บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)
เผยแพร่เมื่อ 25 เมษายน 2563
การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 บังคับให้นักฟิกฮ์และนักอิจติฮาด-วินิจฉัย- ต้องทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์และวินิจฉัยต่อกรณีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในบางกรณีก็เห็นพ้องกัน แต่บางกรณีก็เห็นต่างกัน และสิ่งที่พวกเขาพ้องกันมีมากกว่าที่เห็นต่าง ประเด็นสำคัญที่สุดที่เห็นต่างกัน ได้แก่ประเด็นการละหมาดตารอเวียะห์ตามการถ่ายทอดสด แม้ว่าบรรดาศูนย์ฟิกฮ์ทั้งหมด เท่าที่ทราบ ล้วนฟัตวาห้ามการกระทำดังกล่าว แต่ก็มีนักฟิกฮ์และนักอิจติฮาดที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งฟัตวาว่า อนุญาต ซึ่งไม่มีใครกังขาในความเคร่งครัดศาสนา ความรู้และความหวังดีต่อศาสนาของพวกเขาเหล่านั้น ตลอดจนความปรารถนาดีของพวกเขาที่ต้องการให้ผู้คนผูกพันอยู่กับละหมาดญามาอะฮ์และมัสยิด
บรรดานักอิจติฮาดล้วนได้รับผลบุญ เราจึงไม่ควรอึดอัดกับความเห็นที่แตกต่างออกไป และควรที่จะสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการอิจติฮาด ไม่ว่าผลของการอิจญ์ติฮาดจะออกมาประหลาดพิศดารแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่ตั้งอยู่บนฐานทางวิชาการที่ถูกต้อง และหากจำเป็นเราก็มีหน้าที่วิพากษ์ โต้แย้งด้วยความเป็นกลางตามหลักวิชาการ
นี่คือกระบวนการอิจญ์ติฮาดที่นำมาซึ่งความรู้ใหม่ที่พึงประสงค์ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
วัตถุประสงค์ของบทความนี้มิใช่เพื่อสนับสนุน ยกย่องหรือโจมตีทัศนะใดๆ เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงดัชนีและแนวโน้มที่เป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์วินิจฉัยกรณีใหม่ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
●● ประการแรก : ข้อบ่งชี้
● 1. วิธีการให้เหตุผลที่สับสนและการขัดกันของหลักฐาน
สิ่งแรกที่สังเกตเห็นคือ บรรดานักฟิกฮ์ฝ่ายที่เห็นว่าอนุญาตให้ละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อถ่ายทอดสด คือความไม่ชัดเจนและขัดกันของการให้เหตุผล
เช่น การรวมกันระหว่างการอ้างหลักการ “อะไรที่ไม่มีคำสั่งห้ามถือว่าอนุญาต ” (อิบาหะฮ์อัศลียะฮ์) และหลักกรณีสุดวิสัย(ฎอรูเราะฮ์) ซึ่ง 2 หลักการนี้ไม่สามารถรวมกันได้
ทั้งนี้ ฝ่ายที่เห็นว่าการละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อถ่ายทอดสดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ได้อ้างอิงความเห็นจากตำรามัซฮับมาลิกที่อนุญาตให้ตามอิหม่ามที่ห่างออกไปเป็นระยะไกลอันเป็นกรณีปกติในมัซฮับมาลิก ไม่ใช่กรณีสุดวิสัยเช่นในสถานการณ์โควิด-19 การจำกัดให้ใช้เฉพาะในสถานการณ์สุดวิสัยจึงเป็นการปรับใช้และการให้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับกรณี
นอกจากนั้น การอ้างว่าสุดวิสัยก็ไม่ถูกต้อง เพราะมีวิธีการอื่นทดแทนได้ นั่นคือการละหมาดที่บ้าน
