ศาสตร์อิสลามว่าด้วยการเลี้ยงลูก [ตอนที่ 4]

การสอนลูกให้มีความซื่อสัตย์

ท่านนบี ศอลฯ และซอฮาบะฮ์ ฝึกเด็ก ๆ ให้เป็นคนซื่อสัตย์ ไว้วางใจได้ โดยการให้รักษาความลับบางประการ

ท่านอานัส บินมาลิก ซึ่งเป็นซอฮาบะฮ์รุ่นเด็กเล็ก ที่อุมมุาลัยม์ มารดา ได้ฝากให้คอยรับใช้ท่านนบี ศอลฯ ที่บ้านของท่าน

อานัส บินมาลิก กล่าวว่า “ท่านนบี ศอลฯ ได้บอกความลับบางอย่างแก่ฉัน  และฉันไม่บอกแก่ใครเลย อุมมุสุลัยม์ (มารดาของอานัส) ได้ถามฉัน แต่ฉันก็ไม่บอกแก่นาง” หะดีษรายงานโดยบุคอรีย์

قال أنس  أسرّ إليّ النبي -صلى الله عليه و سلم- سِرّاً، فما أخبرت به أحدا بعده، ولقد سألتني أم سليم رضي الله عنها فما أخبرتها به رواه البخاري

บุคอรีย์และมุสลิมได้เล่ารายละเอียดเหตุการณ์นี้ว่า

عن ثابت عن أنس بن مالك رضي الله عنه قال: “أتى عليّ رسول الله -صلى الله عليه وسلم- وأنا ألعب مع الغلمان، فسلّم علينا فبعثني إلى حاجة فأبطأت على أمي، فلما جئتُ قالت: ما حبسك؟، قلت: بعثني رسول الله -صلى الله عليه وسلم- لحاجة، قالت: ما حاجته؟، قلت: إنها سر!!، قالت: لا تخبرنّ بسر رسول الله -صلى الله عليه وسلم- أحدا،  ” متفق عليه واللفظ لمسلم .

“ในขณะที่ฉันเล่นอยู่กับเด็ก ๆ ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศอลฯ ได้มาหาและให้สล่ามแก่ฉัน แล้วให้ฉันไปทำธุระบางอย่าง  ทำให้ฉันกลับไปหาแม่ช้า เมื่อไปถึงแม่ก็ถามว่า “ทำไมกลับช้า” ฉันตอบว่า “ผมมีธุระบางอย่างครับ” คุณแม่ถามต่อว่า “ธุระอะไรล่ะ” ฉันตอบว่า “มันเป็นความลับ” คุณแม่จึงกล่าวว่า “เธออย่าได้บอกความลับของท่านรอซูลุลลอฮ์ให้แก่ผู้ใดทราบแม้แต่คนเดียว”


โดย Ghazali Benmad

ศาสตร์อิสลามว่าด้วยการเลี้ยงลูก [ตอนที่ 3]

การรักลูกไม่เท่าเทียมกัน

การลำเอียงรักลูกไม่เท่าเทียมกัน จะทำให้ครอบครัวระหองระแหงขาดความปรองดองสมานฉันท์ได้

อิสลามจึงห้ามการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าในเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ๆ

อิบนุอะบิดดุนยา รายงานว่า ในขณะที่ท่านรอซูลุลลอฮ์  ศอลฯ กำลังสนทนาอยู่กับบรรดาศอฮาบะฮ์ ก็มีเด็กชายคนหนึ่งมาหาบิดาของเขาในกลุ่มคนดังกล่าว บิดาก็ลูบศีรษะลูกชายแล้วให้นั่งลงบนขาข้างขวา สักพักหนึ่งก็มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง (เป็นลูกสาวของเขา) เข้ามาหาเขาอีก  เขาก็ลูบศีรษะแล้วให้นั่งลงบนพื้น 

ท่านรอซูลุลลอฮ์  ศอลฯ จึงกล่าวว่า”ท่านน่าจะให้นั่งบนขาอีกข้างหนึ่งนะ” เขาจึงอุ้มเธอให้นั่งลงบนขาอีกข้าง

ท่านรอซูลุลลอฮ์  ศอลฯ จึงกล่าวว่า “อืม ตอนนี้แหละ ท่านยุติธรรมแล้ว”และมีปรากฏในหะดีษรายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิมว่า

عن النُّعْمَانَ بْنَ بَشِيرٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا أنه قال – وَهُوَ عَلَى الْمِنْبَرِ -: أَعْطَانِي أَبِي عَطِيَّةً، فَقَالَتْ عَمْرَةُ بِنْتُ رَوَاحَةَ: لَا أَرْضَى حَتَّى تُشْهِدَ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَأَتَى رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَقَالَ: إِنِّي أَعْطَيْتُ ابْنِي مِنْ عَمْرَةَ بِنْتِ رَوَاحَةَ عَطِيَّةً، فَأَمَرَتْنِي أَنْ أُشْهِدَكَ يَا رَسُولَ اللَّهِ. قَالَ: أَعْطَيْتَ سَائِرَ وَلَدِكَ مِثْلَ هَذَا؟ قَالَ: لَا. قَالَ: (فَاتَّقُوا اللَّهَ وَاعْدِلُوا بَيْنَ أَوْلَادِكُمْ ) قَالَ: فَرَجَعَ فَرَدَّ عَطِيَّتَهُ. متفق عليه. وفي رواية: ( لَا أَشْهَدُ عَلَى جَوْرٍ

จากนุอ์มาน บินบะชีร -รอดิยัลลอฮูอันฮู- ได้กล่าวในขณะที่อยู่บนมิมบัรว่า  “บิดาของฉันได้ให้บางอย่าง( เป็นทาสชายคนหนึ่ง) แก่ฉัน  อัมเราะห์ บินติรอวาฮะห์ (แม่ของนุอ์มาน) ได้กล่าวว่า  “ฉันไม่ยอมจนกว่าท่าน (หมายถึงบะชีร บิดาของนุอ์มาน) จะต้องให้ท่านรอซู้ล-ซ็อลลัลลอฮูอลัยฮีว่าซัลลัม- ได้รับรู้เป็นพยานเสียก่อน”  

บิดาของฉันจึงไปหาท่านรอซู้ล -ซ็อลลัลลอฮูอลัยฮีว่าซัลลัม- พลางกล่าวว่า “ฉันได้ให้สิ่งของอย่างหนึ่งแก่ลูกของฉันที่เกิดมาจาก อัมเราะห์ บินติรอวาฮะห์ แล้วนางก็ได้ใช้ให้ฉันมาให้ท่านเป็นพยานรับรู้”  

ท่านจึงได้ถามเขาว่า “ท่านให้ลูกของท่านคนอื่นๆเช่นเดียวกันหรือไม่?” 

