ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่2]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์”

ตอนที่ 2

หลังจากบิดาเสียชีวิต มารดาก็กลับไปอาศัยที่บ้านเดิมกับครอบครัวของนาง

มารดาและน้าชายของข้าพเจ้าเฉลียวฉลาดมาก นางสามารถคำนวณตัวเลขหลายหลักในใจได้อย่างรวดเร็ว

ข้าพเจ้าจะมาเล่นสนุกและสนิทสนมกับลูกๆของน้าๆอาๆ มากกว่าลูกๆของลุงๆป้าๆ ที่ไม่มีรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า

คุณยายรักและเอ็นดูข้าพเจ้ามาก ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าทำผิด คุณตาจะตี แต่นางได้ขอร้องไม่ให้ตี โดยมีเงื่อนไขว่า ข้าพเจ้าจะต้องไม่ทำผิดซ้ำอีก คุณตาก็ยอมและนางมักจะเก็บอาหารไว้เป็นพิเศษสำหรับข้าพเจ้าเสมอ

คุณตาเสียชีวิตขณะที่ข้าพเจ้าอายุได้ 5 ปี คุณยายและคุณน้าคุณอาก็ยิ่งให้ความรักความเอ็นดูต่อข้าพเจ้ามากขึ้นเหมือนลูกคนหนึ่งของพวกนาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่มารดาของข้าพเจ้าเสียชีวิตไป ขณะที่ข้าพเจ้ามีอายุได้ 15 ปี

สภาพครอบครัวกอรอฎอวีย์ ขณะนั้นบางปีการเกษตรมีปัญหา บางครั้งหนอนฝ้ายกัดกินฝ้ายจนเสียหายไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่ดินได้

ปัญหาหนึ่งของครอบครัวเราที่ข้าพเจ้าเคยพบเห็นผลที่เกิดกับเราคือ ควายที่ใช้ไถนาตายลง ซึ่งมันมักจะตายในฤดูใบไม้ผลิ เพราะมีอาหารการกินสมบูรณ์เกินไป เมื่อมันเป็นโรค ก็ใช้มีดรักษาและขายเนื้อในราคาถูกๆ

ปกติเราจะมีควาย 2 ตัวหรือควายหนึ่งกับวัวอีกหนึ่งไว้สำหรับไถนา เมื่อควายตายลงก็เหมือนโศกนาฏกรรมสำหรับชาวนา เพราะการหาเงินซื้อควายตัวใหม่ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับชาวนาจนๆ ดังนั้น บางครั้งเพื่อนบ้านจึงไปแสดงความเสียใจกับเจ้าของเหมือนหนึ่งการได้สูญเสียสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวไป

สำหรับครอบครัวเราแล้ว ควายมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเราใช้นมสดของมันดื่มแทนการรับประทานเนื้อ ที่เราไม่สามารถซื้อรับประทานได้เป็นประจำนอกจากในวันพุธ ซึ่งเป็นวันตลาดนัดของตำบล


ที่มา เพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

ซีรี่ส์ “รู้จักชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์” [ตอนที่ 1]

อ่านไดอะรี่ส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์

ตอนที่ 1

ข้าพเจ้าเกิดในชนบทที่ตำบลเล็กๆ ของอียิปต์ ไม่มีประปา  ไฟฟ้า ถนนลาดยาง  ห้องสมุด สโมสร หรือลักษณะของความทันสมัยใดๆทั้งสิ้น

ตำบลของเราคือ  ศุฟต์ตุรอบ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองตอนตอซึ่งเป็นอำเภอเมืองของจังหวัดฆอร์บียะฮฺและอำเภอมะหัลละต์กุบรอ เมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งของจังหวัด ห่างจากตอนตอ ประมาน 21 กม. จากมะหัลละต์ ประมาณ   9 กม.

ตระกูล กอรอฎอวีย์ ของเราเดิมอพยพมาจากตำบลกอรอเฎาะต์ จังหวัดกัฟรูชัยค์ เป็นตระกูลเล็กๆในตำบล ที่สืบทอดตระกูลมาจากปู่ของข้าพเจ้าที่ชื่อ ฮัจญีอาลี    กอรอฎอวีย์  ซึ่งเป็นฮัจญีเพียงไม่กี่คนในตำบล

มารดาของข้าพเจ้าเป็นหญิงหม้าย นางสมรสครั้งแรกขณะยังเยาว์วัยกับบุตรลุงของนางที่อยู่กรุงไคโร ไม่ค่อยเคร่งครัดในศาสนา  เขามักดื่มเหล้าและกลับบ้านดึกๆดื่นๆ ในสภาพเมามาย มารดาซึ่งเป็นหญิงชนบทที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพเช่นนี้ จึงกลัวเขามาก

เมื่อคุณตาไปเยี่ยมมารดา รู้เห็นสภาพดังกล่าว จึงสั่งให้เขาซึ่งเป็นหลานชาย(บุตรของน้องชาย)หย่ากับกับนางเสีย  แล้วพากลับบ้านทันที ซึ่งขณะนั้นนางกำลังตั้งครรภ์พี่สาวร่วมมารดาของข้าพเจ้าที่มีอายุมากกว่าข้าพเจ้า  8 ปี

บิดาของข้าพเจ้าก็เคยสมรสและได้หย่ากับภรรยาคนแรกแล้ว จึงมาสู่ขอมารดาของข้าพเจ้าภายหลังจากที่นางคลอดบุตร  7 ปี และการสมรสก็มีขึ้น นางก็ตั้งครรภ์ข้าพเจ้าในทันที เมื่อคลอดข้าพเจ้าพวกเขาตกลงกันตั้งชื่อข้าพเจ้าว่ายูซุฟ  ตามชื่อลุงของข้าพเจ้าที่ตายไปโดยไม่มีบุตร ซึ่งชื่อลุงก็ถูกตั้งตามชื่อของปู่ของเขา ฉะนั้นวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้าคือ ยูซุฟ บุตร อับดุลลอฮฺ  บุตร อะลีย์ บุตร ยูซุฟ

บิดาของข้าพเจ้าเสียชีวิตตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ 2  ปี ด้วยโรคทางเดินปัสสาวะ ด้วยในสมัยการแพทย์ยังล้าหลังมาก  ลุงอะหมัดจึงดูแลข้าพเจ้าต่อมา ลุงเป็นเกษตรกร ไม่รู้หนังสือ ไม่มีทรัพย์สินรวมทั้งที่ดิน  มีเพียงที่ดินอยู่อาศัยของป้าประมาณครึ่งเอเคอร์ ( ประมาณ  12.5  ไร่ – ผู้แปล ) และได้เช่าที่ดินทำกินจากผู้อื่น

ตอนนั้นลุงอายุประมาณ  50  ปี  ท่านเป็นที่นับหน้าถือตาของชาวบ้าน มีความขยันขันแข็งในการทำงาน  เคร่งครัดศาสนาและละหมาดญะมาอะต์ห้าเวลาที่มัสยิดเป็นกิจวัตร

ท่านเป็นคนสมถะ รับประทานโรตีแข็ง ที่ทำจากข้าวโพด กับเนยแข็งดอง กับผักดองที่ตัวหนอนเล็กๆคลานอยู่ต้วมเตี้ยม  เสร็จแล้วดื่มน้ำจากเหยือกดินเผา แล้วกล่าวว่า  ขอบคุณอัลลอฮฺ ที่ให้ความสุขนี้แก่เราและรักษาไว้มิให้สูญหาย

ลุงและชาวชนบททั่วไป พอใจกับสิ่งที่อยู่ ตามที่ท่านนบี  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะสัลลัม  สอนไว้ว่า

   ارض بما قسم الله لك تكن أغنى الناس

“จงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺแบ่งสรรให้ แล้วท่านจะเป็นมหาเศรษฐี ”

แม้ว่าลุงจะไม่รู้หนังสือแต่ก็ชอบทายปัญหาและเล่านิทานให้เราฟัง

ท่านเคยทายว่า  “ป้าของเจ้า พี่สาวของบิดาของเจ้า  แล้วน้าชายของลูกชายของป้าเจ้าเป็นอะไรกับเจ้า”

ข้าพเจ้าตอบว่า “เป็นบิดาหรือลุงของฉัน”

ลุงเคยเล่านิทานตลกเรื่อง ญุฮา ( ตัวละครเอกของนิทานพื้นบ้านอาหรับ เช่นเดียวกับ ศรีธนญชัยของไทย หรืออบูนาวาสของมาลายู – ผู้แปล)ให้เราฟังบ่อยๆ


ที่มา เพจ อ่านบันทึกส่วนตัว ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่5]

