ตะกอนความคิดรอมฎอน

ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น

หลายคนโพสต์รูปคนละหมาดที่มัสยิดหะรอมด้วยวิธีทิ้งระยะห่าง เพื่อสนับสนุนความคิดของตนว่า “แล้วทำไมบ้านเราทำเช่นนี้บ้างไม่ได้”

ผมมีข้อสังเกตบางประการดังนี้ครับ
1. เท่าที่ทราบมา มาตรการนี้ใช้เฉพาะมัสยิดหะรอมที่มักกะฮ์และมัสยิดนบีที่มะดีนะฮ์เท่านั้น เช่นเดียวกันกับมัสยิดอัลอักศอที่บัยตุลมักดิส เพื่อธำรงไว้ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอิสลามเท่านั้น

2. การละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นเหตุในภาวะฉุกเฉินที่มีการพิจารณาในทุกแง่มุมอย่างละเอียดรอบคอบและมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างรัดกุมในทุกขั้นตอน ทั้งการควบคุมจำนวนคน การตรวจสุขภาพ และจำกัดการเคลื่อนที่ของผู้ละหมาด ตามหลักชะรีอะฮ์ที่กำหนดว่า “ควรต้องประเมินภาวะฉุกเฉินในวงจำกัดของมันเท่านั้น”
الضرورة تقدر بقدرها

3.หากมาตรการยืนแถวโดยทิ้งระยะห่างได้ผลจริง ทางการน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปละหมาดในมัสยิดอีกนับหมื่นคน ซึ่งเชื่อว่า พื้นที่มัสยิดอันกว้างใหญ่ทั้ง 3 แห่งนี้ น่าจะเพียงพอรองรับผู้คนมากมายโดยใช้วิธีดังกล่าว

4. เท่าที่ทราบ ทางการซาอุฯหรือสำนักกิจการมัสยิดอัลอักศอ อนุญาตให้ละหมาดอย่างมีข้อจำกัดใน 3 มัสยิดนี้เท่านั้น และยังไม่เปิดกว้างให้ละหมาดในระดับประเทศหรือแม้กระทั่งในมัสยิดทั่วนครมักกะฮ์หรือนครมะดีนะฮ์ ทั้งๆที่มีมัสยิดใหญ่โตมากมายและมีอาณาบริเวณที่กว้างขวาง

5. เท่าที่ทราบ ยังไม่เห็นปฏิกิริยาของประชาชนชาวซาอุฯ หรือชาวบัยตุลมักดิส ที่ไม่พอใจกับมาตรการนี้ ยังไม่เห็นชาวมุสลิมที่อาศัยบริเวเณ 3 มัสยิดอันทรงเกียรตินี้ ออกชุมนุมหน้าประตูมัสยิดพร้อมกดดันรัฐบาลและเรียกร้องสิทธิของพวกเขาให้อนุญาตละหมาดในมัสยิดตามปกติหรือใช้วิธีทิ้งระยะห่างตามที่ได้ปฏิบัติมา

6. เข้าใจความหึงหวงของพี่น้องที่จะปกป้องรักษาอัตลักษณ์ของอิสลามให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป และความรู้สึกนี้ไม่มีใครถือลิขสิทธิ์เพียงเฉพาะตนหรือกลุ่มตนเท่านั้น เพียงแต่อย่าให้เป็นเพราะความหึงหวงต่อศาสนา ทำให้พี่น้องต้องแสดงอาการวู่วามโวยวาย ใช้คำพูดที่ทิ่มแทงความรู้สึกของคนอีกหลายคนโดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่และผู้นำหรือคนเห็นต่าง หากมีความจำเป็นที่จะต้องพูดหรือแนะนำ ก็ควรเลือกสรรคำพูดที่ดีๆ ดึงดูดผู้คนไม่ใช่ขับไล่ไสส่ง นึกถึงผลประโยชน์ในภาพรวม ไม่ใช่คำนึงถึงผลพลอยได้อันฉาบฉวย เพราะมารยาทอันงดงาม คือส่วนหนึ่งที่สำคัญของอัตลักษณ์ในอิสลามเช่นกัน สัจธรรมเป็นของอัลลอฮ์ ผู้รู้มีหน้าที่เผยแพร่และเชิญชวน แต่เขาไม่มีสิทธิ์บังคับให้ผู้คนปฏิบัติตามแม้กระทั่งนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติและจำเริญจงมีแด่ท่าน) ที่อัลลอฮ์กำชับเตือนให้ท่านทราบว่า “ ท่านไม่มีอำนาจใดๆที่จะบีบบังคับให้พวกเขาปฏิบัติตาม” (อัลฆอชิยะฮ์/22) เพราะหน้าที่ของท่านคือชี้แนะและเชิญชวน อัลลอฮ์เท่านั้นเป็นผู้คิดบัญชีและให้การตอบแทน

เขียนโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

อีหม่านอ่อน : โรคระบาดอันดับหนึ่ง

สมรภูมิที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่สมรภูมิที่ใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกัน แต่เป็นการรบกับอารมณ์ฝ่ายต่ำของเขาเองหรือที่รู้จักกันโดยมุสลิมทั่วไปว่า “ฮาวา นัฟซู” ประกอบไปด้วยความปรารถนา กิเลส ตัณหาต่างๆ การต่อสู้ครั้งนี้สำคัญใหญ่หลวง เพราะต้องเดิมพันกันด้วยสถานะชีวิตของคนๆนั้นเลยทีเดียว ดังนั้นจึงมีผู้เรียกสมรภูมิครั้งนี้ว่า “ญิฮาด อักบัร” หรือญิฮาดใหญ่
ญิฮาด อักบัร เป็นการต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่ภายในตัวมนุษย์เอง ด้วยลักษณะของศัตรูที่ซ่อนเร้นและอยู่ใกล้ชิดอย่างที่สุด เป็นผลให้การต่อสู้มักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของมนุษย์
ความเข้าใจเบื้องต้นต่อกระบวนการต่อสู้กับ “ฮาวา นัฟซู” ในอิสลามก็คือ มันไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆให้หมดไป แต่ต้องการเข้าไปควมคุมมันไว้และสั่งการมันได้ จึงไม่แปลกที่กระบวนการต่อสู้ไม่ได้มุ่งไปที่ “การทำลาย” แต่มุ่งไปที่ “การสยบและควบคุม”

เครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะจัดการตัวตนภายในก็คือ “หัวใจ” เพราะหัวใจคือ “ศูนย์รวม” ในการกำหนดทิศทาง เจตนารมณ์ต่างๆ หัวใจในที่นี้ไม่ใช่หัวใจที่เรารู้จักกันทางกายภาพ แต่มันหมายถึงหน่วยหลักในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หัวใจจำเป็นต้องได้รับ “พลัง” ที่อัดฉีดเข้าไปภายใน นั่นคือพลังที่เราเรียกว่า “อีหม่าน” หรือ “ศรัทธา”
อีหม่านจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างหัวใจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หัวใจเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตัวตนภายในได้ อีหม่านที่มีอยู่เพียงในระดับความคิดนั้น ไม่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของคนๆหนึ่งได้ อีหม่านจะต้องซึมซับเข้าสู่หัวใจอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่อีหม่านไม่ผ่านเข้าไปสู่หัวใจก็จะเกิดภาวะ “อีหม่านอ่อน” ขึ้น หรือเราจะเรียกได้ว่าเป็นโรคอีหม่านอ่อนหรือ โรคหัวใจแข็งกระด้าง

ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((إنَّ اْلإِيْمَانَ لَيَخْلُقُ فِيْ جَوْفِ أَحَدِكُمْ كَمَا يَخْلُقُ الْثَوْبُ فَأَسْأَلُوْا اللهَ أَنْ يُجَدِّدَ اْلإِيْمَانَ فِيْ قُلُوْبِكُمْ))
แท้จริงอีหม่านในหัวใจของพวกท่านคนหนึ่งคนใดจะทรุดโทรม เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่จนเสื่อมสภาพ ดังนั้น พวกท่านจงขอต่ออัลลอฮฺ เพื่อให้พระองค์ทำให้อีหม่านมีสภาพใหม่อยู่ในหัวใจของพวกท่าน [1]

((مَا مِنَ الْقُلُوْبِ قَلْبٌ إِلاَّ وَلَهُ سَحَابَةٌ كَسَحَابِةِ الْقَمَرِ ، بَيْنَا الْقَمَرُ مُضِيءٌ إِذْ عَلَتْهُ سَحَابَةٌ فَأَظْلَمَ ، إِذْ تَجَلَّتْ عَنْهُ فَأَضَا))
ไม่มีหัวใจดวงใด เว้นเสียแต่จะมีเมฆ(ที่จะมาบดบังมัน) เช่นเดียวกับเมฆ(ที่บดบัง)ดวงจันทร์ ขณะที่มันส่องแสงนั้น เมื่อมีเมฆมาบดบังมันๆก็จะมืดมิด เมื่อเมฆจากไป มันก็จะส่องสว่างอีกครา [2]
หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับอีหม่านอ่อนและกรอบความคิดในการบำบัดมันคือต้องรู้ว่าอีหม่าน(ความศรัทธา)ในทัศนะของอิสลามนั้นสามารถ “เพิ่ม” หรือ “ลด” ได้ สิ่งนี้เป็นหลักการมูลฐานในหลักยึดมั่นของ “อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ” อันเป็นกระแสหลักของประชาชาติอิสลามส่วนใหญ่ที่ยอมรับกัน

อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ นั้นถือว่าอีหม่านคือสิ่งที่กล่าวออกมาด้วยวาจา ยึดมั่นด้วยหัวใจ และมีการกระทำผ่านหลักปฏิบัติอิสลามต่างๆ อีหม่านสามารถ “เพิ่ม” ได้ด้วยการฏออะฮฺ(เชื่อฟังปฏิบัติตามหลักการอิสลาม)และ “ลด” ลงได้จากการฝ่าฝืน(หลักการอิสลาม) ดังมีหลักฐานที่แสดงไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในอัล กุรอานไว้หลายที่ ดังตัวอย่างเช่น

((لِيَزْدَادُوا إِيمَانًا مَعَ إِيمَانِهِمْ))
เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธาให้กับการศรัทธาของพวกเขา[3]

