บรรยากาศละหมาดอีดฟิตรีย์ 1443 ฮ.​ ณ เทศบาลเมืองนราธิวาส

เมื่อ(2 พฤษภาคม 2565) ซึ่งเป็นวันฮารีรายออิดิ้ลฟิตรี ประจำปี  ฮ.ศ. 1443 เทศบาลเมืองนราธิวาส โดยนายไพซอล อาแว นายกเทศมนตรี ร่วมกับกลุ่มอิสลามนรา จัดพิธีละหมาดอิดิ้ลฟิตรี ณ สนามกีฬาเทศบาลเมืองนราธิวาส  เริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 น.  เป็นต้นไปซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่พิธีละหมาด นายไพซอล อาแว นายกเทศมนตรี ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมละหมาด  ซึ่งมีจำนวนเกือบ 2,000 คน

.

โดยการละหมาดในครั้งนี้มีอิหม่ามเชค รอมี จากประเทศอียิปต์ เป็นผู้นำละหมาด  โดยอ่านอัลกุรอานตามกิรออาตอัลกิสาอีย์ หนึ่งในกิรออาตที่มีสายรายงานที่ถูกต้องจากนบี และ ผศ.มัสลัน มาหะมะ จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี  เป็นผู้อ่านคุฏบะห์ ในหัวข้อ “บทบาทผู้นำต่อการพัฒนาสังคม” โดยได้ยกบทบาทของผู้นำที่ปรากฏในซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟีเป็นกรณีศึกษา ซึ่งผู้นำในทุกระดับชั้นต้องทำความเข้าใจบททดสอบ 4 ประการ คือ 1) บททดสอบด้านอะกีดะฮ์  ตามเรื่องราวของกลุ่มเยาวชนชาวถ้ำ 2) บททดสอบด้านทรัพย์สินและลูกหลาน ตามเรื่องราวของเจ้าของสวน 2 แก่ง  3) บททดสอบด้านความรู้ ตามเรื่องราวของนบีมูซาและคิฎิร์ และ4) บททดสอบด้านอำนาจและการบริหารตามเรื่องราวของซุลก็อร์นัยน์

สำหรับการละหมาดในวันนี้เทศบาลได้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยให้ผู้ร่วมละหมาดทุกคน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิและลงทะเบียนก่อนเข้างาน เว้นระยะห่าง และใช้ผ้าละหมาดของตนเอง  โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกตลอดงาน ซึ่งหลังจากละหมาดและรับฟังคุฏบะห์แล้ว นายกเทศมนตรีพร้อมคณะได้มอบซากาตและจัดเลี้ยงอาหารให้แก่เด็กๆ  นอกจากนั้นภายในงานยังได้จัดสถานที่จุดเช็คอินเพื่อให้ผู้ร่วมละหมาดได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย บรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างชื่นมื่นต่างก็ได้พบปะ ขอมาอัฟต่อกัน (ให้อภัยกัน) ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ

.

ขอบคุณ เทศบาลเมืองนราธิวาส

วิดีโอละหมาดและคุตบะฮฺอีด

https://www.facebook.com/islamnarathiwat/videos/366057342134747


ทีมข่าว theustaz

ปากีสถานได้นายกคนใหม่

( สนข.อัลจาซีร่าและอื่นๆ )  ฝ่ายนิติบัญญัติของปากีสถานเลือก ชาห์บาซ ชารีฟ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในการประชุมวานนี้ 11/4/2022 หลังจากที่อิมราน ข่าน ผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนถูกขับออกจากตำแหน่ง ซึ่งแสดงอารยะขัดขืนลาออกจากที่นั่งในรัฐสภาพร้อมกับสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ของพรรคก่อนลงคะแนนเสียง

ชาห์บาซ ชารีฟ  ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี” ด้วยคะแนนเสียง 174 จาก 342 ในรัฐสภา  เท่ากับคะแนนเสียงที่ชนะข่าน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุด

ทั้งนี้ เอพีรายงานว่า ฝ่ายค้านของปากีสถานได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งเพียง 2 เสียง  โดยได้ 174 เสียงจากที่นั่ง 342 ที่นั่งในรัฐสภา  เพื่อสนับสนุนการไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลของอิมราน ข่าน ในการลงคะแนนตามข้อเสนอของฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 8 มีนาคม

ชารีฟ วัย 70 ปี แกนนำกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านที่ลงมติไม่ไว้วางใจข่านในรัฐสภาหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองหลายสัปดาห์

บรรดา สส. จากพรรคของอิมรอน ข่าน (พรรคอินซอฟ) ได้แสดงอารยะขัดขืน โดยการยื่นใบลาออกจากสภาล่างเพื่อประท้วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพวกเขา

“เราขอประกาศว่าเราทุกคนลาออก” ชาห์ มาห์มูด กูเรชี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและรองประธานพรรคของข่าน กล่าวในสุนทรพจน์ก่อนการลงคะแนนเสียง

ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดที่มาจากการเลือกตั้งครบวาระตั้งแต่ปากีสถานได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2490

ในขณะที่ผู้สนับสนุนข่านหลายๆพันคนเดินขบวนในเมืองหลวง อิสลามาบัด และเมืองใหญ่ๆ ในปากีสถานอีกหลายแห่ง รวมถึงในประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยที่ผู้เข้าร่วมแสดงการสนับสนุนต่ออิมราน ข่าน โดยปฏิเสธสิ่งที่พวกเขาอธิบายว่าเป็นการแสดงอำนาจของอเมริกา

หลังแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ชารีฟจะต้องจัดตั้งรัฐบาลจากสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน (กลาง) พรรคประชาชนปากีสถาน (กลางซ้าย) และสมาคมอุลามาอ์อิสลาม ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมขนาดเล็ก


โดย Ghazali Benmad

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ด้านวิชาการ” ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ ศอ.บต.

วานนี้ (9 เมษายน 2565) ที่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านวิชาการ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)โดยมีนางอารยา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ตามโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ From Gen Z to be ceo (ภาคใต้)

ในการนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภายใต้โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO             ของกระทรวงพาณิชย์ที่ตนได้มอบนโยบายให้ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ปั้น GenZ เป็น CEO ไปแล้วจำนวนมาก ซึ่ง Gen Z ต่างจากรุ่นตนและ Gen X Gen Y เพราะส่วนใหญ่ จบการศึกษาไปแล้วหลายคนอยากเป็นนายตัวเอง ซึ่งก็ต้องมีธุรกิจหรือกิจการของตนเอง จึงเป็นที่มาของนโยบายปั้น Gen Z ให้เป็น CEO จึงตั้งเป้าเตรียมปั้นนักศึกษาชั้นปี 3-4 ที่สนใจ เมื่อจบไปแล้วจะได้ไปเป็นนายตนเองทำธุรกิจเป็น CEO ให้กับกิจการของตัวเองได้ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการร่วมลงนาม MOUกับสถาบันการศึกษาทุกภาคทั่วประเทศ 94 สถาบัน จบหลักสูตรไปแล้ว 21,000 คน และปี 2565 ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 20,000 คน ภายในปีเดียวและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่เป็น CEO Gen Z ปกติแต่จะปั้นเป็น CEO ฮาลาล ซึ่งจะมีทั้งสินค้าและบริการรวมทั้ง Soft Power ของจังหวัดชายแดนใต้ที่จะเป็นจุดขาย ทำให้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจการค้าได้ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทั้งเรื่องความมั่นคง การศึกษา เศรษฐกิจ เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยสนองตอบการช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับพี่น้องโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างตรงประเด็นที่สุดและสนองตอบต่อนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการอบรมใช้เวลาเต็มวันประมาณ 5 ครั้ง หลังจากนั้นจะมีการฝึกงานจริงหลักสูตรที่เรียน เช่น การบริหารจัดการธุรกิจยุคใหม่ การบริหารจัดการการส่งออก ความรู้การส่งออกเบื้องต้น การวิเคราะห์การตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การบริหารจัดการสตาร์ทอัพ การเอา Soft Power ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีของคนจังหวัดชายแดนใต้ผสมผสานเป็นจุดขายให้กับสินค้าและการบริการที่สามารถสร้างความเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและทรัพย์สินทางปัญญาได้ต่อไปในอนาคต รวมถึงการทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าบริการในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเรื่องอีคอมเมิร์ซ สินค้าและบริการแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก จะได้มีพื้นความรู้ในการเป็นนายของตัวเองอย่างมีศักยภาพ ถือเป็นการนำรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และประเทศถ้าส่งออกต่อไปได้ โดยตั้งเป้าว่าอย่างน้อยจังหวัดชายแดนใต้ จะทำให้ได้ 1,000 คน” อย่างแน่นอน

