เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ประจำกาตาร์

Dr. Mahmet Mustafa Goksu

เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ล่าสุดประจำกาตาร์ ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มขณะอายุ 11 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ปี 1994  จบปริญญาโทและเอกจาก Sakarya University มหาวิทยาลัยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี เขาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้านอิสลามศึกษาและธุรกิจ เคยโลดแล่นในแวดวงธุรกิจที่ประเทศเยอรมันและซาอุดิอาระเบีย เคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สถานทูตตุรกีประจำซาอุดิอาระเบีย

รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตตุรกีประจำกรุงโดฮา เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 และให้สัมภาษณ์แก่อัลจาซีร่าห์ เผยแพร่โดย aljazeera.net เมื่อวันที่ 25/11/2020 ซึ่งได้พูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้

            ⁃          การที่ท่านได้รับตำแหน่งนี้ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อถึงอะไรบ้าง?

ผมมีประสบการณ์ในภูมิภาคนี้มาค่อนข้างนานพอสมควร ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาและทำงานในภาคธุรกิจ ตลอดจนเคยรับผิดชอบด้านการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ น่าจะเป็นคุณสมบัติที่เพียงพอที่ทำให้ท่านประธานาธิบดีไว้วางใจผม ให้รับตำแหน่งนี้

            ⁃          หลายคนมองว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอันแน่นแฟ้นระหว่างตุรกีกับกาตาร์เป็นความสัมพันธ์ชั่วคราว

ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรามีจุดร่วมทางการเมืองและวิสัยทัศน์ที่เหมือนกัน เราอยู่บนแถวเดียวกันเรื่องการผดุงสัจธรรมแล้วยุติธรรมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชาติ และเราได้ถูกทดสอบมากมายบนเส้นทางนี้ แต่เราสามารถผ่านพ้นอย่างสำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยตลอด

โดยเฉพาะช่วงเกิดรัฐประหารล้มเหลวที่ตุรกีปี 2016 ซึ่งประเทศกาตาร์ได้แสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างกับรัฐบาลตุรกีตั้งแต่วินาทีแรก และช่วงที่กาตาร์เผชิญวิกฤตรุนแรงที่ถูกปิดล้อมโดยชาติเพื่อนบ้านตุรกีเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธการปิดล้อมครั้งนี้ พร้อมยื่นมือคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

            ⁃          ตุรกีและกาตาร์มีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

ปี 2014 ทั้งสองประเทศร่วมก่อตั้งสถาบันยุทธศาสตร์สูงสุดแห่งกาตาร์และตุรกีซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นในวันที่ 26/11/2020 ที่อังการ่า และมีการประชุมย่อยอีก 28 ครั้ง ได้บรรลุข้อตกลงในด้านต่างๆ กว่า 50 ฉบับ  ในปี 2010 ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าจาก 340 ล้านดอลล่าร์ เป็น 2 พันล้านดอลล่าร์ ในปี 2019

            ⁃          บรรยากาศทางธุรกิจในกาตาร์สอดคล้องกับการลงทุนในตุรกีหรือไม่?

ปัจจุบันมีบริษัทกาตาร์ที่เข้าไปลงทุนในตุรกีจำนวนกว่า 179 บริษัทและมียอดลงทุนมากกว่า 22 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะเดียวกันมีบริษัทตุรกีที่ลงทุนที่กาตาร์มากกว่า 500 บริษัท มียอดการลงทุนตั้งแต่ปี 2002 จำนวนกว่า 18 พันล้านดอลล่าร์ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงบรรยากาศทางธุรกิจ ของทั้งสองประเทศที่ลงตัวที่สุด

            ⁃          ตุรกีไม่เห็นด้วยกับประเทศอาหรับที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล ในขณะเดียวกันตุรกีมีสถานทูตประจำเทลอาวีฟ

รัฐบาลแอร์โดอานบริหารประเทศหลังจากที่ตุรกีเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอิสราเอลนานกว่า 8 ทศวรรษแล้ว แต่ยุคนี้เราขอยืนยันว่า เราไม่เคยลดบทบาทและหน้าที่ของเราที่มีต่อพี่น้องปาเลสไตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิสราเอลไม่ได้หมายความว่า เราเพิกเฉยกับอธรรมที่เกิดขึ้นที่แผ่นดินปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์เป็นพยานในเรื่องนี้ดี ชาวตุรกีเคยสังเวยเลือดและชีวิตบนเรือมาร์มาร่า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องปาเลสไตน์มาแล้ว เราต้อนรับกลุ่มฟาตะฮ์และฮามาส เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่อิสตันบูล จุดยืนของตุรกีสอดคล้องกับประเทศสมาชิกสันนิบาตอาหรับที่ไม่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล เพราะเราเขื่อมั่นว่า สิทธิของชาวปาเลสไตน์จะต้องได้รับการปกป้องอย่างสมบูรณ์ และไม่มีใครมีสิทธิ์ผ่อนปรนในเรื่องนี้

            ⁃          ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับซาอุดิอาระเบียเป็นอย่างไรบ้าง?

รัฐบาลตุรกีมีเอกอัครราชทูตประจำที่กรุงริยาด ท่านเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์และเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะตอบในประเด็นนี้ แต่ผมขออนุญาตพูดในฐานะประชาชนและสมาชิกหนึ่งในสังคมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผมใช้ชีวิตในซาอุดิอาระเบียทั้งในฐานะนักศึกษาและผู้ทำงาน ผมได้ซึมซับธาตุแท้ของชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ทำให้ผมมั่นใจว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาต่างๆที่ประสบร่วมกัน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานความร่วมมือระหว่างสองประเทศจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาของประชาชาติและเป็นสิ่งที่ประชาชาติมุสลิมทั่วโลกรอคอยด้วยความหวังดีเสมอมา

            ⁃          ตุรกีปัจจุบันแตกต่างกับตุรกีเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างไรบ้าง?

เทียบกันไม่ได้เลยครับ เมื่อ 20 ปีที่แล้วรัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพียง 8.7 พันล้านดอลล่าร์ แต่ปัจจุบันเป็น 131 พันล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันตุรกีสร้างเมืองศูนย์กลางทางการแพทย์ 15 เเห่ง สร้างศูนย์เยาวชนจาก 9 แห่งเป็น 336 แห่งทั่วประเทศ สร้างศูนย์กีฬาจาก 1,575 แห่งเป็น 4,000 แห่ง ในปี 2013 ตุรกีสามารถจ่ายหนี้ IMF มูลค่า 22.5 พันล้านดอลล่าร์  เพิ่มมูลค่า GDP จาก 236 พันล้านดอลล่าร์เป็น 754 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มจาก 3,500 ดอลล่าร์ต่อปี เป็น 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี ปัจจุบันตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพผลิตอาวุธ รถยนต์และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศมากมาย จากประเทศที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาภายในมากมาย แต่ปัจจุบันตุรกีก้าวขึ้นมีบทบาทในเวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

บทสัมภาษณ์ยังได้แตะประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอียิปต์ ตุรกีกับปัญหาซีเรียและอิรัก ตุรกีกับสหภาพยุโรป ตุรกีกับสหรัฐอเมริกา และตุรกีกับรัสเซีย ซึ่งบอกได้เลยว่า ชายคนนี้ไม่ธรรมดาและขอย้ำทิ้งท้ายว่าขอให้จำชื่อคนนี้ให้ดี

ไม่แน่ ในอนาคตอันใกล้ ตุรกีอาจมีประธานาธิบดีที่เคยศึกษาที่เมืองรอซูลุลลอฮ์ที่ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มก็ได้

إن شاء الله


โดย Mazlan Muhammad

อ้างจาก

https://www.aljazeera.net/news/2020/11/25/%d8%ad%d8%a7%d9%81%d8%b8-%d9%84%d9%84%d9%82%d8%b1%d8%a2%d9%86-%d9%88%d8%aa%d8%ad%d8%af%d8%ab-%d8%b9%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%b3%d8%b9%d9%88%d8%af%d8%a8%d8%a9-%d9%88%d9%85%d8%b5%d8%b1

เบื้องลึกความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มอิควาน

เปิดตำนานรักซ่อนแค้น เบื้องลึกความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและกลุ่มอิควาน

● สัมพันธภาพระหว่างซาอุดีอาระเบียและกลุ่มอิควานเริ่มต้นจากการเป็นพันธมิตรอันแนบแน่นในช่วงทศวรรษ 1930 จนมาสู่การเผชิญหน้าเต็มรูปแบบในปัจจุบัน

คำฟัตวาขององค์กรอุลามาอ์อาวุโสล่าสุด เกี่ยวกับกลุ่มอิควาน ไม่ใช่เป็นครั้งแรก และคาดว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดี

จุดเริ่มต้น กษัตริย์อับดุลอาซิซ ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซะอูด ได้พบปะเจรจากับหะซัน อัลบันนา ผู้สถาปนากลุ่มอิควานมุสลิมีนเป็นครั้งแรก ในปี 1936 และความใกล้ชิดก็ได้งอกเงยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในระยะนี้กลุ่มอิควานได้พึ่งพาอาศัยซาอุดิอาระเบียในการหลบหนีจากความโหดร้ายของนัสเซอร์  ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกได้อาศัยอิควานเป็นตัวหลักของกลุ่มอัฟกันอาหรับในการเผชิญหน้ากับการยึดครองอัฟกานิสถานของโซเวียต รวมถึงลัทธิชาตินิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอียิปต์ ที่ได้แรงสนับสนุนจากโซเวียต

ในระยะนี้ สื่อหลักพาดหัวข้อข่าว “เจ้าชายฟัยศอล(ยศก่อนเป็นกษัตริย์) กล่าวว่า “กลุ่มอิควานมุสลิมีน เป็นวีรบุรุษ ที่ต่อสู้แบบถวายชีวิตและทรัพย์สินเพื่ออัลลอฮ์…”

การสถาปนาอาณาจักรใหม่ของราชวงศ์ซาอูดบนกองเงินกองทองในระยะนี้ ต้องอาศัยแรงงานและวิสัยทัศน์ในการเผชิญหน้ากับโลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์การศึกษา และการปฏิรูปคำสอนทางศาสนา กลุ่มอิควานจากประเทศต่างๆในช่วงนี้ได้เข้าไปมีบทบาทในหน่วยงานต่างๆของซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างในด้านการศึกษา ที่จุดยืนของกลุ่มอิควานสอดรับกับแนวคิดของสะละฟีย์  ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันอย่างลงตัว ตลอดช่วงการปกครองของนัสเซอร์และซาดัตที่อิยิปต์

หลังสิ้นสุดยุคนัสเซอร์ ซาอุดิอาระเบียมีส่วนทำให้ผู้นำกลุ่มอิควานพ้นคุกอียิปต์และให้แกนนำบางคนได้เข้ามาอาศัยในประเทศอย่างมีเกียรติเป็นอย่างสูง

ในช่วงสงครามอัฟกัน ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกาได้ร่วมก่อตั้งอัฟกันอาหรับ ด้วยเป้าหมายที่สอดคล้องกันในการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิม กลุ่มอิควานจึงเข้าไปมีบทบาทที่โดดเด่นในการจัดกองกำลัง การจัดองค์กร การฝึกทางการทหาร และการรวบรวมเงินบริจาค

ปัจจัยความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล [ รวมถึงสถานการณ์การต่อสู้การยึดครองอัฟกานิสถานที่ความสำคัญของกลุ่มอิควานเริ่มลดลง – ผู้แปล ] ภายหลังการเสียชีวิตของกษัตริย์ฟัยศอล  ผู้ปกครองคนต่อมา ได้ตั้งข้อสงสัยต่อเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดทำโดยกลุ่มอิควาน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มของฝ่ายค้านรัฐที่เข้มแข็งขึ้นในประเทศที่แนวการเมืองต้องจงรักภักดีต่อราชวงศ์โดยดุษณี รวมถึงรูปแบบความขัดแย้งในลักษณะอื่นๆ เช่น  ท่าทีที่สวนทางกันในกรณีสงครามอ่าวครั้งแรก ระหว่างอิรัก-อิหร่าน รวมทั้งอิควานปฏิเสธแนวทางการพึ่งพากองทัพตะวันตกในการกอบกู้เอกราชของคูเวตจากการยึดครองของอิรัก

วิกฤติความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายถึงขีดสุด ได้ก่อตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อมีคณะหนึ่งเรียกกันว่า มะชายีคเศาะฮ์วะฮ์ (คณะชัยค์ฝ่ายฟื้นฟู) นำโดย ชัยค์สะฟัร หะวาลีย์ ซึ่งได้ส่งเอกสารเรียกว่า  مذكرة النصيحة  (เอกสารให้คำแนะนำ)แก่กษัตริย์  ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปจากจารีตทางการเมืองในซาอุดิอาระเบียที่ต้องภักดีต่อราโชบายโดยดุษณีแบบเดิมๆ และเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงอิทธิพลของกลุ่มอิควานในซาอุดิอาระเบีย

รวมถึงปัจจัยการกลับคืนมาตุภูมิของกลุ่มอาหรับอัฟกัน ที่พกพาอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยแนวทางที่คุ้นเคยในอัฟกานิสถาน นั่นคือการจัดตั้งกลุ่มคนและการใช้กำลังอาวุธ  รวมถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่นำโดยอุซามะฮ์ บินลาเด็น ชาวซาอุดีอาระเบีย ตามมาด้วยเหตุการณ์วางระเบิด  และการจับกุมเครือข่ายญิฮาดในเมืองต่างๆของซาอุดิอาระเบีย  ปัจจัยต่างๆดังกล่าวมีส่วนในการสร้างความบาดหมางระหว่างรัฐบาลซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มอิสลามการเมืองที่นำโดยอิควานมุสลิมีน

● การปะทะแบบไม่โจ่งแจ้ง

เหตุการณ์ 11 กันยาฝุ่นยังไม่ทันจาง  แต่ในซาอุดิอาระเบียได้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อกลุ่มอิควานแล้ว ด้วยการกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกา รัฐบาลซาอุดิอาระเบียงดสนับสนุนการเงินต่อองค์กรอิสลามต่างๆที่ถูกจัดเป็นเครือข่ายกลุ่มอิควาน รวมถึงการเปิดฉากสงครามสื่ออย่างรุนแรง

นายิบ บินอับดุลอาซิซ รมต.มหาดไทยกล่าวกับวารสารการเมืองของคูเวต  ในปี 2002 ว่า อิควานถือเป็นต้นตอของความวุ่นวายต่างๆ ในโลกอาหรับและโลกมุสลิม

● การปะทะเต็มรูปแบบ

หนึ่งทศวรรษกับความอึมครึมผ่านไป ก้าวสู่ยุคอาหรับสปริงที่เปลวไฟยิ่งเพิ่มดีกรีองศาเดือด ที่ซาอุดิอาระเบียแสดงจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอาหรับสปริง ตลอดจนความพยายามช่วยเหลือยับยั้งการล้มของรัฐบาลอียิปต์และเยเมน  รวมทั้งการแสดงจุดยืนเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากยุคปฏิวัติอาหรับ รวมถึงการสนับสนุนการโค่นรัฐบาลมุรซีย์ในอียิปต์ และสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนพัฒนาไปสู่การขึ้นบัญชีกลุ่มอิควานเป็นกลุ่มก่อการร้ายพร้อมๆกับอีกบางกลุ่มในที่สุด

ความจริงก่อนหน้านี้ซาอุดิอาระเบีย ไม่ค่อยปลื้มกับการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มเครือข่ายอิควานในซูดาน ตุรกีและปาเลสไตน์มาแล้ว

ภายหลังการขึ้นครองบัลลังก์ใหม่ๆ ของกษัตริย์ซัลมาน ทั้งสองฝ่ายเริ่มมีท่าทีที่ดีต่อกัน  สะอูด อัลฟัยซอล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียไม่มีปัญหากับกลุ่มอิควาน เพียงแต่มีปัญหากับบางส่วนของสมาชิกกลุ่มเท่านั้น  และรัฐบาลซาอุดิอาระเบียก็ได้ต้อนรับการมาเยือนของบุคคลสำคัญที่รู้กันว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม ได้แก่ ดร.ยูซุฟ  อัลเกาะเราะฎอวีย์ ชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์ และคอลิด  มิชอัล

นอกจากนั้น องค์การอุลามาอ์อาวุโสแห่งซาอุดิอาระเบียหรือฮัยอะฮ์กิบารอุลามาอ์ ก็กล่าวถึงกลุ่มอิควานไปในทางบวก โดยกล่าวว่า กลุ่มอิควานเป็นนักกิจกรรม

รัฐบาลซาอุดิอาระเบียยังมีความสัมพันธ์ไมตรีอันแน่นแฟ้นกับพรรคอิศลาห์ของเยเมน อันเป็นกลุ่มอิควานสาขาเยเมน แม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์พิเศษที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ก็ตาม

● อิควานกับองค์การอุลามาอ์อาวุโส – ฮัยอะฮ์กิบารอุลามาอ์- ของซาอุดิอาระเบีย

องค์การอุลามาอ์อาวุโส – ฮัยอะฮ์กิบารอุลามาอ์-  เป็นหน่วยงานศาสนาอย่างเป็นทางการของซาอุดิอาระเบีย เคยมีคำฟัตวาจัดให้กลุ่มอิควานเป็นกลุ่มหนึ่งที่ใกล้ชิดกับกลุ่มที่ถูกต้อง แต่ยามเมื่อสายลมการเมืองเปลี่ยนทิศ องค์การอุลามาอ์อาวุโส ก็มีคำฟัตวาใหม่ ระบุว่า อิควานไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง แต่เป็นกลุ่มที่ใช้แนวทางก่อกบฏต่อผู้นำ แม้ว่าจะไม่ทำในตอนแรกเริ่ม แต่ก็ทำในตอนหลังๆ


อ้างอิง

[http://www.aljazeera.net/news/reportsandinterviews/2018/4/4/الإخوان-والسعودية-احتضنهم-الأجداد-وانقلب-عليهم-ابن-سلمان](http://www.aljazeera.net/news/reportsandinterviews/2018/4/4/%D8%A7%D9%84%D8%A5%D8%AE%D9%88%D8%A7%D9%86-%D9%88%D8%A7%D9%84%D8%B3%D8%B9%D9%88%D8%AF%D9%8A%D8%A9-%D8%A7%D8%AD%D8%AA%D8%B6%D9%86%D9%87%D9%85-%D8%A7%D9%84%D8%A3%D8%AC%D8%AF%D8%A7%D8%AF-%D9%88%D8%A7%D9%86%D9%82%D9%84%D8%A8-%D8%B9%D9%84%D9%8A%D9%87%D9%85-%D8%A7%D8%A8%D9%86-%D8%B3%D9%84%D9%85%D8%A7%D9%86?fbclid=IwAR36iwOgCmpPJcqbER9IVIltXBwfy13KjHoUX7NAoYwgehEPKJhuzYPeoNw)

แปลสรุปโดย Ghazali benmad

Catacombs of Paris สุสานกะโหลกใต้เมืองปารีส [ตอนที่ 2]

มหานครปารีสเมืองที่ผสมผสานระหว่างเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับผู้หลงใหลกลิ่นน้ำหอม และผู้นำแฟชั่น แต่ในขณะเดียวกัน คือเมืองแห่งความสยดสยองที่ชวนขนลุก ซึ่งใต้เมืองน้ำหอมอันแสนโรแมนติกนี้ กลับเป็นสุสานที่อัดแน่นไปด้วยกระดูกและหัวกะโหลกหลายล้านชิ้นจากร่างไร้วิญญาณกว่า 6 ล้านชีวิตที่ถูกเรียงพะเนินเต็มผนังใต้ดินที่ลึกกว่า 20 เมตรและมีความคดเคี้ยว เวิ้งว้างและมืดมนชวนหลอนที่ยาวกว่า 300 กิโลเมตรทีเดียว ซึ่งครั้งหนึ่ง กลิ่นเน่าเหม็นของซากศพได้โชยไปทั่วเมืองจนสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณนั้น นอกเหนือจากเป็นแหล่งเชื้อโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย

มหานครปารีสคือภาพที่สะท้อนถึงโลกแห่งความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เหินห่างราวฟ้ากับก้นเหว ระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่เดินเหินบนหน้าแผ่นดินอย่างหยิ่งทรนงและสุขสำราญสนุกสนาน กับอีกกลุ่มชนที่ใช้ชีวิตบนคราบน้ำตาและหยาดเลือดที่ต้องทนทุกข์ทรมาน ยอมเป็นทาสรับใช้ตลอดชีวิต

ฝรั่งเศสหนึ่งในประเทศล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 19 ที่เคยนำเอาคนพื้นถิ่นในแอฟริกาและที่อื่นๆซึ่งกองทัพเรือของฝรั่งเศสเดินทางไปถึง มาจัดแสดงให้ชาวยุโรปผิวขาวได้ชมในสวนสัตว์มนุษย์ ราวกับคนเหล่านั้นเป็น “สัตว์ประหลาด” ชนิดหนึ่งมาแล้วเมื่อราว 200 ปีก่อน  (ดู https://news.goosiam.com/html/0005067.html ) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับในปี 1786 ที่เจ้าของเหมืองหินปูนผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนาในกรุงปารีสได้อุทิศเหมืองให้ใช้เป็นสุสานแห่งใหม่ เนื่องจากกำแพงของสุสาน Les Innocents ได้ถล่มลงในปี 1780 ด้วยสาเหตุฝนตกหนักอย่างยาวนาน การขุดเคลื่อนย้ายศพจากสุสานต่างๆทั่วปารีสมาไว้ที่เหมืองนี้ จึงเริ่มขึ้น จนกระทั่งเสร็จสิ้นในปี 1860  ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การเคลื่อนย้ายศพ ต้องใช้เวลานานถึง 80 ปีทีเดียว ( ดู https://travel.kapook.com/view225119.html)

ท่านผู้อ่านไม่เคยฉุกคิดเลยหรือว่า ชายใจบุญคนนั้นสร้างเหมืองที่ลึกลงใต้ดินกว่า 20 เมตรได้อย่างไร เขาใช้กรรมวิธีไหนที่สามารถขุดเจาะอุโมงค์อันคดเคี้ยวลึกลับยาว 300 กิโลเมตร ฝรั่งเศสในยุคนั้นมีเครื่องมือและเทคโนโลยีการขุดเจาะอันทันสมัยแล้วหรือ รีว่ากระดูกและหัวกะโหลกนับล้านชิ้นเหล่านั้นคือคำตอบอันแสนลึกลับนี้

