รมว. ศึกษาธิการมาเลเซีย ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

Dr. Maszlee Malik รมว. ศึกษาธิการมาเลเซีย ชุดรัฐบาลปัจจุบันได้แถลงข่าวประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หลังจากดำรงตำแหน่งนี้นาน 20 เดือนในชุด ครม. Harapan ที่มี ตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมมัด เป็นหัวหน้ารัฐบาล

Dr. Maszlee กล่าวว่า หลังจากได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและปฏิบัติตามข้อแนะนำของท่าน ตนจึงตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งนี้ ซึ่งท่านได้เปิดใจสั้นๆ ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับตำแหน่งนี้ สำหรับบุคคลที่ไม่มีฐานหนุนทางการเมือง

การประกาศลาออกจากตำแหน่งระดับรัฐมนตรี ถือเป็นกรณีแรกที่เกิดขึ้นใน ครม. ชุดมหาเธร์ 2 โดยการลาออก จะมีผลในวันพรุ่งนี้ ในวันที่ 3 มกราคม 2020

ถือเป็นข่าวใหญ่ต้อนรับปีใหม่ในแวดวงการเมืองของมาเลเซียทีเดียว

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
https://www.hmetro.com.my/utama/2020/01/531359/maszlee-malik-letak-jawatan-metrotv

แก้ปัญหาใต้ : การเยียวยาเเค่ส่วนหนึ่ง

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

การเยียวยาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน :กรณีทหารพรานยิงชาวบ้าน
จากกรณีที่ทหารพรานยิงชาวบ้านที่เขาตะเว จังหวัดนราธิวาส ได้มีการนำเงินเยียวยาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และแม่ทัพภาคที่สี่ นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากจะให้ปัญหามีโอกาสที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีกตามหลักการสากลแล้ว (ตามข้อเสนอแนะของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) จะต้องดำเนินการไปด้วยกันสี่ขั้นตอนตามหลักกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (ศัพท์ทางวิชาการ) (Transitional Justice – TJ) และทุกกรณีไม่ว่าเหตุการณ์ที่ลำพะยาและอื่นๆมาใช้โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัยพร้อมทั้ง การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย

สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ


หมายเหตุ : ฟังคลิปบทสัมภาษณ์หน่วยความมั่นคงหลังเยียวยาครอบครัวเหยื่อทหารพรานยิงประชาชน

เขียนโดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

คำกล่าวในพิธีเปิดประชุม KL Summit 2019 ของนายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด ประธานการประชุม

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในพิธีเปิด KlSummit 2019 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพวานนี้ 19 ธันวาคม 2019 ว่า โลกมุสลิมอ่อนแอเกินไปจนไม่สามารถที่จะปกป้องประชาชาติอิสลามได้ และว่าเราไม่ได้มีเจตนาจะทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพียงแต่ในขั้นต้นต้องการเริ่มแบบเล็กๆก่อนเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ต้องการพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของประชาชาติอิสลามในปัจจุบัน ไม่ใช่มาโต้แย้งเรื่องหลักการศาสนา

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด ย้ำว่า เราทั้งหลายต่างรู้ดีว่าเรามุสลิมประสบกับวิกฤติ ชาวมุสลิมต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปยังประเทศที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม

นอกจากนั้น โลกมุสลิมยังประสบกับปัญหาภายใน มีการกดขี่ข่มเหงต่อมุสลิมด้วยกัน ในการประชุมคราวนี้เราต้องการที่จะสร้างความชัดเจนว่าปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะรับมือกับสงครามภายในนี้ได้อย่างไร ? จะรับมือกับวิกฤติและเยียวยาแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างไร? จะรักษาชื่อเสียงเกียรติยศศาสนาของเราได้อย่างไร ? นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าว

ไม่มีประเทศมุสลิมแม้แต่ประเทศเดียวที่เป็นประเทศเจริญแล้ว แม้ว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล แต่ก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัดกล่าว

และว่า น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่ประเทศเหล่านี้ต่างอ่อนแอไม่สามารถปกป้องรักษาประชาชาติอิสลามได้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวว่า ปัจจุบันนี้อิสลามถูกมองเทียบเท่ากับการก่อการร้าย