มีข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้จากคำกล่าวของชาวสลัฟบางคนที่ว่า “ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การให้ความสนใจต่ออีหม่านว่ามันลดไปได้อย่างไร? และส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง (ก็คือ) การที่เขารู้ว่าตอนนี้มันเพิ่มหรือลด?ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การรู้ถึงการล่อลวงของชัยฏอนเมื่อมันมายังเขา”

ต่อไปเราจะมาศึกษาอาการ สาเหตุ และนำไปสู่การบำบัดรักษาจนหายขาด อินชาอัลลอฮฺ

1. วิเคราะห์อาการอีหม่านอ่อน
อาการอีหม่านปรากฏทั้งภายในและภายนอก ปรากฏทั้งส่วนบุคคลและส่งผลร้ายต่อสังคม ผลกระทบของอีหม่านอ่อนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน(พร้อมตัวอย่าง) ดังต่อไปนี้

ด้านที่หนึ่ง : วิเคราะห์อาการจากพฤติกรรมทั่วไป
1. กระทำบาปและสิ่งต้องห้ามต่างๆ
2. ทำอิบาดะฮฺอย่างลวกๆ
3. เกียจคร้านในการทำความดีทั้งหลาย
4. มองไม่เห็นค่าของความดีเล็กๆน้อยๆ และไม่เห็นอันตรายของความผิดเล็กน้อย
5. เอาแต่พูด แต่ไม่ค่อยกระทำ

ด้านที่สอง : วิเคราะห์อาการจากความรู้สึกภายใน
6. ยึดความรู้สึกตนเป็นใหญ่
7. หัวใจแข็งกระด้าง
8. อ่านอัล กุรอานอย่างไร้ความรู้สึก
9. รำลึกถึงอัลลอฮฺ แต่รู้สึกเฉย ๆ
10. คับแค้นใจ อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้า
11. ไม่รู้สึกโกรธ เมื่อมีการละเมิดในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม
12. กลัวทุกข์ภัยและปัญหาต่างๆที่ต้องประสบ

ด้านที่สาม: วิเคราะห์อาการจากความกระหายใคร่อยากต่าง ๆ
13. รักในชื่อเสียงและความโด่งดัง ตัวอย่างเช่น
13.1 กระหายตำแหน่งผู้นำ แข่งขันกันแสวงหาอำนาจ
13.2 เผด็จการในวงสนทนา คือชอบพูดข้างเดียว ไม่ชอบฟังคนอื่นพูด
13.3 ชอบให้ผู้คนยกย่อง ไม่พอใจหากไม่ได้รับคำเยินยอ
14. ตระหนี่ถี่เหนียว และมีความโลภ
15. หมกมุ่นกับโลกนี้
16. ใช้ชีวิตอย่างสำราญ

ด้านที่สี่: วิเคราะห์อาการจากความสัมพันธ์ทางสังคม
17. ไม่สนใจในกิจการของมุสลิม
18. มีความสุขกับความทุกข์ของพี่น้อง
19. ชอบทะเลาะถกเถียงกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ไม่สำคัญ
20. ชอบแบ่งเป็นฝักฝ่าย จนเกิดความแตกแยกระหว่างพี่น้องมุสลิม
21. ขาดสำนึกในการทำงานอิสลาม
เราสังเกตจากทั้ง 4 ด้าน จะพบว่าอีหม่านอ่อนไม่ได้เป็นเรื่อง “อ่อนๆ” แต่เป็นเรื่อง “หนักหนา” เพราะไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังได้เข้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมอีกด้วย

2. สาเหตุหลัก
อีหม่านอ่อนมี “เหตุ” มาจากหลายด้าน ด้านหลัก ๆ ของมัน ประกอบไปด้วย
หนึ่ง – สัมผัส , สอง – ห่างไกล , สาม – หมกมุ่น ดังต่อไปนี้

หนึ่ง – สัมผัส
1. สัมผัสอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบาป เช่น อยู่ในวงคอนเสริต์คาราบาว หรือนั่งดูมิวสิควิดีโอวง Girly Berry

สอง – ห่างไกล
1. ห่าง ไกลจากผู้คนแห่งอีหม่าน คือการไม่คบหากับคนดี ๆ
2. ห่างไกลจากการแสวงหาความรู้ เช่น ปี ๆ หนึ่งแทบจะไม่เคยฟังบรรยายธรรมเลย แม้แต่วันศุกร์ ก็ไปตอนเขากำลังจะละหมาดแล้ว

สาม – หมกมุ่น
1. หมกมุ่นอายุของชีวิต คือ คิดว่าตัวเองจะมีอายุอยู่ยืนนาน วางแผนจะหาแต่ความสุขในดุนยา ไม่คิดจะตายในเร็ว ๆ นี้
2. หมกมุ่นอยู่กับโลกนี้ เช่น ทรัพย์สิน การหาเงินทอง การแข่งขันกันเรื่องลูกหลาน
3. หมกมุ่นอยู่กับเพศตรงข้าม เช่น เรื่องการมีแฟน การหมดเวลาไปกับการสร้างเสน่ห์แก่เพศตรงข้าม

3. วิธีบำบัดขั้นพื้นฐาน
การบำบัดพื้นฐาน ต้องเข้าไปแก้ไข “เหตุ” หลัก ๆ ของมันทั้งสามด้าน ดังนั้นการบำบัดพื้นฐานก็ประกอบไปด้วย 3 ด้านเช่นกัน คือ
หนึ่ง – แยกทาง , สอง – ใกล้ชิด, สาม – รำลึก
แยกทาง 1. แยกทางกับสิ่งแวดล้อมที่บาป คือตัดขาดกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่าง ๆ กล่าวง่าย ๆ ต้อง “ฏอลาก”(หย่า) เอาแบบหย่า 3 เลยยิ่งดี
ใกล้ชิด
1. ใกล้ชิดกับผู้คนแห่งอีหม่าน คือหันมาคบหาสมาคมกับคนดี ๆ เข้าร่วมกลุ่มคนทำงานอิสลามด้วยยิ่งดีใหญ่
2. ใกล้ชิดกับความรู้อิสลาม เช่น หาที่เรียนอิสลามเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตามที่องค์กรต่าง ๆจัดขึ้น
รำลึก
1. รำลึกถึงความตาย เช่น เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมกุบูรฺ เป็นต้น
2. รำลึกถึงความต่ำต้อยของโลกนี้ คือการครุ่นคิดถึงชีวิตที่ไม่ยั่งยืนและไม่แน่นอนของโลกนี้
3. รำลึกถึงวันสิ้นโลก และชีวิตหลังความตาย(คำแนะนำ ศึกษาง่าย ๆ จากความหมายอัล-กุรอานในยูซอัมมา)
การบำบัดทั้งสามด้านนี้เป็นการ “แยกทาง” กับพื้นที่ที่ทำให้ติดเชื้ออีหม่านอ่อน แล้วนำตัวเองไป “ใกล้ชิด” หรืออยู่อาศัยในเขตปลอดเชื้อ และจัดระบอบความคิดใหม่ ด้วยการ “รำลึก” สิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยขจัดเชื้อที่หลงเหลืออยู่ พร้อม ๆ กับนำไปสู่การบำบัดที่ยั่งยืนต่อไป

4. วิธีบำบัดรักษาระยะยาว
การบำบัดรักษาระยะยาว คือการเสริมสร้างอีหม่านให้แข็งแกร่ง จำเป็นต้องอาศัย “กระบวนการ” ที่เอาจริงเอาจัง ในที่นี่ขอแนะนำการการฝึกอบรมที่เข้มข้นใน 3 เรื่องต่อไปนี้

4.1 ให้หัวใจเข้าหาอัล-กุรอาน
ท่านอิบนุ กอยยิม ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับนำหัวใจกลับสู่อัล-กุรอานเอาไว้ว่า
“มีพื้นฐาน 2 ข้อ(ในการรักษาอาการอีหม่านอ่อน)ที่ขาดเสียมิได้ หนึ่งก็คือให้ท่านเคลื่อนหัวใจของท่านจากที่พำนักในโลกนี้ และให้มันไปสถิตอยู่ในที่พำนักแห่งโลกหน้า หลังจากนั้นให้นำหัวใจของท่านทั้งหมดจดจ่ออยู่กับความหมายอัล กุรอานและความกระจ่างในนั้น เพ่งพินิจและสร้างความเข้าใจในความมุ่งหมายของมัน ว่ามันถูกประทานมาเพื่อเป้าหมายอันใด นำตัวท่านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุก ๆ อายะฮฺ แล้วกำหนดมันให้เป็นยาเพื่อบำบัดหัวใจของท่าน เมื่ออายะฮฺนี้ได้ถูกนำไปเป็นยาบำบัดหัวใจของท่านแล้ว หัวใจของท่านก็จะปราศจากโรคร้าย ด้วยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ “

การบำบัดของอัล-กุรอานนั้น ต้องนำหัวใจไปอยู่กับความหมายที่ลึกซึ้งของมัน ท่านนบีเคยใคร่ครวญความหมายในอัล กุรอาน โดยท่านได้อ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะที่กำลังยืนขึ้นละหมาดในยามค่ำคืน(ละหมาดกิยามุล ลัยลฺ)
ท่านอบูบักรเป็นผู้ชายที่นุ่มนวล มีจิตใจที่อ่อนโยน เมื่อท่านนำผู้คนละหมาด และอ่านดำรัสของอัลลอฮฺจากอัล กุรอาน ท่านไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการร้องไห้ได้
แน่นอนที่สุด บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีนั้น อ่านอัล กุรอาน เพ่งพิจารณาเนื้อหาในนั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา …

อัล กุรอานนั้น เป็นยาบำบัดที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ดังที่อัลลอฮฺได้ยืนยันไว้ว่า
((وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِلْمُؤْمِنِينَ))
และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัล กุรอานลงมาซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา[4]

4.2 ให้หัวใจผูกพันกับอัลลอฮฺ
ท่าน อิบนุ กอยยิม ได้กล่าวว่า “ในหัวใจที่แข็งกระด้าง ไม่สามารถทำให้อ่อนโยนได้อีก เว้นแต่ด้วยการซิกรฺ ฉะนั้น บ่าวคนหนึ่งที่ต้องการเยียวยาอาการหัวใจแข็งกระด้างก็ให้ใช้การซิกรฺเถิด

