มืด..ดำ..นำทาง

คงไม่มีใครอยากเจอเรื่องเศร้าๆ
แต่ความจริงคือ ชีวิตคนเราล้วนต้องเจอความเศร้ากันทั้งนั้น…

หากเราเรียกเรื่องเศร้าๆว่าเป็นมลทินสีหม่น สีดำคงจะเป็นตัวแทนความหมองนั้นได้ดีกว่าสีใด แต่สีดำก็คือสีดำ สีดำคืออีกหนึ่งสีธรรมชาติที่เราต้องเจอมันอยู่แทบทุกวี่วันบนโลกใบนี้ ท้องฟ้าตอนกลางคืนเป็นสีดำ มองรถบนถนนก็เจอล้อสีดำ แค่มองตัวเองยังเจอสีดำบนตาสีขาวนั่น สีดำจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์อย่างเราๆ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่า..“เราต้องเจอมันทุกวัน”

แต่สีดำก็คือสีดำ มันคือส่วนหนึ่งของสัจธรรมแห่งโลกที่มีสี
และตัวมันเองอาจไม่ได้อำมหิตอย่างที่บางคนเข้าใจหรือให้นิยาม…

หากเราจะเปรียบความเศร้าในชีวิตเป็นสีดำ การเจอเรื่องเศร้าๆเป็นหย่อมๆในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องปกติมาก เราจะหนีเพื่อไม่อยากเจอสีดำเลย คงเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับการหนีเพื่อไม่อยากเจอเรื่องเศร้าๆในชีวิตเลย ก็คงยากที่จะเป็นไปได้เช่นเดียวกัน

สีดำ..ความเศร้า จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ไม่ได้เลวร้ายในตัวมันเอง หากแต่เราปล่อยให้ตัวเอง “มองหา” สีดำไปเรื่อย อันนี้สิท่าจะไม่ดี การปล่อยให้ตัวเองจดจ้องแต่สีดำบ่อยเกินไป อาจทำให้โลกของเราดูมืดลง เราอาจเริ่มเห็นอะไรขุ่นมัวจนเริ่มหาจุดโฟกัสไม่เจอ จนเราเริ่มมองไม่เห็นอะไร..เริ่มไม่เห็นใคร แล้วในที่สุดเราก็เข้าใจไปเองว่าเราอยู่บนโลกใบมืดตัวคนเดียว

…ใครก็ได้เปิดไฟให้ที…

หากสีดำคือสีแห่งความมืด ความมืดมักทำให้เรามองไม่เห็นทางออกจนเริ่มกลัวและไม่กล้าเดินหน้า แสงสว่างจึงเป็นทางรอดเดียวที่จะพาเราออกมาจากความมืดได้ ใช่..แสงสว่าง..มนุษย์จะเห็นสีอื่นในชีวิตได้ก็ต่อเมื่อมีแสงสว่างเข้ามาช่วยปรับวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน

รู้มั้ย…
ความน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของสิ่งใกล้ตัวที่เราเรียกว่า “อัลกุรอาน” คืออะไร?
อัลกุรอานคือคัมภีร์แสงสว่างที่ถูกประทานจากฟากฟ้า
ใช่..จากฟากฟ้า from the sky..by The Lord of All Lights.

ถ้าเรานำแสงสว่างที่ส่องจ้าจากฟากฟ้ามาฉายให้ชีวิตที่มืดดำ
มันจะช่วยมลายความมืดมนได้มากแค่ไหนลองจินตนาการดู
“การเข้าหาอัลลอฮ..ผู้เป็นต้นแสงแห่งความสว่าง
จึงเป็นทางออกของความมืดมนที่ดีที่สุดแล้ว…จริงๆ”

หากวันนี้เรารู้สึกว่าตัวเองเผลอไปจ้องสีดำมากเกินพอดี
จนเริ่มเห็นอะไรหม่นมัว
ชีวิตเราต้องการ “แสงสว่าง” นั้นแล้วล่ะคนดี
คนที่เจอภาวะซึมเศร้า เขามักเล่าว่าโลกของตัวเองช่างมืดมน
หากวันนี้เราเริ่มรู้สึกว่าโลกของตัวเองเริ่มเป็นสีดำหมองมัว
ได้เวลากลับไปหาไออุ่นจาก “แสงสว่าง” นั้นแล้วล่ะคนดี
อัลกุรอ่าน คือแสงสว่างนั้น…
มันจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งทุกอย่างให้เธอเอง

May He lead you out of darkness with ‘The Light’.
ขอเป็นกำลังใจให้เธอนะ

เขียนโดย ครูฟาร์ Andalas Farr

บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

พี่น้องรู้จักบุคคลนี้ไหม
เคยได้ยินชื่อนี้กันบ้างหรือเปล่า

ท่านเป็นหมอนักพัฒนา
ผู้มีฉายาว่า เป็น
– บิดาแห่งชาวแอฟริกา
– หมอคนจน และ
– บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

ท่านเป็นชาวคูเวต เกิดเมื่อปี คศ.1947
จบคณะแพทย์ศาสตร์ด้านระบบทางเดินอาหารที่อิรัก แล้วไปศึกษาต่อที่เมืองลิเวอร์พูล และแคนาดา
เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารประจำที่กรุงลอนดอนและคูเวต
เป็นเลขาธิการสภามุสลิมแอฟริกา ปี 1981 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อองค์การนี้เป็น มูลนิธิอัลเอาวน์ อัลมุบาชิร (ให้ความช่วยเหลือสายตรง) และได้รับเลือกเป็นประธานมูลนิธิตั้งแต่นั้นมา
เริ่มเผยแผ่อิสลามในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี 1981 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 15 – 08 – 2013 ขณะที่มีอายุ 66 ปี

กว่า 30 ปี ที่อุทิศตนทำงานดะอฺวะฮฺในทวีปแอฟริกา ได้ผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ถูกจำคุกที่อิรัก 2 ครั้งจนเกือบถูกประหารชีวิต พลัดหลงในทะเลทรายแอฟริกา ถูกช่มขู่เอาชีวิต ติดในดงงูคิงคอบร้าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ใช้ชีวิตในดินแดนหฤโหดและทุรกันดารแอฟริกา ช่วงบั้นปลายชีวิตถูกรุมเร้าด้วยโรคร้ายทั้งหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และกระดูกพรุน แต่ก็ยังบากบั่นทำงานเผยแผ่อิสลามอย่างไม่ย่อท้อ และร้องไห้ทุกครั้งเมื่อนึกถึงสภาพความเลวร้ายของพี่น้องร่วมโลกที่ประจักษ์ด้วยตาตนเองในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเสียงสะอื้นร่ำไห้ของลูกหลานชาวแอฟริกาที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม พร้อมตั้งคำถามว่า โอ้ชาวอาหรับ ทำไมท่านเพิ่งมาถึงตอนนี้ ท่านต้องรับผิดชอบต่อพ่อแม่ของฉันที่เสียชีวิตในสภาพที่เป็นกาฟิรด้วย ท่านให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตานองหน้าว่า คำถามนี้ยังก้องกังวาลอยู่ในโสตประสาทของท่านตลอดเวลา