7 เหตุผลที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้อย่างง่ายดาย

หลังจากการสู้รบนานเกือบ 20 ปี สูญเสียชีวิตทหารและพลเมืองอเมริกันกว่า 6,000 คน และสังเวยชีวิตชาวอัฟกันกว่า 100,000 ชีวิต ผลาญงบประมาณของสหรัฐฯ ไปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคจะคาดการณ์อยู่แล้วว่า วันนี้จะต้องมาถึงในที่สุด แต่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ โดยแทบไร้แรงต้านทานจากรัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถาน ที่ว่ากันมามีจำนวน 3 แสนนาย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า 7 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้รวดเร็วและง่ายดายมีดังนี้

1.ความผิดพลาดด้านข่าวกรอง

การที่ฏอลิบานสามารถยึดเมืองหลวงและทำเนียบประธานาธิบดีได้อย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นว่าหน่วยข่าวกรองทหารสหรัฐฯ ล้มเหลวในการประเมินสถานการณ์  ฏอลิบานจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ วางแผน และเดินหน้าการโจมตีครั้งใหญ่มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนเริ่มการ “การจู่โจมครั้งสุดท้าย” ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลและกองทัพอัฟกันน่าจะสามารถยื้อได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี

รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คนหนึ่งคิดว่า กรุงคาบูลน่าจะถูกยึดในอีก 90 วัน มีกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี 3 แสนนายพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่แล้วมันเป็นแค่ความจริงในเอกสารการรายงาน ส่วนในภาคสนาม กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม

2.ความไม่มีใจคิดสู้ของทหารรัฐบาล

กลุ่ม ฏอลิบานแทบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเพื่อการยึดครองเมืองหลวงของจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมาเลย แต่เป็นการเจรจาเพื่อให้ยอมแพ้เสียมากกว่า นอกเหนือจากการลอบสังหารบรรดาแกนนำของรัฐบาล กว่า2-3 ปีที่ผ่านมา ฏอลิบานสามารถควบคุมพื้นที่ประมาณ 50 % ของประเทศได้ด้วยการยึดพื้นที่ชนบทต่างๆ และเมื่อเคลื่อนกำลังเข้าสู่เมืองใหญ่ ทหารอัฟกันจำนวนมากก็ปล่อยให้พวกเขาผ่านไป เพราะคิดว่า รัฐบาลในคาบูลคงไม่ส่งกำลังช่วยเหลือพวกเขา

พวก ฏอลิบานจะแทรกซึมเข้าสู่เขตเมืองก่อน เจรจา โน้มน้าวและข่มขู่บรรดาผู้บังคับบัญชาทหารให้ยอมแพ้ มิเช่นนั้นจะสูญเสียครอบครัว เมื่อบวกกับความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลอยู่แล้วและคำขาดของไบเดนที่จะถอนกำลังทั้งหมดภายในวันที่ 11 กันยายน พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้จนตัวตายอย่างไร้ประโยชน์

3.อุบายปิดล้อมทางทหารและจูงใจประชาชน

ฏอลิบานโอบล้อมกรุงคาบูลและตัดเส้นทางเสบียงที่จำเป็นสำหรับกองทัพอัฟกัน พร้อมกันนั้น ก็สั่งสมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คิดค้นยุทวิถีใหม่ๆ  พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียแบบเดียวกับที่ใช้ปืนไรเฟิลซุ่มยิง โดยสร้างแรงกดดันต่อเหล่าหัวหน้าชนเผ่าท้องถิ่น  รวมทั้งใช้ข้อความเรียบง่าย แต่เห็นผลเพื่อข่มขู่ชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ภายใต้แผน “สงครามจิตวิทยา”

พวกเขาหยิบยื่นทางเลือกในการตัดสินใจให้กับเหล่าผู้บังคับบัญชาท้องถิ่น และชักชวนประชาชนเข้าสู่พื้นที่ยึดครองและจัดสรรบริการสังคมบางส่วนให้กับผู้อยู่อาศัย พวกเขาใช้ทั้งการอ้อนวอน ให้ทางเลือก และข่มขู่ประชาชนให้สนับสนุน หรือไม่ก็ “อย่าต่อต้านพวกเขา”

4.การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและกองทัพ

กองทัพอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นแทบทุกส่วน ถึงแม้มีการต่อสู้กันอย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาก็จะแพ้อยู่ดี เพราะว่าพวกเขาไม่รู้เลยว่าสามารถสั่งการและควบคุมใครได้บ้าง ไม่รู้ว่ามีทหารที่ใช้งานได้ในมือกี่คน  ยุทโธปกรณ์เกือบทั้งหมดถูกแยกส่วน ถูกขโมย และลักลอบขาย ทหารจำนวนมากไม่ได้รับค่าจ้าง อาหาร และสวัสดิการอย่างเหมาะสมจากส่วนกลาง แม้กระทั่งน้ำดื่มก็ยังขาดแคลน

ยิ่งไปกว่านั้น หลายหน่วยเลือกขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับ ฏอลิบาน มีกรณีการหนีทัพจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรายงานหรือบันทึก ทำให้จำนวนทหารที่แท้จริงน้อยกว่าตัวเลขของทางการ

5.คนอเมริกันไม่เคยเข้าใจ ‘อัฟกานิสถาน’ เลย

“ไม่เคยมีรัฐบาลกลางในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่แรกแล้ว ความคิดที่ว่าเราสามารถตั้งรัฐบาลได้นั้นเป็นความคิดที่โง่มาก …การตกตะลึงในความเร็วของการยึดอำนาจของ ฏอลิบานยิ่งแสดงให้เห็นว่า แทบไม่มีชาวอเมริกันคนไหน จากบนสุดถึงล่างสุด เข้าใจอัฟกานิสถานเลย” อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ และทหารผ่านศึกอัฟกานิสถานคนหนึ่ง กล่าว

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชนเผ่า ภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่วอชิงตันกับพันธมิตรนาโตกำลังพยายามเปลี่ยนมันให้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์บนค่านิยมแบบตะวันตก โดยเข้าใจเองว่า ยึดคาบูลได้ ก็ยึดอัฟกานิสถานทั้งประเทศได้ ซึ่งผิดถนัด

“มีความเข้าใจผิดโดยรากฐานเกี่ยวกับสิ่งที่ชาวอัฟกันต้องการ” แซกชี ซึ่งเคยฝึกกองกำลังอิรักเมื่อปี 2004 กล่าว “เราคิดเอาเองว่า พวกเขาต้องการสิ่งที่พวกเรามี เสรีประชาธิปไตย ค่านิยมแบบยิว–คริสต์ และคิดว่า พวกเขาแค่ต้องการเวลาปรับตัว แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย”

ความเป็นพันธมิตรทางชนเผ่าในอัฟกานิสถานสำคัญมากกว่าความเป็นชาติ   และความภักดีมักขึ้นอยู่กับเงินและอำนาจ และความเข้มแข็งส่วนหนึ่งของ ฏอลิบาน คือพวกเขาเป็น ‘ปาทาน’ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน

“ที่เราทำก็แค่ยกหางชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์แบบมั่วซั้วขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีความสามารถที่จะรวมประเทศนี้เป็นหนึ่งได้เลย”

6. รัฐบาลที่อ่อนแอและไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ความสิ้นหวังของประชาชนต่อคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยยืนยันจะพัฒนาประเทศด้วยงบประมาณหมื่นๆล้านโดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ความยากจนและช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานทางสาธารณูปโภค ที่แทบค้นหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังไม่ได้ งบประมาณอันมหาศาลก็ถูกจัดสรรและผลาญโดยองค์กรสากลที่รัฐบาลกลางแทบไม่มีส่วนใดๆเกี่ยวข้องเลย แต่ประชาชนตาดำๆ ก็ยังต้องดิ้นรนหาน้ำ อาหาร ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยและยารักษาเหมือนเดิม

7. การสนับสนุนจากภายนอก

โดยเฉพาะปากีสถานทั้งเป็นทางการและไม่ทางการ เพราะตามที่ทราบกันว่า  พรมแดนทางทิศตะวันออกและทางตอนใต้ที่ติดกันระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถานซึ่งยาว 2,430 กม. บวกกับประวัติศาสตร์อันยาวนานที่หลอมรวม 2 ประเทศนี้ให้เป็นหนึ่ง ที่ถึงแม้จะถูกแบ่งเส้นตามพรมแดนของลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ แต่ในความรู้สึกของประชาชนก็ยังไม่สามารถแบ่งกั้นได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเผ่าพันธุ์ที่มีความเข้มข้นเหนือความเป็นรัฐชาติของประชาชนในบริเวณนี้ ถึงแม้รัฐบาลปากีสถานจะเอาใจรัฐบาลอัฟกานิสถานและสหรัฐอเมริกาด้วยการให้ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและข่าวกรอง แต่ก็เป็นไปได้แค่บนโต๊ะเจรจาหรือภาคปฏิบัติในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เรื่องราวจะสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าซีรีย์แอร์ทูรูล

