ประธานาธิบดีแอร์โดอาน เป็นประธานเปิดมัสยิด Cambridge ประเทศอังกฤษ

ประธานาธิบดีแอร์โดอาน เป็นประธานเปิดมัสยิด Cambridge ประเทศอังกฤษเมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา มัสยิดแห่งนี้ เป็นหนึ่งในมัสยิดที่สวยงามแห่งหนึ่งในยุโรป ถือเป็นมัสยิดแห่งแรกในยุโรปที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมก่อสร้างโดยบุคคลสำคัญเช่น ยูซุฟอิสลาม นายอิบราเฮมกาเลน โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีปัจจุบัน นายอับดุลฮากิม มุร็อด ตำแหน่งนักวิจัยด้านศาสนวิทยา ชาวอังกฤษที่รับอิสลาม ซึ่งมีชื่อเดิมว่า Timothy John Winter และบุคคลสำคัญอื่นๆรวมทั้งองค์กรสาธารณกุศลในประเทศตุรกีและกาตาร์

เป็นมัสยิดที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีอ่างเก็บน้ำฝนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านสาธารณูปโภค ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้า 30 – 40%

เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2008 ด้วยข้อเสนอของนักศึกษามุสลิมในมหาวิทยาลัย Cambridge เนื่องจากมัสยิดเดิมที่เป็นแค่ห้องเช่าเล็กๆไม่เพียงพอกับจำนวนคนละหมาดที่เพิ่มขึ้น นายอับดุลฮากีมมุร็อด ซึ่งก่อนหน้านี้นับถือเอทิสต์ได้ระดมเงินซื้อที่ดินและออกแบบสร้างมัสยิดโดยมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาควากัฟ

ในช่วงพิธีเปิด ประธานาธิบดีแอร์โดอานได้กล่าวคำนำและดูอาด้วยภาษาอาหรับ ที่เราแทบไม่มีโอกาสรับฟังจากผู้นำมุสลิมยุคนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำจากประเทศอาหรับ

จุดไฮไลท์ของงานนี้ อยู่ที่การประกาศตนรับอิสลามของนาย Pedro Carvalho อดีตที่ปรึกษาของยูซุฟ อิสลาม สมัยที่ยังเป็นราชาเพลงร๊อคพูดโด่งดังในอดีตนาม Cat Stevens

Cambridge คือเมืองที่เป็นหัวใจของศูนย์เทคโนโลยีชั้นสูงระดับโลก และเป็นส่วนสำคัญของเขตอุตสาหกรรมความรู้ Oxford – Cambridge Arc

อังกฤษ หรือสหราชอาณาจักร คือ อดีตมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคมที่ปกครองดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือ แอฟริกา และเอเชียในหลากหลายพื้นที่ จนเป็นที่ขนานนามว่าเป็นจักรวรรดิที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เพราะไม่ว่าดวงอาทิตย์จะส่องแสงไปที่ใด จะมีดินแดนของจักรวรรดิอยู่ที่นั่น

ขณะนี้ แสงสว่างแห่งอิสลามกำลังปกคลุมและส่องแสงประเทศนี้อีกครา

หากมัสยิดคือสัญลักษณ์แห่งก่อการร้าย แล้วอังกฤษยอมอนุมัติสร้างสัญลักษณ์แห่งก่อการร้ายได้อย่างไร

หากมุสลิมคือก่อการร้าย ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษและยุโรป มีส่วนรู้เห็นให้ผู้ก่อการร้ายโตวันโตคืนในประเทศของตนได้อย่างไร

เขียนโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ

ตุรกีสยายแสนยานุภาพ

รัฐบาลไซปรัสเหนือมีมติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ให้ตุรกีใช้สนามบินทหารเป็นลานเครื่องบินไร้พลขับ

ทั้งนี้ ตุรกีได้ดำเนินการปกป้องน่านน้ำของตน ตามที่ได้ตกลงกับลิเบีย และได้ประกาศ โครงการท่อส่งแก้สไปยังยุโรปของบริษัทร่วมอิสราเอล อียิปต์ ไซปรัสและกรีซ ไม่อาจผ่านน่านน้ำของตุรกีได้ตลอดจนห้ามทุกฝ่ายเข้ามาในเขตน่านน้ำดังกล่าว ยกเว้นตุรกีอนุญาต

ไซปรัสออกมาคัดค้านในทันที กล่าวหาตุรกีว่าเจตนาบ่อนทำลายความมั่นคงในภูมิภาคนี้

เขียนโดย Ghazali Benmad

ที่มา http://www.turkpress.co/node/67030?fbclid=IwAR0c8kCFlr029eQceC1k9r3MsZkpQRtgA65H8Ly2mOYh-e10d6Zv_9YKHuA

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 7)

ข้อจำกัดของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกีจะดูราบรื่นไปด้วยดี แต่ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่อาจทำให้ความสัมพันธ์นี้ต้องสะดุด ส่วนหนึ่งได้แก่