บุรุษผู้นี้ได้สร้างผลงานมากมาย ที่กล่าวกันว่าแม้กระทั่งรัฐบาลคูเวต ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่า ผลงานส่วนหนึ่งของท่านได้แก่
– ทำให้ชาวแอฟริกากว่า 11 ล้านคนรับอิสลาม
– สร้างมัสยิดทั่วแอฟริกาประมาณ 5,700 แห่ง
– ดูแลเด็กกำพร้า 15,000 ชีวิต
– ขุดบ่อบาดาล 9,500 แห่ง
– สร้างโรงเรียน 860 โรง
– สร้างมหาวิทยาลัย 4 แห่ง
– สร้างศูนย์กิจการอิสลาม 204 แห่ง
– สร้างโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพ 124 แห่ง
– สร้างโรงเรียนอัลกุรอาน 840 แห่ง
– ให้ทุนการศึกษา 95,000 คน
– พิมพ์และเผยแพร่อัลกุรอานจำนวน 6 ล้านเล่ม
– จัดโครงการอิฟฏอร์เดือนเราะมะฎอน ครอบคลุม 40 ประเทศ มีมุสลิมเข้าร่วมแต่ละปี 2 ล้านคน
– ได้รับรางวัลระดับโลกอิสลามมากมายอาทิ รางวัลกษัตริย์ไฟศ็อลด้านบริการอิสลามและมุสลิมปี 1996 รางวัลสาธารณกุศลแห่งรัฐซาร์จ่าห์ปี 2010 รางวัลงานสาธารณกุศลจากมูลนิธิกาตาร์ปี 2010 ฯลฯ

ท่านมีชื่อว่า
Abdulrahman Al Sumait
عبد الرحمن السميط
พี่น้องครับ
เมื่อสตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิต โลกทั้งใบคล้ายตกในอาการภวังค์ สื่อทั่วโลกกระพือข่าวนานเป็นเดือน กลายเป็น talk of the world สรรเสริญอัจฉริยบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอล

แต่เมื่อบุคคลผู้อุทิศตนทำงานเพื่อความสูงส่งของอิสลามได้จากโลกนี้ไป ชาวโลกพร้อมใจกันไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีใครรับรู้คุณูปการของเขาถึงแม้ในแวดวงผู้คร่ำหวอดทำงานในวงการเผยแผ่อิสลามก็ตาม
ไม่มีเสียงชื่นชม แม้เพียงบทดุอา

ตราบใดที่ตายในสภาพกาฟิร
ถึงแม้จะทิ้งผลงานมากมายล้นฟ้าเต็มแผ่นดิน
ก็ไม่มีคุณค่าใดๆ ณ อัลลอฮ และพระองค์จะทำให้การงานเหล่านั้นเป็นผุยผงที่ปลิวว่อน

แต่สำหรับมุอฺมินแล้ว
อะมัลญาริยะฮฺที่เขาได้ทำไว้
คือกุศลทานอันไหลริน
ที่คอยสะสมเพิ่มพูนความดีงามของเขาอย่างไม่ขาดสาย
ความดีงามเล็กน้อยเท่าเมล็ดอินทผาลัม
อัลลอฮฺจะทำให้มันงอกเงยใหญ่โตเท่าภูเขาอุหุด

แล้วหากสร้างคุณูปการมากล้นทั่วทั้งทวีป
อัลลอฮฺจะเพิ่มพูนผลบุญมากมายแค่ไหน

บนโลกนี้ บุรุษผู้นี้อาจเป็นคนที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและชื่นชมท่านมากนัก
แต่ในสวรรค์ ท่านคงอยู่เคียงข้างนบีมูฮัมมัด บรรดานบี ชาวศิดดีกีน ชาวชุฮะดาอฺและศอลิฮีน

ท่านใช้ชีวิตบนโลกนี้เพียง 65 ปีก็จริง
แต่ในความเป็นจริง ท่านมีชีวิตที่ยั่งยืนยาวนาน ซึ่งอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรอบรู้
ส่วนหนึ่งของคำพูดของท่าน

“ฉันจะโยนทิ้งไม้เท้านี้ที่ฉันใช้ในการเดินทางทันที หากมีใครสักคนประกันให้ฉันว่า ฉันจะได้เข้าสวรรค์แน่นอน ตราบใดที่ไม่มีใครมาประกันให้ฉันในเรื่องนี้ ฉันไม่มีวันทอดทิ้งงานนี้เป็นอันขาด จนกว่าชีวิตนี้จะหาไม่ แท้จริงการตรวจสอบของอัลลอฮฺช่างลำบากยากเย็นยิ่งนัก”

เรื่องนี้ขอเพียงแค่กระตุ้นต่อมให้เราสำนึกว่า
แล้วเราได้ฝากผลงานเพื่ออิสลามและสังคมมุสลิมไว้มากน้อยเพียงใด

اللهم كثر من امثاله

اللهم اغفر له وارحمه وعافه واعف عنه واجعل اعماله في ميزان حسناته يوم القيامة وادخله الجنة مع النبيين والصديقين والشهداء والصالحين وحسن اولئك رفيقا

สังคมมุสลิมกับการแต่งงานหนีวาลี

ในทางทฤษฎี
ผู้รู้ชีอะฮ์สนับสนุนให้คนเอาวามแต่งงานมุตอะฮ์ (แต่งงานชั่วคราว)
แถมยังอ้างความประเสริฐและผลบุญอันมหาศาลของการแต่งงานชนิดนี้
แต่ในทางปฏิบัติ
เชื่อว่า ผู้รู้ชีอะฮ์คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกเมียของตัวเอง
หากยกประเด็นนี้มา อาจมีเคืองจนเป็นเรื่องบานปลายก็ได้

ในหลักนิติศาสตร์อิสลามว่าด้วยการแต่งงาน
ก็มีเรื่องหนึ่ง ที่เป็นประเด็นเห็นต่างในหลักวิชาการ
คือการแต่งงานหนีวาลี (แต่งงานโดยฝายหญิงไม่จำเป็นขออนุญาตจากผู้ปกครอง) ซึ่งมีรายละเอียดและเงื่อนไขตามหลักวิชาการมากมาย ซึ่งจะไม่พูดถึง ณ ที่นี่