ระหว่างปี 1789-1799 ได้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นยุคสมัยแห่งกลียุคทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนถึงรากฐานในฝรั่งเศสอย่างรุนแรงที่สุด ถือเป็นยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวของฝรั่งเศสโดยแท้จริง (ดู https://th.m.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติฝรั่งเศส)

หากพี่น้องสังเกตให้ดีๆ จะพบว่าการริเริ่มใช้เหมืองหินปูนเป็นสุสานระหว่างปี 1780- 1860 คือช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ปะทุขึ้นระหว่าง 1789-1799 และเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับงานเวิลด์แฟร์ ที่แสดงนิทรรศการสวนสัตว์มนุษย์ ซึ่งถูกจัดขึ้นในกรุงปารีสในปี 1889 โดยเป็นที่ทราบว่า สวนสัตว์มนุษย์เป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรปในระหว่างปลายศตวรรษที่ 1800 จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 1900

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุคล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ที่คลุมทวีปแอฟริกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอิสลาม ส่วนหนึ่งได้แก่ ยึดครองแอลจีเรียตั้งแต่ 1830 -1962 (332ปี) ยึดครองตูนิเซียตั้งแต่ 1881 – 1956 (75ปี) ยึดครองมอร็อกโกตั้งแต่ 1912 -1956 (44ปี) ยึดครองจิบูตีตั้งแต่ 1884 – 1997 (117ปี) รวมทั้งยึดครองทั้งซีเรียและเลบานอน

ตลอดระยะเวลาของการยึดครองแอลจีเรีย ทหารฝรั่งเศสได้สังหารประชาชนชาวแอลจีเรียกว่า 7 ล้านคน พวกเขาได้ตัดศีรษะบรรดาแกนนำนักต่อสู้โดยทิ้งส่วนร่างกายลงในทะเลและนำศีรษะกลับไปยังกรุงปารีส เพื่อเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์คนในกรุงปารีส ทั้งนี้เพื่อทิ้งร่องรอยไม่ให้ชาวแอลจีเรียรำลึกถึงบรรดานักต่อสู้เหล่านั้น อีกทั้งเพื่อเป็นการข่มขู่ผู้ที่คิดจะต่อสู้ให้ชนรุ่นหลังว่า จะประสบชะตากรรมเช่นไร

ส่วนหนึ่งความป่าเถื่อนของฝรั่งเศสต่อชาวแอลจีเรีย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2020 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประกาศเอกราชของแอลจีเรีย รัฐบาลแอลจีเรียได้เรียกคืนหัวกะโหลกบรรดาแกนนำนักต่อสู้เพื่อเอกราชจำนวน 24 ชิ้นกลับสู่ประเทศหลังจากถูกแสดงในพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสนานกว่า 170 ปี ในขณะที่สื่อฝรั่งเศสระบุในปี 2016 ว่า ยังมีหัวกะโหลกกว่า 18,000 ชิ้นที่ยังถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์คนในกรุงปารีส (ดู https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/7/2/الجزائر-تستعيد-من-فرنسا-رفات-24-من-قادة)

รัฐบาลแอลจีเรียทำพิธีต้อนรับหัวกะโหลกของนักต่อสู้เพื่อเอกราช
จำนวน 24 ชิ้น ที่ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสนำไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์คนที่กรุงปารีส

ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่า ชนชาติที่มีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเช่นนี้ สามารถยึดครองหัวใจของชาวโลกได้หรือไม่ และพวกเขาต้องสะสมชุดความคิดอันเลวร้ายนี้นานเท่าไหร่ กว่าที่พวกเขาสามารถตกผลึกจนสามารถปฏิบัติได้ในนามรัฐชาติได้

ณ ที่นี่ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาเหมารวมชาวฝรั่งเศสทั้งชาติ แต่เสียงส่วนน้อยที่เป็นพลังความดี เป็นเพียงแสงหิ่งห้อยท่ามกลางความมืดมิดในป่าทึบ ยังไม่สามารถเป็นแสงสว่างให้แก่ผู้คนได้ เเม้กระทั่งสถาบันทางศาสนา แทบไม่มีบทบาทชี้นำสังคมที่ทุพพลภาพนี้เลย

ในอดีต ดาร์วินเคยหลอกคนทั้งโลกว่ามนุษย์มาจากลิงตามทฤษฎีวิวัฒนาการของเขา ในขณะที่มัลทัส สำทับว่ามนุษย์จะล้นโลกตามทฤษฎีประชากรศาสตร์ของเขาเช่นกัน

แทบไม่น่าเชื่อว่าผู้คนค่อนโลก แม้กระทั่งดีกรีนักเรียนนอก ก็ยังเชื่อทฤษฎีดังกล่าวชนิดหัวปักหัวปำ จนกระทั่งสโลแกน “ลูกมากยากจน” กลายเป็นวาระสากลทีเดียว

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ในปัจจุบัน มีบุคคลที่ยังคงหลงเหลือเชื่อทฤษฎีนี้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่า คนค่อนโลก เริ่มรู้ว่าเป็นทฤษฎีแหกตาชาวโลกเท่านั้น

แต่สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจที่ยุคนี้ คนค่อนโลกยังโดนฝรั่งเศสหลอกให้เชื่ออย่างสนิทใจเรื่องสุสานกะโหลกใต้กรุงปารีสตามคำบันทึกของฝรั่งเศส แถมยังต้องชื่อตั๋วเข้าชมเป็นเงินหลายยูโรอีกด้วย

ฝรั่งเศสยังคงสามารถสร้างความมั่งคั่งของประเทศจากกลุ่มชนที่น่าสงสารและถูกอธรรมจำนวน 6 ล้านคนนี้ ไม่ว่าในขณะที่พวกเขาเป็นคนหรือกลายเป็นกะโหลกและกระดูกก็ตาม

นครปารีสยังคงเป็นเมืองแฟชั่นอันดับ 1 ของโลกที่เป็นจุดศูนย์รวมของสไตลิสต์ ดีไซเนอร์และผู้นำแฟชั่นทั้งหลายทั่วโลก แถมยังมีแบรนด์ชั้นนำเกิดขึ้นมากมาย จนกลบมิดภาพหลอนอันโหดร้ายใต้ดินที่ถูกสะสมมานานนับร้อยปี


เขียนโดย Mazlan Muhammad

Catacombs of Paris สุสานกะโหลกใต้เมืองปารีส [ตอนที่ 1]

ลึกลงไปกว่า 20 เมตร ใต้เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นพื้นที่ของสุสาน Catacombs of Paris หรือ l’Ossuaire Municipal สุสานขนาดใหญ่ความยาวหลายร้อยกิโลเมตร เต็มไปด้วยซากโครงกระดูกกว่า 6 ล้านศพ

เดิมทีสุสานแห่งนี้เป็นอุโมงค์เหมืองหินปูนและเส้นทางขนสินค้าเข้าไปในเหมือง โดยการขุดหินปูนเพื่อก่อสร้างอาคารและสถาปัตยกรรมนั้นได้กินคืบเข้ามาใต้เมืองเรื่อยๆ ทำให้เมืองมีการเจริญเติบโตและมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าเมื่อคนเยอะ คนตายก็เยอะขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยเมื่อราวศตวรรษที่ 18 สุสานหลายแห่งในปารีส รวมถึง Les Innocents สุสานที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น เริ่มประสบปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับศพใหม่ อาทิ การฝังศพที่ไม่ถูกต้อง การเปิดฝาหลุมศพทิ้งไว้ หรือแม้แต่ศพที่ไม่ได้ฝัง ล้วนเป็นปัญหา เมื่อศพเน่าเปื่อยเริ่มส่งกลิ่นเหม็น รวมถึงเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคจนชาวบ้านต้องออกมาร้องเรียน

หลังจากนั้นในปี 1780 ได้เกิดเหตุฝนตกหนักจนกำแพงสุสาน Les Innocents ถล่มลงมา ส่งผลศพที่เน่าเปื่อยไหลออกมาบริเวณข้างเคียง ทางรัฐบาลจึงต้องหาพื้นที่เพิ่มให้กับสุสานใหญ่ๆ จนกระทั่งใน ค.ศ.1786 เจ้าของเหมืองได้อุทิศเหมืองให้ใช้เป็นสุสานแห่งใหม่ จึงมีการขนย้ายศพจากสุสานต่างๆเข้ามา เรียงต่อกันเป็นชั้นสูงจนมีลักษณะคล้ายกำแพง

สุสานแห่งนี้ถูกใช้ต่อเนื่องยาวนานจนถึงปี 1860 จึงปิดรับศพ รวมแล้วเป็นจำนวนกว่า 6 ล้านศพที่ถูกขนย้ายมาที่แห่งนี้ หลังจากนั้นมันได้ถูกปิดลงนานถึง 7 ปี ก่อนที่รัฐบาลจะกลับมาปรับปรุงให้กลายเป็นสุสานแบบเปิดเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชม

แม้ภายในมีทางเดินยาวลึกกว่า 300 กิโลเมตร แต่ทางการเปิดให้เข้าชมเพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น โดยระบุว่า สุสานมีอยู่เพียงนิดเดียว อย่างไรก็ตามมีผู้คนแอบเข้าไปในพื้นที่ลึกกว่านั้น โดยมีกลุ่มที่เรียกว่า Cataphiles เข้าไปสำรวจท้าทายพื้นที่ บ้างก็อยู่อาศัย หรือมีการจัดกิจกรรมร่วมกัน แม้จะมีการออกกฏหมายห้ามบุกรุกพื้นที่ก็ตาม

โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มนักเรียนและวัยรุ่น ซึ่งมีการเริ่มต้นทำแบบนี้กันตั้งแต่ช่วงปี 1970 – 1980 ในยุคเด็กพังค์ ผู้ชอบเรื่องแปลกแหวกแนว เมื่อพวกเขาจัดกิจกรรมที่ไม่ได้รับการยอมรับ พวกเขาจึงคิดไปจัดกิจกรรมที่อื่น ซึ่งสุสานใต้ดินนั้นก็เป็นที่ที่เหมาะทีเดียว เนื่องจากไม่มีใครอยู่และมีประตูลับอยู่มากมาย

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังแห่งหนึ่ง สามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเสพบรรยากาศหลอนๆ รวมถึงเป็นที่ลองของสำหรับพวกคนชอบความท้าทายและเหล่าคนชอบมนต์ดำ โดยมีการพบเครื่องหมายประหลาดซึ่งไม่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม และโครงกระดูกที่ใหม่เกินกว่าจะเป็นศพซึ่งถูกฝังมานานหลายสิบปี

นี่คือบทความที่ถูกถ่ายทอดผ่านทุกภาษาทั่วโลกมายาวนานนับศตวรรษ เพื่อให้ชาวโลกคล้อยตามเชื่ออย่างสนิทใจว่า ในศตวรรษที่ 18 กรุงปารีสเกิดภาวะวิกฤตหลุมฝังศพที่ไม่สามารถรองรับยอดคนตายจำนวนมากมายถึง 6 ล้านคนในช่วงเวลาหนึ่ง

โลกไม่เคยตั้งคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ชาวปารีสเสียชีวิตจำนวนมากมายถึงขนาดนั้น มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสบ้างไหมว่า ในช่วงนั้น เกิดโรคระบาดอะไรหรือมีสงครามกลางเมืองคร่าชีวิตผู้คนมากมายจนล้นสุสานกรุงปารีส

