อะสัดฉลองคริสต์มาสชื่นมื่นกับปูติน ในขณะที่อิรักลุกเป็นไฟ

เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ใช้วันคริสต์มาสคริตจักรรัสเซียนออร์โธดอกซ์ในซีเรียร่วมกับประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เป็นการเดินทางที่ไม่มีการเปิดเผยล่วงหน้า หารือร่วมกับผู้นำซีเรียในการต่อต้านก่อการร้าย มีการหยุดแวะที่มัสยิดสำคัญในกรุงดามัสกัส

RT รายงานเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.) ว่า ในวันคริสต์มาสของคริตจักรรัสเซียนออร์โธดอกซ์ปีนี้ผู้นำรัสเซียเดินทางมายังซีเรีย และได้ใช้ช่วงเวลาที่สำคัญร่วมกับประธานาธิบดีซีเรีย บาชาร์ อัล-อัสซาด พบเครื่องบินของประธานาธิบดีรัสเซียร่อนแตะพื้นสนามบินกรุงดามัสกัสในวันอังคาร (7) สร้างความแปลกใจให้กับทุกคน จากการที่ปูตินปรากฎตัวก่อนหน้าในช่วงเย็นวันก่อนหน้าที่เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กของรัสเซีย

การเดินทางเยือนกรุงดามัสกัสแบบปิดเป็นความลับ

ผู้นำรัสเซียได้หารือร่วมกับผู้นำซีเรียถึงประเด็นต่อต้านก่อการร้าย และปูตินยังได้มีโอกาสไปเยือนสถานที่สำคัญทางศาสนาในประวัติศาสตร์ของเมือง โดยสื่อรัสเซียชี้ว่า หลังทั้งคู่สิ้นสุดการหารือได้มีการออกเดินทางด้วยเท้าผ่านใจกลางกรุงดามัสกัส และได้หยุดแวะที่มัสยิด อูเมย์ยาด (Umayyad Mosque) หรือที่รู้จักในนามมัสยิดที่ยิ่งใหญ่ที่ถือกันว่าเป็นหนึ่งในมัสยิดขนาดใหญ่ที่สุดและมีความเก่าแก่มากที่สุดในโลกอิสลาม

และได้มีการเดินทางต่อไปยังโบสถ์ออร์โธดอกซ์ที่เก่าแก่ที่สุดของซีเรีย มหาวิหารมาเรียไมท์ (Mariamite Cathedral) ถูกสร้างในศตวรรษที่ 2 และยังเป็นที่ประทับของจอห์นที่ 10 (John X) พระอัครบิดรแห่งอันติออกค์และตะวันออกทั้งหมด (Patriarch of Antioch and All the East) ที่ทรงได้ต้อนรับปูติน

พบว่าพระอัครบิดรได้ทรงขอบพระทัยต่อประธานาธิบดีรัสเซียที่ได้ส่งกองทัพรัสเซียมาช่วยซีเรียในการต่อต้านผู้ก่อการร้าย และหากปราศจากการช่วยเหลือมหาวิหารแห่งนี้คงกลายเป็นสำนักใหญ่ของกลุ่มก่อการร้าย IS ไปแล้ว และยังตรัสว่า ซีเรียเป็นประเทศที่ทั้งศาสนาคริสต์และอิสลามสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีสิทธิเท่าเทียม

RT รายงานว่าหลังจากนั้นปูตินได้เดินทางต่อไปยังตุรกีเพื่อร่วมการหารือด้านความมั่นคงและการค้ากับประธานาธิบดีตุรกีและร่วมพิธีเปิดการใช้ท่อส่งก๊าซเติร์กสตรีม

ที่มา : https://mgronline.com/around/detail/9630000002285?fbclid=IwAR0lwZln-CUMIw60kyuZCWqxgotLVzYothzyrZiF9xxk4OlEwWmzsgMCT1M

เมื่ออิรัก กลายเป็นสนามรบกลาง

หลังจากที่สหรัฐสังหารบุคคลสำคัญอันดับ 1 ตัวจริงเสียงจริงของอิหร่านเมื่อ เช้าตรู่วันที่ 3 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา อิหร่านได้ตอบโต้ถล่มฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งเมื่อเช้าตรู่วันที่ 8 มกราคม 2563 ทั่วโลกพากันตื่นเต้นคาดการณ์ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 แต่ไม่เคยสนใจว่า อิรักได้กลายเป็นสนามรบกลางระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านไปแล้ว

พูดง่ายๆ คือ อิรักถูกยึดครองโดยสหรัฐฯและอิหร่านโดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ไปแล้วนั่นเอง

ขนาดจิ๊กโก๋ 2 คนมาทะเลาะหน้าบ้าน เจ้าของบ้านมีสิทธิ์ไล่ตะเพิดให้ทะเลาะพ้นบ้านไปไกลๆ

แต่นี่ดันมาทะเลาะภายในบ้าน ทำข้าวของภายในบ้านเสียหายแตกกระจายไปหมด แถมยังเผาบ้านเสียหายวายวอด จนเจ้าของบ้านต้องหนีตายอลหม่าน ส่วนสมาชิกที่เหลือก็ได้แต่มองตาปริบๆ

ถามว่าศักดิ์ศรีของเจ้าของบ้านอยู่ที่ไหนกัน

โลกปัจจุบันได้เสียสติไปแล้ว เพราะแทนที่จะเห็นใจสงสารเจ้าของบ้าน แต่กลับตื่นเต้นกับไอ้จิ๊กโก๋ 2 คนนั่น

สมมติเล่นๆนะครับว่า จีนกับญี่ปุ่นขัดแย้งกันรุนแรง ถึงขั้นจีนสังหารนายพลญี่ปุ่นที่สนามบินกองทัพไทย ญี่ปุ่นแค้นจัด จึงถล่มฐานทัพจีนที่เมืองไทยเป็นการตอบโต้

