ตำรวจอังกฤษสู่การเป็นอิสลาม

หนังสือ “ซาตานิกเวอร์เซส” นำพันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ ตำรวจอังกฤษสู่การเป็นอิสลาม

พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ Richard Fairley ขณะเป็นหัวหน้าผู้ตรวจการหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของสหราชอาณาจักร  กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับหนังสือพิมพ์ Asharq Al-Awsat ของอังกฤษ  เมื่อปี 2010 ว่า ❝ผมเข้าอิสลามหลังจากอ่านและการไตร่ตรอง ❞

ในการให้สัมภาษณ์ พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่ กล่าวว่า เป็นอิสลามไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเร่งรีบ การตัดสินใจใช้เวลา 2 ปี ในระหว่างที่พยายามสัมผัสถึงหัวใจและความคิดของตนเอง  ได้แวะเวียนมาที่ศูนย์อิสลามใน Regent’s Park ในใจกลางลอนดอนเป็นเวลา 2 ปี  ก่อนที่จะให้การปฏิญาณตนเป็นมุสลิมในเดือนสิงหาคม 1993  ต่อหน้าชีคจำนวนหนึ่งที่มัสยิดในลอนดอน และต่อหน้า ยูซุฟ อิสลาม หรือแคทส์ สตีเวน อดีตนักร้องเพลงป็อปชาวอังกฤษที่เปลี่ยนมานับถืออิสลาม

ริชาร์ด  แฟร์ลี่ ยังภูมิใจในชื่อเดิมและยืนยันที่จะใช้ชื่อเดิม ซึ่งเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง การเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ไม่ได้มีหลักการให้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาอาหรับแต่อย่างใด เว้นแต่เป็นที่มีความหมายไม่ดี ซึ่งมีหลักการสำหรับทุกคน ไม่ว่ามุสลิมใหม่หรือมุสลิมเดิม ให้ทำการเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง

บทสัมภาษณ์น่าสนใจบางตอน

Asharq Al-Awsat :   คุณเริ่มอ่านอัลกุรอานเมื่อใด ?

– หลังจากการตีพิมพ์หนังสือ “The Satanic Verses” โดยซัลมาน  รุชดี ผมอ่านอัลกุรอานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่ของผม และในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการทราบบางอย่างเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม และสาเหตุที่ชาวมุสลิมโกรธและออกไปประท้วงต่อต้านหนังสือเล่มนี้

Asharq Al-Awsat :  อะไรดึงดูดคุณให้นับถือศาสนาอิสลาม ?

– ผมเข้าสู่ศาสนาหลังจากอ่านและศึกษา ผมเป็นบัณฑิตด้านธรณีวิทยาจาก British University of Exeter และหนึ่งในเพื่อนร่วมงานของผมที่มหาวิทยาลัยเดียวกันคือ Frank Gardner นักข่าวของ BBC ซึ่งกำลังศึกษาภาษาอาหรับและตะวันออกกลาง

ผมยังคงชื่นชอบวิทยาศาสตร์และค้นคว้าเกี่ยวกับมัน แต่ผมพบโองการอัลกุรอานที่ถูกประทานเมื่อ 14 ศตวรรษก่อนที่พูดเชิงลึกเกี่ยวกับบิ๊กแบง อีกกรณีหนึ่งเกี่ยวกับการขยายตัวของจักรวาล และกรณีที่สามที่อธิบายบทบาทหน้าที่ของภูเขาในการดูแลโลก

มี 3 โองการอัลกุรอานที่ทำให้ชีวิตของผมกลับหัวกลับหางและเปิดใจของผมไปสู่การชี้นำ แสงสว่าง และความลึกของศรัทธา มันคือโองการ

وَالسَّمَاءَ بَنَيْنَاهَا بِأَيْدٍ وَإِنَّا لَمُوسِعُونَ

 “และชั้นฟ้าทั้งหลายที่เราสร้างขึ้นด้วยมือ และเราได้ขยายออก” (อัล-ดาริยะต ฉบับที่ 47)

และโองการอื่นในซูเราะห์อัลอันบิยา กล่าวว่า

أَوَ لَمْ يَرَ الَّذِينَ كَفَرُوا أَنَّ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضَ كَانَتَا رَتْقًا فَفَتَقْنَاهُمَا

“บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไม่เห็นหรือว่าชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน แล้วเราก็ได้แยกมันทั้งสองออกจากกัน ?”

และอีกโองการในซูเราะห์อัลนะบะ กล่าวว่า:

أَلَمْ نَجْعَلِ الأَرْضَ مِهَادًا * وَالْجِبَالَ أَوْتَادًا

 “เรามิได้ทำให้แผ่นดินเป็นเปลและภูเขาเป็นหมุดหรือ?”

พันเอกริชาร์ด  แฟร์ลี่   กล่าวว่า  ❝ โองการเหล่านี้ไม่สามารถมองข้ามได้เลย ไม่มีหนังสือเล่มใดที่สามารถค้นพบความจริงข้อนี้เมื่อ 1,400 ปีก่อน และไม่ต้องสงสัยเลยว่าเบื้องหลังมันคือเจ้าแห่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ ❞

ที่มา

หนังสือพิมพ์ Asharq Al-Awsat  ฉบับที่ 11400 ที่ 13 กุมภาพันธ์  2010

https://archive.aawsat.com/details.asp?issueno=11700…


เครดิต : Ghazali Benmad

รอมฎอนกับการช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยาก

ในสถานการณ์ที่โลกระส่ำระสายวันนี้   ครอบครัวมากมายทุกข์ยาก โดนภัยพิบัติ  เป็นโรคร้ายทำงานไม่ได้  ไม่มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอน ไม่มีอาหาร ไม่มีค่าเล่าเรียนของลูกๆ และความเดือดร้อนนานา

ในการนี้ อิสลามได้บัญญัติและส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก  ดังหลักการที่ปรากฏอยู่ในตำรามรดกทางวิชาการกฎหมายอิสลามมาตั้งแต่ในอดีตกาลพันปีก่อน

■ การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก เป็นหน้าที่ในระดับฟัรดูกิฟายะฮ์

จ่ายซะกาตแล้วพ้นผิดหรือไม่ ?

ซะกาตคือฟัรดูอีน ที่จำเป็นสำหรับผู้มีความสามารถ

แต่นอกจากจ่ายซะกาตแล้ว มุสลิมยังมีหน้าที่ฟัรดูกิฟายะฮ์ช่วยเหลือสังคม และผู้ตกทุกข์ได้ยาก

ฟัรดูกิฟายะฮ์  หมายถึง สิ่งที่เป็นหน้าที่ร่วมกันและจำเป็นต้องกระทำโดยไม่เจาะจงผู้กระทำ หากไม่มีการกระทำ ทุกคนก็จะมีความผิดร่วมกัน

อิหม่ามญาลาลุดดีน อัสสะยูตีย์ ( เกิด 3 ตุลาคม ค.ศ. 1445 เสียชีวิต 18 ตุลาคม ค.ศ. 1505 ที่กรุงไคโร อียิปต์)  ปราชญ์ชั้นแนวหน้าในมัซฮับชาฟิอีย์ อันเป็นแนวทางหลักของมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทย กล่าวไว้อย่างชัดเจน ในตำรา “อัลอัชบาห์ วันนะซออิร الأشباه والنظائر ” ว่า การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก เป็นหน้าที่ในระดับฟัรดูกิฟายะฮ์  สำหรับผู้มีความสามารถ โดยได้กล่าวว่า

“ومنها‏:‏ إغاثة المستغيثين في النائبات ويختص بأهل القدرة‏”

“ส่วนหนึ่งของฟัรดูกิฟายะฮ์ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ  และเป็นหน้าที่เฉพาะสำหรับผู้มีความสามารถเท่านั้น”

อันหมายความว่า ผู้ที่มีทรัพย์สิน นอกจากจะต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินบางประเภท ร้อยละ 2.5 หรือ 5 หรือ 10 ต่อปี แล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอีกด้วย แม้ว่าจะจ่ายซะกาตไปแล้ว ก็ยังไม่พ้นหน้าที่นี้ และไม่พ้นความผิดบาป

ในยุคที่ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วโลกในยามนี้ หน้าที่ก็ยิ่งหนักหนาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หน้าที่ช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนยามนี้ เป็นหน้าที่ระดับฟัรดู จึงจำเป็นต้องปฏิบัติก่อนภารกิจที่เป็นภารกิจระดับสุนัต/มุสตะหับ ไม่ว่าจะเป็นฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ก็ตาม มิพักต้องกล่าวถึงสิ่งที่เป็นมุบะห์ เช่น การท่องเที่ยวทัศนาจรหรือพักผ่อนหย่อนใจ

ใครจะไปรู้ ลึกๆแล้ว การที่อุมเราะฮ์หรือฮัจญ์ปีนี้ อาจมีอุปสรรคนานาเพราะพิษไวรัสโคโรน่า หลายคนอาจไปไม่ได้  

อาจเป็นเพราะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์สุนัตหรืออุมเราะฮ์สุนัตเหล่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ในจุดนั้นก็ได้ เพราะสังคมมุสลิมข้างบ้านหรือสังคมมุสลิมทั่วโลกยังเดือดร้อนแสนสาหัส หากถูกมองข้ามไป จะเป็นความผิดมหันต์ ที่อัลลอฮ์ไม่ประสงค์ให้คนเหล่านั้นไปยังวิหารของพระองค์อีก

■ หลักการในอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ และแนวปฏิบัติของซอฮาบะฮ์ จากตำราของอิบนุหัซม์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเมื่อพันปีก่อน

อิหม่ามอิบนุหัซม์  ( 7 พ.ย. ค.ศ. 994 – 15 ส.ค. ค.ศ. 1064) นักวิชาการแห่งแอนดาลุส ยุคอิสลาม   ได้กล่าวในหนังสือ

 المحلى بالآثار »  كتاب الزكاة »  قسم الصدقة » مسألة على الأغنياء من أهل كل بلد أن يقوموا بفقرائهم

ใจความว่า :