1) การไม่ลงรอยกันระหว่างตุรกีและอิยิปต์

ตุรกีได้วางเงื่อนไขสำคัญทีาจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับอิยิปต์คือการปล่อยตัวประธานาธิบดีมุรซีย์และพรรคพวกที่ถูกจับหลังซีซีย์ยึดอำนาจ ที่ซาอุดีอารเบียก็มีส่วนสนับสนุนการยึดอำนาจครั้งนี้ แต่หลังจากการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ซัลมาน ความสัมพันธ์ระหว่างริยาดกับไคโรก็เย็นชาถึงขั้นตึงเครียด โดยเฉพาะหลังจากที่ซีซีย์ได้ทรยซต่อกษัตริย์ซัลมานกรณีสนับสนุนซีเรียที่ใช้สิทธิ์วิโต้ยับยั้งข้อเสนอของฝรั่งเศสที่ให้ซีเรียเป็นเขตห้ามบิน นอกจากนี้ซีซีย์ยังกลับลำไม่คืนเกาะทีรานและซานาฟีร์ (Tiran and Sanafir Islands) ให้แก่ซาอุดีอารเบีย หลังจากซึซีย์รับเงินสนับสนุนจำนวนมหาศาลจากซาอุฯเพื่อพัฒนาประเทศตามข้อตกลง หนำซ้ำอิยิปต์มีความเย็นชาและแสดงอาการเกรงใจอิหร่านอย่างออกหน้ากรณีพายุแกร่งที่ซาอุดีอารเบียปราบกบฏฮูซีย์ที่เยเมน

ทั้งซาอุดีอารเบียและตุรกี ควรมีจุดยืนที่ชัดเจนกรณีอิยิปต์ ซึ่งอาจทำให้ความตั้งใจของตุรกีในการช่วยเหลือ มุรซีย์และพรรคพวกเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น ล่าสุดศาลอิยิปต์ได้ตัดสินมุรซีย์จากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตแล้ว และในอนาคตอันใกล้อาจกดดันให้ซีซีย์ต้องลงจากอำนาจก็ได้

2) กบฏเคิร์ด
กบฏชาวเคิร์ดถือเป็นหนามยอกอกของตุรกีที่ยาวนาน ในขณะที่ซาอุดีฯมีแนวคิดที่จะรวบรวมชาวเคิร์ดให้สามารถรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายตุรกีที่ถือเป็นข้อห้ามที่รุนแรงทีเดียว ดังนั้นริยาดควรแสดงท่าทีในเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มกบฏเคิร์ดที่ส่วนใหญ่จะฝักใฝ่แนวคิดสังคมนิยมแนวสตาลินที่ขัดแย้งกับหลักการอืสลามอย่างสิ้นเชิง

3) กลุ่มอิควานมุสลิมีน
ทั้งๆที่กลุ่มอิควานเป็นหนึ่งในฐานสำคัญต่อการพัฒนาซาอุดีอารเบียในอดีต โดยเฉพาะด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่อิควานได้รับคือรัฐบาลซาอุดีอารเบียจัดให้อิควานเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา แต่หลังจากที่กษัตริย์ซัลมานขึ้นครองราชย์ ฟ้าอันสดใสได้มาเยือนอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากเชคอับเกาะเราะฎอวีย์ ผู้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มอิควาน ถูกเชิญเป็นอาคันตุกะของกษัตริย์ซัลมานที่มักกะฮฺเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ที่ผ่านมาและก่อนหน้านี้เชคอัลเกาะเราะฎอวีย์ก็ได้รัยเชิญจากสถานทูตซาอุดีอารเบียประจำกรุงกาตาร์ในวันชาติซาอุดีอารเบียล่าสุด คือสัญญาณอันดีว่าเมฆหมอกแห่งความเลวร้าย คงพัดผ่านไปตามกาลเวลา
ทั้งซาอุดีอารเบียและตุรกีต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนกรณีกลุ่มอิควาน และอย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ต้องเหินห่างเพราะกระแสการโหมโรงของผู้ไม่หวังดีที่มุ่งหวังให้ชาวโลกตื่นตระหนกกับกระแสอิสลาโมโฟเบียนั่นเอง

สรุป
ท่ามกลางความระส่ำระสายของโลกอิสลามที่ถูกลมพายุแห่งไซออคริสต์+ชีอะฮฺโหมกระหน่ำขณะนี้ จนทำให้ประเทศอย่างอิรัก เลบานอน ซีเรียและเยเมนที่เคยเป็นกระดูกสันหลังของประชาชาติอิสลามในอดีตต้องเสียหายยับเยิน ส่วนอิยิปต์ก็ได้กลายเป็นลาเชื่องที่ผู้ไม่หวังดีขับขี่เพื่อบดขยี้อิสลามมาโดยตลอด จะเหลือเพียงซาอุดีอารเบียและตุรกี ที่ยังคงเป็นอวัยวะที่ยังปกติที่สุดที่สามารถปกป้องเรือนร่างของอิสลามขณะนี้ ทั้งสองอวัยวะนี้อาจไม่ใช่ส่วนที่เข้มแข็งและสมบูรณ์ที่สุด แต่น่าจะมีศักยภาพสูงสุดขณะนี้ที่คอยเป็นสองกำแพงแกร่งปกป้องประชาชาติอิสลาม ทั้งสอง จำเป็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่าด่วนตัดออกจากเรือนร่างเลย แนวคิดใดๆ ที่พยายามตัดแยกสองอวัยวะนี้ให้ออกจากกัน คือแนวคิดของคนสิ้นคิด ที่ไม่ก่อมรรคผลใดๆยกเว้นต่อผู้ไม่หวังดีต่ออิสลามและประชาชาติมุสลิมเท่านั้น
والله الموفق والهادي إلى سواء السبيل
والله أعلم
ปล. บทความทั้ง 7 ตอนนี้อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมในโอกาสต่อไปครับ