ชายคนหนึ่งได้กล่าวกับท่านฮะซัน อัล บัศรียฺว่า ‘โอ้ อบูสะอีด ฉันมาร้องทุกข์กับท่านเรื่องหัวใจที่แข็งกระด้างของฉัน’ ท่านตอบว่า ‘จงทำให้มันอ่อนด้วยการซิกรฺเถิด’ เพราะว่าหัวใจที่ยิ่งเพิกเฉยเท่าไร ก็ยิ่งแข็งกระด้างมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อมีการซิกรฺ หัวใจดวงนั้นก็อ่อนโยน เสมือนกับการเทตะกั่วลงไปในไฟ ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่ทำให้หัวใจอ่อนโยนเท่ากับการซิกรฺ และการซิกรฺนั้นเป็นการบำบัดและเป็นยารักษาหัวใจ การเพิกเฉยต่อมันเป็นโรค ยาและการรักษามันก็คือการซิกรฺ
ท่านมะฮูลได้กล่าวว่า ‘ซิกรฺ – การรำลึกถึงอัลลอฮฺ – นั้นเป็นการเยียวยา ส่วนการรำลึกถึงผู้คนนั้นเป็นโรค'” (อ้างจากอัล วาบิล อัศ เศาะยิบ และเราะฟิอฺ อัล กะลิม อัฏ ฏอยยิบ 142)

ชาวสลัฟบางคนได้กล่าวว่า “เมื่อซิกรฺสามารถเข้าไปฝังรากอยู่ในหัวใจแล้ว ถ้าชัยฏอนเข้ามาเมื่อใดเขาก็สามารถเอาชนะมันได้ ดังที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถทำให้ชัยฏอนที่เข้าใกล้เขาพ่ายแพ้ไป จากนั้นบรรดาชัยฏอนทั้งหลายต่างก็มารวมตัวกันรอบๆรอบตัวชัยฏอนตนนั้น พวกมันกล่าวว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับเขา?’ มีเสียงกล่าวขึ้นมาว่า ‘มันได้รับอันตรายจากมนุษย์!'” (คัดจากมะดาริจญฺ อัส ซาลิกีน 2/424)

ซิกรฺมีคุณประโยชน์มากมาย ดังปรากฏทั้งในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ รวมทั้งคำแนะนำมากมายของเหล่าอุละมาอ์ชั้นนำของโลกมุสลิม กล่าวได้ว่า ไม่มีคนใดที่ต้องการความสุขแห่งชีวิต ไม่มีใครต้องการหัวใจที่นิ่งสงบ โดยปราศจากการซิกรฺได้
อัลลอฮฺได้ยืนยันถึง หัวใจที่ “มุฏมะอินนะฮฺ”(สุขสงบ) ก็ด้วยการ “ซิกรฺ” เท่านั้น
((أَلاَ بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ))
พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ [5]

4.3 เติมเต็มเวลาด้วยความดี
พฤติกรรมของผู้ที่มีอีหม่านที่สมบูรณ์นั้น คือการบูรณาการชีวิตทั้งหมดสู่ระบอบอิสลาม ดังนั้น ผู้ที่มีอีหม่านจึงนำความดีจากคำสอนอิสลามเติมเต็มลงสู่เวลาอย่างไม่มีช่องว่าง

การเติมเต็มดังกล่าวจึงต้องมีหลักการและศิลปะ ซึ่งอิสลามได้วางเรื่องนี้ไว้ 6 ประการ

1) เร่งรีบ – การทำความดี ไม่ควร “ตั้งท่า”มาก[6] และไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((‏التُّؤَدَةُ ‏ ‏فِي كُلِّ شَيْءٍ إِلَّا فِي عَمَلِ الْآخِرَةِ))
การไม่ผลีผลามอยู่ในทุกสิ่ง ยกเว้นในการงานเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮฺ(ให้รีบเร่งในการทำความดี)[7]

2) เกาะติด – ทำต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม
มีรายงานว่า
((‏ سُئِلَ النَّبِيُّ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏أَيُّ الْأَعْمَالِ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ قَالَ ‏ ‏أَدْوَمُهَا وَإِنْ قَلَّ))
เมื่อท่านนบีฯ ถูกถามว่า “การงานใดที่อัลลอฮฺรักมากที่สุด?” ท่านตอบว่า “สิ่งที่กระทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม”[8]

3) ทุ่มเท – ทำอย่างสุดกำลังกาย กำลังใจ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการทุ่มเทของบรรดาวะลียฺ(บ่าวที่พระองค์รัก)ในการกระทำอิบาดะฮฺไว้หลายๆที่ เช่น
((‏ كَانُوا قَلِيلًا مِنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ))
พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)[9]

4) ผ่อนคลาย – ต้องเรียนรู้ศิลปะการผ่อนกำลังจะทำให้รู้สึกดีและไม่อ่อนล้า
ท่านนบีฯ กล่าวว่า
((‏ إِنَّ الدِّينَ يُسْرٌ وَلَنْ ‏ ‏يُشَادَّ ‏ ‏الدِّينَ أَحَدٌ إِلَّا ‏ ‏غَلَبَهُ ‏فَسَدِّدُوا ‏ ‏وَقَارِبُوا))
แท้จริง ศาสนานั้นง่ายดาย จะไม่มีใครสามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนักหน่วงได้โดยไม่ลดหย่อน เว้นแต่ศาสนาจะชนะเขา(เขาไม่สามารถจะทำได้) ดังนั้นจงแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง และจงอยู่ในทางสายกลาง[10]

5) ชดเชย – หากพลาดไป ต้องหาทางชดเชย เพื่อไม่ให้เสียนิสัย
ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((‏ مَنْ نَامَ عَنْ ‏ ‏حِزْبِهِ ‏أَوْ عَنْ شَيْءٍ مِنْهُ فَقَرَأَهُ فِيمَا بَيْنَ صَلَاةِ الْفَجْرِ وَصَلَاةِ الظُّهْرِ كُتِبَ لَهُ كَأَنَّمَا قَرَأَهُ مِنْ اللَّيْلِ))
ใครก็ตามที่นอนหลับไป โดยลืมบางส่วนของอัล กุรอานที่เคยอ่านตอนกลางคืนหรือส่วนหนึ่งจากอัล กุรอาน ต่อจากนั้นเขาได้อ่านมันระหว่างละหมาดฟัจญฺ(ศุบฮฺ) และละหมาดซุฮรฺ ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขา เสมือนกับที่เขาได้อ่านมันในยามค่ำคืน[11]

6) หวังการตอบรับ – จิตมุ่งตรงสู่อัลลอฮฺ, ไม่โอหัง, หวั่นเกรงว่าอัลลอฮฺจะไม่รับ
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า
((‏ سَأَلْتُ رَسُولَ اللَّهِ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏عَنْ هَذِهِ الْآيَةِ وَالَّذِينَ يُؤْتُونَ مَا آتَوْا وَقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ ‏قَالَتْ ‏‏عَائِشَةُ‏ ‏أَهُمْ الَّذِينَ يَشْرَبُونَ الْخَمْرَ وَيَسْرِقُونَ قَالَ لاَ يَا بِنْتَ ‏‏الصِّدِّيقِ ‏وَلَكِنَّهُمْ ‏ ‏الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لَا يُقْبَلَ مِنْهُمْ أُولَئِكَ الَّذِينَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ))
ฉันได้ถามท่านเราะซูลุลลอฮฺเกี่ยวกับอายะฮฺที่ว่า และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มาโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมได้ด้วยความหวั่นเกรง(อัล กุรอาน23:60) โดยถามว่า ‘พวกเขาคือผู้ที่ดื่มสุราและลักขโมยหรือ?’ ท่านเราะซูลตอบว่า ‘ไม่ โอ้บุตรสาวของ อัศ ศิดดีกฺ แต่ว่าพวกเขาถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน แต่ว่าพวกเขากลัวว่าการงานพวกเขาจะไม่ถูกรับ ชนเหล่านั้นคือผู้ที่รีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย(อัล กุรอาน23:61)[12]
หวังว่า คำแนะนำที่กล่าวมาทั้งหมดพอจะเป็นแนวทางให้พวกเรานำไปสู่การบำบัดรักษาโรค “อีหม่านอ่อน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

ที่มา : https://message2muslim.blogspot.com/2010/05/blog-post_6714.html

เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19 จะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?

#เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19
#เราจะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?

คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าพวกเขาควรจะจัดครอบครัวและเพื่อนบ้านของพวกเขาบางคนร่วมกันละหมาดวันศุกร์แบบเล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาอันเนื่องจากการปิดลงของมัสยิด บางคนถามอีกว่าพวกเขาสามารถฟังไลฟ์สดคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) จากมัสยิด แล้วละหมาดวันศุกร์ตามจากบ้านของตัวเองได้หรือไม่?

ฟัตวา (คำวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาศาสนา) ที่ผู้มีอำนาจและผู้มีความรู้ให้นั่นคือ ทั้งสองแบบนั้นไม่เป็นที่อนุญาตอย่างแน่นอน และครอบครัวหรือปัจเจกบุคคลที่อยู่บ้านจะต้องละหมาดซุฮ์รี 4 เราะกะอะฮ์แทนละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) ตามเหตุผลดังต่อไปนี้:

1. โดยทั่วไปแล้วการละหมาดวันศุกร์จะปฏิบัติกันที่มัสยิดกลางของชุมชน (หรือที่เรียกว่ามัสญิด อัล-ญามิอฺ) เฉพาะในชุมชนที่ไม่มีมัสญิดเท่านั้นที่สามารถกระทำได้อันเนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องไปละหมาดในพื้นที่อื่น ๆ ถ้ามัสยิดปิดด้วยเหตุผลซึ่งชอบธรรมตามหลักการ เราไม่อนุญาตให้ทำการละหมาดวันศุกร์วงย่อย ๆ นับร้อยทดแทนกันได้

2. เป้าหมายของการละหมาดวันศุกร์คือการรวมตัวคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ตามความเหมาะสม นั่นคือเหตุผลที่เรียกว่า ‘ญุมอะฮ์’ (วันศุกร์) จากภาษาอาหรับที่หมายถึง ‘การชุมนุม’ (ญัมอฺ) ซึ่งเรื่องนี้ลำพังเพียงแค่ครอบครัวเดียวก็ไม่สามารถกระทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของญุมอะฮ์ได้