เขาตอบว่า “ไม่ครับ”

ท่านจึงกล่าวว่า  “ท่านจงเกรงกลัวอัลลอฮ์ และจงให้ความยุติธรรมในระหว่างลูกๆของท่าน” 

ว่าแล้วเขา(บะชีร)ก็ได้กลับมาและเอาของที่ให้นั้นคืนไป

ในหะดีษอีกสายรายงานหนึ่งกล่าวว่า ท่านนบี -ซ็อลลัลลอฮูอลัยฮีว่าซัลลัม- กล่าวว่า  “ฉันจะไม่เป็นพยานในเรื่องที่อธรรม”


โดย Ghazali Benmad

 

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 4]

ทั้งสองฝ่ายเลือกใช้คำว่า “พวกเขา” ตามมารยาททางการเมืองสไตล์ตุรกี และเลี่ยงที่จะระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน แต่สังคมตุรกีและผู้สังเกตุการณ์ต่างก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า “พวกเขา” ที่แต่ละฝ่ายหมายถึง คือใคร

มีเหตุการณ์หลายเรื่องที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ฝ่าย ยังรักษาระดับความขัดแย้งเป็นคลื่นใต้น้ำ ก่อนจะก่อตัวเป็นคลื่นสึนามิ ที่ถาโถมเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างบ้าคลั่งขณะนี้ ผู้อ่านลองศึกษาคลื่นใต้น้ำทั้ง 7 ลูกนี้ก่อนว่า มีวิวัฒนาการก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ได้อย่างไร

  • คลื่นลูกแรก คือเหตุการณ์สะเทือนโลกเมื่ออิสราเอลเปิดฉากโจมตีกองเรือลำเลียงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและวัสดุก่อสร้างไปยังฉนวนกาซ่าที่นำโดยกองเรือ Mavi Marmara ในวันที่ 31/05/2010เป็นเหตุให้ลูกเรือ 9 คน ซึ่งเป็นชาวตุรกีเสียชีวิต และอีกหลายร้อยคนบาดเจ็บ

ในขณะที่ทั่วโลกตื่นตะลึงกับก่อการร้ายนี้และพากันประณามประเทศอิสราเอล จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอลสั่นคลอนอย่างหนัก ถึงขั้นตุรกีประกาศขับไล่ทูตอิสราเอลประจำอังการ่า แต่กุเลนกลับให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่อเมริกาว่า ตุรกีเป็นฝ่ายผิดที่ไม่ขออนุญาตจากผู้มีอำนาจก่อนเข้าฉนวนกาซ่าและตุรกีได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้ง ๆ ที่เมื่อวันที่ 22/3/2013 นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายเบ็นจามิน เนทันยาฮู ได้ยกโทรศัพท์กล่าวขอโทษเป็นทางการต่อเออร์โดกาน โดยอ้างว่า เป็นความผิดพลาดทางภาคปฏิบัติ และมีความยินดียินดีชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่อที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนที่เราไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักกับรัฐบาลอิสราเอล

  • คลื่นลูกที่ 2 หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรม Mavi Marmara นายเออร์โดกานได้แต่งตั้งนาย Hakan Fidan ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจากเออร์โดกานมากที่สุด ให้เป็นผู้บัญชาการสำนักข่าวกรองแห่งชาติคนใหม่ และปลดคนเก่าที่เออร์โดกานจับได้ว่ามีส่วนพัวพันกับองค์กรสายลับ Mossad ของอิสราเอลและเป็นคนใกล้ชิดกุเลน เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่ใกล้ชิดกับกุเลน ใช้ความพยายามกดดันให้เออร์โดกานปลด Fidan ออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเออร์โดกาน Fidan ยังคงรักษาเก้าอี้ของตนอย่างเหนียวแน่นจนกระทั่งปัจจุบัน รอยปริร้าวระหว่างกุเลนและเออร์โดกานเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น
  • คลื่นลูกที่ 3 Hakan Fidan ได้ทำการเจรจาลับกับกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดที่เมืองออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นการปูทางกระบวนการสานสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดที่มีปัญหาระดับชาติอันยาวนาน แต่แล้วการเจรจานี้ ล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อแผนลับนี้ถูกเปิดโปงสู่สาธารณชนว่า Fidan กำลังจะขายชาติและปฏิบัติข้อราชการเกินอำนาจหน้าที่ ที่อาจทำให้ตุรกีอาจเสียดินแดน Fidan ถูกฟ้องร้องให้ดำเนินคดีในชั้นศาล จนกระทั่งเออร์โดกานต้องออกมาปกป้องและกล่าวว่า Fidan คือ ” ผู้กุมความลับของฉัน และทุกความเคลื่อนไหวของเขา เป็นไปตามคำบัญชาของฉันทุกประการ ” จนกระทั่ง Fidan หลุดคดีนี้ พร้อม ๆ กับการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวงการทหารและตำรวจ หลายคนถูกสั่งย้ายให้ไปประจำการตามส่วนภูมิภาค ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีความสนิทสนมกับกุเลนแทบทั้งสิ้น 
  • คลื่นลูกที่ 4 การตัดสินคดีจำคุกเดี่ยวตลอดชีวิตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ. Ilkar Basbug ด้วยข้อหาก่อกบฏล้มล้างรัฐบาล และพัวพันกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่กุเลนกลับให้สัมภาษณ์ที่สหรัฐอเมริกาว่า “หากฉันมีอำนาจ ฉันจะปล่อยอิสรภาพ Basbug ทันที” พร้อมกล่าวหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังจับกุมนายทหารระดับสูงคนนี้ว่า เป็นกลุ่มมุนาฟิก (ผู้กลับกลอก)
  • คลื่นลูกที่ 5 การประท้วงที่จัตุรัสตักซีมเมื่อ 28/5/2013 ที่เริ่มต้นด้วยการประท้วงเรื่องต้นไม้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ลงเอยด้วยเรื่องเหล้า

อ่านเพิ่มเติม http://anuchamas.blogspot.com/2013/06/2.html

ซึ่งเหตุการณ์บานปลายไปทั่วตุรกีและหลายประเทศในยุโรป จนกระทั่งนายเออร์โดกานได้เรียกการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ว่า เป็นแผนการณ์สากลเพื่อล้มล้างรัฐบาล

ท่ามกลางวิกฤติประเทศเช่นนี้ สื่อต่าง ๆ ในสังกัดของกุเลน กลับโหมโรงวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการสลายผู้ชุมนุมประท้วงว่า ทำเกินกว่าเหตุ โดยไม่ยอมแตะต้องเบื้องหน้าเบื้องหลังของการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้เลย 

  • คลื่นลูกที่ 6 นโยบายจัดระเบียบหอพัก ที่รัฐบาลมุ่งมั่น ดำริจัดระเบียบใหม่ด้วยการผลักดันกฎหมายห้ามหนุ่มสาวเช่าหอพักอย่างอิสระ ยกเว้นต้องมีเอกสารยืนยันความสัมพันธ์ทางครอบครัวเสียก่อน แต่แผนการณ์นี้ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณชนตามสื่อต่าง ๆ ในสังกัดกุเลน พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกำลังยุ่งเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ทำให้เกิดกระแสต่อต้านใหญ่โตในสังคมตุรกีที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่พวกเขาเห็นว่า เป็นเรื่องส่วนตัว 
  • คลื่นลูกที่ 7 ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดที่กลายเป็นสึนามิ ซัดโถมนาวารัฐบาลตุรกีขณะนี้ คือนโยบายรัฐบาลที่จะปิดโรงเรียนกวดวิชา ที่เออร์โดกานเห็นว่า นอกจากผู้ปกครองต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายที่แพงลิ่ว ซึ่งเงินส่วนนี้น่าจะเป็นรายได้ของรัฐบาลที่สามารถนำเป็นกองทุนพัฒนาการศึกษาของประเทศ แล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพทางการศึกษาไม่มีมาตรฐานอีกด้วย รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเรื่องการประกันคุณภาพทางการศึกษา เพราะไม่มีหลักสูตรใด ๆ ที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาลเลย 

กลุ่มที่กระทบกับนโยบายนี้มากที่สุดคือกลุ่มของกุเลน เพราะเป็นที่ทราบดีว่า กุเลนมีโรงเรียนกวดวิชาในสังกัดหลายร้อยแห่งทั่วตุรกี ซึ่งนอกจากกุเลนใช้ช่องทางนี้ในการพัฒนาสังคมผ่านระบบการศึกษาแล้ว เขายังสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจการศึกษาควบคู่กันไปอย่างลงตัวอีกด้วย โรงเรียนในเครือข่ายเหล่านี้ถือเป็นช่องทางรายได้อันมหาศาลของกลุ่มเลยทีเดียว 

กุเลนจึงประเคนหมัดใส่รัฐบาลว่า “พวกเขาต้องการปิดทุกอย่าง แม้กระทั่งประตูสวรรค์ก็ตาม ปล่อยให้เราเปิดประตูสวรรค์อย่างเสรีกันเถอะ” “เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านอยู่ตรงกันข้ามกับฟิรเอาว์นและกอรูน ท่านจงมั่นใจเลยว่า ท่านเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง”