❝ เป็นหน้าที่สำหรับคนร่ำรวยในที่ถิ่นแคว้น จะต้องช่วยเหลือคนยากจนในบริเวณนั้นๆ และรัฐจะต้องบัญญัติบังคับเช่นนั้น หากซะกาตไม่สามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่เอาจากทรัพย์คนมุสลิมทั่วไป

จะต้องให้อาหารที่จำเป็น และเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวและฤดูร้อน ต้องให้บ้านที่กันน้ำฝน ความร้อน แสงอาทิตย์และสายตาคน

หลักฐานกรณีดังกล่าวคือ

อัลลอฮ์กล่าวว่า

وَآتِ ذَا الْقُرْبَىٰ حَقَّهُ وَالْمِسْكِينَ وَابْنَ السَّبِيلِ

“และจงให้สิทธิแก่ญาติที่ใกล้ชิด ผู้ขัดสน และผู้เดินทาง”

وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا وَبِذِي الْقُرْبَىٰ وَالْيَتَامَىٰ وَالْمَسَاكِينِ وَالْجَارِ ذِي الْقُرْبَىٰ وَالْجَارِ الْجُنُبِ وَالصَّاحِبِ بِالْجَنبِ وَابْنِ السَّبِيلِ وَمَا مَلَكَتْ أَيْمَانُكُمْ

” และจงทำดีต่อบุพการีทั้งสอง  ต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด  เด็กกำพร้า ผู้ขัดสน เพื่อนบ้านใกล้เคียงและเพื่อนที่ห่างไกล  เพื่อนผู้เคียงข้าง ผู้เดินทาง และผู้ที่มือขวาของพวกท่านครอบครอง”

อัลลอฮ์บัญญัติถึงสิทธิของคนจน  คนเดินทาง และทาส ตลอดจนสิทธิของญาติใกล้ชิด รวมถึงบัญญัติให้ทำดีต่อพ่อแม่ ญาติใกล้ชิด คนจน เพื่อนบ้าน และทาส การทำดีหมายถึงการกระทำดังกล่าว การไม่ช่วยถือว่าเป็นการทำไม่ดีโดยไม่มีข้อกังขาใดๆอีก

وقال تعالى : { ما سلككم في سقر قالوا لم نك من المصلين ولم نك نطعم المسكين } .

“อะไรที่นำพวกท่านเข้าสู่กองไฟที่เผาไหม้  พวกเขากล่าวว่า เรามิได้อยู่ในหมู่ผู้ทำละหมาด และเรามิได้ให้อาหารแก่บรรดาผู้ขัดสน”

ซึ่งอัลลอฮ์บัญญัติหน้าที่ละหมาดเคียงคู่หน้าที่ให้อาหารแก่คนยากจน

และท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من لا يرحم الناس لا يرحمه الله

“ผู้ใดไม่เมตตาต่อมนุษย์ อัลลอฮ์จะไม่เมตตาต่อเขา”

อับดุรรอฮ์มาน บินอบูบักร์ เล่าว่า “ชาวซุฟฟะฮ์ ( ผู้อาศัยชายคามัสยิดนบี ) เป็นคนจน ท่านศาสนทูต ศอลฯ จึงกล่าวว่า ผู้ใดมีอาหารสำหรับ 2 คน ก็จงพาคนที่ 3 ไป ผู้ใดมีอาหารสำหรับ  4 คน ก็จงพาคนที่ 5 ที่ 6 ไป”

المسلم أخو المسلم ، لا يظلمه ولا يسلمه

“มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิม ไม่อนุญาตให้ละเมิดต่อเขา หรือปล่อยให้ถูกละเมิด”

การปล่อยให้อดอยาก ไร้อาภรณ์ ทั้งๆที่มีความสามารถที่จะให้อาหารเสื้อผ้าแก่เขาได้ ถือเป็นการปล่อยปละละเลยต่อเขา

อบูสะอีด อัลคุดรีย์เล่าว่า ท่านศาสนทูต ศอลฯ กล่าวว่า

   من كان معه فضل ظهر فليعد به على من لا ظهر له ، ومن كان له فضل من زاد فليعد به على من لا زاد له

“ผู้ใดมีที่ว่างบนพาหนะก็จงให้แก่ผู้ที่ไม่มีพาหนะ ผู้ใดมีเสบียงเหลือก็จงให้กับผู้ไม่มีเสบียง”

อบูสะอีด เล่าว่า  “แล้วท่านศาสนทูตก็ได้กล่าวถึงทรัพย์สินประเภทต่างๆ จนกระทั่งเราเห็นว่า เราไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินที่เหลือใช้”

นี้เป็นอิจมาอ์-ความเห็นเอกฉันท์-ของซอฮาบะฮ์ ดังที่อบูสะอีดได้กล่าว ( หมายถึง คำพูดที่อบูสะอีดกล่าวว่า “เราเห็นว่า” )

เรามีความเห็นตามหะดีษเหล่านั้น

และท่านนบี ศอลฯ ยังกล่าวว่า

    أطعموا الجائع وفكوا العاني

“และจงให้อาหารแก่คนหิวโหย และปลดปล่อยเชลย”

ตัวบทจากอัลกุรอานและหะดีษซอเหียะห์ในเรื่องนี้มีมากมายยิ่ง

ท่านอุมัร บินคอตตอบ กล่าวว่า “หากฉันรู้ตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นเช่นนี้ แน่นอน ฉันจะยึดเอาทรัพย์สินที่เหลือใช้ของบรรดาเศรษฐีทั้งหลาย มาแจกจ่ายให้แก่ชาวมุฮาญีรีนผู้ยากจน”

ท่านอาลี บินอบูตอลิบ กล่าวว่า “อัลลอฮ์บัญญัติให้คนรวยช่วยคนจนในปริมาณที่เพียงพอต่อความจำเป็น หากคนจนไม่มีอาหาร หรือเสื้อผ้าอาภรณ์ ก็เนื่องจากคนรวยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศาสนากำหนด ซึ่งอัลลอฮ์จะสอบสวนและลงโทษคนรวยเหล่านั้นในวันฟื้นคืนชีพ”

อิบนุอุมัร กล่าวว่า “นอกจากซะกาตแล้ว ทรัพย์สินของท่านก็ยังคงมีพันธะหน้าที่”

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ท่านหะซัน บินอาลี หรืออิบนุอุมัร เมื่อมีผู้ขอทรัพย์สิน พวกเขาจะกล่าวกับผู้ขอว่า ” หากท่านขอเพราะจะจ่ายหนี้เลือด หรือหนี้สินที่ล้นพ้นตัว หรือความจนแสนเข็ญ เราจำเป็นต้องให้แก่ท่าน”

มีรายงานว่า อบูอุบัยดะฮ์ บินจัรรอห์ และซอฮาบะฮ์ 300 ท่าน เกิดเหตุทำให้เสบียงของพวกเขาสูญเสียไป อบูอุบัยดะฮ์จึงสั่งให้ทุกคนนำเสบียงมารวมกัน แล้วให้ทุกคนรับประทานเสมอเหมือนกัน

นี้เป็นอิจมาอ์ของซอฮาบะฮ์ ที่ไม่มีผู้เห็นต่างแม้แต่คนเดียว


โดย Ghazali Benmad

ให้รอมฎอนรักษาหัวใจ

ในอิสลามมีโรคประเภทหนึ่งที่อันตรายยิ่งกว่าโรคภัยไข้เจ็บทางกายทั่วไป นั่นคือโรคทางใจ ซึ่งใจในที่นี่ไม่ได้หมายถึงอวัยวะเท่ากำปั้นมือที่ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต เพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารไปยังทุกส่วนของร่างกาย แต่หมายถึงตัวตนของมนุษย์อีกมิติหนึ่งที่มีความรู้สึก มีวิญญาณ มีสามัญสำนึก อารมณ์ความต้องการ พลังแห่งการเรียนรู้และสร้างสรรค์ ซึ่งถูกสร้างมาพร้อม ๆ กับความเป็นมนุษย์เหมือนอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

นอกจากที่ร่างกายต้องการธาตุอาหารต่าง ๆ ที่คอยหล่อเลี้ยงให้เติบโตและแข็งแรงแล้ว ร่างกายยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเชื้อโรคต่าง ๆ ที่คอยมาบั่นทอนสุขภาพ โรคบางชนิดนอกจากทำให้ร่างกายป่วยทรุดโทรมแล้ว ยังทำให้อวัยวะบางส่วนไม่ทำงานหรือไม่ทำหน้าที่ตามปกติอีกด้วย

จิตใจมนุษย์ก็เช่นกัน มีโรคทางจิตใจมากมายที่อาจประสบแก่ทุกคน ทั้งนี้เนื่องจากจิตใจเป็นนายของร่างกาย จึงเป็นที่หมายปองของศัตรูที่คอยบุกโจมตี ในสมรภูมิสงคราม ศัตรูจึงต้องหาทุกวิถีทางเพื่อเข้าประชิดแม่ทัพและเมื่อใดที่สามารถควบคุมหรือสังหารแม่ทัพได้เหล่าทหารอื่น ๆ ก็จะยอมศิโรราบโดยปริยาย

นบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า

ألا وإنَّ في الجَسَدِ مُضْغَةً، إذا صَلَحَتْ، صَلَحَ الجَسَدُ كُلُّهُ، وإذا فَسَدَتْ، فَسَدَ الجَسَدُ كُلُّهُ، ألا وهي القَلْبُ ( متفق عليه)

 ความว่า : พึงทราบเถิดว่า ในร่างกายมีก้อนเลือดอยู่ก้อนหนึ่ง หากก้อนเลือดนี้ดี ร่างกายทุกส่วนก็จะดีไปด้วย หากก้อนเลือดนี้มีสภาพที่ไม่ดี ร่างกายทุกภาคส่วนก็จะไม่ดีตามเช่นกัน มันคือจิตใจนั่นเอง

ชัยฏอนซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์จึงคอยดักซุ่มและจู่โจมให้สามารถควบคุมจิตใจ เมื่อควบคุมสำเร็จแล้วมันจะสั่งการให้อวัยวะทุกส่วนปฏิบัติตามแผนร้ายของมันทันที นั่นคือให้มนุษย์ทุกคนฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ ยอมเป็นทาสชัยฏอนอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้มนุษย์หันเหหลงผิดและหลงทาง จนกระทั่งไม่พบกับทางนำของพระองค์ เพราะคนเราเป็นไปได้ 2 สถานะเท่านั้น ไม่มีทางเลือกที่ 3 นั่นคือหากหลุดพ้นจากการเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ เขาจะต้องตกเป็นเหยื่อของชัยฏอนทันที ซึ่งสามารถพลิกผันได้ทุกเวลานาที