สำหรับการดำเนินโครงการ From Gen Z to be CEO กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ สถาบัน NEA (New Economy Academy) จัดทำหลักสูตรเพื่อบ่มเพาะความรู้และสร้าง Mindset ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเจเนอเรชั่นซี(Gen Z) เพื่อสร้างให้เป็นแม่ทัพทางการค้าของประเทศในอนาคตภายใต้โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศจากทั้งผู้ประกอบ ธุรกิจที่มีประสบการณ์การส่งออกโดยตรง และในปี 2565 สถาบัน NEA ได้ขยายความร่วมมือกับอีก 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี เพื่อขยายโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในส่วนภูมิภาคต่อไป


เครดิตข่าว : เพจข่าว ศอ.บต.

อิมรอน ข่าน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปากีสถาน

(อัลจาซีร่า) รัฐสภาปากีสถานลงมติไม่ไว้วางใจ นายกฯรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน  9 เมษายน วานนี้ ด้วยคะแนน 174 เสียง จากเสียง สส.ทั้งหมด 342 เสียง  ส่งผลทำให้หลุดจากตำแหน่ง

การอภิปรายกินเวลา 14 ชั่วโมง ประธานรัฐสภาและรองประธาน ซึ่งเป็นคนของพรรคของอิมรอน ข่าน  ร่วมมือกับฝ่ายค้าน พากันลาออก ทำให้ฝ่ายค้านได้เป็นประธานแทน อีกทั้ง สส.พรรคของอิมรอน ข่าน บางส่วน งดออกเสียง และออกจากรัฐสภาไป

ทั้งนี้ รัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป คาดว่าจะเป็นนายชาห์บาซ ชารีฟ น้องของนาวาซ ชารีฟ อดีตนายกรัฐมนตรี

ขอบคุณและขอให้อัลลอฮ์ตอบแทนความดีในผลงานที่ท่านได้ทำเพื่อประชาชาติอิสลาม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :

https://www.aljazeera.net/news/politics/2022/4/9/%D8%B9%D8%A7%D8%AC%D9%84-%D8%A7%D8%B3%D8%AA%D9%82%D8%A7%D9%84%D8%A9-%D8%B1%D8%A6%D9%8A%D8%B3-%D8%A7%D9%84%D8%A8%D8%B1%D9%84%D9%85%D8%A7%D9%86


แปลโดย Ghazali Benmad

มฟน.เชื่อมสัมพันธ์

21 มีนาคม 2565

เวลา 11.30-12.30 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและประธานมูนิธิมะดีนะตุสสลาม รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้เยี่ยมคารวะนายอิศอม บินศอลิห์ อัลญาตีลีย์อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยโดยได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการริเริ่มโครงการก่อสร้างศูนย์อิสลามผู้อุปถัมภ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ กษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิซ อาลซะอูด ณ เมืองมะดีนะตุสสลาม จังหวัดปัตตานี พร้อมพูดคุยโอกาสและแนวทางการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี หลังจากประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