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 6)

ผลกระทบจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี

1) วิกฤติซีเรียและอิรักจะลุกลามและยืดเยื้อ
ซีเรียและอิรักได้กลายเป็นสมรภูมิสงครามโลกที่มีสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรคอยเป็นพี่เลี้ยงให้อิหร่านบดขยี้ชาวอิรักต่อไป ในขณะที่รัสเซียก็คอยคุ้มกันให้อิหร่านรุกคืบแผ่นดินซีเรียตามอำเภอใจ ซึ่งหมายถึงกองทัพไซออคริสต์(ไซออนิสต์+คริสเตียน)ที่ผสมโรงกับกองทัพเปอร์เซียเป็นฝ่ายหนึ่ง เพื่อทำสงครามกับประเทศสุนหนี่ที่นำโดยซาอุดีอารเบียและตุรกีอีกฝ่ายหนึ่ง มันเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดของฝ่ายสุนหนี่ที่หากเพลี่ยงพล้ำหรือพ่ายแพ้ ทั้งอิรักและซีเรียจะถูกเฉือนแบ่งเป็นประเทศย่อยๆ หรือเป็นประเทศเดียวแต่มีเขตปกครองเฉพาะเขตตามเผ่าพันธุ์และความเชื่อ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วที่ปาเลสไตน์และเลบานอน

2) อิหร่านจะกลายเป็นอภิมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาค ที่ได้รับการคุ้มกันจากประเทศมหาอำนาจเพื่อจัดการกับประเทศสุนหนี่ในแถบตะวันออกกลาง การที่อิหร่านสามารถทำสงครามอย่างน้อยกับ 3 ประเทศ(อิรัก ซีเรียและเยเมน) ในเวลาเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าอิหร่านมีท่อน้ำเลี้ยงที่เข้มแข็งในระดับไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับประเทศสมาชิกถาวรความมั่นคงสหประชาชาติรวมเยอรมัน (5+1) เมื่อปี 2015 ที่ดูเหมือนว่าอิหร่านถูกวางข้อจำกัดอย่างเข้มงวดต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ พร้อมทั้งให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริง อิหร่านได้รับเงินคืนที่ถูกอายัดจำนวนมหาศาลถึง 150,000 ล้านดอลล่าร์เพื่อเป็นงบสำรองจ่ายในสงครามครั้งนี้ ในขณะเดียวกันซาอุดีอารเบียก็จะถูกตัดแขนตัดขาโดยกฎหมายจาสต้า (JASTA) ที่สหรัฐฯเพิ่งประกาศมา ซึ่งอาจทำให้ซาอุดีอารเบียถูกปล้นเงินต่อหน้าต่อตาหลายหมื่นล้านดอลล่าร์ทีเดียว

3) ตุรกีมีนโยบายเปิดประตูสู่โลกอาหรับมากขึ้น หลังจากที่ตุรกีได้ตัดเยื่อใยความสัมพันธ์กับโลกอาหรับมาเป็นเวลานานเกือบ 80 ปี (ตั้งแต่ 1923-2003) บัดนี้ถึงเวลาที่ตุรกีจะเข้าสู่อ้อมกอดของโลกอาหรับอีกครั้ง โดยซาอุดีอารเบียเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับเปิดประตูบานนี้ ตุรกีไม่จำเป็นต้องฝากความหวังให้กับยุโรปและโลกตะวันตกโดยเฉพาะประเทศสมาชิกอียู ที่ไม่เคยแสดงความจริงใจต่อตุรกีเลย ยกเว้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์และใช้เป็นพาหนะขับขี่ที่ไม่ต่างกับลาโง่เท่านั้น

4) การบรรจบรวมกันของสองสายธาร
สำนักคิดสะละฟีย์ที่นำโดยซาอุดีอารเบีย และสำนักคิดอิควานที่นำโดยตุรกี ที่เคยเป็นฐานความเจริญของโลกอาหรับโดยเฉพาะซาอุดีอารเบียในอดีตที่เคยอาศัยสองสายธารนี้คอยเป็นแหล่งน้ำที่นำพาความอุดมสมบูรณ์ของประเทศมาโดยตลอด บัดนี้สองสายธารดังกล่าว จะผนึกรวมเป็นแหล่งน้ำที่สร้างความรื่นรมย์แก่ชาวโลกอีกครั้ง ดังนั้น แนวคิดที่จะแยกระหว่างสองสายธารนี้ คือปรัชญาของคนสิ้นคิดหรือมองโลกในมิติเดียว ที่ไม่เพียงสร้างความอ่อนแอแก่ประชาชาติอิสลามเท่านั้น แต่คือการตัดแขนตัดขาที่เปิดโอกาสแก่ศัตรูเข้ามาปู้ยี้ปู้ยำเรือนร่างเดียวกันของอิสลามตามอำเภอใจอีกด้วย
” ท่านทั้งหลายจงอย่าขัดแย้งระหว่างกัน เพราะจะทำให้พวกท่านต้องประสบกับความพ่ายแพ้และอ่อนกำลัง” (อัลอันฟาล/46)