3. บรรดาผู้รู้เห็นพ้องกันว่าผู้คนที่ได้รับการยกเว้นจากละหมาดวันศุกร์ (เช่น คนป่วย คนเดินทาง หรือคนที่ถูกระงับด้วยเหตุผลจำเป็นบางประการ) ว่าจะต้องทำการละหมาดซุฮ์รีแทน แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนการละหมาดวันศุกร์ปกติมาเป็นการละหมาดวันศุกร์วงเล็ก ๆ ตามสถานะและสถานที่ของพวกเขา

4. สำหรับกรณีของโควิด-19 วัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยมิให้มีการรวมตัวละหมาดวันศุกร์นั้นก็เพื่อที่จะลดจำนวนการรวมตัวของมวลชนลง ซึ่งจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หากผู้คนเริ่มเชิญชวนให้มีการจัดละหมาดวันศุกร์เล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาเองโดยมีเพื่อนบ้านทยอยกันมาร่วม เหตุผลโดยรวมของการหยุดชั่วคราวครั้งนี้ก็เพื่อที่ต้องการจัดระยะห่างทางสังคม ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจึงสามารถละหมาดซุฮ์รีร่วมกันเป็นญะมาอะฮ์แทนได้ เนื่องจากพวกเขาอาศัยร่วมกันอยู่แล้ว หากแต่การเชิญชวนครอบครัวอื่นมาร่วมละหมาดวันศุกร์นั่นมิอาจตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยนี้แต่อย่างใด

5. สำหรับการติดตามคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) แบบไลฟ์สด ข้าพเจ้าได้แนะนำให้ผู้คนฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายในช่วงเวลาใดก็ได้ตามที่ตนสะดวก … มันย่อมเป็นการดีเสมอที่จะคอยตักเตือนตนเองด้วยคำแนะนำทางจิตวิญญาณผ่านการฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายศาสนาต่าง ๆ ซึ่งการฟังคุฏบะฮ์แบบออนไลน์นั้นมิได้ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวกันแต่อย่างใด ขณะที่การละหมาดนั้นเราไม่สามารถกระทำการละหมาดทางไกลได้ หากเรายืนอยู่ห่างจากอิหม่าม (ผู้นำละหมาด) เป็นระยะหลายกิโลเมตร … ด้วยกับความรู้ทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามีถือว่าไม่มีทรรศนะที่ขัดแย้ง (คิลาฟ) กันในประเด็นนี้

สุดท้ายนี้ เราทุกคนล้วนโหยหาการละหมาดวันศุกร์ด้วยหัวใจที่โศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ดังที่ทราบกันดีจากข้อมูลที่ได้รับจากหะดีษของท่านนบีว่า เราจะยังคงได้รับผลบุญของการงานใดก็ตามที่เป็นการงานที่ดีแม้ว่าเราจะถูกยับยั้งไม่ให้กระทำด้วยเหตุผลใดก็ตาม ฉะนั้นเราจะต้องให้กำลังใจตนเองด้วยกับความจริงที่ว่า ผู้ที่ร่วมละหมาดวันศุกร์เป็นประจำและมุ่งหวังที่จะกระทำมันอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะได้รับผลบุญของการละหมาดแม้จะมีอุปสรรคมาขวางกั้นมิให้พวกเขาสามารถรวมตัวกันละหมาดวันศุกร์ก็ตาม

อัลลอฮฺเท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

| ชัยค์ ยาสิร กอฎีย์

Reference: http://tiny.cc/bknwlz

Cr.Book Station

หุกมละหมาดวันศุกร์ออนไลน์

ฟัตวาเกี่ยวกับการละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่

● ประเด็นคำถาม

คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา ของสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ( International Union of Muslim Scholars )ได้รับคำถามว่า เกี่ยวกับข้อชี้ขาดว่าด้วยการละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ อันเนื่องจากอุปสรรคจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า

● คำฟัตวา

การละหมาดวันศุกร์และฟังคุตบะฮ์ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ ไม่เป็นที่อนุญาต เพราะขัดแย้งกับเงื่อนไขและองค์ประกอบของการละหมาดวันศุกร์ อีกทั้งสร้างความเสียหายในระยะยาว และขัดแย้งกับเป้าหมายของละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ ที่อนุญาตให้ปฏิบัติละหมาดซุหรี่ทดแทนได้ในยามจำเป็น โดยไม่ต้องฝืนทำในสิ่งที่เกินเลย โดยมีหลักฐานดังนี้

1.การละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดฟัรดู ที่อัลลอฮ์บัญญัติให้ละหมาดในเวลาซุฮรี่ของวันศุกร์

อัลลอฮ์กล่าวว่า

{يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِيَ لِلصَّلَاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ تَعْلَمُونَ} [الجمعة: 9]

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านรู้” (อัลญุมุอะฮ์ : 9)

ا.
การละหมาดวันศุกร์มีเป้าหมายหลักๆ ด้านความศรัทธา ด้านสังคม ด้านความรู้ และด้านพฤติกรรม อีกทั้งส่งเสริมให้อาบน้ำและเร่งรีบไปละหมาด เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ยิ่งใหญ่ มีเงื่อนไข มีวิธีการเฉพาะ การละหมาดวันศุกร์ใช้ไม่ได้หากไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข องค์ประกอบ ที่เกี่ยวกับเวลา สถานที่ จำนวน และวิธีการ ที่ประชาคมมุสลิมปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ถูกกำหนดรูปแบบไว้แล้ว ไม่อนุญาตให้เพิ่มหรือลดได้ สิ่งใดที่อัลลอฮ์กำหนดเวลา หรือสถานที่ หรือวิธีการที่แน่นอนแล้ว จะต้องเคร่งครัดตามที่กำหนดเท่าที่สามารถ หากมีอุปสรรคก็ให้ละหมาดซุฮรี่แทน

อุปสรรคที่ทำให้งดเว้นการร่วมละหมาดวันศุกร์ เช่น ฝนตกหนัก ความกลัว โรคร้าย หรืออื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน

อิบนุมาญะฮ์รายงานว่า ท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من سمع النداء فلم يُجبه فلا صلاة له إلا من عذر قالوا: يا رسول الله وما العذر؟ قال: خوف أو مرض

“ผู้ใดได้ยินเสียงอาซานแล้วไม่ตอบรับ ( หมายถึง ไม่ไปละหมาดที่มัสยิด) ก็จะไม่มีละหมาดสำหรับเขา เว้นแต่ผู้มีเหตุจำเป็น” พวกเขาถามว่า “เหตุจำเป็นคืออะไรครับ ?” ท่านนบี ศอลฯตอบว่า “ความกลัวหรือโรคร้าย”

ความกลัว ณ ที่นี้ มีความหมายกว้าง รวมถึงความกลัวโรคร้ายหรือโรคติดต่อ อาจเป็นเรื่องของบางคน หรือคนทั้งเมือง หรือทั้งโลก ดังเช่นการระบาดของโคโรน่าในวันนี้

นักฟิกฮ์ได้กล่าวถึงเหตุจำเป็นบางส่วนที่เป็นเหตุให้เว้นการเข้าร่วมละหมาด ได้แก่ “การถูกคุมขังในที่ใดที่หนึ่ง” ซึ่งรวมถึงการห้ามออกจากสถานที่ใดๆ ในพื้นที่ต่างๆ ในปัจจุบัน ที่ผู้คนถูกห้ามออกนอกสถานที่เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรน่า ยกเว้นกรณีจำเป็น และมีการลงโทษผู้ฝ่าฝืน ในกรณีนี้ถือเป็นข้องดเว้นทางศาสนาที่ทำให้หน้าที่ไปละหมาดวันศุกร์ตกไป และไม่อนุญาตให้คิดรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนารูปแบบใหม่ขึ้นมาแทน

ในเมื่อศาสนาให้เหตุงดเว้นแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ตัดแปะผสมผสานพิธีกรรมทางศาสนา หรือทำเกินขอบเขต เช่น การตามอิหม่ามสมมติแทนอิหม่ามจริง ผ่านการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ เพราะขัดแย้งกับแก่นของละหมาด ได้แก่ การรวมตัวกันด้านหลังของอิหม่ามในสถานที่เดียวกัน เพราะท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

“إنما جعل الإمام ليؤتم به. فإذا ركع فاركعوا. وإذا رفع فارفعوا. وإذا صلى جالسا، فصلوا جلوسا”. خرجه مالك في الموطأ مالك، رقم 447، ج2 ص186، والبخاري، في صحيحه

“อิหม่ามมีขึ้นเพื่อให้ถูกตาม เมื่อเขารุกั๊วะ ก็จงรุกั๊วะ เมื่อเขายกศีรษะ ก็จงยก เมื่อเขาละหมาดนั่งก็จงนั่ง” ( รายงานโดยอิหม่ามมาลิกและบุคอรีย์)

แนวการวินิจฉัยหะดีษนี้คือ การตามอิหม่ามในหลักการอิสลามหมายถึง การอยู่ในสถานที่เดียวกันกับอิหม่าม ดังที่ท่านนบี ศอลฯ และซอฮาบะฮ์ ได้ปฏิบัติ และความเห็นพ้องของนักฟิกฮ์จากมัซฮับหะนะฟี มาลิกี ชาฟิอี และฮัมบะลีย์

ดังหะดีษที่บ่งบอกว่า การตามอิหม่ามคือการไปมัสยิด ไม่ใช่การละหมาดที่บ้าน

ท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من اغتسل ثم أتى الجمعة، فصلى ما قدر له، ثم أنصت حتى يفرغ من خطبته، ثم يصلي معه، غفر له ما بينه وبين الجمعة الأخرى، وفضل ثلاثة أيام» صحيح مسلم

“ผู้ใดอาบน้ำแล้วมาละหมาดวันศุกร์ แล้วทำการละหมาดเท่าที่ทำได้ ต่อมาได้สงบนิ่งจนกระทั่งคุตบะฮ์เสร็จ แล้วละหมาดร่วมกับเขา เขาจะได้รับการอภัยโทษระหว่างวันนั้นถึงอีกวันศุกร์หนึ่ง และเพิ่มอีก 3 วัน” (หะดีษรายงานโดยมุสลิม)

หะดีษนี้บ่งบอกว่า กิจกรรมวันศุกร์ได้แก่ การอาบน้ำ การไปยังสถานที่ละหมาดวันศุกร์ ฟังคุตบะฮ์แล้วละหมาดพร้อมกับอิหม่าม