หากเสียชีวิตตามธรรมชาติ ก็ต้องถามต่อว่า เมื่อ 300 ปีที่แล้ว ประชากรในกรุงปารีสมีจำนวนเท่าไหร่ ในโลกนี้มีประเทศไหนบ้างที่ประชากรเสียชีวิตตามธรรมชาติมากมายถึงระดับนี้

ปัจจุบัน เขตมหานครปารีสรวมปริมณฑล มีประชากรกว่า 12 ล้านคน ถามว่ากรุงปารีสมีปัญหาเรื่องสุสานไม่เพียงพอกับจำนวนผู้เสียชีวิตอีกหรือไม่

ที่แย่ไปกว่านั้น แทนที่จะสงสัยในประเด็นนี้ ชาวโลกกลับยกย่องสุสานมรณะแห่งนี้จนกลายเป็นเเหล่งท่องเที่ยว ส่วนนักโบราณคดีก็สนุกสนานกับการถ่ายทำสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ต่อไป โดยหารู้ไม่ว่าเบื้องหลังของสุสานกะโหลกแห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

เรามาค้นหาคำตอบในภาค 2 ต่อไปครับ


โดย Mazlan Muhammad

ขอบคุณข้อมูล

http://www.nextsteptv.com/catacombs-of-paris-สุสานกะโหลกใต้เมืองป/ o

อาณาจักรมด อัศจรรย์แห่งอัลกุรอาน (ตอนจบ)

อัลลอฮฺตรัสว่า

وَحُشِرَ لِسُلَیۡمَـٰنَ جُنُودُهُۥ مِنَ ٱلۡجِنِّ وَٱلۡإِنسِ وَٱلطَّیۡرِ فَهُمۡ یُوزَعُونَ ، حَتَّىٰۤ إِذَاۤ أَتَوۡا۟ عَلَىٰ وَادِ ٱلنَّمۡلِ قَالَتۡ نَمۡلَةࣱ یَـٰۤأَیُّهَا ٱلنَّمۡلُ ٱدۡخُلُوا۟ مَسَـٰكِنَكُمۡ لَا یَحۡطِمَنَّكُمۡ سُلَیۡمَـٰنُ وَجُنُودُهُۥ وَهُمۡ لَا یَشۡعُرُونَ ، فَتَبَسَّمَ ضَاحِكࣰا مِّن قَوۡلِهَا وَقَالَ رَبِّ أَوۡزِعۡنِیۤ أَنۡ أَشۡكُرَ نِعۡمَتَكَ ٱلَّتِیۤ أَنۡعَمۡتَ عَلَیَّ وَعَلَىٰ وَ ٰ⁠لِدَیَّ وَأَنۡ أَعۡمَلَ صَـٰلِحࣰا تَرۡضَىٰهُ وَأَدۡخِلۡنِی بِرَحۡمَتِكَ فِی عِبَادِكَ ٱلصَّـٰلِحِینَ

ความว่า

 “และไพร่พลของเขา(นบีสุลัยมาน)ที่เป็นญิน มนุษย์และนก ได้ถูกให้มาชุมนุมต่อหน้าสุลัยมาน และพวกเขาถูกจัดให้เป็นระเบียบ จนกระทั่งเมื่อพวกเขาได้มาถึงทุ่งที่มีมดมาก (ณ เมืองชาม) มดตัวหนึ่งได้พูดว่า “โอ้พวกมดเอ๋ย! พวกเจ้าจงเข้าไปในรังของพวกเจ้าเถิด เผื่อว่าสุลัยมานและไพร่พลของเขาจะได้ไม่บดขยี้พวกเจ้า โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว เขา (สุลัยมาน) ยิ้มแกมหัวเราะต่อคำพูดของมันและกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่ข้าพระองค์ เพื่อให้ข้าพระองค์ขอบคุณต่อความโปรดปรานของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงโปรดปรานแก่ข้าพระองค์ และบิดามารดาของข้าพระองค์ และให้ข้าพระองค์กระทำความดีเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัยมัน และทรงให้ข้าพระองค์เข้าอยู่ในความเมตตาของพระองค์ ในหมู่ปวงบ่าวของพระองค์ที่ดีทั้งหลาย”(อันนัมลุ 27,17-19)

อายัตข้างต้นได้อธิบายบทหนึ่งในซูเราะฮฺอันนัมลุ (มด) ที่ได้ระบุว่า ไพร่พลของนบีสุลัยมานซึ่งประกอบด้วยมนุษย์ ญินและสิงสาราสัตว์รวมทั้งนกชนิดต่างๆ ได้ถูกเกณฑ์เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญ เหล่าทหารจึงเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบและเดินทางตามคำสั่งของนบีสุลัยมาน จนกระทั่งพวกเขาได้เดินทางถึงบริเวณทุ่งที่มีมดมากมายอาศัยอยู่ หัวหน้ามดจึงรู้อันตรายที่จะเกิดขึ้น เลยออกคำสั่งให้ประชากรมดหลบเข้าไปในรัง เพื่อความปลอดภัยและไม่ถูกนบีสุลัยมานและไพร่พลของเขาบดขยี้โดยที่พวกเขาไม่รู้สึกตัว ซึ่งหัวหน้ามดทราบดีว่า กองทัพนี้มีมารยาทอันสูงส่ง และไม่เคยสร้างความเดือดร้อนใดๆ แม้ต่อมดตัวเดียวก็ไม่เคยทำร้าย แต่กลัวว่า พวกเขาไม่รู้ตัวว่าอยู่ในบริเวณทุ่งมด เลยอาจเหยียบมดโดยไม่ตั้งใจก็ได้ นบีสุลัยมานได้ฟังคำสนทนาของหัวหน้ามดนี้ก็อมยิ้มอย่างมีความสุข พร้อมขอดุอาต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ชี้นำเขาสู่เส้นทางอันเที่ยงตรง อย่าให้อำนาจอันล้นฟ้าที่อัลลอฮฺประทานให้เป็นสาเหตุให้เขาเหิมเกริม เย่อหยิ่งลำพองตนไปเลย

การตั้งชื่อซูเราะฮฺอันนัมลุ ซึ่งมีความหมายว่ามดนี้ ทำให้เราทราบว่า อัลกุรอานให้ความสำคัญต่อสัตว์ตัวเล็กๆนี้ได้เป็นอย่างดี และเป็นการส่งสัญญาณแก่ศรัทธาชนให้ศึกษาสัตว์ประเภทนี้ เพื่อนำเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จต่อไป

มดเป็นหนึ่งในสัญญาณของอัลลอฮฺที่เป็นปรากฏการณ์ (آيات الله الكونية) ในขณะที่อัลกุรอานคือสัญญาณของอัลลอฮฺที่เป็นลายลักษณ์ (آيات الله المقروءة) ดังนั้นทั้ง 2 สัญญาณนี้ไม่มีทางขัดแย้งกัน เพราะล้วนมาจากแหล่งอันเดียวกันคืออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

เราลองมาดูความมหัศจรรย์ของ 2 สัญญาณนี้ว่ามีความสอดคล้องกันอย่างไรบ้าง

1. อัลกุรอานได้ฟันธงว่า หัวหน้ามดที่ออกคำสั่งให้ประชากรมดหลบเข้ารังนั้นเป็นเพศเมีย (قالت نملة) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาปัจจุบันพบว่า มดนางพญาเป็นมดที่มีอิทธิพลที่สุดเป็นเสมือนราชินีที่มีหน้าที่คอยบงการประชากรมดทั้งหมดตามที่ได้เขียนในบทความก่อนหน้านี้

2. มดมีภาษาเฉพาะที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน (قالت نملة) หมายถึง “หัวหน้ามดกล่าวว่า” ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบในปัจจุบันว่า สัตว์แต่ละประเภทมีภาษาเฉพาะของมัน โดยเฉพาะมดที่มีระบบสื่อสารอันยอดเยี่ยมตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

3. ประชากรมดมีบ้านประจำของมัน (مساكنكم)หมายถึง “บ้านอันมากมายของเจ้า” ซึ่งการศึกษาปัจจุบันพบว่า ประชากรมดจะอาศัยเป็นอาณาจักรใหญ่ บางชนิดมีรังต่างๆที่เชื่อมโยงติดต่อกันถึง45,000 รังทีเดียว

4. อาณาจักรมดมีอาณาบริเวณที่กว้างมาก บางชนิดคลุมเนื้อที่กว่า 2.7 ตร.กม. ซึ่งศัพท์

อัลกุรอานใช้คำว่า(وادي النمل) อันหมายถึงทุ่งหรือลานกว้างภายในอาณาจักรนี้มีห้องหับมากมายแยกเป็นสัดส่วน อาทิ ประตูเข้าชั้นนอก ประตูเข้าชั้นใน โรงเก็บอาหาร ห้องกินอาหาร ศูนย์ยามรักษาความปลอดภัย ห้องประทับราชินี ห้องวางไข่ ห้องปฐมพยาบาลลูกอ่อน ห้องฝังศพมด ห้องพักผ่อน และอื่นๆอีกมากมาย

5. อัลกุรอานยังบอกถึงความเฉลียวฉลาดของมดที่สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ร้ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำโดยในอายัตนี้นางพญามดได้แจ้งให้ประชากรมดทราบถึงภยันตรายของกองทัพนบีสุลัยมานที่อาจเหยียบพวกมันโดยไม่รู้ตัว แสดงว่ามดสามารถคาดเดาเส้นทางของกองทัพนบีสุลัยมานว่า จะผ่านเส้นทางที่เป็นที่สร้างของอาณาจักรของมันได้อย่างถูกต้อง มดจึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์ที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ธรรมชาติได้อย่างแม่นยำ และพวกมันสามารถหามาตรการในการรับมือกับเหตุร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

6.คำว่า لا يحطمنكم سليمان وجنوده หมายถึง เผื่อว่าสุลัยมานและไพร่พลของเขาจะได้ไม่บดขยี้พวกเจ้า

คำว่า “ไม่บดขยี้” ฟังอย่างผิวเผินแล้วเหมือนกับมดแตกเป็นเสี่ยงๆ คล้ายกับการแตกของวัสดุประเภทคริสตัลหรือกระจก ทั้งๆที่มดก็เป็นสัตว์ธรรมดา ซึ่งตามความเข้าใจเบื้องต้นอาจพูดได้ว่า อัลกุรอานน่าจะใช้คำที่มีความหมายว่า “ไม่ถูกเหยียบ” มากกว่า “ไม่บดขยี้” แต่ผลจากการวิจัยพบว่า องค์ประกอบส่วนใหญ่ของมดเป็นส่วนผสมของสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายคริสตัลหรือกระจก ดังนั้นคำที่เหมาะสมในที่นี้คือ “ไม่บดขยี้” มากกว่า

นี่คือ 6 ประการสำคัญที่อัลลอฮฺพูดถึงเกี่ยวกับมดในอายัตเดียว คืออายัตที่ 18 ของซูเราะฮฺอันนัมลุ ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นการกล่าวที่น้อยไปหากเปรียบเทียบกับชื่อซูเราะฮฺ แต่ในเมื่ออายัตนี้เป็นของผู้ทรงรอบรู้และปรีชาญาณ นั่นหมายถึงทุกถ้อยคำที่บรรจงเลือกให้เป็นส่วนประกอบของอายัตนี้จึงเต็มสะพรั่งไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งที่ยิ่งค้นไปเท่าไหร่ก็ยิ่งพบเจอองค์ความรู้อันมากมายมหาศาล

สำหรับผู้ศรัทธาและผู้ถวิลหาสัจธรรม อายัตเดียวก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับใช้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ

ก่อนจากกัน ขอตั้งคำถามที่ไม่จำเป็นต้องตอบดังนี้ครับ

– พี่น้องเคยอ่านชีวประวัติของนบีมูฮัมมัดว่า นบีเคยศึกษาเรื่องมดจากใครที่ไหนมาบ้าง หากตอบว่านบีไม่เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อน แล้วท่านสามารถอธิบายความลี้ลับเหล่านี้ได้อย่างไร

– ชาร์ล ดาร์วิน เคยพูดถึงมดบ้างไหม คาร์ล มาร์กซ์ เลนิน หรือ เพลโต โซเครติส หรือแม้กระทั่ง เหมา เจ๋อ ตุง เคยเขียนตำราว่าด้วยมดบ้างหรือเปล่า หากมีตำรา เนื้อหาเป็นอย่างไรบ้าง หากไม่มี แล้วบังอาจมาจัดระเบียบให้กับมนุษย์และสร้างทฤษฎีสังคมอันจอมปลอมให้มนุษย์ปฏิบัติได้อย่างไรทั้งๆที่ตนเองไม่มีความรู้แม้กระทั่งเรื่องมด

– สุดท้าย อ่านเรื่องมดแล้ว พี่น้องได้บทเรียนอะไรบ้างและมีแนวทางพัฒนาตนเองโดยใช้หลักปรัชญามดได้อย่างไร วัสสลาม

والله أعلم وهو الموفق والهادي إلى سواء السبيل


เขียนโดย Mazlan Muhammad

แหล่งอ้างอิง

http://midad.com/article/197775/الإعجاز-العلمي-للقرآن-في-النمل

https://www.masrawy.com/islameyat/others-e3gaz/details/2014/10/7/361535/معجزة-النمل-في-القرآن-الكريم

อาณาจักรมด อัศจรรย์แห่งอัลกุรอาน [ตอนที่2]

การวางผังเมือง การจัดระเบียบสังคมที่มีผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันตามเมืองใหญ่ๆนับล้านคน พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภค เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด มนุษย์ต้องอาศัยกฎหมายและกติกาทางสังคมมาบังคับใช้ เพื่อสร้างสังคมที่สันติสุข แต่มนุษย์โดยสันดานแล้วชอบล่วงละเมิด ฝ่าฝืน เอาใจตัวเอง เอาเปรียบคนอื่น ทำงานโดยหวังกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ส่วนความสุขสบายของคนอื่นจะเป็นเรื่องรอง ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนับวันยิ่งห่างไกลไปทุกที เราจึงมีแต่สังคม 2 ประเภทเท่านั้นคือกลุ่มที่ไม่รู้จะกินอะไร และกลุ่มที่ไม่มีอะไรจะกิน หรือรวยกระจุก จนกระจาย จะมีน้อยคนที่ยอมเหน็ดเหนื่อยและยากลำบากเพื่อความสุขสบายของผู้อื่น หากมีคนบอกเราว่ามีสังคมมนุษย์ที่มีแต่ความเอื้ออาทร สมัครสมานสามัคคี ไม่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แต่ละคนทำงานเพื่อความสุขของส่วนรวม ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่อิจฉาริษยา เราจะบอกได้เลยว่านั่นเป็นสังคมในอุดมคติหรือเป็นสังคมยุคนบีและเศาะฮาบะฮฺเท่านั้น มันไม่มีทางเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน

ณ โอกาสนี้ เราขอบอกว่ายังมีชุมชนหนึ่งที่เป็นต้นแบบของการเสียสละ ความร่วมมือ ความสมานสามัคคี ความขยัน ไม่ย่อท้อและไม่เบื่อหน่าย รักและห่วงแหนสถาบัน ยอมปกป้องสถาบันแม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม แต่ที่น่าพิศวงอย่างยิ่งคือสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะด้วยการบังคับทางกฎหมายใดๆ แต่เป็นความสมัครใจของบรรดาสมาชิก มันคืออาณาจักรมดนั่นเองครับ

สังคมมดอาศัยอยู่เป็นแสนๆตัว บางชนิดเป็นล้านตัว แต่ละตัวในสมาชิกต่างรับผิดชอบต่อหน้าที่และบทบาทของตนอย่างขยันขันแข็ง ทุกตัวต้องทำงานเพื่อรักษาอาณาจักรของตน ในสังคมนี้จะไม่มีผู้อดอยาก ไม่มีผู้ขัดสนแม้แต่ตัวเดียว พวกมันรู้จักแบ่งปันอาหารแม้กระทั่งน้ำดื่มเพียงหยดเดียว ไม่มีตัวไหนที่คอยเอาเปรียบเพื่อน กินแรงเพื่อนหรือเอาแต่ได้ ในชุมชนของมันไม่มีผู้ร้ายแม้แต่ตัวเดียว แต่ละตัวทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็งตลอด 24 ชม. สังคมมดจึงเป็นสังคมแห่งความเอื้ออาทรที่เป็นความน่าทึ่งของพระผู้ทรงสร้างอย่างแท้จริง

เราเคยสังเกตจังหวะเดินของมดบ้างไหม มีช่วงไหนบ้างที่มันเดินอย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมาย หรือเดินแบบคนคอตกที่หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต เราไม่เคยเจอเลย แต่ละตัวมีแต่ความมุ่งมั่น กระฉับกระเฉงและใฝ่หาตลอดเวลา ไม่เชื่อพี่น้องลองสังเกตดู

ในป่าทึบแห่งหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย มีมดพันธุ์หนึ่ง เรียกว่า มดจักรเย็บ เพราะมันจะสร้างอาณาจักรโดยการถักทอใบไม้และมาตัดต่อเป็นรังด้วยกรรมวิธีทางเคมีที่แปลกประหลาดมาก

มดบางประเภทในป่าอะเมซอน รู้จักทำเกษตรเพื่อตุนเป็นอาหารยามคับขันหรือยามข้าวยากหมากแพง (มดคงไม่กินหมากน่ะครับ)ให้แก่ประชากรในอาณาจักรของมัน โดยเริ่มจากการตัดใบไม้และกิ่งก้านพร้อมลำเลียงเข้าไปในอาณาจักร มันจะทำงานหนักอย่างนี้ตลอดเวลา 24 ชม. การลำเลียงใบไม้ในลักษณะนี้ เสมือนที่ชายคนหนึ่งแบกของน้ำหนัก 250 กก. แล้ววิ่งด้วยความเร็ว 1.5 กม./ชั่วโมง โดยไม่หยุดพัก พวกมันสร้างถนนเส้นต่างๆ เพื่อความสะดวกในการลำเลียงของงานบรรทุก และสิ่งที่น่าทึ่งมากกว่านี้ คือ จะมีฝ่ายซ่อมแซมถนนหรือฝ่ายขจัดสิ่งกีดขวางตามถนนเพื่อให้การลำเลียงดำเนินไปอย่างสะดวกที่สุด(ไม่สะดุดกิ่งไม้จนหัวคะมำได้) บางส่วนก็ทำหน้าที่เป็นสะพานมีชีวิตให้บรรดานักลำเลียงสามารถส่งของตามเวลาและจำนวนที่กำหนดโดยการร้อยเรียงจับตัวกันเป็นสะพานให้เพื่อนข้ามอย่างสะดวก นับเป็นภาพแห่งความเสียสละที่หาไม่ได้อีกแล้ว มดลำเลียงเหล่านี้มีจำนวนประมาณ 500,000 ตัว ทำงานไม่หยุดหย่อนตลอด 24 ชม. โดยไม่รู้จักคำว่าย่อท้อและเบื่อหน่าย

มนุษย์ตัดต้นไม้โดยใช้เครื่องจักรช่วย แต่มดพันธุ์นี้จะตัดด้วยอวัยวะของมันที่ทำหน้าที่เสมือนเลื่อยที่มีประสิทธิภาพที่สุด และเพื่อให้การตัดใบไม้ดำเนินไปอย่างสะดวก เลื่อยของมันจะปล่อยน้ำมันหล่อลื่นตลอดเวลา

มดจะสร้างอาณาจักรภายในรังของมัน พวกมันจะใช้ใบไม้เหล่านี้เข้าไปในรังเพื่อจัดทำสวนเฉพาะ หลังจากมดลำเลียงมอบใบไม้ แก่มดเกษตรแล้ว จะมีอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ในการฆ่าเชื้อใบไม้ มันจะทำความสะอาดใบไม้จนกระทั่งมั่นใจว่าปลอดจากสารพิษต่างๆที่อาจติดอยู่กับใบไม้ จากนั้นมดเกษตรก็เริ่มทำสวนด้วยกรรมวิธีที่น่าทึ่งยิ่ง จากนั้นเยื่อใยที่ไม่มีประโยชน์ก็จะถูกขนย้ายออกจากรังเพื่อเป็นการทำความสะอาดรังครั้งใหญ่ (Big Cleaning Day)

มดทหารจะทำหน้าที่ปกป้องอาณาจักรแม้นต้องแลกด้วยชีวิต นับเป็นการเสียสละที่เกินบรรยายจริงๆ

หากเราสังเกตที่มดลำเลียงใบไม้ จะพบว่ามีมดตัวหนึ่งที่ประจำการเกาะติดใบไม้เพื่อทำหน้าที่อารักขาจากการจู่โจมทางอากาศที่อาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ มันทำหน้าที่คล้ายทหารอารักขาความปลอดภัยของคาราวานกองทัพที่ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ มดอารักขานี้จะทำหน้าที่อารักขาใบไม้อย่างกล้าหาญแม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

ความสลับซับซ้อนของอาณาจักรมดในลักษณะนี้เป็นสิ่งยืนยันถึงการมีอยู่ของพระผู้ทรงสร้าง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งเหล่านี้จะเกิดโดยการบังเอิญ ตามความหลอกลวงของทฤษฎีวิวัฒนาการที่อุตริโดยชาร์ล ดาร์วิน

ต่อภาค [3]


เขียนโดย Mazlan Muhammad

อาณาจักรมด อัศจรรย์แห่งอัลกุรอาน [ตอนที่ 1]

มดเป็นสัตว์ในวงศ์ Formicidae อันดับ Hymenoptera มีมากกว่า 12,000 ชนิด คาดกันว่ามีประชากรมดในโลกนี้จำนวนกว่า 1 พันล้านล้านตัว อาณาจักรมดที่ใหญ่ที่สุดที่ค้นพบคือที่บริเวณลุ่มแม่น้ำ Ishikari รัฐ Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรมดอาศัยอยู่ในอาณาจักรนี้จำนวน 306 ล้านตัว มีนางพญามดถึง 1 ล้านตัว อาศัยอยู่ในรังต่างๆที่เชื่อมโยงติดต่อกันถึง 45,000 รัง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.7 ตร.กม. มดบางชนิดสามารถขุดดินทำรังได้ลึกถึง 8 เมตร กว้าง 7 เมตร ขนดินทิ้งข้างนอกด้วยปริมาณดินที่มีน้ำหนักกว่า 40 ตัน

การสร้างอาณาจักรมดในลักษณะนี้ แสดงว่ามดเป็นแมลงสัตว์สังคม (Social Insect) คือมักทำรังไปในทิศทางเดียวกัน ในแต่ละรังก็มีการแบ่งวรรณะอย่างชัดเจน ประกอบด้วย

1) มดนางพญา ผู้เป็นราชินี ไม่ทำงานอะไรทั้งสิ้น อยู่ติดรัง คอยออกไข่ตามจำนวนที่รังต้องการ