และในเวลา 13.30-15.15 น. ในวันเดียวกัน นายกสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนีพร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้เยี่ยมคารวะนายอะห์มัด อะลี เอ. เจ. อัตตะมีมี เอกอัครราชทูตรัฐกาตาร์ประจำประเทศไทย โดยได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลชัยค์ญาซิม บินมุฮัมมัด อาลษานีย์ ณ เมืองมะดีนะตุสสลาม จังหวัดปัตตานี งบซ่อมแซมอาคารกาตาร์ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี พร้อมโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ ตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฟาฏอนี

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา กล่าวว่าประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศกาตาร์ถือเป็นสองสายธารอันไหลรินที่มอบความดีงามแก่สังคมโลกมาโดยตลอดโดยเฉพาะสังคมมุสลิมในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยฟาฏอนี  ในขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ในนามมหาวิทยาลัยและพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยรู้สึกซาบซึ้งในมิตรไมตรีของประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศกาตาร์ ที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสังคมในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังหลักในการค้ำจุนสังคมสันติภาพต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

ศอ.บต. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง โอกาส ศักยภาพและความท้าทาย ของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทยภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบียโดยสมบูรณ์

วันที่ (23 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง โอกาส ศักยภาพ และความท้าทาย ของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทยภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบียโดยสมบูรณ์ โดยภายในงานมีการกล่าวปาฐกถาจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่าน video conference ในหัวข้อ “ความสำเร็จของการฟื้นฟูความสัมพันธ์    ไทย-ซาอุดีอาระเบีย โอกาสและศักยภาพของประเทศไทยและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ที่สมบูรณ์”

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนหนึ่งว่า ภายใต้ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจะเป็นทั้งโอกาส ความหวัง และเป็นความท้าทายในการเดินหน้าพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมพร้อมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในอนาคตโดยความร่วมมือที่สำคัญที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเน้นย้ำในเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดชายแดนใต้ ได้มีส่วนร่วมในการคิดและออกแบบนโยบาย ออกแบบกลไกและแนวทางการพัฒนาภายใต้การเปิดศักราช เชื่อมความสัมพันธ์ของราชอาณาจักรไทยราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ ข้อเสนอของทุกท่าน ยืนยัน ที่จะให้การสนับสนุนและผลักดันไปเป็นวาระสำคัญการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เพื่อจะได้ดำเนินการเสนอและผลักดันกระบวนการทำงานของที่ประชุมไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ “โอกาส ศักยภาพและความท้าทายของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียโดยสมบูรณ์” โดย นายอิซอม ซอเละห์ เอช. อัลจีเตลีอุปทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย และ นายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา อุปทูตไทยประจำกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นในขั้นต้น (Focus Group) ทั้ง 9 ด้าน ซึ่งจัดขึ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และ มีการให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ โดย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ กล่าวถึงการผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การเป็นพื้นที่อาหารฮาลาลโลกว่า มีความพร้อมในการผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การเป็นพื้นที่อาหารฮาลาลโลก พร้อมส่งเสริมการทำมาตรฐานฮาลาลที่ทั่วโลกยอมรับ โดยผลิตอาหารตั้งต้น กลางและปลายที่เชื่อมโยงกัน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อเตรียมสร้างนักเรียน นักศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีศักยภาพ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ โดยต้องอาศัยศักยภาพแกนนำบุคคลเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทางความสัมพันธ์ของไทยและซาอุดีอาระเบีย และพัฒนาทักษะภาษาอาหรับเพื่อให้เข้าสู่ตลาดแรงงานที่สามารถสร้างรายได้ในการดูแลตนเองและครอบครัว