เออร์โดกานจึงสวนหมัดทันควันว่า ” พวกเขาพยายามกดดันให้เราทบทวนและยกเลิกนโยบายนี้ จงรู้ว่า เราไม่มีทางยกเลิกแน่นอน”

นี่คือคลื่น 7 ลูกที่ก่อตัวเป็นสึนามิที่กำลังโถมใส่นาวาของเออร์โดกานขณะนี้ 

และอาการ After shock ลูกแรกก็ตามมาติดๆ ในเช้าตรู่ของวันที่ 17ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา ที่ถือได้ว่า สั่นคลอนนาวาของรัฐบาลเออร์โดกานมากที่สุดในรอบ 11 ปี ของการเป็นผู้นำสูงสุดของตุรกี เลยทีเดียว

และอะไรคือสาเหตุที่นายเออร์โดกานกล้าฟันธงว่า “เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รับเอกราชรอบ 2 “

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 3]

หลังจากแผนการณ์ทำหมันอิสลามสำเร็จในระดับหนึ่งที่อิยิปต์ ตุรกีคือตะปูตัวสุดท้ายที่จะต้องตอกปิดฝาโลง “แนวคิดใฝ่อิสลาม” เพื่อไม่ให้ออกมามีบทบาทในโลกอย่างอิสระเสรี 

รัฐบาลเออร์โดกานคือหน่อไม้ในกอไผ่ที่หนาทึบ การที่หน่อไม้นี้จะชูลำต้นเหนือดงกอได้ จำเป็นต้องผ่านการเสียดสีอุปสรรคขวากหนามที่คอยทิ่มแทงสกัดกั้นมิให้มันเติบโตมาเทียบบารมี แต่ด้วยความประสงค์ของอัลลอฮฺ หน่อไม้นี้กำลังชูลำต้นอย่างสูงสง่า ท่ามกลางความแค้นเคืองของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

แนวคิดสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ แซคคิวล่าร์ ดุนยานิยม เผด็จการทหาร กลุ่มสุดโต่ง Ergenekon และกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ มากมายที่กลายเป็นดงไผ่ที่แน่นหนา คอยสะกัดกั้นทุกวิถีทางมิให้หน่อไม้แห่งอิสลามเติบโตในตุรกี

ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองตุรกี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นาย Adnan Menderas ชนะเลือกตั้งใหญ่และเป็นแกนนำบริหารประเทศระหว่างปี 1950 -1957 เขาคือผู้นำแซคคิวล่าร์ (ดุนยานิยม) คนหนึ่งที่เป็นทายาทอสูรที่ได้รับการสืบทอดจากระบอบคามาลิสต์ เพียงแต่ในสมัยที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล เขาได้ยกเลิกการอะซานจากภาษาตุรกีให้เป็นภาษาอาหรับ และอนุญาตให้เปิดสอนอัลกุรอานและโรงเรียนศาสนาอิสลามได้อย่างเสรี ด้วยเหตุผลมอบสิทธิส่วนบุคคล แต่สุดท้ายทหารต้องลุกขึ้นปฏิวัติครั้งแรกในปี 1960พร้อมตัดสินประหารชีวิตนาย Menderas และอดีตรัฐมนตรีอีก 3 คน ฐานบริหารประเทศผิดพลาดและขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของลัทธิคามาลิสต์อันศักดิ์สิทธิ์

หากกลุ่มนี้ สามารถก้าวเข้ามากุมบังเหียนตุรกีใหม่ (لا قدر الله ) นายเออร์โดกานและพรรคพวกจะไม่ถูกตัดสินประหารชีวิตแบบเจ็ดชั่วโคตรหรือ 

กลุ่มนี้ ได้กลายเป็นมือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) ที่คอยชักใยและสถาปนาเป็นเสมือนรัฐบาลเงาในตุรกี ที่คอยจู่โจมรัฐบาลเออร์โดกานยามเพลี่ยงพล้ำหรือเผลอเรอ พวกเขาไม่มีภารกิจอื่นใด ยกเว้นล้มล้างรัฐบาลที่มีอายุ 11 ขวบนี้ ถึงแม้จะต้องแลกด้วยทุกอย่าง แม้กระทั่งความล่มจมของประเทศก็ตาม (อัลลอฮุลมุสตะอาน)

กลุ่มญะมาอะฮฺ Khidmat ของกุเลน ก็เป็นหนึ่งในมือที่มองไม่เห็นที่คอยบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลเออร์โดกานเช่นกัน จนกระทั่งบัดนี้ กุเลน ได้อ่านดุอากุนูตนาซิละฮฺ ที่มีเนื้อหาให้อัลลอฮฺทำลายรัฐบาล 11 ขวบนี้ เขาดุอาว่า ขอให้อัลลอฮฺทรงทำให้จุดยืนของพวกรัฐบาลสั่นคลอน แตกกระจาย พังพินาศ และแตกแยกกันเอง ขอให้เรามีชัยชนะเหนือพวกเขา ซึ่งเป็นดุอาบทเดียวที่มุสลิมทั่วโลกอ่านเพื่อสาปแช่งศัตรูอิสลามอันร้ายกาจที่เข่นฆ่าพี่น้องมุสลิมอย่างเหี้ยมโหดเลยทีเดียว

เราไม่เคยได้ยินกุเลนอ่านดุอานี้เพื่อสาปแช่งยิวที่สร้างวีรกรรมโฉดต่อพี่น้องฟิลัสฏีนตลอดระยะเวลาร้อยปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งต่อผู้นำซีเรียอย่างบัชชาร์ที่ได้สร้างแม่น้ำเลือดที่ยาวที่สุดในโลกขณะนี้ เราก็ไม่เคยได้ยินว่ากุเลยเคยอ่านดุอาสาปแช่งผู้นำจอมกระหายเลือดคนนี้เลย กุเลนมีจุดยืนถ้อยทีถ้อยอาศัยและประนีประนอมกับทุกรัฐบาลตุรกีก่อนหน้าเออร์โดกานได้อย่างลงตัวที่สุด แม้กระทั่งสนับสนุนผู้นำทหารที่ปฏิวัติรัฐบาลของ Necmettin Erbakan ที่ถูกรัฐประหารในปี 1997 หลังจากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ถึง 1 ปี

กุเลนสามารถสร้างความปรองดองกับทุกกลุ่มพรรค ไม่ว่าจะมีแนวคิดที่ต่อต้านอิสลามมากมายแค่ไหน กุเลนก็ยังมีทัศนะว่าควรสร้างความร่วมมือกับกลุ่มเหล่านี้เพื่อ “มีการแสดงออกที่งดงามในการสานเสวนากับผู้อื่น การวางตัวที่เหมาะสม และมีท่าทีที่ชัดเจนในการมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนา โดยยึดหลักของความอดทน สันติภาพ และการมีความคิดที่เปิดกว้างเพื่อนำอิสลามไปสู่ผู้คนอย่างสมบูรณ์ “

แต่ทำไม เมื่อถึงเวลาหนึ่ง กุเลนได้ละทิ้งหลักการนี้เมื่อประกาศจุดแตกหักกับเออร์โดกาน และใช้คำพูดที่รุนแรงซึ่งขัดแย้งกับบุคลิกภาพของกุเลนตามที่โลกได้รู้จัก 

หลังจากที่นสพ.ของกลุ่มกุเลนฉบับหนึ่ง ได้เผยแพร่เอกสารลับที่ระบุว่าเออร์โดกานมีมาตรการให้เฝ้าระวังและสอดส่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มอิทธิพลที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มหัวแถวนี้มีชื่อของกลุ่มกุเลนรวมอยู่ด้วย สัมพันธภาพระหว่างสองขั้วแนวคิดที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงคลื่นใต้น้ำ ได้ก่อตัวเป็นคลื่นบนผิวน้ำอย่างเต็มตัว 