การแต่งงานชนิดพิเศษนี้ เป็นเรื่องที่ควบคู่กับสังคมมุสลิมภาคใต้มายาวนาน
และเป็นแหล่งที่หญิงชายจากประเทศเพื่อนบ้านมาฟอกตัวเองเป็นว่าเล่น จนกระทั่ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในแต่ละครั้ง เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เฉือดเฉือน หักเหลี่ยม ที่บางครั้งเกิดความวุ่นวายมาโดยตลอด

แม้กระทั่งหนุ่มสาว 3 จว. ภาคใต้บางคู่บางคน ที่ไปร่ำเรียนหรือทำงานในเมืองกรุง ก็มักใช้วิธีฟอกตัวเองในลักษณะนี้อยู่เป็นเนือง (คือหญิงแต่งงานโดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน) เพราะมีผู้รู้หรืออ้างว่ารู้ คอยจัดการ ชี้โพรงให้

ผู้ชายมักจะอ้างหลักการนี้ในการฟอกตัวเอง
โดยเฉพาะบาบอที่ทำพิธีแต่งงานลูกสาวคนอื่นโดยวิธีนี้

ถามว่า
หากเกิดขึ้นกับลูกสาวของตนเอง
จะรับได้หรือไม่

หลังจากคู่นี้แต่งงาน มีลูกมีหลานแล้ว
เขาจะประสานรอยร้าวในครอบครัวได้อย่างไร

ลูกสาวที่เคยทำให้พ่อต้องขายหน้า เสียใจ จะวางตนอย่างไร และจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะสมานรอยแผลนี้

หลักชะรีอะฮ์ที่สร้างผลกระทบเชิงลบ ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ร้อนฉ่า ปฐมเหตุของความโกรธเคืองและบาดหมาง สร้างความอับอายแก่ผู้เกี่ยวข้อง สัญญาณลูกอกตัญญู สร้างมลทินชีวิต ไม่น่าจะเป็นหลักปฏิบัติที่ฮาลาล และไม่น่าจะเป็นแนวปฏิบัติของผู้ที่มีความยำเกรง

หะดีษจากอับดุลลอฮ์บินอัมร์ กล่าวว่า
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم قال رضا الله في رضا الوالد وسخط الله في سخط الوالد / رواه ابن حبان بسند صحيح

ความว่า : ความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ที่มีต่อคนที่เป็นลูก) อยู่ที่ความพึงพอใจของบิดาของเขา และความโกรธเคืองของอัลลอฮ์(ที่มีต่อคนที่เป็นลูก) อยู่ที่ความโกรธเคืองของบิดาของเขา

เราจะอธิบายหะดีษนี้ให้แก่ลูกสาวที่แต่งงานหนีวาลีได้อย่างไร

หลักชะรีอะฮ์มีความถูกต้องเสมอ แต่ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ต่างหากที่อาจไม่คู่ควรกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงในอิสลาม

หากชะรีอะฮ์อนุญาตและส่งเสริมการแต่งงานประเภทนี้ ถามว่า ตั้งแต่ยุคอิมามชาฟิอีย์ลงมา มีผู้รู้(อุละมาอฺ) ท่านใดบ้างที่เคยผ่านการแต่งงานประเภทนี้ พอมีประวัติเล่าขานกันบ้างไหม

พูดเรื่องนี้ทีไร
นึกถึงการแต่งงานมุตอะฮ์ของชีอะฮ์ทันทีครับ

คนนอกทำได้
แต่คนในมีเคือง

ปล.
ผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับหลักวิชาการว่าด้วยการแต่งงานโดยไม่มีวาลี ภายใต้เงื่อนไขและรายละเอียดมากมาย เนื่องจากมีช่องว่างและประเด็นศึกษามากมายในตำราฟิกฮ์ แต่ที่อดนึกไม่ได้คือ หัวใจของผู้เป็นพ่อแม่ ต่างหากครับ

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

Hakikat manusia – สัจธรรมชีวิต

มนุษย์ลืมตาดูโลกในสภาพที่ไม่มีอะไรติดตัว
และจะกลับไปหาพระองค์ในสภาพที่ไม่มีอะไรติดตัวเช่นกัน
นอกจากผลแห่งการกระทำ บาปบุญ ชั่วดี
ที่จะนำพาเราสู่การทรมานในไฟนรก
หรือสุขสันต์ในสวนสวรรค์อันนิรันดร์

Saat manusia
Lahir di dunia
Putra raja
Atau anak si kedana
Semuanya sama belaka
Miskin kaya
Hamba atau raja
Adalah insan biasa

Saat kita
Meninggal dunia
Kita juga
Dalam hal yang sama
Di kubur yang gelap gelita
Tiada kenalan, tiada harta jua takhta
Yang ada amalan cuma

Penentu kita dimulia
Atau dihina
Bahagia di dalam Syurga
Atau sengsara di Neraka
Semuanya adalah pilihan kita
Tepuk dada
Tanya agama


Nukilan : Ibnu Desa
11 Februari 2020
Wisma Mara

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 7)

“สวนสัตว์มนุษย์” (Human Zoo) มีชื่อเรียกอย่างสวยหรูว่า “นิทรรศการชาติพันธุ์” ไม่มีหลักฐานแน่ชัดนักว่าเริ่มต้นแห่งใดเป็นที่แรก แต่ก็เริ่มมีขึ้นในประเทศแถบตะวันตกนับตั้งแต่ยุคการค้นพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นต้นมา (ราว ค.ศ.1500s) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่องเรือสำรวจและล่าอาณานิคม ก่อนจะกลายเป็นที่นิยมจัดแสดง “มนุษย์” กันอย่างครึกครื้น ในช่วงปี ค.ศ.1870s-1930s ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบตะวันตกทั้งหลาย อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมทั้งอเมริกา โดยนำชนพื้นเมืองทั้งผิวเหลืองและผิวสี จากพื้นที่หรือประเทศที่ตัวเองรุกรานยึดครองไว้ได้ ทั้งชาวแอฟริกา บรรดานิโกร ชนพื้นเมืองเอเชีย อาทิ ชาวเกาะชวา ชาวเกาะนิวกินี ฯลฯ ตลอดจนชนพื้นเมืองของอเมริกา มาแสดงโชว์ 

อ้างอิง : https://hilight.kapook.com/view/124501

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 6)