ด้าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การรวบรวมข้อเสนอแนะในครั้งนี้จะเป็นการรวบรวบข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้มิติความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อจัดทำเป็นร่างกรอบและจะปรับปรุง หลังจาก รับคำแนะนำ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในครั้งนี้เพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศนำเสนอต่อที่ประชุม กพต. และเสนอ ครม.ต่อไป เชื่อมั่นว่าจะเป็นทิศทางสำคัญที่จะยกระดับความร่วมมือ 2 ประเทศ และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  

นอกจากนี้ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Focus Group) อีกครั้ง เพื่อรวบรวบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้มิติความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านจะเป็นประโยชน์สูงสุด กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่สำคัญในการดำเนินการในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ระดับประเทศต่อไป


เครดิตข่าว: เพจ สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์แก่เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก

พิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 18 กุมภาพันธ์ 2565 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยฟอฏอนี ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ ฯพณฯ ดร.มุฮัมมัด บินอับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตโลกมุสลิม ณ ห้องประชุมแกรนด์มิรอจ ชั้น 3 โรงแรมอัลมิรอซ กรุงเทพ โดยมีรศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีร่วมให้การต้อนรับ


คำประกาศเกียรติคุณ

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์

ประจำปีการศึกษา 2556

………………………………….……..

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญด้านนิติศาสตร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายอิสลามเปรียบเทียบ ระดับปริญญาโทและเอกด้านตุลาการศึกษาเปรียบเทียบ และกฎหมายมหาชนเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยอิสลาม อิมาม มูฮัมหมัด บิน ซาอูด ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายที่โดดเด่นในราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย และเคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและองคมนตรี และฯพณฯยังได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามและกฎหมายเปรียบเทียบทั้งในและนอกราชอาณาจักรซาอุดีอารเบีย ฯพณฯ ยังเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกในการสร้างความร่วมมือใหม่ๆระหว่างชุมชน ศาสนา และประเทศต่างๆ ฯพณฯ ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย พบปะกับบุคคลสำคัญ สมาชิกรัฐสภาด้านความยุติธรรม กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้นำชุมชนและผู้นำด้านจิตวิญญาณ

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาได้รับการยกย่องทั้งในซาอุดิอาระเบียและต่างประเทศในการเป็นผู้นำการปฏิรูปด้านกฎหมาย สิทธิสตรี และสิทธิมนุษยชน

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาเคยได้รับเลือกจากสภารัฐมนตรียุติธรรมอาหรับ (Council of Arab Ministers of Justice) เป็นประธานกิตติมศักดิ์ของกลุ่ม  รวมถึงเข้าร่วมเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ King Saud University และสถาบันตุลาการชั้นสูงของมหาวิทยาลัยอิสลาม อิมามมูฮัมหมัด บิน ซาอูด

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ในฐานะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ได้ดำเนินการสำคัญๆ ดังนี้ ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นประธานคณะกรรมการวิชาการถาวรเพื่ออนุญาโตตุลาการ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการจัดทำระเบียบบริหารระบบรับเรื่องร้องทุกข์

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา มีผลงานที่โดดเด่นในเรื่องกฎหมายอิสลามเปรียบเทียบ กระบวนการยุติธรรมเปรียบเทียบ กฎหมายมหาชนเปรียบเทียบ และ ฯพณฯ ยังได้เสนอผลงานทางวิชาการด้านกฎหมายในเวทีระดับโลกซึ่งมีผลต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย

นอกจากนี้ ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญระดับโลกเกี่ยวกับอิสลามสายกลาง มุ่งมั่นที่จะนำความตระหนักรู้ไปยังทั่วโลกสู่สัจจธรรมที่แท้จริง

ในฐานะเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ยังได้พบปะกับผู้นำอาวุโสด้านการเมือง ศาสนา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์แบบองค์รวมที่เน้นการสนทนาและการศึกษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนของศาสนาต่างๆ จากการคุกคามของลัทธิสุดโต่ง ฯพณฯ ได้เสนอแนวคิดริเริ่มเชิงนโยบายเพื่อจัดการกับคำพูดแสดงความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติที่ยุยงให้เกิดความรุนแรง

จากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวของ ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา      สภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในคราวประชุมครั้งที่ 72(2/2019) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรยกย่องเชิดชูเกียรติให้ ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลการิม อัลอีซา ได้รับ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

ทั้งนี้ ดร. มุฮัมหมัด ได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมทั้งมหาวิทยาลัยฟาฏอนีตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทยที่ให้การศึกษาแก่ผู้คนเพราะการศึกษาคือรากฐานของทุกอย่าง ท่านยังชื่นชมประเทศไทยในภาพรวมว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมที่คนต่างศาสนาต่างความเชื่อสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรักความเมตตาและความเข้าใจระหว่างกันซึ่งเชื่อว่ากรณีของประเทศไทยน่าจะเป็นประโยชน์แก่พื้นที่อื่นๆ ในโลกได้

https://www.facebook.com/FTUtv/videos/1606831066350489


โดย theustaz.com

การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ขั้นปกติระหว่างซาอุดิอาระเบียกับประเทศไทยสู่ศักราชแห่งมิตรภาพใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติแห่งความร่วมมือ

⁃          ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสองประเทศนี้เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2500 โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศได้มีการเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี

            ⁃          การเยี่ยมเยียนของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในวันที่ 25 มกราคม 2565 เป็นไปตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัดบินซัลมานบินอับดุลอาซีซอัลซะอูด มกุฏราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เพื่อเปิดศักราชใหม่แห่งความสัมพันธ์ที่ดีที่ครอบคลุมทุกมิติแห่งความร่วมมือทั้งในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

            ⁃          ซาอุดิอาระเบียร์มีความยินดีรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศนี้และยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตโดยจะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้

            ⁃          ประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ฉันมิตรครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ ที่ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อประโยชน์ร่วมกันของราชอาณาจักรทั้งสอง

            ⁃          การรื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างปกติระหว่างสองประเทศนี้ได้ส่งสัญญาณให้ส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ครอบคลุมทุกสาขา ได้แก่ด้านการเมือง ความมั่นคง อุตสาหกรรมการค้า เศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวและเกษตรกรรม รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมและการขนส่งเพื่อการค้าและการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล การเปิดโอกาสด้านการลงทุนให้เป็นไปตามพระราชวิสัยทัศน์ 2030 อันเข้มแข็งของประเทศซาอุดีอาระเบียและสอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติและวาระการพัฒนาแห่งชาติของประเทศไทย

            ⁃          รัฐบาลซาอุดิอาระเบียตระหนักและให้ความสำคัญกับกิจการของชาวมุสลิมในประเทศไทยโดยเฉพาะเรื่องการสร้างมัสยิด ศูนย์อิสลาม การพิมพ์แจกอัลกุรอาน โครงการละศีลอด การแจกจ่ายอินทผาลัมและมอบทุนการศึกษา

            ⁃          ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนด้านงบประมาณโครงการผู้พิทักษ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซีซอัลซะอูด ที่เมืองมะดีนะตุสสลาม จังหวัดปัตตานี

            ⁃          ซาอุดิอาระเบียได้ส่งออกสินค้าเข้าประเทศไทยในปี 2020 มูลค่า 4,000 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปยังซาอุดิอาระเบียมูลค่า 1.65 พันล้านดอลล่าร์ 

            ⁃          ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การแลกเปลี่ยนสินค้าของทั้งสองประเทศนี้ มีมูลค่าสูงถึง 18,000 ล้านดอลล่าร์

ขอบคุณภาพจาก twitter : @OKAZ_online
ขอบคุณภาพจาก twitter : @OKAZ_online
ขอบคุณภาพจาก twitter : @OKAZ_online
ขอบคุณภาพจาก twitter : @OKAZ_online