2) มดลูกตัวเมียมีปีก สืบพันธุ์ได้ รับภาระใหญ่คือสืบพันธุ์ของรังต่อไป

3) มดตัวเมียไม่มีปีก เป็นหมัน มีชื่ออื่นว่ามดงาน คือทำทุกอย่างตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ดูแลไข่และบริบาลตัวอ่อน ปรนนิบัติราชินี หาอาหาร ทำความสะอาดรัง ลำเลียงศพมดตัวผู้ที่ตายในรัง เป็นทหารป้องกันอันตรายซึ่งจะมีตัวกำยำกว่ามดอื่นๆ มีการแบ่งงานทำหน้าที่อย่างมีระบบตามอายุขัย มดบางพันธุ์มีหน้าที่เป็นเกษตรกรปลูกไร่นาในรังผลิตอาหารให้กับประชากรมด ซึ่งมดงานที่มีตำแหน่ง สว.(สูงวัย) จะทำหน้าที่หาอาหารจากภายนอกรังในฐานะผู้มากประสบการณ์ ดังนั้นมดที่เรามักเจอเพ่นพ่านตามที่ต่างๆ น่าจะเป็นมดไม้ใกล้ฝั่ง จวนเจียนจะตายตามอายุขัย แต่ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ด้วยความภูมิใจ และ

4) มดตัวผู้ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย มีอายุสั้นที่สุดในจำนวนประชากรมดทั้งหลาย มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับนางพญาเพียงครั้งเดียว แล้วก็ตายจากไปอย่างไร้ศักดิ์ศรีที่สุด

นางพญามดเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุด มีหน้าที่วางไข่และควบคุมจำนวนประชากรมดในฐานะผู้ให้กำเนิดประชากรมดในอาณาจักรของตน เป็นศูนย์บัญชาการควบคุมทิศทางของรัง เมื่อใดที่มดนางพญาตาย เมื่อนั้น หมายถึงอวสานของประชากรมดทั้งรัง จะกลายเป็นรังร้าง เพราะมดงานจะกระจัดกระจายไปที่อื่นเหมือนบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะฉะนั้น ประชากรมดจึงให้ความสำคัญและทะนุถนอมมดนางพญามาก มดนางพญาจึงมีอายุยาวนานที่สุด บางพันธุ์มีอายุ 5 ปี แต่บางชนิดอายุยืนถึง 25 ปีทีเดียว

มดมีความสามารถสื่อสารระหว่างกันได้อย่างน่าทึ่งด้วยการปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า “ฟิโรโมน”ออกจากนอกกายแทรกผ่านเข้าไปในร่างกายของมดตัวอื่นๆนับล้านตัว ด้วยใช้ระบบนี้ มดนับล้านตัวจะร้องอุทาน ร้องไห้หรือดีใจพร้อมกันนับล้านตัวได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งถือเป็นการสื่อสารด้วยระบบไฮเทคก้าวล้ำเป็นอย่างยิ่ง

มดมีพลังอันมหาศาล และน่าเป็นสัตว์ที่มีพละกำลังที่แข็งแรงที่สุดในโลก เพราะมันสามารถยกสิ่งของที่หนักกว่าน้ำหนักของตัวมันถึง 20 เท่า ในขณะที่แชมป์ยกน้ำหนักระดับโอลิมปิกสามารถยกน้ำหนักไม่เกิน 5 เท่าของน้ำหนักตนเองเท่านั้น

นี่คือเสี้ยวหนึ่งของความมหัศจรรย์ของมดที่ถูกค้นพบโดยมนุษย์ยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน

หากมีคนบอกท่านผู้อ่านว่า กว่า 1,400 ปีมาแล้ว มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ประกาศโดยชายคนหนึ่งที่ไม่มีการศึกษา ไม่เคยศึกษาจากใครที่ไหนมาก่อน แถมยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้อีกต่างหาก ที่สำคัญไม่มีการบันทึกในประวัติส่วนตัวของชายคนนี้ว่าท่านมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องมด แต่แล้วในหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องมดได้อย่างน่าทึ่งทั้งความลี้ลับในสาระเนื้อหาและความถูกต้องตามหลักวิชาการที่ค้นพบในปัจจุบัน ท่านจะเชื่อไหม อะไรคือข้อพิสูจน์ และจะพิสูจน์กันอย่างไร


เขียนโดย Mazlan Muhammad

อ้างอิง

http://th.wikipedia.org/wiki/มด

จุดยืนของพวกเขาที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เมื่อฉันได้ยินคำประกาศของผู้นำและบรรดานักการเมืองฝรั่งเศส ที่ไม่แยแสกรณีการบอยคอตสินค้าโดยชาวมุสลิมทั่วโลก เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสที่สนับสนุนการเผยแพร่ภาพการ์ตูนดูหมิ่นนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ซึ่งพวกเขาได้ยืนยันว่า “เราจะไม่ยอมก้มหัวกับการข่มขู่เหล่านี้และเราไม่มีวันละทิ้งจุดยืนของเรา

ทำให้ฉันนึกถึงคำยืนยันของชาวอวิชชายุคแรกที่อัลกุรอานได้เล่า (ความว่า)

“และพวกหัวหน้าของพวกเขาพากันออกไป (พลางกล่าวว่า) “จงก้าวหน้าต่อไปและอดทน ในการยึดมั่นต่อบรรดาพระเจ้าของพวกท่านต่อไป! แท้จริงเป็นเรื่องที่ถูกวางแผนไว้แล้ว” (ศอด/6)

ใช่ซิ จุดยืนของพวกท่านเป็นเหตุให้เด็กแรกเกิดจำนวน 60 % กลายเป็นลูกนอกสมรส

จุดยืนของพวกท่าน ได้ทำให้สตรีถูกกระทำชำเราในทุกๆ 7 นาที จนทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อปกป้องสตรีมาหลายครั้งหลายหน

จุดยืนของพวกท่าน เป็นเหตุให้ในทุกๆ 3 วัน จะมีสุภาพสตรีชาวฝรั่งเศสถูกฆาตกรรมโดยสามี เพื่อนชายหรือคู่ชีวิตของนาง

จุดยืนของพวกท่าน ทำให้สตรีถูกล่วงละเมิดทางเพศบนขนส่งสาธารณะ ที่แม้กระทั่งหน่วยงานสิทธิสตรีของฝรั่งเศสก็ออกมายอมรับ

จุดยืนของพวกท่าน เป็นเหตุให้สถาบันทางครอบครัวล่มสลาย และทำให้ฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามบุตรบุญธรรมเรียกผู้อุปการะซึ่งเป็นคู่ชีวิตร่วมเพศว่า พ่อหรือแม่ แต่บัญญัติให้เรียกว่า พ่อคนที่1 และพ่อคนที่ 2 แทน

จุดยีนของพวกท่าน ได้ทำให้พวกท่านสร้างสุสานแห่งปารีสที่อัดแน่นด้วยกระดูกและหัวกะโหลกหลายล้านชิ้น จากร่างไร้วิญญาณกว่า 6 ล้านชีวิต เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์สุดสยองให้แขกมาเชยชมด้วยความภาคภูมิใจ

จุดยืนของพวกท่าน ได้จับขังชาวแอฟริกา ยัดเข้าในสวนสัตว์มนุษย์ แล้วเชิญชวนทุกคนมาชมเหมือนดูสัตว์ประหลาดภายใต้ชื่ออันสวยหรูว่า นิทรรศการทางชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงคือความอัปยศของการเหยียดผิวที่รุนแรงที่สุดที่สร้างโดยอารยธรรมชาติตะวันตก

จุดยืนของพวกท่าน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการปล้นสะดมความร่ำรวยของชาวแอฟริกา แล้วปล่อยให้พวกเขาเป็นชาติที่ยากจนที่สุดในโลก ใช้ชีวิตอย่างหิวโหย อดตายอย่างทรมาน

ด้วยทัศนคติอันบิดเบี้ยวของพวกท่านที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเช่นนี้ พวกท่านยังกล้ามาสอนอิสลามให้แก่เราอีกหรือ

แล้วยังมีหน้ามาบอกว่า อิสลามคือก่อการร้าย


โดย Mazlan Muhammad

ประชาธิปไตยหลุดพ้นจากอิสลามหรือไม่ ? [ตอนที่ 4]

โดย ชีคดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์

อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ [ International Union for Muslim Scholars-IUMS  ] และประธานสภาฟัตวาและการวิจัยแห่งยุโรป [ European Council for Fatwa]

จุดเด่นของระบอบประชาธิปไตย

จุดเด่นของระบอบประชาธิปไตยคือ เป็นการค้นพบสูตรและวิธีการที่ถือเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดในการปกป้องประชาชนจากการกดขี่ของเหล่าจักรพรรดิและกษัตริย์ทรราช หลังการต่อสู้อันยาวนานเพื่อให้ได้มาสิ่งนี้

ไม่มีข้อห้ามสำหรับมนุษยชาติ นักคิดและผู้นำในการคิดหาสูตรและวิธีการอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่สิ่งที่สมบูรณ์และเป็นอุดมคติมากกว่านี้ แต่จนกว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้และประสบความสำเร็จในความเป็นจริง เราคิดว่าจำเป็นต้องอ้างอิงจากวิธีการของประชาธิปไตยในการบรรลุสู่ความยุติธรรม การปรึกษาหารือการเคารพสิทธิมนุษยชน ในการเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงของทรราชในโลกนี้

ในบรรดากฎชะรีอะห์ดังกล่าวได้แก่

– สิ่งที่สิ่งวายิบ(ข้อบังคับ)ไม่อาจบรรลุผลได้โดยไม่มีสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ถือสิ่งวายิบ(ข้อบังคับ)

– วัตถุประสงค์ใดๆ ทางกฎหมายที่ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้นอกจากด้วยเหตุปัจจัยใดๆ ปัจจัยดังกล่าวก็จะมีสถานะเดียวกับเป้าหมาย 

ศาสนาอิสลามไม่ห้ามอ้างอิงความคิดเชิงทฤษฎีหรือวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม  เพราะศาสดา – ขอพระเจ้าอวยพรและมอบสันติสุขให้ท่าน – รับแนวคิด“ ขุดร่องลึก” ในช่วงสงครามอะห์ซาบ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของเปอร์เซีย

และท่านใช้ประโยชน์จากนักเชลยศึกในสงครามบัดร์ เพื่อสอนหนังสือให้แก่เด็กๆที่ไม่รู้วิธีอ่านและเขียน

เพราะสติปัญญาเป็นสิ่งของที่ผู้ศรัทธาที่ทำหล่นหายไป หากเขาพบมันที่ใด เขาก็มีสิทธิได้รับเป็นเจ้าของมากกว่าผู้อื่น

ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ในหนังสือบางเล่มว่า เป็นสิทธิ์ของเราที่จะอ้างแนวคิดและวิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อเราจากผู้อื่น ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการที่ชัดเจน หรือกฎชะรีอะฮฺที่ตายตัว

เราต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรานำมาอ้างอิง และเติมเต็มจิตวิญญาณที่จะทำให้สิ่งที่นำมานั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา และทำให้สิ่งนั้นเสียอัตลักษณ์แรกไป

การเลือกตั้งถือเป็นการทำหน้าที่เป็นพยานลักษณะหนึ่ง

ระบบการเลือกตั้งหรือระบบการลงคะแนน ในมุมมองของศาสนาอิสลาม ก็คือ “การทำหน้าที่เป็นพยาน” ของความถูกต้องเหมาะสมของผู้สมัคร

