คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตไวรัส โคโรนา COVID-19

เป็นหนังสือทรงคุณค่าที่สุดที่มุสลิมทุกคนต้องรีบหาเป็นเจ้าของพร้อมอ่านและศึกษา ท่ามกลางสังคมมนุษย์กำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือฉบับกระทัดรัดที่ได้สรุปเนื้อหาและประเด็นความรู้พร้อมทั้งเสนอวิธีปฏิบัติในการเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายครั้งนี้ตามคำสอนของอิสลามได้อย่างสร้างสรรค์และมีจินตนาการเห็นภาพได้ชัดเจน ใช้ภาษาที่เรียบง่ายด้วยฝีมือการแปลของทีมงานคุณภาพที่ได้แปลจากต้นฉบับเดิมในภาษามลายูอักขระยาวีตามความถนัดของผู้เขียน

ผู้เขียนและทีมงานได้เสียสละใช้เวลาอย่างคุ้มค่าช่วงกักตัวในบ้านผลิตผลงานทางวิชาการที่มีประโยชน์ชิ้นนี้ ขออัลลอฮ์ตอบแทนด้วยความดีงามแก่ผู้เขียนและทีมงานทุกท่าน

وجزاكم الله خيرا وعافانا الله وإياكم من كل بلاء الدنيا وعذاب الآخرة سائلين المولى عز وجل أن يرفع عنا وباء كوويد ١٩ ويجعلنا جميعا سالمين معافين برحمتك يا أرحم الراحمين

ระหว่างอิบาดัตกับอาดัต

คิดจะทำอิบาดัต สิ่งแรกที่ต้องถาม คือ ใครสั่งให้ทำ และคำสั่งมีความถูกต้องแค่ไหน เพราะภาวะดั้งเดิมของอิบาดัต เป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นสิ่งที่ปรากฏในชะรีอะฮ์ด้วยหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจน

คิดจะทำอาดัต (เรื่องดุนยา) สิ่งแรกที่ต้องถาม คือ ชะรีอะฮ์ห้ามหรือไม่ เพราะภาวะดั้งเดิมของอาดัตเป็นสิ่งที่กระทำได้ ยกเว้นสิ่งที่ชะรีอะฮ์ห้ามด้วยหลักฐานที่ถูกต้องและชัดเจน

อิสลามเข้มงวดเรื่องอิบาดัตและถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของอัลลอฮ์และรอซูลเท่านั้น แต่อิสลามให้อิสระสร้างสรรค์เรื่องดุนยาได้อย่างเต็มที่ ตราบใดไม่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม

ดังนั้นทุกคนต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของอิบาดัตและอาดัตให้ดี

เรื่องอิบาดัต เราต้องมอบหมายให้เป็นเรื่องของอัลลอฮ์และรอซูล เรามีหน้าที่ปฏิบัติตามเท่านั้น เรื่องอาดัต อัลลอฮ์และรอซูลมอบหมายให้เราคิดค้น สร้างนวัตกรรมอย่างสุดความสามารถ ตราบใดที่ไม่ขัดกับหลักการ

อย่าอุตริ คิดค้น สร้างนวัตกรรมในเรื่องอิบาดัต แต่กลับลอกเลียนเรื่องอาดัต โดยไม่คิดที่จะพัฒนาเลย

คนยุคก่อนเขาจะเลียนแบบเรื่องอิบาดัตอย่างเคร่งครัด และสร้างนวัตกรรมเรื่องอาดัตอย่างสุดความสามารถ พวกเขาจึงสามารถครองโลกนี้ได้

ยุคเรา คอยสร้างนวัตกรรมด้านอิบาดัต แต่กลับเฉื่อยชาด้านอาดัต เราจึงถอยหลังเข้าคลอง และถูกทิ้งห่างจากความเจริญ

ขอย้ำ อิบาดัตเป็นเรื่องอัลลอฮ์และรอซูลกำหนด ส่วนอาดัตเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนา

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ภักดีต่ออัลลอฮ์ที่เข้าใจวิถีของอัลลอฮ์

ในโลกใบนี้ ไม่มีพื้นที่ไหน ประเสริฐยิ่งกว่า มักกะฮ์ มะดีนะฮ์และอัลกุดส์
ในโลกนี้ไม่มีมัสยิดไหนที่ประเสริฐยิ่งกว่ามัสยิดหะรอม มัสยิดนบีและมัสยิดอัลอักศอ

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19
ทางการไม่อนุญาตเข้ามักกะฮ์ มะดีนะฮ์และอัลกุดส์
แม้กระทั่งคนทั่วไปก็ยังไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปใน 3 มัสยิดดังกล่าว
เพราะโรคระบาด เป็นวิถีของอัลลอฮ์ที่มีสาเหตุและวิธีป้องกันที่ชัดเจน

ผู้ใดที่ทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ที่ผิดวิสัยวิถีของอัลลอฮ์ เช่นไปละหมาดในดงเสือ ไปซิกิร์ในซ่องโจร
หากเขาโดนเสือขย้ำหรือโดนโจรรุมทำร้าย เขาอย่าไปตำหนิใครยกเว้นตัวเอง

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

อย่าตกขบวนคาราวานองค์ความรู้

ขอสื่อสารไปยังนักวิชาการมุสลิม(บางคน) กรณีวิกฤตโควิด 19
“ต้องเกาะติดคาราวานองค์ความรู้ให้ได้”

วิกฤตโควิด19 ครั้งนี้ เป็นเสมือนระฆังเตือนจากอัลลอฮ์ที่ต้องการตักเตือนบ่าวของพระองค์บางอย่าง แต่ ณ ตรงนี้ผู้เขียนขอเน้นบทบาทและหน้าที่ของนักวิชาการต่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการวางตัวของมุสลิมในวิกฤตโควิด 19 นี้ บางส่วนดังนี้

1. วิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้ ทุกคนทราบดีว่าเป็นวิกฤตโลกที่สร้างผลกระทบระดับโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจระดับของปัญหา พร้อมคำตอบและทางออก เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องเกาะติดคาราวานแห่งความรู้ระดับโลกให้เท่าทัน โดยเฉพาะการรู้จักใช้ประโยชน์กับการค้นคว้าศึกษาจากสื่อโซเชียลยุคปัจจุบัน ที่องค์ความรู้ใหม่ๆที่มีประโยชน์อเนกอนันต์ได้ไหลทะลักและแพร่กระจายไปทั่วมุมโลก จะเป็นนักวิชาการ ห้ามตกขบวนคาวารานความรู้ชุดนี้เป็นอันขาด

2. หน้าที่ของนักวิชาการและผู้รู้ในบ้านเราคือพยายามรวบรวมและเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง แล้วนำมาเล่าต่อให้ชาวบ้านฟังด้วยจรรยาบรรณและเต็มด้วยความรับผิดชอบ อย่าทะลึ่งทำความเข้าใจด้วยความรู้อันตื้นเขินและคับแคบของเรามาอธิบายปรากฏการณ์ระดับโลก เพราะวิกฤตระดับโลกต้องมีคณะผู้รู้ระดับโลกมาคลี่คลายและเสนอทางออก นักวิชาการบ้านเรามีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้เท่านั้น เพราะบทบัญญัติทางศาสนามีความถูกต้องเสมอ แต่ในบางครั้งความเข้าใจของนักวิชาการ ที่มีต่อตัวบทและบริบทอาจคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง

3. การวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรอบรู้ในภาพรวมของสิ่งนั้น “الحكم على الشيء فرع عن تصوره ” อัลลอฮฺได้กล่าวว่า فاسألوا أهل الذكر إن كنتم لا تعلمون ความว่า จงถามผู้รู้ หากเจ้าไม่รู้ (อันนะห์ลุ/43) ถึงแม้ผู้รู้ที่ประเสริฐที่สุดคือผู้รู้อัลกุรอาน แต่โองการนี้ยังหมายรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีกด้วย ด้วยเหตุนี้อัลลอฮ์ใช้คำว่า أهل الذكر แต่ไม่ใช้คำว่า العلماء เพื่อสอนให้เราทราบว่า แต่ละแขนงวิชามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง พวกเขาเท่านั้นที่ควรให้คำตอบในแขนงวิชาที่พวกเขารอบรู้

โควิด19 เป็นวิกฤตใหม่ที่โลกใบนี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้นผู้ที่จะมาตัดสินชี้ชัดในรายละเอียด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เท่านั้น ซึ่งวงการแพทย์เรียกว่า ภาควิชาระบาดวิทยา หรือวิทยาการระบาด ในขณะที่นักวิชาการมุสลิมหลังจากที่ได้เรียนรู้สภาพปัญหาอย่างครอบคลุมแล้ว เขาจะต้องนำมาเทียบเคียงและประยุกต์ใช้กับหลักชะรีอะฮ์ อาทิ หลักเจตนารมณ์พื้นฐานของชะรีอะฮ์ (مقاصد الشريعة )หลักเกาะวาอิดฟิกฮียะฮ์ (القواعد الفقهية )ที่มีรายละเอียดและข้อปลีกย่อยมากมาย นอกเหนือจากการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อบทบัญญัติในอัลกุรอาน หะดีษ และตำรับตำราของอุละมาอฺในทุกยุคทุกสมัย เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณากรณีวิกฤตโควิด 19 นี้ เพราะคำสอนของอิสลามที่ถูกต้อง ไม่เคยขัดแย้งกับวิทยาการสมัยใหม่ที่ถูกต้อง อย่าอาศัยแค่หะดีษเพียงต้นเดียวหรือใช้หลักไวยากรณ์อาหรับมาพิจารณาแค่คำเดียว แล้วนำมาวินิจฉัยปรากฏการณ์วิกฤตระดับโลกในขณะนี้ (แถมยังอ่านหะดีษแบบผิดๆถูกๆ ด้วย แล้วดันทะลึ่งให้คำฟัตวา) ขอย้ำว่า อย่าใช้ตรรกะร้านน้ำชามาชี้ชัดประเด็นวิกฤตระดับโลกนี้

4. สำนักฟัตวา(ศาสนวินิจฉัย)ทั่วโลกอิสลามและโลกอาหรับ รวมทั้งสำนักจุฬาราชมนตรีของประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์แนวปฏิบัติของมุสลิมในวิกฤตโควิด 19 นี้อย่างชัดเจนและครอบคลุม การฟัตวาในแต่ละเรื่อง ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้เกี่ยวข้องจะต้องระดมสมองจากหลายฝ่าย มีการรวบรวมทัศนะต่างๆแล้วนำมาตกผลึกอย่างรอบคอบ เพราะพวกเขารู้ดีว่า การฟัตวาในสภาพวิกฤตินี้ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการปฎิบัติใช้ในสภาพปกติ ซึ่งหากดูผิวเผินแล้วอาจเป็นการย้อนแย้งและสวนทางกับคำสอนของอัลลอฮ์และรอซูลเลยทีเดียว ทั้งๆที่ในความเป็นจริง นี่คือความสวยงามของอิสลาม ที่มีทั้งความยืดหยุ่นและความหนักแน่น การผ่อนปรนและการบังคับใช้ ความง่ายดายและสลับซับซ้อนในตัวของมันเอง