โดยผู้เขียนไม่แตะต้องปัจจัยที่ 8 ซึ่งคือปฐมปัจจัยของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ก็ล้วนเป็นผลพวงของปัจจัยนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือแผนการแห่งการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงกระชากอำนาจจากผู้ใดที่พระองค์ทรงต้องการ ทรงยกย่องให้เกียรติกับผู้ใดที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงย่ำยีและลดเกียรติให้กับผู้ใดที่พระองค์ทรงพอใจ ซึ่งล้วนมีวิทยปัญญา(หิกมะฮ์) อันมากมายสำหรับมนุษย์เรืองปัญญา

credit

มีการแปลสรุปเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ทางไลน์ในประเด็น 5 ข้อแรก

https://www.cnbc.com/…/how-afghanistan-fell-to-the…


โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่4]

เหตุการณ์ความโกลาหลที่สนามบินกรุงคาบูล

“อย่างกับในหนัง คนแน่นสนามบินคาบูล หวังขึ้นเครื่องบินหนีหลัง ฏอลิบาน ยึดประเทศ”(Sanook)

“นาทีสลด คลิปเหตุการณ์ชาวอัฟกันหนีร่วงมาจากเครื่องบิน”(Spring News)

“ชาวอัฟกันดับแล้ว 12 รายจากเหตุวุ่นวายที่สนามบินคาบูล”(TNN)

“คลิปชาวอัฟกันวิ่งตามเครื่องบิน บางคนโดดเกาะเครื่อง หวังออกจากประเทศ”

นี่คือบางส่วนของการพาดหัวข้อข่าวทั่วโลกหลังจาก ฏอลิบาน ยึดกรุงคาบูลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งชวนให้ชาวโลกปักใจเชื่อว่า ฏอลิบาน มีความอำมหิตโหดเหี้ยมถึงขั้นที่ประชาชนหวาดผวาหนีตายกันอย่างอลหม่านยิ่งกว่าหนังสยองขวัญ

ลืมไปว่า เหตุการณ์นี้คือบทสรุปและผลพวงของ 20 ปีที่มหาอำนาจบุกยึดและปกครองอัฟกานิสถาน พร้อมๆกับสัญญาอันสวยหรูว่า จะพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปากสูดดมบรรยากาศสันติภาพและสันติสุขที่ยั่งยืน

ลืมไปว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงคาบูลโดยการแตกฮือของประชาชนจำนวนไม่กี่พันคน เมื่อเทียบกับชาวอัฟกันทั้งประเทศเกือบ 40 ล้านคน

ลืมไปว่า รัฐบาล ฏอลิบาน ประกาศนิรโทษกรรมทั่วประเทศ ไม่มีการล้างแค้น ไม่มีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิด และจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีข่าวว่า ฏอลิบาน เข้าไปจับกุมทรมาน หรือสังหารฝ่ายตรงกันข้ามแม้แต่คนเดียว ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสภาพเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่หลังถล่มประเทศนาน 40 วันจนแหลกลาญ ก็ไล่ล่าจับกุมคู่อริ แม้กระทั่งจะหนีกบดานเข้าไปในรูหนู แถมยังจับไปทรมานในคุกเถื่อนกวนตานาโม สัญลักษณ์แห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งรุนแรงที่สุดของลัทธิล่าอาณานิคม ที่บริษัทเอ็นจีโอทำได้แค่ถ่ายทำสารคดี เพื่อแสดงความมีน้ำใจของชาติที่ไร้มนุษยธรรม

ความจริงเราสามารถแยกกลุ่มที่สร้างความโกลาหลที่สนามบินกรุงคาบูลออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

1.กลุ่มที่หวาดผวากับ ฏอลิบาน จริง เพราะได้สร้างวีรกรรมมากมาย ด้วยการเป็นสุนัขรับใช้ของชาติผู้บุกรุกตั้งแต่แรก ยอมแลกกับเนื้อก้อนเล็กๆที่ถูกโยนให้เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ จึงเกิดอาการร้อนท้อง เพราะทานปูนไปเยอะ แต่ก็เป็นระดับปลาซิวปลาสร้อยเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น เพราะระดับบิ๊กๆ จริงๆ ก็ถูกขนย้ายอย่างปลอดภัยพร้อมสุนัขตัวจริงไปแล้ว

2.กลุ่มฉวยโอกาสที่พร้อมอพยพออกนอกประเทศทุกยามเมื่ออยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด กลุ่มนี้ไม่เกี่ยวกับฝ่ายสนับสนุนหรือเห็นต่างกับ ฏอลิบาน แต่อย่างใด เป็นกลุ่มที่อยู่ใน 40% ของจำนวนประชากรที่ว่างงานทั้งประเทศ และจำนวน 53% ที่ตกอยู่ในกลุ่มประชาชนที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน เป็นผลพวงของประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามยืดเยื้อยาวนาน 40 ปีซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังไม่มีครอบครัวและยังไม่รู้ชะตากรรมชีวิตของตัวเองในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาหวังใช้ชีวิตที่ดีกว่าด้วยการหนีตายเอาดาบหน้า ถึงแม้จะต้องเสี่ยงตายมากมายแค่ไหน พวกเขาพร้อมเผชิญหน้า เพื่อหนีจากวงจรอุบาทว์ของชีวิตที่มืดมนในประเทศของตนเอง

ชาวอัฟกัน จึงเป็นชาวอพยพที่อยู่กระจัดกระจายไปทั่วทวีปจำนวนอันดับต้นๆของโลกด้วยประการฉะนี้แล

เรื่องนี้ใครไม่ประสบด้วยตนเอง ไม่มีวันเข้าใจได้ ไม่เห็นโลงศพ ไม่มีวันหลั่งน้ำตา

3.กลุ่ม”ปาทานมุง” ที่เป็นธรรมเนียมของชาวปาทานที่มีความเข้มข้นยิ่งกว่า”ไทยมุง” หลายเท่า และบางกระแสข่าว ระบุว่ามาจากกลุ่มสนับสนุน ฏอลิบาน ที่ต้องการสกัดการอพยพคนครั้งนี้ด้วยซ้ำ

แต่สื่อกระแสหลักกลับไปชี้นำที่กลุ่มแรกเพียงกลุ่มเดียว พยายามซูมกลุ่มนี้ให้เป็นที่น่าสนใจและตัดภาพกลุ่ม 2 และ 3 ออกจากจอ โดยเฉพาะหลังข่าวการเสียชีวิตของบุคคลระดับนักฟุตบอลทีมชาติที่ร่วงตกจากเครื่องบินเสียชีวิตอย่างสุดอนาถ ทำให้กลุ่ม 2 และ 3 ถูกลืมและไม่ได้รับความสนใจไปโดยปริยาย

วงกลมมี 360 องศา การภูมิใจที่จะอยู่ ณ องศาแรกที่พบเจอ คือธรรมเนียมของคนสิ้นคิดและด้อยอารยธรรมครับ


โดย Mazlan Muhammad

จากนักข่าวที่อคติอิสลาม…สู่การเข้ารับอิสลาม

จะทำอย่างไรให้สังคมไทยบริโภคข่าวในลักษณะนี้บ้าง

โดยเฉพาะนักข่าวที่ชอบอ่านข่าวแบบมั่วซั่วบางคน ที่การศึกษาและชาติตระกูล ไม่ได้ช่วยให้เขามีทัศนคติเชิงบวกต่อเพื่อนร่วมโลก ยกเว้นกลุ่มที่เขาซูฮกว่าเป็น “ผู้ดี” เท่านั้น

Yvonn (Mariam) Ridley (63 ปี) หนึ่งในนักข่าวที่พกพาความอคติอิสลามเต็มสมอง ที่ถูกส่งตัวไปยังอัฟกานิสถาน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งเธอเอง ก็ไม่รู้ว่าด้วยซ้ำว่า ที่แท้เป็นการเดินทางสู่อิสลาม

เธอพูดประโยคทองตอนหนึ่งว่า

“ฉันได้ค้นพบว่า ในฐานะนักข่าว ฉันจะไม่มีทางที่จะพูดเรื่องราวในตะวันออกกลาง เอเชีย หรือทุกประเทศในโลกอิสลาม ก่อนที่ฉันจะศึกษาเกี่ยวกับอิสลาม”