ถามว่ารัฐบาลไทย ประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ยังมีศักดิ์ศรีเหลืออยู่อีกหรือไม่

เช่นเดียวกันกับประเทศอิรัก เขามีศักดิ์ศรี มีอธิปไตย มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับทุกประการ

40 ปี ที่ทำสงคราม(น้ำลาย)ระหว่างกัน บ้านใหญ่ของ 2 ซาตานยังปกติทุกประการ แต่ที่แหลกลาญเป็นจุณคือเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะอิรัก ซึ่งได้กลายเป็นสนามรบกลางระหว่าง 2 ซาตานไปแล้ว นี่ประเทศทั้งประเทศนะครับ ไม่ใช่สนามกลางแข่งบอลยูฟ่า

اللهم أهلك الظالمين بالظالمن وأخرجنا من بينهم سالمين
โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดทำลายจอมอธรรมด้วยน้ำมือของจอมอธรรมด้วยกันเอง และขอให้เราออกจากพวกเขาโดยปลอดภัยด้วยเถิด

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ปรากฏการณ์กงล้อทางอารยธรรม

ภาพจาก turnleftthai.wordpress.com

ช่วง 2008- 2011 (5ปี) มี 2 ปรากฏการณ์ใหญ่สนั่นโลก ได้แก่
1) วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา และ
2) ปรากฏการณ์ปฏิวัติดอกมะลิ (Arab spring) ที่เริ่มในต้นปี 2011 และได้บานปลายจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นเหตุการณ์สั่นสะเทือน “ภาพมายาคติ (Myth)” ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯที่ถูกท้าทายจาก “ขบวนการก่อการร้าย” (Terrorism) ตามหลักหมุดของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นวาทกรรม (Discourse) ในสังคมการเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านการผลิตและผลิตซ้ำ (Reproduce) โดยสหรัฐฯ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติอาหรับและอิสลาม ภายใต้นโยบายชิงโจมตีก่อน (Preemtion) ตลอดจนความพยายามที่จะสถาปนา “ระเบียบโลกใหม่” (New World Order) ให้หมุนตามความต้องการของวอชิงตัน

วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ได้สร้างบทเรียนมากมายที่สะท้อนถึงการล่มสลายของวิถีชีวิตขั้นพื้นฐานของยุโรป เป็นภาวะการชะงักงันการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตที่เป็นศูนย์ (Zero Growth) ที่มีสาเหตุสำคัญเนื่องจากเกิดช่องว่างระหว่างวัยที่สูงมาก กล่าวคือประชากรยุโรปมีวัยที่เลยเกษียณเป็นจำนวนมาก กลุ่มนี้ไม่มีบทบาทในการกระตุ้นหรือขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยุโรปจึงไม่มีวัยทำงานที่มีจำนวนเพียงพอในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เนื่องจากยุโรปล้มเหลวในการผลิตชนรุ่นใหม่ที่มีความทะเยอทะยานและมุ่งมั่นทำงาน ทั้งนี้เพราะโครงการคุมกำเนิดที่ดำเนินโดยยุโรป ช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้ทำลายโครงสร้างของสถาบันครอบครัว ที่แต่ละคนมุ่งแต่ใช้สถาบันนี้เป็นเพียงแหล่งบันเทิงทางกามารมณ์ ภายใต้แนวคิดเซ็กส์เสรีเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอนุชนที่ดีและมีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เพราะยุโรปใช้น้ำ(อสุจิ)ที่ไม่ก่อประโยชน์ อันใดเลย เป็นการปล่อยน้ำฟุ่มเฟือย ไร้การควบคุม ยุโรปจึงไม่สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์จากน้ำที่อัลลอฮฺประทานให้ เนื่องจากจมปลักในแนวคิดเซ็กส์เสรี ทั้งๆที่อัลลอฮฺได้สร้างทุกสิ่งที่มีชีวิตมาจากน้ำทั้งสิ้น วิกฤตินี้จึงไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น มันเป็นปรากฏการณ์ฟองสบู่แตก จากฐานรากในสังคมที่ถูกหมักหมมมานาน และเป็นอุบายประการหนึ่งของอัลลอฮฺที่ต้องการทำลายประชาชาติที่อหังการจากแกนของมัน
ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวในอัลกุรอานความว่า

“ผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และบนความโปรดปรานนั้นดีกว่าหรือว่าผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนริมขอบเหวที่จะพังทลายลง แล้วมันก็พัง นำเขาลงไปในนรกและอัลลอฮ์นั้นจะไม่ชี้แนะทางแก่กลุ่มชนที่อธรรม” (อัตเตาบะฮฺ /109)

สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักยุโรปเข้าไปในวังวนวิกฤติเศรษฐกิจคือ วิถีแห่งความฟุ่มเฟือยที่ซึมลึกเข้าไปในวัฒนธรรมบริโภคนิยมของชาวยุโรป ในอัลกุรอานใช้คำว่า الترف หมายถึงฟุ่มเฟือยหลายที่ด้วยกัน และแต่ละครั้งก็จะเกี่ยวโยงกับความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งเป็นต้นตอของความล่มสลายของประชาชาติในที่สุด จนกระทั่งมีคนกล่าวว่า “ฉันไม่เห็นความฟุ่มเฟือยในสังคมใด นอกจากว่าในสังคมนั้นมีความอยุติธรรมควบคู่อยู่เสมอ” ما رايت اسرافا الا وبجانبه ظلم พฤติกรรมบริโภคนิยมของยุโรป เป็นสิ่งที่ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ยุโรปจึงต้องการสะสมทรัพยากรมหาศาลมาจุนเจืออยู่ตลอดเวลา เนื่องจากทรัพยากรในประเทศมีจำนวนจำกัด พวกเขาจึงต้องไปปล้นสะดมทั่วโลกตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน สงครามอ่าวที่ผ่านมาน่าจะเป็นสิ่งยืนยันในเรื่องนี้ดี วัฒนธรรมบริโภคนิยมได้ซึมลึกเข้าไปในวิถีชีวิตของชาวยุโรป ประเทศไม่มีวัยทำงานที่เพียงพอกับความต้องการทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พวกเขาบริโภคเกินความต้องการที่จำเป็นในชีวิต และเกินกว่าฐานะรายได้หรือความสามารถในการผลิตของคนหรือของประเทศ ทำให้ประเทศต้องแบกภาระหนี้มหาศาล ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคนิยมได้ในระยะเวลาอันสั้น ถือเป็นการทำลายอารยธรรมจากรากฐาน และทำให้อารยธรรมนี้พังครืนไปในที่สุด