5. ผู้เขียนสนับสนุน ชื่นชมและขอบคุณนักวิชาการมุสลิมทั้งระดับโลกและท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการวางตัวในสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 นี้ และระมัดระวังการชี้นำทางศาสนาโดยปราศจากความรอบรู้และความรอบคอบ ขอให้ทุกท่านทำหน้าที่นี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮ์ พร้อมร่วมดุอาให้โลกผ่านวิกฤตินี้ ให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว

‏وما أريد إلا الإصلاح ما استطعت وما توفيقي إلا بالله عليه توكلت و إليه أنيب
‎اللهم يا رب أعنا على أن نتوب إليك توبة نصوحا وأن نكسب أفضل أسباب الوقاية الموفقة لمنع انتشار هذا الوباء القاتل وأن يلتزم مرضانا بأفضل العلاج ليتم الشفاء من عندك يا شافي ويا كافي اللهم بلغنا رمضان سالمين معافين مباركين صائمين قائمين وقد أذهبت عنا وعن العباد والبلاد هذا الوباء ذهابا لن يرجع أبدا وأنت على كل شيء قدير لا إله الا أنت سبحانك إني كنت من الظالمين وصلى الله على محمد وعلى آله وصحبه أجمعين والحمدلله رب العالمين

มุสลิมกับการแก้วิกฤต COVID-19

ในขณะที่โลกตกในอาการภวังค์จากโรคระบาดไวรัส COVID-19 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังและความสามารถเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้

ก่อนหน้านี้ โลกโดยเฉพาะชาวตะวันตกและบรรดาผู้เสพสื่อตะวันตกทั้งหลาย พากันเกิดอาการอิสลาโมโฟเบียกันทั่วหน้า ถึงขนาดนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยกล่าวว่า อิสลามคือต้นตอของปัญหา ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐเคยกล่าวว่าอิสลามเกลียดชังพวกเรา

แต่จากวิกฤต COVID-19 นี้โลกได้รู้จักคุณูปการบางส่วนของมุสลิม ที่ยืนยันได้ว่าหากมุสลิมเข้าใจและปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว เขาไม่เพียงแต่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมมุสลิมเท่านั้น แต่จะขยายผลไปยังสังคมอื่นทั่วโลกด้วย

เราลองมาดูผลงานเล็กๆน้อยๆของมุสลิมในระดับโลกที่มีส่วนแก้ปัญหาวิกฤติ COVID-19 นี้บ้าง

1. Omar Ishrak (64ปี) มุสลิมชาวบังคลาเทศ ได้รับสัญชาติอเมริกัน ดีกรีด็อกเตอร์วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท Medtronic บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีบริษัทลูกกระจายกว่า 150 ประเทศทั่วโลก มีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องช่วยหายใจ รุ่น PB 560 ชนิดพกพาได้สะดวกใช้สำหรับเด็กและผู้ใหญ่โดยใช้ได้ทั้งใส่หน้ากากและเจาะคอ มีแบตเตอรี่ในตัวใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดนี้เป็นที่ต้องการทั่วโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ แต่เนื่องจากบริษัท Medtronic ถือลิขสิทธิ์ผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้แต่เพียงบริษัทเดียว จึงไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการได้ Omar Ishrak ได้เป็นผู้ผลักดันโครงการถอนลิขสิทธิ์การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์นี้ โดยร่วมมือกับบริษัทต่างๆทั่วโลก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีระดมผลิตเครื่องช่วยหายใจนี้ โดยมีปรัชญาการทำงานว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาเยียวยาจากอุปกรณ์ที่ทันสมัย
https://daaarb.com/%D8%B9%D9%85%D8%B1-%D8%A5%D8%B4%D8%B1%D8%A7%D9%82-%D9%82%D8%B5%D8%A9-%D8%A7%D9%84%D9%85%D8%AF%D9%8A%D8%B1-%D8%A7%D9%84%D8%B0%D9%8A-%D9%88%D9%82%D9%81-%D9%88%D8%B1%D8%A7%D8%A1-%D9%85%D8%A8%D8%A7/?fbclid=IwAR12xSWyu8ItAxN44At78o3RVH67P1L9sZK_tS5XiUycAaGbT0R2EYT_-Xc

2. ‏บุคลากรทางการแพทย์ที่ประเทศอังกฤษ 4 คนแรกที่เป็นเหยื่อ COVID-19 ล้วนเป็นมุสลิม กระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษได้รายงานบุคลากรทางการแพทย์ 4 คนแรกได้เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ Amged el-Hawrani(Sudan), Adel el-Tayar(Sudan),Habib Zaidi(Pakistan)และ Alfa Saadu(Nigeria) โดยทั้ง 4 ท่านได้รับสัญชาติอังกฤษ เป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีประวัติการทำงานอันโดดเด่น โดยรัฐบาลอังกฤษประกาศทั้ง 4 ท่านเป็นฮีโร่ของชาติ โดยเฉพาะ นายแพทย์อาดิล ที่ได้เกษียณราชการแล้ว แต่อาสาเป็นทัพหน้ารักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 ตามคำประกาศของรัฐบาลเพื่อเป็นกำลังเสริมในภารกิจนี้ (ดูที่
http://www.ypagency.net/248681)