อยากให้นักข่าวไทย (ที่มั่วๆบางคน) หันสนใจคำพูดของเธอบ้าง


โดย Mazlan Muhammad

ใครกันที่ละเมิดสิทธิมนุษยน

สตรีที่จีนถูกปฏิบัติเยี่ยงทาสอย่างทรมานนานนับศตวรรษ

สตรีโรฮิงญาถูกรุมโทรมและย่างสดสุดสยอง

สตรีที่อิรัก ซีเรียถูกย่ำยี ฉุดกระชากอย่างไร้มนุษยธรรม

สตรีที่ปาเลสไตน์ถูกทุบตีและทำร้ายโดยกลุ่มทรชนที่อำมหิตยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน

สตรีทั่วโลกถูกขบวนการธุรกิจค้ามนุษย์และค้ากามทำเป็นสินค้าที่สามารถเช่าซื้อและทิ้งขว้างเป็นว่าเล่น

#แต่โลกพากันวิตกกังวลเรื่องสตรีอัฟกันว่าจะถูกบังคับใส่ฮิญาบหรือไม่


โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฎอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่ 3]

ฏอลิบาน & ไอเอส ความเหมือนที่ต่างกันราวฟ้ากับก้นเหว

หลายคนยังแยกไม่ออกระหว่างฏอลิบานและไอเอส มีเพียงสิ่งเดียวที่เป็นที่จดจำในมโนคติของพวกเขาคือก่อการร้าย สุดโต่ง ลิดรอนสิทธิสตรี กระหายเลือด หรือทัศนคติเชิงลบต่างๆ ตามที่ได้ถูกเล่าขานกันมา ซึ่งอาจมีส่วนจริงส่วนเท็จปะปนกันไป

ความจริง ทั้งสองกลุ่มนี้มีความเหมือนที่ต่างกันมากมาย สรุปได้ดังนี้

ทั้งสองอาจมีจุดเหมือนตรงที่เป็นผลของปฏิกิริยาโต้กลับของประชาขาติมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธการใช้อำนาจเผด็จการและอธรรมของชาติตะวันตก ที่สถาปนาตนเองเป็นตำรวจโลกภายใต้การจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) พร้อมด้วยต้องการสานเจตนารมณ์สร้างรัฐในอุดมคติให้สามารถนำหลัก   ชะรีอะฮ์อิสลามมาปฏิบัติใช้ในการบริหารและการปกครอง ซึ่งมีรายละเอียดสลับซับซ้อนที่จะไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

แต่ทั้งสองมีจุดต่างกันมากมาย ที่นำไปสู่การแยกทางเดินชนิดทางใครทางมันทีเดียว

#ฏอลิบานคือใคร

ในภาษาบัชตุน ฏอลิบานหมายถึงกลุ่มนักศึกษาศาสนา ต่อมาได้พัฒนาการเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามและกลุ่มการเมืองที่ก่อตั้งโดยมุลลา โอมาร์ ในปี 1994 ที่เมืองกันดาฮาร์ อดีตเมืองหลวงอัฟกานิสถาน ติดพรมแดนปากีสถานทางภาคใต้ของประเทศ ฏอลิบานสามารถปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอัฟกานิสถานและเมืองหลวงกรุงคาบูลในฐานะ “รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน” ในปี 1996 แต่ได้รับการรับรองทางการทูตจาก 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ประเทศปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนกระทั่งกองทัพสหรัฐอเมริกายกทัพถล่มอัฟกานิสถานในปี 2001  พร้อมประกาศยุคอวสานของฏอลิบาน

ผู้นำฏอลิบาน ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากรากฐานนิยม”เดียวบัน” (Deobandi fundamentalism) ที่มีอุละมาอฺนามอุโฆษอย่าง อะบูหะซัน อันนัดวีย์ และเชคหะบีบุรเราะห์มาน อัลอะอฺศอมีย์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสถาบันศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในชมพูทวีปแห่งนี้  สมาชิกหลายคนปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่า “พัชตุนวาลี” (Pashtunwali) มีสมัชชาใหญ่ ( General Assambly) ที่ตัดสินเรื่องสำคัญของบรรดาเผ่าต่างๆ ที่เรียกว่า Loya Jirga (ที่ประชุมใหญ่แห่งเผ่า) ขบวนการฏอลีบานส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากสมาชิกชาวปาทาน (Pashtun) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ปัจจุบันมี Moulawi Hibatullah Akhundzada (60 ปี) เป็นอะมีร

ด้วยพื้นเพทางสังคมนี้ ฏอลิบานจึงมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากไอเอส สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. ด้านสำนักคิด ปรัชญาและแนวทางขัดเกลาจิตใจ

กลุ่มฏอลิบานยึดอะกีดะฮ์แนวมาตูริดียะฮ์ที่ใกล้เคียงกับแนวอะชาอิเราะฮ์ ซึ่งแพร่หลายในอัฟกานิสถาน อินเดีย จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน ตุรกี อิหร่านและประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นมัซฮับอะกีดะฮ์ทางการยุคอาณาจักรอุษมานียะฮ์ ส่วนสำนักคิดด้านฟิกฮ์ก็ยึดมั่นตามสำนักหะนะฟี และถือเป็นแม่บทในการตีความหลักศาสนบัญญัติ ที่ผสมผสานกับความเคร่งครัดในจารีตประเพณีของชาวปัชตุน ในขณะที่แนวทางด้านศูฟีย์ ฏอลิบานยึดถือแนวตะรีกัตศูฟีนักชะบันดีย์เป็นหลัก ซึ่งจะสวนทางกับแนวทัศนะของกลุ่มไอเอสที่ยึดมั่นกับแนวสะลัฟสายแป๊บซี่ ที่มักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแนวนี้มาโดยตลอด

2.ด้านความสัมพันธ์ในชุมชน

ฏอลิบานเป็นกลุ่มชนที่รวมตัวจากเผ่าพันธุ์เดียวกันคือบัชตุน ( ปาทาน) มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและเผ่าพันธุ์อย่างแนบแน่น พวกเขาจึงไม่มีระบบ “การส่งออกและการนำเข้า” ของประชาชน เพื่ออพยพผู้คนที่สมัครใจพำนักในดินแดนญิฮาดตามแนวทางของกลุ่มไอเอส ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีปัญหาด้านการซึมตัวเข้าไปในชุมชนเพราะทั้งแกนนำและสมาชิกต่างก็เป็นคนกันเอง ซึ่งเป็นลูกหลานในชุมชนอยู่แล้ว มีความรู้จักมักคุ้นกันดี ซึ่งต่างจากกลุ่มไอเอสที่มีการอพยพคนต่างถิ่นเข้ามาสร้างอิทธิพลในชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดกระแสต้านคนนอกหรืออาจสร้างปัญหากระทบกระทั่งและความหวาดระแวงกับคนในพื้นที่ ดังที่เกิดขึ้นในซีเรียและอิรัก

3. ด้านโครงสร้างการบริหาร

กลุ่มฏอลิบานไม่มีระบบโครงสร้างการบริหารที่สลับซับซ้อน มีเพียงระบบการเชื่อฟังผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับการสืบทอดและเป็นที่ยอมรับในเผ่าพันธุ์ของตนเอง ซึ่งต่างจากระบบบริหารของไอเอสที่เน้นโครงสร้างองค์กรระบบพีระมิด ที่ค่อนข้างลึกลับ ที่แม้แต่สมาชิกที่เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันเอง ก็แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีชื่อจริงอะไร เป็นใคร มาจากไหน

4. ด้านการกำหนดสนามการต่อสู้

กลุ่มฏอลิบานได้กำหนดสนามการต่อสู้(ญิฮาด)ในสนามที่จำกัด นั่นคือในดินแดนอัฟกานิสถานเท่านั้น พวกเขากำหนดยุทธศาสตร์ญิฮาดอย่างชัดเจนว่า ต้องการขับไล่กองกำลังต่างชาติและสร้างรัฐในอุดมคติตามหลักชะรีอะฮ์อิสลามในบริเวณพื้นที่ของประเทศของตนเอง ซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของไอเอสที่ขยายวงการญิฮาดไปยังทั่วทุกมุมโลกอย่างไร้พรมแดน แถมยังกล่าวหากลุ่มฏอลิบานว่า เป็นกลุ่มที่เรียกร้องและคลั่งไคล้ชาตินิยม เหมือนสาวกชาตินิยมทั่วไปในโลกนี้ ที่หนักไปกว่านั้น ไอเอสได้ตัดสินว่ากลุ่มฏอลิบานเป็นกลุ่มนอกรีต ตกศาสนาหรือมุรตัดด้วยซ้ำ

