาความปลอดภัยในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด

นอกจากอิรักแล้ว อิหร่านยังส่งสัญญาณว่าทั้งซีเรีย เลบานอนและเยเมนก็อยู่ภายใต้การดูแลของตนเช่นกัน

ผลกำไรมหาศาลเช่นนี้ อิหร่านได้มาอย่างสะดวกโยธินโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลยหรือ

4.การประกาศครอบครองทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรเปอร์เซียในอดีต

การที่อิหร่านสามารถยึดครองดินแดนบริเวณคาบสมุทรอาหรับและประเทศอ่าวทั้ง 3 ด้าน ถือเป็นการประกาศยึดครองอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ที่เคยเป็นเขตอิทธิพลของอาณาจักรเปอร์เซียในอดีต ทำให้เราต้องนึกถึงอาณาจักรศอฟาวีย์ ที่สถาปนาประเทศบนซากศพและกองเลือดของประชาชาติอิสลามในอดีตนั่นเอง

5.ไฟเขียวให้อิหร่านเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมได้อย่างไร้ข้อจำกัด

อิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ได้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2558 ที่จำกัดการครอบครองแร่ยูเรเนียมและการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่หลังเหตุการณ์สังหารสุไลมานี อิหร่านประกาศแถลงการณ์จะเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอย่างเต็มพิกัด โดยไม่มีข้อจำกัด แต่จะยังคงร่วมมือกับสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ต่อไป โดยสำนักงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

การประกาศของอิหร่านครั้งนี้ ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาของอิหร่านที่ได้บรรลุข้อตกลงจากหน่วยงานสากลอย่างสหประชาขาติ ทั้งๆที่อิรักยุคซัดดัมต้องแลกด้วยความพินาศย่อยยับทั่วประเทศทีเดียว มิหนำซ้ำ หลังสหรัฐฯปูพรมถล่มอิรักด้วยข้ออ้างว่าอิรักสะสมระเบิดนิวเคลียร์ แต่กลับไม่พบวัตถุอันตรายดังกล่าวแม้แต่เงา

ไม่มีลาภอันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ที่อิหร่านพึงได้รับมากกว่านี้อีกแล้ว

6.อิหร่านได้รับไฟเขียวให้ตอบโต้สหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯยื่นมือพร้อมสร้างสันติภาพ

หลังจากที่อิหร่านได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลอิรักว่า จะตอบโต้สหรัฐฯอย่างหนักหน่วง เพื่อตอบโต้กรณีสังหารนายพลสุไลมาน เป็นผลทำให้อิหร่านยิงขีปนาวุธพิสัยไกลระยะทาง 500 กม. ถล่มฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งในเวลาเดียวกัน โดยไร้การสกัดกั้นใดๆจากสหรัฐฯ แถมประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯได้แถลงในวันรุ่งขึ้นว่า สหรัฐฯจะไม่ตอบโต้อิหร่านแต่อย่างใด พร้อมยินดีจับมือกับอิหร่านสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ต่อไป ทำให้อิหร่านสามารถยึดอกสร้างตำนานความยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครผู้ใดลอกเลียนแบบได้ และประวัติศาสตร์นี้จะถูกเล่าขานนานนับศตวรรษทีเดียว

7.โลกยอมรับและมอบอำนาจด้วยพานทองแก่อิหร่านให้ดูแลอ่าวอาหรับ

หลังจากนี้ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศอ่าวและประเทศอาหรับต้องยอมรับอำนาจที่แท้จริงในภูมิภาค อิหร่านที่สามารถทำสงครามกับ 4 ประเทศอาหรับในเวลาเดียวกัน (อิรัก ซีเรีย เลบานอน และเยเมน) ตลอดจนสามารถกำราบมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯให้ยุติการตอบโต้ รวมทั้งบีบบังคับสหรัฐฯมิให้สกัดกั้นการโจมตีพลังน้ำมันของบริษัทอารามโก้ของซาอุดิอาระเบียทำให้โลกต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า มหาอำนาจยุคใหม่บริเวณอ่าวอาหรับคือใครกันแน่ และชื่ออ่าวอาหรับจะถูกเปลี่ยนถาวรเป็นอ่าวเปอร์เซียเพราะเหตุใด

8.สมการที่ลงตัวระหว่างพ่อค้าอสังหาริมทรัพย์กับนักธุรกิจค้าศาสนาและประชาชาติอิสลาม