3. Hibah Mustafa สาวมุสลิมะฮ์จากประเทศอิยิปต์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ตรวจหาไวรัส COVID-19 ที่มหาวิทยาลัย John Hopkins สหรัฐอเมริกา โดยเธอให้สัมภาษณ์ว่า ภายในเดือนเมษายนนี้ อุปกรณ์ชนิดนี้ มีศักยภาพตรวจหาไวรัสโควิด 19 ได้ 1,000 รายต่อวัน โดยสามารถยืนยันผลภายใน 3 ชั่วโมง
ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.net/news/women/2020/3/19/%d8%b7%d8%a8%d9%8a%d8%a8%d8%a9-%d9%85%d8%b5%d8%b1%d9%8a%d8%a9-%d8%b4%d8%a7%d8%a8%d8%a9-%d8%aa%d8%b4%d8%a7%d8%b1%d9%83-%d9%81%d9%8a-%d8%aa%d8%b7%d9%88%d9%8a%d8%b1-%d9%81%d8%ad%d8%b5-%d9%83%d9%88%d8%b1%d9%88%d9%86%d8%a7-%d8%a8%d8%ac%d8%a7%d9%85%d8%b9%d8%a9-%d8%ac%d9%88%d9%86%d8%b2-%d9%87%d9%88%d8%a8%d9%83%d9%86%d8%b2?fbclid=iwar1aeo7acp0meiukz4ufafqazqclpz_j88pfjgmhwuski5gjialjrpyvcl8

ยังไม่รวมถึงมาตรการการป้องกันโรคระบาดที่อิสลามได้นำเสนอให้ชาวโลกปฏิบัติทั้งมาตรการการกักตัว คนในอย่าออกคนนอกอย่าเข้า มาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคม การรักษาความสะอาด หลักการโภชนาการที่ฮาลาลและมีประโยชน์ การใช้หลักกันดีกว่าแก้ การคำนึงถึงหลักเจตนารมณ์ทางศาสนบัญญัติ การเยียวยารักษา เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่ามุสลิมและอิสลามหาเป็นตัวปัญหาของโลกแต่อย่างใด ทว่ามุสลิมคือพลังหลักในการพัฒนาประชาคมโลกในขณะที่อิสลามคือศาสนาแห่งความโปรดปรานแก่สากลจักรวาล

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

โควิด-19 | COVID-19

เมื่อโลกขยับ รับลูก ที่ถูกสั่ง
ส่งมายัง ผืนหล้า ถิ่นอาศัย
เพื่อทดสอบ ทดลอง คัดกรองใจ
โลกหวั่นไหว ลุกลาม ตามไม่ทัน

ชื่อโควิด รุ่น19 เจ้าดุดัน
พุ่งทะยาน โจมจู่ ชาวอู่ฮั่น
เจ้าสำแดง แรงฤทธิ์ ขวิดทุกวัน
ไม่เลือกชั้น ใหญ่โต ในโลกา

เป็นวาระ แห่งชีวิต ลิขิตนี้
ต่างก็มี ตัวตน ให้ค้นหา
โลกจารึก จดจำ ในตำรา
ความศรัทธา ตัวชี้วัด ต้องจัดไป

ขออัลลอฮฺ ปกป้อง คุ้มครองเถิด
ความประเสริฐ เมตตา มาหลั่งไหล
ความทุกข์ร้อน รันทด จงหมดไป
ขออภัย ในผิดพลาด บังอาจเทอญ

Amin Yaena
29-3-2020

อย่าลืมสร้างภูมิให้ตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

# ข้างในก็สำคัญ #

ดุอาอ์ก็แล้ว ใส่หน้ากากก็แล้ว กักตัวในบ้านก็แล้ว
ซื้อของตุนก็แล้ว ล้างมือก็สิบรอบแล้ว
อย่าลืมที่สำคัญมากอีกอย่างนึงเนาะ #ดูแลตัวเองให้แข็งแรง
เราตั้งกำแพงล้อมคอกดิบดี แต่ถ้าทหารของเราอ่อนแอ
ข้าศึกจู่โจมเมื่อไหร่เราก็รอดยาก

อย่าลืมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง อันนี้สำคัญมาก

รู้มั้ย?
อัลลอฮสร้างทหารในร่างกายเรา มีชื่อว่ามิสเตอร์แอนตี้บอดี้
เจ้าทหารกลุ่มนี้มีหน้าที่ดักจับศัตรูที่เรียกว่าเชื้อโรค
และคอยปกป้องไม่ให้ข้าศึกจากภายนอกมารุกราน

ทหารพวกนี้จะมีกลไกสร้างความแข็งแรงให้ตัวเอง
ถ้าเจ้าของประเทศช่วยดูแลแวดล้อมของพวกเค้าให้ดี ด้วยการดูแลตัวเองให้ดี

เพราะฉะนั้น ภารกิจสำคัญไม่แพ้กันตอนนี้คือ
#เราต้องช่วยให้ทหารในร่างกายเราแข็งแรง
ยังไงบ้าง?
ส่วนใหญ่ก็เรื่องเบสิคๆที่ครูสอนตอนอยู่ประถมนั่นล่ะ
หลักพื้นฐานของการกินดีอยู่ดี

#พิถีพิถันเรื่องการกิน กินอาหารดีๆมีประโยชน์ เลี่ยงกินอะไรที่เสี่ยงเกิดโรค
เปลี่ยนหน้ากากทุกวัน แต่ยังกินอาหารขยะ ชาไข่มุกวันสองแก้วงี้
อันนี้ก็ไม่ไหวป่ะ
ช่วงนี้เป็นไปได้ก็ทานผักผลไม้ให้เยอะหน่อย อาจทานวิตามินเสริมเพิ่มไปสวยๆ
กินวิตซี ฮับบะตุสเซาดาอ์ทุกคืนงี้
บำรุงให้ทหารเราแข็งแรง อินชาอัลลอฮน่าจะช่วยได้