คล้อยหลังวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์สถานการณ์โลกทุกสำนักในโลกนี้ แม้กระทั่งนักทำงานอิสลามนานาชาติก็ไม่เคยวิเคราะห์มาก่อนเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถึงขนาดเคยมีคำกล่าวว่า เราไม่เชื่อกับวิธีการปฏิวัติ และไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะเกิดผลประโยชน์อันใดเลย Arab Spring จึงเป็นปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่กำลังลุกลามอยู่ในโลกเวลานี้ มีชื่อเรียกว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ” หรือ The Jasmine Revolution เนื่องจากการปฏิวัติดังกล่าวเริ่มต้นที่ประเทศตูนิเซีย ซึ่งมีดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำชาติ ต่อมาลุกลามไปที่อิยิปต์ ลิเบีย เยเมน และขณะนี้กำลังคุกรุ่นอยู่ที่ซีเรีย ซึ่งถือเป็นโฉมใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอิสลามในไม่ช้านี้ เพราะการปฏิวัติประชาชนก่อนหน้านี้ถือเป็นการปฏิวัติของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่ซีเรียเป็นการกระชากหน้ากากของผู้อยู่เบื้องหลังของผู้แอบอ้างอิสลาม เพื่อทำลายอิสลามจากภายใน
ชัยค์อะลีย์ อัศศอบูนีย์ได้กล่าวระหว่างทัวร์ความรู้ในประเทศมาเลเชียและอินโดนีเซียช่วงปลายปี 2012 ว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ซีเรียเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดระหว่างขั้ว لا اله الا الله และ لا اله الا بشار เลยทีเดียว
ซึ่งขั้วแรกจะต้องได้รับชัยชนะอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่สะเทือนโลกนี้ เป็นการยืนยันทฤษฎี กงล้อทางอารยธรรม التدوال الحضاري เพราะหากความเจริญของสังคมทุกสังคมย่อมมีที่มาที่ไปของมัน การล่มสลายของแต่ละสังคมย่อมมีเหตุผลของมันเช่นกัน ดังนั้นทฤษฎีกงล้อทางอารยธรรม จึงเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่มีภาวะขึ้นลงตามวิถีของมัน ถือเป็นอายุขัยของแต่ละประชาชาติและอารยธรรมในทุกยุคทุกสมัย เป็นการขึ้นลงที่มีความสมดุลตามวิถีของอัลลอฮฺ (สุนนะตุลลอฮฺ) ล้อเกวียนจะหมุนเร็วเท่าไหร่ ส่วนอื่นก็จะหมุนตามจังหวะนั้นไปด้วย อารยธรรมใดที่เคยอยู่ส่วนบนได้ล่มสลายไปอย่างรวดเร็วฉันใด อารยธรรมอื่นก็จะขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็วฉันนั้น

وتلك الايام نداولها بين الناس وليعلم الله الذين امنوا ويتخذ منكم شهداء والله لا يحب الظالمين
และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์ และเพื่ออัลลอฮ์จะได้ทรงรับรู้บรรดาผู้ที่ศรัทธา และเพื่อเอาบรรดาผู้เสียชีวิตในสงคราม จากพวกเจ้าและอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงรักใคร่ผู้อธรรมทั้งหลาย (อาละอิมรอน / 140)

หลายฝ่าย ฟันธงว่า อารยธรรมอิสลามเป็นอารยธรรมใหม่ที่จะมาแทนที่อารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว คำถามก็คือ แล้วประชาชาติมุสลิมมีความพร้อมที่จะอยู่ด้านบนสุดของล้อเกวียนมากน้อยแค่ไหน

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

บทความยอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว โดย ศ.ดร.มุฮัมมัดฮาบีบ อัลมัรซูกีย์ นักคิดตูนีเซีย

บทความยอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว
โดยศาสตราจารย์ ดร.มุฮัมมัดฮาบีบ อัลมัรซูกีย์ นักคิดตูนีเซีย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตูนีเซีย อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยตูนีเซีย และมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย

***

การที่ประเทศกรีซกลัวความก้าวหน้าและความทะเยอทะยานของตุรกีที่จะกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่และบทบาทเหมือนเช่นในอดีต เป็นที่เข้าใจได้ เพราะกรีซยังไม่ลืมว่าในอดีตยุคหนึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมัน แม้จะลืมไปว่าออตโตมันได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่พวกเขา อันเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลาม ที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความคลั่งในศาสนาคริสต์ออโตด๊อกซ์ของพวกเขา

หากว่าไม่มีออตโตมัน แน่นอนพื้นที่ทะเลในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด ก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของโรมันเหมือนเช่นในอดีต ที่ทะเลแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาโรมันว่า “ทะเลมารานุตรา” และกษัตริย์ชาร์ล ที่ 5 ต้องการเข้ามาปกครองเหมือนเช่นในอดีตอีกครั้ง