ระหว่างมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสีเทา ซึ่งทั่วโลกหวั่นวิตกกับนโยบายต่างประเทศอันบ้าคลั่งของเขา บุคคลผู้นี้ได้ทำให้โลกอิสลามได้รับรู้ธาตุแท้ของชาติตะวันตกที่มีต่อโลกอิสลามโดยไม่จำเป็นต้องถอดรหัสลับใดๆ กับนักธุรกิจด้านศาสนาภายใต้เสื้อคลุมสีดำ ที่หากคำพูดและคำข่มขู่ของพวกเขากลายเป็นเปลวไฟ เชื่อว่าบัดนี้ ทั้งสหรัฐฯและอิสราเอลคงมอดไหม้แหลกลาญเป็นจุณแน่นอน

ในช่วงแรก ทั้งสหรัฐฯและอิหร่านมักจะคำรามใส่กันอย่างดุดันเสมอ แต่จะลงเอยที่โต๊ะเจรจาตลอด เพียงแต่การตกลงจะไม่เกิดบนโต๊ะเจรจาหรือในห้องประชุมเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติของชาวโลกทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นจากถ้อยแถลงของผู้นำทั้งสองฝ่ายท่ามกลางความสูญเสียของโลกมุสลิมและประชาชาติอิสลาม ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯได้ทวิตในข้อความส่วนตัวว่า “ชาวอิหร่านไม่เคยทำสงคราม แต่พวกเขาไม่เคยแพ้ในสนามเจรจาต่อรองเสมอ”

เราสามารถรู้เป้าหมายของพ่อค้าอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ยากเย็นมากนักแต่จะรู้เบื้องลึกเป้าหมายของนักธุรกิจศาสนาของชนกลุ่มนี้ เราจำเป็นต้องกางแผนที่อาณาจักรเปอร์เซียยุคก่อน 1500 ปีทีเดียว เพื่อจะได้รู้ว่ายุทธศาสตร์ที่แท้จริงของพวกเขาคืออะไร

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

สรุปบทเรียน 10+1 ข้อ สงครามโลก 6 วัน ระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน

เหตุการณ์ช๊อกโลกที่สหรัฐฯ โดยคำสั่งตรงจากประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯสังหารนายคาซิม สุไลมานี เมื่อเช้าตรู่ วันที่ 3 มกราคม 2020 ส่งผลให้อิหร่านโต้เดือดด้วยการถล่มฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งที่อิรักด้วยขีปนาวุธนับสิบลูกเมื่อเช้าตรู่ใน วันที่ 8 มกราคม 2020 แต่สิ้นสุดด้วยถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2020 ที่ยืนยันจะไม่ใช้กองกำลังตอบโต้อิหร่านพร้อมยินดีจับมือสร้างสันติภาพร่วมกัน ได้ยุติความหวั่นวิตกของชาวโลกที่หวาดผวาจะเป็นชนวนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 สรุปได้ส่วนหนึ่งดังนี้

1. อัลกุรอาน ซุนนะฮ์ ประวัติศาสตร์การญิฮาดของเหล่าบรรพชนและทัศนะของอุละมาอฺทั้งในอดีตและปัจจุบัน ถือเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญที่จะทำให้เราพบทางสว่างอ่านวิเคราะห์สถานการณ์โลกอิสลามปัจจุบันอย่างรู้เท่าทันที่สุด ไม่ใช่เพียงตำรารัฐศาสตร์หรือทฤษฎีการเมืองยุคกรีกโรมันหรือยุคใหม่

2. ภาวะไร้ประสิทธิภาพของข่าวกรองอิหร่านที่ปล่อยให้บุคคลสำคัญเบอร์ 1 ตัวจริงของประเทศโดนสังหารคา สนามบินอิรัก ที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดที่สุด

3. ต้นตำรับ “เสร็จนาฆ่าโคถึก” ฉบับจริง

4. โลกรู้จักกอซิม สุไลมานี อย่างถ่องแท้มากขึ้น ระหว่างวีรบุรุษชาวสวรรค์ของชาวอิหร่านหรือฆาตกรล้านศพของชาวอิรัก ซีเรีย เลบานอนและเยเมน

5. ประวัติศาสตร์มี 2 ด้านเสมอ อยู่ที่เราว่า จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของนบีมูฮัมมัดจากอบูบักร์หรืออบูละฮับ เราจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของฟาโรห์จากนบีมูซาหรือกอรูนและฮามาน