5. ด้านการสถาปนาตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์

ผู้นำฏอลิบานไม่เคยประกาศตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์มุสลิมีน และไม่เคยประกาศให้ประชาชาติมุสลิมโดยเฉพาะผู้นำอิสลามทั่วโลกให้การบัยอะฮ์ พร้อมลงดาบว่าผู้ใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะเป็นคนตกศาสนา(ตกมุรตัด) และจะประกาศสงครามทันที เหมือนผู้นำไอเอสที่ได้ประกาศที่โมซุล อิรักเมื่อปี 2013 ซึ่งหลังจากสถาปนาตัวเองเป็นเคาะลีฟะฮ์มุสลิมีนแล้ว ก็ส่งสารไปยังผู้นำประเทศอิสลามให้สัตยาบันและสวามิภักดิ์ต่อตนเอง ผู้ใดฝ่าฝืนก็จะถูกตัดสินเป็นคนนอกรีต ตกมุรตัดทันที

6. จุดยืนต่อกลุ่มหรือองค์กรอิสลามทั่วโลก

ฏอลิบานมีท่าทีเป็นมิตรกับองค์กรอิสลามทั่วโลก หลังจากฏอลิบานยุค1.0 มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อองค์กรอิสลามโดยเฉพาะกลุ่มอิควานมุสลิมีน ซึ่งฏอลิบานมองว่า อันตรายยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์และเป็นศัตรูที่แยกระหว่างอิสลามและการปฎิเสธทีเดียว แต่ฏอลิบานยุค 2.0 ในปัจจุบัน ทัศนะเชิงลบในลักษณะนี้ได้หมดไปแล้ว แกนนำฏอลิบานได้เยี่ยมเยียนเชคดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ และอิสมาอีล ฮะนียะฮ์ ผู้นำหะมาสเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งตามด้วยถ้อยแถลงของทั้งสองฝ่ายที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและความเป็นพี่น้องในอิสลาม ซึ่งต่างจากกลุ่มไอเอสที่ยังมีจุดยืนอันแข็งกร้าวและดุดันอย่างเสมอต้นเสมอปลายต่อองค์กรมุสลิมทั่วโลก ยกเว้นกลุ่มที่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเขา

7. ด้านกระแสการตอบรับของประชาขาติอิสลาม

โลกอิสลามมีจุดยืนที่ค่อนข้างเป็นบวกต่อการกลับมาของฏอลิบาน นักวิชาการและอุละมาอฺทั้งในนามบุคคล องค์กร ต่างออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อชัยชนะครั้งนี้ โดยเฉพาะ การที่พวกเขาสามารถขับไล่กองกำลังต่างชาติที่ปล้นทรัพยากรธรรมชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวอัฟกานิสถานกว่า 20 ปี พร้อมคาดหวังให้ฏอลิบานสามารถนำพาอัฟกานิสถานไปตลอดรอดฝั่ง ตลอดจนสร้างสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ที่กลายเป็นสนามรบมายาวนานเกือบ 40 ปี

ผิดกับไอเอสที่บรรดาอุละมาอฺทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งทั้งที่อิรักและซีเรีย ต่างออกแถลงการณ์ปฏิเสธทั้งแนวทาง และแนวปฏิบัติของกลุ่มนี้ในวันแรกของการประกาศรัฐอิสลามด้วยซ้ำ พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงที่มาและการปรากฏตัวอย่างน่าอัศจรรย์และแปลกประหลาดของกลุ่มนี้

8. การปรับตัวในท่าทีและการยึดมั่นในหลักการ

การปรากฏตัวของฏอลิบานยุค2.0 นี้ มาพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนท่าที ที่ถือว่าน่าจะเป็นการถอดบทเรียนของความผิดพลาดในอดีตได้อย่างชาญฉลาด มีความยืดหยุ่นและใจกว้างที่มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน 3 ประการ ได้แก่ 1) ต้องการสันติภาพและความปรองดองของชาติเป็นหลัก ด้วยการประกาศนิรโทษกรรม ไม่มีการล้างแค้นใดๆ และพร้อมเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อความสมานฉันท์ แม้กระทั่งท่าทีต่อกลุ่มชีอะฮ์ทางภาคเหนือของประเทศที่ฏอลิบานมีความผ่อนปรนมากขึ้น  2) ต้องการสร้างรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่มีความยืดหยุ่น ไม่ติดยึดกับทัศนะทางศาสนาที่คับแคบ และพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าภายในกรอบของหลักการอิสลาม 3) ต้องการการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ ด้วยการอ้าแขนตอบรับการเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีที่มีต่อจีน รัสเซีย ตุรกี หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา 

ตรงกันข้ามกับไอเอสที่ยังสถาปนาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและคำชี้ขาดสุดท้ายของความถูกต้องอย่างไม่มีวันแปรเปลี่ยน

ท่ามกลางความดีใจของประชาชาติมุสลิมต่อชัยชนะเหนือความคาดหมายของกลุ่มฏอลิบานครั้งนี้ สิ่งที่ยังเป็นความกังวลของผู้เขียนคือ ฏอลิบานจะไปอย่างไรต่อ อะไรคือขวากหนามที่พวกเขาต้องเผชิญ พวกเขาจะรับมือกับชาติที่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ (Multiethnic States)ด้วยวิธีไหน พวกเขาจะปรับตัวในสังคมดิจิตอลได้อย่างไร เพราะในชีวิตจริงการได้ครอบครองเจ้าสาวในดวงใจถือเป็นสิ่งที่บุรุษทุกคนเฝ้าฝันอยู่แล้ว แต่ตัวชี้วัดความสำเร็จของชีวิตการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ ไม่ใช่วัดกันที่บรรยากาศดื่มด่ำช่วงฮันนี่มูนเท่านั้น แต่ความท้าทายในชีวิตคู่ที่พร้อมเผชิญหน้ากับพายุที่โหมกระหน่ำและถนนที่อุดมด้วยขวากหนามต่างหาก คือตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา สอนให้เรารู้ว่า ประชาชาติอิสลามมีสิทธิ์แค่สนุกสนานรื่นเริงในวันจัดพิธีแต่งงานและดื่มด่ำกับความสุขช่วงฮันนี่มูนในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้น คู่บ่าวสาวก็จะถูกปองร้ายจนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา


โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและการคาดการณ์ในอนาคต [ตอนที่ 2]

กษัตริย์อาห์มัด ชาห์ ดุรรานี่จากเผ่าอับดาลี่ ถือเป็นกษัตริย์ผู้สถาปนาอัฟกานิสถานยุคใหม่ พระองค์ทรงครองราชย์ช่วงค.ศ.1747-1772  ซึ่งสามารถรวบรวมชนเผ่าต่างๆในอัฟกานิสถานกว่า 20 เผ่าพันธุ์และดินแดนบางส่วนในประเทศปากีสถานปัจจุบันทั้งปันจาบ ลาโฮร์ และแคชเมียร์ เคยยกทัพหวังยึดครองกรุงเดลฮีแต่ถูกราชวงศ์มองโกลซึ่งรับอิสลามต้านทานจนต้องล่าถอย หลังจากนั้นอาณาจักรได้อ่อนแอลง จนกระทั่งถูกเฉือนแบ่งราวที่ดินมรดก ในยุค”เกมครั้งยิ่งใหญ่”โดย 2 มหาอำนาจโลกขณะนั้นคือสิงโตแห่งอังกฤษและหมีขาวแห่งรัสเซีย

อัฟกานิสถานหรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถาน ท่านผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

https://th.m.wikipedia.org/wiki/ประเทศอัฟกานิสถาน

#สถิติอื่นๆที่น่าสนใจ

สถิติปัญหาว่างงานสูงถึง 40% (ข้อมูลปี 2005) และประชาชนอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน 53% (ข้อมูลปี 2003) เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่

มีอัตราว่างงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.5%  ในขณะที่คนจนมีจำนวน ทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.79% ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล 2019)

มีรายได้จากการปลูกยาเสพติดชนิดต่างๆ สูงถึง 3,000 ล้านดอลล่าร์ ตามรายงานระบุว่าอัฟกานิสถานสามารถผลิตเฮโรอีนจำนวน 6,700 ตันต่อปี (ข้อมูล 2006) คิดเป็น 92% ของการผลิตเฮโรอีนทั่วโลก