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวว่า ในอดีต มุสลิมได้สถาปนาอารยธรรมที่มีความเจริญก้าวหน้า และเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปทั่วโลก แต่วันนี้ โลกไม่ได้ยกย่องให้เกียรติเรา เพราะเราไม่ใช่เป็นผู้ส่งออกวิชาความรู้เหมือนในอดีต เราไม่มีบทบาทในอารยธรรมโลกปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า การเสื่อมถอยของอารยธรรมอิสลามเริ่มต้นในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในช่วงเวลานั้น สังคมมุสลิมต่างปฏิเสธที่จะเรียนวิชาความรู้ใดๆ นอกจากความรู้ที่เกี่ยวข้องการทำอิบาดะฮ์เฉพาะเท่านั้น ทำให้นักวิชาการในยุคนั้นมัวแต่โต้แย้งเกี่ยวกับหลักการศาสนาที่มีความเห็นแตกต่างกัน กลายเป็นกลุ่มเป็นพวก จนกลายเป็นสงครามทางความคิด

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าวอีกว่า ในอัลกุรอาน อัลเลาะห์บอกว่าจะช่วยมุสลิม ต่อเมื่อมุสลิมทุ่มเทความพยายาม ไม่ใช่งอมืองอเท้าแล้วรอคอยความช่วยเหลือจากอัลเลาะห์อย่างเดียว

และย้ำว่า นวัตกรรมใหม่ๆ ในรอบ 100 ปีนี้ไม่มีสิ่งใดที่นำเสนอคิดค้นโดยมุสลิม เครื่องมือเครื่องใช้ที่เราใช้อยู่ในตอนนี้ทั้งหมดล้วนคิดค้นโดยผู้อื่น ซึ่งหมายความว่า เราต้องพึ่งพิงประเทศที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆและการพัฒนา

ทั้งที่เราทราบว่า บางประเทศล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็สามารถกลับมายืนได้อีกครั้งและพัฒนาตัวเอง ในขณะที่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถแม้แต่ในด้านบริหาร อย่าว่าแต่ด้านการพัฒนา

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า นี้เป็นสิ่งที่ศาสนาของเราสอนหรือ อิสลามคือต้นเหตุที่ทำให้เราเป็นแบบนี้หรือ

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวย้ำว่า นี่คือสิ่งที่เราจะมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในการประชุมครั้งนี้ เพื่อนำข้อเสนอแนะที่เห็นพ้องต้องกันนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม สู่การริเริ่มที่ยิ่งใหญ่มากกว่าต่อไป

เขียนโดย Ghazali Benmad

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปาฐกถาพิเศษที่ IIUM,Gombak Campus

20 ธันวาคม 2562 รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกพิเศษที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย IIUM เนื่องในงาน Grand Talk ในหัวข้อ ธาตุแท้ชัยฏอน ที่ Experimental Hall,Level 3 , IIUM, Gombak Campus เวลา 09.00-12.00 น.

หัวข้อดังกล่าวคือผลงานหนังสือล่าสุดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่เขียนในภาษามลายูภายใต้ชื่อเรื่อง : Hakikat As-Syaitan Ar-rajeem : penipuannya dan cara memusuhinya menurut ajaran Allah dan Rasul صلى الله عليه وسلم ซึ่งได้รับแปลเป็นภาษาไทยขื่อ รู้จักชัยฏอน ธาตุแท้ กลอุบาย วิธีต่อสู้ โดย ซุฟอัม อุษมาน เป็นบรรณาธิการแปล

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวตอนหนึ่งว่า เรายังไม่เพียงพอที่จะเพียงรับรู้ว่า ชัยฏอนคือศัตรูของเรา แต่ในขณะเดียวกันเราต้องประกาศอย่างชัดเจนว่ามันคือศัตรูตัวฉกาจของเราด้วย เพราะปลายทางสุดท้ายของชัยฏอนคือนรก มันจะใช้เล่เหลี่ยมทุกวิถีทางเพื่อฉุดกระชากเราสู่นรกให้จงได้ ขออัลลอฮ์คุ้มครอง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยังได้เชิญชวนทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักศึกษาและคณาจารย์ ศึกษาเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับชัยฏอน เพราะหากเราไม่สนใจศึกษาเรื่องนี้ แสดงว่าเราคือหนึ่งในบรรดาเหยื่อของชัยฏอนอย่างแน่นอน เราขอความคุ้มครองด้วยอัลลอฮ์จากชัยฏอนที่ถูกสาปแช่ง