6. ความต่างที่เหมือนกันระหว่างสงคราม 6 วันในอดีตที่เกิดขึ้นระหว่าง 5-10 มิถุนายน 1967 กับสงคราม 6 วันยุคนี้ที่เกิดขึ้นระหว่าง 3 – 9 มกราคม 2020

7. ความมหัศจรรย์ของขีปนาวุธพิสัยไกลอิหร่านที่สามารถยิงจากฐานที่มั่นไปยังฐานทัพอเมริกาถึงสองแห่งในเวลาเดียวกัน ซึ่งมีระยะทางไกลถึง 500 กิโลเมตร โดยไร้การสกัดกั้นแต่อย่างใด

8. มาตรฐานข่าวสารระหว่างสำนักข่าวอิหร่าน ที่ระบุว่าการถล่มครั้งนี้มีทหารอเมริกันตาย 80 ศพในขณะที่ทรัมป์แถลงว่าไม่มีทหารผู้ใดบาดเจ็บ แม้แต่คนเดียว

9. ความขัดแย้งระหว่างผู้อธรรมด้วยกัน ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายนั้นถูกต้องเพราะเมื่อซาตาน 2 ตัวรบกัน ใครแพ้ใครชนะก็ยังคือซาตานอยู่ดี

10. โลกควรมีสติในการแยกแยะระหว่างละครลิงกับละครจริง

11. ชาวไทยได้รับรู้ภูมิปัญญา วุฒิภาวะและความน่าเขื่อถือของบุคคลระดับรัฐมนตรีของประเทศ

เขียนโดย ทีมข่าวต่างประเทศ

อะสัดฉลองคริสต์มาสชื่นมื่นกับปูติน ในขณะที่อิรักลุกเป็นไฟ

เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ใช้วันคริสต์มาสคริตจักรรัสเซียนออร์โธดอกซ์ในซีเรียร่วมกับประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เป็นการเดินทางที่ไม่มีการเปิดเผยล่วงหน้า หารือร่วมกับผู้นำซีเรียในการต่อต้านก่อการร้าย มีการหยุดแวะที่มัสยิดสำคัญในกรุงดามัสกัส

RT รายงานเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) ว่า ในวันคริสต์มาสของคริตจักรรัสเซียนออร์โธดอกซ์ปีนี้ผู้นำรัสเซียเดินทางมายังซีเรีย และได้ใช้ช่วงเวลาที่สำคัญร่วมกับประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-อัสซาด พบเครื่องบินของประธานาธิบดีรัสเซียร่อนแตะพื้นสนามบินกรุงดามัสกัสในวันอังคาร (7) สร้างความแปลกใจให้กับทุกคน จากการที่ปูตินปรากฎตัวก่อนหน้าในช่วงเย็นวันก่อนหน้าที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กของรัสเซีย

การเดินทางเยือนกรุงดามัสกัสแบบปิดเป็นความลับ

ผู้นำรัสเซียได้หารือร่วมกับผู้นำซีเรียถึงประเด็นต่อต้านก่อการร้าย และปูตินยังได้มีโอกาสไปเยือนสถานที่สำคัญทางศาสนาในประวัติศาสตร์ของเมือง โดยสื่อรัสเซียชี้ว่า หลังทั้งคู่สิ้นสุดการหารือได้มีการออกเดินทางด้วยเท้าผ่านใจกลางกรุงดามัสกัส และได้หยุดแวะที่มัสยิด อูเมย์ยาด (Umayyad Mosque) หรือที่รู้จักในนามมัสยิดที่ยิ่งใหญ่ที่ถือกันว่าเป็นหนึ่งในมัสยิดขนาดใหญ่ที่สุดและมีความเก่าแก่มากที่สุดในโลกอิสลาม

และได้มีการเดินทางต่อไปยังโบสถ์ออร์โธดอกซ์ที่เก่าแก่ที่สุดของซีเรีย มหาวิหารมาเรียไมท์ (Mariamite Cathedral) ถูกสร้างในศตวรรษที่ 2 และยังเป็นที่ประทับของจอห์นที่ 10 (John X) พระอัครบิดรแห่งอันติออกค์และตะวันออกทั้งหมด (Patriarch of Antioch and All the East) ที่ทรงได้ต้อนรับปูติน