نسأل الله السلامة

พี่น้องร่วมศรัทธาทุกท่าน

โรคจิตใจมีมากมาย แต่แบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

ประเภทแรก คือประเภทที่นอกจากทำให้จิตใจป่วยอัมพาตแล้ว ยังเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย บางครั้งถึงขนาดนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร สีหน้าหม่นหมอง หน้าตาไม่สดชื่นและร่างกายซีดผอม โรคประเภทนี้ได้แก่ 1) การโอ้อวด 2) โกรธและอารมณ์ฉุนเฉียว 3) หลงลืม 4) ย้ำคิดย้ำทำ 5) ท้อแท้สิ้นหวัง 6) ละโมบโลภมาก 7) หลงตัวเอง 8) หยิ่งยโส และ 9) อิจฉาริษยา

โรคทั้ง 9 ชนิดนี้ถือเป็นคุณสมบัติอันไม่พึงประสงค์และน่ารังเกียจที่ทุกคนต้องเฝ้าระวังให้มาก บางกรณีสามารถหาทางเยียวยาหรือปรึกษาจิตแพทย์เฉพาะทางได้

โรคบางชนิดเป็นเสมือนไฟไหม้ที่ทำลายความดีงามให้หมดเกลี้ยงดังเช่น ความอิจฉาริษยา โรคบางชนิดเป็นสิ่งปิดกั้นมิให้เข้าสวรรค์เลยทีเดียวดังเช่นความหยิ่งยโส ในขณะที่โรคหลงตัวเอง ก็ได้ทำให้อิบลีสกลายเป็นผู้ถูกสาปแช่งมาแล้ว 

نعوذ بالله من ذلك

ประเภทที่สอง เป็นโรคที่ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย ใบหน้าอาจดูสดชื่นตลอดเวลา หัวใจเบิกบานร่าเริง ร่างกายแข็งแรงดี แต่เขาติดโรคทางจิตใจที่ร้ายแรงกว่าโรคประเภทแรก เพราะโรคประเภทนี้จะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดไหนสามารถตรวจสอบได้ ส่วนหนึ่งของโรคชนิดนี้ได้แก่

 1. โรคเขลาและไม่มีความรู้ทางศาสนา(ญาฮิล) จนไม่สามารถแยกแยะอันไหนถูกอันไหนผิด สิ่งไหนบาปสิ่งไหนบุญ

 2. โรคกลับกลอก (นิฟาก) ซึ่งเป็นโรคที่ลึกลับยิ่งกว่ามดดำตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ในโพรงถ้ำในเวลากลางคืนเสียอีก ไม่มีใครสามารถตรวจสอบโรคนี้ยกเว้นผู้ทรงสร้างจิตใจเท่านั้น ผู้ที่ติดโรคนี้จะมีอาการต่าง ๆ เช่น เกียจคร้านการละหมาด ซิกิร์ต่ออัลลอฮ์เพียงเล็กน้อย ผิดสัญญา พูดจาโกหก ทุจริตคอรัปชั่น ใช้คำพูดที่ก้าวร้าวโดยเฉพาะเวลาขัดใจกัน ไม่ชอบการบริจาคกุศลทานและสัญญาณอื่น ๆ ที่เป็นนิฟากเล็ก แต่หากละเลยและไม่รีบรักษา มันอาจลุกลามจนกลายเป็นนิฟากใหญ่ได้ نعوذ بالله من ذلك

 3. โรคชอบสร้างสิ่งอุตริกรรมในศาสนา ทั้ง ๆ ที่นบีได้สอนเกี่ยวกับศาสนาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

 4. โรคเสน่หาฟังนิยายปรัมปรา งมงาย ชอบบริโภคและเผยแพร่ข่าวลือ โดยเฉพาะการเผยแพร่หะดีษปลอม โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ดังตัวอย่างการเผยแพร่ความประเสริฐและผลบุญการละหมาดตะรอวีห์ในแต่ละคืนตั้งแต่คืนแรกจนถึงคืนสุดท้าย ทั้ง ๆ ที่เป็นหะดีษปลอมที่นบีไม่เคยพูด เศาะฮาบะฮ์ไม่เคยรายงานและบรรดาผู้รวบรวมหะดีษก็ไม่เคยบรรจุหะดีษนี้ในตำราหะดีษ แต่ก็ยังแพร่หลายในสังคม  ดังนั้น ผู้ใดที่รายงานหะดีษนี้หรือหะดีษปลอมอื่น ๆ เขาจะได้รับโทษสถานหนักถึงขนาดนบีกล่าวว่า ขอให้เขาจองที่ในนรกเลยทีเดียว

 5. โรคการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ (ชิริก) ซึ่งถือเป็นบาปใหญ่ที่สุดและถือเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชัยฏอน หากชัยฏอนสามารถล่อลวงมนุษย์ให้หลงทางถึงขั้นนี้ ก็จะถือว่ามันปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วงแล้ว

อัลลอฮ์กล่าวว่า

إِنَّ ٱلشِّرْكَ لَظُلْمٌ عَظِيمٌ (لقمان/13)

ความว่า : แท้จริงชิริกคืออธรรมอันใหญ่หลวง

إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغْفِرُ أَن يُشْرَكَ بِهِۦ وَيَغْفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُ ۚ وَمَن يُشْرِكْ بِٱللَّهِ فَقَدْ ضَلَّ ضَلَٰلًۢا بَعِيدًا ( النساء/116)

ความว่า : แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษบาปการตั้งภาคีกับพระองค์ แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดตั้งภาคีแก่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอน เขาก็ได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล

พี่น้องร่วมศรัทธาทั้งหลาย

รอมฎอนจึงเป็นโรงซ่อมจิตใจขนาดใหญ่ที่สุดที่เป็นความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ซึ่งทรงประสงค์ให้บ่าวทุกคนใช้เวลาช่วงประเสริฐที่สุดนี้ยกระดับตัวเอง ขัดเกลาจิตใจ ทบทวนอดีต เพิ่มพูนความดีงาม สะสมเสบียงบุญ สำนึกตนด้วยการกลับไปหาอัลลอฮ์ และขออภัยโทษจากพระองค์ด้วยการตัดใจจากความผิดพลาด เสียใจต่อการกระทำในอดีต และตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่หวนกลับทำบาปซ้ำ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เราสามารถรวบเบ็ดเสร็จภายใต้เป้าประสงค์ของการถือศีลอดนั่นคือ

لعلكم تتقون

เผื่อว่า ท่านทั้งหลายจะได้ยำเกรง

ด้วยการยำเกรงต่อพระองค์เท่านั้นที่เป็นยาวิเศษและทิพย์โอสถที่สามารถทำให้โรคร้ายทั้งปวงที่ได้กล่าวมาแล้ว หายไป และด้วยตักวาเท่านั้นที่สามารถขัดเกลาจิตใจให้สะอาดผ่องแผ้ว ไร้สิ่งเจือปน จนกระทั่งสามารถเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ด้วยหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์

يَوْمَ لَا يَنْفَعُ مَالٌ وَلَا بَنُونَ  إِلَّا مَنْ أَتَى اللَّهَ بِقَلْبٍ سَلِيمٍ  ( الشعراء /89-88)

ความว่า : วันที่ทรัพย์สมบัติ ลูกหลานและบริวารไม่มีประโยชน์อันใดเลย เว้นแต่ผู้ที่เข้าเฝ้าอัลลอฮ์ด้วยหัวใจที่สะอาดผุดผ่อง

ดังนั้นรอมฎอนจึงเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเยียวยารักษาโรคร้ายเหล่านี้ได้และกิจกรรมอันมากมายในเดือนรอมฎอนตั้งแต่การถือศีลอด การละหมาดตะรอวีห์ การบริจาคทาน การให้อาหารละศีลอด การอ่านอัลกุรอาน การซิกิร์และอิสติฆฟาร์ การทำความดีในรูปแบบต่าง ๆโดยเฉพาะอิอฺติก้าฟช่วง 10 วันสุดท้ายถือเป็นชุดยาสามัญประจำผู้ศรัทธาที่ต้องหมั่นรับประทานให้ครบชุดอย่างเหมาะสม พี่น้องต้องเข้าใจว่ารอมฎอน ไม่ใช่เพียงการอดอาหารในภาคกลางวันอย่างเดียวเท่านั้น แต่คือชุดยาสามัญประจำศรัทธาชนที่จิตใจต้องได้รับอย่างทั่วถึง เพื่อยกระดับตนเองให้เป็นผู้ที่เหมาะสมเข้าสวรรค์ของอัลลอฮ์และรอดพ้นจากไฟนรกทีเดียว

พี่น้องร่วมศรัทธาทุกท่าน

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันสังคมโลกได้รับภัยคุกคามจาก โควิด-19 โดยเฉพาะดาวร้ายใหม่สายพันธุ์โอไมครอน ที่ขณะนี้ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกในฐานะผู้ศรัทธา เราต้องเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นด้วยผลการอนุมัติจากพระเจ้า พระองค์จะทรงทดสอบบ่าวของพระองค์ด้วยวิธีการหลากหลายโดยมีเป้าหมายให้บ่าวของพระองค์กลับเนื้อกลับตัว ยอมศิโรราบต่ออำนาจของพระองค์ ไม่ดื้อรั้นและไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์