กุเลนได้ลั่นกลอนรบด้วยการดุอาให้อัลลอฮฺเผาไหม้บ้านเรือนของพวกเขา จงทำลายพวกเขาให้สิ้นซาก และจงทำให้พวกเขาแตกแยกกันเอง ท่ามกลางเสียงร้องไห้ระงมของบรรดาสานุศิษย์ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักคิดซูฟี

ในขณะที่เออร์โดกาน ก็ตอบโต้อย่างดุเดือดว่า เราจะบุกเข้าไปในถ้ำของพวกเขา และกล่าวหาว่าพวกเขาได้ร่วมมือกับกองกำลังนานาชาติที่แฝงตัวอยู่ในมืดคอยบงการและชักใยอยู่เบื้องหลัง

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

ศาสตร์อิสลามว่าด้วยการเลี้ยงลูก [ตอนที่ 2]

สูตรทอง สามเจ็ด 

■■

ยอดเยี่ยมจริง ๆ สำหรับผู้ที่กล่าวว่า

لاعب ولدك سبعا

 وأدبه سبعا ،

 وصاحبه سبعا ،

ثم اجعل حبله على غاربه

“พึงเล่นกับลูก ๆ ในเจ็ดขวบปีแรก

แล้วอบรมบ่มนิสัยเขาในเจ็ดขวบปีต่อไป

และเป็นเพื่อนกับเขาในอีกเจ็ดปี

แล้วปล่อยเป็นอิสระหลังจากนั้น”

■■

อ้างอิง : มุฮัมมัดรอชีด ริฎอ , ในตัฟซีร “อัลมะนาร์” , เล่ม 5 หน้า 73-74


โดย Ghazali Benmad

ศาสตร์อิสลามว่าด้วยการเลี้ยงลูก [ตอนที่ 1]

ศาสตร์ว่าด้วยการเลี้ยงลูก เสาเข็มแรก ๆ ในการก่อสร้างสังคมคุณภาพ

วันหนึ่ง ผ้าขาวอาจเป็นแพรพรรณงามตาหรือผ้าขี้ริ้วโสโครก

“คุณเคยได้เห็นส่วนหนึ่งของเรือกสวนที่ถูกทอดทิ้ง แล้วทั้งวัชพืชและหญ้าหนามก็ผุดงอกขึ้นมา  กลายเป็นพื้นที่รกร้างที่ปลูกพืชไม่ได้หรือใช้กักเก็บน้ำก็ไม่ได้ 

และอีกแปลงหนึ่งที่ชาวนามืออาชีพ หมั่นปรับปรุงดินและไถหว่าน จนกลายเป็นสวนอันอุดมสมบูรณ์เขียวขจีงดงามตา

หนึ่งเป็นอุทาหรณ์สำหรับบุคคลและสังคม ที่ผู้มีหน้าที่อบรมบ่มนิสัยปล่อยปละละเลย และไม่สนใจกลไกการปรับปรุงและส่งเสริมพัฒนา และอีกหนึ่งนี้ สำหรับที่ดูแลและนำไปสู่เป้าหมาย”

  • อ้างอิง

หะซัน อัลบันนา

วารสารชุบบานมุสลิมีน ปี 1930


โดย Ghazali Benmad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 2]

ในโลกอิสลามปัจจุบัน ตุรกีน่าจะเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพในการท้าทายตะวันตก คำแถลงการณ์อันดุเด็ดเผ็ดร้อนของเออร์โดกานในเวทีโลกต่อกรณีสำคัญ ๆ ได้สร้างความอึดอัดใจของบรรดาชาติมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โตวันโตคืน

จนกระทั่งในปี 2011 ตุรกีเคยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (8.8%) รองจากประเทศจีน (9.1%) ในปี 2013 ตุรกีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศสูงสุดเป็นอันดับที่ 17 ของโลก และได้กำหนดยุทธศาสตร์ว่าภายในปี 2023 ตุรกีจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงสุดของโลก ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังประสบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจแบบสาละวันเตี้ยลงทุกคืนวัน

ตลอดทศวรรษของการบริหารประเทศภายใต้การนำของพรรคยุติธรรมและพัฒนา ทำให้ตุรกีสามารถเปลี่ยนสถานภาพจากเด็กในคาถาหรือทาสรับใช้ตะวันตก กลายเป็นเด็กแกร่ง และมีแนวโน้มที่สามารถเดินด้วยลำแข้นของตนเองได้ และหากปล่อยให้โตวันโตคืน เด็กน้อยที่มีอายุเพียง 11 ขวบคนนี้ (ตามระยะเวลาของการเป็นนายกรมต.ของ ERDOGAN ซึ่งมีความหมายว่า หนุ่มผู้กล้าหาญ – ER แปลว่า กล้าหาญเข้มแข็ง และ DOGAN แปลว่า เด็กหนุ่ม – ) จะกลายเป็นเด็กหนุ่มที่แข็งแกร่งและสร้างปัญหาแก่ตะวันตกก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการปฏิรูปสังคมที่รัฐบาลตุรกีกำลังปลดแอกจากระบอบคามาลิสต์อันศักดิ์สิทธิ์สู่คำสอนของอิสลามมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งสร้างความหวั่นวิตกของชาติมหาอำนาจมากขึ้น 

ตุรกี นอกจากสามารถสร้างประเทศที่มีเสถียรภาพทางสังคมเศรษฐกิจที่มั่นคงที่สุดแล้ว ยังเป็นประเทศเดียวในโลกอิสลามที่มุสลิมทั่วโลกฝากความหวังว่าจะกอบกู้ศักดิ์ศรีของประชาชาติมุสลิม ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมโดยเจ้าของสวนชาวตะวันตก ที่ได้ว่าจ้างกากมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขมาจากประเทศมุสลิมด้วยกันเอง มีเชื้อชาติและสัญชาติเดียวกันกับพี่น้องมุสลิมเหมือนกัน แต่กลับสร้างความหายนะให้กับสวนแห่งนี้ ที่แม้แต่ศัตรูอิสลามก็ไม่สามารถสร้างความเสียหายได้มากเท่า

ชาติมหาอำนาจได้ประดิษฐ์วาทกรรมอันสวยหรูของประชาธิปไตยว่า “โดยประชาชน จากประชาชน เพื่อประชาชน”แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้นกล้าแห่งประชาธิปไตยงอกเงยในโลกอิสลามแล้ว วาทกรรมที่สวยหรูนี้จะถูกพลิกแพลงให้เป็น “โดยตะวันตก จากตะวันตก เพื่อตะวันตก” โดยทันที

ท่านผู้อ่านลองย้อนไปศึกษาการปฏิวัติที่แอลจีเรียในปี 1992 ซึ่งพรรค Inqaz (พรรคกู้ชีพ) ได้รับชัยชนะท่วมท้นถึง 80 % การล้มกระดานการเลือกตั้งที่ฟิลัสฏีนในปี 2006 ที่พรรคหะมาสลงสมัครเลือกตั้งครั้งแรกและได้รับชัยชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ และล่าสุดในวันที่ 3-7-2013 ประธานาธิบดีพลเรือนคนแรกในประวัติศาสตร์อิยิปต์ท่าน ดร.มุรซีย์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย จนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศเพียงแค่ปีเดียว สุดท้ายก็ถูกพล.อ.ซีซีย์ยึดอำนาจและสถาปนารัฐเผด็จการกระหายเลือดที่ยังยืดเยื้อจนกระทั่งปัจจุบัน

ทั้ง 3 กรณีนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ยืนยันถึงคุณค่าของคำว่าประชาธิปไตยในสายตาของตะวันตกได้เป็นอย่างดี

สิ่งดี ๆ ควรแก่การสนับสนุนยกย่อง ไม่ใช่หรือ

แล้วอะไรคือเหตุผลที่ตะวันตก ผู้เป็นต้นแบบประชาธิปไตย ศรัทธาและเลื่อมใสประชาธิปไตย แต่กลับบ่มเพาะและเผยแพร่เชื้อเผด็จการในโลกอิสลาม