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการและนักคิด 400 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมประชุม KL_Summit_2019 ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

สามารถรับชมเทปบรรยาย ได้ด้านล่างนี้

ผู้นำโลกมุสลิมตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชาติอิสลาม

ดร.อะหมัด มันซูร ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสถานีอัลจาซีรา ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ครั้งนี้ รายงาน เบื้องหลังสถานการณ์การประชุมครั้งนี้ผ่านเว็บไซต์ ว่า เจตนารมณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการ เฟ้นหาผู้นำโลกมุสลิมที่ตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชาติอิสลาม และตั้งใจจริงในการกอบกู้สถานภาพของประชาชาติอิสลาม และสังคมโลกมุสลิม ตลอดจนสร้างความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของโลกมุสลิมให้มีบทบาท ในสังคมโลก ไม่ใช่อยู่อย่างเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

ดร.อะหมัด มันซูร บอกว่า นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าวว่า ในตอนแรกมีประเทศที่ตอบรับการประชุม 5 ประเทศ อันได้แก่ มาเลเซีย ตุรกี กาตาร์ ปากีสถานและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความพร้อม ทั้งในด้าน ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติ การทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นสูง และเทคโนโลยี ไม่รวมถึงอิหร่านที่ประธานาธิบดีอิหร่าน เพิ่งตัดสินใจในภายหลัง ถึงไม่ได้ถูกนำเข้ามาในรายชื่อของผู้เข้าร่วมในตอนแรก ตลอดจนได้ส่งคำเชิญไปยังประเทศสมาชิกโอไอซีจำนวนมาก

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลความตึงเตรียดระหว่างตุรกีและกาตาร์ เจ้าภาพหลักของการประชุมครั้งนี้ฝ่ายหนึ่ง กับอิมิเรตและซาอุดิอาระเบียฝ่ายหนึ่ง จึงส่งผลต่อการตัดสินใจของประเทศใกล้ชิด กระทั่งสุดท้ายแล้ว ทำให้ปากีสถานและอินโดนีเซีย ที่เศรษฐกิจของประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับซาอุดิอาระเบียและ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างมหาศาล จึงจำเป็นต้องถอนตัว คงเหลือตัวแทนของรัฐในระดับต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพียง 18 ประเทศ และระดับประมุขสูงสุด เพียง 3 คน ประเทศ คือ ตุรกี กาตาร์ และอิหร่าน

เขียนโดย Ghazali Benmad

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019
ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ อ. ซอและห์ ตาเละ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019 ที่จัดขึ้นที่ KL Convention Centre ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีผู้นำสูงสุด 3 ประเทศ นอกจากประเทศเจ้าภาพมาเลเซียคือ กาตาร์ ตุรกี และอิหร่าน เข้าร่วมถกปัญหาและร่วมมือแก้ไขวิกฤติโลกอิสลามในปัจจุบัน อีกทั้งสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

ในการประชุมครั้งนี้มีนักวิชาการ นักคิดทั่วโลกเกือบ 500 คนจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม ในโอกาสนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้มีโอกาสพบปะและทักทายผู้นำประเทศตุรกี นายรอยับ ตอยยิบแอร์โดอาน และตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกด้วย

เอื้อเฟื้อรูปภาพโดย Muslim Bin Ismail Lutfi
เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ทิศทางใหม่ของโลกอิสลามที่ไม่ขึ้นกับแรงกดดันของมหาอำนาจ

“การจัดตั้งตลาดร่วม” และ “จัดตั้งสกุลเงินเดียวกัน” มิติด้านเศรษฐกิจร้อนฉ่า ที่จะมีการนำเข้าพิจารณาในการประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 พรุ่งนี้

การประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-21 ธันวาคมนี้ ภายใต้แนวคิด THE ROLE OF DEVELOPMENT IN ACHIEVING NATIONAL SOVEREIGNTY “บทบาทของการพัฒนาต่อการมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง”


นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกของการบำบัดรักษาโรคร้ายที่เกาะกินโลกมุสลิม พร้อมกับเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนเพื่อให้สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมที่วางไว้

วาระหลักของการประชุมครั้งนี้ จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับกรณีการลี้ภัยของมุสลิมทั่วโลกอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองหรือความตกต่ำทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น จะมีการพิจารณาเรื่องความมั่นคงทางอาหารของโลกมุสลิม รวมถึงอัตลักษณ์ประจำชาติต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรม และอิสลามโมโฟเบียที่กำลัง เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ความมั่นคงและอื่นๆ

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีเพื่อเผยแพร่หลักคำสอนอิสลามที่แท้จริงแก่สังคมโลก ตลอดจนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดตกขอบและอิสลามโมโฟเบีย

แนวคิดของการประชุมครั้งนี้ ต้องการที่จะประมวลเจตนารมณ์ ทรัพยากรและเศรษฐกิจความมั่งคั่ง เป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางของประเทศต่างๆ อันจะทำให้มีอิสรภาพและมีอำนาจในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายด้วยตนเองอย่างแท้จริง ไม่ขึ้นอยู่กับการกดดันหรือการบีบบังคับของประเทศมหาอำนาจใดๆ

การประชุมระดับประมุขสูงสุดของประเทศมุสลิมเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ตลอดจนการนำเสนอผลการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโลกมุสลิมที่มีความพร้อมเป็นอย่างสูง ทำให้จะต้องมีการคิดอย่างจริงจังเพื่อการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและทรัพยากรของประเทศมุสลิมในการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ ความมั่นคงทางการเมือง และเสรีภาพด้านนโยบายการเมืองและความมั่นคงตามความประสงค์

รวมถึงจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศมุสลิม 5 ประเทศ อันประกอบด้วยตุรกี กาตาร์ อินโดนีเซีย ปากีสถานและมาเลเซีย ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างชัดเจนในระยะหลังนี้ ตลอดจนการแสวงหาตลาด และการให้ความสะดวกต่อกัน การกำหนดสถานที่และตลาดเสรี ในลักษณะเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียนและ ตลาดร่วมของ สหภาพยุโร

5 ประเทศหลักดังกล่าวมีเป้าหมายและความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและจัดทำโครงการทางเศรษฐกิจร่วมกัน

เพราะประเทศดังกล่าว นี้มีทรัพยากรบุคคลมหาศาล มีประสบการณ์ทางเทคนิคชั้นสูงที่เพียงพอ รวมถึงลักษณะพิเศษอื่นๆที่มีอยู่ในประเทศเหล่านี้ เช่นการเป็นศูนย์รวมของโลกธุรกิจ เป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมระดับโลกซึ่งเชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกโลก กลุ่มประเทศตอนเหนือและโลกตอนใต้ ตลอดจนมีความพร้อมทางเศรษฐกิจอย่างสูง มีโครงการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จและมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

ซึ่งเป้าหมายระยะแรกของกลุ่มประเทศดังกล่าว ได้แก่ การจัดตั้งตลาดร่วม และการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในระดับที่สามารถสร้างโรงงาน สร้างเมือง สร้างท่าเรือและเรือใหญ่ได้

นอกจากนั้น การจัดตั้งสกุลเงินเดียว สำหรับกลุ่มประเทศมุสลิม ยังเป็นหัวข้อหลักที่คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการวิจัยด้านการเงิน จะนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากการที่หลายๆประเทศต้องการที่จะสลัดพ้นจากอิทธิพลการครอบงำของดอลลาร์อเมริกา

หัวข้อที่ทางเศรษฐกิจที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวดเหล่านี้ รวมถึงหัวข้ออื่นๆ จะเป็นวาระของการพิจารณาของกลุ่ม 5 ประเทศดังกล่าวและประเทศอื่นที่อาจจะเข้าร่วมภายหลัง เพื่อความสำเร็จในการจัดตั้งตลาดสำหรับโลกมุสลิมที่มีปัจจัยความสำเร็จอย่างครบถ้วนแล้ว หากมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะดำเนินการ

อ้างอิง https://www.turkpress.co/node/67035
เขียนโดย Ghazali Benmad

เกาะติดกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019

ก้าวแรกของการบำบัดรักษาโรคร้ายที่กำลังเกาะกินโลกอิสลาม

นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวว่า เราขอประกาศว่ามุสลิมทั้งมวลเป็นพี่น้องกัน ถึงกระนั้นมุสลิมประเทศต่างๆ กลับตกอยู่ภายใต้สงครามภายในที่ไม่มีวันสิ้นสุด สงครามระหว่างกลุ่มที่แตกต่าง ตลอดจนสงครามกับประเทศมุสลิมเพื่อนบ้าน บางครั้งถึงกับขอให้ศาสนิกอื่นมาทำสงครามกับพี่น้องมุสลิม

หนังสือพิมพ์ New Straits Times ของมาเลเซียรายงานรายงานว่า กัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 การประชุมในครั้งนี้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-21 ธันวาคม 2019 เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างโลกมุสลิมสู่มิติใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณของโลกมุสลิม

นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวในสารถึงผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ผ่านเว็บไซต์การประชุม klsummit.my ถึงสิ่งท้าทายและอุปสรรคที่โลกมุสลิมกำลังเผชิญ

สิ่งท้าทายส่วนหนึ่งได้แก่การใช้อำนาจเกินขอบเขต การคอรัปชั่น และถูกตราหน้าว่าเป็นดินแดนแห่งการก่อการร้าย

นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานในการประชุมครั้งนี้กล่าวว่า เป็นเวลานานมาแล้วที่ประเทศมุสลิมได้รับความเดือดร้อนถูกเชื่อมโยงกับการปกครองที่เลวร้ายและการคอรัปชั่นที่แพร่หลาย ตลอดจนเป็นแหล่งเพาะเชื้อกลุ่มก่อการร้าย

ต่อกรณีการก่อการร้าย นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า เราร้องตะโกนว่า ข้อกล่าวหาที่ว่า ประเทศของเราเป็นแหล่งเพาะเชื้อกลุ่มก่อการร้าย เพราะเป็นการกล่าวอ้างที่ไร้เหตุผลและต่อต้านอิสลาม เรารู้ดีว่านี้เป็นความจริง แต่เพราะความอ่อนแอของเราและความแตกแยกของเรา ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกเชื่อว่าเป็นความจริง และยังกล่าวว่า หากว่าสถานการณ์เช่นนั้นยังคงปกคลุมประเทศของเรา ซึ่งในที่สุดจะทำให้มุสลิมกลายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ตามชายหาดของประเทศที่ปกครองโดยศาสนาอื่น โดยที่ชะตากรรมของพี่น้องเราขึ้นอยู่กับความสงสารของพวกเขาเหล่านั้น”

ด้วยความเป็นมาเช่นนี้ จึงเกิดเป็นกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ขึ้น โดยมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ของมุสลิมและโลกอิสลาม

ตราบใดที่เรายังจำได้ถึงความยิ่งใหญ่และความเข้มแข็งของอารยธรรมอิสลาม ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ และเราต้องการที่จะให้หวนกลับคืนมา ซึ่งสิ่งนี้เป็นเพียงความฝันหากเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อการนั้น

Summit Kuala Lumpur ซึ่งมีบรรดาผู้นำและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมุสลิมมากมายมารวมตัวกัน โดยมีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะชี้ชัดถึงปัญหาที่โลกมุสลิมกำลังประสบ รวมถึงแนวทางแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความคิดยิ่งใหญ่อันจะปรากฏขึ้นในที่ประชุม Summit Kuala Lumpur แต่ความคิดที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำและรัฐบาลในโลกมุสลิม ความคิดดังกล่าวก็เป็นเพียงทฤษฎี

ข้าพเจ้าจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมประชุมซัมมิทกัวลาลัมเปอร์นี้ จะร่วมกันเปลี่ยนข้อมติต่างๆ สู่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