ผู้ศรัทธาจึงต้องใช้โอกาสอันประเสริฐในเดือนรอมฎอนนี้ ขออภัยโทษจากอัลลอฮ์มอบตนแด่พระองค์ และพยายามหามาตรการที่จะหยุดการแพร่กระจายของโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ พึงทราบว่าการปฏิบัติตนในคำสอนศาสนาไม่ได้สอนให้เราปฏิเสธมาตรการการรักษา การเยียวยาและการป้องกันด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพราะอิสลามไม่เคยปฏิเสธภูมิปัญญาที่มีประโยชน์และไม่เคยหันหลังให้กับการคิดค้นสร้างสรรค์ที่ดี ๆ ตราบใดที่อยู่ในกรอบของศาสนา มุสลิมจึงสามารถเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์และเป็นพลเรือนที่ดีของสังคมในเวลาเดียวกัน เป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมจะมีความผูกพันที่ดีกับอัลลอฮ์เพียงมิติเดียว แต่เขากลับไปสร้างปัญหาให้กับสังคมหรือทำให้สังคมเดือดร้อน หากเป็นเช่นนี้ เขาจะไม่ได้รับอานิสงส์ใด ๆ จากรอมฎอนยกเว้นการอดน้ำ อดข้าว อดหลับอดนอนเท่านั้นเอง

قال الله تعالى

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ (البقرة/183)


โดย Mazlan Muhammad

ความประเสริฐของวิญญาณ

หากเรือนร่างประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่าวิญญาณแล้วไซร้ เพราะเหตุใดวิญญาณจึงลอยล่องสู่ฟ้าวิมาน ในขณะที่ร่างกายถูกกลบฝังใต้พสุธา

หากวิญญาณออกจากร่างเมื่อไหร่ ก็จะกลายเป็นศพ และจะเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา กลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ทันที

น่าแปลก ที่คนจำนวนมากสนใจบำรุงรักษารูปกายภายนอก

แต่ไม่สนใจใยดีที่จะทะนุถนอมภาควิญญาณที่ยั่งยืนกว่า

หลายคนที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก

แต่เขากลับเป็นคนโนเนมบนชั้นฟ้า

คนบางคนไม่เป็นที่รู้จักบนโลกนี้ด้วยซ้ำ

แต่เสียงของเขาดังเป็นพลุแตกในสวรรค์ฟิรเดาวส์

เพราะตัวชี้วัดอยู่ที่ตักวาอันเหนือกว่า

หาใช่พละกำลังและอำนาจอันมากล้น

“แท้จริง ผู้ประเสริฐสุดในหมู่สูเจ้า คือผู้ยำเกรงมากที่สุด”

ดังนั้นเจ้าจงแสวงหาคุณค่า ณ พระเจ้าเถิด

อย่าไปสนใจใยดีกับเสียงนกเสียงกา

เพราะกองคาราวานจะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ฝูงสุนัขก็เห่าหอนไม่ขาดเสียง


โดย Mazlan Muhammad

แผนการของอัลลอฮ์และแผนการของซาตาน

อัลลอฮ์สร้างมนุษย์เพื่อเคารพภักดีต่อพระองค์

และสร้างทุกสรรพสิ่งไว้คอยบริการและอำนวยความสะดวกให้มนุษย์สามารถทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์

ทั้งแสงแดดและรังสี แม่น้ำลำธาร อากาศหรือธาตุ ทะเลหรือมหาสมุทร สิงสาราสัตว์ เรือกสวนไร่นา ฟากฟ้าและแผ่นดิน แม้กระทั่งดวงดาวและจักรวาล ล้วนแล้วคอยบริการและเอื้ออำนวยให้แก่มนุษย์ทั้งสิ้น

พระองค์ทรงประกันว่าจะประทานปัจจัยยังชีพให้ทุกคน

ยิ่งมีประชากรมาก ปัจจัยยังชีพก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ประชากรไม่มีวันล้นโลก

ประชากรไม่มีวันตายด้วยความอดอยาก

หากมีการแบ่งปันและกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม

พระองค์ไม่ปล่อยให้มนุษย์เคว้งคว้างหาคำตอบชีวิตตามลำพัง แต่จะเสนอชุดคำสอนพร้อมต้นแบบอันสมบูรณ์และสุดประเสริฐให้มนุษย์ปฏิบัติเป็นเยี่ยงอย่าง

ชุดคำสอนที่สมบูรณ์คืออิสลาม ในขณะที่ต้นแบบอันสุดประเสริฐคือนบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم

เพราะไม่ว่าจะเก่งกาจ อัจฉริยะ เลอเลิศแค่ไหน มนุษย์ก็คือมนุษย์วันยังค่ำ

มนุษย์ไม่เข้าใจแม้กระทั่งตัวเอง

แล้วจะสร้างวิถีชีวิตให้มนุษย์ทั่วโลกในทุกยุคทุกสมัยยึดปฏิบัติได้อย่างไร

นักทฤษฎีทางสังคมหรือนักสังคมวิทยา ทำได้เพียงศึกษาประวัติศาสตร์และทำนายทึกทักอนาคต แล้วมากำหนดปัจจุบันของเขาอันจำกัดและคับแคบเพื่อให้มนุษยชาติที่มีความหลากหลายมาเป็นแนวปฏิบัติ

ทั้ง ๆ ที่เขาเองยังไม่รู้เลยว่า วันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง

เป็นไปได้หรือที่คนอย่างคาร์ล มากซ์ที่ผิดหวังในความรักและอคติลึกกับชนชั้นปกครอง จะมีทัศนคติเชิงบวกในชีวิตและสร้างทฤษฎีทางสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อและยุติธรรม

เป็นไปได้หรือที่นักกวี นักเขียนบทละคร นักดนตรี ซึ่งเคยรับตำแหน่งเพียงเลขานุการสถานทูตที่สองของสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ที่เป็นที่รู้จักในนามเมเคียเวลลี จนได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งรัฐศาสตร์ ในหนังสือของเขา The Prince ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ของชนชั้นปกครอง ทั้ง ๆ ที่น่าจะเป็นตำราที่ปลูกฝังลัทธิก่อการร้ายโดยมีอำนาจรัฐเป็นเจ้าภาพหลัก การใช้เล่ห์เหลี่ยมอุบายในการเมือง และการกระทำอันไร้คุณธรรมจริยธรรมทั้งหลาย

เป็นไปได้หรือที่ Malthusianism ที่คอยหลอกหลอนมนุษย์ว่าประชากรจะล้นโลก แต่ทรัพยากรจะหดหาย จนกลายเป็นที่มาของวาทกรรมลวงโลก “ลูกมาก ยากจน”

ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันมนุษย์รู้จักประดิษฐ์คิดค้นนวตกรรมจากพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานชีวภาพ ที่สามารถใช้กันอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งโลกสิ้นสลาย เพื่อตอกย้ำคำมั่นสัญญาของพระเจ้าว่า อย่าได้ฆ่าลูกเนื่องจากกลัวความยากจน พระองค์เป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกท่าน(ผู้อุปการะ) และพวกเขา (ผู้ได้รับการอุปการะ)

เป็นไปได้หรือที่ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ซึ่งอธิบายพฤติกรรมของคนบนฐานของความต้องการทางเพศ ราวกับว่ามนุษย์ไม่ต่างไปจากสัตว์ ทฤษฎีเช่นนี้จะนำพามนุษย์ให้เป็นคนหรือสัตว์เดรัจฉานกันแน่

แม้กระทั่งดาร์วินที่หลอกมนุษย์นานนับศตวรรษว่าบรรพบุรุษของมนุษย์คือลิง โดยได้ปลูกฝังแนวคิดที่ถือว่าพลังอำนาจเท่านั้นที่เป็นใหญ่ โลกนี้ไม่มีที่สำหรับผู้อ่อนแอ ผู้ชนะมีความชอบธรรมเสมอ

คำสอนเยี่ยงนี้ สามารถยกระดับความเป็นคนให้เป็นมนุษย์เรืองปัญญาหรือไม่

ลองนำทฤษฎีซาตานเหล่านี้มาหลอมรวมให้เป็นคำสอนชุดเดียวกัน และนำไปประยุกต์ใช้กับบุคคล ครอบครัวหรือสังคมอันเดียวกัน ถามว่า โลกนี้จะเกิดอะไรขึ้น

ที่น่าสนใจคือเจ้าของทฤษฎีลวงโลกเหล่านี้หากไม่ใช่เป็นยิวแท้ๆ ก็เป็นเด็กในคาถายิว

ยิวจึงเป็นซาตานในคราบมนุษย์ ที่พระองค์ทรงโกรธกริ้วและสาปแช่ง

เพราะนอกจากขีดขวาง กีดกั้นนโยบายและเป้าประสงค์ของอัลลอฮ์แล้ว ยังหลอกล่อมวลมนุษย์ให้คล้อยตามความจอมปลอมของมันอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่อัลลอฮ์สอนให้ศรัทธาชนปฏิเสธแนวทางของผู้ที่ถูกโกรธกริ้วจำนวน อย่างน้อย 17 ครั้งต่อวัน

รึว่าเรากำลังคล้อยตามวิถีซาตาน


โดย Mazlan Muhammad

หนุ่มจากนราธิวาส ล่ามสองผู้นำครั้งประวัติศาสตร์

นายหุเซ็น แวนาแว หนุ่มจากตำบลมะนังตายอ อำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาส บัณฑิตอักษรศาสตร์(อาหรับ) จากมหาวิทยาลัยอิสลามอิมามมุฮัมมัดบินซะอูด นครริยาด ศิษย์เก่าโรงเรียนสุกัญศาสน์วิทยา อ. เมือง จ. นราธิวาส และม.ปลายจากโรงเรียนบำรุงอิสลาม (ปอเนาะบราโอ) อ. เมือง จ. ปัตตานี ได้รับหน้าที่ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อมีโอกาสเป็นล่ามให้แก่สองผู้นำไทย-ซาอุฯ ในคราวพบปะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่รอคอยมานานกว่า 30 ปี

หุเซ็นได้รับหน้าที่เป็นล่ามสานสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสองผู้นำของทั้งสองประเทศที่กรุงริยาด เมื่อ 25 มกราคม 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปีที่ผู้นำทั้งสองประเทศพบปะแลกเปลี่ยนข้อตกลงร่วมกัน หลังจากทั้งสองประเทศได้ลดความสัมพันธ์ระดับต่ำสุดในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

การพบปะของผู้นำทั้งสองประเทศ ถือเป็นความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติอย่างสมบูรณ์ นับตั้งแต่วันนี้สืบไป และถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน โดยมีหนุ่มจากนราธิวาสเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ แต่สำคัญคอยถ่ายทอดภาษาให้ผู้นำทั้งสองท่าน จนได้รับเสียงชื่นชมจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ซาอุดิอาระเบียในขณะนี้ 