2. วิธีการละหมาดตามคำถาม จะนำไปสู่การทำลายละหมาดวันศุกร์และทำลายจุดประสงค์ของมัน เพราะวันศุกร์เป็นวันรวมตัวกันในสถานที่เดียวกัน ได้ทักทายทำความรู้จักและสอบถามความเป็นอยู่ของกันและกัน และร่วมมือช่วยเหลือกันในการทำความดี

นอกจากนี้ การละหมาดในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นประดิษฐกรรม-บิดอะฮ์- สำหรับการละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ ทำให้เงื่อนไข องค์ประกอบและเป้าหมายของการละหมาดสูญเสียไป ทั้งๆที่ศาสนาได้เปิดช่องให้ใช้ทางเลือกอื่นได้

3. การประดิษฐ์วิธีการละหมาดวันศุกร์ และคุตบะฮ์รูปแบบใหม่ นอกจากถือเป็นการขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ชัดเจนแล้ว ยังเป็นการทำให้เป้าหมายของการละหมาดวันศุกร์สูญเสียไป

ซึ่งเป้าหมายเหล่านั้น ได้แก่ การเป็นองค์ประกอบหลักของประชาคมมุสลิม เป็นส่วนหนึ่งของระบอบของสังคมอิสลาม เป็นเครื่องมืออบรมให้ความรู้ ทำให้เข้าใจความเป็นสมาชิกของสังคม รวมภึงลดโอกาสความขัดแย้ง และจะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกและต่างศาสนิกมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น

4. คณะกรรมการฟัตวา ขอแนะนำให้มุสลิมทั้งชายหญิงยึดมั่นกับรูปแบบของพิธีกรรมทางศาสนาตามตัวบทและความเห็นพ้องของประชาชาติอิสลามเท่านั้น ส่วนในด้านกิจกรรมทางโลกให้ใช้การกิยาสและการอิจติฮาด และให้ยึดมั่นกับหลักการที่ชัดเจนและเป้าหมายของศาสนา พร้อมเรียกร้องให้นักวิชาการยึดมั่นกับการฟัตวาและวินิจฉัยแบบองค์คณะในกรณีใหม่ๆที่เกิดขึ้น เพื่อความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของสังคมสืบไป

والله أعلم، وصلى الله على سيدنا محمد وآله، وسلم .

والحمد لله رب العالمين.
คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

ศ.ดร.นูรุดดีน อัลคอดิมีย์ ประธานคณะกรรมการ
ดร.ฟัฎล์ มุร๊อด กรรมการและผู้ร่างคำฟัตวา
ศ.ดร.อะหมัด จาบุลลอฮ์ กรรมการ
ดร.ซุลตอน อัลฮาชิมีย์ กรรมการ
ดร.อะหมัด กาฟี กรรมการ
ชัยค์วานีส อัลมับรูก กรรมการ
ชัยค์ซาลิม อัลชัยคีย์ กรรมการ
ศ.ดร.อาลี ฆ๊อรเราะฮ์ดาฆีย์ เลขาธิการสหพันธ์
ศ.ดร.อะหมัด รัยซูนีย์ ประธานสหพันธ์

24 มีนาคม 2020

อ่านฟัตวาต้นฉบับ http://iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11154

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ฟัตวาว่าด้วยการงดถือศีลอดรอมฎอนกับภูมิต้านทานและไวรัสโคโรน่า และการละหมาดตารอเวียะห์

โดย ศ.ดร.อาลี กอเราะฮ์ดาฆี
เลขาธิการสหพันธ์นักวิชาการอิสลามนานาชาติ
(Internation Union of Muslim Scholars-IUMS)

○○○○○○○

การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์ พระเจ้าแห่งสากลโลก พรและความสงบสุขจงมีแด่ท่านศาสนทูตผู้เป็นความเมตตาต่อโลก และแด่วงศ์วาน และซอฮาบะฮ์ ตลอดจนผู้เจริญรอยตามคำสอนของท่านไปจนกระทั่งวันแห่งการตอบแทน

ประชาชาติอิสลามมีมติเห็นพ้องกันว่าการถือศีลอดรอมฎอนเป็นเสาหลักหนึ่งของศาสนาอิสลาม เป็นหลักการภาคบังคับที่อัลลอฮ์และรอซูลได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจน

อัลลอฮ์กล่าวว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกท่าน เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกท่านเพื่อว่าพวกท่านจะได้ยำเกรง”

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِّنَ الْهُدَىٰ وَالْفُرْقَانِ ۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ

“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้นและสิ่งที่จำแนก ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกท่านเห็นเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น”

ตัวบทดังกล่าวได้ยกเว้นบุคคล 3 ประเภท จากการถือศีลอด คือ

● ประเภทที่ 1 บุคคลที่ไม่มีความสามารถที่จะถือศีลอดได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เช่น คนชรา

● ประเภทที่ 2 ผู้ป่วย
นักวิชาการได้นิยามคำว่า “ผู้ป่วย” ที่อนุโลมให้งดถือศีลอดดังนี้

○ อิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวในหนังสือ “อัลมัจมุอ์” (6/261) ว่า

” وهذا ما لحقه مشقة ظاهرة بالصوم، أي مشقة يشق احتمالها، وأما المرض اليسير الذي لا يلحق به مشقة ظاهرة لم يجز له الفطر بلا خلاف عندنا “

“คือผู้ที่การถือศีลอดทำให้เกิดความทุกข์ยากแก่เขาอย่างชัดเจน หมายถึง จนไม่อาจทนได้ ส่วนผู้ป่วยเล็กน้อย ในมัซฮับของเราถือว่าไม่อนุญาตให้ละศีลอดโดยไม่มีผู้เห็นต่าง”

○ อิบนุกุดามะฮ์ กล่าวในหนังสือ “อัลมุฆนีย์” (4/403) ว่า

” أجمع أهل العلم على إباحة الفطر للمريض في الجملة”

“ในภาพรวม นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้ผู้ป่วยงดถือศีลอดได้”

และกล่าวต่อว่า

” والمرض المبيح للفطر هو الشديد الذي يزيد بالصوم، ويُخشى تباطؤ برئه…”.

“การป่วยที่อนุญาตให้งดถือศีลอด ได้แก่ การป่วยขั้นรุนแรงที่อาจหนักขึ้นเพราะการถือศีลอด และกลัวว่าจะหายช้าลง”

นักวิชาการยังเห็นพ้องกันว่าผู้ป่วยจะต้องถือศีลอดชดใช้แทนการงดถือศีลอดดังกล่าว

อัลลอฮ์กล่าวว่า

فَمَن كَانَ مِنكُم مَّرِيضًا أَوْ عَلَىٰ سَفَرٍ فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّامٍ أُخَرَ ۚ

“และในหมู่พวกท่าน หากมีผู้ใดป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือชดใช้ในวันอื่น”

รวมถึงหญิงมีประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตร ที่ไม่อนุญาตให้ถือศีลอด แต่ต้องถือศีลอดชดเช่นกัน

● ประเภทที่ 3 คนเดินทาง
นักวิชาการเห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้คนเดินทางงดถือศีลอดได้ แต่มีความเห็นต่างในเรื่องจำนวนวันเดินทาง

■ โคโรน่ากับการถือศีลอด

ด้วยเหตุดังกล่าว โคโรนา (โควิด 19) เป็นโรคที่ร้ายแรงและอันตราย คนผู้ใดติดเชื้อนี้ก็จะได้สิทธิต่างๆ ตามที่ศาสนากำหนดไว้สำหรับผู้ป่วย

● 1. การถือศีลอดกับผลต่อภูมิต้านทาน

การถือศีลอดจะทำให้ภูมิต้านทานลดลง และทำให้ผู้ถือศีลอดมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้นหรือไม่ ?

ข้าพเจ้าได้ยินด้วยตัวเองในการประชุมกับสภายุโรปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2020 โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้า 4 คน เข้าร่วมประชุม

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ภูมิคุ้มกันจะไม่ถูกทำลายจากการถือศีลอด หากทว่า บรรดาแพทย์และนักโภชนาการจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เช่น การวิจัยของ ดร.มุอิซซุลอิสลาม อิซวัต ฟาริส ศาสตราจารย์ด้านโภชนาการบำบัดและอายุรกรรมทั่วไป ที่มีการตีพิมพ์บทสรุป เมื่อ 7 ชะบาน 1441 กล่าวว่า ในการวิจัยล่าสุดของตนเอง เกี่ยวกับผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อการแสดงออกของยีนต่อสารพันธุกรรมจำนวนหนึ่งที่ควบคุมกระบวนการในการป้องกันการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบในผู้ใหญ่ เกือบ 60 คน ผลการศึกษาพบว่าการถือศีลอดสามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนในยีนเหล่านั้น ได้สูงมากถึง 90.5 % ผลการศึกษานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการยืนยันว่าการถือศีลอดสามารถ
ป้องกันสภาวะความเครียดจากการเกิดออกซิเดชันและการอักเสบที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและลดประสิทธิภาพลง”

ในการวิจัยเพื่อทดสอบผลของการอดอาหารในเดือนรอมฎอนต่อความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคและทำให้เกิดวัณโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย การศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนในการลดโอกาสการติดเชื้อจากเชื้อโรคดังกล่าว และเพิ่มความต้านทานของร่างกายโดยการเพิ่มจำนวนเซลล์ phagocytic และงานวิจัยอื่นที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการถือศีลอดในการฟื้นฟูเซลล์ที่เสียหาย

โดยสรุปแล้ว งานวิจัยต่างๆ ล้วนยืนยันถึงความสมบูรณ์ของดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
وَأَن تَصُومُوا خَيْرٌ لَّكُمْ
“การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่าน”

การถือศีลอดเป็นการดีสำหรับพวกท่านในชีวิตโลกนี้ และในด้านสุขภาพ ตลอดจนเป็นการดีสำหรับชีวิตโลกหน้า

ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่อนุญาตให้มุสลิมทิ้งเสาหลักของศาสนาอิสลามนี้ นอกจากด้วยเหตุผลที่ชอบธรรมที่อัลลอฮ์อนุญาต

แม้ว่าจะมีงานวิจัยยืนยันเช่นนี้ แต่ถ้าหากว่าแพทย์หลายๆคน ได้วินิจฉัยทางการแพทย์ว่า คนใดคนหนึ่งถือศีลอดแล้วมีโอกาสมากกว่า 50 % ที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ก็อนุญาตให้งดถือศีลอดได้ พร้อมตั้งเจตนาที่จะชดใช้หลังผ่านพ้นเหตุอนุโลม