การที่ฝรั่งเศสหวาดกลัวตุรกีด้วยเหตุผลเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากฝรั่งเศสยังไม่ลืมว่าความใฝ่ฝันของบรรพบุรุษของพวกเขาจบลงพร้อมกับการเข้ามาของออตโตมัน แม้ว่าฝรั่งเศสจะลืมไปว่าบรรพบุรุษของพวกเขาได้รับการคุ้มครองโดยอาณาจักรออตโตมันเช่นกัน

การที่โปรตุเกสกลัวตุรกีก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะอาณาจักรออตโตมันเป็นผู้ขับไล่พวกเขาออกจากอ่าวอาหรับ ทะเลแดง และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

การที่เยอรมันกลัวออตโตมัน ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่าออตโตมันเป็นผู้ทำให้กษัตริย์ชาร์ล ที่ 5 ผู้สถาปนายุโรปสมัยใหม่ ต้องถูกขับไล่พ้นไปจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และออตโตมันยังทำให้สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เกิดขึ้นกับอาหรับในแอนดาลุสเซียสิ้นสุดลง และยับยั้งแผนการของไกเซอร์ในภูมิภาคนี้

การที่ชนชาติเปอร์เซียกลัวตุรกีก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะว่าพวกเขาต่อต้านอิสลามสายสุนหนี่มาตลอด ตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน และไม่มีใครกำหราบพวกเขาได้ ยกเว้นเซลจู๊กเติร์กในยุคแรก และออตโตมันเติร์กในยุคหลัง

แต่การที่อิสราเอลกลัวตุรกีเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้เลย ยกเว้นเรื่องของการ ไม่รู้จักบุญคุณคนและอันธพาลทางเชื้อชาติ เพราะว่าออตโตมันเป็นผู้คุ้มครองยิวในโลกในช่วงสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสงครามศาสนาในยุคครูเสด

ที่ยิ่งไม่เข้าใจไปกว่านั้น คือการที่ชนชั้นปกครองของอาหรับกลัวตุรกี และมุ่งมาดปรารถนาที่จะต่อต้านทำลายตุรกี

เป็นปริศนาที่ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่ อาหรับคนหนึ่ง หากว่ามีความเป็นลูกผู้ชายแม้เพียงสักเศษเสี้ยว ก็ย่อมไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่า หลังจากสิ้นสุดราชวงศ์อุมัยยะฮ์หลักและอุมัยยะฮ์สายย่อย หากว่าไม่มีเติร์กช่วยคุ้มครองไว้ อาหรับก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้มาถึงวันนี้

หากไม่มีออตโตมัน มุสลิมสุนหนี่และอาหรับก็จะไม่มีหลงเหลืออีก

หากไม่มีออตโตมัน ก็จะไม่มีมุสลิมสักคนคงเหลือในภูมิภาคอาหรับ เพราะว่า สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เกิดขึ้นยุคนั้น-หมายถึงอาหรับในแอนดาลุสเซีย- ร้ายแรง ยิ่งกว่าสงครามครูเสดเพราะสงครามครูเสดเกิดขึ้นในยุคที่อิสลามเจริญสูงสุดและเข้มแข็งที่สุด ในขณะที่ สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้นับถือศาสนาอิสลามในแอนดาลุสเซีย เกิดขึ้นในช่วงที่อาหรับตกต่ำที่สุด ทั้งทางจิตวิญญาณและวิทยาการทางวัตถุ

หากว่าไม่มีออตโตมัน แน่นอนพื้นที่ทะเลในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมด ก็จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของโรมันเหมือนเช่นในอดีต ที่ทะเลแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาโรมันว่า “ทะเลมารานุตรา” และกษัตริย์ชาร์ล ที่ 5 ต้องการเข้ามาปกครองเหมือนเช่นในอดีตอีกครั้ง

เขตทะเลอาหรับ ทะเลแดง และอ่าวเปอร์เซีย ก็เช่นเดียวกัน หากว่าข้อตกลงสัญญาพันธมิตรระหว่างซาฟาวิดและโปรตุเกส เกิดขึ้นจริงอย่างที่คาดหวัง แน่นอนอิหร่านปัจจุบันก็จะได้ครอบครองเขตพื้นที่ทั้งหมดที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของเปอร์เซียโบราณก่อนอิสลาม รวมถึงเขตอาณานิคมของไบเซนไตน์

อิสราเอลปัจจุบัน มาแทนที่อาณาจักรไบแซนไทน์ในอดีต และรัสเซีย โดยวลาดิเมียร์ปูติน อาจวางแผนที่จะฟื้นคืนบทบาทไบเซนไทน์ในภูมิภาคนี้ในอดีตเช่นกัน

แต่ที่สามารถเข้าใจได้ก็คือ จุดยืนของผู้ปกครองโลกอาหรับปัจจุบัน ย่อมเป็นจุดยืนโดยธรรมชาติของผู้ปกครองที่ อังกฤษแต่งตั้งขึ้น เพื่อการทรยศหักหลังออตโตมัน และเป็นพันธมิตรร่วมกันโค่นอาณาจักรออตโตมันในอดีต

และเข้าใจได้ว่าอาหรับชาตินิยมบางกลุ่ม และซากเดนของเผด็จการฟาสซิสต์ และกลุ่มซ้ายจัดที่เป็นทาสของเผด็จการทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในอาหรับอย่างเดียว

เข้าใจได้ที่คนเหล่านี้ล้วนหวาดกลัวต่อการหวนคืนของตุรกีสู่การเป็นอิสลามเหมือนเช่นบรรพบุรุษ รวมถึงความยิ่งใหญ่ของพวกเขา ซึ่งสิ่งนี้หมายถึง ความเพ้อฝันของอาหรับเหล่านั้น ที่จะใช้ชีวิต อย่างเกษมสำราญ บนเปลือกของเศษซากของอารยธรรม อ้างว่าเป็นความทันสมัยและวัฒนธรรมยุคใหม่ ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของการแสวงหาความสุขสำราญไปวันๆ