พบว่าพระอัครบิดรได้ทรงขอบพระทัยต่อประธานาธิบดีรัสเซียที่ได้ส่งกองทัพรัสเซียมาช่วยซีเรียในการต่อต้านผู้ก่อการร้าย และหากปราศจากการช่วยเหลือมหาวิหารแห่งนี้คงกลายเป็นสำนักใหญ่ของกลุ่มก่อการร้าย IS ไปแล้ว และยังตรัสว่า ซีเรียเป็นประเทศที่ทั้งศาสนาคริสต์และอิสลามสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีสิทธิเท่าเทียม

RT รายงานว่าหลังจากนั้นปูตินได้เดินทางต่อไปยังตุรกีเพื่อร่วมการหารือด้านความมั่นคงและการค้ากับประธานาธิบดีตุรกีและร่วมพิธีเปิดการใช้ท่อส่งก๊าซเติร์กสตรีม

ที่มา : https://mgronline.com/around/detail/9630000002285?fbclid=IwAR0lwZln-CUMIw60kyuZCWqxgotLVzYothzyrZiF9xxk4OlEwWmzsgMCT1M

เมื่ออิรัก กลายเป็นสนามรบกลาง

หลังจากที่สหรัฐสังหารบุคคลสำคัญอันดับ 1 ตัวจริงเสียงจริงของอิหร่านเมื่อ เช้าตรู่วันที่ 3 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา อิหร่านได้ตอบโต้ถล่มฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งเมื่อเช้าตรู่วันที่ 8 มกราคม 2563 ทั่วโลกพากันตื่นเต้นคาดการณ์ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ไม่เคยสนใจว่า อิรักได้กลายเป็นสนามรบกลางระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านไปแล้ว

พูดง่ายๆ คือ อิรักถูกยึดครองโดยสหรัฐฯและอิหร่านโดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วนั่นเอง

ขนาดจิ๊กโก๋ 2 คนมาทะเลาะหน้าบ้าน เจ้าของบ้านมีสิทธิ์ไล่ตะเพิดให้ทะเลาะพ้นบ้านไปไกลๆ

แต่นี่ดันมาทะเลาะภายในบ้าน ทำข้าวของภายในบ้านเสียหายแตกกระจายไปหมด แถมยังเผาบ้านเสียหายวายวอด จนเจ้าของบ้านต้องหนีตายอลหม่าน ส่วนสมาชิกที่เหลือก็ได้แต่มองตาปริบๆ

ถามว่าศักดิ์ศรีของเจ้าของบ้านอยู่ที่ไหนกัน

โลกปัจจุบันได้เสียสติไปแล้ว เพราะแทนที่จะเห็นใจสงสารเจ้าของบ้าน แต่กลับตื่นเต้นกับไอ้จิ๊กโก๋ 2 คนนั่น

สมมติเล่นๆนะครับว่า จีนกับญี่ปุ่นขัดแย้งกันรุนแรง ถึงขั้นจีนสังหารนายพลญี่ปุ่นที่สนามบินกองทัพไทย ญี่ปุ่นแค้นจัด จึงถล่มฐานทัพจีนที่เมืองไทยเป็นการตอบโต้

ถามว่ารัฐบาลไทย ประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ยังมีศักดิ์ศรีเหลืออยู่อีกหรือไม่

เช่นเดียวกันกับประเทศอิรัก เขามีศักดิ์ศรี มีอธิปไตย มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับทุกประการ

40 ปี ที่ทำสงคราม(น้ำลาย)ระหว่างกัน บ้านใหญ่ของ 2 ซาตานยังปกติทุกประการ แต่ที่แหลกลาญเป็นจุณคือเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะอิรัก ซึ่งได้กลายเป็นสนามรบกลางระหว่าง 2 ซาตานไปแล้ว นี่ประเทศทั้งประเทศนะครับ ไม่ใช่สนามกลางแข่งบอลยูฟ่า

اللهم أهلك الظالمين بالظالمن وأخرجنا من بينهم سالمين
โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดทำลายจอมอธรรมด้วยน้ำมือของจอมอธรรมด้วยกันเอง และขอให้เราออกจากพวกเขาโดยปลอดภัยด้วยเถิด