เส้นทางแห่งธารน้ำตา

  • หลังจากการปฏิวัติอเมริกา ชีวิตของชาวอเมริกันพื้นเมืองจำนวนมากถูกกลืนหายไป โดยเฉพาะชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา) ในปี ค.ศ. 1830 พระราชบัญญัติของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “The remove of the Five Civilized Tribes” (การเนรเทศ ‘ห้าอารยะชนเผ่า) 
  • 1.เผ่า Cherokee 21,500 คน
  • 2.เผ่า Chickasaw 5,000 คน
  • 3.เผ่า Choctaw 12,500 คน
  • 4.เผ่า Creek. 19,600 คน
  • 5.เผ่า Seminole 22,700 คน
  • ในระหว่าง ปี ค.ศ.1830 – ค.ศ.1838 เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางทำงานในนาม ของ “Cotton Growers” นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าต่างๆ เช่น Odawa / Meskwaki / Shawnee/ และอื่นๆ รัฐบาลกลางได้ทำการบังคับให้ ชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียน ร่วม 300,000 คน ออกจากบ้านเกิดของพวกเขา การเดินทางที่อันตรายจากรัฐทางใต้ ไปยังโอคลาโฮมา ปัจจุบันเรียกว่า”เส้นทางแห่งธารน้ำตา” ชนพื้นเมืองอเมริกัน ต้องเสียชีวิต ด้วยความหิวโหย ความหนาวเย็น และโรคภัย ในขณะที่อเมริกันผิวขาว ได้รุกร้ำขยายตัวไปทางทิศตะวันตก ด้วยความขัดแย้งที่รุนแรงบนแผ่นดินแม่ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของพวกเขา (ชาวพื้นเมืองอเมริกัน)
  • เส้นทางแห่งธารน้ำตา (อังกฤษ: Trail of Tears) หมายถึงการบังคับการโยกย้ายถิ่นฐานของชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาที่รวมทั้งเชอโรคี, ชอคทอว์และอื่นๆ จากดินแดนบ้านเกิดไปตั้งถิ่นฐานยังเขตสงวนอินเดียน (Indian Territory) ใหม่ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาที่ในปัจจุบันคือโอคลาโฮมา “เส้นทางธารน้ำตา” มาจากคำบรรยายการโยกย้ายของชนเผ่าชอคทอว์ (Choctaw)ในปี ค.ศ. 1831ชนพื้นเมืองอเมริกันที่ถูกโยกย้าย ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศ เชื้อโรค และความอดอยากระหว่างการเดินทางไปยังจุดหมาย อันเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ที่รวมทั้งจำนวน 4,000 ผู้เสียชีวิต ของเผ่าเชอโรคีที่ต้องย้ายถิ่นฐาน
  • ในปี ค.ศ. 1831 เชอโรคี, ชิคาซอว์, ชอคทอว์, มัสคีกี (ครีค) และ เซมินโนล (Seminole) (บางครั้งรวมกันเรียกว่าเผ่าวัฒนธรรมห้าเผ่า (Five Civilized Tribes) ตั้งถิ่นฐานเป็นชาติอิสระในบริเวณที่เรียกว่าดีพเซาธ์ (Deep South) ของสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (เสนอโดยจอร์จ วอชิงตัน และ เฮนรี น็อกซ์) ได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลายขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มเชอโรคีและชอคทอว์ แอนดรูว์ แจ็คสัน เป็นประธานาธิบดีคนแรก ของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้วิธีการโยกย้ายชาวพื้นเมืองอเมริกันตามรัฐบัญญัติ ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ของชาวอเมริกันอินเดียน(Indian Removal Act of 1830) ในปี ค.ศ. 1831ชอคทอว์เป็นชนกลุ่มแรกที่ถูกโยกย้ายและกลายเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการโยกย้ายกลุ่มอื่นๆ ต่อมา หลังจากเผ่าชอคทอว์แล้ว 
    • เผ่าเซมินโนล ก็เป็นกลุ่มต่อมาที่ถูกโยกย้าย ในปี ค.ศ. 1832, 
    • มัสคีกี (ครีค)ในปี ค.ศ. 1834,
    • ชิคาซอว์ ในปี ค.ศ. 1837 
    • เชอโรคี ในปีค.ศ. 1838
  • เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1837 ชาวพื้นเมืองอเมริกัน ก็ถูกโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมทางตอนใต้ที่ทำให้ที่ดินทั้งหมด 25 ล้านเอเคอร์กลายเป็นดินแดนสำหรับ การตั้งถิ่นฐานของชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรป ที่เข้ามาใหม่
  • การเพิ่มจำนวนและกระจายตัวของคนขาว ไปทางทิศตะวันตกของประเทศ หลังจากการปฏิวัติอเมริกา ส่งผลในการเพิ่มความกดดันในดินแดน ของชนพื้นเมืองอเมริกันสงคราม และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 1830 สภาคองเกรส สหรัฐฯ ผ่านพระราชบัญญัติการกำจัดอินเดีย, อำนาจของรัฐบาล ที่จะย้ายชาวอเมริกันพื้นเมืองออกจากบ้านเกิดของพวกเขา ภายในรัฐที่จัดตั้งขึ้น ในความต้องการดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของคนขาว นั้นส่งผลในการล้างเผ่าพันธุ์ ของหลายชนเผ่า ด้วยความโหดร้าย
  • (กรณีตัวอย่าง ความโหดร้ายของคนขาว ในระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1838 ชนเผ่าเชอโรคี ก็เริ่มเดินทางพันไมล์ด้วยเครื่องนุ่งห่มที่บางไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศอันหนาวเย็น การเดินทางโยกย้ายเริ่มขึ้นจาก เรดเคลย์ ในเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้ง ของเมืองหลวงทางตะวันออกสุดของเผ่าเชอโรคี เผ่าเชอโรคีได้รับผ้าห่มจากโรงพยาบาล ในเทนเนสซี ที่ก่อนหน้านั้นเกิดการระบาดของโรคฝีดาษ ชาวอินเดียนจึงติดเชื้อโรคตามไปด้วย ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปในเมือง หรือหมู่บ้านตลอดทางที่เดินทางผ่าน และทำให้การเดินทางต้องเดินไกลไปกว่าที่จำเป็น เพราะต้องเดินอ้อมเมืองไปแทนที่จะลัดตรงได้
  • หลังจากที่ข้ามเทนเนสซี และเคนทักกี แล้วก็มาถึงกอลคอนดา ใน อิลลินอยส์เมื่อราววันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1838 ชาวอินเดียนแต่ละคนโดนเรียกเก็บค่าข้ามท่าโดย “เรือเบอร์รี” เป็นจำนวนหนึ่งเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตามปกติแล้วราคาเพียงสิบสองเซ็นต์ และไม่ได้รับการอนุญาติ ให้ข้ามจนกระทั่งลูกค้าอื่นข้ามกันไปหมดแล้ว ชาวอินเดียนจึงต้องไปหลบกันอยู่ภายใต้ “แมนเทิลร็อค” ทางด้านเคนทักกี ชาวอินเดียนหลายคนเสียชีวิตไปกับการคอยเรือข้ามฟากที่ “แมนเทิลร็อค” และอีกหลายคนถูกสังหารโดยผู้คนในท้องถิ่น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็เมื่อฆาตกรหันไปยื่นเรื่องฟ้องรัฐบาลสหรัฐ ที่ศาลเมืองเวียนนา ในรัฐอิลลินอยส์ เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าฝัง อินเดียนที่ถูกฆาตกรรมหัวละ $35 เหรียญ. ชาวเชอโรคีที่ถูกขับไล่ ก็เริ่มก็ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทาห์เลควาห์ ในโอคลาโฮมา ความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่มีสาเหตุมาจาก สนธิสัญญานิวอีโคตา และเส้นทางน้ำตา เป็นผลทำให้มีผู้นำของชาวอินเดียนที่ไปลงนามถูกลอบสังหารไปหลายคน ที่รวมทั้งเมเจอร์ริดจ์, จอห์น ริดจ์ และ อีไลอัส บูดิโนต์ นั่นคือความโหดร้ายของคนขาว ในเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์)