ผู้เขียนไม่เคยเห็นชนชั้นนำของประเทศไหนที่โง่เง่าเช่นนี้ ที่เห็นว่าความทันสมัย คือการใช้ชีวิตในฐานะผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ผลิตที่มีเกียรติศักดิ์ศรี มีจิตวิญญาณเสรี และไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ใด

สิ่งที่ไม่เข้าใจอีกประการหนึ่งคือ ทั้งๆ ที่ตุรกีไม่มีอะไรน่ากลัวสำหรับชาวอาหรับ ถ้าหากพวกเขามีสมองเพียงเล็กน้อย เพียงแค่รวมรัฐเล็กๆ 4 รัฐในโลกอาหรับ ก็เพียงพอที่จะสามารถเป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งอำนาจทางทหารที่ทัดเทียมกับตุรกีหรือมากกว่าเป็นเท่าตัว เพราะรายได้มวลรวม GDP ของประเทศเหล่านั้นมีมากกว่าล้านล้านดอลลาร์

เพียงแค่พวกเขามีความใฝ่ฝันเหมือนบรรพบุรุษ ก็จะสามารถหลุดพ้นจากการเป็นเด็กๆ ไร้สมองของพวกเขา เพราะรายได้จีดีพีของพวกเขาเหนือกว่าจีดีพีของตุรกี

จริงๆ แล้วอาหรับไม่จำเป็นต้องกลัวตุรกี แต่สามารถใช้เป็นที่พึ่ง ปกป้องประชาชาติอิสลามในโลกอาหรับรวมถึง ประชาชาติทั้งมวล ตั้งแต่อาหรับภาคตะวันตกไปจนกระทั่งอินโดนีเซีย รวมถึงมุสลิมพลัดถิ่นในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกหากว่าอาหรับผู้สถาปนารัฐอิสลามยุคแรกและตุรกีผู้พิทักษ์ยุคหลัง จับมือกันจริงๆ เหมือนเช่นในอดีต

ผู้เขียนไม่เคยเห็นชนชั้นนำของประเทศไหนที่โง่เง่าเช่นนี้ ที่เห็นว่าความทันสมัย คือการใช้ชีวิตในฐานะผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ผลิตที่มีเกียรติศักดิ์ศรี มีจิตวิญญาณเสรี และไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ใด

หากทว่าในความเป็นจริง บรรดาผู้นำอาหรับ -ไม่รวมประชาชนชาวอาหรับ -ที่ไร้ความใฝ่ฝันกลับชอบที่จะแตกแยก
พวกเขามี 2 กลุ่ม กลุ่มทาสและกลุ่มผู้อยู่ภายใต้อารักขา

ผู้นำอาหรับส่วนหนึ่งเป็นทาสของซาฟาวิด บางส่วนเป็นทาสของไซออนิสต์ พวกเขาจ่ายค่าคุ้มครองอีก 2 เท่า ให้แก่รัสเซียและอเมริกา ตลอดจนแขนขาของทั้งสอง ทั้งอิหร่านและอิสราเอล และมีความสุขอยู่กับการกลับไปสู่ความแตกแยกเหมือนชนเผ่าอาหรับโบราณ

สิ่งเหล่านั้นทำให้ผู้ปกครองอาหรับในวันนี้ กดขี่ประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณ ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ มีการอุปโลกน์ผู้นำจอมปลอมและพวกกเฬวรากให้กลายเป็นวีรบุรุษกลวงๆ ให้เป็นชนชั้นนำทางการเมืองและทางการศึกษา ทั้งๆที่ ผู้นำเหล่านั้นนำพาประเทศไปสู่ความตกต่ำ ความใฝ่ฝันสูงสุดของผู้นำเหล่านั้นคือการรับเอาความเจริญรุ่งเรืองที่ผิดที่ผิดทาง เนื่องจากพวกเขาคิดว่าความเจริญรุ่งเรืองเป็นสิ่งของสำเร็จรูปที่สามารถนำเข้ามาได้ พวกเขายังสับสน ยังเข้าใจผิดคิดว่านั่นเป็นความเจริญ

อัลลอฮ์สร้างคนมาหลากหลายประเภทจริงๆ

—————
แปลสรุปโดย Ghazali benmad

อ่านต้นฉบับเต็มๆที่
http://howiyapress.com/%d8%a7%d9%84%d8%b9%d8%ab%d9%85%d8%a7%d9%86%d9%88%d9%81%d9%88%d8%a8%d9%8a%d8%a7/

ติดตามอ่านบทความต่างๆของท่านได้ทาง https://twitter.com/Abou_Yaareb?s=09

รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศลิเบียแจ้งไม่พร้อมต้อนรับคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอียู

รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศลิเบียแจ้ง ไม่พร้อมต้อนรับคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มอียู

ภาพจาก mugtama.com

มุฮัมมัด สิยาละฮ์ รัฐมนตรีต่างประเทศลิเบีย ได้แจ้งกับบรรดาคณะรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศยุโรป ให้ชะลอการเดินทางมาเยือนลิเบีย ออกไปก่อน จากเดิมที่มีกำหนดว่า จะมาเยือนในวันที่ 7 มกราคม 2563