…….ต่อ…… (ตอนจบ)

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 5)

5) ความสัมพันธ์ที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างตุรกีและรัสเซีย

หลังจากรัสเซียได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงด้วยการปูพรมถล่มซีเรียทางอากาศ เพื่ออารักขากองทัพชีอะฮฺที่บดขยี้ชาวสุนหนี่ตามภาคพื้นดิน ตุรกีเริ่มมองภาพชัดว่าท้ายสุดแล้ว รัสเซียเข้าข้างอิหร่านในกรณีซีเรีย เช่นเดียวกับที่สหรัฐคอยเป็นกองหนุนทางอากาศเพื่อให้กองกำลังชีอะฮฺเข่นฆ่ามุสลิมสุนหนี่ที่อิรัก ชาติมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯและรัสเซียต้องการให้ตุรกีเผชิญหน้ากรณีซีเรียและอิรักตามลำพัง เหมือนที่พวกเขาเคยโดดเดี่ยวตุรกีให้เผชิญหน้ากับกลุ่มก่อการร้ายที่คุกคามตุรกีมาโดยตลอด ดังนั้นตุรกีจึงต้องหันหน้าไปยังประเทศอาหรับ โดยเฉพาะซาอุดีอารเบียเพื่อสร้างแนวร่วมในการปกป้องสันติภาพในภูมิภาค หาไม่แล้ว ตุรกีอาจเป็น “วัวขาว”รายใหม่ที่ฝูงสิงโตพร้อมเหล่าอสรพิษจะรุมขย้ำและแว้งกัดได้ทุกเมื่อ

การสร้างอำนาจต่อรองและการทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามต้องการพึ่งพา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะตุรกีและรัสเซียมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมาอย่างช้านานที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ซ่อนเงื่อนอยู่ กอรปด้วยรัสเซียที่ต้องใช้พื้นที่ตุรกีในการลำเลียงแก๊ซสู่ยุโรป ซึ่งอาจทำให้รัสเซียต้องเกรงใจตุรกีอยู่บ้าง สิ่งสำคัญหากซาอุดีอารเบียและตุรกีมองผลประโยชน์ของอิสลามและประชาขาติมุสลิมเป็นที่ตั้ง ทั้งสองประเทศนี้จะกลายสองขาที่คอยเป็นที่ยึดเหนี่ยวของโลกอิสลามต่อไป ถึงแม้มีผู้ไม่หวังดี จะแอบชิงชังก็ตาม

6) วิกฤติราคาน้ำมัน
ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้รัฐบาลซาอุดิอารเบียต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว สุขภาพ โครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คหรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ที่นอกจากต้องอาศัยการลงทุนมหาศาลแล้ว ความชำนาญของบุคลากรในแต่ละสาขา มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ซาอุดีอารเบียน่าจะมีความพร้อมด้านการลงทุน ในขณะที่ตุรกีมีศักยภาพทางบุคลากร จึงน่าจะเป็นการร่วมมือที่ลงตัวที่สุด หากทั้งสองประเทศไม่มีวาระใดซ่อนเร้น นอกจากผลประโยชน์ของอิสลามและประชาชาติมุสลิมเท่านั้น

ณ ปัจจุบัน ทั้งสองประเทศนี้มีอัตราการแลกเปลี่ยนทางการค้าสูงถึง 6 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี ประกอบด้วยมีบริษัทด้านการลงทุนจากซาอุดีอารเบียที่ทำธุรกิจในตุรกีจำนวน 480 บริษัท ยิ่งทำให้แนวโน้มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ นับวันก็ยิ่งเข้มแข็งและเหนียวแน่นยิ่งขึ้น

ทั้ง 6 ประเด็นนี้ น่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักและเพียงพอที่ทำให้ทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้จับมือผนึกกำลัง เพื่อต่อต้านพายุร้ายที่ซัดกระหน่ำประชาชาติอิสลามปัจจุบัน
หากท่านทั้งสองพร้อมอยู่เคียงข้างกับประชาชาติมุสลิม เชื่อว่า ประชาชาติมุสลิมก็พร้อมอยู่เคียงข้างท่านทั้งสองเช่นกัน

….ต่อ……
ผลกระทบจากความร่วมมือระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 4)

3) วิกฤติเยเมนและแผนปฏิบัติการพายุแกร่ง

ซาอุดีอารเบียได้ปฏิบัติการตามแผนพายุแกร่งเมื่อเดือนมีนาคม 2015 เพื่อกวาดล้างกบฏฮูซีย์หรืออันศอรุลลอฮฺ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาและภารกิจที่ใกล้เคียงกับฮิสบุลลอฮฺที่เลบานอน ซึ่งถึงแม้ทั้งสองกลุมนี้ลงท้ายด้วยนามของอัลลอฮฺ แต่ในความเป็นจริง พวกเขาคือศัตรูของอัลลอฮฺอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่สวามิภักดิ์ต่ออดีตประธานาธิบดีอาลี ศอและห์ที่คอยสร้างความปั่นป่วนในพื้นที่เคียงคู่กับกลุ่มกบฏฮูซีย์ ถึงแม้เวลาผ่านไปแล้ว 10 เดือน แต่สถานการณ์ยังไม่มีท่าทีที่จะจบง่ายๆตามแผนที่วางไว้ ทำให้ซาอุดีอารเบียต้องการพันธมิตรที่จริงใจที่สุดอย่างตุรกีเพื่อปิดเกมในเวลาที่รวดเร็ว หลังจากที่อิยิปต์ได้แสดงอาการไม่น่าไว้วางใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหารตามที่คาดหวัง เพราะหากยืดเยื้อนานไปเท่าไหร่ ฝ่ายที่เพลี้ยงพล้ำและต้องตั้งรับคือซาอุดีอารเบีย อย่างไรก็ตาม ชัยชนะจะเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ศรัทธา และยามลำบาก เรามักแยกแยะระหว่างมิตรแท้และมิตรเทียมเสมอ