#พิถีพิถันเรื่องการนอน พักผ่อนให้เพียงพอ
เอาเข้าจริง ถ้าจะต้องติดตามข่าวสารเพราะกลัวมาก
ชนิดนอนน้อยตาย้อยเพลีย ก็ไม่ไหวเหมือนกันเนาะ
ถ้าเรานอนน้อยพักผ่อนไม่พอ ร่างกายมันก็อ่อนแอลง
เพราะทหารในร่างกายไม่มีเวลาชาร์จพลังงาน เราก็จะป่วยง่ายขึ้น
รู้ข่าวตั้งเยอะแยะมากมาย แต่ร่างกายกลับอยู่ในโหมดพร้อมโดนจู่โจมงี้
อันนี้ก็ไม่ไหว

#พิถีพิถันเรื่องหัวใจ รู้จักปล่อยวางบ้าง
ถ้าเราเสพข่าวมากจนวิตกกังวล แนะนำให้วางลงบ้างก็ได้เนาะ
จำไว้ว่า fear can do more harm than virus
ความกลัวอันตรายกว่าไวรัสมากมาย
เวลาเสพข่าวเยอะ เราจะกลัวมากขึ้น
พอกลัวมาก เราอาจตระหนกมากขึ้น จนพาลวิตกกังวล
และพอกังวลมากเข้า นอกจากทหารเราจะเพลียแล้ว
ฮอร์โมนความสุขในร่างกายก็หลั่งน้อยลง ความเป็นกรดก็เพิ่มขึ้น
พอร่างกายมีกรดเยอะ เราจะป่วยง่ายขึ้น
ไปๆมาๆ ไอ้คนที่รู้เยอะสุดนี่แหละที่จะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายสุด
ready school China เรียบร้อยโรงเรียนจีน …

#พิถีพิถันเรื่องความสะอาด ล้างมือบ่อยขึ้น ตั้งใจขึ้น
อันที่จริง ไม่ต้องรอโควิดมาเราก็ต้องอยู่สะอาดเนาะ เพราะอิสลามเราเน้นเรื่องนี้มาก
อัลลอฮรักความสะอาด พระองค์รักบ่าวที่สะอาด
ศาสนาเราจึงมีอะไรครอบคลุมเรื่องการดูแลความสะอาดกายและใจเยอะแยะมากมาย

พวกเราถูกสอนให้ล้างมือล้างหน้ากันทุกวัน
ผ่านการเอาน้ำละหมาด วันละตั้ง 5 เวลาเป็นอย่างน้อย
ถ้าเราจริงจังกับสิ่งที่อัลลอฮสั่งใช้นะ
ชีวิตเราจะสวยปลอดโรคแบบไม่ต้องรอโควิดมาไล่ขวิดเลยอ่ะ อันนี้พูดจริง

พูดถึงการเอาน้ำละหมาด มีอย่างนึงที่อยากจะบอกให้เราใคร่ครวญกัน

ถ้าเราตั้งใจเอาน้ำละหมาดจริงๆ
ทำอย่างบรรจงเหมือนตอนนี้ที่เราตั้งใจล้างมือเพราะกลัวเจ้าโควิดนะ
ชีวิตเราคงจะน่ารักขึ้นเยอะเลย
ช่วงนี้เราล้างมือกันอย่างพิถีพิถัน เพราะเรากลัวว่าเจ้าเชื้อโรคจะตกค้าง
แต่ตอนเอาน้ำละหมาด เราจริงจังเบอร์นี้มั้ยนะ?
ทั้งๆน้ำละหมาด มันช่วยกำจัดอะไรได้มากกว่าเชื้อโรคอ่ะ
แต่เรากลับไม่ซีเท่ากลัวโควิด
ถ้าเรากลัวบาปเหมือนที่เราขยะแขยงเชื้อโรคบ้าง คงจะดีเนอะ …
หากเราได้เห็นบาปที่มันร่วงตอนเอาน้ำละหมาด เราคงพิถีพิถันกันทุกคน
บาป..มันสกปรกและอันตรายกว่าเชื้อโรคมากมาย
แต่นั่นล่ะเนาะ..บาปมันเป็นนามธรรมไง เรามองไม่เห็น เราเลยไม่ใส่ใจนัก
แต่กระนั้นเจ้าตัวเชื้อโรคเองเราก็มองไม่เห็นนี่นา
ทำไมเราถึงตั้งใจและกลัวเว่อร์
คงเป็นเพราะเราเชื่ออะเนาะ เราเชื่อว่ามันมีอยู่จริง
ความเชื่อมันมีอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์มาก
เราจึงลงมือทำและตั้งใจกลัวโควิดกันมากมาย

ถ้าเราเชื่อและตระหนักว่าบาปบุญมีจริงแม้จะมองไม่เห็น
เชื่อว่าชีวิตเราคงเปลี่ยนไปมากอ่ะ
เราคงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น เธอว่าจริงมั้ย? …

สุดท้าย ท้ายสุด อยากให้จำไว้เสมอเนาะ
ไม่ต้องเครียดและวิตกเกินไป
โควิด powerful แค่ไหน มันก็เป็นแค่มัคลู้กตัวหนึ่งของอัลลอฮ
มีแสนยานุภาพมากแค่ไหน ก็ไม่มีทาง powerful เท่าผู้สร้างมัน
เรามีอัลลอฮ ผู้ทรงอานุภาพเหนือสิ่งอื่นใด วางใจเนาะ
ป้องกันตัวเอง แล้วมอบหมายอย่างหนักแน่น
ให้เชื่อมั่นว่าพระองค์จะดูแลเรา
because Allah loves you more than you love yourself.