ขอบคุณภาพจาก twitter : @OKAZ_online

อ่านข่าวเพิ่มเติม


โดยทีมข่าวต่างประเทศ

การจากไปของเฒ่าทระนง

ชัยค์สุไลมาน อัลฮาซลีน (70 ปี) ชายชราจากเมืองคอลีล ทางตอนใต้เขตเวสต์แบงค์ ได้เสียชีวิตอย่างสงบหลังจากมอบชีวิตทั้งหมดเพื่อต่อสู้กับกองกำลังยิวจอมปล้นแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2022 กองกำลังผู้รุกรานได้เข้าตรวจค้นหมู่บ้าน “อุมมุลคอยร์” ณ เมืองคอลีล ซึ่งอยู่ทางตอนใต้เขตเวสต์แบงค์ ปาเลสไตน์ โดยอ้างว่าเพื่อตรวจค้นรถยนต์ผิดกฎหมายซึ่งในความเป็นจริงเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนและเข้าจับกุมชัยค์สุไลมาน อัลฮาซาลีน เฒ่าทระนงผู้ยืนหยัดต่อสู้กับกองกำลังก่อการร้ายในนามรัฐเถื่อนอิสราเอล

ทหารอิสราเอลใช้รถเกราะล้อยางเหยียบร่างของเฒ่าทระนงผู้นี้จนทำให้ศีรษะและร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนถูกนำไปโรงพยาบาลและได้รับชะฮีดในวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2022 ท่ามกลางความเศร้าโศกของชาวปาเลสไตน์ที่ได้สูญเสียบุคคลผู้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับการกดขี่และอธรรมที่รุนแรงที่สุดในโลกปัจจุบัน

ถึงแม้สื่อกระแสหลักจะบอดใบ้เช่นเคยก็ตาม


โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ประกาศผู้ได้รับรางวัลกษัตริย์ไฟศอลประจำปี 2022

เจ้าชายคอลิด อัลไฟศอล อะมีร์มักกะฮ์ ในฐานะองค์ประธานรางวัลกษัตริย์ไฟศอล ได้เป็นองค์ประธานพิจารณาผู้ที่สมควรได้รับรางวัล ใน 5 สาขา โดยในปีนี้มีนักวิชาการระดับโลกได้รับรางวัลจำนวน 8 ท่าน แยกเป็น สาขาวิทยาศาสตร์จำนวน 2 ท่าน สาขาแพทยศาสตร์จำนวน 1 ท่าน สาขาภาษาอาหรับและวรรณคดี จำนวน 2 ท่าน สาขาบริการอิสลามจำนวน 2 ท่าน ส่วนสาขาอิสลามศึกษา ไม่มีผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐาน

รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลกษัตริย์ไฟศอลสาขาบริการอิสลามได้มีมติเลือก Professor Dr. Mahmoud AL Shafei (91 ปี) ชาวอิยิปต์อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ กรุงอิสลามมาบัด อดีตประธานสภาภาษาอาหรับและวรรณคดีประจำกรุงไคโร ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาอุละมาอ แห่งอิยิปต์ ได้รับรางวัลกษัตริย์ไฟศอลสาขาบริการอิสลาม พร้อมด้วย Mr.Hassan Mwinyi (96ปี) อดีตประธานาธิบดีแทนซาเนีย สมัย 1985-1995 ซึ่งคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้คือ อบุล อะอฺลา อัลเมาดูดีย์ นักเคลื่อนไหวอิสลามนามอุโฆษขาวปากีสถานเมื่อ ค.ศ.1979

ผู้ได้รับรางวัลในแต่ละสาขา ได้รับโล่รางวัลพร้อมเช็คเงินสดจำนวน 200,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หากมีผู้ได้รับรางวัลในสาขาเดียวกันมากกว่าหนึ่งคน ก็จะแบ่งเงินรางวัลจำนวนเท่ากัน

ติดตามรายละเอียดได้ที่

https://www.facebook.com/KingFaisalPrize/


โดย Mazlan Muhammad