4) กองกำลังไอเอส

ถึงแม้สื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองมีส่วนสำคัญยิ่งในการโปรโมทไอเอสว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของโลกตะวันตก ตลอดจนโน้มน้าวให้ชาวโลกปักใจเชื่อว่าไอเอสคือผลผลิตของแนวคิดสะละฟีย์วะฮาบีซึ่งมีซาอุดีอารเบียเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและตุรกีเป็นผู้สนับสนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ความจริงอยู่ประการหนึ่งคือประเทศที่ถูกไอเอสคุกคามมากที่สุดในขณะนี้คือซาอุดีอารเบียและตุรกี หนำซ้ำทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้ ได้จับกุมสมาชิกไอเอสหลายร้อยคน แม้กระทั่งผู้นำสูงสุดของสองประเทศนี้ตลอดจนนักวิชาการระดับกิบาร์อุละมาอฺในซาอุดีอารเบีย ถูกกลุ่มไอเอสฟัตวา(ให้คำศาสนวินิจฉัย)ว่าตกศาสนา เป็นผู้กลับกลอก(มุนาฟิก)หรือฏอฆูต(ทรราช) หรือฉายาที่รุนแรงและดูหมิ่นมากมายก็ตาม

เหตุระเบิดพลีชีพและการถล่มเมืองสำคัญในตุรกีหรือตามแนวชายแดน ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของกลุ่มไอเอส มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นชาวยุโรป แต่เมื่อถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศของตน กลับถูกปล่อยตัวอย่างลอยนวล กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่สามารถปฏิบัติได้หากผู้ร้ายเป็นชาวยุโรปและก่อเหตุในตุรกี จนกระทั่งตุรกีงัดแผนปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรทีส ขับไล่ไอเอสออกจากชายแดนซีเรียและอิรักอย่างได้ผล เป็นเหตุให้กองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯต้องรีบแก้เกมด้วยการรีบบุกไอเอสที่เมืองโมซุลอย่างมีพิรุธ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ กองกำลังทั้ง 65 ประเทศไม่สามารถจัดการกับไอเอสได้เลย ล่าสุดแอร์โดกานออกมาเรียกร้องให้กองกำลังพันธมิตรพิสูจน์หลักฐานว่าอาวุธอันมากมายของไอเอส นั้น ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไหนกันแน่ ซึ่งทำให้วอชิงตันและเตหะรานสะดุ้งเหยิงจนตั้งตัวแทบไม่ทัน

เช่นเดียวกันกับซาอุดีอารเบียที่ไอเอสมักบุกถล่มมัสยิดชีอะฮฺทางภาคตะวันออก ซึ่งนอกจากเป็นการวางเชื้อเพลิงให้เกิดความขัดแย้งทางความเชื่อที่รุนแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มชีอะฮฺในซาอุดีอารเบียกล่าวหารัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติและไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย แม้กระทั่งชาวสุนหนี่ในอืรัก ซีเรียหรืออิหร่านก็จะกลายเป็นเหยื่อการล้างแค้นของชีอะฮฺไปโดยปริยาย ซึ่งชีอะฮฺจะอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของไอเอสต่อชาวชีอะฮฺ

ไม่นับรวมที่แกนนำไอเอสข่มขู่รัฐบาลซาอุดีอารเบียและจะกวาดล้างราชวงศ์อาลซะอูด ที่พวกเขาตั้งฉายาว่าอาลสะลูล(ต้นตระกูลของแกนนำมุนาฟิกในสมัยนบี) โดยที่พวกเขาหารู้ไม่ว่า เตหะรานและลัทธิแห่งเปอร์เซีย ก็มีจุดยืนต่อซาอุดีอารเบียที่คล้ายคลึงกัน
อะไรเล่าที่ทำให้ทั้งไอเอสและชีอะฮฺมียุทธศาสตร์และเป้าหมายร่วมกัน ทั้งๆที่เป็นที่รู้กันทั่วว่า ทั้งสองคือคู่อริที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้มิใช่หรือ
นี่คือเหตุผลที่ทั้งตุรกีและซาอุดีอารเบียต้องประกาศสงครามอย่างจริงจังกับไอเอส

5) ความสัมพันธ์ที่อยู่บนเส้นด้ายระหว่างตุรกีและรัสเซีย

….ต่อ ภาค (5)…..