หลักการนี้นักกฎหมายอิสลามในอดีตได้กล่าวไว้แล้ว โดยที่กลุ่มนักกฎหมายอิสลามมัซฮับหะนะฟีย์เห็นว่า ทัศนะที่ถูกต้องเห็นว่า เมื่อคนๆหนึ่งมั่นใจว่าหากเขาถือศีลอดจะเจ็บป่วย อนุญาตให้เขางดถือศีลอดได้ พร้อมกับต้องถือศีลอดชดใช้ ทั้งนี้ ความมั่นใจดังกล่าว พิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา หรือความเห็นของแพทย์ ( หาชียะฮ์อิบนุอาบิดีน : 2/116 )

ในขณะที่นักวิชาการมัซฮับมาลิกเห็นต่าง โดยเห็นว่า หากคนๆหนึ่งกลัวว่าจะเจ็บป่วย จากการถือศีลอด ไม่อนุญาตให้งดถือศีลอด ตามทัศนะหลักของมัซฮับมาลิก ( หนังสือหาชียะฮ์ดุซูกีย์ : 1/153)

○ สรุป
ไม่อนุญาตให้ละศีลอดเพียงเพราะกลัวว่าจะเป็นโรคจากไวรัสโคโรน่า ยกเว้นแพทย์วินิจฉัยว่าคนๆนั้น มีโอกาสติดเชื้อจริง หากถือศีลอด กรณีนี้เท่านั้นจึงงดถือศีลอดได้

● 2. การละหมาดตารอเวียะห์

ในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มัสยิดล้วนถูกงดใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากการละหมาดตารอเวียะห์มีสถานภาพเป็นละหมาดสุนัต ที่ท่านนบี ศอลฯ ละหมาดที่มัสยิดแล้วต่อมาก็ได้ปฏิบัติที่บ้าน ดังนั้น มุสลิมจึงมีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้ที่บ้าน โดยการปฏิบัติดังนี้

– ให้อิหม่ามหรือมุอัซซินอะซาน ละหมาดอีชา และละหมาดตารอเวียะห์ที่มัสยิดแต่เพียงคนเดียว ตามวิธีการที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด
– ให้แต่ละครอบครัวละหมาดอีชาและละหมาดตารอเวียะห์ที่บ้านตามจำนวนและระยะห่างตามที่ฝ่ายสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้ที่อ่านอัลกุรอานได้ดีที่สุดเป็นอิหม่าม และอาจอ่านจากเล่มอัลกุรอานก็ได้

อัลลอฮ์เท่านั้นที่รู้แจ้งในความถูกต้อง
18 ชะบาน 1441 / 11 เมษายน 2563

อ่านฟัตวาต้นฉบับ
http://www.iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11334

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ใช้ได้หรือไม่

สภายุโรปเพื่อการฟัตวาและวิจัย ( The European Council for Fatwa and Research ) ได้ออกคำฟัตวาในคราวประชุมวิสามัญ ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 1-4 ชะอฺบาน 1441 ( 25-28/3/2020) กรณีละหมาดวันศุกร์ และละหมาดญะมาอะฮ์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่าเป็นสิ่งที่อิสลามอนุญาตหรือไม่อย่างไร

ประเด็นคำถาม
การละหมาดวันศุกร์ผ่านระบบทางไกล โดยให้อิมามอ่านคุตบะฮ์ในมัสยิดตามปกติ โดยมีคนฟัง 1-2 คน ส่วนที่เหลือพวกเขาจะฟังที่บ้านของตนเอง จากนั้นก็ละหมาดวันศุกร์โดยตามอิมามผ่านระบบออนไลน์ ถามว่าการละหมาดในรูปแบบนี้ เป็นที่อนุมัติหรือไม่อย่างไร

คำชี้แจง

การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านโดยลำพังตามวิทยุ โทรทัศน์ ไลฟ์สดผ่านระบบออนไลน์ ไม่เป็นที่อนุญาต และถือว่าการละหมาดดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่สามารถทดแทนการละหมาดซุฮรีได้ ถือเป็นทัศนะที่เป็นข้อยุติขององค์กรและสำนักฟัตวาในปัจจุบัน และเป็นทัศนะของนักกฏหมายอิสลามโดยส่วนใหญ่ ที่ได้ออกทัศนะก่อนหน้านี้หลายสิบปีมาแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากละหมาดวันศุกร์เป็นอิบาดะฮ์ที่มีลักษณะเฉพาะ และต้องทำตามแบบอย่างโดยเคร่งครัด ซึ่งมีรูปแบบตามศาสนากำหนดที่ชัดเจน โดยไม่สามารถเพิ่มเติม แก้ไขใดๆ ทั้งนี้ท่านนบีฯได้ทำเป็นแบบอย่างและได้ทิ้งร่องรอยทั้งคำพูด การกระทำที่ชัดเจน ตั้งแต่ศุกร์แรกที่ถูกบัญญัติ จนกระทั่งท่านเสียชีวิตและได้มีการถ่ายทอดแบบอย่างดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงยุคปัจจุบัน โดยไม่มีการเพิ่มเติมแก้ไขใดๆ ในขณะที่การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามรูปแบบดังกล่าว ขัดแย้งกับต้นแบบของอิสลามการอุตริกรรมในลักษณะนี้ ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งนบีและทำให้การละหมาดเป็นโมฆะ ทัศนะนี้มีหลักฐานอันชัดเจนดังนี้

1. อัลลอฮ์กล่าวความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เมื่อได้มีเสียงร้องเรียก (อะซาน) เพื่อทำละหมาดในวันศุกร์ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้” (อัลญุมุอะฮ์/9)
นักกฏหมายอิสลามได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์ ถือเป็นสิ่งวาญิบ และการละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เช่นเดียวกับหะดีษมากมายที่ส่งเสริมให้เดินทางไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์ตั้งแต่เช้า โดยมีผลบุญลดหลั่นกันไป ประเด็นคือ หากละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ เราจะปฏิบัติสัญลักษณ์หนึ่งของวันศุกร์นี้ได้อย่างไร

2. การละหมาดวันศุกร์คือการละหมาดแทนที่ซุฮริ เพราะซุฮรีเป็นฟัรฎูดั้งเดิมซึ่งถูกบัญญัติไว้ในคืนอิสรออฺ ก่อนการบัญญัติละหมาดวันศุกร์ ดังนั้น เมื่อการละหมาดแทนไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ต้องกลับสู่สภาวะดั้งเดิมคือละหมาดซุฮรี

3. การละหมาดวันศุกร์ออนไลน์ที่บ้านถือเป็นการทำลายสัญลักษณ์ของอิสลามและอาจนำไปสู่การยกเลิกละหมาดวันศุกร์และละหมาดญะมาอะฮ์โดยปริยาย เมื่อเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะหากฟัตวาว่า การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแบบออนไลน์ เป็นสิ่งที่อนุญาต ดังนั้นการละหมาดฟัรฎู 5 เวลาในแต่ละวัน ก็เป็นที่อนุญาตเช่นกัน ทำให้บทบาทของมัสยิดเลือนหายไปในอนาคตผู้คนอาจสร้างมัสยิดอาคารเล็กๆที่จุแค่คนละหมาดเพียง 2-3 คนเท่านั้น เพราะแต่ละคนสามารถละหมาดที่บ้านผ่านระบบออนไลน์ได้

4. นักกฎหมายอิสลามได้กำหนดเงื่อนไขการละหมาดตามอิมาม คือการรวมตัวกันระหว่างอิมามและมะมูมในสถานที่เดียวกัน มะมูมสามารถรับรู้หรือมองเห็นความเคลื่อนไหวของอิมามได้ หากไม่มีเงื่อนไขนี้ การละหมาดเป็นโมฆะ อีกประการหนึ่งระหว่างอิมามกับมะมูมไม่มีสิ่งกีดขวางที่มีขนาดใหญ่ เช่นฝาผนัง แม่น้ำที่เรือเเล่นผ่านได้ หรือสิ่งกีดขวางที่มะมูมไม่สามารถเข้าถึงอิมามได้ยามต้องการ ซึ่งการละหมาดตามอิมามแบบออนไลน์นี้ไม่สามารถทำได้ในลักษณะนี้ จึงทำให้การละหมาดนี้เป็นโมฆะ

5. ในกรณีที่เราเห็นด้วยกับทัศนะที่อนุญาตละหมาดตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เราสามารถอนุมานใช้หลักคิดในการสนับสนุนทัศนะนี้จากสองกรณีเท่านั้นคือ
1) กรณีภาวะฉุกเฉินและการได้รับการยกเว้น
2) กรณีอ้างบทบัญญัติดั้งเดิม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ถือเป็นโมฆะเพราะในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะการได้รับการยกเว้น เราไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะบทบัญญัติได้เสนอทางออกแล้ว ซึ่งเป็นที่ทราบว่าละหมาดวันศุกร์เป็นละหมาดแทนที่ซุฮรี ดังนั้นเมื่อมันไม่สามารถทำได้หรือมีเหตุสุดวิสัยที่จำเป็นต้องยกเลิก ก็ให้กลับสู่ภาวะดั้งเดิมนั่นคือละหมาดซุฮรี

ส่วนการอ้างบทบัญญัติดั้งเดิมนั้น อาจทำให้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์วิกฤตนี้คลี่คลาย ซึ่งไม่มีผู้ใดในหมู่นักกฏหมายอิสลามกล่าวถึง

สรุป การละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามอิมามผ่านระบบออนไลน์เป็นการละหมาดที่โมฆะ ในบทบัญญัติอิสลาม ไม่สามารถใช้แทนละหมาดซุฮรีได้ และการละหมาดญะมาอะฮ์ในรูปแบบดังกล่าวถือเป็นสิ่งโมฆะยิ่งกว่า

ดูเพิ่มเติม
https://www.e-cfr.org/%d8%a7%d9%84%d8%a8%d9%8a%d8%a7%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%ae%d8%aa%d8%a7%d9%85%d9%8a-%d9%84%d9%84%d8%af%d9%88%d8%b1%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%b7%d8%a7%d8%b1%d8%a6%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d8%ab%d9%84%d8%a7%d8%ab/?fbclid=IwAR0g5x85DsHCgdcT50xOrWb6XS8XgmBkLn-yL8mFLgRvkDcazq9TRKiQIro