  • ขณะที่การขยายตัวของคนขาว ได้นำมาซึ่ง การอพยพของคนงานเหมืองมา เพิ่มความขัดแย้ง ทำให้ชนเผ่าพื้นเมือง(หลายชนเผ่า) เหล่านี้ ต้องเร่ร่อน และถูกสังหาร สงครามระหว่างชนพื้นเมือง กับ คนขาว ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
  • ควาย Bison เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชนพื้นเมืองอเมริกัน พวกเขามีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ Bison ที่ราบอินเดียน วัฒนธรรมของพวกเขาล้วนเกี่ยวข้องกับควายไบซัน ชนพื้นเมืองได้ประโยชน์ จาก ควายไบซัน ใน 52 วิธีที่แตกต่างกัน สำหรับอาหาร, อุปกรณ์สงครามและการดำเนินการดำเนินชีวิต ส่วนหนึ่งของควาย ใช้สำหรับการทำโล่ และ กลอง บางส่วนสำหรับการทำ เป็นกาว ได้อีกด้วย ควายจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ของชนพื้นเมืองอินเดียน
  • การที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนขาว กลายเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า อินเดียนและคนขาว มองดูควายจากจุดที่แตกต่างกัน ในมุมมองของอินเดียนแดงได้เรียนรู้ที่จะล่าควายด้วยความชำนาญกับคันธนูและลูกศร และล่าเพื่อประทังชีวิตโดยไม่ส่งผลกระทบกับจำนวนของ ควายไบซัน ในขณะที่คนขาวล่าไบซัน ไปในเเนวทางเพื่อธุรกิจการค้า แสวงหากำไรจากไบซัน เป็นผลให้ควายถูกล่าและลดจำนวนลงอย่างมาก ผลกระทบจากจำนวนควายไบซันที่ลดลงจนเกือบสูญพันธ์นั้น รุนแรงต่อชนพื้นเมือง เพราะควายไบซัน คืออาหาร คืออุปกรณ์ดำรงชีพ และวิถีชีวิต (ในขณะที่การล่าเพื่อการกีฬา เพื่อความบันเทิงในกิจกรรมกลางแจ้ง โดยนักล่ามืออาชีพ ก็ได้เกิดขึ้นอีกด้วย) ในทางตรงกันข้ามอินเดียน กับควายไบซัน นั้นเป็นศูนย์กลางของชีวิต การหายไปของไบซัน ส่งผบให้อินเดียนมากมาย ต้องอดอยาก มีการประเมินว่าควายไบซันมีจำนวนมากถึง 60 ล้านตัว ก่อนการมาถึงของคนขาว ในตอนท้ายของยุค ควายไบซัน กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ไบซัน มีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ จำนวนของไบซันเหลือเพียง 100 กว่าตัว ในปี ค.ศ. 1870 เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของคนขาว เรากำลังพูดถึงสัตว์ที่เกือบจะถูกลบออกจากโลกนี้
  • การตั้งถิ่นฐานของคนขาว เป็นตัวแทนของสาเหตุที่สำคัญสำหรับการทำลายควายไบซัน และอินเดียนได้รับผลกระทบโดยตรง ปัจจัยเหล่านี้ได้เกิดขึ้น และการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า การขยายตัวของคนขาว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความสมดุลย์ ของธรรมชาติอย่างถาวร.
  • (ในปัจจุบัน มีควายไบซันเหลืออยู่ราว 400,000 – 500,000 ตัวในสองประเทศ จากการออกกฏหมายคุ้มครอง โดยรัฐบาลสหรัฐและแคนาดา)
  • ในปี ค.ศ.1848 รัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดการตื่นทอง ทำให้อินเดียน 300,000 คน จะถูกขับไล่จาก แคลิฟอร์เนีย ไป ซานฟรานซิสโก นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า ครั้งหนึ่ง รัฐแคลิฟอร์เนีย เคยเป็นพื้นที่หนาแน่นที่สุดของประชากรพื้นเมือง ด้วยชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองที่หลากหลาย ในดินแดนของสหรัฐ แต่การตื่นทองมีผลกระทบอย่างมากกับชีวิตของชนพื้นเมืองอเมริกัน ในด้านการดำรงชีวิตของชาวพื้นเมือง การล่าสัตว์แบบดั้งเดิม และการทำเกษตรกรรม ที่ไม่สามารถทำได้ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป มีผลทำให้อินเดียนจำนวนมาก ต้องขาดแคลนอาหารและอดอยาก
  • ระหว่างการขยายตัวของคนขาว ที่รุกร้ำเข้าไปในชายแดนตะวันตก ของรัฐแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในความพยายามที่จะทำลายหลักวิธีชีวิต ของอินเดียน ที่เป็นความพยายามของรัฐบาลสหรัฐ ที่จะกีดกันชนพื้นเมืองออกไป หนึ่งในวิธีการที่สำคัญที่สุดคือการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า ในการกีดกันความเป็นเจ้าของ ทั้งพืชไร่ พืชผล ต่างๆ เเละสิทธิเหนือที่ดิน และใช้วิธีการอื่นๆ ในการกีดกันอินเดียน ออกไป การหลั่งไหลของคนขาว จำนวนมากมาย ที่เข้าไปใน รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยแรงจูงใจจากที่ดินและทองคำ คลื่นมวลชนของผู้มาใหม่ ได้ถูกถาโถมเข้าไปในแคลิฟอร์เนียเข้าไปในหุบเขาที่ห่างไกลที่สุดและพื้นที่ของชนพื้นเมือง เพื่อหาทองคำ เพื่อตัดไม้และครอบงำที่ดินของคนพื้นเมือง ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างคนขาว กับชนพื้นเมือง คนขาวมีการกระทำที่น่ารังเกียจและโหดร้าย ต่อชนพื้นเมือง ชาวพื้นเมืองที่ตกเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรมที่นึกไม่ถึง ด้วยความอดอยาก และการเผชิญหน้าที่รุนแรง การค้าทาสค้าแรงงาน ส่งผลเกือบล้างเผ่าพันธ์ ประชากรอินเดียนแทบทั้งหมดในแคลิฟอร์เนีย อินเดียนลดลงจาก 300,000 คน เหลือเพียง 160,00 คน การจัดซื้อที่ดินและทรัพย์สิน สวม “สิทธิ” ของคนผิวขาว การทำเหมืองแร่และสิ่งปนเปื้อนที่เข้าสู่ระบบ ของชาวพื้นเมือง พื้นที่แหล่งน้ำปนเปื้อน และพืชพื้นเมืองเหี่ยวเฉา หนองน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรที่สำคัญที่เป็นอาหารของชนพื้นเมือง ได้กลายเป็นระบบชลประทานสำหรับพื้นที่เพาะปลูกของคนขาว