คุณสมบัติของ “เจ้าของคะแนนเสียง” จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพยาน คือจะต้องมีความยุติธรรมและประพฤติดี ดังที่อัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจกล่าวว่า

وأشهدوا ذوي عدل منكم

“และจงให้พวกท่านผู้ที่มีความยุติธรรม จำนวน 2 คน เป็นพยาน” (อัลกุรอาน : อัตตอล้าก-การหย่าร้าง: 2)

ممن ترضون من الشهداء

 “จากบรรดาผู้ที่พวกท่านยอมรับในหมู่พยาน”  (Al-Baqarah: 282)

ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นพยานโดยทุจริต ก็ถือว่าได้กระทำการเป็นพยานเท็จ ซึ่งอัลกุรอานได้เชื่อมโยงกับการตั้งภาคีต่อพระเจ้า โดยกล่าวว่า

فاجتنبوا الرجس من الأوثان واجتنبوا قول الزور

 “ดังนั้นจงหลีกเลี่ยงสิ่งที่น่ารังเกียจจากบรรดารูปเคารพและหลีกเลี่ยงคำพูดเท็จ (อัลฮัจญ์: 30)

 ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นพยานให้ผู้สมัครเพียงเพราะเขาเป็นญาติหรือคนในท้องถิ่นของตน หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวที่แสวงหาจากผู้สมัคร แสดงว่าเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจ ที่บัญชาว่า

وأقيموا الشهادة لله

“และจงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮ์” (อัลกุรอาน : อัตตอล้าก-: 2)

และผู้ใดที่ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งของตน จนเป็นเหตุทำให้คนดีมีความสามารถสอบตก และผู้ไม่สมควรหรือเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามบทบัญญัติอิสลามที่ว่าต้องเป็น”คนเก่งและดี” กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ถือว่าเขามีความผิดฐานปกปิดการให้การเป็นพยาน ในเรื่องที่มีความจำเป็นต่อสังคมมากที่สุด

และผู้ทรงอำนาจตรัสว่า:

ولايأب الشهداء إذا ما دعوا

 “และพยานจะไม่ปฏิเสธหากพวกเขาถูกร้องขอ” (Al-Baqarah: 282)

ولا تكتموا الشهادة ومن يكتمها فإنه آثم قلبه

 “และอย่าปิดบังพยานหลักฐาน และผู้ใดปกปิดมัน ถือว่าเขาเป็นคนใจบาป” (Al-Baqarah: 283)

คุณสมบัติและเงื่อนไขอื่นๆ ของผู้สมัครก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นคุณสมบัติที่ควรให้ความสำคัญยิ่งกว่า 

เมื่อรวมถึงเงื่อนไขและแนวทางเหล่านี้ในระบบการเลือกตั้งแล้ว เราจึงถือว่า การเลือกตั้งเป็นระบบอิสลาม แม้ว่าจะมีการนำมาจากผู้อื่นก็ตาม

ระหว่างอำนาจอธิปไตยของประชาชน และอำนาจอธิปไตยของอัลลอฮ์

สิ่งที่เราต้องการมุ่งเน้น ณ ที่นี่คือสิ่งที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้นซึ่งก็คือ : แก่นแท้ของประชาธิปไตยสอดคล้องกับแก่นแท้ของศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน  หากเราอ้างอิงแหล่งที่มาดั้งเดิมของอิสลาม และนำมาจากแหล่งที่มาอันบริสุทธิ์ ได้แก่ อัลกุรอานและซุนนะห์ และผลงานของบรรดาคอลีฟะฮ์ผู้อาวุโสไม่ใช่จากประวัติศาสตร์ของผู้นำมุสลิม  ความอยุติธรรมกษัตริย์ทรราช หรือจากฟัตวาของนักปราชญ์ของสุลต่าน หรือกัลยาณชนผู้ไม่ศึกษาในศาสตร์อย่างลึกซึ้งถ่องแท้

คำพูดที่กล่าวว่า : ประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองประชาชนโดยประชาชน  เป็นการขัดแย้งกับหลักการที่ว่า “อำนาจเป็นของอัลลอฮ์”  ถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า จะต้องปฏิเสธอำนาจของพระเจ้าเหนือมวลมนุษย์ เนื่องจากผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงสิ่งนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาหมายถึงอย่างกระตือรือร้นคือ การปฏิเสธการปกครองแบบเผด็จการ  การปฏิเสธการปกครองของผู้นำทรราชที่อ้างประชาชนมากกว่า

ระบอบประชาธิปไตยที่คนเหล่านี้หมายถึง เป็นเรื่องที่ประชาชนเลือกผู้ปกครองตามที่พวกเขาต้องการ โดยให้มีการตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครองเหล่านั้น  รวมถึงปฏิเสธคำสั่งของผู้นำหากพวกเขาละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศ  ที่ในวลีของอิสลามเรียกว่า  “การปฏิเสธคำสั่งหากผู้นำสั่งให้ทำบาป” และมีสิทธิ์ถอดถอนพวกเขา ออกหากพวกเขาเบี่ยงเบนและไม่ยุติธรรม  และไม่ตอบรับคำแนะนำหรือคำเตือน

หลักการของ “อัลหุกม์ ลิลลาฮ์-อำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮ์” หมายความว่าอะไร ?

ข้าพเจ้าอยากจะย้ำเตือนก่อน ณ ตรงนี้ว่า หลักการ “อัลหุกม์ ลิลลาฮ์-อำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮ์” เป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่แท้จริง  ที่นักวิชาการด้านอุศูลุลฟิกฮ์ – ศาสตร์ว่าด้วยการวินิจฉัยบทบัญญัติอิสลาม – ทั้งหมดต่างยอมรับหลักการนี้ ในการอภิปรายเกี่ยวกับ “บทบัญญัติกฎหมายอิสลาม-หุกุ่มชัรอีย์” และในกรณีอภิปรายเกี่ยวกับ “ผู้ปกครอง” พวกเขาเห็นพ้องกันว่า“ ผู้ปกครอง” คือพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ  และศาสดาเป็นผู้สื่อสารของพระเจ้า  โดยที่อัลลอฮ์ผู้ทรงฤทธานุภาพเป็นผู้สั่งใช้ และผู้สั่งห้าม อนุญาตและไม่อนุญาต ตลอดจนบัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆ

และคำกล่าวของกลุ่มคอวาริจญ์-กลุ่มกบฏในยุคคอลีฟะฮ์แรกๆ- ที่ว่า  “ลาหุกม์ อิลลา ลิลลาฮ์-ไม่มีอำนาจปกครองใด ยกเว้นเป็นสิทธิสำหรับพระเจ้าเท่านั้น ” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องในตัวของมันเอง แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องคือการใช้ผิดที่ผิดทาง  โดยที่พวกเขาใช้เพื่อปฏิเสธคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่เป็นมนุษย์ในข้อพิพาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของอัลกุรอานที่ยอมรับการอนุญาโตตุลาการในหลายๆที่ 

หนึ่งในสิ่งที่ทราบกันดีที่สุดคือ กรณีอนุญาโตตุลาการระหว่างคู่สมรสหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างพวกเขา

นั่นคือเหตุผลที่ท่านคอลีฟะฮ์อาลีผู้ซื่อสัตย์ – ขอให้พระเจ้าพอใจกับเขา – ตอบโต้ต่อชาวคาริจโดยกล่าวว่า “คำพูดแห่งความจริง แต่ใช้เพื่อสนองความเท็จ” ท่านอาลีตำหนิที่พวกเขาใช้หลักการนี้ไปคัดค้านหลักการอื่นของอัลลอฮ์ ( หมายถึง กรณีอนุญาโตตุลาการที่ท่านอาลีทำกับท่านมุอาวียะฮ์ เพื่อยุติข้อพิพาท แตคอวาริจญ์ไม่ยอมรับ – ผู้แปล )

จะไม่ใช่คำพูดแห่งความจริงได้อย่างไร เพราะหลักการนี้นำมาจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ชัดเจน  อัลลอฮ์กล่าวว่า

إن الحكم إلا لله

“ไม่มีการพิพากษา/ปกครอง นอกจากมีไว้เพื่ออัลลอฮ์เท่านั้น” (ยูซุฟ : 40)

 ดังนั้น การปกครองของพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์นั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน และแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1 – อำนาจปกครองจักรวาล ซึ่งหมายความว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้จัดการบริหารจักรวาล ผู้บริหารกิจการของพระองค์ ซึ่งเป็นไปตามลิขิตของพระองค์  ตามกฎเกณฑ์ที่ไม่มีผันแปร ไม่ว่าเป็นสิ่งที่รู้และไม่รู้  ดังเช่นในคำพูดนั้นพระผู้ทรงฤทธานุภาพว่า

أو لم يروا أنا نأتي الأرض ننقصها من أطرافها والله يحكم لا معقب لحكمه وهو سريع الحساب

“หรือพวกเขาไม่เห็นว่าเรามาถึงโลกที่เราลดหลั่นมันลงมาจากชายขอบ และอัลลอฮ์ทรงปกครอง และไม่มีการปกครองหลังจากการปกครองของพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ตัดสินอย่างรวดเร็ว” ( อัรเราะด์ : 41)

สิ่งที่ปรากฎมาในความเข้าใจทันทีคือ การปกครองในที่นี้หมายถึง การปกครองในเชิงบริหารจัดการจักรวาล ไม่ใช่การปกครองในเชิงนิติบัญญัติในเรื่องกฎหมาย

2- การกำกับดูแลด้านกฎหมายเชิงบทบัญญัติ  ซึ่งเป็นอำนาจปกครองด้วยงานคำสั่งใช้และข้อห้าม ข้อผูกมัดและการใช้สิทธิเลือก  และเป็นสิ่งที่ปรากฏในคำสั่งที่พระเจ้าส่งผู้ส่งสารมา และพระองค์ทรงส่งคัมภีร์มา เพื่อใช้การกำหนดภาระหน้าที่ ข้ออนุญาตและข้อต้องห้าม .. สิ่งนี้ไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยมุสลิมที่ยอมรับอัลลอฮ์ในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้า และอิสลามเป็นศาสนา และมูฮัมหมัด – ขอพระเจ้าอวยพรเขาและประทานสันติสุขแก่เขา – เป็นศาสดาและศาสนทูต

[*** ซึ่งหมายถึง การวินิจฉัยบทบัญญัติศาสนาต่อกรณีต่างๆ ก็ถือเป็นกระทำของมนุษย์ แต่ทุกฝ่ายล้วนยอมรับ ไม่มีใครปฏิเสธว่าทำไม่ได้ แต่พอจะใช้หลักการเรื่องอนุญาโตตุลาการ กลุ่มคอวาริจญ์กลับอ้างว่า เป็นการตัดสิน/พิพากษาของมนุษย์ ขัดแย้งกับอัลกุรอานที่ยอมรับหลักอนุญาโตตุลาการ – ผู้แปล   ]

มุสลิมที่เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเพียงการเรียกร้องโดยถือว่ารูปแบบหนึ่งของการปกครองโดยใช้หลักการทางการเมืองของศาสนาอิสลามในการเลือกผู้ปกครอง การนำหลักการชูรอ-การปรึกษาหารือและคำแนะนำ การกำชับในสิ่งที่ดีและห้ามมิให้ทำสิ่งที่ผิด  ต่อต้านความอยุติธรรมและปฏิเสธการละเมิดฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการ “ไม่เชื่ออย่างชัดเจน” ตามหลักการที่พิสูจน์ได้