โดย Mazlan Muhammad

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 1]

มุฮัมมัดฟัตฮุลลอฮฺ กุเลน (เกิดปี ค.ศ. 1941) ถือเป็นนักคิดและผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีอิทธิพลทางความคิดสูงมากในตุรกีและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มจากมารดาในขณะอายุยังเล็ก ๆ เขาเริ่มทำงานด้านศาสนาในตำแหน่งอิมามประจำมัสยิดที่เมือง Adranah ขณะที่มีอายุเพียง 20 ปี เขาใช้ชีวิตเกือบ 2 ปีครึ่งในช่วงนี้ด้วยการเอี้ยะติก้าฟในมัสยิดแห่งนี้ และไม่ออกจากมัสยิดยกเว้นด้วยเหตุจำเป็นเท่านั้น เขาเคยเป็นครูสอนท่องจำอัลกุรอานที่เมือง Izmir ซึ่งเป็นมหานครทางตะวันตกของอานาโตเลียและเป็นเมืองอันดับ 3 ที่มีประชากรมากที่สุดในตุรกี เขาเริ่มเป็นที่รู้จักในนามนักบรรยายศาสนาทั้งในมัสยิด และแม้กระทั่งในผับบาร์ เนื้อหาการบรรยายของเขาจะเน้นเรื่องคุณค่าและพื้นฐานสำคัญของอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและการปฏิรูปสังคม

เขาสรุปว่า มีโรคร้าย 3 ชนิดที่กำลังรุมเร้าโลกมุสลิม นั่นคือ

ความเขลาไร้การศึกษา ความยากจน และความแตกแยก

เขาได้วางยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาความเขลาไร้การศึกษา ด้วยการทุ่มเทความพยายามในการเผยแพร่อิสลามด้วยแนวคิดที่บูรณาการระหว่างภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เขาสามารถจุดประกายและโน้มน้าวให้บรรดาเศรษฐีและนักธุรกิจมุสลิมที่มีอาคารใหญ่โตทั่วตุรกี หันไปสร้างตึกอาคารในสวนสวรรค์ควบคู่กับการสร้างตึกอาคารบนโลกดุนยา ด้วยการแปลงตึกอาคารเหล่านี้ให้เป็นสถานศึกษา และด้วยแนวคิดนี้กุเลนสามารถเปิดสถานศึกษาทั่วตุรกีตั้งแต่ระดับอนุบาลประถมจนถึงระดับอุดมศึกษามากกว่า 300 แห่ง และเปิดสาขาทางการศึกษาทั่วโลก เช่นมอร็อกโค เคนยา อูกันดา รัสเซียและประเทศแถบเอเชียกลาง ในปัจจุบัน เฉพาะในสหรัฐอเมริกา บรรดาลูกศิษย์ของเขาได้จัดตั้งโรงเรียนทุกระดับทั่วอเมริกาเกือบ 100 แห่งทีเดียว และอาศัยบรรดาสานุศิษย์ที่กระจัดกระจายไปทั่วบ้านทั่วเมืองตามสาขาอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ข้าราชการ นักการเมือง ทหารตำรวจ นักธุรกิจ นักกีฬาหรือแม้กระทั่งนักร้องนักแสดง ทำให้กุเลนกลายเป็นผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญและพยายามสถาปนาตนเองเป็นผู้นำเงาของตุรกี ซึ่งเจ้าตัวก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ตลอดเวลา ในช่วงปลายสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี Mustafa Bulent Ecevit เขาได้ออกคำแถลงการณ์ในรายการโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง ที่สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคงของประเทศ ทำให้เขาตัดสินใจลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปัจจุบัน แต่เขามักอ้างเหตุผลว่าเพื่อรักษาโรคประจำตัว

กุเลนจึงกลายเป็นปูชนียบุคคลทางการศึกษาระดับโลก และเป็นที่ยกย่องในตุรกีว่าเป็น “บิดาแห่งนักสังคมสงเคราะห์อิสลาม” (ซึ่งควบคู่กับนัจมุดดีน อัรบะกาน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ที่ได้รับฉายาว่า เป็นบิดาแห่งนักการเมืองอิสลาม) จนกระทั่งได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Foreign Policy และ Prospect Megazine จากประเทศอังกฤษให้เป็นบุคคลอันดับ 1 ใน 100 คนจากบรรดานักวิชาการทั่วโลกที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในปี 2008 นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกในสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ได้ประสาทปริญญาระดับศาสตราเมธาจารย์ (Chair Professor) เพื่อเป็นเกียรติประวัติและยกย่องในคุณงามความดีของเขา

นอกจากเปิดสถานศึกษาในทุกระดับชั้นแล้ว กุเลนยังเปิดสถานีวิทยุและโทรทัศน์อีก 7 ช่อง สร้างโรงพิมพ์ 30 แห่ง ผลิตหนังสือ 100กว่าชื่อเรื่องต่อปี ผลิตวารสารทางวิชาการ 15 ชื่อเรื่อง ผลิตหนังสือพิมพ์รายวันที่มียอดจำหน่าย 1 ล้านฉบับ และหลายสิบเว็บไซต์เพื่อเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่อิสลามและเป็นเวทีประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กรอีกด้วย

ส่วนยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน กุเลนเปิดบริษัทและดำเนินธุรกิจมากมาย จัดตั้งองค์กรสาธารณกุศลมากมายที่ให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าและผู้ยากไร้ เขาสามารถจุดประกายคนหนุ่มสาวและนักธุรกิจให้มีจิตอาสาทำงานอย่างมุ่งมั่น หวังในความพึงพอใจของอัลลอฮฺมากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์บนโลกดุนยา ซึ่งองค์กรเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้บริการเฉพาะผู้คนในประเทศตุรกีเท่านั้น แต่หลายๆประเทศทั่วโลกต่างก็ได้รับความดีงามเหล่านี้ไปด้วย องค์กรของกุเลนหรือเป็นที่รู้จักในตุรกีว่า องค์กร Khidmat ถือเป็นองค์กรเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้        เหยื่อผู้ประสบภัยทางธรรมชาติทั่วโลก

หนึ่งในผลงานแห่งความสำเร็จของกุเลนด้านยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนคือการจัดตั้งธนาคารปราศจากดอกเบี้ยด้วยฐานเงินทุนจำนวน 125 ล้านดอลล่าร์ 

ส่วนยุทธศาสตร์การสร้างความสมัครสมานของผู้คนนั้น ฟัตฮุลลอฮฺ กูเลน ใช้การสานเสวนาระหว่างวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นกลไกขับเคลื่อนโดยมีหน่วยงานเอกชนและนักธุรกิจชาวตุรกีให้การสนับสนุนโดยการจัดประชุม การพบปะพูดคุยถึงปัญหาที่มนุษยชาติประสบร่วมกัน มีการแสดงออกที่งดงามในการสานเสวนากับผู้อื่น การวางตัวที่เหมาะสม และมีท่าทีที่ชัดเจนในการมีปฏิสัมพันธ์กับชนต่างศาสนา โดยยึดหลักของความอดทน สันติภาพ และการมีความคิดที่เปิดกว้างเพื่อนำอิสลามไปสู่ผู้คนอย่างสมบูรณ์

บนแนวคิดนี้ กุเลนได้รับการยกย่องจากตะวันตกว่าเป็น “ต้นแบบ” แห่งการใช้ชีวิตร่วมกันท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม เขาประณามความรุนแรงและมองว่าผู้นิยมความรุนแรงในการแก้ปัญหาทางสังคมคือ กลุ่มที่ล้มละลายทางความคิด เขาเห็นว่าโลกยุคใหม่ควรเป็นยุคแห่งการเปิดกว้าง การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านการสานเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม เน้นการเคารพสิทธิของผู้อื่น เขามองว่าประชาธิปไตย สามารถแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดของเขาอาจเป็นแนวคิดที่อยู่ตรงกันข้ามกับแนวคิดของนัจมุดดีน อัรบะกาน เราะฮิมะฮุลลอฮฺที่มองว่าสหรัฐอเมริกาคือศัตรูของโลกอิสลาม เนื่องจากการครอบงำของไซออนิสต์สากล แต่กูเลนกลับมองว่าอเมริกาและยุโรปคือชาติมหาอำนาจที่เราต้องเชื่อมสัมพันธไมตรีและสร้างความร่วมมือระหว่างกัน