‎جزاه الله خيرا


โดย Mazlan Muhammad

วิถีมุสลิม วิถีชีวิต

ในมุสลิมคนเดียวกัน เป็นได้ทั้งนักพรต นักธุรกิจ นักบริหาร นักปกครอง หัวหน้าครอบครัว นักรบ นักเผยแผ่ศาสนา นักการเมือง ผู้นำองค์กร แม้กระทั่งผู้นำประเทศ 

มุสลิมจึงเป็นคนที่สามารถครองตน ครองคน ครองงาน ครองเรือนและครองธรรมในตัวคนเดียวกัน ความเป็นมุสลิมจึงสามารถบูรณาการสีสันชีวิตเหล่านี้ให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างผสมผสานจนแยกไม่ออก เหมือนสายน้ำฝนที่ตกลงจากฟากฟ้า ที่ไม่สามารถแยกแยะว่าเม็ดไหนที่ให้ประโยชน์มากกว่ากัน เพราะในทุกอิริยาบถและสถานะของมุสลิม เขาจะต้องศิโรราบกับพระเจ้าองค์เดียวกัน มีต้นแบบจากนบีคนเดียวกัน และมีหลักปฏิบัติและบทสวดทางศาสนธรรมที่ต้องยึดถือกับเนื้อหาสาระฉบับเดียวกัน

มุสลิมจึงเป็นนักพรตยามค่ำคืน และอัศวินในกลางวันได้อย่างไม่เคอะเขินและปิดบัง เขาสามารถร่วมหลับนอนเสพสุขกับภรรยา แล้วตื่นขึ้นมาขอสารภาพผิดต่ออัลลอฮ์จากความผิดพลาดและความเผลอเรอของเขาด้วยหัวใจที่สำรวมและยำเกรง หลังจากชำระร่างกายอย่างถูกต้อง เพราะอิสลามถือว่า อารมณ์กิเลสเป็นสิ่งที่ถูกประดับประดามาควบคู่กับมนุษย์มาแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ย่อมตัดกิเลสไม่พ้น ไม่ว่ากิเลสทางอารมณ์ใคร่ กิเลสในการครอบครองทรัพย์สิน กิเลสในการมีลูกหลานและเหล่าบริวาร กิเลสในอำนาจลาภยศ เป็นต้น ดังนั้นอิสลามจึงไม่มีคำสอนที่ให้มนุษย์ดับกิเลส หรือสอนให้ปล่อยวางกับสิ่งเย้ายวนเหล่านั้น แต่อิสลามเสนอคำสอนให้มีการควบคุมกิเลสพร้อมสอนให้จับต้องสิ่งเหล่านี้อย่างมีสติและไม่ติดยึด พร้อมกำหนดพื้นที่และขอบเขตให้เล่นตามกติกาที่ได้วางไว้ มุสลิมจึงสามารถแต่งงานมีภรรยาได้ถึง 4 คนหากมีเงื่อนไขเพียบพร้อม สามารถเก็บออมและเป็นเจ้าของธุรกิจพันล้านและทรัพย์สินอันมากมาย ตราบใดที่อยู่ในครรลองคลองธรรม สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำสังคมแม้กระทั่งผู้นำประเทศ ตราบใดมีคุณสมบัติอันพึงประสงค์และปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ

มุสลิมจึงไม่มีด้านมืดและด้านสว่าง ด้านที่ปกปิดและด้านที่เปิดเผยในเวลาเดียวกัน  เขาจึงไม่มีอะไรจะปิดบัง เพราะเขามั่นใจว่า วันหนึ่งเขาจะต้องผ่านการตรวจสอบจากพระองค์อัลลอฮ์ ผู้ทรงรอบรู้เท่านั้น

มุสลิมจึงไม่มีอาการเก็บกดหรือเกิดอาการปฏิกิริยาโต้กลับ ประหนึ่งกลับจากเป็นผู้ทรงศีลที่ตบะแตก เนื่องจากทนกับสิ่งเย้ายวนไม่ไหว เพราะกิจวัตรประจำวันของมุสลิมคือวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ที่มีทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ความต้องการและจิตวิญญาณ โดยที่อิสลามได้ให้คำสอนที่สามารถตอบสนองความเป็นมนุษย์ได้อย่างครบครันและสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ใช่ไปเน้นส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วละเลยอีกส่วนหนึ่ง 

ทั้งหลายทั้งปวง เนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาของอัลลอฮ์ ผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง ดังนั้นพระองค์เท่านั้นที่ทรงรอบรู้ความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ และพระองค์ทรงรอบรู้ว่า คำสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้นจะต้องเป็นคำสอนอย่างไร 

“แท้จริง ศาสนา ณ อัลลอฮ์คืออิสลาม”


โดย Mazlan Muhammad

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนจบ]

หลักสิทธิมนุษยชนในอิสลาม

อัลกุรอาน คือ ธรรมนูญสำหรับมนุษยชาติ ประเด็นหลักที่บรรจุใน  อัลกุรอานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ เช่น อัลกุรอานได้เรียกร้องมนุษย์ว่า يا أيها الناس (โอ้ มวลมนุษยชาติทั้งหลาย) โดยที่คำนี้จะถูกเรียกซ้ำในอัลกุรอาน ถึง 28 ครั้ง ในขณะที่คำว่า الناس (มนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอานถึง 280 ครั้ง ส่วนคำว่า إنسان (คำเอกพจน์ของมนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอาน 63 ครั้ง และคำว่า بني آدم(ลูกหลานอาดัม) ปรากฏใน           อัลกุรอานถึง 7 ครั้ง และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอัลกุรอานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด จะสังเกตได้จากโองการแรกที่ถูกประทานแก่นบีมูฮัมมัดที่ได้กล่าวซ้ำคำว่า มนุษย์ ถึง 2 ครั้งทีเดียว ในขณะที่ซูเราะฮ์ลำดับสุดท้ายในอัลกุรอานคือซูเราะฮ์ الناس  (อันนาส)  ซึ่งหมายถึงมนุษย์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เนื้อหาโดยรวมในอัลกุรอานเป็นการเชิญชวนและเรียกร้องมนุษย์ให้รู้จักรากเหง้าและต้นกำเนิดอันแท้จริงของตน รับทราบคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย เชิญชวนมนุษย์ให้มีความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอยู่บนโลกนี้ ชี้แนะให้รู้จักและยึดมั่นบนเส้นทางการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งให้รำลึกถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตสู่ความสุขอันนิรันดร์ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งมนุษชาติโดยแท้จริง

มนุษย์คือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร มาอยู่ในโลกนี้เพื่อเป้าหมายอันใดและอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ? 

         มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งมีเกียรติยิ่งกว่าสัตว์โลกอื่น ๆทั้งหลายที่อัลลอฮ์ทรงสร้างในรูปลักษณ์อันสมบูรณ์มาตั้งแต่เดิม (มิใช่อาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการ) มีสรีระร่างกาย ใบหน้า หูตา จมูก และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมและสวยงามยิ่ง

         มนุษย์คนแรกที่ถูกบังเกิดขึ้น หลังจากจักรวาลนี้ถูกสร้างขึ้นมาคืออาดัม ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่านระบุว่าท่านถูกสร้างมาจากดินเหนียว อาดัมได้ใช้ชีวิตครั้งแรกอยู่ในสวรรค์เพียงลำพัง ต่อมาอัลลอฮ์ก็สร้างมนุษย์คนที่สองเป็นเพศหญิงคือ “เฮาวาอ์” ซึ่งพระองค์ทรงสร้างนางมาจากกระดูกซี่โครงของอาดัมซึ่งเป็นอวัยวะที่มีลักษณะโค้งงอและอยู่ใกล้กับหัวใจที่สุดเพื่อเป็นคู่ครองของเขา ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

อัลกุรอานระบุว่ามนุษย์ถูกสร้างและใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ เพื่อรับการทดสอบจากพระเจ้าในบทบาทของบ่าวที่พึงแสดงการเชื่อฟังและเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียวตลอดการดำเนินชีวิต โดยไม่ทรยศและยึดสิ่งอื่นใดมาเป็นภาคีกับพระองค์

หลังจากที่มนุษย์เสียชีวิตไปแล้วแต่ละคนจะถูกนำกลับสู่พระเจ้าและฟื้นคืนชีพอีกครั้งในปรโลกเพื่อทำการพิพากษาและตอบแทนในผลงานความดี ความชั่วทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เคยกระทำไว้ขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลก หากผู้ใดเชื่อฟังอัลลอฮ์และทำความดีใด ๆ ไว้แม้จะน้อยนิดเพียงธุลีดินเขาก็จะได้เห็นมันและได้รับการตอบแทนตามนั้น และหากผู้ใดทรยศต่ออัลลอฮ์และกระทำความชั่วใด ๆ ไว้แม้จะน้อยนิดเพียงธุลีดินเขาก็จะได้เห็นมันและได้รับการตอบแทนตามนั้นเช่นกัน คนดีจะได้พำนักอย่างมีความสุขในสวนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ อันสถาพร ส่วนคนชั่วก็จะถูกลงโทษอย่างสาสมในนรกขุมต่าง ๆ ตามผลกรรมที่ก่อไว้…

อิสลามให้เกียรติและยกย่องมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมที่สุด มนุษย์จึงถูกแบกภาระให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าในการจรรโลงและพัฒนาโลกนี้ให้ถูกต้องตามครรลองและสอดคล้องกับสัญชาตญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ ขณะเดียวกันอัลลอฮ์ได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

อัลลอฮ์ได้กำหนดบทบัญญัติให้มนุษย์ยึดปฏิบัติเป็นวิถีดำเนินชีวิต บทบัญญัติและคำสอนของอิสลามล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ทั้ง 5 ประการ นั่นคือ การคุ้มครองศาสนา ชีวิต สติปัญญา สายตระกูลหรือศักดิ์ศรี และทรัพย์สิน

ดังนั้น สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักความเชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเพื่อนร่วมโลก ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม โดยไม่มีการจำกัดด้านสัญชาติ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม 