#ไทม์ไลน์สำคัญของอัฟกานิสถาน

  • 1747 สถาปนาอัฟกานิสถานยุคใหม่โดยอาห์มัด  ชาห์ ดุรรานี่จากเผ่าอับดาลี่  โดยมีนครกันดาฮาร์เป็นเมืองหลวง และในปี 1775 ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังคาบูลจนถึงปัจจุบัน โดยราชวงศ์นี้สามารถปกครองอัฟกานิสถานเพียง 37 ปีเท่านั้น
  • 1839-1873 สงครามอัฟกานิสถาน-อังกฤษครั้งแรก ที่จบด้วยความพ่ายแพ้ของอังกฤษจนต้องถอนกำลังออกจากประเทศ
  • 1873 กำหนดเส้นพรมแดนระหว่างรัสเซียและอัฟกานิสถาน
  • 1878-1880 สงครามอัฟกานิสถาน- อังกฤษครั้งที่ 2 ที่จบด้วยสัญญาสงบศึก โดยที่อังกฤษยอมถอนกองกำลังพร้อมแต่งตั้งอะมีรอับดุรเราะห์มาน ข่านเป็นผู้นำ
  • 1893 กำหนดเส้นพรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานและอินเดีย จนเกิดปัญหาการแยกประเทศของเผ่าปาทาน หลังจากการกำเนิดของประเทศปากีสถานในปี 1947
  • 1919 สงครามอัฟกานิสถาน- อังกฤษครั้งที่ 3 โดยสิ้นสุดด้วยอังกฤษยอมรับเอกราชของอัฟกานิสถาน ภายใต้ผู้นำอัฟกันคนใหม่คืออะมีร อามานุลลอฮ์ โดยอดีตสหภาพโซเวียตเป็นชาติแรกที่ให้การรับรอง
  • 1921 ลงนามในสัญญามิตรภาพอัฟกาโซเวียต ปูทางให้โซเวียตเข้ามาสร้างบารมีในอัฟกานิสถาน
  • 1973 สิ้นสุดระบอบกษัตริย์และสถาปนาระบอบประธานาธิบดีโดยมีนายดาวูด ข่านเป็นประธานาธิบดีคนแรกด้วยการสนับสนุนจากฝ่ายสังคมนิยม
  • 1978 นายดาวูด ข่าน ถูกทหารฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติและสังหารพร้อมครอบครัว โดยนายนูรมูฮัมมัด ตะรอกีย์ เลขาธิการพรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ สถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดี ถือเป็นการเปิดฉากซีรีย์การแย่งอำนาจที่นำไปสู่การนองเลือดที่ยืดเยื้อในดินแดนอัฟกานิสถาน
  • 1979 ทหารโซเวียตจำนวน 100,000 นายบุกโจมตีอัฟกานิสถาน หะฟีซุลลอฮ์อะมีน ประธานาธิบดีคนใหม่ถูกสังหารหลังอยู่ในตำแหน่งเพียง 4 เดือนหลังจากนูรมูฮัมมัดตะรอกีถูกสังหารก่อนหน้านี้ นายบาบรัค คาร์มัล ถูกส่งตัวจากโซเวียตเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านจากประชาชน
  • 1989 อดีตสหภาพโซเวีต ถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน ประกาศความพ่ายแพ้อย่างยับเยินหลังสูญเสียพลทหารกว่า 15,000 นาย ถลุงงบประมาณด้านการทหาร กว่า 7 หมื่นล้านดอลล่าร์ตลอดระยะเวลาการทำสงครามนานกว่า 10 ปี นายนาญีบุลลอฮ์ ซึ่งเป็นสาวกผู้สวามิภักดิ์ต่ออดีตสหภาพโซเวียตได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ท่ามกลางการปฎิเสธของกลุ่มมุญาฮิดีน
  • 1992กองกำลังมุญาฮิดีนได้เข้าบุกยึดกรุงคาบูลภายใต้การนำของหิกมัตเทียร์ ผู้นำพรรคอิสลามและพันธมิตรฝ่ายซ้ายที่มีเผ่าบัชทุนสนับสนุน โดยมีอาห์มัด ชาห์ประธานกลุ่มอิสลามและพันธมิตรฝ่ายซ้ายที่มีเผ่าทาจิกสนับสนุน ซึ่งลงเอยด้วยสงครามกลางเมืองระหว่าง 2 ฝ่าย สุดท้ายกองกำลังที่นำโดยอาห์มัดชาห์ สามารถคุมพื้นที่ในกรุงคาบูล
  • 1993 สัญญาสงบศึกระหว่างกองกำลังติดอาวุธต่างๆในอัฟกานิสถาน จัดขึ้นที่อิสลามาบัด สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมนาน 18 เดือน โดยมีนายร็อบบานี รับหน้าที่ประธานาธิบดีชั่วคราว ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ แต่ก็ต้องสะดุดกลางคันเมื่อนายหิกมัตเทียร์ ลุกขึ้นปฏิวัติ  ถึงแม้ไม่สำเร็จก็ตาม แต่ก็เพียงพอที่ทำให้แผนสันติภาพและสมานฉันท์แห่งชาติต้องล้มกระดานไป
  • 1994 การปรากฏตัวครั้งแรกของกลุ่ม ฏอลิบาน โดยใช้เมืองกันดาฮาร์เป็นศูนย์บัญชาการ
  • 1996 กลุ่มฏอลิบานสามารถบุกยึดกรุงคาบูลได้สำเร็จ และได้ประหารชีวิตนายนายีบุลลอฮ์ ผู้นำใฝ่คอมมิวนิสต์ที่ได้รับการอารักขาในอาคารสหประชาชาติที่กรุงคาบูลตั้งแต่ปี 1992
  • 1997 กลุ่มฏอลิบานสามารถบุกยึดเมืองทางตอนเหนือโดยเฉพาะมะซาร์ ชะรีฟ แต่ถูกต่อต้านอย่างหนักจากกองกำลังชีอะฮ์ จนต้องล่าถอย
  • 1998 กลุ่มฏอลิบานสามารถบุกยึดเมืองมะซาร์ชะรีฟอีกครั้ง ด้วยการทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มชีอะฮ์
  • 1999 เกิด 2 รัฐบาลคู่ขนานในอัฟกานิสถาน คือ 1) รัฐบาลที่นำโดยนายร็อบบานี ที่นานาชาติให้การรับรอง แต่สามารถปกครองเพียง 15% ของประเทศเท่านั้น 2) รัฐบาลที่นำโดยฏอลิบานที่สามารถปกครองประเทศโดยส่วนใหญ่แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติยกเว้นปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียเท่านั้น
  • 2000 เกิดการปะทะอย่างรุนแรงทางภาคเหนือระหว่างกองกำลังของอาห์มัดชาห์กับกลุ่มฏอลิบานซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอัลกออิดะฮ์ของอูซามะฮ์บินลาเด็นและชาติอาหรับ
  • 2001 ฏอลิบานระเบิดทำลายพระพุทธรูปแห่งบาบียัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั่วโลก
  • 2001 อาห์มัดชาห์ ถูกมือระเบิดพลีชีพสังหารเสียชีวิต ขณะนำทัพต่อสู้กับกลุ่มฏอลิบานทางภาคเหนือของประเทศ
  • 2001 11 กันยา เกิดเหตุการณ์ช๊อคโลกเมื่อ WTC สหรัฐอเมริกาถูกถล่ม พร้อมๆกับการปรากฏตัวของนายอูซามะฮ์บินลาเด็นและกลุ่มอัลกออิดะฮ์
  • 2001 สหรัฐอเมริกาปูพรมถล่มอัฟกานิสถาน เป็นเวลานานกว่า 40 วัน โดยอ้างว่าฏอลิบานให้แหล่งพักพิงแก่บินลาเด็น  ประธานาธิบดีบุชในขณะนั้นได้ประกาศการสิ้นสลายของกลุ่มฏอลิบานอย่างเป็นทางการ
  • 2001 ฮามิด คาร์ไซ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว 18 เดือนเพื่อเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ ภายใต้การอุปถัมภ์ของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางความขัดแย้งและการนองเลือดอย่างต่อเนื่อง
  • 15 สิงหาคม 2021 กลุ่มฏอลิบานได้ทำลายสถิติโลกด้วยการบุกยึดกรุงคาบูลสำเร็จชนิดหักปากกาเซียนในขณะที่ประธานาธิบดีนายอัชร็อฟ ฆานี พร้อมบริวารได้หลบหนีลี้ภัยไปยังประเทศทาจิกิสถาน พร้อมขนเงินเต็ม 4 คันรถและเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ จบวีรกรรมของการทุจริตคอร์รัปชั่นบนซากปรักหักพังและภาวะสิ้นเนื้อประดาตัวของชาติและประชาชน

โดย Mazlan Muhammad

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและการคาดการณ์ในอนาคต [ตอนที่ 1]