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 3)

2) วิกฤติซีเรียและแผนปฏิบัติการ”โลห์ยูเฟรทีส”

ตุรกีได้กระโจนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิกฤติซีเรียและอิรัก หลังจากอดทนรอประเทศพันธมิตรเกือบ 65 ประเทศล้มเหลวในการปราบปรามกองกำลังไอเอสที่บริเวณตะเข็บชายแดนทั้งอิรักและซีเรีย เช่นเดียวกันกันกับการเติบโตของพรรคสหประชาธิปไตยเคิร์ด(ชื่อประชาธิปไตย แต่มีแนวคิดเป็นคอมมิวนิสต์)ที่อยู่ตามพรมแดนซีเรีย -ตุรกีที่มีความยาวกว่า 900 กม. ในขณะเดียวกันสหประชาชาติต่างก็ล้มเหลวที่จะใช้อำนาจโค่นล้มระบอบบัชชาร์ได้ ถึงแม้กองทัพอิหร่านและรัสเซีย อ้างว่าเข้ามาถล่มไอเอสในซีเรีย แต่ไอเอสก็มีศักยภาพพอที่จะคุกคามตุรกีร่วมกับพรรคสหประชาธิปไตยเคิร์ดตามแนวชายแดนตลอดเวลา ทำให้ตุรกีปฏิบัติการตามแผนโลห์ยูเฟรทีส ขับไล่สองกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ตามชายแดนซีเรียและอิรักนี้ ซึ่งทำให้ตุรกีสามารถขับไล่ทั้งสองกลุ่มนี้ในระยะเวลาอันรวดเร็วและประกาศเป็นเขตปลอดภัย โดยที่ประธานาธิบดีแอร์โดการได้ตั้งข้อสังเกตว่า กองกำลพันธมิตรที้ง 65 ประเทศไม่สามารถจัดการกับกองกำลังงไอเอสได้อย่างไร แต่น่าแปลก ที่ทั้งรัฐบาลซีเรีย อิรักและอิหร่าน หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาต่างก็มาตำหนิตุรกีที่พวกเขาอ้างอย่างหน้าตาเฉยว่า บุกรุกประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งๆที่ภารกิจดั้งเดิมของพวกเขาคือปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย

นโยบายของซาอุดีอารเบียและตุรกีมีความเห็นพ้องว่า วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาซีเรียได้คือ การทำให้บัชชาร์ต้องลงจากตำแหน่งสถานเดียวและเขาไม่มีสิทธิ์มีบทบาทกำหนดอนาคตของซีเรียได้ แต่หลังจากที่สหประชาชาติเสนอให้มีช่วงเว้นวรรคหลังยุคบัชชาร์เป็นเวลานาน 1ปีครึ่ง ทำให้ทั้งซาอุดีฯและตุรกีกังวลว่าช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นถ่ายโอนอำนาจให้แก่อิหร่านที่เข้ามาบดขยี้ชาวซีเรียตามภาคพื้นดินโดยการคุ้มภัยทางอากาศของฝูงบินรัสเซียหรือไม่ หรือประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยเหมือนที่เกิดขึ้นที่อิรักมาแล้ว จะแตกต่างตรงที่อิรัก สหรัฐอเมริกาเป็นผู้คุ้มครองทางอากาศ และปล่อยให้กองทัพชีอะฮฺอิหร่านมาเข่นฆ่าชาวสุนหนี่อิรักตามภาคพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม ทั้งซาอุดีอารเบียและตุรกี ต้องผนึกกำลังต้านแผนร้ายนานาชาติครั้งนี้ ทั้งซีเรียและอิรักจะไม่ถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆตามแผนร้ายของพวกเขา ตราบใดที่ทั้งสองประเทศสุนหนี่นี้ผนึกกำลังกัน (หลังจากความช่วยเหลือของอัลลอฮ)
แผนการของอัลลอฮฺแยบยลเสมอ

3) วิกฤติเยเมนและแผนปฏิบัติการพายุแกร่ง

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 2)



ทำไมซาอุดีอารเบียเเละตุรกีต้องจับมือกัน
ปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองประเทศต้องกระชับความร่วมมือกัน มีหลายปัจจัยด้วยกัน ที่สำคัญมีดังนี้

1) ภัยคุกคามอิหร่าน
หลังจากคำประกาศของโคมัยนีหลังปฏิวัติอิสลาม ในปี 1979 (ซึ่งความจริงคือปฏิวัติชีอะฮฺต่างหาก) อิหร่านได้ใช้กุศโลบายด้วยการชูสโลแกน “อเมริกาจงพินาศ” “อิสราเอลจงพินาศ” “อเมริกาคือซาตานที่ยิ่งใหญ่” พร้อมประกาศจะลบชื่ออิสราเอลออกจากแผนที่โลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี แทนที่จะเป็นไปตามที่ประกาศไว้ ปรากฎว่าโลกอิสลามโดยเฉพาะโลกอาหรัยต่างหากที่ถูกคุกคาม ถึงแม้สหรัฐอเมริกาได้ปูพรมถล่มอีรักเมื่อปี 2003 และโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม หุเซ็นได้สำเร็จ แต่สหรัฐอเมริกาก็ถวายอิรักให้อยู่ในความดูแลของอิหร่าน จนกระทั่งปัจจุบัน แบกแดดจึงมีฐานะเป็นรัฐๆหนึ่งของเตหะรานไปเสียแล้ว ในขณะที่ประเทศอาหรับได้แต่มองตาปริบๆ