แค่อยากให้เธออุ่นใจ
แค่อยากให้เธอปลอดภัย
เมื่อเธอเปลี่ยนจากข้างใน
อะไรข้างนอกก็เปลี่ยนตาม

ด้วยรักและดุอาอ์ให้กันและกันเนาะ ❤️

เขียนโดย ครูฟาร์ Andalas Farr

การปิดมัสยิดเนื่องจากวิกฤตโคโรนาและวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลาม (ตอนที่ 2)

บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)

*****

5. การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายศาสนา

ผู้ที่คัดค้านฟัตวามัสยิดปิดกล่าวว่า การรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิต อันเป็นหลักการพื้นฐานประการหนึ่งที่อุลามาอ์ประชาชาติอิสลามเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์

ณ จุดนี้ จำเป็นที่จะชี้แจง 3 ประการ

ประการแรก : ไม่เป็นความจริงที่อุลามาอ์อุศูลุลฟิกฮ์เห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า การรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิต
เพราะมีทัศนะจำนวนมากเห็นว่า กว่าการรักษาชีวิตสำคัญกว่าการรักษาศาสนา

อันเป็นทัศนะของนักอุศูลุลฟิกฮ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายท่าน เช่น อัลรอซี ,อัลกอรอฟี, อัลบัยฎอวีย์, อิบนุตัยมียะฮ์ , อัลอิสนะวีย์, อัลซัรกะซีย์ ฯลฯ เพราะการรักษาศาสนาเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรักษาชีวิตก่อน และเพราะว่าอัลลอฮ์อนุโลมให้กล่าวคำพูดหลอกๆ ที่บ่งบอกถึงเป็นการสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมเพื่อรักษาชีวิต

ประการที่สอง : สมมติว่าการรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิตเป็นทัศนะที่ถูกต้อง การงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ก็ไม่ใช่เป็นการทำลายศาสนา เพราะยังมีการละหมาดที่บ้านและละหมาดซุฮ์รี่แทนละหมาดวันศุกร์

ประการที่สาม สมมติว่าการรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิตเป็นทัศนะที่ถูกต้อง แต่เมื่อเป้าหมายหลักที่จำเป็นสูงสุดของศาสนา อันได้แก่ การรักษาชีวิต ขัดแย้งกับเป้าหมายเสริม อันได้แก่ การละหมาดญามาอะฮ์ เป้าหมายหลักที่จำเป็นสูงสุดของศาสนาในการรักษาชีวิต ต้องมาก่อนเป้าหมายเสริมในการรักษาศาสนา อันเป็นทัศนะของนักวิชาการและผู้มีปัญญาทั่วไป

6. อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล

คุณสมบัติของนิติศาสตร์อิสลามคือ ความโดดเด่นของเหตุผลและการไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่แปลกที่กรณีปิดมัสยิดเพราะไวรัสโคโรนาการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้คนมากมายเข้าใจนิติศาสตร์อิสลามผ่านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้หลักเกณฑ์นิติบัญญัติทางหลักกฎหมายอิสลาม

จึงมีผู้กล่าวว่า พวกท่านสั่งปิดมัสยิดได้อย่างไร ทั้งๆที่มัสยิดเป็นสถานที่บำบัดรักษาโรคร้าย

และมีผู้กล่าวว่า หลักฐานการห้ามปิดมัสยิดคือ อัลลอฮ์กล่าวว่า

وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنْ مَنَعَ مَسَاجِدَ اللَّهِ أَنْ يُذْكَرَ فِيهَا اسْمُهُ وَسَعَى فِي خَرَابِهَا

“และผู้ใดที่อธรรมยิ่งกว่าผู้ห้ามการรำลึกถึงนามของอัลลอฮ์ในมัสยิดของอัลลอฮ์ และพยายามทำให้เสื่อมโทรม” (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 114 )

บ้างกล่าวว่า โรคระบาดมีสาเหตุมาจากบาป การรักษาทำโดยการละหมาด ไม่ใช่การปิดมัสยิด

บางคนเชื่อมโยงความเชื่อในการลิขิตของอัลลอฮ์กับการเป็นโรคร้าย อีกทั้งยามใดที่เกิดความหวาดกลัว ท่านนบีก็จะไปละหมาด แต่เมื่อเรากลัวไวรัสกลับไปปิดมัสยิด

ตลอดจนหลักฐานที่ไม่ถูกต้องอื่น ๆ ที่ทำให้ศาสนาถูกตั้งข้อสงสัยและข้อกล่าวหาในโลกที่เปิดกว้างนี้

7. การไม่ยอมรับนิติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์และคำถามเกี่ยวกับการกระทำของซอฮาบะฮ์และชนรุ่นก่อนในข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกัน

คำถามที่ผู้ต่อต้านการปิดมัสยิดจำนวนมาก คือ โรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในยุคของท่านอุมัร บินค๊อตตอบ และคนอื่น ๆ พวกเขาเคยปิดมัสยิดหรือไม่ ? แม้ว่ามัสยิดจะถูกปิดและละหมาดญามาอะฮ์ถูกงดในยุคกาฬโรคระบาด แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า เพียงคำถามก็บ่งบอกถึงปัญหา จำเป็นหรือไม่ที่ทุกประเด็นใหม่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ ต้องมีแบบอย่างในประวัติศาสตร์ของซอฮาบะฮ์และชนรุ่นแรก ปัจจุบันเรามีความรู้ด้านการแพทย์เหมือนที่พวกท่านเหล่านั้นมีในยุคนั้นหรือ ? เราต้องปฏิบัติเกี่ยวกับไวรัสตามความรู้ที่เรามี เหมือนดังที่ท่านเหล่านั้นปฏิบัติต่อการระบาดของกาฬโรคในเมืองอัมมะวาสหรืออื่นๆ ในอดีตหรือ ?

ในการประชุมคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่กับนักคิดชาวโมร็อกโกศาสตราจารย์อบูซัยด์ อัลอิดรีสีย์ ท่านบอกว่า ช่วงเวลาของความเห็นทางกฏหมายอิสลามไม่ควรเกิน 100 ปี หลังจากนั้นแล้วเราต้องอิจติฮาดใหม่ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ท่านจำกัดระยะเวลาจากหะดีษเกี่ยวกับนักปฏิรูปที่อัลลอฮ์ส่งมาช่วงเริ่มต้นของทุก ๆ ร้อยปีหรือ ?

ท่านตอบว่า : ใช่

ข้าพเจ้ากล่าวว่า แต่ความเป็นจริงทางกฎหมายอิสลามบอกว่าระยะเวลาน้อยกว่านั้น ระยะเวลาระหว่างอาบูฮานิฟะฮ์และลูกศิษย์สองคนของท่าน ประมาณสามสิบหรือสามสิบห้าปี แต่ลูกศิษย์ทั้งสองของท่านมีความเห็นต่างจากอบูฮานีฟะฮ์ถึงสามในสี่ของมัซฮับ เหตุผลคือความแตกต่างด้านเวลาและสถานที่ ไม่ใช่ตัวบทหลักฐาน

ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ใหม่ทำให้นักกฎหมายอิสลามต้องวินิจฉัยใหม่จากเจตนารมณ์และเป้าหมายของศาสนา ที่สานต่อมรดกทางวัฒนธรรม และก้าวไปตามกาลเวลาและพัฒนาการใหม่ๆ ที่สะท้อนจิตวิญญาณที่แท้จริงของศาสนา

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 1 : https://www.theustaz.com/?p=3230

อย่าทำเป็นเล่นกับสัญญาณของพระเจ้า

ความดันทุรังของปวงประชา
ความไม่ประสาของรัฐบาล
คือสองพลังแห่งความวิบัติ

จากที่เคยตะเบ็งว่า เอาอยู่
อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมหมู่

จากที่เคยบายานว่าเราศรัทธา
อาจเห็นโลงศพพร้อมน้ำตา

จากที่เคยมองข้ามไวรัสร้าย
อาจทำให้ทุกอย่างสิ้นมลาย

———
อย่าทำเป็นเล่นกับสัญญาณของพระเจ้า
وما نرسل بالآيات إلا تخويفا
“และเรามิได้ส่งสัญญาณลงมา เว้นแต่เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่มนุษย์เท่านั้น” (อิสรออฺ/59)

اللهم لا تهلكنا بما فعل السفهاء منا
โอ้อัลลอฮ์ อย่าได้ทำลายพวกเรา เนื่องจากผลงานของคนโง่เขลาในหมู่เรา

اللهم أعذنا وأعذ جميع أولادنا وأزواجنا وذرياتنا وإخواننا وأخواتنا ومشايخنا وطلابنا وطالباتنا ومن أوصانا بالدعاء والمسلمين والمسلمات والعباد والبلاد من البرص والجنون والجذام وسيئ الأسقام ووباء كورونا ومن جهد البلاء ودرك الشقاء وسوء القضاء وشماتة الأعداء واشف مرضانا واحفظنا جميعًا بحفظك الحصين من كل سوء ومكروه يا عزيز يا غفار يا ذا الجلال والإكرام

การปิดมัสยิดเนื่องจากวิกฤตโคโรนาและวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลาม (ตอนที่ 1)

บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)

*****

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเนื่องจากไวรัสโคโรนา องค์กรฟัตวาทั่วโลก รวมถึงนักวิชาการอิสระจากทั่วโลก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสและความสะดวกในการติดเชื้อ ฟัตวาที่โดดเด่นที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการฟัตวาปิดมัสยิดเพื่อปกป้องผู้คนจากไวรัสโคโรนา ซึ่งผู้คนมีความเห็นแตกต่างกันสุดกู่ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีบางส่วนคัดค้าน โดยอ้างฟัตวาของนักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงและนักสอนศาสนาบางคน บางคนหันไปใช้รูปแบบประหลาดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการฟัตวาปิดมัสยิดและป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การแยกผู้ละหมาดในมัสยิดเพื่อให้อยู่ห่างๆกันระยะหนึ่งเมตร หรือการละหมาดหลายๆญามาอะฮ์ในมัสยิดเดียวกันในวันศุกร์ ภาพเหล่านี้และภาพอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจความเป็นจริงของไวรัส และวิธีการติดต่อ รวมถึงการขาดเจตนารมณ์นิติศาสตร์และความหมายของการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ สิ่งที่ต้องการชี้แจงในบทความนี้คือการสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลามร่วมสมัยซึ่งเป็นที่ประจักษ์ดังนี้