อัฟกานิสถาน ประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างเอเชียกลาง เอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ ซึ่งในอดีต กองกำลังมองโกลยุคเจงกิสข่านผู้ไม่เคยปราชัยในสมรภูมิต้องประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งแรกในสงครามเมืองคาบูล ภายใต้แม่ทัพอิสลามนามญะลาลุดดีน แต่เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างมุสลิมด้วยกัน ทำให้เจงกิสข่านสามารถยึดครองดินแดนแถบนี้ ในตำนานเล่าว่าส่วนหนึ่งของลูกหลานเจงกิสข่าน ได้รับอิสลามและได้สร้างอาณาจักรอิสลามอันยิ่งใหญ่บริเวณชมพูทวีปในเวลาต่อมา

จากความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์และความร่ำรวยทางทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นที่หมายปองของเหล่านักล่าโดยเฉพาะพญามังกร พญาหมี สิงโตและพญาเหยี่ยวจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

หลังจากสิ้นยุคสิงโตครองโลกช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ถึงคราวยุคพญาหมีที่ได้ทีเข้าตะปบเหยื่อ ณ ดินแดนแห่งนี้อย่างรุนแรงและยาวนานกว่า 10 ปี แต่สุดท้ายต้องซมซานกลับเข้าถ้ำอย่างสะบักสะบอมที่สุด พร้อมๆกับการล่มสลายของอาณาจักรพญาหมีอันยิ่งใหญ่

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พญาเหยี่ยวได้ปูพรมถล่มดินแดนนักต่อสู้แห่งนี้ จนราบเป็นหน้ากลอง พร้อมประกาศอย่างอหังการว่า ฏอลิบานได้ถึงยุคอวสานแล้ว พร้อมๆกับจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเขิดของตน ที่คอยเถลิงอำนาจและสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและพวกพ้อง บนคราบน้ำตาและความยากจนข้นแค้นของชาวอัฟกัน

แต่แล้วโลกทั้งใบต่างงงงวย เมื่อฏอลิบาน ไม่ได้อวสานตามที่ป่าวประกาศ แต่กลับผงาดบุกยึดกรุงคาบูลเบ็ดเสร็จเมื่อ 15/8/2021 โดยข่าวล่าสุดรายงานว่า ผู้นำรัฐบาลหุ่นเชิดได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านพร้อมสินทรัพย์มหาศาล ท่ามกลางสถานการณ์ความชุลมุนวุ่นวายในกรุงคาบูล สะท้อนถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของแผนการณ์พญาเหยี่ยว ที่แม้แต่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯออกโรงจี้ให้ประธานาธิบดีไบเดนลาออกจากตำแหน่ง เพราะถือเป็นต้นเหตุที่นำความพ่ายแพ้อย่างอัปยศที่สุดของสหรัฐฯทีเดียว

เราค่อยๆมาทำความรู้จักกับอัฟกันแบบค่อยเป็นค่อยไปน่ะครับ


โดย Mazlan Muhammad

ไกส์ สะอีด รัฐประหารในตูนิเซีย และการวิเคราะห์สถานการณ์

การเลือกตั้ง ไกส์ สะอิด สู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐตูนิเซียนั้นเหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด ๆ และไม่มีความรู้เรื่องงานการเมืองมาก่อน  คุณสมบัติทั้งหมดของเขาคือเขาเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัย และพูดภาษาอาหรับในแบบที่ไม่ปกติสำหรับผู้พูดและผู้ปฏิบัติงานการเมืองในโลกอาหรับ

ผู้ที่เลือกไม่นึกว่าสะอีดจะนำตูนิเซียมาสู่สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แรงจูงใจหลักของชาวตูนิเซียคือการเปลี่ยนจากชนชั้นสูงทางการเมืองที่ปกครองแบบเดิมๆ ที่ชาวตูนิเซียเบื่อหน่าย มาเป็นโฉมหน้าใหม่ที่สามารถช่วยประเทศชาติจากความล้าหลังทางเศรษฐกิจ และการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ในทุกรูปแบบและอุดมการณ์

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง สะอีดไม่ลังเลเลยที่จะวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครอง และยังจุดชนวนความขัดแย้งด้วยการปฏิเสธกฎหมายว่าด้วยมรดกที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง เขายังย้ำคำพูดของเขาว่า “ตุลาการอิสระดีกว่ารัฐธรรมนูญพันฉบับ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเชื่อว่าประชาชนเองควรพัฒนาแผนและยุทธศาสตร์ทางปัญญาและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศชาติหลังการปฏิวัติ โดยกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า อำนาจจะอยู่ในมือของประชาชน ผู้ตัดสินชะตากรรมและปกครองทางเลือกของตน”

โครงการของสะอีดได้กำหนดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับสังคม และแนวความคิดนี้มีพื้นฐานมาจากท้องถิ่นสู่ระดับภูมิภาคและจากส่วนกลางเพื่อให้กฎหมายระดับชาติเป็นกฎหมายที่แสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชน นอกจากนี้ สะอีดยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการต่อต้านการทุจริต

ทันทีที่มีอำนาจหลังชนะการเลือกตั้งในปี 2019 สะอีดต้องการพลิกโฉมวิถีทางการเมืองในแบบของตนเอง ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองในตูนิเซีย และปะทะกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคนะฮ์เฎาะฮ์ ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และไม่สงบจนกระทั่งหลังจากที่สะอีดเลือกนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งสะอีดได้เลือกฮิชาม  มาชีชีย์ ผู้พิพากษาอาวุโส  ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของตนในทำเนียบประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตูนิเซียไม่ได้มีเสถียรภาพ สะอีดปฏิเสธการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยอ้างว่ามีบุคคลที่ทุจริตที่มาจากระบอบการปกครองก่อนหน้านี้ หลังจากนั้น สะอีดรู้สึกว่าถูกรัฐสภาและรัฐบาลมองข้าม และจบลง ด้วยการต่อต้านประชาธิปไตยในภาพรวม โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา สะอีดได้บังคับนายกรัฐมนตรีที่เลือกมาเองให้ลาออก พร้อมระงับรัฐสภา 30 วัน และให้อำนาจสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรง อำนาจบริหารทั้งหมด  ทั้งฝ่ายประธานาธิบดีและฝ่ายรัฐบาล  ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุม

ไกส์ สะอิด เชื่อว่าสิ่งที่ตนทำไม่ถือเป็นการทำรัฐประหารต่อต้านระบอบประชาธิปไตยหรือเป็นการละเมิดกฎหมาย และเห็นว่ากระทำการภายในขอบเขตที่มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญตูนิเซียกำหนด แต่ตีความด้วยวิธีของตนเองในการเป็นข้ออ้างการทำรัฐประหารเส้นทางประชาธิปไตย   ในขณะที่นักรัฐธรรมนูญและนักกฎหมายส่วนใหญ่ในตูนิเซีย ประณามการตีความและการกระทำของเขาดังกล่าว ในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ผู้พิพากษา 45 คนได้ประณามอย่างรุนแรงต่อมาตรการที่ประธานาธิบดีประกาศเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่แล้ว โดยพิจารณาว่ามาตรการดังกล่าวผิดปกติและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  รวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการเดินทางของผู้พิพากษาเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ

ใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของไกส์ สะอีด ต่อระบอบประชาธิปไตยของตูนิเซีย

ประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านระบอบประชาธิปไตยในตูนิเซียเป็นประสบการณ์เดียวที่รอดพ้นจากหายนะจากประสบการณ์ที่คล้ายกันซึ่งเริ่มต้นจาก “การปฏิวัติอาหรับสปริง” เมื่อกว่าสิบปีก่อน ขณะที่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่ รับรองโดยฉันทามติและความยินยอมของสาธารณะ ตลอดจนประมุขแห่งรัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสภานิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของกระแสการเมืองและปัญญาชนส่วนใหญ่ในสังคมตูนิเซีย

ที่สำคัญที่สุด ระบอบประชาธิปไตยนี้สามารถ -แม้ว่าจะมีความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง- สร้างบรรยากาศของเสรีภาพสาธารณะและรับประกันสิทธิมนุษยชนที่ประเทศอาหรับและระบอบการปกครองอื่น ๆ ทั้งหมดต่างอิจฉา อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นปรากฎว่า ความพร้อมของกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ของรูปแบบประชาธิปไตยในระบบการปกครองของตูนีเซียขณะนี้ไม่สามารถรับรองความแข็งแกร่งของรัฐที่ดำเนินการโดยระบบนี้ หรือประกันประสิทธิภาพที่จะทำให้ตูนิเซีย -โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการระบาดของโรคโคโรนาที่กำลังดำเนินอยู่ – สั่นสะเทือน ที่แสดงถึงการล่มสลายทางการเมือง สังคม และสุขภาพ ทำให้ประธานาธิบดีต้องใช้มาตรการพิเศษและการตัดสินใจที่เฉียบขาดตามความเห็นของตน