นอกจากนี้อิหร่านได้ตกลงร่วมมือกับประเทศสมาชิกความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรวมทั้งเยอรมัน (5+1) ในโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในปี 2015 ที่กรุงเจนิวา ที่ได้วางข้อจำกัดที่เข้มงวดต่อกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน พร้อมยินยอมให้มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการมีระเบิดปรมาณูของอิหร่านนั้น ไม่อาจเป็นไปได้ ซึ่งผลตอบแทนที่อิหร่านได้รับคือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของนานาชาติที่มีต่ออิหร่านนั้นจะถูกยกเลิก รวมทั้งอิหร่านได้เงินคืนจำนวน 150,000 ล้านดอลล่าร์ที่ถูกอายัต ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลนี้สหประชาชาติได้วางกฎว่าให้อิหร่านใช้เพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและเยียวยาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในประเทศ แต่ในความเป็นจริง เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายในการเข่นฆ่าพี่น้องมุสลิมที่อิรักและซีเรียต่างหาก ในขณะเดียวกันสหรัฐเริ่มข่มขู่ซาอุดีอารเบียด้วยการออกกฎหมายจาสต้า (JASTA) ที่อนุญาตให้ครอบครัวผู้เคราะห์ร้ายและได้รับผลกระทบจากเหตุ 9/11 ฟ้องร้องต่างชาติโดยเฉพาะซาอุดีอารเบียที่ชาวซาอุดีฯถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับวินาศกรรมครั้งนั้น ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่จงใจปล้นเงินซาอุดีอารเบียอย่างซึ่งหน้า

มันคือสัญญาณจากสหรัฐฯว่า ท้ายสุดแล้ว อิหร่านคือพันธมิตรที่แท้จริงของชาติตะวันตก และสหรัฐฯก็พร้อมเลือกข้างอิหร่านเมื่อทุกอย่างลงตัว พร้อมกับบอกให้ซาอุดีอารเบียรับรู้ว่า อันตรายที่แท้จริงกำลังคืบคลานมาอย่างช้าๆ

ในขณะที่ตุรกี พรมแดนที่ติดกับอิรักที่ยาวกว่า 350 กม. ทำให้ตุรกีต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงในอิรักชนิดไม่พลาดสายตา โดยเฉพาะปัญหาชาวเคิร์ดและไอเอสที่สร้างปัญหาให้ตุรกีมาโดยตลอด โดยที่ตุรกีเชื่อว่า นอกจากสหรัฐฯแล้ว รัฐบาลหุ่นเชิดอิหร่านที่กรุงแบกแดด ก็มีส่วนรู้เห็นกับการเติบโตของทั้งสองกลุ่มนี้

ภัยจากอิหร่านที่กำลังคุกคามทั้งตุรกีและซาอุดีอารเบียขณะนี้ ทำให้ประเทศสุนหนี่ทั้งสองประทศนี้ จำเป็นต้องจับมือร่วมกัน ก่อนที่จะสายเกินแก้

2) วิกฤติซีเรียและแผนปฏิบัติการโล่ห์ยูเฟรตีส

มิติ ผลกระทบและข้อจำกัดของความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี (ตอนที่ 1)

หลังจากการครองราชย์ของกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอารเบีย ความสัมพันธ์ระหว่างริยาดและอังการ่าที่ดูจืดชืดและเหือดแห้งก่อนหน้านี้ กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยเฉพาะในปี 2015 ที่ผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนเยี่ยมเยียนพร้อมบรรลุข้อตกลงมากมาย

นอกเหนือจากมิติทางศาสนา ความศรัทธาและความเป็นพี่น้องร่วมอุดมการณ์ ที้งสองประเทศสามารถประสานความร่วมมือผ่านสองมิติใหญ่ๆ ดังนี้

1) มิติความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
หลังการมีอำนาจของพรรคยุติธรรมและพัฒนาในปี 2003 ตุรกีได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาประเทศด้วยการเปิดประตูต้อนรับประเทศมุสลิมและอาหรับมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลาง การเดินทางเยี่ยมตุรกีของกษัตริย์อับดุลลอฮฺเมื่อเดือนสิงหาคม 2006 ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกี ที่ส่งผลให้เกิดการบันทึกความเข้าใจร่วมกัน 6 ฉบับ ซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น

ทั้งสองประเทศได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศตุรกีที่ได้กำหนดเป้าหมายรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2023 เป็น 2 ล้านล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ซาอุดีอารเบียมีนโยบายลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน และทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพสูงในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์หรือแม้กระทั่งด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีอัตราการขยายตัวความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด จาก 1.5 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2006 เพิ่มเป็น 5 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2014 และ 6 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2015

2) มิติความร่วมมือทางการทหาร
ในปี 2015 ซาอุดีอารเบียและตุรกีได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางการทหาร โดยซาอุดีอารเบียตกลงสนับสนุนงบประมาณแก่ตุรกี เพื่อโครงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในการผลิตขีปนาวุธ ยานเกราะ การเสริมศักยภาพกองกำลังทางเรือและเครื่องบินไร้พลขับ

ผลการเยี่ยมซาอุดีอารเบียของประธานาธิบดีแอร์โดกานเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ทำให้ซาอุดีอารเบียตกลงเซ็นสัญญาซื้อยานเกราะของตุรกีมูลค่ารวม 2.5 พันล้านดอลล่าร์ และอาจสูงถึง 10 พันล้านดอลล่าร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