สิทธิมนุษยชนในอิสลาม คือพฤติกรรมที่เป็นข้อเท็จจริงที่คงอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์และพร้อมแสดงออกมาในภาคปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรับคำบัญชาของอัลลอฮ์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมายหรือข้อตกลงทางสังคมบังคับใช้

ในฮัจญ์อำลา นบีมูฮัมมัด พร้อมด้วยบรรดาเศาะฮาบะฮ์กว่า 100,000 คนได้พร้อมกันประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮ์ ท่าน ได้กล่าวเทศนาธรรมอำลา เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของอิสลามที่ครอบคลุมหลักพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การยอมรับสิทธิส่วนบุคคล การใช้ชีวิตในครอบครัว ฐานะของสตรีในอิสลามและบทบาทของนางต่อการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข หลักการยึดมั่นในอัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิต เลือด ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของเทศนาธรรมความว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเลือด ทรัพย์สมบัติและศักดิ์ศรีของท่านจะได้รับการปกป้องและห้ามมิให้เกิดการล่วงละเมิด จนกว่าท่านทั้งหลายจะกลับไปสู่พระเจ้าของท่าน เฉกเช่นกับการห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดในวันนี้ เดือนนี้และสถานที่แห่งนี้”

หลักการปฏิสัมพันธ์กับคนต่างศาสนิกในอิสลาม

          อิสลามคือศาสนาแห่งความเมตตา ศาสนาแห่งสันติภาพ อิสลามได้สอนมารยาทต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติต่อตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนมนุษย์ทุกคน ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

ในคัมภีร์อัลกุรอ่านมีคำสั่งใช้มากมายที่สั่งให้บรรดามุสลิมทำความดีแก่คนต่างศาสนิก อาทิคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

“อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าทำดีต่อชนต่างศาสนิกที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และไม่ได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนและถิ่นที่พำนัก และอัลลอฮฺสั่งให้พวกเจ้ามีความยุติธรรมต่อพวกเขา เพราะอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม”

หมายความว่า อัลลอฮฺไม่ได้ห้ามชาวมุสลิมทำความดีกับคนต่าง    ศาสนิกที่อาศัยอยู่ร่วมกับพวกเขา ตราบใดที่ชนต่างศาสนิกเหล่านั้นไม่ทำตัวเป็นศัตรูกับอิสลามและชาวมุสลิม ไม่ได้รุกรานหรือทำลายศาสนาอิสลามและไม่ได้ทำร้ายชาวมุสลิม  และอัลลอฮฺสั่งให้ชาวมสุลิมมีความยุติธรรมแก่ชนต่างศาสนิก โดยเฉพาะหากพวกเขาเหล่านั้นเป็นเครือญาติของพวกเขา

ท่านนบีมูฮัมมัดได้อาศัยร่วมกับชาวยิวที่เมืองมาดีนะห์ ท่านได้ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความอ่อนโยน และให้เกียรติ ไม่เคยบังคับพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม หนึ่งในนั้นคือเด็กชายชาวยิวคนหนึ่งที่คอยรับใช้ท่านนบี ในบางกิจการ แต่ทว่าท่านนบีกลับให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพวกเขา ตราบใดที่พวกเขาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม รัฐอิสลามก็จำเป็นต้องปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติของทุกคนไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ให้ความยุติธรรมแก่พวกเขาในคดีความต่าง ๆ ที่มีการพิพาทระหว่างพวกเขากับชาวมุสลิม 

คำสอนของอิสลามล้วนเป็นคำสอนที่วางอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมทุกสีผิว ทุกภาษา และทุกศาสนา ขณะเดียวกันอิสลามได้ห้ามด่าทอ ดูถูก และเหยียดหยามศาสนาผู้อื่น รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขากราบไหว้บูชา และถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดโดยปราศจากความรู้ เพราะการกระทำดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเป็นศัตรู และบั่นทอนความสงบสุข และความปรองดองของสังคม

หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งที่อิสลามได้กำหนดไว้สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือ ความสงบสุข ความศานติ และความมั่นคง ในชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน และสังคม ดังนั้น ความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมกับต่างศาสนิก ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคล ระดับสังคม หรือระดับประเทศล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ในรูปของการทำความรู้จัก การมีไมตรีต่อกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การเผยแผ่ความดี ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในรูปของการเป็นศัตรู การต่อสู้ และทำลายล้างกัน

หากผู้ใดได้พิจารณาคำสอนอิสลามอย่างไตร่ตรอง ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าพื้นฐานแห่งคำสอนอิสลาม คือการเชิญชวนมวลมนุษยชาติสู่การสร้างความผาสุก และสันติภาพที่แท้จริงบนโลกนี้และโลกหน้า ในโลกนี้คือความสงบสันติและความมั่นคงในชีวิต และในโลกหน้าคือความผาสุกในสวนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่พำนักที่มีแต่ความสันติอันถาวร

อัลกุรอานได้เชิญชวนมนุษย์ทุกคนสู่การตอบรับอิสลาม อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ และเป็นหนทางสู่การสร้างสันติภาพร่วมกันทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แต่ด้วยประสงค์แห่งองค์อภิบาล เราพบว่ามีมนุษย์บางส่วนได้ปฏิเสธคำเชิญชวนนี้ และไม่ยอมรับหลักการร่วมมือเพื่อให้เกิดสันติภาพแห่งอิสลามที่ครอบคลุมทั้งสองโลก กระนั้นก็ตาม อิสลามก็ยังเชิญชวนผู้ที่ไม่ได้เลื่อมใสและยอมรับอิสลามสู่การทำความรู้จัก การสร้างมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนคุณประโยชน์แห่งความดีงาม และการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงในชีวิต และความสงบสุขในสังคม

อิสลามได้วางเงื่อนไขของการให้ความช่วยเหลือว่า ต้องวางบนหลักของการทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจและการยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งสองหลักนี้เป็นจุดรวมของความดีงามและสันติภาพสำหรับมวลมนุษย์ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ในขณะที่การช่วยเหลือกันในการกระทำความผิดและการละเมิดเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม เพราะทั้งสองประการคือมูลเหตุแห่งความชั่วร้ายและหายนะที่นำไปสู่การแตกแยก การจุดไฟแห่งการปะทะ และสงครามที่บ่อนทำลายสันติภาพและความสงบสุขของมนุษยชาติ

จากที่กล่าวมา จึงสรุปได้ว่า พื้นฐานเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับต่างศาสนิก คือสันติภาพ  ส่วนสงครามและการต่อสู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากการรุกรานและละเมิดของผู้อื่นต่อพวกเขาและศาสนาของพวกเขา

ในประวัติศาสตร์อิสลาม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลามมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลามอันยาวนานว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้ชาวยิว ชาวคริสต์ หรือคนอื่น ๆ ให้หันมานับถืออิสลาม ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ยอมรับกัน แม้แต่ในหมู่ศาสนิกอื่น อาทิเช่น โธมัส อาร์โนลด์ นักบูรพาคดีชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่ได้กล่าวว่า “เราไม่เคยได้ยินว่ามีความพยายามใด ๆ ที่เป็นแผนการเพื่อใช้บังคับผู้อื่นที่ไม่ใช่มุสลิมให้ยอมรับอิสลาม หรือว่ามีการบังคับข่มขู่โดยมีจุดหมายเพื่อกำจัดศาสนานั้น ๆ” 

สถานภาพของสตรีในอิสลาม

อัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิงโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้ ทําหน้าที่เป็นบ่าวที่ดี ดังนั้นทั้งผู้ชายและผู้หญิงจำเป็นต้องเกื้อกูลและอุดหนุนระหว่างกันเพื่อทําหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้สมบูรณ์ที่สุด หากปราศจากหรือปฏิเสธเพศใดเพศหนึ่ง มนุษย์ก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวของอัลลอฮฺได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ถ้าเราสังเกตถึงสภาพของสตรีในสังคมอาหรับยุคอนารยชนอันงมงายเราจะพบว่าสตรีจะถูกปฏิบัติอย่างไร้ซึ่งศีลธรรม สตรีถูกอธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ บางสังคมถึงกับฝังบุตรสาวทั้งเป็นทันทีที่นางถูกคลอดออกมา เพียงเพราะกลัวว่าพวกนางจะสร้างความอับยศต่อวงศ์ตระกูล ในขณะที่บางสังคมปล่อยให้พวกเธอมีชีวิตอย่างต่ำต้อยไร้เกียรติไม่ต่างอะไรกับทาส

สตรีในยุคอนารยชนจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการสืบทอดมรดกยิ่งกว่านั้น สังคมในสมัยนั้นยังกำหนดให้นางเป็นส่วนหนึ่งจากกองมรดกที่ได้รับการสืบทอดสู่ทายาทเจ้าของมรดกหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว

หลังจากอิสลามได้รับการเผยแผ่ อิสลามก็มีบัญญัติยกเลิกการเอารัดเอาเปรียบต่อสตรีเพศในทุกมิติ พร้อมกับคืนสิทธิที่พวกนางควรจะได้รับอย่างครบถ้วน ทั้งยังกำหนดให้พวกนางได้รับผลตอบแทนและสิทธิต่าง ๆ อย่างยุติธรรมที่สุด ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ได้ประกอบคุณงามความดีไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง หากเขาเป็นผู้ศรัทธา อัลลอฮฺก็จะประทานชีวิตที่ดีแก่เขา และจะประทานผลตอบแทนที่ดียิ่งจากการปฏิบัติของพวกเขา อัลลอฮฺจะไม่ทำให้การงานของคนใดสูญหาย  ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง

อิสลามไม่ได้มองว่าสตรีคือทรัพย์มรดก ดังที่เป็นประเพณีปฏิบัติของกลุ่มชนในยุคอนารยชน  ขณะเดียวกัน อิสลามได้ยกระดับพวกนางด้วยการมอบสิทธิ เสรีภาพและอิสรภาพ และได้กำหนดสัดส่วนสิทธิอันพึงได้รับจากมรดกแก่พวกนาง 

