เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ (1)

ตามที่ได้สัญญาเอาไว้ครับ ผมตั้งใจจะเขียนเล่าเรื่องราวปัญหาปาเลสไตน์โดยอธิบายผ่านแผนที่ ซึ่งสำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์ได้รวบรวมเอาไว้ในบทความที่ใช้ชื่อหัวเรื่องว่า Palestine and Israel: Mapping an Annexation

บทความที่ว่านี้พยายามฉายภาพพัฒนาการของดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลค่อย ๆ ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจนดินแดนปาเลสไตน์แทบจะไม่มีเหลือเป็นชิ้นเป็นอัน ล่าสุดคือความพยายามที่จะผนวกดินแดนบางส่วนของเวสต์แบงก์ โดยเฉพาะในหุบเขาจอร์แดน อันเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนอกเหนือจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งอิสราเอลได้ผนวกและประกาศให้เป็นเมืองหลวงของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันนี้ผมจึงขอเริ่มต้นอธิบายแผนที่อันแรกของบทความดังกล่าว (ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 27 แผนที่) อันเป็นแผนที่ปาเลสไตน์ก่อนปี 1917

ขอเล่าย้อนประวัติศาสตร์สั้น ๆ อย่างนี้ครับ เมื่อราว ๆ ค.ศ. 1915 มีการติดต่อกันทางจดหมายระหว่าง เซอร์ เฮนรี่ เมคมาฮอน (Sir Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอียิปต์ กับ ชารีฟ ฮุสเซน (Sharif Hussein) ผู้ครองแคว้นฮิญาชและเป็นตัวแทนของชาวอาหรับทั้งผอง

เมคมาฮอนพยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวอาหรับสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจพันธมิตร สู้รบกับฝ่ายมหาอำนาจอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสัญญาจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในทุก ๆ ดินแดนหลังจากสงครามยุติลง รวมถึงปาเลสไตน์ด้วย ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงได้ลงนามในข้อตกลงแองโกล-อาหรับในฤดูใบไม้ร่วงปี 1915

คำสัญญาดังกล่าวทำให้ ชารีฟ ฮุสเซน เข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกัน ชาวอาหรับจากซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ ก็เข้าร่วมลุกฮือขึ้นก่อกบฎต่อต้านอาณาจักรออตโตมานที่ประกาศเข้าร่วมสงครามในนามฝ่ายอักษะ

ชาวอาหรับยินดีต้อนรับกองทัพอังกฤษที่เข้ามาในปาเลสไตน์ เปรียบทหารอังกฤษเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้มาปลดปล่อยให้พวกเขามีอิสรภาพหลังจากต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของออตโตมานเติร์กมานานเกือบ 500 ปี

แต่แล้วชาวอาหรับก็ถูกหักหลัง เพราะไม่เพียงแต่อังกฤษจะไม่รักษาคำมั่นสัญญาเท่านั้น แต่ยังไปสนับสนุนองค์กรยิวไซออนิสต์ให้จัดตั้งรัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ผ่านคำแถลงการณ์บัลโฟร์ (Balfour Declaration) ซึ่งมีชื่อเรียกตามนามของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น คือ เซอร์ อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Sir Arthur James Balfour)

คำแถลงการณ์บัลโฟร์นี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอังกฤษในเดือนตุลาคม 1917 มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 103 ปีแล้วครับ

ใจความของคำแถลงการณ์ตอนสำคัญมีความว่า

“รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาด้วยความเห็นชอบ ในการตั้งถิ่นฐานสำหรับพวกยิวขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศปาเลสไตน์ และจะใช้ความพยายามจนสุดความสามารถที่จะอำนวยความสะดวกต่อการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ข้อนี้ เป็นที่เข้าใจอย่างแจ้งชัดว่า จะไม่มีการปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นผลร้ายต่อสิทธิพลเรือนและการนับถือศาสนา ของหมู่ชนที่มิใช่ชาวยิวในประเทศปาเลสไตน์ หรือสิทธิและสถานภาพทางการเมืองที่พวกยิวได้รับในประเทศอื่น”

จากคำประกาศดังกล่าวนี้อังกฤษได้ออกมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวยิวได้อพยพเข้ามาในแผ่นดินปาเลสไตน์แบบไม่จำกัดจำนวน

ในเวลานั้น ประชากรของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 700,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 600,000 คนเป็นชาวอาหรับมุสลิม ส่วนชาวยิวซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดิมมีประชากรอยู่แต่ร้อยละ 6 เท่านั้น (ดูตามแผนที่และข้อมูลข้างใต้บทความนี้)

แต่หลังจากปี 1917 โครงสร้างประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ก็เปลี่ยนไปอย่างมากครับ ดูจากแผนที่ข้างใต้นี้ปาเลสไตน์ยังอาศัยอยู่กันเต็มพื้นที่เห็นเป็นสีเขียวจนแทบไม่เห็นประชากรชาวยิวท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยกันอยู่ในพื้นที่สีฟ้า

แล้วค่อยมาว่ากันต่อก็แล้วกันครับ


เขียนโดย Srawoot Aree

ความเป็นมาของอายาโซเฟีย

ความเป็นมาของอายาโซเฟีย : จากมหาวิหารที่สำคัญที่สุดในคริสต์ออโตดอกซ์ของจักรวรรดิโรมันผู้ยึดครอง เป็นมัสยิดอิสลาม สู่พิพิธภัณฑ์ และเป็นมัสยิดอีกครั้งในวันนี้

ศาลปกครองสูงสุดของตุรกี หรือที่เรียกว่า “สภาแห่งรัฐ” ประกาศการฟื้นฟูอายาโซเฟีย หรือฮาเกียโซเฟีย Hagia Sophia จากพิพิธภัณฑ์ไปยังมัสยิด อันเป็นการกลับคำสั่ง 86 ปี ของคณะรัฐมนตรีภายใต้ประธานาธิบดีมุสตาฟา กามาล อาตาเติร์ก

มหาวิหารอายาโซเฟียถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.360 เพื่อเป็นศาสนสถานมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในโลกของคริสตจักรออร์โธดอกซ์มาเกือบพันปี ตามคำสั่งของจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งไบเซนไทน์โรมันตะวันออก เงาทะมึนแห่งอาณาจักรโรมันผู้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายึดครองดินแดนแถบอาระเบีย และแอฟริกาเหนือในยุคนั้น

ในยุคไบเซนไตน์ นอกจากมหาวิหารอายาโซเฟียจะเป็นศาสนสถานสำคัญแล้ว ยังเป็นสถานประกอบรัฐพิธี เช่น การสถาปนากษัตริย์องค์ใหม่ เป็นต้น

การล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แห่งไบเซนไตน์โรมันตะวันออก และการเข้าสู่อิสลามได้รับการบอกล่วงหน้าโดยท่านศาสดามูฮัมหมัด (สันติภาพจงมีแด่ท่าน ) กองทัพมุสลิมได้พยายามอย่างต่อเนื่องในทำตามคำพยากรณ์นี้โดยเริ่มจากยุคคอลีฟะฮ์สายสกุลอุมัยยะฮ์ Umayyad Dynasty ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันวุ่นวาย อายาโซเฟียเคยถูกดัดแปลงเป็นวิหารโรมันคาทอลิคมาเกือบ 60 ปีในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 1204

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลถูกควบคุมโดยสุลต่านมุฮัมมัดที่สอง หรือมุฮัมมัด ฟาติห์ แห่งออตโตมัน ในปี ค.ศ. 1453 มหาวิหารฮาเกียโซเฟียถูกดัดแปลงให้เป็นสุเหร่าใหญ่ในเมืองหลวงใหม่ของอาณาจักรออตโตมัน ที่เปลี่ยนชื่อเมืองจาก “กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล” สู่ “กรุงอิสตันบูล”

ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

หลังการล่มสลายของออตโตมัน ในปี ค.ศ.1923 กามาล อะตาเติร์ก ได้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกี เป็นรัฐเซคคิวลาร์ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความปรารถนาดีต่อโลกของชาวคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ กามาล อะตาเติร์กได้เปลี่ยนสถานะมัสยิดอายาโซเฟียแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในปี ค.ศ.1934