ผู้นำของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย กษัตริย์ตะมีมแห่งกาตาร์ ประธานาธิบดีแอร์โดฆานแห่งตุรกี นายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่านแห่งปากีสถาน และประธานาธิบดีอิหร่าน ตลอดจนผู้เข้าร่วมจาก 50 ประเทศ จำนวน 400 กว่าคนได้ยืนยันที่จะเข้าร่วม

โดยที่จะมีกิจกรรมให้ผู้นำมุสลิม นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาที่กำลังประสบอยู่

อ้างอิง : shorturl.at/kpK09
เขียนโดย Ghazali Benmad

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน

เกรวูฟเอาคืน เตรียมออกข้อมติ “อเมริกาฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุอินเดียแดง” ตอบโต้วุฒิสภาอเมริกาที่รับรองว่า ออตโตมานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาเมเนียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ 2 ประเทศ อเมริกาจะต้องไม่มีมติที่ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันแก้ไขได้อีก และตุรกีจะตอบโต้อเมริกาอย่างเท่าเทียมกัน

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานของตุรกี ได้กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ทีวีตุรกีช่องหนึ่งเกี่ยวกับข้อมติของวุฒิสภาอเมริกาที่รับรองการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียอันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริงว่า “เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ไม่มีน้ำหนัก”

ประธานาธิบดีตุรกียังชี้ให้เห็นว่า การจับขั้วทางการเมืองภายในของอเมริกามีผลทางลบต่อตุรกี และยังกล่าวว่า มีบางฝ่ายในอเมริกาต้องการให้เรื่องของตุรกีกดดันประธานาธิบดีทรัมป์

ประธานาธิบดีตุรกียังย้ำว่า มติของวุฒิสภาอเมริกาไม่สอดคล้องกับจิตวิญญาณของความเป็นพันธมิตรระหว่างตุรกีและอเมริกา และยังขัดแย้งกับข้อตกลงของทั้งสองประเทศที่ทำขึ้นในวันที่ 17 ต.ค. 2019 เกี่ยวกับกรณีซีเรีย

ประธานาธิบดีตุรกีย้ำว่า เราจะไม่นิ่งเฉยในกรณีที่อเมริกาออกมาตรการลงโทษตุรกี

นอกจากนั้น ประธานาธิบดีตุรกียังกล่าวว่า มีโอกาสที่รัฐสภาตุรกีจะออกข้อมติตอบโต้ข้อมติของวุฒิสภาเมริกา โดยอาจออกข้อมติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อินเดียแดงในอเมริกา โดยกล่าวว่า ทำไมเราจะกล่าวถึงกรณีอินเดียแดงในอเมริกาไม่ได้ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอินเดียแดงในอเมริกาเป็นความอัปยศที่ประทับอยู่บนหน้าผากของสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีตุรกียังคิดมาตรการตอบโต้อเมริกาในกรณีออกมาตรการลงโทษตุรกีว่า เราจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะปิดฐานทัพอินซิลีก Incirlik ในจังหวัดอะดานา และคูเรจิก Kurecik ในจังหวัดมาลาตียะห์ หากมีความจำเป็นและถึงเวลาอันเหมาะสม

ทั้งนี้ ฐานทัพอินซิลีก เป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกาในการทำสงครามกับกลุ่มไอสิสในซีเรีย ส่วนคูเรจิก เป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของนาโต้

ประธานาธิบดีตุรกีย้ำว่าคำสั่งปิดฐานทัพทั้งสองดังกล่าวอยู่ในอำนาจอธิปไตยของตุรกีแต่เพียงผู้เดียว

และนอกจากนั้น ยังเตือนอเมริกาไม่ให้ออกมาตรการลงโทษต่อตุรกี อันจะทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปจนไม่อาจแก้ไขได้อีก

พร้อมกับเรียกร้องสภาคองเกรสของอเมริกาให้ดำเนินการอย่างมีสติ ให้สอดคล้องให้เหมาะสมกับการเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศทั้งสอง

และกล่าวว่าตุรกีหวังว่ารัฐบาลอเมริกาจะดำเนินการตามความจำเป็น อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้ดำเนินการใดๆที่เป็นโทษต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง

ประธานาธิบดีตุรกียังกล่าวว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ของอเมริกาไม่พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับอาร์เมเนียให้ครบถ้วนสมบูรณ์เสียก่อน