เหตุการณ์งดละหมาดที่มัสยิดต่างๆ ในประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 2)

○ บทความโดย บารออ์ นิซาร ไรยาน
อาจารย์ด้านหะดีษ สาขาอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม กาซ่า

● โศกนาฏกรรมแอมมาอุส

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง “ ภัยพิบัติแห่งเอมมาอูส” (หมู่บ้านในปาเลสไตน์ที่ตั้งอยู่ประมาณ 28 กม. ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจาฟฟาและถูกทำลายโดยชาวยิวในปี ค.ศ 1967) และระบาดไปทั่วแคว้นชาม ในปี ฮ.ศ.18/ค.ศ.639 ทำให้ซอฮาบะฮ์และตาบิอีนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิต จนกระทั่งคอลีฟะฮ์อุมัร บินค๊อตตอบ (เสียชีวิต ฮ.ศ.23/ค.ศ.643 ) สาบานว่าจะไม่ลิ้มรสไขมัน นมหรือเนื้อสัตว์ จนกว่าผู้คนจะมีชีวิตรอด ดังที่อิบนุอะษีร (เสียชีวิต ฮ.ศ.630 /ค.ศ.1232 )นักประวัติศาสตร์ รายงานในหนังสือของเขา “อัลกามิล ฟิตตารีค” แต่เรื่องราวเกี่ยวกับรายละเอียดในชีวิตประจำวัน รวมถึงการละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ เป็นสิ่งที่หายากมาก แต่ผู้เขียนพบเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุดจบของโศกนาฏกรรมแอมมาอูสตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือยุคโบราณ

อิหม่ามอะหมัด บินหัมบัล (เสียชีวิต ฮ.ศ.241 / ค.ศ.855 ) ในหนังสือ “อัลมุสนัด” รายงานหะดีษจากชัรห์ บินเฮาชับ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 112 / ค.ศ.730 ) ซึ่งเล่าจากพ่อเลี้ยงของเขาว่า “เขาได้เห็นกาฬโรคระบาดในแอมมาอูส ซึ่งมี อบูอุบัยดะฮ์ บินจัรรอห์ เป็นผู้ปกครอง เสียชีวิตเพราะโรคระบาดนี้ หลังจากคนผู้คนได้มอบอำนาจการนำแก่อัมร์ บินอาศ(เสียชีวิต ฮ.ศ.43 /663 ) เขาได้ยืนขึ้นแล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านทั้งหลาย ความเจ็บปวดนี้เมื่อมันเกิดขึ้น ก็จะลุกลามเหมือนไฟ ดังนั้นพวกท่านจงแยกย้ายกันออกไปอาศัยอยู่ตามภูเขา” บางสำนวนกล่าวว่า “พวกท่านจงแยกย้ายหนีจากมัน ออกไปอาศัยอยู่ตามภูเขาและลุ่มน้ำโอเอสิส” อบูวาษิละฮ์ อัลฮุซะลีย์ กล่าวขึ้นว่า “คนโกหก ตอนที่ฉันเป็นสาวกผู้ศรัทธาต่อท่านศาสนทูต ท่านยังเลวกว่าลานี้ของฉัน” (เขาตำหนิที่อัมร์เข้ารับอิสลามล่าช้า ) อัมร์จึงกล่าวว่า “ฉันจะไม่ตอบโต้ท่าน ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เราจะไม่อยู่ที่นี่” แล้วท่านก็ออกไป ผู้คนจึงพากันแยกย้ายกันไป จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้ให้โรคระบาดดังกล่าวหายไปในที่สุด ผู้เล่ากล่าวต่อว่า เมื่อความทราบไปถึงท่านอุมัรเกี่ยวกับนโยบายของอัมร์ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านอุมัรไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด “

ความจริงก็คือเรื่องเล่านี้ มีรายงานขัดแย้งกันว่า ผู้คนยอมรับความคิดเห็นดังกล่าวของอัมร์ บินอาศ หรือไม่ แต่การสิ้นสุดของภัยพิบัตินั้นเพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากกว่า และคำพูดที่ว่า “แยกย้ายกันไปอยู่ตามภูเขาสูง ตามเส้นทางในหลืบเขา หรือลุ่มน้ำโอเอสิส ” ปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นด้วยสายรายงานที่แตกต่างกัน ทั้งในตำรา “ตะห์ซีบ อัลอาษาร์” ของ อัตตอบารีย์ และในตำรา “อัศศอเหียะห์” ของอิบนุคุซัยมะฮ์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.311/ค.ศ.923) และอิบนุหิบบาน (เสียชีวิต ฮ.ศ.354/ค.ศ. 965)

ดังนั้นตามความรู้ของเรา อัมร์ บินอาศ ถือเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้มีการแยกกลุ่มเพื่อเผชิญหน้ากับโรคระบาด ไปอาศัยอยู่ตามยอดเขา และลุ่มน้ำโอเอสิส เพื่อป้องกันโรค ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีการละหมาดวันศุกร์ เพราะไม่มีหลักให้ปฏิบัตินอกจากในชุมชน หมู่บ้าน หรือในเมือง

ในแง่ของรายงานที่ขัดแย้งกันว่าผู้คนที่ใช้หรือปฏิเสธความเห็นของอัมร์ บินอาศ ผู้นำของพวกเขา เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสาวกของท่านนบี และตาบิอีนผู้ที่อยู่กับพวกเขา ได้ละทิ้งละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ อันเนื่องจากการเกิดโรคระบาด แต่เรามีหลักฐานการเรียกร้องให้งดตั้งแต่ยุคของพวกเขา

เหตุผลในการประท้วงความเห็นของอัมรจากอบูวาษิละฮ์ ซึ่งเป็นซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่ง ไม่มีในรายงานอื่นๆนอกจากสายรายงานนี้ ในขณะที่สายรายงานอื่นๆระบุว่าผู้คัดค้านคือชุรอห์บีล บินหะซะนะฮ์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เสียชีวิตจากโรคระบาดในแอมมาอุส ความเห็นต่างเนื่องมาจาก ความเข้าใจว่า – และพระเจ้าทรงทราบดีที่สุด – ข้อห้ามตามหะดีษนั้นคือ การหลบหนีจากโรคระบาดทุกกรณี ในขณะที่อัมร์เข้าใจว่า ข้อห้ามตามหะดีษนั้นคือ การหลบหนีจากโรคระบาดไปยังอีกเมืองหนึ่งเพราะเกรงว่าภัยพิบัติจะติดต่อไปยังเมืองนั้น และมิได้ห้ามมิให้หนีจากที่นั่นไปยังที่ที่ไม่มีใครอาศัย เช่น ยอดเขา แหล่งน้ำโอไอสิส หรือหลืบเขา

● โรคระบาดในมักกะฮ์

ตำราประวัติศาสตร์อิสลามกล่าวถึงการงดศาสนกิจที่มัสยิดต่างๆ หลายๆ ครั้งเนื่องจากโรคระบาด รวมถึงมัสยิดหะรอมมักกะห์เอง ก็ไม่ได้รอดพ้นจากเหตุการณ์นี้ ดังที่ฮาฟิซอิบนุหะญัร(ฮ.ศ.852/ค.ศ.1448 ) กล่าวไว้ในหนังสือ ‘إنباء الغُمْر بأبناء العمر โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.827 / ค.ศ.1423 ว่า

“และต้นปีนี้ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในนครมักกะห์ มีผู้เสียชีวิต 40 คนทุกวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนรอบีอุลเอาวัลเดือนเดียว มีมากถึง 1700 คน เล่ากันว่า อิหม่ามประจำมะกอมอิบรอฮีม ซึ่งถือมัซฮับชาฟิอีย์ มีผู้ร่วมละหมาดเพียง 2 คน และอิหม่ามมัซฮับอื่นๆ ที่เหลือ ไม่มีการละหมาดเพราะไม่มีผู้มาละหมาด

ผู้ตายเพียงเดือนเดียวที่มากถึง 1700 คน น่าจะเป็นเหตุผลทำให้การละหมาดในมัสยิดหะรอมเกือบงดโดยสิ้นเชิง

และไม่กี่ศตวรรษก่อนหน้านั้น อิบนุอะซารีย์ อัลมะรอคิชีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.695/ ค.ศ.1295 ) กล่าวในหนังสือالبيان المُغرب في أخبار الأندلس والمغرب ‘แถลงการณ์โมร็อกโกในข่าวของดาลูเซียและโมร็อกโก’ บอกเราว่า มีโรคระบาดครั้งใหญ่ในตูนีเซียในปี ฮ.ศ. 395/ค.ศ.1004 ทำให้เกิดสินค้าราคาแพง ขาดอาหารยังชีพ .. และคนมากมายเสียชีวิต มีทั้งคนรวยและยากจน ดังนั้นคุณจะไม่เห็นพฤติกรรมใดๆ ยกเว้น การรักษาหรือเยี่ยมคนป่วยหรือจัดการศพ และบรรดามัสยิดในเมืองกัยรอวาน ล้วนไร้ผู้คน “

● โรคระบาดในแอนดาลูเซีย

ในแอนดาลูเซียก็มีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้น อิหม่ามซะฮะบีย์พูดถึงในหนังสือ “ตารีคอิสลาม ‘ประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม” บันทึกเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.448/ ค.ศ.1056 เขากล่าวว่า

“ในปีนี้เกิดความแห้งแล้งครั้งยิ่งใหญ่รวมถึงโรคระบาดในเมือง Seville มีคนตายจำนวนมาก มัสยิดถูกปิดตายไม่มีผู้ละหมาด”

และอิหม่ามซะฮะบีย์ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ ในหนังสือ “ซิยัร อะลามนุบะลาอ์” บันทึกเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.448/ค.ศ.1056 ว่า

“ความแห้งแล้งครั้งยิ่งใหญ่ในแอนดาลูเซีย คอร์โดบาไม่เคยพบยุคแห่งความแห้งแล้งและโรคระบาดเหมือนในปีนี้ จนกระทั่งมัสยิดถูกปิดตาย ไม่มีผู้ละหมาด และปีนี้ถูกเรียกว่า “ปีแห่งความหิวโหย”

ในปีถัดไป ( ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 ) อิบนุอัลเจาซีย์ ได้ให้รายละเอียดที่น่ากลัวเกี่ยวกับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่แพร่กระจายและคร่าชีวิตคนอย่างรวดเร็ว โรคระบาดนี้แพร่กระจายไปในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่า “เอเชียกลาง”คร่าชีวิตผู้คนประมาณสองล้านคน ต่อมาได้แพร่มายังด้านตะวันตกจนใกล้ถึงชายแดนอิรัก โดยอิบนุอัลเจาซีย์ กล่าวว่า “ในเดือนจุมาดัลอาคิเราะฮ์ ( ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 ) จดหมายจากจากพ่อค้าเอเชียกลางระบุว่า มีการแพร่ระบาดของโรคครั้งใหญ่ในดินแดนเหล่านี้ ในภูมิภาคนี้วันหนึ่งมีคนตายหมื่นแปดพันศพ และจำนวนคนที่ตายจนกระทั่งเวลาเขียนหนังสือนี้ มีจำนวน 1,650,000 ราย “!!