ท่านได้ทุ่มเทความพยายามในการจัดให้มีการสานเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ระหว่างกลุ่มตัวแทนที่ต่างอุดมการณ์ วัฒนธรรม ศาสนาจากชาติต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1999 ผลงานของท่านที่ชื่อว่า “The Necessity of Interfaith Dialogue” หรือ “ความจำเป็นของการสานเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างศาสนา” ได้รับการนำเสนอต่อสภาศาสนาโลก การยืนยันว่า การสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันเป็นสิ่งจำเป็น และผู้คนไม่ว่าจะมาจากชาติใดหรือระบการเมืองใดมีอะไรสิ่งที่เหมือนกันมากมายกว่าที่พวกเขาคิดไว้ ในปี ค.ศ. 1994 กูเลนได้ช่วยจัดตั้งมูลนิธินักหนังสือพิมพ์และนักเขียนขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้คนในทุกระดับชั้นทุกสาขาในสังคม นอกจากนั้นกูเลนยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนและให้การต้อนรับบุคคลสำคัญทั้งในตุรกีและทั่วโลก เช่น พระสันตปาปา จอห์น ปอลที่2 แห่งวาติกัน อาร์คิบิชอปแห่งนิวยอร์ค สังฆราซแห่งคริสตจักรออร์โธดอกซ์ตุรกี สังฆราซแห่งชุมชนอาเมเนียตุรกี หัวหน้าแรบไบของชมชนชาวยิวตุรกี ผู้นำคนอื่น ๆ อีกหลายคนก็ได้มาพบท่านเป็นประจำ ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้คนที่นับถือศาสนาต่าง ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า กุเลนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเชคสะอี้ด อันนูรซีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ผู้มีฉายาบะดีอุซซะมาน (1877-1960) ชัยค์ซูฟี เชื้อสายกุรดี (เคิร์ด)และอาลิมผู้ยิ่งใหญ่ตลอดจนนักเคลื่อนไหวที่สำคัญของโลกอิสลาม เจ้าของวลีเด็ด 

اعوذ بالله من الشيطان الرجيم والسياسة

(ฉันขอความคุ้มครองจากมารร้่ายที่ได้รับการสาปแช่งและการเมือง)

บนพื้นฐานแนวคิดนี้ กุเลนจึงมีความถ่อมตนและพอเพียงในประเด็นการเมืองมาก บรรดาสานุศิษย์ของเขาถูกอบรมให้ความสำคัญกับการศึกษา การตัรบียะฮฺและสังคมสงเคราะห์ และไม่เปลืองตัวเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่จะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งจากทุกคนที่พร้อมให้การสนับสนุนและปกป้ององค์กร ด้วยเหตุนี้องค์กรของกุเลนจึงสามารถเชื่อมสัมพันธไมตรีและเป็นผู้สนับสนุนหลักรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคแซคิวล่าร์ กลุ่มใฝ่สังคมนิยมหรือกลุ่มสาวกคามาลิสต์ (ผู้นิยมยกย่องมุสตาฟา คามาล อะตาร์เตอร์ก) กลุ่มของเขาจึงสามารถตั้งตนเป็นรัฐบาลเงาหรือสร้างมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ในทุกรัฐบาล รวมทั้งรัฐบาลภายใต้การนำของเออร์โดกาน

กล่าวได้ว่า กลุ่มของกุเลนที่มีฐานเสียงทั่วตุรกีที่ครอบคลุมผู้คนทุกสาขาอาชีพ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เออร์โดกานก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัยติดต่อกัน และตลอดระยะเวลา 11 ปีภายใต้การนำของพรรคยุติธรรมและพัฒนา กลุ่มของกุเลนก็สยายปีกทำงานทางภาคประชาสังคมอย่างแข็งขัน จนหลายคนเชื่อว่า เออร์โดกานเป็นศิษย์เอกและเด็กในคาถาของกุเลนเลยทีเดียว 

แต่การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ วลีที่ว่า ไม่มีมิตรและศัตรูที่ถาวร ผลประโยชน์เท่านั้นที่นิรันดร ยังใช้ได้อยู่ตราบทุกวันนี้

เรื่องราวจะเป็นเช่นไร และเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติตุรกีในปี 2014 และ 2015 อย่างไรบ้าง อะไรคือเบื้องหลังคดีคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาว อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สถาบันอิสลามนี้ องค์กรของกุเลนจะสวมบทบาทพรรคนูรที่อิยิปต์หรือไม่ และอะไรที่ทำให้เออร์โดกานตอบโต้ด้วยคำพูดอันดุดันว่า ตุรกีกำลังต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชของประเทศครั้งที่ 2 

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

ส่งคืนอะมานะฮ์ 100 ปี

เรื่องราวดี ๆ  ความงดงามของมุสลิมที่สื่อโลกมองข้าม…ชาวปาเลสไตน์มอบคืนธนบัตรออตโตมัน มูลค่าราว ๆ 9 แสนบาท  ของนายทหารตุรกีที่เก็บไว้กว่า 100 ปี ให้กับรัฐบาลตุรกี

อัลจาซีร่า  -หลังจากเวลาผ่านไป 105 ปี หรือมากกว่านั้น ของฝากที่เก็บรักษาไว้อย่างดีกลับคืนสู่บ้านเกิด และยุติเรื่องราวที่สืบทอดกันมาของตระกูลอัลอะลูล  ในเมืองนับลูส  กาซ่า ปาเลสไตน์  จากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ในวันพฤหัสบดี มีพิธีทหารต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชาวปาเลสไตน์และรัฐบาลตุรกี และการรวมตัวครั้งใหญ่ของทายาทตระกูลอัลอะลูล ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ในเมืองนับลูส  เขตเวสแบงก์  โดยตระกูลอัลอะลูลได้มอบของฝากร้อยปีของนายทหารตุรกีให้กับอะหมัด  เดมิเรอ เอกอัครราชทูตตุรกีประจำปาเลสไตน์  เป็นของฝากที่นายทหารตุรกีฝากไว้ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ทายาทของปู่ทวดอุมัร  อัลอะลูล เล่าที่มาของเรื่องราวที่เล่าให้กับนักข่าวอัลจาซีร่า ว่าพ่อแม่ของเขาเล่าว่า มุตีดีบ อะลูล  น้องชายของฮัจญีอุมัรเป็นทหารเกณฑ์ในกองทัพออตโตมันในเวลานั้น  แนะนำตามคำขอของนายทหารตุรกีให้ฝากเงิน 152 ลีราออตโตมันกับอุมัร พี่ชายของเขา พ่อค้าที่เป็นที่รู้จักซึ่งมีผู้ฝากเงินจำนวนมากไว้ในคลังของเขาในขณะนั้น และบอกว่าจะกลับมารับหลังจากที่กลับมาจากสงคราม แต่สุดท้ายก็หายไปโดยไม่ทราบข่าวคราว รวมถึงน้องชายของฮัจญีอุมัรด้วย

เรื่องราวของฝากดังกล่าว เปิดเผยเมื่อหลายปีก่อน เมื่อคณะนักท่องเที่ยวชาวตุรกีเข้าเยี่ยมชมโรงงานโม่แป้งที่ครอบครัวอัล-อะลูลเป็นเจ้าของในเมืองเก่าของนับลุส ในเวลานั้น ฮัจญีรอฆิบ อัลอะลูล  เปิดเผยต่อคณะเกี่ยวกับของฝาก และจากนั้นก็เริ่มติดต่อกับทางการปาเลสไตน์เพื่อหาช่องทางการสื่อสารกับตุรกี