ประธานาธิบดีตุรกีย้ำว่า ตุรกีมีเอกสารประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทางทหารมากกว่า 1 ล้านชิ้น และพร้อมที่จะให้นักประวัติศาสตร์และนักกฎหมายเข้าไปพิจารณาข้อเท็จจริง

พร้อมกันนั้นประธานาธิบดีตุรกีเรียกร้องอเมริกากับฝรั่งเศส ให้เปิดเอกสารประวัติศาสตร์ของตนเองเพื่อตัดสินเกี่ยวกับการใส่ความเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย

ประธานาธิบดีตุรกียังย้ำว่านักประวัติศาสตร์และนักกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมถึงนักการเมือง ที่มีคุณสมบัติ เพียงพอที่จะกล่าวถึงการใส่ความดังกล่าวและทำการศึกษาข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ วุฒิสภาเมริกาได้รับรองข้อมติ เหตุการณ์ในปี 1915 ว่า ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนีย

แม้ว่าข้อมติดังกล่าวไม่ถือเป็นกฎหมายแต่กระแสสังคมตุรกีทั่วไป ต่างประนามข้อมติดังกล่าว กลุ่มพรรคการเมืองต่างๆในรัฐสภาตุรกีเห็นว่า เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และเป็นการเล่นเกมส์การเมืองสกปรก

หลังจากที่ประธานาธิบดีตุรกีขู่ปิดฐานทัพอินซิลีกและโคราจิก เพนตากอนก็ออกมาให้ความเห็น กระทรวงกลาโหมอเมริกาได้กล่าวว่า ได้ทุ่มเทความพยายามเพื่อจะรักษาความสัมพันธ์กับตุรกี และกล่าวว่า ทหารอเมริกาที่อยู่ในฐานทัพ 2 ดังกล่าว เกิดขึ้นจากความเห็นชอบของรัฐบาลตุรกี

และว่า การคงอยู่ของทหารอเมริกาในตุรกีเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของเรา ที่จะร่วมมือและปกป้องรักษาพัธมิตรของเราในนาโต้และพันธมิตรยุทธศาสตร์ของเรา

เขียนโดย Ghazali Benmad

Jabel Ali Free Zone (Jafza) เมืองเซินเจิ้นแห่งตะวันออกกลาง

เป็นเมืองท่าปลอดภาษีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บริเวณ Jabel Ali ห่างจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปทางตะวันตก 35 กม. ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1985

Image Credit www.gulfnews.com

เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งดูไบแห่งนี้ ถือเป็นยุทธศาสตร์สร้างเมืองใหม่ของเจ้าผู้ครองดูไบ ที่จะสร้างศูนย์รวมอุตสาหกรรมผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อรองรับการขาดแคลนทรัพยากรน้ำมันในอนาคต โดยให้โอกาสแก่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนปลอดภาษี 50 ปี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องถือสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาสร้างฐานการผลิตที่นี่ ปัจจุบันมีบริษัทกว่า 5,000 บริษัท และผู้อาศัยกว่า 30,000 คน ประกอบธุรกิจที่เมืองนี้ บริหารโดย Dubai Ports World (DP World) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนเพื่อการลงทุนโดยชีค มูฮัมมัด บินราชิด อาลมัคทูม เจ้าผู้ปกครองนครดูไบเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าของก๊อปที่ใหญ่ที่สุดรองจากประเทศจีน ที่ครอบคลุมเครื่องอุปโภคบริโภคทุกชนิด ตลาดรายใหญ่ที่สุดคือซาอุดีอาระเบีย และประเทศอ่าวอาหรับ

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว สื่อโชเชี่ยลของชาวซาอุดีฯ ได้โพสต์เรื่องราวสินค้าที่มาจากยูเออี ว่าไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการบุหรี่ที่ชาวโชเชียลซาอุฯระบุว่ามีสารอันตรายปนอยู่ในบุหรี่ที่ผลิตในยูเออี จนกระทั่งเกิดกระแสบอยคอตสินค้าที่ผลิตในยูเออี

ดูเพิ่มเติม
https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%8C

https://www.bbc.com/arabic/trending-50757793

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