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นรัฐเซคคิวลาร์ แต่ก็ยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีการรณรงค์มาหลายสิบปีเพื่อฟื้นฟูอาคารโบราณแห่งนี้ให้เป็นมัสยิด

คำร้องเพื่อใช้อายาโซเฟียในการละหมาด ในปี 2016 ได้ถูกศาลปฏิเสธ แต่ปรากฏว่าในรอบนี้ ศาลสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีแอร์โดฆาน ผู้ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนมัสยิดเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นความผิดใหญ่หลวง”


เขียนโดย Ghazali Benmad

2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่า : แม่ทัพเรือใหญ่แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ (ตอนที่ 1)

ในยุคที่คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺเรืองอำนาจ มีชายคนหนึ่งที่ได้ขึ้นปกครองแผ่นดินแอฟริกา เขาคือผู้ช่วยเหลือประชาชาติอิสลามและชาวยิวนับหมื่นชีวิตจากความโหดร้ายทารุณของกษัตริย์คริสเตียนในสเปน ร่วมกับน้องชายของเขา ที่ต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพเรือใหญ่ที่กล้าหาญแห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ เขาไม่เคยพ่ายแพ้ในศึกทางเรือเลยแม้แต่ครั้งเดียว ผู้คนต่างเรียกขานพวกเขาว่า “บาร์บาร็อสซ่า” ที่ในภาษาอิตาลีหมายถึง “เคราแดง” และพวกเขาทั้งคู่ก็มีเคราสีแดงจริง ๆ พวกเขาคือ อะรูจญ์และค็อยรุดดีน 2 พี่น้อง บาร์บาร็อสซ่า

อะรูจญ์และค็อยรุดดีนเกิดในช่วงปี ค.ศ.1470-1480 ที่ Paleokipos บนเกาะเลสบอสหรือบางครั้งก็เรียกว่า มีตีลีนีในประเทศกรีซ ซึ่งในตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ แม่ของพวกเขาชื่อว่า “แคทเทอรินา” เป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นชาวคริสเตียน (อะฮฺลุลกิตาบ) ส่วนพ่อชื่อ “ยะอฺกูบ” ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเป็นคนจากที่ไหน บ้างบอกว่าเป็นคนตุรกี โดยเป็นทหารม้าในกองทัพที่บุกพิชิตเกาะเลสบอส เมื่อปี ค.ศ.1462 ในยุคของสุลต่านมุฮัมหมัด อัลฟาติหฺ บ้างก็ว่าเป็นชาวกรีซ หรือแอลเบเนีย อะรูจญ์เป็นลูกชายคนโต ส่วนค็อยรุดดีนเป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องชาย 4 คน

ยะอฺกูบเป็นช่างทำเครื่องปั้นดินเผา เขามีเรือลำหนึ่งที่ใช้บรรทุกเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตไปขายตามเกาะต่าง ๆ ลูก ๆ ของเขาได้ฝึกฝนการล่องเรือเพื่อช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัว ลูกชาย 2 คนคือ อะรูจญ์และอิลยาสทำงานช่วยเหลือคุณพ่อบนเรือลำดังกล่าว ส่วนค็อยรุดดีนมักจะประจำอยู่บนเกาะเพื่อผลิตเครื่องปั้นดินเผา แต่เมื่อคุณพ่อเสียชีวิต พวกเขาก็ได้สานต่อธุรกิจของคุณพ่อ และออกผจญภัยบนท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนร่วมกัน

วันหนึ่งเรือของพวกเขาถูกอัศวินแห่งโรดส์โจมตี ทำให้เรือสำเภาและสินค้าเสียหายหมดสิ้น อีกทั้งอิลยาส น้องชายคนเล็กก็เสียชีวิตด้วย การตายของอิลยาสทำให้อะรูจญ์และค็อยรุดดีนเศร้าโศกเสียใจอย่างมาก พวกเขาโกรธและต้องการแก้แค้นให้กับน้องชาย จึงตัดสินใจบุกโจมตีเรือรบคริสเตียนทีละลำสองลำ และยกระดับการโจมตีให้หนักและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาได้ร่วมมือกับกอร์คูด (ลูกชายของสุลต่านบะยาซิดที่ 2) ขัดขวางการขนส่งของชาติสเปนและโปรตุเกสในฝั่งตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์ริเนียนด้วย กองเรือของอะรูจญ์และค็อยรุดดีนขยายใหญ่และเข้มแข็งขึ้นมาก ชื่อเสียงของพวกเขาดังไปทั่ว ในตอนนี้เองที่พวกเขาถูกเรียกว่าเป็น “โจรสลัดเคราแดง” หรือ “บาร์บาร็อสซ่า”

300 ปีแรกของศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงเวลาที่มีการแข่งขันทางการค้าสูงมากระหว่างพ่อค้าคริสเตียนและมุสลิมในเขตชายฝั่งต่าง ๆ ของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาในปี ค.ศ.1492 เมื่อราชอาณาจักรกัสติยาและอารากอนได้บุกยึดกรานาดา และทำลายรัฐอิสลามสุดท้ายบนคาบสมุทรไอบีเรียลง ทำให้อำนาจการปกครองของอิสลามบนแผ่นดินอันดาลุส ซึ่งดำรงอยู่นานกว่า 700 ปีต้องสิ้นสุดลด ชาวมุสลิมและยิวจำนวนมากถูกฆ่าตาย และอีกหลายหมื่นชีวิตต้องต้องอพยพหนีออกมา

อะรูจญ์และค็อยรุดดีนได้เปลี่ยนเจตนารมณ์การต่อสู้ของพวกเขาจากการแก้แค้นให้กับน้องชาย มาเป็นการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ระหว่างปี ค.ศ. 1504-1510 พวกเขาพร้อมทหารชาวมัวร์จากแอฟริกาเหนือได้นำกองเรือเข้าไปในสเปนหลายครั้ง ต่อสู้กับกองทัพเรือสเปนตามแนวชายฝั่งอย่างกล้าหาญ และเข้าช่วยเหลือชาวมุสลิมและชาวยิวอพยพออกจากสเปนมายังแอฟริกาเหนือ ผู้อพยพเหล่านี้เรียกอะรูจญ์ว่า “บาบา อะรูจญ์”

2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่าเริ่มมีชื่อเสียงในสังคมแอฟริกาเหนือ พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมในกองเรือของรัฐใด พวกเขาสร้างกองเรือของตัวเอง และประสบความสำเร็จอย่างมากในการขัดขวางทหารสเปนและโปรตุเกสที่พยายามเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์บนแผ่นดินแอฟริกาเหนือ

สิ่งที่ 2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่าทำ คือการลุกขึ้นต่อต้านการกดขี่ข่มเหง แต่สำหรับราชอาณาจักรคริสเตียกัสติยาแล้ว บาร์บาร็อสซ่าคือพวกโจรสลัดที่ชอบบุกปล้นเรือของผู้อื่นเท่านั้น

ในปี ค.ศ.1516 ซาลิม อัตตูมีย์ ผู้นำในพื้นที่แอลจีเรียได้ร้องขอให้ 2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่าเข้าโจมตีแอลจีเรีย พวกเขาขอให้บาร์บาร็อสซ่าช่วยปลดปล่อยแอลจีเรียจากอำนาจของสเปน ซึ่งพวกเขาก็ประสบความสำเร็จ สามารถขับไล่ทหารสเปนออกจากแอลจีเรียได้จนหมดสิ้น พวกเขาใช้ที่นี้เป็นฐานที่มั่นในการป้องกันการโจมตีของศัตรู ความสำเร็จในครั้งนี้และอิทธิพลที่สูงมากของทั้งคู่ ทำให้สุดท้ายอะรูจญ์ได้ขึ้นเป็นผู้นำปกครองแอลจีเรีย โดยได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากประชาชน

ติดตามตอนต่อไป ตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=4232


อ้างอิง :
1. خيرالدين بربروس ดู https://ar.wikipedia.org/…/%D8%AE%D9%8A%D8%B1_%D8%A7%D9%84%…
2. عروج بربروس ดู https://ar.wikipedia.org/…/%D8%B9%D8%B1%D9%88%D8%AC_%D8%A8%…
3. “Admiral Hayreddin Barbarossa” เขียนโดย Kallie Szczepanski ดู https://www.thoughtco.com/admiral-hayreddin-barbarossa-1957…
4. “Barbary Pirate” ดู https://www.britannica.com/topic/Barbary-pirate


อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=4083
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=4232
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=4236

ที่มา GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (จบ)

ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในตะวันออกกลางหลังอาหรับสปริงคือสงครามกลางเมืองอันทำให้หลายประเทศในภูมิภาคตกอยู่ในสภาพรัฐอ่อนแอ ทั้งกรณีสงครามในซีเรีย ลิเบีย เยเมน และอิรัก

อีกทั้งในแต่ละสงครามกลางเมืองยังมีตัวแสดงจากทั้งภายในภูมิภาคและมหาอำนาจโลกเข้ามาแทรกแซงแสดงบทบาทอยู่อย่างต่อเนื่อง

พร้อม ๆ ไปกับสภาพที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงดังกล่าวก็ทำให้กลุ่มติดอาวุธประเภทต่าง ๆ ถือกำเนิดเกิดขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มติดอาวุธข้ามพรมแดนที่ยึดโยงกันทางชาติพันธุ์และสำนักคิดทางศาสนา กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐ กลุ่มกองกำลังชนเผ่า องค์กรก่อการร้าย ทหารรับจ้าง และนักรบต่างชาติ

กลุ่มเหล่านี้ได้ท้าทายอำนาจรัฐในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงและผูกขาดการควบคุมพื้นที่ดินแดนของประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ในระยะหลังกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ก็สามารถใช้กำลังความรุนแรงและสามารถสถาปนาหน่วยการปกครองในดินแดนบางส่วนของประเทศได้เช่นกัน

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้เกิดขึ้นซ้อนทับกับสภาพสงครามกลางเมืองและสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศของตะวันออกกลางดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ประเทศไหนก็ตามที่สมรรถนะของรัฐไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาโรคระบาดได้ (เนื่องเพราะต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมืองมายาวนาน) หน้าที่ดังกล่าวก็จะถูกช่วงชิงไปโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธประเภทต่าง ๆ ในการเข้าไปให้บริการสาธารณะแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในดินแดนที่อำนาจรัฐไม่สามารถเข้าไปถึง

ขณะเดียวกัน รัฐอ่อนแอที่ตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองเหล่านี้ก็เป็นดินแดนที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง ซีเรีย ลิเบีย เยเมน และอิรัก ล้วนเป็นประเทศที่โรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขตกเป็นเป้าการถล่มโจมตีจากกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงการโจมตีโดยมหาอำนาจภายนอกด้วย

สภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างตัวแสดงฝ่ายต่าง ๆ ทั้งชนชั้นนำทางการเมือง บรรดากลุ่มติดอาวุธ และมหาอำนาจภายนอก (ที่เข้ามาทำสงครามตัวแทนในพื้นที่ขัดแย้ง) เพื่อช่วงชิงอิทธิพลอำนาจและทรัพยากรในดินแดนประเทศต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ทุกกลุ่มฝ่ายในตะวันออกกลางหันมาร่วมมือสร้างสันติภาพระหว่างกัน ในทางตรงข้าม โควิด-19 อาจเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

เพราะนอกจากตัวแสดงฝ่ายต่าง ๆ จะช่วงชิงแก่งแย่งอิทธิพลอำนาจเหนือดินแดนและทรัพยากรระหว่างกันแล้ว เรายังอาจเห็นการแข่งขันกันเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขในยามที่ผู้คนจำนวนมากกำลังล้มป่วยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

ทั้งนี้ การเข้าถึงและครอบครองอุปกรณ์ทางการแพทย์และการมีระบบสาธารณสุขที่ดีนับเป็นการเรียกคะแนนความนิยมและความเชื่อมั่นจากประชาชน อีกทั้งยังสามารถสร้างชื่อเสียงอันจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์และสถาปนาความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนได้

การที่รัฐบาลของรัฐอ่อนแอต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายรอบด้านและติดพันกับการทำศึกสงครามมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้การรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ลักษณะเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแสดงที่ต่ำกว่ารัฐหรือกลุ่มติดอาวุธได้แสดงบทบาทฉายภาพให้เห็นว่าตนเองสามารถทำงานได้ดีกว่ารัฐ

หากตัวแสดงเหล่านี้ทำได้จริงเรื่องนี้ก็จะกระทบกระเทือนอำนาจความชอบธรรมของรัฐเป็นอย่างยิ่ง แต่หากไม่สามารถจะรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างที่อ้าง กลุ่มเหล่านี้ก็จะขาดความชอบธรรม และสูญเสียอิทธิพลให้แก่ฝ่ายรัฐบาลในท้ายที่สุด

ด้วยเหตุนี้จึงมีรายงานออกมาระบุว่า ในบางประเทศของตะวันออกกลางมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโรคระบาด ยกตัวอย่างเช่นในซีเรียนั้น กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มมีการวางร่างแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะไม่ขัดขวางหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการณ์ยับยั้งโรคระบาดและจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน

กลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มที่จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในบางพื้นที่ยึดครองของซีเรียยังออกแถลงการณ์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคระบาดให้กับประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง และในทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียก็มีการประกาศลดความแออัดของเรือนจำเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด เป็นต้น

กล่าวอย่างรวบรัดคือในสภาพที่เกิดสงครามกลางเมืองในหลายประเทศของตะวันออกกลางนั้น วิกฤตโควิด-19 อาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รัฐและกลุ่มติดอาวุธเพิ่มการแข่งขันเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองดินแดนต่าง ๆ ส่วนใครจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความหนักหนาสาหัสของวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละดินแดน มาตรการในการรับมือ การเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดรวมถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข

แต่ปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือแรงสนับสนุนจากตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจภายนอกที่เข้ามาทำสงครามตัวแทน (proxy war) ในพื้นที่ความขัดแย้งที่เป็นสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลาง

แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า ตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจโลกและตัวแสดงในภูมิภาค ซึ่งเข้ามาแทรกแซงแสดงบทบาทในสงครามกลางเมือง กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขภายในประเทศของตนเองอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน โรคระบาดที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อตลาดพลังงานโลก ทำให้ราคาน้ำมันดำดิ่งลงไปเนื่องจากความต้องการในการใช้น้ำมันของตลาดโลกลดลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้มหาอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้าไปทำสงครามตัวแทนในตะวันออกกลางจึงต้องคำนึงถึงความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศตนเองเป็นหลักเสียก่อน และคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศตนหลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป

ด้วยเหตุนี้ การที่แต่ละตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจภายนอกจะดำเนินการสนับสนุนตัวแทนของตนในสมรภูมิสงครามกลางเมืองเหมือนอย่างเดิมคงเป็นไปได้ยาก

อันที่จริงก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ตัดสินใจถอนกำลังทหารออกไปบางส่วนจากซีเรียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สหภาพยุโรปเองก็ไม่มีแผนการเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกันแม้รัสเซียกับตุรกีดูจะยังแสดงบทบาทเด่นชัดในสมรภูมิความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมาหลังจากนี้ ก็คงส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศต้องลดการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น

ส่วนอิหร่านและซาอุดิอาระเบียนั้นก็ถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิหร่านซึ่งเผชิญความยากลำบากไม่เฉพาะแต่โควิด-19 เท่านั้น แต่ยังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และไม่สามารถขายน้ำมันได้เหมือนเดิม สภาพอย่างนี้อาจทำให้อิหร่านไม่สามารถให้การหนุนหลังกลุ่มฝ่ายตัวแทนของตนในประเทศต่าง ๆ ได้เหมือนในอดีต

ยิ่งกว่านั้น ประชาชนของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าไปแทรกแซงแสดงบทบาทในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางคงจะออกมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศของตนหันมาให้ความใส่ใจกิจการภายในประเทศของตน

บางประเทศเหล่านี้กำลังจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ก็คงต้องกลับมานั่งทบทวนนโยบายการต่างประเทศของตนเสียใหม่ โดยเฉพาะนโยบายการใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในประเทศอื่น ซึ่งอาจไม่ได้สร้างประโยชน์คุ้มค่าเหมือนในอดีตอีกต่อไปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ความไร้เสถียรภาพของราคาน้ำมัน และปัญหาโรคระบาดข้ามชาติที่ยังไม่ทราบว่าจะจบลงเมื่อใด

หากสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ก็อาจทำให้วิกฤตสงครามตัวแทนในตะวันออกกลางค่อย ๆ ลดความร้อนแรงลงไป อันจะส่งผลถึงสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่จะเปลี่ยนไปในแต่ละประเทศ

เราก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นไปในทิศทางนั้น


โดย Srawut Aree

การเอื้อเฟื้อที่ชั่วร้ายที่สุด

อิบนุตัยมียะฮ์ เราะฮิมะฮุลลอฮ์กล่าวว่า
การเอื้ออาทรที่ชั่วร้ายที่สุดคือ การเอื้อเฟื้อที่ท่านได้มอบผลบุญความดีงามของท่านให้แก่คนอื่นในวันกิยามะฮ์ ด้วยการนินทา ใส่ไคล้ จาบจ้วง ให้ร้าย ด่าทอ สาปแช่งคนอื่น หรือพูดง่ายๆคือ อันธพาล

——————
จงระวังการเอื้อเฟื้อประเภทนี้
แอดมินจำได้ว่า เริ่มแรกที่เป็นครูโรงเรียนประถมที่ Sekolah Rendah Hira’, Klang, Selangor เมื่อ 25 ปีที่แล้ว นักเรียนชอบมาฟ้องว่าตนถูกเพื่อน Bully หรือบอกว่าคนนั้นชอบ Bully เพื่อน อาศัยที่เป็นคนบ้านนอกเข้ากรุงใหม่ๆ จึงไม่เข้าใจคำนี้ เลยถามเพื่อนครูแบบเขินๆว่า Bully คืออะไร ซึ่งเพื่อนก็อธิบายด้วยดี
หลังจากนั้น ก็ไม่เคยได้ยินคำนี้อีกเลย จนกระทั่งมีกระแสในโลกโชเชี่ยลปัจจุบัน
—————
นบีได้พูดถึงคนที่ชอบระรานและใส่ร้ายคนอื่นว่าเป็นคนที่ล้มละลายตัวจริง เพราะในวันอาคิเราะฮ์ ความดีของเขาที่สะสมมาทั้งชีวิต จะถูกถ่ายโอนไปยังคนที่เขาเคยทำร้ายด้วยวาจาและการกระทำเพื่อไถ่บาป หากยังไม่เพียงพอ อัลลอฮ์จะถ่ายโอนบาปของคนที่เขาเคยทำร้ายมาให้เขา จนกระทั่งจากที่เขาเคยเป็นคนที่มีความดีมากมาย กลับกลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยบาป จนกระทั่งเขาถูกตัดสินให้เข้านรก نعوذ بالله من ذلك
นี่คืออันตรายของ Bully

ยิ่งในตอนนี้ เราสามารถ Bully ผู้คน โดยที่เหยื่อแทบไม่มีโอกาสรู้จักเราด้วยซ้ำ
ยุคโซเชี่ยล ทำให้คนๆหนึ่งกร่างเมื่ออยู่คนเดียวหน้าจอ แต่ดูสุขุมคัมภีรภาพเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้คน
————

บางคนหาญกล้า Bully อุละมาอฺที่เสียชีวิตไปแล้วร้อยๆปีด้วยผลงานอันมากมาย แต่เรากลับ Bully พวกเขาด้วยความญาฮิลของเรา
เรา Bully คนเดียวหน้าจอก็จริง
แต่คิดว่า จะรอดหรือ


โดย Mazlan Muhammad

สะอดฺ บินมุอ๊าซ : การตายที่สั่นสะเทือนบัลลังก์ของอัรเราะหฺมาน

สะอดฺ บินมุอ๊าซ คนหนุ่มจากเผ่าเอาศฺ มีชื่อเสียงเรื่องการขี่ม้าและความกล้าหาญ คุณพ่อชื่อว่า มุอ๊าซ บินนุอฺมาน ส่วนคุณแม่ชื่อว่า กับชะฮฺ บินติรอฟิอฺ ภรรยาของเขาชื่อว่า ฮินดุน บินติซัมมาก สะอดฺเป็นผู้นำเผ่าบนีอับดุลอัชฮัล

ครั้นเมื่อฑูตอิสลาม คือท่านมุศอับ บินอุมัยรฺ เดินทางไปดะอฺวะฮฺที่ยัษริบ (มะดีนะฮฺ) จนทำให้คนบางส่วนหันมาเข้ารับอิสลาม สะอดฺ บินมุอ๊าซ ซึ่งมีอิทธิพลในเมืองก็ไม่พอใจ ตอนนั้นเขายังไม่ได้รับอิสลาม เขาส่งเพื่อนสนิทคือ อุสัยดฺ บินหุฎ็อยรฺ ไปพบมุศอับซึ่งอยู่กับอัสอัด บินซุรอเราะฮฺ (ญาติของสะอดฺเอง) เพื่อสั่งให้พวกเขายุติการดะอฺวะฮฺ

แต่เมื่อได้สนทนากับมุศอับ อุสัยดฺก็เข้ารับอิสลาม แล้วรีบกลับไปหาสะอดฺ หวังว่าสะอดฺจะได้รับทางนำด้วยเช่นกัน เมื่อเห็นใบหน้าของอุสัยดฺซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างชัดเจน สะอดฺก็ถามว่า “เกิดอะไรขึ้น?”

อุสัยดฺตอบว่า “ฉันได้คุยกับ 2 คนนั้นแล้ว ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันไม่เห็นว่าทั้ง 2 คนจะมีปัญหาอะไรเลย ฉันได้ห้ามพวกเขาทั้งคู่ แต่พวกเขาบอกว่า ‘เราจะทำในสิ่งที่ท่านต้องการ’ และฉันได้ยินมาว่าบนีหาริษะฮฺได้ออกตามล่าเพื่อฆ่าอัสอัด บินซุรอเราะฮฺ ทั้งที่พวกเขาก็รู้ว่า อัสอัดเป็นลูกของคุณอา (ญาติพี่น้อง) ของเจ้า ดูเหมือนพวกเขาต้องการละเมิดสัญญาที่มีให้กับเจ้า”

เมื่อได้ยินดังนั้น สะอดฺก็ลุกขึ้นด้วยความโมโห เขาหยิบหอกแล้วออกไปหาอัสอัดและมุศอับ แต่เมื่อสะอดฺเห็นทั้ง 2 คนกำลังนั่งอยู่อย่างสงบ เขาก็รู้ทันทีว่าอุสัยดฺต้องการให้เขามาฟัง 2 คนนี้

สะอดฺยืนประจันหน้ากับทั้ง 2 คนด้วยใบหน้าที่บูดบึ้ง และได้กล่าวกับอัสอัด บินซุรอเราะฮฺ ว่า “สาบานต่ออัลลอฮฺ โอ้อบูอุมามะฮฺ ถ้าไม่ใช่เพราะเราเป็นญาติพี่น้องกัน ฉันจะไม่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอน เจ้ามายังบ้านเมืองของเรา โดยนำสิ่งที่พวกเราไม่ชอบมาด้วย”

มุศอับจึงพูดกับสะอดฺว่า “หากว่าท่านนั่งลงแล้วฟังเราก่อนได้ไหม? ถ้าท่านชอบท่านก็รับมันไว้ แต่ถ้าท่านเห็นว่ามันไม่ดี เราก็จะไม่เอาสิ่งที่ท่านไม่ชอบมายุ่งกับท่านอีก” สะอดฺพูดว่า “ก็ยุติธรรมดี” พร้อมกับวางหอกแล้วนั่งลงยอมรับฟัง

มุศอับนำเสนอคำสอนของอิสลามและได้อ่านช่วงต้นของสูเราะฮฺอัซซุครุฟให้สะอดฺฟัง สะอดฺถามว่า “พวกท่านทำอะไรบ้างเมื่อต้องการเข้ารับศาสนานี้?” มุศอับตอบว่า “อาบน้ำ ทำความสะอาดเสื้อผ้า กล่าวคำปฏิญาณด้วยถ้อยคำที่เป็นสัจธรรม แล้วก็ละหมาด 2 ร็อกอะฮฺ”

สะอดฺรีบทำตามที่มุศอับแนะนำ เขาอาบน้ำ ทำความสะอาดเสื้อผ้า กล่าวคำชะฮาดะฮฺว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดคือบ่าวและศาสนฑูตของพระองค์” และละหมาด 2 ร็อกอะฮฺ จากนั้นเขาก็หยิบหอกแล้วมุ่งตรงไปยังกลุ่มชนของเขา เขายืนอยู่ต่อหน้านบีอับดุลอัชฮัลและพูดขึ้นว่า “โอ้ บนีอับดุลอัชฮัล พวกท่านคิดเห็นอย่างไรกับฉัน?”

พวกเขาตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ท่านคือผู้นำของเรา เป็นคนที่เราพร้อมเชื่อฟังและปฏิบัติตามความเห็นมากที่สุด และเป็นคนที่เราไว้วางใจมากที่สุดด้วย”

สะอดฺจึงพูดว่า “พวกท่านทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ไม่ต้องมาพูดคุยอะไรกับฉันอีก จนกว่าพวกท่านจะศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์” ปรากฏว่าไม่ทันที่ตะวันจะตกดิน ชายและหญิงบนีอับดุลอัชฮัลทุกคนก็พากันเข้ารับอิสลาม และกลายเป็นมุสลิมและมุสลิมะฮฺโดยพร้อมเพรียงกันทั้งหมด อัลลอฮุอักบัร !!

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ชีวิตของสะอดฺก็เปลี่ยนไป การรับใช้และต่อสู้เพื่ออิสลามคือทางเลือกของเขา

ในสงครามบัดรฺ เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่อาจเลี่ยงสงครามได้อีกต่อไป สะอดฺได้เป็นตัวแทนของชาวอันศอร (ชาวเมืองมะดีนะฮฺ) ในการแสดงจุดยืนสนับสนุนท่านนบีอย่างเต็มที่ ในสมรภูมิอุฮุดที่ยากลำบาก เขายืนเคียงข้างเป็นโล่ป้องกันตัวท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในสงครามค็อนดักที่แสนหฤโหด เขาร่วมปกป้องเมืองมะดีนะฮฺสุดชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัสเพราะถูกยิงด้วยธนูของหิบบาน บินก็อยสฺ

ในช่วงเวลาที่เมืองมะดีนะฮฺถูกปิดล้อมโกยกองทัพพันธมิตร (อะหฺซาบ) นี้เอง ชาวยิวจากบนีกุร็อยเซาะฮฺก็ได้ละเมิดสัญญา ทรยศต่อท่านนบีและชาวมะดีนะฮฺ พวกเขาเข้าร่วมเป็นภาคีกับชาวกุร็อยชฺ ทั้งที่ได้ทำสัญญากับท่านนบีไว้แล้ว แต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ชาวมุสลิมสามารถเอาชนะกองทัพพันธมิตรกุร็อยชฺไว้ได้ และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้ยกทัพเข้าปิดล้อมหมู่บ้านของชาวยิวบนีกุร็อยเซาะฮฺ โทษฐานทรยศและละเมิดสัญญามะดีนะฮฺ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ.5 ท่านนบีปิดล้อมบนีกุร็อยเซาะฮฺนาน 25 วัน กระทั่งพวกเขายอมจำนน สะอดฺ บินมุอ๊าซ ถูกเลือกให้เป็นผู้พิพากษาตัดสินชะตากรรมของบนีกุร็อยเซาะฮฺ ขณะนั้นสะอดฺกำลังรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ที่เมืองมะดีนะฮฺ เมื่อรู้ว่าท่านนบีกำลังตามหาตัว สะอดฺก็ได้ขอดุอาอ์ว่า “โอ้อัลลอฮฺ โปรดอย่าเพิ่งเอาชีวิตของฉันไป จนกว่าฉันจะจัดการปัญหาระหว่างฉันกับบนีกุร็อยเซาะฮฺเสียก่อน” แล้วเขาก็รีบขี่ลาออกไปยังหมู่บ้านของบนีกุร็อยเซาะฮฺ

ผู้คนบางส่วนพากันรุมล้อมสะอดฺ และคะยั้นคะยอให้เขาทำดีกับบนีกุร็อยเซาะฮฺ สะอดฺพูดว่า “ฉันจะไม่เกรงกลัวการตำหนิใด ๆ ในเรื่องของอัลลอฮฺ” แล้วเขาก็ตัดสินให้ประหารชีวิตผู้ชายจากบนีกุร็อยเซาะฮฺทุกคน ส่วนผู้หญิงให้จับเป็นเชลยศึก และทรัพย์สินของพวกเขาให้แบ่งทรัพย์เชลยแก่ทุกคน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ท่านได้ตัดสินด้วยคำตัดสินที่มีอยู่บนฟากฟ้า” บางรายงานระบุว่า “ท่านได้ตัดสินด้วยคำตัดสินของอัลลอฮฺจากเหนือชั้นฟ้าทั้ง 7”

หลังจากเหตุการณ์นั้น สะอดฺได้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้บาดแผลของเขานำไปสู่การตายชะฮีด ท่านนบีมาเยี่ยมสะอดฺอยู่บ่อย ๆ ท่านได้ขอดุอาอ์ให้สะอดฺว่า “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงสะอดฺคนนี้ได้ต่อสู้ในหนทางของพระองค์ โปรดรับวิญญาณของเขาด้วยการรับที่ดีที่สุดเถิด”

สะอดฺปรารถนาที่จะให้สิ่งที่เขามองดูในวันสุดท้ายของชีวิตคือ ใบหน้าของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เขากล่าวกับท่านนบีว่า “อัสสะลามุอะลัยกุม ท่านเราะสูลครับ ขอให้ท่านรับทราบด้วยว่า ฉันปฏิญาณตนยืนยันว่าท่านคือศาสนฑูตของอัลลอฮฺ” ท่านเราะสูลมองไปที่ใบหน้าของสะอดฺแล้วพูดว่า “จงดีใจเถิด โอ้อบูอัมรฺ”

และแล้วสะอดฺก็จากไป เขาเสียชีวิตในปี ฮ.ศ.5 คือประมาณ 5 ปีหลังจากรับอิสลามเท่านั้นเอง ผู้คนต่างโศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของเขา ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวในวันที่สะอดฺเสียชีวิตว่า “บัลลังก์ของอัรเราะหฺมานสั่นสะเทือน เพราะการตายของสะอดฺ บินมุอ๊าซ”

อ้างอิง :
1. อัรเราะฮีกุล มัคตูม โดย เชคเศาะฟียุรเราะหฺมาน อัลมุบาร็อกฟูรีย์


ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (ตอน 2)

ความเดิมเมื่อตอนที่แล้วคือ โควิด-19 ไม่ได้เป็นตัวการทำให้ระเบียบภูมิภาคของตะวันออกกลางเปลี่ยนไปหรอกครับ แต่มันเป็นตัวเร่งให้ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเกิดเร็วขึ้น หรือมีความเข้มข้นมากขึ้น

บทความตอนที่แล้ว ผมพยายามอธิบายว่าบริบทการเปลี่ยนแปลงของตะวันออกกลางประการหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองระดับโลก คือความเสื่อมคล้ายเสื่อมถอยของสหรัฐฯในฐานะมหาอำนาจหนึ่งเดียว

ขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึดกุมหัวหาดสร้างฐานที่มั่นของตนเองในตะวันออกกลาง อันเท่ากับเป็นการท้าทายบทบาทของสหรัฐฯโดยตรง แต่ที่สำคัญคือประเทศจีนกลับเป็นฝ่ายที่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนทั่วในภูมิภาค

ทั้งหมดนี้คือภูมิทัศน์การเมืองใหม่ในตะวันออกกลาง เป็นสภาพการณ์ที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นมหาอำนาจครอบงำแต่ฝ่ายเดียวเหมือนในยุคหลังสงครามเย็นอีกต่อไป แต่สหรัฐฯเป็นเพียงหนึ่งในบรรดามหาอำนาจโลกที่ดำรงอยู่ในตะวันออกกลางเท่านั้น เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังเกิดวิกฤติโควิด-19

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญอันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมานานก่อนหน้านี้ในตะวันออกกลางคือการแข่งขันแย่งชิงการเป็นอำนาจนำระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ พอเกิดโควิด-19 เราก็เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

หากถามว่าอนุภูมิภาคไหนในตะวันออกกลางที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 มากที่สุด คำตอบที่น่าจะตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดคือกลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพสูงด้านระบบสาธารณสุขและมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดมากกว่าดินแดนส่วนอื่น ๆ ของตะวันออกกลาง