อาดิล อัลญุเบร์ รมว.ต่างประเทศซาอุดีอารเบียได้ตอกย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอารเบียและตุรกีไม่จำกัดเฉพาะด้านการทหารและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการรักษาความมั่นคงในภูมิภาค ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของทั้งสองประเทศต่อไป

….ต่อ …

ใครคือคอลีฟะฮ์ หัฟตาร์ ฉายาซีซีย์แห่งลิเบีย

– เกิดเมื่อปี 1943 ณ เมืองอัจดาเบีย ห่างจากเมืองเบนกาซี ลิเบียไปทางใต้ประมาณ 160 กม. ปัจจุบันอายุ 84 ปี
– เป็นหนึ่งในคณะปฏิวัติพร้อมกับกัดดาฟี ล้มล้างระบอบกษัตริย์อิดรีส สะนูซีย์เมื่อปี 1969 และเป็นนายพลคู่บารมีของกัดดาฟีนับแต่นั้นมา
– ปี 1987 นำทัพลิเบียทำสงครามกับประเทศชาด แต่พ่ายแพ้จนกระทั่งถูกจับเป็นเชลย ต่อมาได้รับการปล่อยตัวและลี้ภัยที่สหรัฐฯหลังจากที่เริ่มขัดแย้งกับกัดดาฟี และมีความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างกัดดาฟีหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ
– ปี 2011กลับลีเบียอีกครั้งและเป็นหนึ่งในแกนนำกองทัพประชาชนที่ต่อสู้กับกองกำลังของกัดดาฟีจนได้รับชัยชนะ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมในเวลาต่อมา ท่ามกลางลิเบียที่ได้เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีกครั้ง
– ปี 2014 เริ่มปฏิบัติการทางการทหารเพื่อปราบปรามกองกำลังที่นิยมกลุ่มอิควาน ที่ก่อนหน้านี้ เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการจัดระเบียบสังคมลิเบียหลังชัยชนะการปฏิวัติประชาชน
– ปี 2015 ได้รับการแต่งตั้งจากสภาแห่งชาติให้เป็นเป็นผู้นำสูงสุดของลิเบีย ซึ่งเขากล่าวตลอดเวลาว่าไม่ได้มีความทะเยอทะยานทางการเมืองแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการรักษาความปึกแผ่นภายในชาติเท่านั้น ท่ามกลางความสงสัยของฝ่ายๆต่างๆว่า เขาได้รับตำแหน่งนี้ด้วยวิธีใด
– หลังจากนั้นเขาเริ่มกวาดล้างกลุ่มที่เขาเรียกว่า “รัฐบาลที่ควบคุมโดยอิสลามิกชน” พร้อมประกาศสงครามอย่างเปิดเผยกับกลุ่มอิควานลิเบีย
– เป็นผู้ปูทางให้ไอเอสเข้ามามีบทบาทในลิเบียพร้อมทำการปราบปรามกองกำลังสภาชูรอมุญาฮิดีนลีเบีย จนกระทั่งสภาชูรอฯประกาศทำสงครามกับไอเอสและกองกำลังที่นำโดยจอมพลหัฟตาร์
– 14 กย. 2016 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำสูงสุดของกองทัพในตำแหน่งจอมพล
– 25 พ.ค.2017 ร่วมมือกับกองทัพอากาศอิยิปต์ถล่มที่มั่นของสภาชูรอมุญาฮิดีนที่ดัรนา ลิเบียโดยอ้างว่ากลุ่มนี้ได้ร่วมมือกับไอเอสปฏิบัติการสังหารหมู่ชาวกิบฏีย์ที่มันยา ทั้งๆที่สภาชูรอฯได้ทำสงครามกับไอเอสมาตั้งแต่ต้น และไอเอสได้แถลงอย่างเป็นทางการว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นฝีมือของพวกตน
– 27 พ.ค. 2017 สภาชูรอมุญาฮิดีนลิเบียได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีเมืองดัรนา ลิเบียและประณามจอมพลหัฟตาร์ว่าเป็นคนขายชาติ ทรยศต่อชาติและอัลลอฮฺที่ได้ร่วมมือกับซีซีย์ปฏิบัติการแผนสกปรกนี้ ทั้งๆที่เมืองดัรนา ลิเบียอยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุที่มันยา อิยิปต์ถึง 2,000 กม. และด้วยผลงานของสภาชุรอมุญาฮิดีนลีเบียต่างหากที่สามารถขับไล่กองกำลังไอเอสออกจากเมืองดัรนา بعد التوفيق من الله

นี่คือโฉมหน้าส่วนหนึ่งของจอมพลซีซีย์แห่งลิเบีย ผู้ปล้นชัยชนะการปฏิวัติประชาชนลิเบียจนกระทั่งล้มล้างระบอบกัดดาฟีได้สำเร็จ เหมือนนายซีซีย์แห่งอิยิปต์ที่ปล้นชัยชนะของชาวอิยิปต์ที่ได้ขับไล่มุบาร็อกสำเร็จเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติมที่…
http://www.aljazeera.net/encyclopedia/icons/2014/10/15/خليفة-حفتر