1. นักกฎหมายอิสลามเป็นผู้ตามการบัญชาของผู้มีอำนาจทางการเมือง

เป็นที่สังเกตว่าผู้ฟัตวาส่วนใหญ่ที่แนะนำให้งดการชุมนุมและการรวมกลุ่ม มักตัดสินใจตามการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทางการเมืองและฝ่ายสาธารณสุขในประเทศ และด้วยเหตุนี้นักฟัตวาจึงจำกัดและขัดขวางการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยอาศัยคำสั่งจากผู้ปกครองในประเทศ ไม่ใช่การฟัตวาที่กำหนดนโยบายทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าบทบาทของนักกฎหมายอิสลามนั้น จำกัดอยู่ในขอบเขตการตัดสินใจของผู้ปกครอง และการหาข้ออ้างทางกฎหมายให้แก่พวกเขา ข้าพเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้มีการปะทะหรือแย้งกันระหว่างนักกฎหมายกับผู้มีอำนาจ แต่ต้องการปลดปล่อยให้นักกฎหมายมีอิสระในการวินิจฉัย และเพื่อค้นหาผู้มีความรู้ความสามารถในการพิจารณาและพิทักษ์ผลประโยชน์ที่แท้จริง ที่ผู้มีอำนาจต้องทำตาม ไม่ใช่ตรงกันข้าม นอกจากนั้นปฏิกิริยาของประชาชนซึ่งบางครั้งปฏิเสธที่จะปิดมัสยิดก็สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของนักกฎหมายและนักสอนศาสนาในการสร้างแนวคิดและสภาพแวดล้อมที่ยอมรับการตีความใหม่ ที่ทำให้การพิทักษ์ชีวิตเป็นแกนพื้นฐาน ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้ที่อิสลามทำให้มนุษยชาติเสี่ยงชีวิตเพื่อพิธีกรรมทางศาสนาที่มีรูปแบบหลากหลายและทดแทนกันได้

2. การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับอนาคตศึกษาและการคาดการณ์

คุณสมบัติของนิติศาสตร์อิสลามคือ ความโดดเด่นของเหตุผลและการไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่แปลกที่กรณีปิดมัสยิดเพราะไวรัสโคโรนาเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้คนมากมายเข้าใจนิติศาสตร์อิสลามผ่านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้หลักเกณฑ์นิติบัญญัติทางหลักกฎหมายอิสลาม

อิหม่ามซุฟยาน อัลเซารีย์ กล่าวว่า : “เมื่อบททดสอบสิ้นสุดลงทุกคนเข้าใจคำตอบ แต่เมื่อเริ่มมาถึงจะไม่มีผู้ใดเข้าใจยกเว้นผู้รู้เท่านั้น”

ดังนั้น นักกฎหมายอิสลามคือผู้ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้ววินิจฉัยบทบัญญัติตามหลักนิติวิธีก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง และไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นเสียก่อนแล้วค่อยวินิจฉัยเหมือนคนทั่วๆไป

กรณีโคโรนา นักกฎหมายอิสลามก็เหมือนคนทั่วไป พวกเขาไม่ได้ฟัตวาให้หยุดการชุมนุมทางศาสนา นอกจากหลังจากที่ไวรัสได้แพร่กระจาย และเข้าใกล้เขตอันตรายแล้ว ดังนั้นบทบาทของฟัตวาจึงถูกจำกัดอยู่ในวงที่เล็กและมีอิทธิพลน้อยกว่ากรณีที่พวกเขาสามารถคาดการณ์เท่าทันการวินิจฉัยทางการแพทย์ และศึกษาผลกระทบของไวรัสในประเทศอื่นๆ

นักกฎหมายอิสลามจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจารีตในสังคมที่อ่อนแอและล้าหลังในเรื่องอนาคตศาสตร์ จึงอาศัยอยู่กับปัจจุบันด้วยวัฒนธรรมของอดีตที่ผ่านมา และน้อยนักที่จะมองถึงการคาดการณ์ในอนาคต

3. การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส

ในการสนทนากับนักกฎหมายอิสลามจำนวนมาก ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกเขาบางคนไม่เชื่อนอกจากสิ่งที่มีตัวตนสัมผัสได้ ต้องการเห็นไวรัสด้วยตาจึงจะเชื่อ หรือต้องแลกชีวิตของคนใกล้ชิดจึงจะเชื่อในอันตรายของไวรัสนี้ พวกเขาเชื่อว่าเป็นเพียงแผนร้ายที่ต้องไม่เชื่อ อย่าว่าแต่ต้องหยุดพิธีกรรมทางศาสนา คนเหล่านี้ต้องการละหมาดวันศุกร์ด้วยคนจำนวนน้อยหรือตามรูปแบบดังกล่าวตอนต้นของบทความ ที่ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางการแพทย์ขั้นต่ำเกี่ยวกับไวรัส ตลอดจนภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่ของไวรัสชนิดนี้ รวมถึงความเร็วของการแพร่กระจาย และบุคคลที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆก็ได้ และไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ พวกเขาไม่ทราบว่าผู้หญิงเพียงคนเดียวได้แพร่กระจายไวรัสชนิดนี้ในเกาหลีเนื่องจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในโบสถ์แห่งหนึ่ง รวมถึงความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของผู้ละหมาดในมัสยิดที่มักเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตมากที่สุด ตลอดจนประเพณีของชาวมุสลิมในมัสยิดที่มักจับมือกัน กอดและสุหยูดในที่ที่มีผู้อื่นสุหยูดแล้ว อันจะทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายอย่างยิ่ง

4. ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลาม

สำหรับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลามเพื่อให้มีการแบ่งความเชี่ยวชาญและเราควรมีนิติเวชอิสลาม นิติเศรษฐกิจอิสลาม … ฯลฯ นิติเวชอิสลามมีการศึกษาทางการแพทย์ มีเครื่องมือในการวิจัยและสามารถประเมินข้อมูลที่อ่านได้

ทั้งนี้ เพราะว่าปัญหาทางการแพทย์และเศรษฐกิจนิติศาสตร์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้น บางครั้งมาจากความผิดพลาดในการนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนออย่างไม่ถูกต้อง

ยุคนี้หมดยุคนักสารานุกรมซึ่งเป็นที่รู้ลึกทุกด้าน เพราะโลกปัจจุบันมีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงกัน ระบบของความคิดทางนิติศาสตร์อิสลามจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

อ่านบทความต้นฉบับ
https://blogs.aljazeera.net/…/%D8%A5%D8%BA%D9%84%D8%A7%D9%8…

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 2 : https://www.theustaz.com/?p=3286