หากการละหมาดตารอเวียะห์ตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสด สามารถกระทำได้ ทำไมไม่อนุญาตในกรณีละหมาดวันศุกร์ ทั้งๆที่จำเป็นมากกว่า เพราะเป็นวาญิบ ในขณะที่ละหมาดตารอเวียะห์เป็นอิบาดะฮ์ภาคนาฟิล (ส่งเสริมตามความสมัครใจ)
การขัดกันของการให้เหตุผลอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การอนุญาตให้ตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสดในการละหมาดภาคนาฟิล แต่ห้ามปฏิบัติในการละหมาดภาคฟัรฎูผ่านการถ่ายทอดสด ทั้งๆที่หลักฐานที่อ้างถึงไม่ได้แยกระหว่างละหมาดทั้งสองประเภทดังกล่าว
ซึ่งบรรดาปราชญ์ไม่ได้แยกแยะเงื่อนไขการตามอิหม่ามในการละหมาดทั้งสองประเภท หะดีษกำหนดวิธีการตามอิหม่ามก็ไม่ได้แยกแยะ
ความต่างระหว่างละหมาดทั้งสองประเภท ล้วนเป็นกรณีที่ตัวบททางศาสนาระบุไว้เท่านั้น เช่น หะดีษอนุญาตละหมาดภาคนาฟิลบนพาหนะ
การขัดกันของหลักฐานประการที่ 3 คือ มีบางท่านกำหนดว่า ให้ตามได้เฉพาะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน อันเป็นการกำหนดที่ปราศจากหลักฐานอ้างอิง เพราะเหตุผลที่ฝ่ายนี้อ้างคือ “การได้ยินและการเห็นที่ชัดเจน” ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่จำกัดเฉพาะการตามอิหม่ามในหมู่บ้านเท่านั้น เพราะเหตุผลดังกล่าวยังสามารถตามอิหม่ามมัสยิดหะรอมที่แม้เวลาจะคลาดเคลื่อนกันก็ได้ เพราะหลักฐานที่อ้างไม่มีระบุถึงเรื่องของเวลาแต่ประการใด
● 2. นักวิชาการด้านฟิกฮ์ทำให้การฝ่าฝืนหลักการจัดลำดับความสำคัญในหมู่ประชาชาติอิสลามยิ่งหยั่งลึกมากขึ้น
นักวิชาการและนักเผยแผ่ศาสนา มักพูดถึงวิกฤติของศาสตร์ว่าด้วยการขาดการจัดลำดับความสำคัญ และถือเป็นเหตุผลข้อหนึ่งของการถดถอยทางอารยธรรมในสังคมมุสลิม
จากปรากฏการณ์ปัญหาที่กำลังพูดถึง นักวิชาการและนักฟิกฮ์กลับทำให้ปัญหานี้บานปลายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โดยหลักการพื้นฐานแล้ว การละหมาดตารอเวียะห์ให้กระทำที่บ้าน ความสนใจที่มากเกินไปจากนักวิชาการในการพยายามที่จะคิดค้นรูปแบบใหม่เชิงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการละหมาดในรูปแบบญามาอะฮ์ในมัสยิด จะเป็นการส่งเสริมมโนทัศน์ผิดๆของสังคมเกี่ยวกับละหมาดภาคนาฟิลที่ควรกระทำที่บ้านมากกว่า รวมถึงจารีตการให้ความสำคัญกับละหมาดนาฟิล เช่น ละหมาดตารอเวียะห์หรือละหมาดอีด มากกว่าละหมาดภาคฟัรดู
ในสถานการณ์เช่นนี้ น่าจะถือเป็นโอกาสเหมาะอย่างยิ่งที่จะให้สังคมเคยชินกับการละหมาดภาคนาฟิลที่บ้านตามหลักการเดิม
● 3.ค่านิยมการอิจติฮาด (วินิจฉัย) ส่วนบุคคล เหนือกว่าค่านิยมการอิจติฮาดแบบองค์คณะและสถาบัน
การอิจติฮาดแบบองค์คณะที่ตั้งอยู่บนการปรึกษาหารือและการโต้แย้งเป็นแนวทางฟัตวาในยุคซอฮาบะฮ์และตาบิอีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังแนวปฏิบัติของท่านอบูบักร เมื่อมีกรณีเกิดขึ้น ท่านก็จะพิจารณาจากอัลกุรอาน หากไม่มีก็จะพิจารณาจากซุนนะฮ์ หากไม่มีก็จะถามผู้คนว่ามีใครทราบไหมว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) เคยตัดสินว่าอย่างไร หากมีคนบอก ก็จะตัดสินตามนั้น หากไม่มีก็จะปรึกษาหารือกับบรรดาผู้นำซอฮาบะฮ์ หากพวกเขามีความเห็นเช่นไรก็จะตัดสินตามนั้น
ซึ่งนอกจากท่านอบูบักรแล้ว ท่านอุมัรและบรรดาซอฮาบะฮ์อาวุโสก็ใช้แนวทางดังกล่าวเช่นกัน
การฟัตวาแบบองค์คณะตามรูปแบบของซอฮาบะฮ์เหล่านั้น จึงเป็นแนวทางที่นักวิชาการร่วมสมัยเห็นพ้องกัน และมีการเรียกร้องให้ประยุกต์ใช้ในสถาบันฟัตวาร่วมสมัย สถาบันฟัตวาที่ใช้การฟัตวาแบบองค์คณะจึงเกิดขึ้นมากมายทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
ไม่แปลกเลย ที่ความซับซ้อนและเชื่อมโยงของกรณีใหม่ๆในปัจจุบันจะเหมาะสมกับการวินิจฉัยแบบองค์คณะมากกว่าการวินิจฉัยคนเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น โลกปัจจุบันไม่ยอมรับระบบการทำงานแบบข้ามาคนเดียวในการศึกษาวิจัย แต่มักจะใช้ระบบการทำงานเป็นทีม
ซึ่งจากจุดนี้จะเห็นว่า บรรดาสถาบันด้านฟิกฮ์ ไม่รีรอที่จะออกมาแถลงปฏิเสธการละหมาดตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ เช่น สภายุโรปเพื่อการวิจัยและฟัตวา ,ศูนย์ฟิกฮ์นานาชาติขององค์กรโอไอซี , สภานักฟิกฮ์แห่งอเมริกา, สภากิบารอุลามาอ์ ซาอุดิอาระเบีย ,สภาอิสลามสูงสุด ตุรกี, สภาวิจัยอิสลาม -มัจมะ บุหูษอิสลามียะฮ์- อียิปต์ และสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ
แต่ถึงกระนั้น ก็มีนักฟิกฮ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งบางท่านเป็นสมาชิกสภาต่างๆดังกล่าว ออกมาแสดงทัศนะแตกต่างจากทัศนะขององค์กรเหล่านั้น
ข้าพเจ้าเห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงวัฒนธรรมการนิยมวินิจฉัยคนเดียวมากกว่าการวินิจฉัยแบบองค์คณะ ซึ่งจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นในหลักอิจมาอ์ที่ปรากฏอยู่ในตำราวิชาการอิสลามในอดีตว่าเป็นจริงหรือไม่
● 4. ทำให้สังคมสับสนแทนที่จะให้ทางออก
นักฟิกฮ์และมุฟตียุคหลังๆ เน้นการชี้แนะให้ผู้ขอคำฟัตวาพ้นจากความลังเลสับสน วิธีการฟัตวาจะไม่ฟัตวาโดยการนำหลายๆทัศนะมาชี้แจงที่อาจมีการให้น้ำหนักแก่ทัศนะใดๆ แล้วปล่อยให้ผู้ขอคำฟัตวาตัดสินใจเลือกเอง แต่จะใช้วิธีฟัตวาเฉพาะทัศนะที่มุฟตีเลือกแล้ว พร้อมระบุหลักฐานที่มา อันเป็นแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับยุคของเราที่ไม่นิยมการอ่านที่ยืดยาวและข้อมูลไม่มากพอ
แต่ในกรณีละหมาดตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสด ผู้ให้คำฟัตวากลับทำให้สังคมยิ่งสับสน
มีบางท่านฟัตวาว่า ให้ละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อออนไลน์ได้ แต่จงต้องเป็นอิหม่ามที่อยู่ใกล้ๆ เช่นในหมู่บ้านเท่านั้น
แต่ก็มีบางท่านออกมาฟัตวาว่า ตามอิหม่ามที่อยู่ไกลๆ แค่ไหนก็ได้
การฟัตวาที่สร้างความขัดแย้งกันเช่นนี้ ล้วนสร้างรอยราคีให้แก่ความบริสุทธิ์แห่งเดือนรอมฎอน ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก ดังเช่นความขัดแย้งทุกๆปีในช่วงเดือนรอมฎอน ในเรื่องวิธีการกำหนดวันเริ่มต้นรอมฎอน
ทั้งนี้ จารีตเกี่ยวกับการฟัตวาในสังคมบรรพชนยุคสะลัฟ อุลามาอ์หลบเลี่ยงที่จะให้คำฟัตวา แต่โบ้ยให้ไปถามผู้อื่น
แต่ในยุคสะลัฟรุ่นหลัง ต่างแย่งชิงกันออกมาให้คำฟัตวา และไม่เพียงพอกับฟัตวาของผู้อื่น
สมมติว่าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในยุคซอฮาบะฮ์ และบรรดาอิหม่ามทั้งสี่ แน่นอนที่สุดปฏิกิริยาของพวกเขาต่อสถานการณ์นี้คือการนิ่งเงียบและเพียงพอกับคำฟัตวาที่มีผู้ฟัตวาไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำฟัตวาแบบองค์คณะ มิใช่ความเห็นส่วนตัวของใครๆ
ในสังคมบรรพชนยุคสะลัฟ ประเพณี “ฉันไม่ทราบ” แพร่หลายไปทั่วสังคมผู้รู้นักวิชาการ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะความถ่อมตนและความกลัวต่ออัลลอฮ์ที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลของฟัตวา
แต่ในวันนี้ ค่านิยม ประเพณีแตกต่างออกไป ทุกคนต่างออกมาบอกว่า “ฉันรู้” ต่างไม่ยอมรับที่จะถูกมองว่า “ไม่มีความรู้”
ลองพิจารณาสถานการณ์นี้ยุคสะลัฟและสมมติว่ามีเหตุการณ์คำถามประเด็นนี้ในวันนั้น
อับดุรเราะห์มาน บินอะบีไลลา กล่าวว่า “ฉันทันเจอกับชาวอันศอรซึ่งเป็นซอฮาบะฮ์ของท่านศาสนทูต (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) จำนวน 120 ท่าน ไม่มีผู้ใดบอกหะดีษหนึ่ง ยกเว้นอยากให้ผู้อื่นบอกแทน ไม่มีผู้ใดให้คำฟัตวาเมื่อถูกถาม เว้นแต่อยากให้ผู้อื่นให้คำฟัตวาแทน”
อัลบัยฮะกีย์รายงานว่า อบูคอลดะฮ์ กล่าวกับรอบิอะฮ์ ว่า “โอ้รอบิอะฮ์ ฉันเห็นท่านให้คำฟัตวาแก่ผู้คน เมื่อมีคนมาถามท่าน สิ่งที่ท่านพึงตระหนัก มิใช่การทำให้เขาหายจากข้อกรณีที่สงสัย แต่พึงตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้ท่านหลุดพ้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำถามนั้นๆ”
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ข้าพเจ้ารู้จักอุลามาอ์ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและหลักการทางฟิกฮ์อย่างถ่องแท้จำนวนมากที่ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้โดยสิ้นเชิง พวกเขาเพียงพอกับคำฟัตวาที่ออกมาแล้ว หากคนเหล่านี้ออกมาพูด แน่นอนจะมีแต่เสียงชื่นชม พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ มีหลักการและคำอธิบายที่ชัดเจนแจ่มแจ้งและลึกล้ำอย่างที่สุด
ในหมู่นักวิชาการเหล่านั้น ข้าพเจ้าเห็นการประยุกต์ใช้จรรยาบรรณบรรพชนชาวสะลัฟที่ระมัดระวังและรู้ซึ้งถึงสถานภาพอันสูงส่งของการฟัตวาและการพูดในนามอัลลอฮ์
(จบตอนที่ 1 )
แปลสรุปโดย Ghazali Benmad
อ่านบทความต้นฉบับ https://blogs.aljazeera.net/blogs/2020/4/25/%D8%B5%D9%84%D8%A7%D8%A9-%D8%A7%D9%84%D8%AA%D8%B1%D8%A7%D9%88%D9%8A%D8%AD-%D8%AE%D9%84%D9%81-%D8%A7%D9%84%D8%A8%D8%AB-%D8%A7%D9%84%D9%85%D8%A8%D8%A7%D8%B4%D8%B1-%D8%A7%D9%84%D8%AF%D9%84%D8%A7%D9%84%D8%A7%D8%AA-%D9%88%D8%A7%D9%84%D9%85%D8%A2%D9%84%D8%A7%D8%AA