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในการป้องกันและควบคุมโรคเนื่องจากต้องจัดพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้คนจำนวนกว่า 2 ล้านคนในแต่ละปี นอกจากนั้น ซาอุดิอาระเบียยังได้จัดตั้งหน่วยงานควบคุมโรคระบาดแห่งชาติขึ้นหลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสเมอส์ (MERS) ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2012

ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิอาระเบียจึงมีความพร้อมและค่อนข้างตื่นตัวต่อการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ก่อนใคร รวมถึงการเร่งขยายพื้นที่การตรวจเชื้อที่ขยายครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ทั้งซาอุดิอาระเบีย และประเทศร่ำรวยน้ำมันอื่น ๆ ก็มีความพร้อมในเรื่องช่องทางการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะล้วนเป็นประเทศที่มีการจัดสรรโครงการสวัสดิการให้กับประชาชนเป็นอย่างดีมาตลอดต่อเนื่อง

อีกทั้งกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังถือว่าเรื่องสาธารณสุขเป็นปัญหาทางความมั่นคงของประเทศ และได้ประกาศให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่ได้จำกัดสิทธิไว้ให้เฉพาะกลุ่มประชาชนที่เป็นพลเมืองของตนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศและพวกแรงงานต่างชาติอีกด้วย

ซาอุดิอาระเบียค่อนข้างได้เปรียบในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สามารถแสดงความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดข้ามชาติอันเท่ากับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตนเองในการเป็นผู้นำของภูมิภาค

แตกต่างจากอิหร่านที่ต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอันเกิดจากมาตรการกดดันและคว่ำบาตจากสหรัฐฯ จนไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก

ขณะเดียวกัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือเป็นชาติพันธมิตรใกล้ชิดกับซาอุดิอาระเบีย ได้ใช้โอกาสนี้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างภาวะความเป็นผู้นำแห่งภูมิภาค โดยการปรับเปลี่ยนท่าทีที่เคยมีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรียและอิหร่าน กล่าวคือมกุฎราชกุมารแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ติดต่อฟื้นความสัมพันธ์กับระบอบบาซาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย พร้อมทั้งยืนยันที่จะให้การสนับสนุนซีเรียในการต่อสู่กับโรคระบาดโควิด-19

ยิ่งกว่านั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังได้ส่งเครื่องมือทางการแพทย์ไปช่วยอิหร่านในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับโรคระบาดอย่างหนักหนาสาหัสอีกด้วย

ส่วนตุรกีนั้นแม้จะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในตะวันออกกลาง (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2020) แต่กลับเป็นประเทศที่พยายามส่งความช่วยเหลือไปให้ประเทศต่าง ๆ มากที่สุดเช่นกัน โดยทางรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีได้ออกมาเปิดเผยว่า มีประเทศต่าง ๆ ในโลกแสดงความจำนงขอความช่วยเหลือจากตุรกีกว่า 135 ประเทศ และตุรกีได้ส่งความช่วยเหลือพร้อมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ประเทศต่าง ๆ แล้วจำนวน 81 ประเทศ

ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละชาติใหญ่ ๆ ในตะวันออกกลางกำลังใช้วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการเสริมภาพลักษณ์และสร้างบารมีของแต่ละฝ่ายอันจะหนุนเสริมให้ตนเองอยู่ในสถานะอำนาจนำในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม หากมองระยะใกล้ ต้องยอมรับว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับมีความได้เปรียบเหนือกลุ่มประเทศอื่น ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีความพร้อมและมีทรัพยากรมากกว่าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่ในระยะยาวก็คงต้องดูกันต่อไป แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ครับ

แผนที่ข้างใต้นี้แสดงถึงแผ่นดินเกิดของศาสดาสำคัญ ๆ ท่านต่าง ๆ ในอดีตครับ


เขียนโดย Srawoot Aree


กลับไปอ่าน | ตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3965

ตุรกูต ร็อยสฺ : ราชาผู้ไร้บัลลังก์แห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับนักรบมุสลิมที่คนส่วนใหญ่น่าจะไม่เคยได้ยินเรื่องราวของเขามาก่อน ไม่ใช่ว่าคุณูปการของเขาไม่ยิ่งใหญ่พอ แต่เป็นเราต่างหากที่ไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เราจึงเขลาในอดีตของตนเอง

ชื่อของเขาคือ “ตุรกูต ร็อยสฺ” (มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ.1485-1565) เป็นชาวกรีซโดยกำเนิด คนยุโรปเรียกเขาว่า “ดรากูต” เยาวชนมุสลิมส่วนใหญ่น่าจะไม่รู้จักเขา และอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลยด้วย ตุรกูตเป็นที่เลื่องลือในหมู่นายพลชาวยุโรปในฐานะเจ้าของฉายา “ราชาผู้ไร้บัลลังก์แห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” ดังที่ Francesco Balbi ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “The Siege of Malta, 1565”

เขาคือแม่ทัพเรือใหญ่แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานิยะฮฺ อีกทั้งยังเป็นผู้ปกครองเมือง และนักรบเชื้อสายกรีซด้วย ภายใต้บัญชาการของเขา อำนาจทางทะเลของคิลาฟะฮฺอุษมานิยะฮฺจึงแผ่ขยายไปทั่วน่านน้ำในแอฟริกาเหนือ

อัจฉริยะภาพทางการทหารของตุรกูตถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง Judith Miller (นักข่าวและนักเขียนชาวอเมริกัน) ได้เขียนไว้ในหนังสือ Malta ; When Suleiman Laid Siege ของเขาว่า ตุรกูต ร็อยสฺ คือ “the greatest pirate warrior of all time.” (นักรบโจรสลัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล) ทั้งนี้ Miller ใช้คำว่า “โจรสลัด” เพื่อดิสเครดิตกองทัพเรือของคิลาฟะฮฺอุษมานิยะฮฺ

นอกจากจะเป็นแม่ทัพเรือใหญ่แห่งกองทัพเรือคิลาฟะฮฺอุษมานิยะฮฺในช่วงการปกครองของสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกรแล้ว ตุรกูตยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองแห่งแอลจีเรียและเจอร์บา (คือ ตูนีเซีย) และเป็นผู้นำกองเรือทั้งหมดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วย

วันที่ 7 เราะมะฎอน ปี ฮ.ศ.960 (ตรงกับปี ค.ศ.1553) ตุรกูต ร็อยสฺ ได้สร้างชัยชนะที่งดงามให้กับอิสลาม กองทัพเรือของเขาสามารถพิชิตเกาะคอร์ซิกาและเมืองคาตาเนียบนเกาะซิซิลี (ในอิตาลี) ได้สำเร็จ ที่นั่นมีมุสลิมชาวอันดาลุสกว่า 700 คนถูกจับกุมตัว คุมขัง และถูกเนรเทศอยู่ที่นั่น ตอนนั้นคือช่วงเวลาที่แสนเจ็บปวดของชาวมุสลิมในอันดาลุส ราชอาณาจักรกัสติยาและอารากอน เข้าบทขยี้ประชาชาติอิสลามในอันดาลุสอย่างหนัก หลายคนต้องทิ้งบ้านเกิดอพยพหนีออกมา คนจำนวนมากถูกฆ่าตาย และอีกมากมายถูกจองจำอยู่ในคุกมืด

ตุรกูต ร็อยสฺ ได้รับคำสั่งจากสุลต่านสุลัยมานให้ทำภารกิจที่ท้าทายนี้ และเขาพร้อมกองทัพเรือที่แข็งแกร่งก็ทำภารกิจช่วยเหลือมุสลิมบนเกาะทั้ง 2 ได้สำเร็จ ภายใต้บัญชาการของเขา อำนาจทางทะเลของคิลาฟะฮฺอุษมานิยะฮฺจึงแผ่ขยายปกคลุมน่านน้ำทั้งหมดของแอฟริกาเหนือ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองแห่งแอลจีเรีย ตุรกูตได้สร้างอาคารมากมายในตริโปลี และทำให้ที่นี่เป็น 1 ในเมืองที่เจริญที่สุดในแอฟริกาเหนือ ตุรกูตได้รับการยกย่องเชิดชูทั้งจากมิตรและศัตรู ชื่อของเขาถูกเอ่ยถึงในบันทึกการเดินทางของนักล่องเรือหลายคน เขาคือ 1 ในผู้ติดตามและศิษย์เอกของฮีโร่คนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือ “ค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซา” สุดยอดแม่ทัพเรือใหญ่แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานิยะฮฺ หวังว่าเราจะได้นำเสนอเรื่องราวของเขาในโอกาสต่อไป อินชาอัลลอฮฺ