สิ่งที่ยืนยันสิ่งนี้คือ : รัฐธรรมนูญระบุ – ในขณะที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย – ว่า ศาสนาของรัฐคือศาสนาอิสลาม และกฎหมายอิสลามเป็นที่มาของกฎหมาย และนี่คือการยืนยันอำนาจอธิปไตยของพระเจ้า  นั่นคือหลักนิติธรรมของพระองค์และวจนของอัลลอฮ์มีสถานะสูงสุด เป็นไปได้ที่จะเพิ่มมาตราที่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายหรือระบบทุกระบบ ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดของชะรีอะฮ์ถือว่าเป็นโมฆะ  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นสำหรับการเรียกร้องประชาธิปไตยว่า จะต้องเป็นการปกครองของประชาชนแทนที่การปกครองของพระเจ้า เนื่องจากไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน

และหากสิ่งนั้นจำเป็นในข้อกำหนดของระบอบประชาธิปไตยคำกล่าวที่ถูกต้องของผู้ตรวจสอบในหมู่นักวิชาการของศาสนาอิสลาม: หลักคำสอนนั้นจำเป็นไม่ใช่หลักคำสอนและไม่อนุญาตให้ผู้คนปฏิเสธศรัทธาหรือปฏิเสธศรัทธาโดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักคำสอนของพวกเขาพวกเขาอาจไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้และพวกเขาอาจไม่ได้คิดถึงพวกเขาเลย

ถึงกระนั้น แม้ว่าบางครั้ง ระบอบประชาธิปไตยจะมีเจตนาให้มนุษย์มีอำนาจปกครองเหนือศาสนา แต่ทัศนะที่ถูกต้องของนักวิชาการอิสลามเห็นว่า  องค์ประกอบทุกอย่างของแนวคิดสำนักหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องครบถ้วนสมบูรณ์เสมอไป  ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ตีตราว่า ผู้ที่ถือแนวคิดของสำนักใดๆ หลุดพ้นจากศาสนาอิสลามเพียงแค่ยึดถือแนวคิดของสำนักนั้น เพราะบางครั้งผู้ที่ยึดถือแนวคิดนั้น อาจไม่ยึดถือตามทั้งหมด บางครั้งอาจไม่คาดคิดด้วยซ้ำไป


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ความสัมพันธ์ระหว่างอิควานกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย จากอดีตที่แน่นแฟ้นกับปัจจุบันที่ขาดสะบั้น (ตอนที่ 1)

นักวิเคราะห์การเมืองตะวันออกกลางให้ข้อสังเกตว่า เค้าลางแห่งความสัมพันธ์อันร้าวลึกระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มอิควาน เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน หลังจากการครองอำนาจของกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิส ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางท่านถือว่าเป็นยุคล้างบางกลุ่มอิควานทีเดียว โดยเฉพาะหลังคำแถลงการณ์ ของอะมีรสะอูด ฟัยศอล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2015 ที่ระบุว่า “เราไม่มีปัญหากับกลุ่มอิควาน แต่เรามีปัญหากับคนบางคนในองค์กรนี้ ที่ร่วมให้คำสัตยาบัน (บัยอะฮ์)ผู้นำสูงสุด (มุรชิด)ของพวกเขา” ซึ่งหลังจาก คำแถลงการณ์นี้ผ่านไปเพียง 1 ปี กลุ่มอิควานก็ถูกซาอุดิอาระเบียประกาศเป็นองค์กรก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังมกุฎราชกุมารมูฮัมมัด บินซัลมาน ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ห้วงเวลาฮันนี่มูนระหว่างกลุ่มอิควานกับซาอุดิอาระเบียได้สิ้นสุดแล้ว

“เราทุกคนคืออิควาน” นี่คือพระราชดำรัสของกษัตริย์อับดุลอาซิส อาละซาอูด ผู้สถาปนาประเทศซาอุดีอาระเบียที่มีต่อหะซัน อันบันนา หลังจากผู้ก่อตั้งอิควานคนนี้ขออนุญาตจัดตั้งสาขาย่อยกลุ่มอิควานที่ซาอุดิอาระเบีย หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย กับกลุ่มอิควานมีความแน่นแฟ้นตามลำดับ สี่อของซาอุดิอาระเบียทุกแขนงได้นำเสนอข่าวการมาเยือนซาอุดิอาระเบียของหะซัน อัลบันนา ช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ปี 1936 อย่างล้นหลาม หนังสือพิมพ์ อุมมุลกุรอ ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลักสมัยนั้น พาดหัวข้อข่าวหน้า 1 ว่า “ยินดีต้อนรับหะซัน อัลบันนา”

หลังจากถูกรัฐบาลอียิปต์ประกาศยุบองค์กรอิควานในปี 1948 หะซัน อัลบันนาได้รับเชิญจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้ลี้ภัยไปยังแผ่นดินหะรอมัยน์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน หะซัน อัลบันนาถูกลอบสังหารเมื่อต้นปี 1949 แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองยังเป็นไปด้วยดี กลุ่มอิควานได้รับอนุญาตให้จัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกตั้งผู้นำสูงสุด (มุรชิด) ช่วงเทศกาลฮัจญ์อีกด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง ได้งอกเงยด้วยดีตามลำดับโดยเฉพาะยุคกษัตริย์ไฟศอล บินอับดุลอาซิส ที่ถือเป็นยุคทองของกลุ่มอิควานในซาอุดิอาระเบีย

ระหว่างปลายทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1970 ถือเป็นช่วงที่ทั้งสองได้รวมพลังเพื่อสร้างคุณูปการแก่ประชาชาติอิสลามอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกรณีปกป้องมัสยิดอัลอักศอและปาเลสไตน์ นอกจากนี้กลุ่มอิควานถือเป็นกำลังหลักในการวางรากฐานการพัฒนาด้านการศึกษาและสังคมในซาอุดิอาระเบีย กลุ่มแกนนำอิควานจากอียิปต์ ซีเรียและซูดาน ได้หลั่งไหลเข้ามาในซาอุดิอาระเบีย เพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาและยกระดับการศึกษาในประเทศอย่างกว้างขวาง

ชีคมูฮัมมัด อัลฆอซาลี (เสียชีวิตปี 1996 ที่กรุงริยาด อายุ 79 ปี และถูกฝังศพที่สุสานอัลบาเกี้ยะอฺ ที่อัลมะดีนะฮ์) ชีคซัยยิด ซาบิก ( เสียชีวิตปี 2000 อายุ 85 ปี เจ้าของตำรา ฟิกฮุสุนนะฮ์) ชีคมูฮัมมัด กุฏุบ (เสียชีวิตปี 2014 ที่กรุงเจดดะห์ ขณะอายุ 94 ปี) ถือเป็นเมธีศาสตราจารย์ด้านอิสลามศึกษาที่มหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอ มหานครมักกะฮ์ ชีคมูฮัมมัด กุฏุบเคยได้รับเกียรติสูงสุดด้วยรางวัลกษัตริย์ไฟศาลนานาชาติด้านอิสลามศึกษาปี 1988 ชึคอัลฆอซาลี เคยรับรางวัลกษัตริย์ไฟศาลด้านบริการอิสลามปี 1989 และซัยยิด ซาบิก เคยรับรางวัลกษัตริย์ไฟศาลนานาชาติด้านอิสลามศึกษาปี 1994 มาแล้ว

ในขณะที่อะบุลอะอฺลา อัลเมาดูดีย์ และอะบุลหะซัน อะลีอันนัดวีย์ ถือเป็นบุคลลแรกที่ได้รับรางวัลเกียริติยศนี้ในปี 1979 และ 1980 ตามลำดับ

แม้กระทั่งศ. ดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ เราะญับ ฏอยยิบแอร์โดอาน และชีครออิด ศอลาห์ผู้มีฉายาชีคแห่งอัลอักศอ ต่างก็ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ในปี 1994,2010 และ 2013 ตามลำดับ

ยังไม่รวมบุคคลสำคัญอีกมากมายที่เคยได้รับรางวัลนี้ อันแสดงถึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่และผลงานที่โดดเด่นของพวกเขาด้านบริการอิสลามและอิสลามศึกษาในระดับโลก ซึ่งบุคคลดังกล่าวล้วนแล้วมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกลุ่มอิควานทั้งในฐานะแกนนำ สมาชิกหรือผู้ให้ความร่วมมือ

โปรดดู

https://www.wikiwand.com/ar/جائزة_الملك_فيصل_العالمية_في_خدمة_الإسلام

https://ar.m.wikipedia.org/wiki/جائزة_الملك_فيصل_العالمية_في_الدراسات_الإسلامية

ในยุคนั้น ถือได้ว่า ทั้งมหาวิทยาลัยอิสลามอัลมะดีนะฮ์ ที่มีปรมาจารย์ด้านสถานการณ์โลกอิสลามอย่าง ดร. อาลี ยุร็อยชะฮ์จากอิยิปต์ และมีชีคอะบุล อะอฺลาอัลเมาดูดีย์และอะบุลหะซัน อะลีอันนัดวีย์เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่คอยกำกับดูแลด้านปรัชญาและวิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยอิสลามอิมามมุฮัมมัดบินซาอูดที่นครริยาด ซึ่งมีปรมาจารย์ด้านตัฟซีรอย่างดร. มันนาอฺ ก็อฏฏอนจากซีเรีย ในฐานะคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ชีคมูฮัมมัด อัรรอวีย์จากอิยิปต์ในตำแหน่งคณบดีคณะอุศูลุดดีน ชีดอับดุลฟัตตาห์อะบูฆุดดะฮ์ ปรมาจารย์ด้านหะดีษจากซีเรีย และมหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอที่มหานครมักกะฮ์ ซึ่งมีแกนนำอิควานอย่างซัยยิด ซาบิก เชคมุฮัมมัด อัลฆอซาลีและชีคมุฮัมมัด กฏุบ เป็นอาจารย์ประจำ คือมหาวิทยาลัยที่ได้รับการพัฒนาขับเคลื่อนโดยกลุ่มแกนนำอิควานอย่างแท้จริง ถือเป็นยุคทองของการศึกษาในประเทศซาอุดิอาระเบียที่สามารถสร้างผลผลิตอันดีงามที่กระจัดกระจายไปทั่วโลก

บุคลากรมุสลิมที่มีบทบาททั้งในซาอุดิอาระเบียหรือทั่วโลกอิสลามในปัจจุบัน ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ประธานองค์กร และนักวิชาการมุสลิมมากมาย ต่างเคยเป็นลูกศิษย์ในชั้นเรียนหรือในฐานะนักศึกษาภายใต้ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอกจากปรมาจารย์เหล่านี้กันทั้งนั้น

แม้กระทั่งหลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ไฟศาลในปี 1975 กลุ่มอิควาน ก็ยังถูกมองว่าเป็นกลุ่มแนวสันติและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ หน่วยข่าวกรองทั้งในและต่างประเทศต่างมีความเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องภายในที่ถูกมือที่มองไม่เห็น หลอกใช้เป็นเครื่องมือ โดยไม่มีใครกล้าคิดด้วยซ้ำว่า กลุ่มอิควานจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุร้ายนี้

แล้วอะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ต้องขาดสะบั้นลง ติดตามตอนที่ 2 ครับ