ข้อมูลชี้ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของประธานาธิบดี ไกส์  สะอีด ที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญ เพราะอิมิเรตมุ่งมั่นที่จะยุติอาหรับสปริงซึ่งเริ่มขึ้นในตูนิเซียในปี 2011 และเป็นสิ่งที่อิมิเรตกระทำในอียิปต์ยุคประชาธิปไตย นี่คือสิ่งที่สะอีดอ้างถึงในคำกล่าวบางโอกาสว่า มีบางประเทศในภูมิภาคสนับสนุนทางการเงินและการทหาร

ล่าสุด อันวาร์ การ์กัช อดีตที่ปรึกษาทางการทูตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปเยือนตูนีเซีย พร้อมกับคณะผู้แทนระดับสูง  เมื่อวันอาทิตย์ (8-8-2021) ซึ่งระบุว่า “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าใจและสนับสนุนการตัดสินใจทางประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ และยังตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องตูนิเซียและตอบสนองต่อเจตจำนงของประชาชน”

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พยายามมาระยะหนึ่งแล้วที่จะปิดล้อมและต่อสู้กับกระแสอิสลามในทุกส่วนของโลกอาหรับ และไม่ได้ละเว้นความพยายามใดๆ เลยนอกจากจะทำมัน  และใช้เงินหลายพันล้านเหรียญเพื่อบรรลุเป้าหมาย และยังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อขจัดอุดมการณ์อาหรับสปริงที่เริ่มต้นในตูนิเซียเช่นเดียวกัน

เป็นเรื่องแปลกที่ยูเออีเป็นหนึ่งในประเทศที่สานสัมพันธ์ปกติกับอิสราเอล ซึ่งประธานาธิบดีสะอีดในแถลงการณ์ “ใครก็ตามที่มีความสัมพันธ์กับคณะผู้แย่งชิงถือเป็นผู้ทรยศขั้นสูง” การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในแนวความคิดนี้จะเข้าใจได้อย่างไร และการสานสัมพันธ์กับอิสราเอลยังคงเป็นการทรยศสูงสุดสำหรับเขาหรือไม่ !

การเยือนไคโรของ ไกส์ ซาอีด ก่อนหน้านี้ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการทำรัฐประหารเพื่อต่อต้านประสบการณ์ประชาธิปไตย ตราบใดที่กลุ่มอิสลามิสต์อยู่ข้างหน้าในฉากการเมือง และสิ่งนี้ได้รับการยืนยันจากการเยือนล่าสุดของ ซามิห์  ชุกรี รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์  และการเฉลิมฉลองของการเคลื่อนไหวเหล่านี้ในสื่ออียิปต์และเอมิเรตส์  โดยเห็นว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีตูนิเซียครั้งนี้ เป็นการลุกฮือเพื่ออิสรภาพครั้งใหม่และการสลัดพ้นจากกลุ่มอิควานมุสลิมีน”

เช่นเดียวกับการเยือนตูนีเซียของฟัยซอล ฟัรฮาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งซาอุดิอาระเบีย  และประกาศว่าราชอาณาจักรจะยืนหยัดตามมาตรการของไกส์  สะอีด  ยังไม่รวมถึงความเงียบของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ ไม่ได้มองว่าเป็นละเมิดประชาธิปไตย และปูทางให้ระบบเผด็จการและการกดขี่ โดยไม่ได้ประณามใดๆ  รวมถึงบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่ยกย่องและสนับสนุน

สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังรัฐประหารนิ่มๆ

การเคลื่อนไหวประหลาดของสะอีด เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์เพียงวันเดียว และหลังจากการติดเชื้อ ไวรัสโคโรน่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลอดจนความโกรธที่เพิ่มขึ้นต่อความไม่สมดุลทางการเมืองเรื้อรัง รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับตูนิเซียหลังจากการปฏิวัติในปี 2011 ที่จุดชนวนให้เกิด “การปฏิวัติอาหรับ” และล้มล้างการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเพื่อสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ล้มเหลวในการบรรลุความเจริญรุ่งเรือง

บางทีฉากทั่วไปในตูนิเซียจนถึงขณะนี้ สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดได้ 3 สถานการณ์ และผู้เขียนคิดว่า ประธานาธิบดีจะไม่ถอนการตัดสินใจ และวันและเดือนที่จะมาถึงจะเป็นพยานถึงการคาดการณ์นี้ :

สถานการณ์แรก: อาจเป็นการค้นหาทางออกตามรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติเกี่ยวกับการตัดสินใจของประธานาธิบดี หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาก่อนกำหนด และเป็นเรื่องที่ความขัดแย้งก็ยังคงหมุนเวียนอยู่ต่อไป การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้หมายถึงการหวนคืนสู่จุดศูนย์และการดำรงอยู่ของวิกฤตทางการเมือง ทั้งด้านพลังทางการเมืองและพรรคการเมืองในทุกรูปแบบ ตลอดจนภาคประชาสังคม สถานการณ์นี้ถือว่าอันตรายน้อยที่สุด

สถานการณ์ที่สอง: ยืดเวลาวิกฤต กำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน และขัดขวางชีวิตทางการเมืองและพลเรือนระหว่างที่ซาอิดเป็นประธานาธิบดีตูนิเซีย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกองกำลังต่อต้านการปฏิวัติ  แต่สถานการณ์นี้จะก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและสังคมในตูนิเซีย

สถานการณ์ที่สาม: การทำรัฐประหารโดยสมบูรณ์และชัดเจน เช่น แบบจำลองอียิปต์ การกดขี่เสรีภาพ และการปิดปาก ซึ่งถือเป็นการก่อรัฐประหารทางเศรษฐกิจและการเมือง และต้องใช้เงินทุนระยะยาว และฉันคิดว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ โดยเฉพาะ ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียในการต่อต้านการปฏิวัติ ดังนั้นจึงต้องใช้ความโหดร้ายและการปราบปรามอย่างมาก และสิ่งนี้นำไปสู่ความโกลาหล เนื่องจากภาคประชาสังคมของตูนิเซียสามารถคัดค้านสถานการณ์นี้ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดเรื่องนี้ออกไปเป็นการส่วนตัว เมื่อพิจารณาถึงสภาพการแก้แค้นที่ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติชอบที่จะขจัดสิ่งที่เหลืออยู่ของการปฏิวัติอาหรับ

ชาวตูนิเซียจะมีความคิดเห็นที่ต่างออกไปและขัดขวางสถานการณ์เหล่านี้ทั้งหมดหรือไม่ โดยที่จะเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงและมีความสามารถที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองไว้ได้หรือไม่ และฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองจะมองข้ามความแตกต่างที่เพิ่มมากขึ้นทุกวี่วัน และจะรวมตัวกันเพื่อเผชิญกับรัฐประหารครั้งนี้และกำหนดวาระร่วมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ ประชาธิปไตย หรือฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่สนับสนุนสะอีดจะมีชัยในที่สุด !

ฉันหวังว่า ชาวตูนิเซียจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด และทำให้เจ้าชายแห่งการปฏิวัติที่ต่อต้านการปฏิวัติผิดหวัง  อย่างที่เกิดขึ้นในตุรกี เมื่อชาวตุรกีลุกขึ้นเผชิญหน้ากับรัฐประหารในเดือนกรกฎาคม 15 ต.ค. 2016 และเสียสละเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยของตนเองโดยไม่พึ่งพิงจากภายนอก และเชื่อว่าเสรีภาพไม่ใช่ของบริจาค แต่ต้องแย่งชิงมา

โดยสรุป ฉันขอพูดว่า: การปกครองแบบเผด็จการคือการกำหนดเจตจำนงของคนบางคนและเครือข่ายของเขา ทำลายเจตจำนงของปวงชน ทำลายจิตวิญญาณของประชาชน ทำลายความเป็นไปได้ของความก้าวหน้าของพวกเขา กำจัดเจตจำนงของประชาชน ยกเลิกเหตุผลสำหรับการดำรงอยู่ของพวกเขา ลิดรอนทรัพย์สิน  เกียรติ สติปัญญา ปิดปาก ริบเสรีภาพ และเคียงคู่มากับการทุจริตที่จะทำลายบ้านเมืองให้พังพินาศย่อยยับ

บทความโดย: ดร.จามาล นัศศอร์ กรรมการสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

อ่านต้นฉบับ

https://bit.ly/3jMZXGM