จะอย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอคติต่อศาสนาอิสลามได้กล่าวโทษให้ร้ายต่ออิสลามว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เอารัดเอาเปรียบต่อเหล่าสตรี บังคับให้นางอยู่แต่ในบ้าน และกีดกันอิสรภาพของพวกนาง นำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาควบคุมพวกนาง เป็นต้น

ซึ่งความจริงแล้ว การที่เหล่าสตรีไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านและคอยทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาที่ดี เป็นแม่บ้านแม่เรือน และคอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนบุตรนับเป็นภารกิจและหน้าอันมีเกียรติที่นางได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้ปฏิบัติ ในขณะที่ผู้ชายก็ต้องทำหน้าที่ออกจากบ้านไปหาปัจจัยเลี้ยงชีพมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งเท่ากับเป็นประสานความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายชายผู้เป็นบิดากับฝ่ายหญิงผู้เป็นมารดาในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณธรรมออกสู่สังคมโลก

ดังนั้นการที่อิสลามกำหนดให้เพศชายเป็นผู้คอยดูแล ปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรี และกำหนดให้นางทำหน้าที่ในฐานะแม่ศรีเรือนจึงไม่เข้าข่ายการกีดกันอิสรภาพของพวกนาง เพราะโดยธรรมชาติแล้วผู้ชายมีความเข้มแข็ง มีพละกำลัง และความกล้าหาญ และมีความเป็นผู้นำมากกว่าสตรี 

ในฐานะที่สตรีเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม นางจึงเป็นส่วนสําคัญยิ่งต่อการพัฒนาและรังสรรค์สังคมสันติสุขให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ 

การที่อิสลามกำหนดให้สตรีพำนักอยู่ในบ้านและมอบหมายให้นางแบกรับภาระและทำหน้าที่หน้าที่เลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนลูก ไม่ได้หมายความว่านางถูกลิดรอนสิทธิ อิสรภาพ และสกัดกั้นมิให้พวกนางออกทำหน้าที่นอกบ้านโดยปริยาย  และห้ามไม่ให้พวกนางมีบทบาทด้านประชาสังคม และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระแสความเปลี่ยนแปลง โลกปัจจุบันที่สังคมกําลังต้องการสตรีที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนกิจการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมสงเคราะห์และกิจกรรมบําเพ็ญประโยชน์ที่เหมาะสม ตราบใดที่พวกนางสามารถทำหน้าที่หลักของพวกนางได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง


โดยทีมวิชาการ

แผนทำลายอารยธรรม ที่ผู้ทำลายอาจเป็น “เรา”

ชาวจีนในอดีต ได้สร้างกำแพงเมืองจีน ซึ่งถือเป็นปราการฝีมือมนุษย์ที่กลายเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลางเพื่อป้องกันการรุกรานจากอริราชศัตรู แต่หลังเวลาผ่านไปร้อยปี จีนโดนบุกโจมตีจากกำแพงหมื่นลี้นี้อย่างน้อย 3 ครั้ง 

ศัตรูไม่มีทางบุกฝ่ากำแพงอันแข็งแกร่งได้ แต่พวกเขาใช้วิธีติดสินบนยามรักษาการณ์ เป็นใบเบิกทาง

พวกเขาสร้างกำแพงได้ แต่ลืมสร้างมนุษย์ที่จะมาปกป้องกำแพง

ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา

กล่าวกันว่า หากต้องการทำลายอารยธรรมชนชาติใด ให้ปฏิบัติ 3 ประการนี้

1. ทำลายสถาบันครอบครัว

2. ทำลายสถาบันการศึกษา

3. ทำลายแบบอย่างหรือสัญลักษณ์ความภาคภูมิใจ

มาตรการทำลายสถาบันครอบครัวที่มีผลมากที่สุดคือทำลายบทบาทของแม่ และให้แม่ทุกคน มีความละอายที่ถูกเรียกว่า “แม่บ้าน”

มาตรการทำลายสถาบันการศึกษาคือลดบทบาทของความเป็นครู และให้ครูเป็นอาชีพไร้เกียรติแม้กระทั่งในสายตาของลูกศิษย์ก็ตาม

มาตรการทำลายแบบอย่างหรือสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ ด้วยการทำลายเกียรติภูมิของผู้รู้ โจมตีใส่ไคล้ผู้นำทุกวงการ ทั้งด้านศาสนา การเมือง นักคิด นักฟื้นฟู  นักเผยแผ่และอื่น ๆ ให้เป็นบุคคลล้มละลายทางประวัติศาสตร์ จนกระทั่งพวกเขาเป็นประชาชาติที่ไร้ต้นแบบและขาดแคลนผู้นำทางจิตวิญญาณที่แท้จริง พร้อม ๆ กับสร้างผู้นำจอมปลอมเป็นการทดแทน

หากสังคมไร้ “มารดาผู้ห่วงใย” “คุณครูผู้เมตตา” และ “แบบอย่างที่ดี” แล้วใครเล่าจะคอยอบรมสั่งสอนลูกหลานของเรา

เรียบเรียงจาก

كتاب قراءة المستقبل

الدكتور مصطفى محمود


โดย Mazlan Muhammad

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 5]

ศาสนทูตมูฮัมมัดคือใคร

ท่านมีนามว่า นบีมูฮัมมัด บินอับดุลลอฮ์ มีเชื้อสายสืบไปถึงนบี    อิสมาอีล บุตรชายของนบีอิบรอฮีม ลูกหลานของนบีอิสมาอีล ไม่มีใครได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี จนเวลาล่วงเลยกว่า 2,500 ปี ผิดกับนบีอิสห้าก ลูกชายอีกคนของนบีอิบรอฮีม ซึ่งลูกหลานของท่านในแต่ละรุ่น ได้รับการแต่งตั้งเป็นนบีและรอซูล หนึ่งในนี้คือนบีดาวูด นบีสุไลมาน นบีมูซาและนบีอีซา

ท่านรอซูลเกิดในวันจันทร์ เดือนรอบีอุ้ลเอาวัล (เดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม) ปีช้าง ปีที่ท่านนบีเกิด เป็นปีที่เรียกว่า ปีช้าง เพราะว่าอับรอหะฮ์ ทหารเอกของประเทศเอธิโอเปีย ได้ยกกองทัพทหารอันเกรียงไกรเพื่อทำลายกะอฺบะห์ แต่ขณะที่เขาได้เข้าใกล้อัลกะอฺบะฮ์ อัลลอฮ์ได้ส่งนกที่เท้าของมันมีหินก้อนเล็ก ๆ ถล่มจนกระทั่งทหารล้มตายทั้งกองทัพ รวมทั้งอับรอหะฮ์   จอมอหังการ

         บิดาของท่านเสียชีวิต ขณะที่อามีนะฮ์ตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 เดือน และเมื่อมูฮัมมัดมีอายุประมาณ 6 ขวบ มารดาของท่านได้เสียชีวิต ท่านจึงอยู่ในอุปการะของปู่ของท่านชื่ออับดุลมุฏฏอลิบเป็นเวลานาน 2 ปี จนกระทั่งปู่ของท่านเสียชีวิต ลุงของท่านชื่ออะบูฏอลิบ ให้อุปการะแทน 

ขณะที่ท่านนบีอายุ 20 ปี ท่านทำการค้าขาย จนเป็นที่รู้จักในเรื่องความสัจจริง ท่านหญิงคอดียะห์ได้ยินเรื่องดังกล่าว ดังนั้นนางจึงได้เสนอตัวต่อท่าน นบีที่จะให้ท่านนบีเข้ามาในการค้าขายของนาง ท่านรอซูลตกลง ทำให้นาง      คอดียะฮ์ประทับใจในบุคลิกของนบี จึงเสนอตัวรับนบีเป็นสามี ท่านแต่งงานกับนางคอดียะฮ์ขณะอายุ 25 ปี ในขณะที่นางคอดียะฮ์ซึ่งเป็นหญิงหม้ายมีอายุ 40 ปี จากการแต่งงานนี้ทั้งสองได้ให้กำเนิดลูกชาย 2 คน คือกอซิมและอับดุลลอฮ์ ลูกสาว 4 คนคือ ซัยนับ รุก็อยยะฮ์ อุมมิกัลซูมและฟาฏิมะฮ์ ส่วนลูกชายอีกคนชื่ออิบรอฮีม เกิดจากภรรยาชื่อ มารียะฮ์จากอิยิปต์

ท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับวะฮ์ยู (วะฮียฺ) คือ การติดต่อสื่อสารจากอัลลอฮ์ โดยผ่านสื่อคือเทวทูตญิบรีล และยังไม่มีบัญชาให้ออกเผยแพร่ ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า อิกเราะอ์ ที่มีความหมายว่า “เจ้าจงอ่านเถิด”

หลังจากนั้น อัลลอฮ์ทรงมีบัญชาให้ท่านศาสดามูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ประกาศอิสลามอย่างลับ ๆ ก่อน คือ ประกาศแก่ญาติผู้ใกล้ชิดและผู้หญิงคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม คือ ท่านหญิงคอดีญะฮ์ ภรรยาของท่าน ส่วนชายหนุ่มคนแรกที่รับอิสลาม คือ ท่านอบูบักร์และเยาวชนคนแรกที่รับอิสลาม คือ ท่านอาลี ทาสคนแรก คือ ท่านเซด บุตรฮาริซะฮ์ และต่อมาได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ การประกาศอิสลามอย่างลับ ๆ ได้กระทำมาเป็นเวลา 3  ปี จนกระทั่งนบีได้รับคำสั่งจากอัลลอฮ์ให้ประกาศอิสลามอย่างเปิดเผย ทำให้ชาวมักกะฮ์ ซึ่งส่วนใหญ่บูชาเจว็ดและติดยึดกับประเพณีของปู่ย่าตายายได้ลุกขึ้นต่อต้านทุกรูปแบบ นบีจึงสั่งให้ชาวมุสลิมอพยพลี้ภัยไปยังอะบิสสิเนีย (เอธิโอเปีย) โดยเฉพาะหลังการเสียชีวิตของนางคอดีญะฮ์และอบูฏอลิบในปีที่ 10 ของการเป็นนบี ซึ่งทั้งสองเป็นผู้สนับสนุนและให้การคุ้มครองหลักของนบี ทำให้ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก มีบางราย โดนทรมานถึงเสียชีวิต นบีจึงวางแผนอพยพครั้งใหญ่ไปยังเมืองมะดีนะฮ์ เนื่องจากชาวมะดีนะฮ์จำนวนหนึ่งได้ให้คำสัตยาบันให้ความคุ้มครองท่าน เหมือนพวกเขาคุ้มครองสมาชิกในครอบครัว นบีจึงสั่งให้ชาวมุสลิมที่อยู่มักกะฮ์อพยพไปยังมะดีนะฮ์ โดยพวกเขาเสียสละยอมละทิ้งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สิน เงินทอง แม้กระทั่งคนรัก เพื่อไปปักหลักที่เมืองมะดีนะฮ์ โดยมีนบีและอบูบักร์เป็นคณะสุดท้ายที่ไปถึงเมือง    มะดีนะฮ์ ท่ามกลางการต้อนรับอย่างดีใจสุดชีวิตของชาวมุสลิมที่มะดีนะฮ์ 