อ้างอิง :
1. North Africa: a history from antiquity to the present โดย Phillip Chiviges Naylor หน้าที่ 120-121
2. 101 มิน อะมาลิเกาะฮฺ อาลิอุษมาน โดย บิลาล อบุลค็อยรฺ
3. 100 มิน อุเซาะมาอ์ อุมมะติล อิสลาม โดย ญิฮาด ตุรบานีย์


ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (ตอน 1)

โรคระบาดข้ามชาติ (Pandemic) หรือโรคระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้เคยเกิดขึ้นมานานแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ด้วยสภาวะกระแสครอบโลก (Globalization) ทำให้ปัจจุบันการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมอาณาบริเวณต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค และส่งผลกระทบอย่างลุ่มลึกรอบด้าน

นับตั้งแต่ปลายปี 2019 โลกต้องเผชิญกับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งสร้างความโกลาหลวุ่นวายหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิถีชีวิตของผู้คน นำมาสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังยุคโควิด-19 (Post-Covid-19 World)

หลายคนเชื่อว่าโลกหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปชนิดที่ไม่มีอะไรจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีก แต่สำหรับ ริชาร์ด ฮาอ์ซ (Richard Haas) เขาเชื่อว่า “โรคระบาดข้ามชาติจะเป็นตัวเร่งความเร็วของประวัติศาสตร์มากกว่าที่จะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนรูปโฉมประวัติศาสตร์” หมายความว่า โควิด-19 จะไม่ได้เปลี่ยนทิศทางความเป็นไปของประวัติศาสตร์มากเท่ากับการเร่งเวลาประวัติศาสตร์

เขาอธิบายต่อไปว่าโลกหลังการระบาดใหญ่คงไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างสุดขั้วไปจากสิ่งที่เคยดำรงอยู่ก่อนหน้า เพียงแต่ว่าทุกวิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกมักเป็นตัวกระตุ่นให้สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าปรากฏเด่นชัดขึ้นมากกว่าที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หากเชื่อตามคำอธิบายของ ฮาอ์ซ เราก็อาจพอสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า โควิด-19 น่าจะเป็นตัวเร่งให้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นมาได้ระยะหนึ่งแล้วในตะวันออกกลางปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น มากกว่าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

กระแสการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางซึ่งได้ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วมีอยู่มากมายหลายประการด้วยกันครับ แต่ในงานเขียนนี้ผมขออนุญาตนำเสนอแค่ 3 ประเด็นหลัก ๆ

สำหรับวันนี้ขอเริ่มจากประเด็นแรกก่อน เพราะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางมาได้พักใหญ่ ๆ แล้ว นั่นคือประเด็นว่าด้วยเรื่องอิทธิพลของสหรัฐฯที่เสื่อมคลายลงและการผงาดขึ้นของจีนและรัสเซีย

ย้อนกลับไปในยุคหลังสงครามเย็นใหม่ ๆ (ช่วงระหว่างปี 1990 ถึง 2000) ตอนนั้นสหรัฐฯได้ขยายฐานอำนาจของตนเข้าไปในตะวันออกกลาง มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรในภูมิภาคผ่านการทำสัญญาความร่วมมือทางการทหาร นำไปสู่การสร้างฐานทัพอเมริกาในหลายประเทศ อีกทั้งสหรัฐฯยังได้ฉันทามติจากประชาคมโลกดำเนินการโดดเดี่ยวชาติที่เป็นศัตรูกับตน จนสุดท้ายได้นำกองทัพเข้าไปรุกรานอิรัก (2003) และอัฟกานิสถาน (2001)

ทว่าความพยายามของสหรัฐฯในการสร้างอำนาจนำครอบงำตะวันออกกลางกลับเสื่อมคลายถดถอยลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาอันเกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของสหรัฐฯในสงครามอิรักปี 2003 วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือแม้แต่การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 คนหลัง ทั้ง บารัค โอบามา และโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายคล้ายกัน (แม้จะแตกต่างกันในเชิงวิธีการ) ที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางมากนัก จนกลายเป็นที่มาของการแสดงบทบาทกล้า ๆ กลัว ๆ ยังผลให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางลดน้อยถอยลงในระยะหลัง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯต้องเว้นระยะห่างจากกิจการระหว่างประเทศ เพราะต้องหันมาสนใจกิจการภายใน ทั้งเรื่องระบบสาธารณสุข ปัญหาเศรษฐกิจ และการแสดงความรับผิดชอบตามกรอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯยังล้มเหลวที่จะเป็นผู้นำในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประกอบกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตัดสินใจถอนการสนับสนุนองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization ก็ยิ่งทำให้อิทธิพลที่เป็น ‘อำนาจอ่อน’ ของสหรัฐฯ (ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในภูมิภาค) ถูกกร่อนเซาะทำลายลงไปอีก

ถึงอย่างนั้นก็ตาม คงเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐฯจะถอนตัวออกไปจากตะวันออกกลางในเร็ววัน อันที่จริงแล้วอำนาจของสหรัฐฯก็คงยังดำรงอยู่ในภูมิภาค ฐานทัพของสหรัฐฯในอ่าวเปอร์เซียก็คงยังไม่หายไปไหน ขณะที่การค้าขายอาวุธของสหรัฐฯให้ลูกค้าในตะวันออกกลางก็คงยังดำเนินต่อไป และการต่อต้านหยุดยั้งอิหร่านก็คงยังเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้น ๆ ของสหรัฐฯอยู่

เพียงแต่ว่าบทบาทและสถานะของสหรัฐฯในฐานะที่เป็นมหาอำนาจครอบงำแต่ฝ่ายเดียวในภูมิภาคอย่างที่เคยเป็นมาในยุคหลังสงครามเย็นคงจะปรับเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม และใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไปหลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ (2020) ก็คงจะให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรไปในกิจการภายในที่มีความสำคัญมากกว่าเรื่องกิจการต่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างแน่นอน ดังที่นาย Ben Rhodes ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีโอบามา ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘วันนี้โลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ได้จบสิ้นแล้ว’

คำถามคือแล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ? หนึ่งในฉากทัศน์ทีจะเกิดขึ้นคือความต่อเนื่องของแนวโน้มสถานการณ์ที่เคยดำรงอยู่ในช่วงทศวรรษก่อนหน้า นั่นคือการผงาดขึ้นมาของคู่แข่งสหรัฐฯในตะวันออกกลาง (ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีน) ท่ามกลางภาวะถดถอยเสื่อมคลายของสหรัฐฯในภูมิภาค รัสเซียประสบความสำเร็จในการนำทัพเข้ามาแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรีย อีกทั้งยังหนุนหลังกองกำลังต่อต้านรัฐบาลลิเบีย และสรรค์สร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับอิหร่าน อียิปต์ อิสราเอล และกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียที่ร่ำรวยน้ำมันทั้งหลาย

ขณะที่ประเทศจีนเองก็ได้ขยายบทบาทของตนในเชิงเศรษฐกิจและการทูตเข้าไปในตะวันออกกลาง เรียกประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของตน พร้อมทั้งดึงประเทศเหล่านี้เข้ามาร่วมในอภิมหาโครงการที่เรียกว่า ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) เริ่มจากการเข้าไปดำเนินโครงการนำร่องในปากีสถานและจิบูติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ต้องยอมรับครับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการพึ่งพากันมากขึ้นในแทบทุกด้านระหว่างจีนกลับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งการเสริมสร้างสัมพันธ์ทางการเมือง การเพิ่มขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าขายอาวุธ และการสานสัมพันธ์ทางสังคม-วัฒนธรรม โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันการศึกษาของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง (เช่น โรงเรียนสอนภาษา มหาวิทยาลัยของจีน และสถาบันขงจื๊อ เป็นต้น)