การปฏิเสธการมาเยือนของกลุ่มประเทศยุโรปในครั้งนี้ บ่งบอกถึงความไม่พอใจของลิเบียที่มีต่อยุโรป ที่ไม่เคยแสดงความตั้งใจที่จะมาแก้ไขปัญหาจากการถูกโจมตีโดยกองกำลังของนายพลฮัฟตาร์ แต่หลังจากที่ตุรกีลงนามในสัญญา การทหารและความมั่นคง ก็ขอมาเยี่ยมเยียนทันที ซึ่งลิเบียและตุรกีมองว่าเป็นการเข้ามาขัดขวางการทำงานของตุรกีมากกว่าที่จะต้องการแก้ไขปัญหาของลิเบีย อีกทั้งกลุ่มประเทศยุโรปบางส่วน เช่น ฝรั่งเศส ก็เป็นผู้สนับสนุนนายพลฮัฟตาร์ ในการโจมตีรัฐบาลลิเบีย รวมถึงมีกระแสว่ากลุ่มยุโรปและมหาอำนาจ ต้องการรับรองสถานะของนายพลฮัฟตาร์ ให้เท่าเทียมกับรัฐบาลลิเบีย ที่สหประชาชาติรับรอง ในการประชุมแก้ปัญหาลิเบียที่กรุงเบอร์ลินปลายเดือนนี้

เขียนโดย Ghazali benmad

มหากาพย์ลิเบีย (ตอนที่ 1)

หลังจากอดีตผู้นำลิเบียกัดดาฟีถูกโค่นล้มในปี ค.ศ. 2011 ส่งผลให้ลิเบียเกิดภาวะไร้ขื่อแป เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มติดอาวุธนับร้อยทั่วประเทศ ส่งผลให้มีรัฐบาลลิเบียสองชุด ชุดแรกเรียกว่ารัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (The Government of National Accord – GNA) อยู่ในกรุงตริโปลี ภาคตะวันตกเป็นรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ อีกชุดหนึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองโตบรุก ทางภาคตะวันออก โดยมีกองกำลังติดอาวุธกองทัพแห่งชาติลิเบีย (Libyan National Army -LNA) ของจอมพล เคาะลีฟะฮ์ ฮัฟตาร์ ซึ่งมีสหรัฐฯ อียิปต์ และสาธารณรัฐอาหรับอิมิเรตส์หนุนหลัง

จอมพลฮัฟตาร์ (77 ปี) มีภารกิจคล้ายๆกับนายพลซีซีย์แห่งอิยิปต์ สื่ออาหรับเรียกเขาว่า ซีซีย์แห่งลิเบียทีเดียว

เขาได้รับการสนับสนุนทางอาวุธจากมหาอำนาจตะวันตกโดยมีประเทศอาหรับบางประเทศคอยเป็นเจ้าภาพคอยจ่ายสดให้ หลังจากลี้ภัยที่สหรัฐฯเกือบ 20 ปี แต่กลับสามารถสร้างกองทัพที่เข้มแข็ง ท้าทายความมั่นคงของรัฐบาลกลางตริโปเลีย ภายในระยะเวลาสั้นๆเพียง 3-4 ปี พร้อมๆกับข้ออ้างของสหรัฐฯว่า ต้องการปราบปรามกลุ่มไอเอสที่ลิเบีย

จอมพลฮัฟตาร์เริ่มปฏิบัติการจุดไฟสงครามกลางเมือง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค. ศ. 2014 และยืดเยื้อจนกระทั่งปัจจุบัน ทั้งๆที่รัฐบาลได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ผ่านการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยทุกประการ แต่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ได้โหวตคัดค้านมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่จะหยุดยั้งการบุกโจมตีกรุงตรีโปลีของจอมเผด็จการเปื้อนเลือด จอมพลฮัฟตาร์ แม้กระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศยอมรับว่าจอมพลฮัฟตาร์ มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายและการรักษาความมั่นคงของลิเบีย

ใครที่ยังไม่เข้าใจบทบาทของที่ลิเบียขอให้รีวิวบทบาทของนายมะห์มูดอับบาส แห่งปาเลสไตน์ นายซีซีย์แห่งอียิปต์ กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ PKK ที่ตุรกี และกลุ่มสาขาย่อยของ PKK ทางภาคเหนือซีเรียและอิรัก

ชาติมหาอำนาจตะวันตกคำรามก้องทั่วโลกว่า จะปราบปรามก่อการร้าย แต่กลุ่มก่อการร้ายกลับผุดขึ้นอย่างเข้มแข็ง อย่างดอกเห็ดทั่วโลกเช่นกัน เพราะกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ หาใช่เป็นใครอื่น นอกจากเป็นกลุ่มไวรัสที่บริษัทแอนตี้ไวรัสตั้งใจสร้างขึ้นมา และเผยแพร่ไปทั่วโลก เพื่อหวังกำไรจากธุรกิจนี้ให้มากที่สุดเท่านั้น

คลิปชาวลิเบียตะโกนด่านายหัฟตาร์ว่า เป็นศัตรูของอัลลอฮ์ หลังจากที่เขาถล่มชาวบ้านเมื่อ เมษายน 2019 ที่ผ่านมา

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ตุรกีส่งทหารเข้าลิเบียตามข้อตกลงทวิภาคีระหว่างตุรกีกับลิเบีย

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานแห่งตุรกีประกาศ เริ่มส่งทหารเข้าไปช่วยรัฐบาลลิเบีย ในขณะที่อียิปต์ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้นำศาสนาของอียิปต์และซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์คัดค้าน

ท่ามกลางความโกลาหล ที่กองกำลังนายพลฮัฟตาร์ โดยการสนับสนุนของอียิปต์ อิมิเรตส์ รัสเซียและซูดาน ทุ่มเทกำลังพลและอาวุธ บุกโจมตีฝ่ายรัฐบาลในกรุงทริโปลีอย่างหนักหน่วง เมื่อวันอาทิตย์วานนี้ 5/1/2563 ทำให้โรงเรียนนายร้อยของลิเบียถูกเครื่องบินโจมตี และมีนักเรียนนายร้อยเสียชีวิต 30 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

สถานการณ์เลวร้ายถึงขนาดที่ฝ่ายรัฐบาลลิเบียอาจจะต้องถูกกองทัพนายพลฮัฟตาร์ยึดเมืองหลวงได้ หากไม่ได้ตุรกีที่เข้ามาแทรกแซงตามข้อตกลงทางทหารกับลิเบีย