ณ เมืองมะดีนะฮฺ นบีได้สร้างเมืองใหม่ด้วยการจัดระเบียบทั้งระบบการปกครอง การบริหารบ้านเมือง การฟื้นฟูและการเยียวยา การป้องกันประเทศ การพัฒนาสังคมในทุกมิติทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมสงเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนกลายเป็นสังคมต้นแบบของมนุษยชาติ โดยใช้คำสอนแห่งพระเจ้าแห่งสากลจักรวาล “และเรามิได้ส่งเจ้า โอ้มูฮัมมัดเป็นการอื่นใด เว้นแต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเมตตาแห่งสากลจักรวาล” (อัลอันบิยาอฺ / 107)

นบีมูฮัมมัดเสียชีวิตขณะอายุ 63 ปี หลังจากประกาศอิสลามที่มักกะฮ์ 13 ปี และที่มะดีนะฮ์ 10 ปี ท่านเสียชีวิตและถูกฝังที่บ้านของนางอาอิชะฮ์ติดกับมัสยิดนบี และต่อมาสหายคนสนิทของท่าน 2 คนคืออบูบักร์และอุมัร์ก็ถูกฝังศพ ณ บริเวณนี้เช่นกัน 

อัตชีวประวัติของนบีมูฮัมมัด ได้รับการบันทึกอย่างละเอียดที่สุดเหมือนจดหมายเหตุรายวัน โดยเฉพาะช่วงเวลา 13 ปีที่ท่านประกาศอิสลามที่มักกะฮ์ และ 10 ปีที่ท่านสร้างรัฐอิสลามที่มะดีนะฮ์ กล่าวได้ว่าทุกเหตุการณ์สำคัญ ทุกสถานที่และสภาพแวดล้อม ทุกอิริยาบถและกิจวัตรรายวัน แม้กระทั่งคำพูดของท่าน ได้รับการถ่ายทอดจากบรรดาเศาะฮาบะฮ์อย่างละเอียด มีระบบการบันทึกอย่างพิถีพิถันและรอบคอบ มีระบบการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวอย่างเข้มงวด จนสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่มนุษยชาติต่อไป

อัลกุรอานคืออะไร

อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่มนุษย์จะต้องยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ตราบถึงวันอวสานของโลกนี้ เป็นคัมภีร์ฉบับสุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่นบีมูฮัมมัด เพื่อเป็นทางนำแก่มนุษยชาติ จึงเป็นคัมภีร์ที่สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาสาระและรูปแบบการใช้ภาษา อัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความไพเราะ ในการออกเสียง และภาษาที่ใช้ความหมายอันลึกซึ้ง ถ้อยคำ เท่าที่ถ่ายทอดมาจากท่านศาสดามูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อ 1,400 ปีกว่า ยังได้รับการรักษาไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อักษรเดียว

มุสลิมทั้งโลกจะอ่านอัลกุรอานในพิธีละหมาด ในวาระอันต้องการความดีและอ่านเพื่อนำความหมายมาปฏิบัติอัลกุรอานเป็นธรรมนูญสูงสุด ความประพฤติอันถูกต้องจะต้องสืบหรือปรับเข้าหาอัลกุรอาน กฎหมายอิสลามจะต้องยึดถืออัลกุรอานเป็นหลักในด้านนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายอันแย้งต่อบัญญัติของอัลกุรอานไม่ได้อย่างเด็ดขาด

อัลกุรอานถูกประทานลงมาครั้งแรก ณ ถ้ำฮิรออ์ ที่นครมักกะฮ์ เมื่อ นบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีอายุ 40 ปี โองการที่ถูกประทานลงมานั้น จะทยอยกันลงมาตามแต่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์และมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโองการดังกล่าว ระยะเวลาการประทานตามโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่โองการแรกจนถึงโองการสุดท้ายนานถึง 23 ปี เมื่อได้รับโองการแล้ว ท่านศาสดาก็จะนำมาประกาศแก่ผู้อื่น แล้วทุกคนก็จะท่องจำจนขึ้นใจ มีการทบทวนกันอยู่เสมอ และมีการบันทึกลงบนหนังสัตว์แห้งบ้าง บนกาบอินทผาลัมบ้าง บนแผ่นหินบ้าง ต่อมาในสมัยปกครองของท่านอบูบักร์ เคาะลีฟะฮ์ท่านแรก ท่านได้ดำริให้มีการจัดรวบรวมขึ้นเป็นเล่มจากส่วนที่กระจัดกระจายกันในบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ จากนั้นในสมัยการปกครองของท่านอุสมาน บิน อัฟฟาน เคาะลีฟะห์ท่านที่ 3 ได้สั่งให้มีการรวบรวมและปรับปรุงในด้านการเขียน มีจำนวนถึง 6 เล่ม และส่งไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อให้อ่านเป็นสำนวนเดียวกัน และป้องกันการปลอมแปลงอันอาจจะเกิดขึ้นได้

อัลกุรอาน ถือเป็นหนังสือที่มีคนอ่านและศึกษาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในโลก สอดคล้องกับชื่อ อัลกุรอาน ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งถูกอ่านเป็นประจำมากที่สุด อัลกุรอานยังท้าทายมนุษย์และอมนุษย์ หากยังมีความสงสัยหรือคลางแคลงใจว่า มันมาจากพระเจ้าแห่งสากลจักรวาลหรือไม่ ก็ให้แต่งเนื้อหาที่มีคุณภาพเหมือนกับอัลกุรอาน ทั้งด้านภาษา เนื้อหา และอื่น ๆ ซึ่งยังไม่มีใครรับคำท้านี้ อัลกุรอานถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครทำได้เสมอเหมือน และจะยังคงอยู่ในสภาพนี้จวบจนโลกอวสาน

อัลกุรอานไม่ใช่เป็นตำราทางประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมนุษย์จะถูกบันทึกในนั้น อัลกุรอานไม่ใช่หนังสือเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง การบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน จริยศาสตร์ หรือโลกอันเร้นลับ แต่ทุกศาสตร์ดังกล่าว ได้รับการพูดถึงในอัลกุรอานอย่างชัดเจนและถูกต้องที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น อัลกุรอานเปรียบเสมือนสายเชือกของอัลลอฮ์ ที่ต้องการให้มนุษย์ถือมั่นกับสายเชือกเส้นนี้ จนกว่าจะนำพาเขาสู่สวรรค์ของพระองค์

ซุนนะฮ์คืออะไร

ซุนนะฮ์แปลว่า แนวทาง ในที่นี้หมายถึง แนวทางของท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อันหมายถึง แนวทางของอัลลอฮฺ ดังนั้น คำว่า “อัซซุนนะฮฺ” จึงหมายถึงศาสนาอิสลาม มิใช่นิกายหรือกลุ่มชน หรือแนวทางอันประหลาด หรือทฤษฎีส่วนตัว หรือทรรศนะของนักปราชญ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ซุนนะฮฺจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่อนุรักษ์หลักการของอิสลามให้คงอยู่ เหมือนดั้งเดิม โดยไม่ยอมให้อุตริกรรม ประเพณี วัฒนธรรม แนวคิด หรือการปฏิรูปในรูปแบบใดก็ตาม มาทำลายความสมบูรณ์ของคำสั่งสอนที่มีอยู่ในศาสนาอิสลาม ดังนั้นมุสลิมต้องยึดมั่นในแนวทางซุนนะฮฺ จะไม่ยอมกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถือว่าเป็นศาสนกิจ เว้นแต่ต้องมีบทบัญญัติระบุไว้ในอัลกุรอาน หรือบทฮะดีษที่ถูกต้องจากท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้น ซุนนะฮ์จึงเป็นแนวทางของนบีมูฮัมมัดอันเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายให้มนุษย์นำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างหลักประกันการใช้ชีวิตที่ประสบผลสำเร็จทั้งบนโลกนี้และชีวิตหลังความตาย 

เนื่องจากอิสลามคือวิถีชีวิตที่ออกแบบโดยอัลลอฮ์ ผู้ทรงบริหารสากลจักรวาล ดังนั้นพระองค์ได้ส่งนบีมูฮัมมัด ให้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ มุสลิมทุกคนต้องยึดมั่นกับต้นแบบนี้ โดยแยกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนแรกคือ ต้นแบบการดำเนินชีวิตบนโลก โดยนบี  มูฮัมมัดได้วางหลักการโดยรวม ที่เกี่ยวข้องหลักการใช้ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การบริหารและการจัดการ และด้านอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ และมอบหมายให้มนุษย์รู้จักประยุกต์ใช้และพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยใช้สติปัญญาและพลังศรัทธาในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม เช่นการพัฒนาคุณภาพชีวิต การผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เป็นต้น ส่วนที่สองได้แก่ ต้นแบบที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่นการละหมาด การถือศีลอด การกำหนดบาปบุญและความประเสริฐของวัน เวลา โอกาสและสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งนบีได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว มุสลิมไม่มีสิทธิ์สร้างอุตริกรรม เพิ่มเติมหรือตัดตอนในเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะไหนก็ตาม ผู้ใดที่อุตริกรรมในเรื่องนี้ เขาจะถูกปฏิเสธโดยปริยายและสิ่งอุตริกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะโดยสิ้นเชิง


โดยทีมวิชาการ