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ปรากฏการณ์กงล้อทางอารยธรรม

ภาพจาก turnleftthai.wordpress.com

ช่วง 2008- 2011 (5ปี) มี 2 ปรากฏการณ์ใหญ่สนั่นโลก ได้แก่
1) วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา และ
2) ปรากฏการณ์ปฏิวัติดอกมะลิ (Arab spring) ที่เริ่มในต้นปี 2011 และได้บานปลายจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นเหตุการณ์สั่นสะเทือน “ภาพมายาคติ (Myth)” ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯที่ถูกท้าทายจาก “ขบวนการก่อการร้าย” (Terrorism) ตามหลักหมุดของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นวาทกรรม (Discourse) ในสังคมการเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านการผลิตและผลิตซ้ำ (Reproduce) โดยสหรัฐฯ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติอาหรับและอิสลาม ภายใต้นโยบายชิงโจมตีก่อน (Preemtion) ตลอดจนความพยายามที่จะสถาปนา “ระเบียบโลกใหม่” (New World Order) ให้หมุนตามความต้องการของวอชิงตัน

วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ได้สร้างบทเรียนมากมายที่สะท้อนถึงการล่มสลายของวิถีชีวิตขั้นพื้นฐานของยุโรป เป็นภาวะการชะงักงันการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตที่เป็นศูนย์ (Zero Growth) ที่มีสาเหตุสำคัญเนื่องจากเกิดช่องว่างระหว่างวัยที่สูงมาก กล่าวคือประชากรยุโรปมีวัยที่เลยเกษียณเป็นจำนวนมาก กลุ่มนี้ไม่มีบทบาทในการกระตุ้นหรือขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยุโรปจึงไม่มีวัยทำงานที่มีจำนวนเพียงพอในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เนื่องจากยุโรปล้มเหลวในการผลิตชนรุ่นใหม่ที่มีความทะเยอทะยานและมุ่งมั่นทำงาน ทั้งนี้เพราะโครงการคุมกำเนิดที่ดำเนินโดยยุโรป ช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้ทำลายโครงสร้างของสถาบันครอบครัว ที่แต่ละคนมุ่งแต่ใช้สถาบันนี้เป็นเพียงแหล่งบันเทิงทางกามารมณ์ ภายใต้แนวคิดเซ็กส์เสรีเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอนุชนที่ดีและมีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เพราะยุโรปใช้น้ำ(อสุจิ)ที่ไม่ก่อประโยชน์ อันใดเลย เป็นการปล่อยน้ำฟุ่มเฟือย ไร้การควบคุม ยุโรปจึงไม่สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์จากน้ำที่อัลลอฮฺประทานให้ เนื่องจากจมปลักในแนวคิดเซ็กส์เสรี ทั้งๆที่อัลลอฮฺได้สร้างทุกสิ่งที่มีชีวิตมาจากน้ำทั้งสิ้น วิกฤตินี้จึงไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น มันเป็นปรากฏการณ์ฟองสบู่แตก จากฐานรากในสังคมที่ถูกหมักหมมมานาน และเป็นอุบายประการหนึ่งของอัลลอฮฺที่ต้องการทำลายประชาชาติที่อหังการจากแกนของมัน
ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวในอัลกุรอานความว่า

“ผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และบนความโปรดปรานนั้นดีกว่าหรือว่าผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนริมขอบเหวที่จะพังทลายลง แล้วมันก็พัง นำเขาลงไปในนรกและอัลลอฮ์นั้นจะไม่ชี้แนะทางแก่กลุ่มชนที่อธรรม” (อัตเตาบะฮฺ /109)

สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักยุโรปเข้าไปในวังวนวิกฤติเศรษฐกิจคือ วิถีแห่งความฟุ่มเฟือยที่ซึมลึกเข้าไปในวัฒนธรรมบริโภคนิยมของชาวยุโรป ในอัลกุรอานใช้คำว่า الترف หมายถึงฟุ่มเฟือยหลายที่ด้วยกัน และแต่ละครั้งก็จะเกี่ยวโยงกับความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งเป็นต้นตอของความล่มสลายของประชาชาติในที่สุด จนกระทั่งมีคนกล่าวว่า “ฉันไม่เห็นความฟุ่มเฟือยในสังคมใด นอกจากว่าในสังคมนั้นมีความอยุติธรรมควบคู่อยู่เสมอ” ما رايت اسرافا الا وبجانبه ظلم พฤติกรรมบริโภคนิยมของยุโรป เป็นสิ่งที่ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ยุโรปจึงต้องการสะสมทรัพยากรมหาศาลมาจุนเจืออยู่ตลอดเวลา เนื่องจากทรัพยากรในประเทศมีจำนวนจำกัด พวกเขาจึงต้องไปปล้นสะดมทั่วโลกตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน สงครามอ่าวที่ผ่านมาน่าจะเป็นสิ่งยืนยันในเรื่องนี้ดี วัฒนธรรมบริโภคนิยมได้ซึมลึกเข้าไปในวิถีชีวิตของชาวยุโรป ประเทศไม่มีวัยทำงานที่เพียงพอกับความต้องการทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พวกเขาบริโภคเกินความต้องการที่จำเป็นในชีวิต และเกินกว่าฐานะรายได้หรือความสามารถในการผลิตของคนหรือของประเทศ ทำให้ประเทศต้องแบกภาระหนี้มหาศาล ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคนิยมได้ในระยะเวลาอันสั้น ถือเป็นการทำลายอารยธรรมจากรากฐาน และทำให้อารยธรรมนี้พังครืนไปในที่สุด