กฏหมาย โดยรัฐบาลสหรัฐ ปี ค.ศ. 1862

  • -กฏหมาย homestead 
  • -กฏหมายการตั้งรกราก Ambitious (ไร่โฉนด) 
  • -กฏหมายที่ดิน Morrill (ลงนามในกฏหมายโดย ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอร์น 1862) และอื่นๆ
  • ทั้งหมดของกฎหมาย ต่างๆที่ออกมาบังคับใช้ มีไว้เพื่อประโยชน์ ในการตั้งถิ่นฐานของคนขาว ด้วยเหตุผลคือ
    • 1. ประชาชนแคลิฟอร์เนีย (คนขาว) ต้องการลบ ชนพื้นเมือง ออกจากแคลิฟอร์เนียได้โดยเร็วที่สุด 
    • 2. คนขาว ต้องการกีดกันชนพื้นเมืองออกจากพื้นที่ เพื่อการป้องกันการตั้งถิ่นฐานของคนขาว และคนงาน จากการถูกโจมตี จากพวกอินเดียน การปกป้องทรัพย์สินของคนขาวจากการสูญเสียหรือการโจมตีอินเดียน 
    • 3. รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายด้วยกฏหมาย ที่แตกต่างกัน ที่ชาวอเมริกันในทุกรัฐ ใช้จัดการกับพวกอินเดียนแดง : กฎหมายภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ปี ค.ศ.1787 มาตราของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ว่า การพาณิชย์และ การค้าของอินเดียน 

การกระทำของสนธิ ค.ศ. 1890

  • พระราชกฤษฎีกาภาคตะวันตกเฉียงเหนือค.ศ.1787 ที่กำหนดไว้ในลักษณะที่รัฐบาลสหรัฐจะจัดการกับอินเดียน มาตรา 14 มาตรา 3 ของกฎหมายประกาศว่า “ที่ดินและทรัพย์สินของพวกเขาจะไม่มีวันถูกพรากไปจากพวกเขา โดยปราศจากความยินยอมของพวกเขา และ ทรัพย์สินของพวกเขา สิทธิและเสรีภาพที่พวกเขา จะไม่สามารถบุกเข้าไปรบกวนได้ เว้นแต่เพียงในเวลาสงคราม ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายโดยรัฐสภา **แต่กฎหมายที่ก่อตั้งขึ้นในความยุติธรรมและความเป็นมนุษย์นั้น จะมีเป็นครั้งคราวสำหรับการป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิด กับพวกเขา (ชนพื้นเมือง)ในการรักษาสันติภาพและมิตรภาพกับพวกเขา***
  • นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของแคลิฟอร์เนีย, Hubert Howe Bancroft สรุปการเมืองของรัฐบาล ที่มีต่ออินเดียน ในไม่กี่ประโยคสั้นๆ แต่แฝงไว้ด้วยความน่ากลัว: 
  • “นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ ในช่วงต้น ระหว่างชาวอเมริกันพื้นเมืองและคนขาว (อเมริกันยุโรป) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นไปในเวลาสั้นๆ แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย คนงานเหมืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยความโลภ และใจร้อน มันเป็นหนึ่งในการล่าของมนุษย์ ของอารยธรรมคนขาว และความรุนแรง และพวกเขาทั้งหมดส่วนใหญ่โหดร้าย “
  • ( Hubert Howe Bancroft นักประวัติศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย 1963: 474)

สรุปเนื้อหาสำคัญ ของคนขาว กับ ชนพื้นเมืองอเมริกา

  • 1. รัฐบาลสหรัฐ อเมริกา ตัดสินใจที่จะแก้ปัญหา “อินเดียน” ด้วยนโยบายของการบังคับใช้แรงงานทาส และ อาสาสมัครศาลเตี้ยที่มีหน้าที่ คือการฆ่าชาวอินเดียนท้องถิ่น
  • 2. นโยบายของรัฐ เกี่ยวกับอินเดียนแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกดำเนินงานโดยนโยบายของรัฐบาลกลาง และสำหรับอินเดียนทั้งหมดของอเมริกาเหนือ: การทำสนธิสัญญาการลบอินเดียน จากบ้านเกิดของบรรพบุรุษของพวกเขา
  • 3. ทัศนคติของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับ “ปัญหาอินเดียน” ส่งผลให้นโยบายและ การกระทำที่มีผลกระทบอย่างมากสำหรับชาวอินเดียน :
    • -อินเดียนหลายชนเผ่า ส่วนใหญ่ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลสหรัฐ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
    • -อินเดียนแคลิฟอร์เนีย ตกเป็นเหยื่อของนโยบาย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนใหญ่ของชาวอินเดียน ที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ถูกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะบังคับให้ออกจากพื้นที่ของพวกเขา หรือพวกเขาก็ถูกฆ่าตาย
    • -ประชากรของอินเดียนในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ.1850 จากจำนวน 100,000 คน ลดลงเหลือ 30,000 โดย ค.ศ. 1870 ตามการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติ ปี ค.ศ. 1900 เหลือเพียง 16,000 อินเดียนแดงที่ถูกบันทึกไว้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
  • 4. ประชาชนแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ ตอบสนองต่อการบุกอินเดียน, ฆ่าอินเดียน และ แข่งขันทางเศรษฐกิจกับอินเดียน ด้วยการกระทำที่รุนแรงของศาลเตี้ย – โดยไม่มีใคร(คนขาว) ที่ถูกลงโทษโดยรัฐท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐบาลกลาง
  • สรุปผลที่ได้คือ หลายร้อยปี ที่ผลของความขัดแย้งจากสงคราม ความรุนแรงของอาณานิคม โดยการเข้าแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งนโยบายเลือกปฏิบัติของคนขาว ที่มีต่อชาวอเมริกันพื้นเมือง ได้ทำลายประชากรชาวอเมริกันพื้นเมืองจาก 18 ล้านชีวิต เหลือเพียง 16,000 ชีวิต (ในปี ค.ศ.1900)
  • ชาวพื้นเมืองเสียชีวิตจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และความไร้เมตตา ที่ได้คร่าชีวิตชนพื้นเมืองอเมริกัน จนทั้งหมดเกือบจะสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์. หากผมจะเรียกคนขาวที่เข้าไปยังแผ่นดินอเมริกาว่า Genocide คงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง!