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3576
บทความต้นฉบับ https://bit.ly/2V6mJhF

เหตุการณ์งดละหมาดที่มัสยิดต่างๆ ในประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 1)

○ บทความโดย บารออ์ นิซาร ไรยาน
อาจารย์ด้านหะดีษ สาขาอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม กาซ่า

“มีโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ ผู้คนที่ผ่านไป พวกเขาเห็นแต่ตลาดที่ว่างเปล่า ถนนที่ว่างเปล่า และประตูที่ปิด และมัสยิดส่วนใหญ่ก็ว่างเปล่า” ด้วยคำพูดเหล่านี้ อิหม่ามอิบนุอัลเจาซีย์ (เสียชีวิต ค.ศ.1200 ) นักประวัติศาสตร์ อธิบายให้เห็นถึงการแพร่ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 และทำให้โลกในเวลานั้นและชีวิตของผู้คนเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เหมือนกับภาพของโลกอันเนื่องการระบาดของโควิด 19 ในวันนี้

การแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อรายละเอียดของโลกของเรามากที่สุด โลกหยุดการทำงาน ชะลอการศึกษา เลื่อนการเดินทาง ล้มเลิกแผนการที่วางไว้ และทำให้พวกเขาที่อยู่บ้านเดียวกันต้องกระจัดกระจายในขณะที่กักตัวอยู่ในบ้าน

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมไม่เห็นด้วยและไม่สับสนเกี่ยวกับสิ่งนี้ เหมือนกับความสับสนเกี่ยวกับปัญหารูปแบบการละหมาดของพวกเขา ทั้งละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ ที่พวกเขารวมตัวกันที่มัสยิดวันละ 5 ครั้ง

ในขณะที่รัฐบาลของประเทศอิสลามส่วนใหญ่เห็นด้วย – แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางการเมือง – แต่ก็เห็นพ้องกันในการปิดสถานที่ชุมนุมทั้งหมดรวมถึงมัสยิดและศาสนสถาน โดยความเห็นชอบของสภาฟิกฮ์และสภาฟัตวาจำนวนมาก ท่ามกลางการคัดค้านของนักฟิกฮ์และนักเผยแผ่ศาสนาจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นด้วยกับการถือว่าการปิดมัสยิดเป็นเรื่องกระทบกระเทือนหัวใจของชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของกะอฺบะห์และลานเตาวาฟที่ปราศจากผู้คนมาทำพิธีเตาวาฟ พิธีละหมาด สุหยุดหรือรุกั๊วะ

ทั้งนี้ หนังสือนิติศาสตร์อิสลามและประวัติศาสตร์อิสลาม ได้ถ่ายทอดข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ที่ยืนยันการงดละหมาด ทั้งละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการงดละหมาดในมัสยิดหะรอมมักกะฮ์และมาดีนะฮ์ ตลอดจนมัสยิดอักซอ

จุดประสงค์ของบทความนี้คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โดดเด่นที่สุดและตรวจสอบสาเหตุที่สำคัญที่สุดโดยไม่เน้นรายละเอียดของการถกเถียงในประเด็นหลักนิติศาสตร์อิสลาม

○ การงดไปมัสยิดในส่วนของปัจเจกบุคคล

ในระดับปัจเจกบุคคลชาวมุสลิม หนังสือกฎหมายอิสลามมากมายกล่าวถึงรายละเอียดกรณีอนุโลมงดไปมัสยิดและการขาดการเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ หากกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือคนอื่น ๆ ไม่ว่าด้วยเหตุผลเกี่ยวกับโรคร้าย ความปลอดภัย ภัยธรรมชาติ หรือผลกระทบทางจิตใจ

หนังสือฟิกฮ์ในมัซฮับต่างๆ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในบรรดาบุคคลแรกสุดที่อธิบายเรื่องนี้ คือ อิหม่ามอัลชาฟีอีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.204/ค.ศ.819 ) ได้ขยายรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลต่างๆ ที่อนุโลมให้งดไปละหมาดวันศุกร์ได้ โดยหลักแล้วเป็นเหตุผลด้านสุขภาพอนามัย สิ่งที่ประหลาดที่สุดที่อิหม่ามพูดถึงคือ การงดไปละหมาดวันศุกร์เพราะกลัวอำนาจทางการเมือง

อิหม่ามอัลชาฟีอีย์กล่าวในหนังสือ “อัลอุมม์” ว่า

“إن كان خائفا إذا خرج إلى الجمعة أن يحبسه السلطان بغير حق كان له التخلف عن الجمعة”.
“ถ้าเขากลัวว่าถ้าออกไปรัฐจะกักขังเขาโดยไม่ชอบธรรม เขามีสิทธิงดไปละหมาดวันศุกร์”

ที่น่ารักกว่านั้น หนึ่งในเหตุผลงดไปละหมาดวันศุกร์ กรณีลูกหนี้ที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้และกลัวว่าเจ้าหนี้จะคุกคามและกักขัง โดยอัลชาฟีอีย์ที่กล่าวว่าใน “อัลอุมม์” ว่า

وإن كان تغيّبه عن غريم لعُسرة وَسِعَه التخلّف عن الجمعة
“ลูกหนี้ที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ มีสิทธิงดไปละหมาดวันศุกร์”

ในทางกลับกัน นักกฎหมายอิสลามอนุญาตให้เจ้าหนี้งดเว้นละหมาดญามาอะฮ์ได้ ถ้าเขากลัวการหายตัวไปของลูกหนี้และเสียสิทธิของเขา เนื่องจากอิหม่ามบัดรุดดีน อัลอัยนีย์ ( เสียชีวิต ฮ.ศ. 855/ค.ศ.1451 ) ในหนังสือ “อุมดะตุลกอรี ฟีชัรห์ ศอเหียะห์ อัลบุคอรีย์” วิเคราะห์บทบัญญัติจากหะดีษบทหนึ่งว่า

جواز التخلف عن الجماعة خوف فوات الغريم
“อนุญาตให้เจ้าหนี้งดเว้นละหมาดญามาอะฮ์ได้ ถ้าเขากลัวการหายตัวไปของลูกหนี้”

ปราชญ์จำนวนไม่น้อยอนุญาตให้งดการเข้าร่วมละหมาดที่มัสยิด เพราะกลัวความวุ่นวายทางการเมืองหรืออื่นๆ ดังที่อิหม่ามซะฮะบีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.748/ค.ศ.1347) รายงานใน “ซิยัรอะลามนุบะลาอ์” – จากมุตริบ บินอับดุลลอฮ์ อัชชุกัยรี (ฮ.ศ.95/ค.ศ.713 ) ว่า “เมื่อผู้คนเข่นฆ่ากัน ก็จงอยู่กับบ้าน ไม่ต้องไปละหมาดวันศุกร์หรือละหมาดญามาอะฮ์ร่วมกับผู้คนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”

บางที แนวปฏิบัติของอิหม่ามผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ในการงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ กรณีกลัวว่าจะได้รับอันตรายร้ายแรง เป็นพื้นฐานในการงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ไว้สำหรับทุกกรณีที่สามารถนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรง มีรายงานว่า ท่านอิหม่ามมาลิกปฏิบัติแนวนี้ โดยในบั้นปลายชีวิต ท่านละหมาดที่บ้านและไม่ได้ไปละหมาดที่มัสยิดนาบาวี เป็นเวลาถึง 18 ปี ดังที่อัลกุรตูบี ( ฮ.ศ. 672 ) ที่กล่าวไว้ในหนังสือ “อัตตัซกิเราะฮ์”

ในทำนองเดียวกัน นักวิชาการบางคนกระทำในการประท้วงต่อต้านการบังคับใช้อำนาจของราชวงศ์อับบาสิด ในรัชสมัยของคอลีฟะฮ์อัลมะมูน ( ฮ.ศ.218/ค.ศ.833 ) ให้คนเชื่อว่า “อัลกุรอานเป็นมัคลูก” ดังที่อิบนุอัยบัก อัดดะวาดะรีย์ (เสียชีวิตหลัง ฮ.ศ. 736/ค.ศ.1335 )กล่าวในหนังสือ كنز الدرر وجامع الغرر ว่า ในปี ฮ.ศ.218/ค.ศ. 833 เกิดวิฤติใหญ่ และเกิดทัศนะว่า “อัลกุรอานเป็นมัคลูก-สิ่งที่อัลลอฮ์สร้างขึ้น” ผู้เห็นต่างถูกประหารชีวิต ทำให้อุลามาอ์และผู้นำศาสนาต่างพากันกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปละหมาดญามาอะฮ์ในมัสยิด และมีผู้ถูกฆ่าจำนวนมาก”

อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลหนึ่งหรือคนจำนวนเล็กน้อยละทิ้งการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ แตกต่างจากการปิดมัสยิดที่ประชาชนทุกคนต้องละทิ้งการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่านักฟิกฮ์ยุคก่อนๆ ไม่ได้วินิจถึงเรื่องนี้ แต่มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์อิสลาม ดังรายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไป

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3578
บทความต้นฉบับ https://bit.ly/2V6mJhF

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ออกคู่มือการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน ในช่วง COVID-19

ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ออกคู่มือการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตโคโรน่า (โควิด-19) ฉบับภาษามลายู อักษรรูมี

คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตโคโรน่า (โควิด-19) ฉบับภาษามลายู อักษรรูมี พิมพ์และเผยแพร่โดย สภาอุละมาอฺมาเลเซีย คำนิยมโดย Dato’ AL-Syeikh Hj. Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย