คอลิด บินวะลีด แพ้สงคราม? : ครั้งหนึ่งท่านคอลิดเคยถูกกล่าวหาว่าหนีสงคราม

ท่านคอลิด บินวะลีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เจ้าของฉายา “ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมา” (سيف الله المسلول) ผู้สร้างความหวาดหวั่นให้กับศัตรู ผู้ไม่เคยแพ้การศึกใดทั้งก่อนหน้าอิสลามและหลังจากรับอิสลาม แต่รู้หรือไม่ว่าท่านคอลิดเองเคยถูกกล่าวหาว่าพ่ายแพ้ศึกและหนีสงคราม

ในสงครามมุอ์ตะฮฺ ระหว่างกองทัพมุสลิมเพียง 3,000 คน กับกองทัพโรมันไบแซนไทน์กว่า 200,000 นาย ฝ่ายมุสลิมมีแม่ทัพ 3 คน คือ ท่านซัยดฺ บินหาริษะฮฺ, ญะอฺฟัร บิน อบีฏอลิบ และอับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ ทั้ง 3 คนเสียชีวิตเป็นชะฮีดในสงครามครั้งนี้ ฝ่ายมุสลิมเสียชีวิตไปประมาณ 13 คน ส่วนทหารฝ่ายโรมันเสียชีวิตไปกว่า 3,000 คน

ท่านคอลิดในฐานะแม่ทัพคนที่ 4 สามารถนำทัพถอยออกมาจากสนามรบ พาทหารมุสลิมที่เหลือกลับมายังเมืองมะดีนะฮฺได้อย่างปลอดภัย แต่มุสลิมบางส่วนเข้าใจผิดคิดว่า กองทัพมุสลิมพ่ายแพ้ยับเยิน จึงได้หนีทัพกลับมา ข่าวนี้ทำให้ชาวมะดีนะฮฺบางส่วนพากันออกมารออยู่ที่หน้าประตูเข้าเมืองมะดีนะฮฺ ไม่ใช่เพื่อต้อนรับ แต่เพื่อขวางทหารกล้าเหล่านั้นไม่ให้กลับเข้ามา

พวกเขากล่าวว่า
‎يا فُرَّار، تفرونَ من الموت في سبيلِ الله !!
“ไอ้คนหนีทัพ พวกเจ้าวิ่งหนีจากการตายในหนทางของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ?!”

ในบางรายงานระบุว่า พวกผู้หญิงบางคนไม่ยอมเปิดประตูบ้านต้อนรับสามีของพวกเธอ พวกเธอพูดกับสามีและลูกชายจากหลังประตูว่า

‎لمَ لمْ تَموتوا مع أصحابِكم في أرضِ القِتال !؟
“ทำไมท่านไม่ยอมตาย (ชะฮีด) พร้อมกับสหายของพวกท่านในสนามรบเล่า?!”

ส่วนท่านคอลิด บินวะลีดนั้น เด็ก ๆ ที่ไม่รู้ประสีประสาได้มาหาท่าน แล้วขว้างทรายและก้อนหินเล็ก ๆ ใส่ท่าน แถมยังพูดอีกว่า “เจ้าคนหนีทัพ เจ้าจะไปไหน?!”

แล้วท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้ทำให้ทั้งเมืองมะดีนะฮฺสงบลง ด้วยการอธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสมรภูมิรบ ท่านเข้าใจดีว่าการเผชิญหน้ากับกองทัพขนาดใหญ่ของฝ่ายโรมันกว่า 200,000 นายนั้น หนักหนาและลำบากแค่ไหน ทหารทุกคนได้ต่อสู้อย่างดีที่สุดแล้วเพื่อปกป้องอิสลาม แล้วท่านก็พูดว่า

‎لَيسُوا بالفُرَّار ولَكِنَّهُم الكُرَّار إن شاء الله
“พวกเขาไม่ใช่คนที่หนีสงคราม แต่เป็นการถอยกำลังเพื่อยุทธวิธีทางการรบต่างหาก อินชาอัลลอฮฺ”

ตั้งแต่นั้นมา ท่านคอลิด บินวะลีด ก็ถูกเรียกขานว่าเป็น “ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมา” และการที่ท่านสามารถต้านทานกองทัพขนาดใหญ่ของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ และนำทหารมุสลิมที่เหลือกลับมาได้อย่างปลอดภัยนั้น เป็นหลักฐานยืนยันความสามารถของท่านในการนำทัพได้อย่างชัดเจน


อ้างอิง :
1. อัลมัจญ์มูอฺ ชัรหฺ อัลมุหัซซับ โดย อัชชีรอซีย์ หน้าที่ 152
2. รูหฺ อัลมะอานีย์ โดย อัลอะลูซีย์ เล่มที่ 21 หน้าที่ 20
3. อัลกามิล ฟิตตารีค โดย อิบนุลอะษีร เล่มที่ 2 หน้าที่ 115


ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

สมรภูมิที่ไม่น่าเป็นไปได้ : สงครามมุอ์ตะฮฺ

สงครามมุอ์ตะฮฺเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 8 (ตรงกับค.ศ.629) ที่บริเวณ “มุอ์ตะฮฺ” ในแผ่นดินชาม นี่คือ 1 ในสงครามที่หนักหน่วงที่สุดของประชาชาติอิสลามในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีรายงานบันทึกว่า ท่านคอลิด บินวะลีด ต่อสู้ในสงครามครั้งนี้จนกระทั่งดาบหักไปถึง 9 เล่ม

มันปะทุขึ้นเนื่องจากอัลหาริษ บินอุมัยรฺ ฑูตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถูกสังหารโดยชุเราะหฺบีล บินอัมรฺ ผู้นำแห่งฆ็อซซานซึ่งสวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ ท่านนบีโกรธมากและได้ออกคำสั่งจัดทัพขนาดใหญ่จำนวน 3,000 นายทันที ท่านนบีไม่เคยจัดทัพขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อนเลยนอกจากในสงครามค็อนดัก (หรือ อัลอะหฺซาบ) เท่านั้น

ท่านนบีได้แต่งตั้งให้ซัยดฺ บินหาริษะฮฺ เป็นแม่ทัพใหญ่ และสั่งเสียว่า “หากซัยดฺถูกฆ่า (แม่ทัพคน) ต่อไปคือญะอฺฟัร (บิน อบีฏอลิบ) และถัดจากนั้นคือ อับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ”

เมื่อกองทัพเดินทางถึง “มะอาน” พื้นที่หนึ่งในแผ่นดินชาม ม้าเร็วก็ได้นำข่าวมารายงานว่า เฮราคลิอุสได้นำกองทัพขนาด 100,000 นายเดินทางมาถึงแล้ว และยังได้รับการสมทบกำลังอีก 100,000 นายจากเผ่าอาหรับต่าง ๆ ที่สวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิโรมันด้วย รวมจำนวนกองทัพฝ่ายโรมันทั้งสิ้น 200,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายมุสลิมมีเพียง 3,000 นายเท่านั้น (ต่างกันเกือบ 70 เท่า) ลองจินตนาการดูสิว่า เรามีจำนวนน้อยมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับพวกเขา

แล้วกองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายก็มาเจอกันที่บริเวณมุอ์ตะฮฺ กองทัพขนาดเล็กจำนวน 3,000 นาย ประจันหน้ากับกองทัพขนาดมหึมาจำนวน 200,000 นาย กองทัพที่เล็กมากนี้จะต่อสู้กับกองทหารขนาดใหญ่ของพันธมิตรโรมันได้อย่างไร หากไม่ใช่ด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ

ซัยดฺ บินหาริษะอฺ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายอิสลามเริ่มจู่โจมเข้าใส่ศัตรูอย่างห้าวหาญ ท่านต่อสู้กระทั่งปลายหอกของศัตรูเข้าแทงบนร่างกายของท่านเหมือนห่าฝน และเสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ

ญะอฺฟัร บิน อบีฏอลิบ ขึ้นมาบัญชาการแทน ท่านเข้าโจมตีศัตรูอย่างไม่หยุดยั้ง ท่านต่อสู้กระทั่งมือขวาขาดสะบั้น ท่านใช้มือซ้ายถือธงรบเอาไว้ กระทั่งมือข้างนั้นก็ถูกตัดขาดไปด้วย ญะอฺฟัรพยายามใช้ไหล่ทั้ง 2 ข้างพยุงธงอิสลามเอาไว้ และสุดท้ายท่านก็ถูกฆ่าตาย ท่านนบีบอกว่า อัลลอฮฺจะทรงประทานปีก 2 ข้างให้กับญะอฺฟัรในสวรรค์ เป็นของขวัญให้กับมือทั้ง 2 ข้างที่สูญเสียไปในสงครามครั้งนี้

ท่านอิบนุอุมัรรายงานว่า มีรอยแผลจากการฟันและแทงกว่า 50 แผลอยู่บนหลังของญะอฺฟัร ในอีกรายงานหนึ่งระบุประมาณ 90 แผล

เมื่อญะอฺฟัรเสียชีวิต อับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ ก็ได้รับไม้ต่อชูธงอิสลามขึ้นโบกสะบัด ท่านควบม้าฝ่าเข้าไปในแถวรบของศัตรู กวัดแกว่งดาบ และต่อสู้ กระทั่งกลายเป็นชะฮีด สิ้นชีวิตตามสหาย 2 ท่านที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

ในช่วงเวลาที่กองทัพมุสลิมไร้แม่ทัพนำการรบนี้เอง ราชสีย์ก็ได้หยิบธงรบขึ้นโบกสะบัดอีกครั้ง เขาคือ คอลิด บินวะลีด ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมาจากฝัก แม่ทัพคนใหม่ของฝ่ายอิสลาม

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก่อนที่ข่าวคราวจากสนามรบจะมาถึงเมืองมะดีนะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามรบให้กับผู้คนในเมืองมะดีนะฮฺ ท่านพูดพร้อมน้ำตาว่า “ซัยดฺได้ถือธงเอาไว้ แล้วเขาก็ถูกฆ่าตาย ญะอฺฟัรรับช่วงต่อและถูกฆ่าตายด้วยเช่นกัน จากนั้นก็เป็นอิบนุเราะวาหะฮฺและเขาก็ถูกฆ่าตายตามไปด้วย แล้วดาบเล่มหนึ่งในบรรดาดาบทั้งหลายของอัลลอฮฺ (หมายถึง ท่านคอลิด บินวะลีด) ก็ได้ชูธงขึ้น และอัลลอฮฺจะทรงประทานชัยชนะให้กับพวกเขา”

ความจริงแล้ว ต่อให้มีความกล้าหาญชาญชัยแค่ไหน ความเป็นไปได้ที่จะชนะแทบเป็น 0 หรือเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ กองกำลังเพียงหยิบมือเดียวจะเอาชนะกองทัพขนาดมหึมาที่ใหญ่กว่าเกือบ 70 เท่าได้อย่างไรกัน แต่ในตอนนี้เองที่ท่านคอลิด บินวะลีด ได้สำแดงความสามารถในการรบของท่านออกมาให้ทุกคนได้ประจักษ์

ท่านคอลิดใช้กลยุทธ์การเคลื่อนทัพอย่างชำนาญ ท่านสับเปลี่ยนทหารในแนวหน้าไปไว้ด้านหลัง และเคลื่อนพลจากแนวหลังมาไว้ด้านหน้า ท่านสั่งการให้ทหารปีกซ้ายและขวาสลับตำแหน่งกัน ท่านหลอกฝ่ายศัตรูจนหลงเชื่อว่าฝ่ายมุสลิมมีกองหนุนมาเสริมทัพ ทั้งที่จริงแล้วท่านเพียงแค่สลับตำแหน่งทหารในแนวต่าง ๆ เท่านั้น ทหารโรมันที่ได้เห็นใบหน้าใหม่ ๆ ของฝ่ายมุสลิมก็ตกใจ พวกเขาแทบไม่เชื่อสายตาของตัวเอง แล้วความหวาดกลัวก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในใจของพวกเขา

ในขณะที่กำลังสู้รบกันนั้น ท่านคอลิดค่อย ๆ ถอยกองทัพมาทางด้านหลังโดยยังคงรักษารูปแบบของกองทัพเอาไว้ ปรากฏว่ากองทัพโรมันไบแซนไทน์ที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่ยอมไล่ล่าตามมา พวกเขากลัวว่าจะเป็นกับดักของฝ่ายมุสลิม

ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ผ่านความชาญฉลาดของคอลิด บินวะลีด ทหารมุสลิมหลายพันนายจึงปลอดภัยจากเงื้อมมือของกองทัพโรมันในสมรภูมิมุอ์ตะฮฺครั้งนี้มาได้ เมื่อพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียด ปรากฏว่ากองทัพมุสลิมสูญเสียทหารไปเพียงไม่กี่คนเท่านั้น (ประมาณ 12 คน) ในขณะที่กองทัพโรมันเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 3,000 กว่าคน) อัลลอฮุอักบัร!!


อ้างอิง :
1. อัรเราะฮีกุล มัคตูม โดย เชคเศาะฟียุรเราะหฺมาน อัลมุบาร็อกฟูรีย์


ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

หะซัน บันนา กิ่งก้านอันงดงามของต้นอมตะนิรันดร์

● ยินดีกับหนึ่งกิ่งก้านอันอวบอ้วนสมบูรณ์ของต้นอมตะนิรันดร์

[ … การสังหารคนดีๆในโลกนี้ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย

อัลลอฮ์ลิขิต เจตนาให้คนเถื่อนสังหารบรรดานบีของพระองค์ในอดีตกาลที่ผ่านมา

เขาเหล่านั้นถูกเชือดฆ่า
ทั้งๆที่กำลังดำเนินภารกิจดะวะฮ์เรียกร้องสู่ศาสนาของพระองค์

การพบจุดจบเช่นนี้ในขณะปกป้องภารกิจไม่ให้ถูกทำลาย
เป็นสิ่งสลักสำคัญละหรือ
ผู้ใดแสวงหาสิ่งมีค่าก็ต้องกล้าเสี่ยง

โลกนี้ด้อยค่าจริง ณ อัลลอฮ์
เห็นได้จากการที่พระองค์ปล่อยให้ฝูงสุนัขผู้ละเมิดทุกกฎเกณฑ์ได้อยู่อย่างอิ่มหนำสำราญ

แต่ปล่อยให้ผู้นำพาสาส์นของพระองค์ถูกกระทำอย่างอดสู

องค์อภิบาลปฏิเสธที่จะให้บุคคลผู้ประเสริฐที่พระองค์เลือกสรร ให้กลับคืนสู่พระองค์อย่างปลอดภัย ไร้บาดแผลขีดข่วนจากร่องรอยการถูกทำร้ายในโลกมายา ภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติภารกิจของตนแล้ว

คนเลวจึงทิ่มแทงท่านอุมัรจนเสียชีวิต

คนเลวจึงเข่นฆ่าท่านอาลี

คนเลวจึงเข่นฆ่าหุซัยน์ หลานแท้ๆของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

อาณาจักรแห่งคนเลวจึงวางแผนเข่นฆ่าหะซัน บันนา

ห่วงโซ่แห่งบรรดาวีรบุรุษชุฮาดาอ์จะทอดยาวไปทีละข้อ ตราบจนวันสิ้นโลก

ตราบเท่าที่โลกนี้ยังมีสัปประยุทธ์ระหว่างความสว่างกับความมืดมิด… ]


สรุปสาระบท غصن باسق فى شجرة الخلود
“หะซัน บันนา กิ่งก้านอันงดงามของต้นอมตะนิรันดร์”

โดยชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี
ในตำรา تأملات في الدين والحياة “ครุ่นคำนึง ถึงศาสนา โลกและชีวิต”

ถอดความโดย Ghazali Benmad

ความพยายาม ​7 ครั้ง ในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

อุมมะฮฺอิสลามได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์หลายครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อปลดปล่อยเมืองนี้จากการปฏิเสธศรัทธาและความอยุติธรรมทั้งหลาย นี่คือความพยายาม 7 ครั้งสำคัญในการพิชิตเมืองที่สำคัญนี้

1. ฮ.ศ.49 / ค.ศ.669
ท่านอิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ ได้ระบุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของท่านว่า ท่านมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน คือเคาะลีฟะฮฺอิสลามคนแรกที่ได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยแต่งตั้งให้ยะซีด บินมุอาวิยะฮฺ ลูกชายของท่าน เป็นผู้นำกองทัพ 300,000 นายพร้อมเรือ 300 ลำไปยังที่นั่น ความพยายามในครั้งนี้ยังไม่บรรลุผล และท่านอบูอัยยูบ อัลอันศอรีย์ เศาะหาบะฮฺอาวุโสคนหนึ่งก็ได้เสียชีวิตลงที่นั่นด้วย

2. ฮ.ศ.54-60 / ค.ศ.674-680
ความพยายามในครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน อีกเช่นกัน กองทัพอิสลามต่อสู้อย่างต่อเนื่องนาน 6 ปี ภายใต้การนำทัพของอับดุรเราะหฺมาน บินคอลิด (ลูกชายของท่านคอลิด บินอัลวะลีด) ต้องเข้าใจว่า กรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้นคือศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรไบแซนไทน์ หากเมืองนี้ถูกพิชิต เมืองอื่นที่เหลือก็จะแตกกระจายไร้เสถียรภาพ มันจะเป็นประตูเปิดไปสู่การพิชิตเมืองอื่น ๆ อีกมากมายในแผ่นดินยุโรป แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ยังไม่บรรลุอีกเช่นกัน

3. ฮ.ศ.98 / ค.ศ.718
เคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บินอับดุลมะลิก แห่งคิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺ ได้แต่งตั้งให้น้องชายคือ มัสละมะฮฺ บินอับดุลมะลิก เป็นแม่ทัพบัญชาการทหารกว่า 200,000 นาย พร้อมเรืออีกประมาณ 5,000 ลำเข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ความพยายามในครั้งนี้ล้มเหลว อีกทั้งยังทำให้คิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺเสียหายและอ่อนแอลงด้วย

Bernard lewis (นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ-อเมริกัน) กล่าวว่า “ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อความเข้มแข็งของอาณาจักรอุมัยยะฮฺ งบประมาณที่ทุ่มลงไปเพื่อการพิชิตในครั้งนี้ทำให้การคลังของรัฐเกิดความปั่นปวน”

4. ฮ.ศ.165 / ค.ศ.781
ในสมัยคิลาฟะฮฺอับบาสียะฮฺ เคาะลีฟะฮฺอัลมะฮฺดีย์ได้ส่งลูกชายคือ ฮารูน อัรเราะชีด นำกองทัพ 96,000 นาย เข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ แต่ความพยายามในครั้งนี้ก็สร้างความเสียหายอย่างมากแก่อาณาจักรไบแซนไทน์ จักรพรรดินีไอรีนเสนอให้ทำสัญญาสงบศึก ซึ่งทำให้ไบแซนไทน์เป็นฝ่ายเสียเปรียบเอง

5. ฮ.ศ.796 / ค.ศ.1393
ในยุคของสุลต่านบะยาซิดที่ 1 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ สุลต่านให้ความสำคัญกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลมาก ถึงกับสร้างกองทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ในช่วงเวลานั้น) แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปข้างในคอนสแตนติโนเปิลได้ สุลต่านบะยาซิดที่ 1 สามารถเอาชนะกองทัพคริสเตียนที่นิโคโปลิส (ปัจจุบันคือ ประเทศบัลแกเรีย) ได้ในปี ค.ศ.1396 แต่การพิชิตก็ต้องยุติลง เมื่อท่านพ่ายแพ้ให้กับตีมูร เลงค์ ในศึกอังการ่า ในปี ค.ศ.1402 และถูกกองทัพมองโกลจับตัวไป สุดท้ายสุลต่านก็เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคมของปีต่อมา

6. ฮ.ศ.824-863 / ค.ศ.1421-1451
ภารกิจการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ริเริ่มโดยสุลต่านมุร็อดที่ 2 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ นักประวัติศาสตร์เรียกความพยายามในครั้งนี้ว่าเป็น “การปิดล้อมกรุงคอนแสตนติโนเปิลเต็มรูปแบบ ครั้งที่ 1” แต่สุดท้ายสุลต่านมุร็อดที่ 2 ก็ต้องถอนกำลังออกมา เนื่องจากเกิดกบฏขึ้นที่อะนาโตเลีย นำโดย กุจุก มุศเฏาะฟา น้องชายของสุลต่านเอง

7. ฮ.ศ.857 / ค.ศ.1453
หลังจากความพยายามและการรอคอยที่ยาวนาน สุดท้ายหะดีษของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็เป็นจริง สุลต่านมุฮัมหมัด อัลฟาติหฺ ในฐานะผู้นำที่ดีที่สุดพร้อมกับกองทัพที่ดีที่สุดของท่าน ได้เข้าปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลนาน 54 วัน เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 23 มีนาคม 1453 สุลต่านอัลฟาติหฺได้เคลื่อนทัพทั้งทางบกและน้ำ ขนปืนใหญ่ ทหารม้า และทหารราบ รวมกว่า 250,000 นาย ออกจากเมืองเอเดอเนไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล กระทั่งสามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ ในวันที่ 29 เมษายน 1453

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยถูกถามว่า “ 2 เมืองนี้เมืองใดจะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก กรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงโรม?” ท่านตอบว่า

‎مَدِيْنَةُهِرَقْلَ تُفْتَحٌ أَوَّلًا يَعْنِى القُسْطَنْطِيْنِيَّة
“เมืองของฮิรอกล์ (จักรพรรดิเฮราคลีอุสแห่งโรมันไบแซนไทน์) จะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก คือกรุงคอนสแตนติโนเปิล” (บันทึกโดย อะหมัด, อัดดารีมีย์ และอัลฮากิม)

และท่านได้กล่าวไว้ในหะดีษอีกบทว่า

لَتُفْتَحَنَّ الْقُسْطَنْطِيْنِيَّةُ وَلَنِعْمَ الْأ مِيْرُ أَمِيرُهَاولَنِعْمَ الَجَيْشُ جَيْشُهَا
“แน่นอนคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิต และผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้นำการพิชิตในครั้งนี้ และกองทัพที่ดีที่สุดก็คือกองทัพดังกล่าว” (บันทึกโดย อะหมัดและอัลฮากิม)


อ้างอิง :
1. ตารีค อัฏเฏาะบะรีย์ โดย อิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์
2. อัยยามุนา ลา ตุนซา โดย ตะมีม บัดรฺ
3. The First Arab Siege of Constantinople โดย Marek Jankowiak
4. The Walls of Constantinople, AD 324-1453 โดย Stephen Trunbull
5. บทความเรื่อง “การพิชิตนครคอนสแตนติโนเปิ้ลจะเกิดขึ้นก่อนการพิชิตกรุงโรม” โดย อ.อาลี เสือสมิง


ที่มา.GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

ลูกหรือจะสู้นกกรงหัวจุก

ราว 10 ปีที่แล้ว
จำได้ว่า ไปบรรยายที่ มอ.ปัตตานี เรื่องบทบาทสตรีมุสลิมะฮ์ หลังบรรยายเสร็จมีสตรีคนหนึ่งยกมือนำเสนอว่า

“ อาจารย์คะ ช่วยไปบอกผู้เป็นพ่อใน 3 จว. ชายแดนใต้ทุกคนว่า หากพ่อทุกคนรักและเอาใจใส่ลูกของตนเอง ให้ได้ครึ่งหนึ่งที่เขารักและเอาใจใส่นกกรงหัวจุก รับรองว่า ลูกๆของเรา จะมีค่ามากกว่านกกรงหัวจุกหลายร้อยพันเท่า”

เสียงนั้น ยังคงก้องกังวาลในโสตประสาทของผมตลอดเวลา และผมได้ใช้เวทีต่างๆเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้สตรีคนนั้นมาโดยตลอดตราบที่มีโอกาส

โอกาสนี้ จึงขอใช้เวทีนี้ กระจายเสียงของนางอีกครั้งครับ


เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ลัทธิบาบี และบาไฮ

ลัทธิบาบี และบาไฮ (อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ)
นิยาม

อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ คือลัทธิที่แยกตัวจากสำนักคิดชีอะฮฺสายอัช-ชัยคียะฮฺ เมื่อปี ฮ.ศ.1260 / ค.ศ.1844 ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูของจักรวรรดินิยมโซเวียต องค์กรยิวสากลและจักรวรรดินิยมอังกฤษ โดยมีเป้าหมายหลักคือทำลายหลักการศรัทธาของอิสลาม สร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม และเพื่อให้ชาวมุสลิมหันเหจากปัญหาหลัก

การก่อกำเนิดแนวคิดนี้
ลัทธินี้ก่อตั้งโดย อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.1235-1266/ ค.ศ.1819-1850) มีฉายานามว่า อัล-บาบ (ชาวบาไฮในประเทศไทยเรียกว่า พระบ็อบ)
เมื่อตอนอายุ 6 ขวบอัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ ได้ศึกษาความรู้ครั้งแรกจากนักเผยแพร่นิกายชีอะฮฺท่านหนึ่ง ต่อมาเขาได้หยุดเรียนและหันไปประกอบอาชีพค้าขาย
เมื่ออายุ 17 เขาได้กลับมาศึกษาหาความรู้อีกครั้งโดยสนใจในตำราเกี่ยวกับวิชาตะเศาวุฟ และการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ตามแนวทางของพวกอัล-บาฏินียะฮฺที่นิยมการทรมานร่างกาย
ในปี ฮ.ศ. 1259 เขาได้เดินทางไปยังกรุงแบกแดดและได้เริ่มศึกษาหาความรู้จากผู้นำชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ซึ่งมีนามว่า กาซิม อัร-ร็อชตีย์ เขาได้ศึกษาแนวคิดและทัศนะต่างๆ ของลัทธินี้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับสายลับชาวรัสเซียคนหนึ่ง ชื่อว่า คินาซด์ ฆุรกีย์ เขาคนนี้ได้อ้างตนว่าเป็นมุสลิมโดยใช้ชื่อว่า อีซา อัน-นักรอนีย์ เขาผู้นี้ได้เริ่มสร้างกระแสว่า อัล-มิรซา มุหัมหมัด อัช-ชีรอซีย์ คือ อิหม่ามอัล-มะฮฺดีย์ ที่โลกรอคอย และเป็นอัล-บาบ (ประตูสู่การรู้จักสัจธรรมเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งจะปรากฎตัวหลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์
ทั้ง นี้เนื่องจากเขามองว่าอัช-ชีรอซีย์เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะอุปโลกน์เพื่อ ให้แผนการของพวกเขาบรรลุผลในการสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวมุสลิม
ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 5 ญุมาดัลเอาวัล ฮ.ศ.1260 ตรงกับ 23 มีนาคม 1844 เขาได้ประกาศตนว่าเขาคือ อัล-บาบ ตามความเชื่อของชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ หลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์ เมื่อปี ฮ.ศ. 1259 เขาอ้างตนว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ เสมือนกับท่านนบีมูซา นบีอีซา และนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (แท้จริงแล้วบรรดาศาสนทูตของพระองค์มีเกียรติอันสูงส่งไม่สามารถนำมาเปรียบกับเขาได้เลย)
จากคำกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้ศิษย์ของอัร-ร็อชตีย์หลงเชื่อ และผู้คนทั่วไปพากันหลงเชื่อด้วย เขาจึงเลือกบุคคลจำนวน 18 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่แนวคิดของเขา โดยให้ฉายานามบุคคลเหล่านั้นว่า อัล-หุรูฟ อัล-หัยย์ (อักษรที่มีชีวิต) แต่เมื่อปี ฮ.ศ. 1261 พวกเขาได้ถูกทางการจับกุมตัว และในที่สุดพวกเขายอมประกาศเตาบัต (กลับตัว) บนมินบัรฺมัสยิดอัล-วะกีล หลังจากที่พวกเขาได้สร้างความเสื่อมเสียบนหน้าแผ่นดิน เข่นฆ่าชาวมุสลิมมากมาย ตลอดจนกล่าวหาว่าชาวมุสลิมกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา
ในปี ฮ.ศ.1266 อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์(อัล-บาบ หรือพระบ็อบ) ได้อ้างว่า พระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของตน (หุลูล อิลาฮิยะฮฺ) แต่หลังจากปราชญ์มุสลิมได้โต้เถียงกับเขาถึงประเด็นนี้เขาได้แสดงท่าทีว่ายอมรับและกลับตัว แต่ปราชญ์มุสลิมไม่ได้หลงกลเนื่องจากรู้ว่าเขาผู้นี้เป็นคนขี้ขลาดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริง ดังนั้นปราชญ์มุสลิมได้ตัดสินให้ประหารชีวิตเขาและสหายของเขา อัซ-ซะนูซีย์ ส่วนผู้บันทึกคำสอนของเขาที่ชื่อว่า หุสัยน์ อัล-ยัซดีย์ ได้เตาบัต (กลับตัว)จากลัทธิอัล-บาบิยะฮฺก่อนที่จะถูกประหารทำให้เขาได้อิสรภาพไม่ต้องโทษ เมื่อวันที่ 27 ชะอฺบาน 1266 ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม 1850

บุคคลสำคัญของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
1. กุรเราะฮฺ อัล-อัยนฺ ซึ่งมีชื่อจริงว่า อุมมุ สัลมา ถือกำเนิด ณ เมืองก็อซวีน เมื่อปี ฮ.ศ. 1231 ได้ศึกษาหาความรู้จากมุลลา มุหัมหมัด ศอลิหฺ อัล-ก็อซวีนีย์ หนึ่งในปราชญ์ชีอะฮฺ ต่อมาได้สนใจศึกษาแนวทางชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ผ่านลุงของนางเอง คือ มุลลา อะลีย์ อัช-ชัยคีย์ นางได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชีอะฮฺกลุ่มนี้ ต่อมานางได้เดินทางมาศึกษาจาก กาซิม อัร-ร็อชตีย์ พร้อมอัล-บาบ ณ เมืองกัรบะลาอ์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) จนมีคนเข้าใจว่านางคือผู้ออกแบบแนวความคิดต่างๆ ให้แก่อัล-บาบ เนื่องจากนางเป็นนักพูดที่ชาญฉลาด มีวาทะโวหารที่ปราดเปรื่อง อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความเลอโฉมงดงาม แต่นางก็ถือว่าเป็นหญิงแพศยา สามีของนางได้ขอหย่าและปฏิเสธการเป็นบิดาของลูกที่อยู่ในครรภ์ของนาง นางได้รับฉายานามว่า “เราะซีน ตาญจ์” เจ้าของบทกวีภาษาเปอร์เซีย
ในเดือนเราะญับ ปี ฮ.ศ. 1264 นางได้ประชุมหารือกับแกนนำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺ ณ เมืองบะดัชต์ (Conference of Badasht) นางเป็นผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์ และสร้างความฮึกเหิมแก่มวลสมาชิกอัล-บาบิยะฮฺเพื่อออกมาประท้วงการจับกุมอัล-บาบ และได้ประกาศจุดยืนว่าอัล-บาบิยะฮฺได้เป็นอิสระจากศาสนาอิสลามแล้ว
นางเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมวางแผนลอบสังหารกษัตริย์ ชาฮ์ นาศีรุดดีน อัล-กอญารีย์ (Nasser al-Din Shah Qajar – กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศอิหร่าน ระหว่างปี ค.ศ.1848-1896) ต่อมานางได้ถูกจับกุมและถูกตัดสินให้เผาเป็นๆ แต่ทว่านางได้เสียชีวิตก่อนจะถูกประหารในต้นเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1268 ตรงกับ ค.ศ. 1852

2. อัล-มิรซา ยะหฺยา อะลีย์ มีศักดิ์เป็นน้องชายของอัล-บาบ มี ฉายานามว่า ศุบฮฺ อะซัล อัล-บาบได้สั่งเสียให้เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำแทนเขาหลังเสียชีวิต เรียกขานผู้ตามของเขาว่า อัล-อะซัลลิยีน แต่น้องชายของเขา อัล-มิรซา หุซัยนฺ อัล-บะฮาอ์ ต้องการชิงตำแหน่งผู้นำลัทธินี้เช่นกัน และต่างคนพยายามที่จะลอบสังหารกัน ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอัล-บาบิยะฮฺกับพวกชีอะฮฺ ทำให้พวกเขาต้องถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองอัดเราะนะฮฺ (Edirne) ประเทศตุรกี เมือปี ฮ.ศ.1863 อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวยิว และด้วยเหตุที่พลพรรคของศุบฮฺ อะซัล และพลพรรคของบะฮาอุลลอฮฺเกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานได้เนรเทศ บะฮาอุลลอฮฺพร้อมมวลชนของเขาไปอยู่ที่เมืองอักกา ส่วน ศุบฮฺ อะซัลและมวลชนของเขาถูกเนรเทศไปยังเกาะไซปรัส จนเขาได้เสียชีวิตที่นั้น เมื่อวันที่ 29เมษายน 1912 ด้วยวัย 82 ปี โดยได้ทิ้งตำราที่เขาแต่งคือ อัล-อัลวาหฺ และ ตำราอัล-มุสตัยกิซ และได้สั่งเสียให้บุตรชายของเขาที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์สืบทอดตำแหน่งผู้นำกลุ่มต่อไป จึงทำให้สมุนของศุบฮฺ อะซัลส่วนใหญ่ไม่พอใจและได้ออกห่าง

3. อัล-มิรซา หุสัยนฺ อะลีย์ ซึ่งมีฉายานามว่า บะฮาอุลลอฮฺ ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1817 ได้ชิงตำแหน่งผู้นำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺจากพี่ชายของเขาหลังจากการเสียชีวิตของอัล-บาบ(พระบ็อบ) เขาได้ประกาศตนต่อหน้าสานุศิษย์ของเขาที่กรุงแบกแดด ว่าเขาคือ อัล-มุซ็อฮฮิรฺ อัล-กามิล ผู้ซึ่งอัล-บาบได้พยากรณ์ว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และพระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของเขาเพื่อสานต่อภารกิจการเผยแพร่ลัทธิอัล-บาบิยะฮฺต่อไป การเผยแพร่ของเขาถือว่าเป็นการเผยแพร่ในบันไดขั้นที่สองในหลักความเชื่อศาสนาบาบี (ผู้ที่เลื่อมใสในคำสอนของเขาเรียกว่า บะฮาอิยูน หรือพวกบาไฮ) เขาพยายามที่จะลอบสังหารศุบฮฺ อะซัล ซึ่งเป็นพี่ชายของเขาเอง เขามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาวยิวที่อยู่ในตำบลอัดเราะนะฮฺ (Edirne) เมืองสาโลนิกา (Salonika) ประเทศตุรกี อันเป็นแผ่นดินที่ชาวบาไฮ เรียกว่าแผ่นดินแห่งความลับ เขาได้ส่งมือสังหารจากเมืองนั้นไปยังเมืองอักกาและได้ทำการสังหารพลพรรคของพี่ชายของเขาศุบฮฺ อะซัล ล้มตายหลายราย
ในปี ค.ศ.1892 บะฮาอุลลอฮฺได้ถูกสังหารด้วยน้ำมือของสมุนพี่ชายของเขาเองและร่างของเขาถูกฝังที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา (ประเทศปาเลสไตน์) เขามีผู้ทำหน้าที่เขียนคัมภีร์ให้เขา เช่นคัมภีร์อัล-บะยาน(Kitab al-Bayan) และคัมภีร์อัล-อีกอน (Kitab al-Iqan) คัมภีร์ของเขามีเนื้อหาเรียกร้องให้ชนชาติยิวมารวมตัวกันตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนปาเลสไตน์

4. อับบาส อะฟันดีย์ มีฉายานามว่า อับดุลบะฮาอ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1844 ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่อัล-บาบ ได้ประกาศลัทธิใหม่นี้ บิดาของเขา (บะฮาอุลลอฮฺ) ได้สั่งเสียให้เขาสืบทอดตำแหน่งผู้นำ เขาเป็นผู้ที่มีบุคลิกที่จริงจังมาก จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าหากไม่มีอับบาส ศาสนาบาไฮคงไม่สามารถดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ชาวบาไฮเชื่อว่าเขาเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากมวลบาป (มะอฺศูม) เขาได้เพิ่มเติมคุณลักษณะบิดาของเขาบะฮาอุลลอฮฺให้คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้า คือสามารถที่จะบันดาลสรรพสิ่งขึ้นมาได้
อับบาส อะฟันดีย์ ได้เดินทางเยือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมได้เขาร่วมประชุมสมัชชาไซออนนิสต์ ณ เมืองบาเซิล (Basle) ในปี ค.ศ.1911 เขาได้พยายามที่จากแหกมติชนชาติอาหรับโดยหันไปสนับสนุนยิวไซออนิสต์ เขาให้การต้อนรับนายพลอัลเลนบี้(General Edmund Allenby-แม่ทัพของอังกฤษที่มายึดครองปาเลสไตน์และซีเรียเมื่อปี ค.ศ.1917) ครั้งที่เดินทางมาที่ปาเลสไตน์ จนรัฐบาลอังกฤษชื่นชมบทบาทของเขาด้วยการยกฐานะเป็นเซอร์ (Sir – เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งให้กับสามัญชนผู้มีความดีความชอบให้กับแผ่นดินมากซึ่งในอดีตก็จะเป็นอัศวินนักรบ) พร้อมทั้งประดับเครื่องอิสริยาภรณ์และสายสะพายอื่นๆ มากมาย เขาได้เดินทางเยือนหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เบลเยียม ฮังการี อะเล็กซานเดรีย (อียิปต์)เพื่อทำการเผยแพร่ลัทธิของเขา จนกระทั่งเขาได้ก่อตั้งศูนย์ศาสนาบาไฮที่ใหญ่โต ณ เมืองชิคาโก ต่อมาเขาเดินทางไปยังเมืองฮัยฟา (ปาเลสไตน์) เมื่อปี 1913 ต่อมาเขาเดินทางไปยังกรุงไคโรและเสียชีวิตที่นั้นเมื่อปี ฮ.ศ.1340 /ค.ศ.1921 หลังจากที่เขาได้ถ่ายถอดความรู้จากบิดาของเขาพร้อมทั้งได้เพิ่มเติมคำสอนจาก คัมภีร์ไบเบิลพันธะสัญญาเก่าเพื่อเป็นการยืนยันในคำสอนของเขาให้มีน้ำหนัก

5. เชากีย์ อะฟันดีย์ เป็นหลานของอับดุลบะฮาอ์ ปู่ของเขาได้จากโลกนี้ไปในขณะที่เขามีอายุ 24 ปี ในปี 1921 / ฮ.ศ.1340 เขาได้ดำเนินตามรอยทางปู่ของเขาในการบริหารองค์กรบาไฮ เพื่อก่อตั้งสภายุติธรรมสากล เขาได้เสียชีวิตที่กรุงลอนดอนจากหัวใจวาย และร่างของเขาถูกฝังที่นั้น แผ่นดินที่รัฐบาลมอบรางวัลมากมายแก่กลุ่มชาวบาไฮ
ในปี ค.ศ.1963 แกนนำบาไฮ 9 คน ได้ดำเนินการตามภารกิจของอัล-บะฮาอิยะฮฺด้วยการก่อตั้งสภายุติธรรมสากล (The Universal House of Justice) โดยมีคณะกรรมการบริหารจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ชาวอเมริกา 4 คน ชาวอังกฤษ 2 คน และชาวอิหร่าน 3 คน และเคยมีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาแห่งนี้เป็นชาวยิวฟรีเมสัน สัญชาติอเมริกา

แนวคิดและความเชื่อของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
– ชาวบาไฮเชื่อว่า อัลบาบ (พระบ็อบ) เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทุกอย่างด้วยคำประกาศิตของเขา เขาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของทุกๆ สิ่ง
– พวกเขาเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์ในตัวตนของมนุษย์ เชื่อในหลักอัล-อิตติหาด(ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน) เชื่อในหลักเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าวัตถุทุกอย่างคงอยู่อย่างถาวร และเชื่อว่าผลบุญ และบทลงโทษนั้นเกิดขึ้นกับดวงวิญญาณเท่านั้น และสิ่งดังกล่าวเป็นความเชื่อเชิงมายาคติ
– พวกเขาบูชาเลข 19 ซึ่งทำให้พวกเขากำหนดเดือนในรอบปีมี 19 เดือน และกำหนดวันในรอบเดือนมีเพียง 19 วัน ในการนี้มีผู้ทำตามแนวคิดนี้คือ อัล-ฮะรออ์ มีชื่อเต็มว่า มุหัมหมัด เราะชาด เคาะลีฟะฮฺ ซึ่งเขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเลข 19 เขาพยามยามที่จะเชื่อมโยงว่าอัลกุรอานมีโครงสร้างมาจากเลข 19 แต่ทว่าไม่มีใครให้ความสนใจกับคำพูดของเขาเลย
– พวกเขาเชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ขงจื้อ โซโรแอสเตอร์ และบุคคลสำคัญอย่างนักปราชญ์ของอินเดีย จีน และเปอร์เซีย เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ
– พวกเขามีทัศนะเห็นพ้องกับชาวยิวและคริสเตียนว่า นบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ถูกตรึงบนไม้กางเขน
– พวกเขาตีความอัลกุรอานเชิงความรู้ลึกลับเพื่อให้สอดคล้องกับลัทธิของพวกเขา
– พวกเขาปฏิเสธในมุอฺญิซาต (ความมหัศจรรย์ที่อัลลอฮฺประทาน) ของบรรดาศาสนทูต พวกเขาปฏิเสธการมีอยู่จริงของบรรดามลาอิกะฮฺ ญิน พร้อมทั้งปฏิเสธว่าสวรรค์และนรกมีอยู่จริง
– พวกเขาห้ามสตรีคลุมหิญาบ พวกเขาอนุญาตให้แต่งงานมุตอะฮฺได้ เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและความเสมอภาคในทรัพย์สินเงินทอง
– พวกเขากล่าวว่าศาสนาที่อัล-บาบนำมานั้นได้ยกเลิกบทบัญญัติต่างๆ ที่นบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เผยแพร่ไว้
– พวกเขาตีความว่าวันกิยามะฮฺนั้นคือวันที่บะฮาอุลลอฮฺได้ปรากฏตัว ส่วนทิศกิบละฮฺของพวกเขาในเวลาละหมาดคือ สถานที่เรียกว่า สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์ แทนที่บัยตุลลอฮฺ ณ มัสยิดอัลหะรอม
– พวกเขาจะละหมาดวันละ 3 เวลา มีจำนวนร็อกอะฮฺ 9 ร็อกอะฮฺ และจะอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำดอกกุหลาบ แต่หากไม่มีน้ำดังกล่าวพวกเขาจะกล่าวบิสมิละฮฺด้วยสำนวนดังนี้จำนวน 5 ครั้ง “บิสมิลละฮิลอัฏฮัรฺ อัลอัฏฮัรฺ- بسم الله الأطهر الأطهر “
– ไม่มีการละหมาดแบบญะมาอะฮฺในหมู่พวกเขานอกจากการละหมาดศพ ซึ่งมีจำนวนตักบีรฺ 6 ครั้ง และทุกตักบีรฺพวกเขาจะกล่าวว่า “อัลลอฮุ อับฮา- الله أبهى “
– พวกเขาจะถือศีลอดในเดือนที่ 19 ตามปฏิทินบาไฮ พวกเขาจะอดอาหารเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นระยะเวลา 19 วัน จากนั้นพวกเขาจะเฉลิมฉลองวันอีด อัน-นัยรูซ (วันปีใหม่ชาวบาไฮ) ในวันที่ 21 ของเดือนมีนาคม ชาวบาไฮทุกคนที่มีอายุระหว่าง 15-70 ปีต้องถือศีลอด
– พวกเขาห้ามการทำอัล-ญิฮาด หรือจับอาวุธต่อสู้กับอริราชศัตรู ซึ่งกฎดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของจักรวรรดินิยมในการอุปโลกน์ลัทธินี้ขึ้นมา
– พวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมหมัด คือ นบีหรือศาสนทูตองค์สุดท้าย พวกเขาอ้างว่าวะหฺยู (วิวรณ์) จากอัลลอฮฺนั้นถูกประทานลงมาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเลยแต่งตำรับตำรามากมายที่มีเนื้อหาแย้งกับอัลกุรอานแต่ทว่าตำราของ เขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่องไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาหรือสำนวน
– พวกเขาได้ยกเลิกการไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ เมืองมักกะฮฺ อัล-มุกัรเราะมะฮฺ แต่พวกเขาจะไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ สถูปฝังศพของบะฮาอุลลอฮฺ ที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์แทน

รากเหง้าทางความคิดและความเชื่อของพวกบาไฮ
ความคิดและความเชื่อของพวกเขาได้ผสมผสานระหว่างแนวคิดต่างๆต่อไปนี้

– อัร-รอฟิเฎาะฮฺ อัล-อิมามิยะฮฺ (ชีอะฮฺ อิหม่าม 12 )
– ชีอะฮฺ อัช-ชัยคียะฮฺ (สาวกของชัยคฺอะหฺมัด อัล-อะหฺสาอีย์)
– อัล-มาสูนียะฮฺ (องค์กรฟรีเมสันสากล)
– ยิวไซออนิสต์สากล

การแพร่กระจายและแหล่งที่มีอิทธิพลของศาสนาบาไฮ
ชาวบาไฮส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในประเทศอิหร่าน บางส่วนอาศัยอยู่ในอิรัก ซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพวกเขา เช่นเดียวกันนั้นพวกเขาเคยมีศูนย์ศาสนาบาไฮในอียิปต์แต่ศูนย์ดังกล่าวถูกปิดตัวลงตามคำสั่งของรัฐบาล หมายเลขที่ 263 เมื่อปี ค.ศ. 1960 นอกจากนี้พวกเขายังมีศูนย์ ณ เมืองต่างๆ เช่นที่ แอดดิส อบาบา เอธิโอเปีย กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา กรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย ซึ่ง ณ เมืองนี้พวกเขาได้จัดประชุมสามัญประจำปี ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน ค.ศ. 1989 พวกเขามีศูนย์ที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงเวียนนา เมืองแฟรงก์เฟิร์ต(เยอรมัน) กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เมืองชิคาโก (รัฐอิลลินอยส์-สหรัฐอเมริกา) พวกเขามีโบสถ์ที่ใหญ่โต ซึ่งพวกเขาเรียกว่า มุชริกุลอัซการฺ ณ สถานที่แห่งนั้นพวกเขาได้ผลิตวารสารออกมา ชื่อว่า นัจมฺ อัล-ฆ็อรฺบ (ดาวตะวันตก) เช่นเดียวกับที่เมืองวิลเมตต์ ศูนย์กลางบาไฮในอเมริกา ในเมืองนิวยอร์กพวกเขามีคาราวานตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวบนหลักการของบาไฮ พวกเขามีหนังสือคู่มือกองคาราวาน และเพื่อนความรู้ พวกเขามีแหล่งชุมนุมใหญ่ในเมืองฮิวสตัน (รัฐเทกซัส) ลอสแอนเจลิส (รัฐแคลิฟอร์เนีย) บรุกลิน และนิวยอร์ก โดยประมาณว่าพวกบาไฮในสหรัฐอเมริกามีจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นสมาชิกใน 600 กว่าองค์กร เป็นเรื่องที่ประหลาดอย่างยิ่งที่พวกบาไฮมีตัวแทนประจำองค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก มีตัวแทนสหประชาชาติที่เจนีวา และมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศแอฟริกาที่กรุงไนโรบี นอกจากนี้พวกเขามีฐานะเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสังคมและเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ (Ecosco) พวกเขามีสมาชิกทำงานในองค์การสิ่งแวดล้อมโลกแห่งสหประชาติ (Unep) ในกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ -Unicef) และในสำนักงานสารสนเทศแห่งสหประชาชาติ (U.N. Office of Public Information) เช่น ดุซซีย์ บูส เป็นตัวแทนขององค์การบาไฮสากลประจำองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่วนรุสตุม ค็อยรูฟ เป็นสมาชิกมูลนิธิสากลเพื่อความมั่นคงของมนุษยชาติ

บทสรุป
อัล-บาบิยะฮฺ (ศาสนาบาบี) และอัล-บะฮาอิยะฮฺ (ศาสนาบาไฮ) คือกลุ่มที่หลงทางซึ่งได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย อีกทั้งพวกเขายังอ้างว่าวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์อยู่ในร่างของอัลบาบ (พระบ็อบ) หรือในร่างของอัล-บะฮาอ์ พวกเขายังปฏิเสธการลงโทษของอัลลอฮฺในวันปรโลก พวกเขาจงรักภักดีต่อชาวยิวตลอดเวลาและพยายามจะให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนศาสนา และพวกเขาประกาศอย่างชัดเจนว่าคัมภีร์อัล-บะยานของพวกเขาได้ยกเลิกคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน
ได้มีคำฟัตวา (ข้อชี้ขาดทางศาสนา)ที่มาจากหลายสำนักทางวิชาการศาสนา เช่นศูนย์ศาสนบัญญัติอิสลาม เมืองมักกะฮฺ สำนักฟัตวาแห่งประเทศอียิปต์ ระบุว่า ลัทธิอัลบะฮาอิยะฮฺ และอัลบาบิยะฮฺ ได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม และถือว่าเป็นศัตรูต่อศาสนาอิสลาม ผู้ที่เลื่อมใสในแนวคิดของพวกเขาถือว่าเป็นกาฟิรฺ (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) อย่างชัดแจ้งโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ อีก (อ้างจากหนังสือพิมพ์อัลมะดีนะฮฺ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 เดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ.1399 ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1979)

Ref : saaid.net
จากหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะษาฮิบ โดยสภายุวมุสลิมโลก


ถอดความโดย Salamah Panphum

มหัศจรรย์แห่งวากัฟรอมฏอน | บันทึกรอมฎอน 1441 (9)

ตอนเย็นวันที่ 26 รอมฎอน 1441 เวลาประมาณ 5 โมงเย็น มีหญิงอายุเลย 60 ปีขับมอเตอร์ไซค์คันเก่าๆมาจอดหน้าบ้าน พร้อมควักเงิน 1,000 บาท ยื่นให้พลางกล่าวว่า จะบริจาควากัฟมาดีนะตุสสลาม

ผมจึงกล่าวขอบคุณและดุอาให้เมาะและครอบครัว พร้อมถามว่า เมาะรวบรวมเงินอย่างไร

เมาะยิ้มพลางตอบว่า ไม่ได้ออมอะไรหรอก เพียงแต่ทราบว่าตนได้เงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ยังไม่ไปเบิก จึงไปขอยืมเงินจากเพื่อนบ้านไปก่อน เกรงว่าพอได้เงินก้อน อาจจะถูกนำไปใช้อย่างอื่นจนไม่เหลือที่จะวากัฟ จึงรีบชิงทำความดีที่ไม่สิ้นสุดไปก่อน ถึงแม้จะต้องไปเครดิตกับเพื่อนบ้านก็ตาม

นับถือวิธีคิดและซาบซึ้งจิตใจอันงดงามของเมาะจริงๆ เมาะสตาร์ทรถเครื่องกลับบ้านไปนานแล้ว แต่ผมยังยืนแน่นิ่งดูเมาะจนลับตา พร้อมน้ำอุ่นๆที่ไหลออกมาโดยไม่รู้สึกตัว

เย็นนี้ เมาะให้บทเรียนหลายข้อที่คุ้มค่าเหลือเกิน

โดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ไม่มีอะไรที่กลับตาลปัตรและพลิกผันไปมากกว่านี้อีกแล้ว | บันทึกรอมฎอน 1441 (8)

47 ปีที่แล้ว ประเทศอ่าวอาหรับทั้งคูเวต กาตาร์ บาห์เรน เอมิเรตส์ ภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียที่มีกษัตริย์ไฟศอลเป็นผู้นำได้ออกโรงตอบโต้สหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนอิสราเอลกรณีใช้กองกำลังบุกยึดปาเลสไตน์ ด้วยการพร้อมใจกันยุติการส่งออกน้ำมันแก่สหรัฐฯและฮอลแลนด์ เพื่อแสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างรัฐบาลอิยิปต์และซีเรียที่กำลังทำสงครามกับอิสราเอลที่ปะทุขึ้นเมื่อ 10 รอมฎอน 1394 (6/9/1973)

47 ปีคล้อยหลัง ทั้งประเทศที่เคยร่วมทำสงครามและประเทศบางประเทศที่เคยสนับสนุนทำสงครามกับอิสราเอล ได้ร่วมใจพากันจับมือกับสหรัฐฯและอิสราเอลเพื่อประกาศสงครามกับกลุ่มต่อต้านอิสราเอล และพากันชี้หน้าพวกเขาว่ามีอะกีดะฮ์ที่บิดเบือน แนวคิดที่สุดโต่ง และทัศนคติที่ไม่สร้างสรรค์

—————-
ไม่มีอะไรที่กลับตาลปัตรและพลิกผันไปมากกว่านี้อีกแล้ว