หลักฐานที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายที่แนบแน่นขึ้นอาจดูได้จากตอนที่จีนเริ่มเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ใหม่ ๆ ในตอนนั้นปรากฏว่ากลุ่มประเทศตะวันออกกลางเกือบทั้งหมด รวมทั้งซาอุดิอาระเบีย ต่างยื้อแย่งแข่งกันเสนอความช่วยเหลือและแสดงมิตรไมตรีกับจีนอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากนั้นไม่นานนัก จีนก็ได้วางสถานะของตนเป็นโมเดลของการบริหารจัดการและการรับมือโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จ แม้หลายฝ่ายจะออกมาตั้งข้อสงสัยเรื่องการปิดบังข้อมูลของจีน แต่นั่นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าจีนได้สร้างเรื่องเล่าอธิบายประสบการณ์ความสำเร็จในการรับมือโคโรนาไวรัสด้วยมาตรการเด็ดขาดภายใต้คำสั่งของผู้นำอย่างสี จิ้นผิง

นอกจากนั้นสื่อจีนมักไม่ลืมที่จะเปรียบเทียบมาตรการจัดการโรคระบาดระหว่างจีนกับชาติยุโรปและสหรัฐฯ โดยซ่อนนัยยะทำนองว่าวิกฤตคราวนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบบการปกครองแบบตะวันตกนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับจีน เพราะอำนาจนิยมแบบจีนนี่แหละที่มีความพร้อมมากกว่าในการจัดการกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น

ประสิทธิภาพของจีนในการรับมือกับโควิด-19 ครั้งนี้ย่อมเป็นแรงจูงใจให้หลายรัฐในตะวันออกกลาง (ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐอำนาจนิยมอยู่แล้ว) ใช้อ้างเป็นโมเดลสำคัญที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเดินตาม ไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตยแบบยุโรปและสหรัฐฯที่ล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดข้ามชาติ จนแทบที่จะเอาตัวเองไม่รอด


เขียนโดย Srawoot Aree


อ่านต่อ | ตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3982

ต้องรู้สัจธรรมและอยู่เคียงข้างผู้ยืนหยัดบนสัจธรรมด้วย

ต้องรู้สัจธรรมและอยู่เคียงข้างผู้ยืนหยัดบนสัจธรรมด้วย

ถึงแม้นายเคมาล อะต้าร์เตอร์กจะทำลายประชาชาติอิสลามจนแหลกลาญ สถาปนาลัทธิเคมาลิสต์ผู้คลั่งไคล้ในชาติพันธุ์และชื่นชมทุกอย่างที่ไม่ใช่คำสอนอิสลาม

ถึงแม้นายญะม้าล นัสเซอร์แห่งอิยิปต์ หะบี้บบูรกีบาห์แห่งตูนีเซีย กัดดาฟีแห่งลิเบีย จะกดขี่ประชาชนของตนเองและสร้างประเทศชาติเสมือนไร่นาหรือบริษัทส่วนตัว จนนำพาสังคมดำดิ่งลงในนรกบนดินอันแสนสาหัส ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร

ถึงแม้นายบัชชาร์จะสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวซีเรียนับล้านคนนานต่อเนื่องเป็นสิบๆปี ขับไล่ผู้คนออกจากบ้านเรือนนับสิบล้าน จนกระทั่งชาวซีเรียต้องกระเสือกกระสนระเหเร่ร่อนไปทั่วทุกมุมโลก ซีเรียที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นดินแดนมิคสัญญี

ถึงแม้นายโคมัยนีและสมุนในลัทธิของเขาได้สร้างนรกอเวจีให้กับโลกมุสลิมอย่างทนทุกข์ทรมานและโหดร้ายที่สุดชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แม้กระทั่งความป่าเถื่อนของมองโกล

ถึงแม้นายยัสเซอร์ อะรอฟัตจะเป็นผู้นำต่อสู้กับยิว จนกระทั่งแผ่นดินปาเลสไตน์ถูกกลืนกินครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งเขาเสียชีวิตและฝากทายาทที่นับถือบาไฮอย่างมะห์มูด อับบาสสืบสานเจตนารมณ์ทำสงครามมวยปล้ำกับยิวอย่างแข็งขันมาโดยตลอด

แม้กระทั่งนายซีซีย์ใช้ความบ้าระห่ำเข่นฆ่าหนุ่มสาวและประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวอิยิปต์พร้อมเปลี่ยนโฉมให้อิยิปต์ทั้งประเทศประสบภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจและผลผลิตยิ่งกว่าภาวะฝนแล้งยุคนบียูซุฟ อะลัยฮิสสลาม

แม้กระทั่งนายพลเฒ่าฮัฟตาร์แห่งลิเบียจะยอมลดตัวเองเป็นสุนัขรับใช้ตะวันตกเพื่อก่อกบฏรัฐบาลอันชอบธรรมที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและสหประชาชาติ จนทำให้ลิเบียลุกเป็นไฟและกลายเป็นประเทศไร้ขื่อแป

ถึงแม้บรรดาผู้นำหุ่นเชิดเหล่านี้จะถูกปลุกเสกเพื่อปฏิบัติภารกิจชั่วตามยุคสมัยเพื่อสกัดกั้นและเด็ดปีกของประชาชาติอิสลาม

ถึงกระนั้นก็ตาม ท่านจะไม่พบงานเขียนใดๆที่เผยแพร่และเปิดโปงความชั่วร้ายของบุคคลเหล่านี้ ยกเว้นจะถูกซุกซ่อนบนชั้นวางหนังสือของผู้รักในอิสลามเท่านั้น

แม้กระทั่งผู้ที่อ้างว่ามีอะกีดะฮ์ที่ถูกต้อง ก็ดูเหมือนไม่ค่อยสนใจขุดคุ้ยเรื่องราวของผู้นำหุ่นเชิดเหล่านี้มากนัก แต่สิ่งเดียวที่เป็นความทุ่มเทของพวกเขาคือศึกษารายละเอียดความผิดพลาดและข้อบกพร่องของผู้นำนักฟื้นฟูอิสลามอย่าง หะซัน อัลบันนา , อัลเมาดูดีย์ , ซัยยิด กุฏุบ ถึงแม้พวกเขาได้จากไปนับสิบๆปีและทิ้งผลงานอันมากมายต่อโลกอิสลามก็ตาม

ปัจจุบัน เชค ดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฏอวีย์และลูกศิษย์ของเขา ก็จะกลายเป็นเหยื่อปากกาของพวกเขาที่จะเชือดเฉือน ใส่ร้ายและฟิตนะฮ์ทุกรูปแบบ จนกระทั่งผู้คนจะจดจำขึ้นสมองว่า บรรดานักฟื้นฟูอิสลามเหล่านี้มีอะกีดะฮ์ที่บิดเบือน เป็นผู้หลงผิดและทำให้ผู้คนหลงตาม พร้อมลืมเลือนพิพิธภัณฑ์แห่งความชั่วร้ายที่บรรดาผู้นำหุ่นเชิดสร้างมา

หลังจากนี้อีกสัก 20-30 ปี อนุชนอิสลามจะรับรู้ว่า ผู้นำอย่าง ดร. มุรซีย์แห่งอิยิปต์ แอร์โดอานแห่งตุรกี แม้กระทั่งแกนนำหะมาสที่ปาเลสไตน์ จะกลายเป็นบุคคลที่มีอะกีดะฮ์ผิดเพี้ยน เป็นสมุนรับใช้ยิว คนทรยศขายชาติและเป็นศัตรูอิสลาม

เหมือนที่ในขณะนี้ เยาวชนบางส่วนได้จดจำและเรียนรู้เรื่องราวของหะซันอัลบันนา อัลเมาดูดีย์และซัยยิดกุฏบว่าเป็นผู้มีอะกีดะฮ์ที่ลุ่มหลงและนำพาคนอื่นให้หลงตาม

สัจธรรมไม่ใช่ได้มาเพราะการแอบอ้าง แต่ต้องเรียนรู้ผู้นำพาสัจธรรมและเคียงคู่กับผู้ยืนหยัดในสัจธรรมด้วยครับ
اللهم اهدنا الصراط المستقيم صراط الذين أنعمت عليهم من النبيين والصديقين والشهداء والصالحين وحسن أولئك رفيقا آمين يا رب


เขียคโดย Mazlan Muhammad