ป.ล. ในปัจจุบันนี้ประชากรอเมริกันพื้นเมือง คิดเป็น 1.37% ของ ประชากรสหรัฐอเมริกา

อ้างอิง https://menu-58.blogspot.com/2015/11/4_28.html?m=1&fbclid=IwAR3xztAnEavoTCW__nuIR8kxgKLdTV5mYULkLFX-v0UqN8UHbR0s93zMnIw

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 5)

หลังจากที่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองและทำลายอารยธรรมของพวกเขากว่า 400 เผ่าพันธุ์ ตลอดระยะเกือบ 200 ปี (ศตวรรษที่ 17 และ 18) เชื่อว่าสหรัฐฯได้ฆ่าชาวพื้นเมืองไปแล้วกว่า 18 ล้านคน

ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ในศตวรรษที่ 19 และ 20 สหรัฐก็ยังสะสมแฟ้มอาชญากรรมไปทั่วโลก สรุปที่สำคัญๆดังนี้

#อาชญากรรมศตวรรษที่19 (ไม่นับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองที่ได้กล่าวมาแล้ว)
1833 อเมริกาทำสงครามกับนิการากัว
1835 สงครามเปรู
1846 สงครามแม็กซิโก และยึดครองรัฐแท็ซัส คาลิฟอร์เนีย นิวแม็กซิโก
1855 สงครามอุรุกวัยและปานามา
1870 บุกถล่มโคลัมเบียหลายครั้ง
1888 ยึดครองไฮติ
1894 บุกนิการากัว
ตลอดจนปิดท้ายศักราชนี้ด้วยการบุกคิวบา

#อาชญากรรมศตวรรษที่20
1901 เปิดศักราชด้วยการบุกเกาะกวนตานาโม ยึดครองโคลัมเบียและฮอนดูรัส
1914 ยึดครองไฮติเป็นเวลา 19 ปี
1916 บุกโดมินิกัน และยึดครอง 8 ปี
1918 สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ อเมริการ่วมกับจัดสรรแผ่นดินร่วมกับอังกฤษและฝรั่งเศส
1932 ถล่มเซลวาดอร์
1945 สงครามโลกครั้งที่สองยุติ อเมริกาถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ พลเรือนตาย 200,000 คน
1954 ยึดครองกัวเตมาลา
1961 บุกคิวบาอีกครั้ง
1960-1970 สงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามเสียชีวิต 3 ล้านคน
1967 บุกโบลิเวีย
1973 ก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเซลวาดอร์และชีลี
1982 ส่งกองทัพเข้าเลบานอน เพื่อสนับสนุนอิสราเอล
1986 ถล่มลิเบีย
1989 ถล่มปานามา
1991 ถล่มอัฟกานิสถาน และโซมาเลีย
1991 เริ่มบุกอิรักและแซงชั่นอิรัก ทำให้ประเทศขาดแคลนอาหารและยา ประชาชนเสียชีวิต 200,000 คน บาดเจ็บ 500,000 คน
1999 อเมริกาและกองกำลังพันธมิตรได้บุกถล่มอีรักจนพินาศทั้งประเทศ พร้อมสร้างอืรักเป็นแดนมิคสัญญีที่มีความแตกแยกทางความเชื่อที่รุนแรงที่สุดจนกระทั่งปัจจุบัน ยอดผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตนับล้านคน


ปล. นอกจากอิหร่าน อิสราเอลและยุโรปแล้ว ในโลกนี้มีประเทศไหนบ้างที่ปลอดภัยจากอาชญากรรมของสหรัฐอเมริกา

ประเทศที่เต็มด้วยประวัติอาชญากรรมเช่นนี้ เป็นไปได้หรือที่จะเป็นเจ้าภาพจัดรางวัลโนเบลแห่งสันติภาพ และเป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาคมโลกจะได้รับการปกป้องด้านสิทธิมนุษยชน

ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 4)

หนูทดลองโรคซิฟิลิส (The Tuskegee Syphilis Study)

กรมสาธารณสุขอเมริกา ได้จัดโครงการวิจัยโรคซิฟิลิสระหว่างปี 1932-1972 ที่เมืองทัสเคจี (Tuskegee) รัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชาวแอฟริกาอพยพอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้เข้าร่วมทดลองเป็นชายผิวสีจำนวน 399 ราย โดยโรคซิฟิลิสถูกปล่อยให้ผู้ป่วยตายลงช้าๆโดยไม่รักษา เพื่อสังเกตการพัฒนาของโรคแต่ละราย

ความเลวร้ายของการทดลองที่ใช้เวลา 40 ปีครั้งนี้ อยู่ที่ผู้วิจัยไม่ได้แจ้งแก่ผู้ป่วยว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง นอกจากหลอกว่า พวกเขามีเลือดเป็นพิษ และจะทำการรักษาให้ฟรี รวมถึงอุดหนุนค่าเดินทาง อาหารและฝังศพฟรีกรณีเสียชีวิต

การรักษาโรคซิฟิลิสสมัยนั้น ทำโดยการให้สารพิษเข้าไปทำลายโรค ทว่าเป็นวิธีการที่อันตรายและไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลการรักษาจะออกมาดีหรือไม่ ถึงแม้ทีมวิจัยจะค้นพบเพนิซิลินรักษาโรคซิฟิลิสในปี 1940 แต่หนูทดลองทั้ง 399 คนกลับไม่ได้รับการรักษา แถมถูกปล่อยให้ตายอย่างช้าๆโดยไม่มีการดูแลจากรัฐบาล

หลังจากที่มีการเปิดโปงโครงการวิจัยที่ไร้มนุษยธรรมนี้ในปี 1972 รัฐบาลสหรัฐจึงยุติโครงการนี้ พร้อมกับรายงานผลการวิจัยว่า ในจำนวน 399 ตัวอย่าง มีผู้ที่รอดชีวิตเพียง 74 ราย เสียชีวิตจากโรคซิฟิลิส 28 ราย ที่เหลือเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ขณะที่ภรรยาของผู้ป่วย 40 รายติดเชื้อซิฟิลิสจากสามี และส่งผลให้ทารก 19 รายคลอดออกมาติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิด

40 ปีของการทดลองที่ทำลายศักดิ์ศรีของมนุษย์ จะมีองค์กรไหนในโลกนี้ กล้าทวงถามให้เจ้าของโครงการรับผิดชอบบ้างไหม และประเทศที่เป็นเจ้าภาพโครงการนี้ เหมาะสมที่จะเป็นต้นแบบของการปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Tuskegee_syphilis_experiment
http://hathairat2011.blogspot.com/2015/06/blog-post_12.html?m=1

ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 3)

การยึดครองดินแดนของคนขาวดำเนินไปเกือบ 2 ศตวรรษ จนกระทั่งเกิดปฏิวัติอเมริกาสำเร็จในวันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ซึ่งถือเป็นวันอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา และราชอาณาจักรบริเทนใหญ่รับรองเอกราชเมื่อปี 1783 มีการลงมติรับรัฐธรรมนูญเมื่อปี 1787 และรัฐต่างๆให้สัตยาบันในปี 1788 จอร์จ วอชิงตันเป็นประธานาธิบดีคนแรกในปี 1789

ในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้ จึงเป็นศตวรรษของการรวมชาติของอเมริกัน ซึ่งฟังแล้วดูดีและเรียบง่าย แต่ในความเป็นจริงคือการปล้นดินแดน เข่นฆ่า ขับไล่ โดยที่ชนพื้นเมืองถูกกำหนดให้เป็นผู้พ่ายแพ้ตามปรัชญาเทพลิขิต(Manifest destiny) ที่รัฐบาลอเมริกายัดเยียดความเชื่อนี้แก่ชนพื้นเมืองว่า พระเจ้าได้กำหนดให้อเมริกามีแผ่นดินอันกว้างใหญ่ที่ทุกคนต้องยอมจำนน

ทุกประเทศในอดีต ต้องผ่านการทำสงครามภายในเพื่อสร้างชาติให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ความแตกต่างของการสร้างชาติของสหรัฐอเมริกา คือการเดินทางข้ามทวีปของคนขาวเพื่อยึดครองแผ่นดินและทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองดั้งเดิม

ชาติตะวันตกสร้างเรื่องว่าอิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบ อิสลามได้แผ่ขยายไปทั่วโลกทั่วแอฟริกา อันดาลูเซีย เปอร์เซีย ประเทศหลังแม่น้ำแถบอดีตสหภาพโซเวียต จีน ฯลฯ แต่น่าแปลกที่ชาวอาหรับไม่เคยไปสร้างอาณาจักรของตนเองในดินแดนเหล่านี้ ด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมือง จะมีแต่ชาวพื้นเมืองต่างหากที่ยอมรับวัฒนธรรมอิสลามด้วยความสมัครใจ จนกระทั่งยอมละทิ้งวัฒนธรรมของตนเอง เคียงคู่กับการสร้างอารยธรรมใหม่ภายใต้แสงอรุณแห่งอิสลาม เราจึงเห็นชาวอันดาลูเซีย ชาวแอฟริกา ชาวจีน และชาวอื่นๆ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิม ที่ยังคงเป็นประชากรหลักของแต่ละประเทศ

สงครามสามารถยึดครองประเทศก็จริง แต่ไม่มีทางยึดครองหัวใจของผู้คนได้

ทีมข่าวต่างประเทศ

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 2)

ดินแดนแห่งอเมริกา มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่อยู่ทุกวันนี้ แท้จริงแล้ว เป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองอเมริกันมาแต่ก่อนไม่รู้กี่ชั่วคน แต่คนขาวอุปโลกน์เรื่องราวของโคลัมบัส ลวงชาวโลกให้เข้าใจว่าเป็นผู้ค้นพบโลกใหม่ ทั้งที่ ณ ดินแดนแห่งนั้น มีเจ้าของอาศัยอยู่แล้วนับพันๆปี แต่ด้วยความบิดเบือนทางประวัติศาสตร์พวกเขากลับกลายเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะประวัติศาสตร์คือคำบันทึกของผู้ชนะเสมอ

ความกระหายในดินแดนและเศรษฐกิจของคนขาว ได้ทำลายอารยธรรมและอิสรภาพของชนพื้นเมืองอเมริกันที่มีจำนวน 566 เผ่า ทั้งๆที่เมื่อแรกๆที่คนขาวอพยพมา ชนพื้นเมืองได้ให้การต้อนรับด้วยมิตรไมตรียิ่ง ให้ที่อยู่อาศัย ให้อาหารและสอนให้รู้จักการดำรงชีวิตในโลกใหม่แก่คนขาวด้วยหัวใจที่ใสซื่อและใจกว้าง ซึ่งเป็นนิสัยดั้งเดิมของชาวอินเดียนแดงปฏิบัติต่อแขกผู้มาเยี่ยมเยือน แม้กระทั่งในคำบันทึกของโคลัมบัสที่รายงานต่อกษัตริย์สเปนในสมัยนั้น ก็ยังได้พูดถึงการมีใจอันงดงามของชนพื้นเมือง แต่พวกเขาได้รับการตอบแทนด้วยการคร่าชีวิต ถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์และกลายเป็นทาสรับใช้ เมื่อคนขาวเริ่มอพยพเข้ามาด้วยจำนวนมากขึ้น พวกเขาเริ่มแสดงตัวตนของนักปล้นที่แท้จริง จึงเกิดสงครามที่ยาวนาน แต่ท้ายสุดชนพื้นเมืองต้องพ่ายแพ้ต่อเทคโนโลยี่ที่เหนือกว่าของศัตรูผู้บุกรุก จนกระทั่งถูกกักกันให้อยู่ในเขตสงวนอันน้อยนิด กันดารและแห้งแล้ง เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่คนขาวตั้งใจมาแพร่เชื้อ พวกเขาถูกหลอกลวงด้วยสติปัญญาและเทคโนโลยีที่เอารัดเอาเปรียบและจิตใจอันต่ำทราม พร้อมๆกับถูกมอมด้วยเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด การพนัน ค้ามนุษย์และธุรกิจบันเทิงทั้งหลาย จนเคลิบเคลิ้มลืมเลือนอดีตอันเจ็บปวดของเหล่าบรรพบุรุษ

ชนพื้นเมืองอเมริกัน มหากาพย์แห่งดวงตะวัน เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและคุณค่าของมนุษย์บนแผ่นดินของตนเอง

ทีมข่าวต่างประเทศ