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานแห่งตุรกีให้สัมภาษณ์ ผ่านช่อง CNN และช่อง D เมื่อวันอาทิตย์วานนี้ 5/1/2563 ว่า ยืนยันที่จะสนับสนุนรัฐบาลที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ และจะไม่รับการแก้ปัญหาแบบพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลที่ชอบธรรมและได้รับการรับรองจากสหประชาชาติกับฝ่ายกบฏ พร้อมประกาศว่า ทหารตุรกีชุดแรกเริ่มออกเดินทางไปยังลิเบียแล้ว

ในการนี้ มุฟตีย์ลิเบีย บรรดานักปราชญ์ และภาคประชาชนชาวลิเบีย ต่างออกมาขอบคุณตุรกีที่ตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในลิเบียในวินาทีชี้เป็นชี้ตายนี้

ในขณะที่เลขาธิการสหประชาชาติและ กระทรวงต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียแถลงประณามและคัดค้านตุรกีที่ส่งทหารเข้าไปในลิเบีย อ้างว่าทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น

แถลงการณ์ของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าตุรกีละเมิดมติของสหประชาชาติเกี่ยวกับลิเบีย รวมถึงละเมิดมติของสันนิบาตอาหรับ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา

แถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียยังกล่าวว่า การกระทำของตุรกีเป็นการคุกคามความมั่นคงของลิเบีย โลกอาหรับ ตลอดจนภูมิภาคนี้ทั้งหมด และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอาหรับ รวมถึงสนธิสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวของอิมิเรตส์รายงานข่าว เอมิเรตส์ประณามตุรกีว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมติสหประชาชาติ ที่ 1970 ปี 2011 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาโทษเกี่ยวกับลิเบีย และห้ามนำเข้าอาวุธหรือความช่วยเหลือทางทหารเข้าไปในลิเบีย ยกเว้นได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการชุดนี้ การกระทำของตุรกีจึงถือเป็นการขัดขวางที่จะสถาปนาความมั่นคงขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้

เอมิเรตส์ยังกล่าวว่า ขอเตือนถึงภัยจากการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในลิเบีย อีกทั้งข้ออ้างทางกฎหมายของตุรกีถือว่าไม่มีน้ำหนัก และสั่นคลอนความมั่นคงภูมิภาคอาหรับและเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สำนักข่าวของอิมิเรตส์ยังกล่าวต่อว่าแถลงการณ์ของอิมิเรตส์กล่าวว่า ตุรกีดำเนินการอันตรายอย่างยิ่งด้วยการสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มก่อการร้ายให้เดินทางเข้าสู่ลิเบีย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้มีการสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในลิเบีย ให้เป็นนิติรัฐเพื่อต่อต้านแนวคิดสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธโดยการสนับสนุนของตุรกี และเห็นว่า สังคมโลกจำเป็นจะต้องเข้ามาขัดขวางการดำเนินการของตุรกีในครั้งนี้

ส่วนชัยค์อะหมัด ฏอยยิบ ชัยค์อัซฮัร ผู้นำศาสนาสูงสุดของมหาวิทยาลัยอัซฮัร อียิปต์ ออกมาประณามตุรกี หาว่าเป็นการบ่อนทำลายความสงบสุข และยืนยันสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีของอียิปต์

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานกล่าวผ่านช่อง CNN และช่อง D ว่า เราไม่ให้ความสำคัญกับการที่ซาอุดิอาระเบียประณามการตัดสินใจของตุรกีที่จะส่งทหารไปยังลิเบีย และจะไม่นำมาใส่ใจอย่างเด็ดขาด

เขียนโดย Ghazali Benmad

ปฏิทินสุดดราม่าระดับโลก

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โลกเกิดเหตุการณ์ระทึกชนิดอกสั่นขวัญหายโดยเฉลี่ย 5 ปีต่อครั้ง ส่วนหนึ่งได้แก่

ปี 2001/ 2544 เหตุวินาศกรรมเครื่องบินพุ่งชนตึกแฝด WTC ในมหานครนิวยอร์ก ทำให้ประธานาธิบดีบุชประกาศสงครามกับอิสลามทั่วโลกโดยมีกลุ่มอัลไคด้าเป็นตัวชูโรง ทั่วโลกอยู่ในอาการหวาดกลัวสุดขีด New World Order และตำรวจสากลที่ประกาศโดยบุช ทำให้องค์กรอิสลามทั่วโลกกลายเป็นง่อย พี่น้องปาเลสไตน์ถูกขังเดี่ยวอย่างทรมาน

cr. www.independent.co.uk

ปี 2003/ 2546 ประธานาธิบดีบุชแห่งสหรัฐฯสร้างความหวัดกลัวแก่ชาวโลกเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของซัดดัม หุเซ็น ปูทางให้สหรัฐฯพร้อมด้วยกองกำลังพันธมิตรเกือบ 40 ประเทศปูพรมถล่มอิรักจนราบเป็นหน้ากลอง แต่ไม่พบระเบิดนิวเคลียร์แม้แต่ลูกเดียว

cr. www.voanews.com

ปี 2013 / 2556 สหรัฐฯยุคประธานาธิบดีโอบามาพร้อมด้วยชาติพันธมิตรเกือบ 60 ประเทศโจมตีกองกำลังไอเอสที่สถาปนารัฐอิสลามระบอบคอลีฟะฮ์ที่โมซุล อิรัก ทั่วโลกหวาดกลัวและตื่นเต้นสุดขีดกับการปรากฏตัวของไอเอสราวปาฏิหารย์พร้อมๆ กับความสยดสยองและความน่ากลัว

cr.www.thebaghdadpost.com

ทั้ง 3 เหตุการณ์ช็อคโลกนี้ เหยื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชาติมุสลิมและโลกอิสลาม

อัลไคด้ายังอยู่ ไอเอสถูกหักเขี้ยวเล็บกลายเป็นเครือข่ายใยแมงมุมทั่วโลก อิหร่านยังคงเข้มแข็งอย่างน่ามหัศจรรย์ต่อไป

แต่อิรักแหลกลาญ ซีเรียกลายเป็นจุณ เยเมนเป็นดินแดนมิคสัญญี เลบานอนกลายเป็นอัมพาต ประเทศอ่าวอาหรับมีหน้าที่จ่ายสดตามใบสั่งสถานเดียว

ขึ้นต้นปีใหม่ ปี 2020 / 2563 นี้ สหรัฐฯยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้โดรนถล่มพลตรีสุไลมานี ผู้กุมอำนาจตัวจริงเบอร์ 1 ของอิหร่านพร้อมด้วยมือขวาคนสำคัญอีก 6 คนที่สนามบินกรุงแบกแดดทั่วโลกหวั่นว่าจะเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่นำร่องโดยสงครามระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน

เพราะอิหร่านประกาศกร้าวว่าจะล้างแค้นที่หนักหน่วง

เพียงแต่เราต้องตั้งคำถามว่า เหยื่อของการล้างแค้นครั้งนี้คือใคร แต่ที่แน่ๆไม่ใช่สหรัฐฯ และไม่ใช่อิสราเอลแน่นอน ฟันธงครับ

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

อัลจาซีร่าห์โพล กรณีสังหารนายพลสุไลมานี

อัลจาซีร่าห์โพล ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ชมกรณีสหรัฐฯสังหารพลตรีคาซิม สุไลมานี

สำนักข่าวอัลจาซีร่าห์ ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ชมกรณีการสังหารพลตรีคาซิม สุไลมานี โดยตั้งประเด็นคำถามว่า หลังพลตรีคาซิม สุไลมานีถูกสังหาร ในความเห็นของท่านคิดว่า จะเกิดสงครามในภูมิภาคระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯหรือไม่

ปรากฏว่าจากยอดผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 65,600 คน มีคนเห็นว่าสงครามเกิดขึ้นแน่นอน จำนวน 33 % ในขณะที่มีคนเห็นว่าไม่มีทางเกิดขึ้นจำนวน 67 %

ในอดีต สหรัฐฯได้สร้างเหตุวินาศกรรม 9/11 กระฉ่อนโลก ทำให้ชาวโลกหวาดหวั่นอิทธิพลของอัลไคด้ามาแล้ว แต่ในความเป็นจริง เป็นแค่เหตุผลสร้างความชอบธรรมตั้งฐานทัพที่ยิ่งใหญ่บริเวณประเทศอ่าวจนกระทั่งปัจจุบัน ล่าสุดสหรัฐฯมีส่วนปลุกปรากฏการณ์ไอเอสสร้างความปั่นป่วนในประเทศตะวันออกกลางโดยเฉพาะอิรักและซีเรียมาแล้ว

เขียนโดย ทีมข่าวต่างประเทศ

วินาทีสังหาร พลตรีคาซิม สุไลมานี ผบ. หน่วยรบพิเศษอัลกุดส์แห่งอิหร่าน

อีหร่านเดือดหลังสุไลมานีโดนสังหารที่สนามบินอิรักพร้อมสมุนใกล้ชิดอีกอย่างน้อย 4 ราย ในขณะที่อาบูตารีกาห์ยืนยัน ถึงเวลาที่สหรัฐฯเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใหม่ในเกมส์ที่สุดสกปรก

ช่วงเช้าวันที่ 3 มกราคม 2563 ตามเวลาที่อิรัก พลตรีคาซิม สุไลมานี วัย 62 ปี ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอิหร่าน รองจากอะยาโตลาห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ถูกสังหารด้วยโดรนทิ้งระเบิดโจมตีตามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ พร้อมผู้ใกล้ชิดอย่างน้อยอีก 4 ราย ที่สนามบินในกรุงแบกแดดหลังจากเดินทางกลับจากซีเรียและเลบานอน

พลตรี คาซิม สุไลมานี คือผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษอัลกุดส์ของอิหร่าน ผู้อยู่เบื้องหลังปฎิบัติการนองเลือดในตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่อีรัก ซีเรียและเลบานอน

เตหะรานข่มขู่ที่จะตอบโต้อย่างรุนแรงในขณะที่เครือข่ายแกนนำชีอะฮ์ที่อิรักเลบานอนและเยเมน ต่างออกมาข่มขู่ที่จะตอบโต้สหรัฐฯเช่นเดียวกัน

ตำนานนักฟุตบอลแห่งเมืองฟาโรห์ อบูตารีกาห์ เขียนในทวิตส่วนตัวกรณีการสังหารครั้งนี้ว่า ซาตานได้สังหารฆาตกรบนแผ่นดินอาหรับและในประเทศอิสลาม โอ้อัลลอฮ์ ได้โปรดปกป้องอิรัก และได้โปรดทำลายผู้อธรรมด้วยฝีมือผู้อธรรม โปรดให้เราปลอดภัย สหรัฐฯได้เวลาเปลี่ยนอะไหล่ในเกมส์อันสกปรกของเขา ที่ท้ายสุดแล้ว เหยื่อที่แท้จริง ไม่พ้นประชาชาติมุสลิมและประเทศอิสลาม

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่อิหร่านประกาศสงครามกับสหรัฐฯและกล่าวหาสหรัฐฯว่าเป็นซาตานที่ยิ่งใหญ่ แต่ในปัจจุบันพบว่า ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายครั้งรุนแรงที่สุดคือประชาชาติอิสลาม

เขียนโดย ทีมข่าวต่างประเทศ