ในตู้เซฟเหล็กที่แข็งแรงภายในโรงงานของครอบครัวที่อายุมากกว่า 120 ปี ถูกเก็บรักษาไว้ และกุญแจของตู้นิรภัยนั้นถูกเก็บไว้ในตู้นิรภัยอีกอันหนึ่งซึ่งทนทานไม่น้อยกว่ากัน ในลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของครอบครัวในสิ่งที่ได้รับของฝากซึ่งเป็นที่ทราบในเรื่องความซื่อสัตย์ในการรักษาของฝากของประชาชนในเมืองจนถึงต้นศตวรรษที่แล้วครั้งเมื่อยังไม่มีธนาคารปฏิบัติการ

จนถึงวันนี้ ผ้าที่นายทหารห่อเงินธนบัตรประเภท  5, 1 และครึ่งลีร่า  ยังคงไม่ถูกแตะต้องและถูกนำออกมาเพียงไม่กี่ครั้งเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น

ทายาทตระกูลอะลูลกล่าวว่า หากจะส่งคืนไปให้ครอบครัวนายทหารตุรกีที่บ้านเกิดก็ไม่รู้จัก  ของฝากที่เจ้าของฝากไว้โดยไม่กลับมาเอา  เขาสูญหายไปพร้อมมุตี อะลูล  น้องชายฮัจญีอุมัร ซึ่งไม่มีข่าวคราวใด ๆ นอกจากจากชาวนับลูสคนหนึ่งผู้เห็นเขาเป็นคนสุดท้าย บอกว่า กำลังถูกหามร่วมกับคนอื่น ๆ ขณะได้รับบาดเจ็บในสมรภูมิเกลิโปลี  

ทั้งนี้  ปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมัน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1516 หลังจากยุทธการที่มาร์จ ดาบิก ซึ่งออตโตมานเติร์กเอาชนะมัมลุกส์เติร์ก และในปี ค.ศ. 1917 การปกครองของชาวออตโตมานเหนือปาเลสไตน์สิ้นสุดลง และอังกฤษเข้ายึดครองในเวลาต่อมา

ขณะที่ของฝากถูกส่งมอบให้กับตุรกีที่สำนักงานใหญ่ของผู้ว่าการเมืองนับลูส  อัลจาซีราเน็ตได้พบกับอะหมัด  ดีมิเร เอกอัครราชทูตตุรกี ซึ่งเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งและความลึกของความสัมพันธ์ระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวตุรกี

เอกอัครราชทูตตุรกี กล่าวกับอัลจาซีร่าว่า  ตระกูลอัลอะลูลดูแลของฝากด้วยความทุ่มเทและจริงใจ  และหลังจาก 105 ปี ก็จะกลับคืนสู่ผู้มีสิทธิ  และเราใช้สิ่งนี้เพื่อบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างเราและเราจะถ่ายทอดเรื่องราวนั้นไปยังประเทศตุรกีของเรา

เกี่ยวกับอนาคตของของฝากนี้ เอกอัครราชทูตตุรกี อธิบายว่า ด้วยความร่วมมือกับรัฐบาลปาเลสไตน์และครอบครัวอัลอะลูล พวกเขาจะย้ายของฝากนี้ไปที่สำนักงานใหญ่ของสถานกงสุลตุรกีในกรุงเยรูซาเล็ม เนื่องจากเป็นดินแดนตุรกี  เพื่อตัดสินใจในภายหลังว่าจะนำไปที่ไหน

จารึกบนธนบัตรคือ “รัฐออตโตมันอาลียาห์” และคำภาษาตุรกีในตัวอักษรอาหรับ สำนักข่าวอนาโตเลียของตุรกีอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญชาวตุรกีว่ามูลค่าของเงินนั้นในขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 30,000ดอลลาร์สหรัฐ 

ในพิธีมอบ  เอกอัครราชทูตตุรกีกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างพิธีมอบ โดยอิสมาอีล อัลอะลูล ตัวแทนตระกูลอัลอะลูลส่งมอบของฝากให้กับทหารปาเลสไตน์ แล้วมอบต่อให้กับผู้บัญชาการ และส่งมอบให้กับพลตรีอิบรอฮีม รอมาดอน  ผู้ว่าการเมืองนับลูส ซึ่งต่อมาได้ส่งมอบให้กับเอกอัครราชทูตตุรกีท่ามกลางสื่อจำนวนมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเครื่องบ่งชี้ถึง “ความซื่อสัตย์อย่างลึกซึ้ง” ของครอบครัวอัลอะลูลโดยเฉพาะและชาวปาเลสไตน์โดยทั่วไป ตามคำกล่าวของผู้ว่าการนับลูสที่บอกกับอัลจาซีรา และว่า ประวัติศาสตร์ความซื่อสัตย์ของชาวปาเลสไตน์มีรากหยั่งลึกเหมือนดังรากมะกอก


โดย Ghazali Benmad

2 พฤศจิกายน รำลึกลีลาการต้มตุ๋นแห่งศตวรรษกับเหยื่อไก่อ่อนแห่งศตวรรษ ปฏิญญาบัลโฟร์ Balfour Declaration

ตุลาคม 1924 อังกฤษบีบให้ชารีฟหุสเซ็น ลงจากตำแหน่งสุลต่านแห่งหิจาซ และมอบอำนาจให้ชะรีฟอาลี บุตรชาย แล้วเนรเทศไปอยู่เกาะไซปรัส ภายใต้การควบคุม จนกระทั่งเสียชีวิต

เป็นจุดจบของประมุขแห่งมักกะฮ์ผู้มีความใฝฝันทะเยอทะยานที่จะรวบรวมดินแดนอาหรับเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ปกครองของตนเอง   อันเป็นการสิ้นสุด ‘การปฏิวัติอาหรับ’ ในแคว้นหิจาซ ต่อต้านอาณาจักรออตโตมัน

● เกมส์ปั่นหัวครั้งนี้มีความเป็นมาอย่างไร

อังกฤษปั่นหัวชะรีฟหุสเซ็น ผ่านแมคมาฮอน ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำอียิปต์ หลังจากทราบมาว่า เขาต้องการเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นหิจาซ และแยกตัวออกจากออตโตมัน

อังกฤษสนับสนุนการณ์ครั้งนี้ทุกอย่าง  ทั้งคน  เงินทองและสรรพาวุธ

ในขณะที่แมกมาฮอน ส่งสาส์นติดต่อกับชะรีฟหุสเซ็น สนับสนุนการสถาปนาสหรัฐอาหรับ

ในวันที่  30 สิงหาคม 1915  แมกมาฮอนส่งสาส์นไปยังชารีฟหุสเซ็น  ระบุ  พร้อมที่จะสนับสนุนให้เป็นคอลีฟะฮ์และนำระบอบคอลีฟะฮกลับคืนสู่หิจาซ  

แมคมาฮอนกล่าวในสาส์นนั้นว่า

“บริเตนใหญ่ยินดีกับการฟื้นคืนคอลีฟะฮ์อิสลามให้อยู่ในมือของชาวอาหรับที่แท้จริงจากสายสกุลศาสนทูตผู้ทรงเกียรติ”

 แต่กลับส่งหนังสือส่วนตัวไปยังเจ้าหน้าที่อังกฤษว่า

“ฉันไม่เคยถือว่าเรื่องการเกิดรัฐอาหรับเอกราชในอนาคตที่มีความเข้มแข็งเป็นเรื่องจริงจัง เพราะเงื่อนไขในคาบสมุทรไม่เปิดช่องให้เป็นเช่นนั้น  เรื่องทำนองนี้ไม่เกิดขึ้นกับโลกอาหรับมานานแล้วและจะไม่เกิดขึ้นอีก

สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือพยายามดึงดูดให้ชาวอาหรับมาถูกทาง แยกพวกเขาออกจากศัตรู และนำพวกเขามาอยู่เคียงข้างเรา  ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของคำพูด และเพื่อให้สำเร็จ เราต้องใช้คำพูดที่โน้มน้าวใจ”

ลอร์เรนซ์ อาระเบีย  กล่าวพรรณนาถึงสถานการณ์ในปี  1916  ว่า

“มีประโยชน์กับเรา เพราะมันเป็นไปตามเป้าหมายปัจจุบันของเราในการทำลายความเป็นกลุ่มก้อนของอิสลาม ตลอดจนการปราบและโค่นล้มจักรวรรดิออตโตมัน  และเพราะชารีฟฮุสเซนมุ่งสู่ชัยชนะ พวกเติร์กจะไม่สามารถทำร้ายเราได้อีก  

ชาวอาหรับมีความมั่นคงน้อยกว่าพวกเติร์ก ถ้าเราจัดการอย่างระมัดระวัง พวกเขาก็จะอยู่ในสถานะ

แตกแยกทางการเมือง  เป็นความบาดหมาง [คู่แข่ง] ที่ไม่สามารถหลอมรวมกันได้”

● ตำนานจอมต้มตุ๋นปะทะไก่อ่อน

ในขณะที่อังกฤษตกลงกับชารีฟ หุสเซ็น ที่เข้าร่วมขบวนการโค่นออตโตมันว่า จะมอบดินแดนอาหรับเพื่อจัดตั้งสหภาพอาหรับ แต่แอบทำสัตยาบันลับๆ ข้อตกลงเซคส์-ปิโกต์ Sykes-Picot Agreement  วันที่ 16 พฤษภาคม 1916 แบ่งดินแดนปกครองกันเอง ไม่ได้ให้กับชารีฟหุสเซ็นตามสัญญาลวงๆ

ข้อตกลง Sykes-Picot ได้รับการลงนามระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษเกี่ยวกับการแบ่งสรรประเทศอาหรับในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ในปี 1916 ถึงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของปีนั้น  ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างกระทรวงต่างประเทศของทั้งสามประเทศ ( ฝรั่งเศส อังกฤษ  และซาแห่งร์รัสเซีย)

ข้อตกลงไตรภาคีที่เรียกว่า Sykes-Picot Agreement เพื่อกำหนดขอบเขตอิทธิพลของแต่ละประเทศดังต่อไปนี้

– ฝรั่งเศสยึดครองซีเรียตะวันตก   เลบานอนและรัฐอาดานา

– อังกฤษยึดครองอิรักทางตอนใต้และตอนกลาง  รวมถึงเมืองแบกแดด   ท่าเรือเอเคอร์และไฮฟาในปาเลสไตน์

– รัสเซียยึดครองดินแดนอาร์เมเนียในตุรกี และเคอร์ดิสถานตอนเหนือ

– สิทธิของรัสเซียในการปกป้องผลประโยชน์ของนิกายออร์โธดอกซ์ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์

– พื้นที่ที่อยู่ระหว่างดินแดนที่ฝรั่งเศสได้รับและพื้นที่ที่อังกฤษได้รับ จะเป็นสหภาพรัฐอาหรับหรือสหรัฐอาหรับ

อย่างไรก็ตามพื้นที่นี้ยังแบ่งออกเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส อิทธิพลของฝรั่งเศสครอบคลุมถึงลิแวนต์ตะวันออกและโมซุล

ในขณะที่อิทธิพลของอังกฤษแผ่ขยายไปถึงทรานส์จอร์แดนและทางตอนเหนือของรัฐแบกแดดจนถึงชายแดนอิหร่าน

– ดินแดนส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้การบริหารระหว่างประเทศ  อันได้แก่ดินแดนของปาเลสไตน์

– ท่าเรือ Iskenderun กลายเป็นอิสระ

ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการเปิดเผยเมื่อคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจในรัสเซียในปี 1917 ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับตระกูลชารีฟ หุสเซ็น และชาวอาหรับที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อตกลงดังกล่าวและทำให้ฝรั่งเศสและอังกฤษกระอักกระอ่วน  และปฏิเสธอย่างด้านๆว่า ไม่เป็นความจริง 

ในปี 1917 พวกบอลเชวิคได้เผยแพร่เอกสารลับที่พวกเขาพบที่สำนักงานใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียในเมืองหลวงเปโตรกราด รวมทั้งเอกสารข้อตกลงเซคส์-ปิโกต์ Sykes-Picot Agreement ซึ่งถูกอธิบายโดยวิงเกต ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ในจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1918 ว่า:

 “กษัตริย์แห่งฮิญาซได้ส่งโทรเลขที่รุนแรงไปยังตัวแทนของเขา แนะนำให้เขาดำเนินการสืบสวนข้อตกลงแองโกล-ฝรั่งเศสและขอบเขตของข้อตกลง

ให้บอกไปว่ากษัตริย์ไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลงไซคส์-ปิโกต์  ฉันแนะนำให้บอกตัวแทนว่า  ที่พวกบอลเชวิคที่พบในกระทรวงการต่างประเทศเปโตรกราด เป็นบันทึกการเจรจาฉบับเก่าและข้อตกลงชั่วคราว  ไม่ใช่สนธิสัญญาที่เป็นทางการระหว่างอังกฤษฝรั่งเศสและรัสเซีย” 

ชารีฟหุสเซ็นเชื่อในเหตุผลของอังกฤษ และด้วยความไร้เดียงสา ยังแสดงความยินดีกับพวกเขาที่ควบคุมกรุงเยรูซาเล็มโดยกล่าวว่า: “ข่าวนี้ทำให้มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง” โดยเข้าใจไปว่าเมืองอัลกุดส์จะตกอยู่ในขอบเขตอาณาจักรของตน

หลังจากนั้น ก็ร่วมกระบวนการโค่นออตโตมันต่อไป

ภูมิภาคนี้ถูกแบ่งออกตามข้อตกลง  ฝรั่งเศสจึงได้ครอบครองส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเลแวนต์  และส่วนใหญ่ของอานาโตเลียตอนใต้และภูมิภาคโมซุลในอิรัก

ในขณะที่อังกฤษขยายพื้นที่ควบคุมจากเลแวนต์ทางใต้ ขยายไปทางตะวันออก รวมถึงแบกแดด บาสรา และพื้นที่ทั้งหมดระหว่างอ่าวเปอร์เซียและภูมิภาคภายใต้ปกครองของฝรั่งเศส

นอกจากนี้ยังตัดสินใจที่จะจัดการพื้นที่ซึ่งต่อมาได้รับการตัดแยกจากทางใต้ของซีเรีย คือดินแดน “ปาเลสไตน์” ให้อยู่ภายใต้การบริหารระหว่างประเทศ ตามที่จะตกลงกันในการปรึกษาหารือระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส (ต่อมาตามปฏิญญาบัลโฟร์ ได้ตกลงส่งมอบให้กับชาวยิว  ให้ชาวไซออนิสต์สร้างรัฐอิสราเอล)

อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าอังกฤษจะได้รับท่าเรือไฮฟาและเอเคอร์   โดยมีเงื่อนไขว่าฝรั่งเศสจะมีอิสระในการใช้ท่าเรือไฮฟา  และฝรั่งเศสได้ตอบแทนอังกฤษโดยการให้ใช้ท่าเรือIskenderun ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของตน

ชัดเจนแจ่มชัดถึงขนาดนี้ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ตำนานจอมต้มตุ๋นกับไก่อ่อน ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง 

พิสูจน์ว่า  แท้จริงแล้ว เหตุผลของเรื่องทั้งหมดไม่ใช่ความไร้เดียงสาไม่ทันเกมส์ มากไปกว่าความโลภหลงไหลในโลกดุนยา ไม่สนใจหลักการถูกผิด…


ที่มา: 

– Al Jazeera

– Meem  Magazine

โดย Ghazali Benmad