คล้อยหลังวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์สถานการณ์โลกทุกสำนักในโลกนี้ แม้กระทั่งนักทำงานอิสลามนานาชาติก็ไม่เคยวิเคราะห์มาก่อนเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถึงขนาดเคยมีคำกล่าวว่า เราไม่เชื่อกับวิธีการปฏิวัติ และไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะเกิดผลประโยชน์อันใดเลย Arab Spring จึงเป็นปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่กำลังลุกลามอยู่ในโลกเวลานี้ มีชื่อเรียกว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ” หรือ The Jasmine Revolution เนื่องจากการปฏิวัติดังกล่าวเริ่มต้นที่ประเทศตูนิเซีย ซึ่งมีดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำชาติ ต่อมาลุกลามไปที่อิยิปต์ ลิเบีย เยเมน และขณะนี้กำลังคุกรุ่นอยู่ที่ซีเรีย ซึ่งถือเป็นโฉมใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอิสลามในไม่ช้านี้ เพราะการปฏิวัติประชาชนก่อนหน้านี้ถือเป็นการปฏิวัติของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่ซีเรียเป็นการกระชากหน้ากากของผู้อยู่เบื้องหลังของผู้แอบอ้างอิสลาม เพื่อทำลายอิสลามจากภายใน
ชัยค์อะลีย์ อัศศอบูนีย์ได้กล่าวระหว่างทัวร์ความรู้ในประเทศมาเลเชียและอินโดนีเซียช่วงปลายปี 2012 ว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ซีเรียเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดระหว่างขั้ว لا اله الا الله และ لا اله الا بشار เลยทีเดียว
ซึ่งขั้วแรกจะต้องได้รับชัยชนะอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่สะเทือนโลกนี้ เป็นการยืนยันทฤษฎี กงล้อทางอารยธรรม التدوال الحضاري เพราะหากความเจริญของสังคมทุกสังคมย่อมมีที่มาที่ไปของมัน การล่มสลายของแต่ละสังคมย่อมมีเหตุผลของมันเช่นกัน ดังนั้นทฤษฎีกงล้อทางอารยธรรม จึงเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่มีภาวะขึ้นลงตามวิถีของมัน ถือเป็นอายุขัยของแต่ละประชาชาติและอารยธรรมในทุกยุคทุกสมัย เป็นการขึ้นลงที่มีความสมดุลตามวิถีของอัลลอฮฺ (สุนนะตุลลอฮฺ) ล้อเกวียนจะหมุนเร็วเท่าไหร่ ส่วนอื่นก็จะหมุนตามจังหวะนั้นไปด้วย อารยธรรมใดที่เคยอยู่ส่วนบนได้ล่มสลายไปอย่างรวดเร็วฉันใด อารยธรรมอื่นก็จะขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็วฉันนั้น

وتلك الايام نداولها بين الناس وليعلم الله الذين امنوا ويتخذ منكم شهداء والله لا يحب الظالمين
และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์ และเพื่ออัลลอฮ์จะได้ทรงรับรู้บรรดาผู้ที่ศรัทธา และเพื่อเอาบรรดาผู้เสียชีวิตในสงคราม จากพวกเจ้าและอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงรักใคร่ผู้อธรรมทั้งหลาย (อาละอิมรอน / 140)

หลายฝ่าย ฟันธงว่า อารยธรรมอิสลามเป็นอารยธรรมใหม่ที่จะมาแทนที่อารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว คำถามก็คือ แล้วประชาชาติมุสลิมมีความพร้อมที่จะอยู่ด้านบนสุดของล้อเกวียนมากน้อยแค่ไหน

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