สันนิบาตอาหรับประชุมฉุกเฉิน ปฏิเสธแผนสันติภาพสหรัฐฯ

สันนิบาตอาหรับได้ประชุมฉุกเฉิน ที่กรุงไคโร เมื่อวันที่ 1 กพ. 2563 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาขิกสันนิบาตอาหรับเข้าร่วมประชุม ตามคำเชิญของนายมะห์มูด อับบาสผู้นำปาเลสไตน์ เพื่อกำหนดท่าทีหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯนายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศแผนสันติภาพมอบปาเลสไตน์ให้แก่อิสราเอล

ที่ประชุมมีมติคัดค้านแผนสันติภาพดังกล่าวและถือว่าขัดแย้งกับข้อตกลงสันติภาพและกฎหมายสากลรวมทั้งฝ่าฝืนมติสหประชาขาติ

นายมะห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ได้ประกาศจะตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันนายมะห์มูด อับบาส กล่าวว่าชาวปาเลสไตน์พร้อมประกาศให้ปาเลสไตน์เป็นเขตปลอดอาวุธตามข้อเสนอของทรัมป์ เพราะการใช้กองกำลังทางอาวุธไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

สันนิบาตอาหรับมักจะมีมติคัดค้านแผนสันติภาพสหรัฐฯ-อิสราเอลมาโดยตลอด แต่ทั่วโลกยังกังขาว่า มติดังกล่าวมีผลในภาคปฏิบัติหรือไม่ และสร้างแรงกดดันให้สหรัฐฯและอิสราเอลมากน้อยแค่ไหน

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

อ้างอิงจาก https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/2/1/%D9%81%D9%84%D8%B3%D8%B7%D9%8A%D9%86-%D8%B5%D9%81%D9%82%D8%A9-%D8%A7%D9%84%D9%82%D8%B1%D9%86-%D8%A7%D9%84%D8%AC%D8%A7%D9%85%D8%B9%D8%A9-%D8%A7%D9%84%D8%B9%D8%B1%D8%A8%D9%8A%D8%A9

แผนปล้นปาเลสไตน์ของกลุ่มสุดโต่ง

การร่วมมือจมหัวจมท้าย ระหว่างกลุ่มอีวานเจลิคัล Evangelicalism คริสต์อเมริกาขวาจัดกับยิวขวาจัด ในแผนปล้นแห่งศตวรรษ

*
สรุปสาระสำคัญบทความเรื่อง Israel’s hard-right and US Evangelicals unite for the heist of the century ใน TRT WORLD โดย Antony Loewenstein นักข่าวอิสระ อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม
*

ประธานาธิบดีทรัมป์ของอเมริกาประกาศล่าสุด ถึงข้อตกลงแห่งศตวรรษเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่เข้าข้างอิสราเอลอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ไม่ตอบรับข้อเสนอขั้นต่ำของชาวปาเลสไตน์ที่จะตั้งรัฐอิสระที่มีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวง

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ประธานาธิบดีอเมริกาจะประกาศข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลและอาหรับ ในวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา อีลอน เลวี่ Eylon Levy นักข่าวชาวอิสราเอลได้โพสต์ข้อความว่า “จำเป็นจะต้องลดความคาดหวังสำหรับข้อเสนอที่จะมีขึ้น” อีลอน เลวี่ยังกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะแก้ไขข้อพิพาทได้ เราหวังเพียงแต่ว่าข้อเสนอที่จะมีขึ้นนั้น สามารถลดข้อพิพาทลงบ้างเล็กน้อย”

อีลอน เลวี่ยังกล่าวว่า “การยึดครองจะไม่มีวันสิ้นสุดลง แต่จะลดน้อยลงบ้างหรือไม่เท่านั้น อย่าได้ถามว่าชาวปาเลสไตน์จะได้เสรีภาพหรือไม่ แต่จงถามว่าเพราะเขาจะมีเสรีภาพมากขึ้นหรือไม่ เราจะต้องคิดบนข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ไม่ใช่บนฐานการแบ่งแยกประเทศ”

สิ่งที่เลวี่เขียน ได้อธิบายหลักคิดชาวอิสราเอลมากมาย ทั้งในกลุ่มผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสายกลางและต่อต้านแนวคิดตกขอบ

แผนสันติภาพของทรัมป์ จะเป็นที่พึงพอใจให้แก่ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ เพราะว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใดๆ สิทธิพิเศษของเขาจะไม่ลดลง พวกเขาสามารถเดินทางข้ามพรมแดนได้โดยอิสระ และมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของพลเรือน

ทั้งยังจะได้รับการต้อนรับในเวทีนานาชาติ รัฐบาลและเผด็จการทั่วโลก จะชื่นชมกับวิถีของอิสราเอลในการในการยึดครองปาเลสไตน์ในลักษณะนี้

ในขณะเดียวกัน ชาวปาเลสไตน์ไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิ์ใดๆ เหมือนชาวอิสราเอลดังกล่าว

ความจริงแล้วสิ่งที่เรียกว่า ข้อตกลงสันติภาพที่ทรัมป์ได้นำเสนอ ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้ที่ติดตามเส้นทางของรัฐบาลอเมริกาใน 3 ปีหลัง

ทรัมป์และนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้เผยให้เห็นความฝันของกลุ่มอีวานเจลิคัล Evangelicalism คริสต์อเมริกาขวาจัดชาวอเมริกา และกลุ่มอิสราเอลหัวรุนแรง และกลุ่มนิคมชาวอิสราเอล และ เบนนี่ เกนทซ์ หัวหน้าฝ่ายค้านอิสราเอล ในเอกสารฉบับเดียว

แผนสันติภาพดังกล่าวได้ยืนยันว่า ชาวยิวทุกคนในนิคมชาวยิว จะยังคงอยู่ในบ้านของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนิคมที่มีการพัฒนาโดยสมบูรณ์ หรือว่าที่กำลังเริ่มก่อสร้างอย่างเร่งด่วยในเขต West Bank ที่อิสราเอลจะทำการยึดในอนาคตหลังจากนี้ และอัลกุดส์จะตกอยู่ภายใต้ อำนาจของอิสราเอลโดยสมบูรณ์

แต่ปัญหาอยู่ที่ชาวปาเลสไตน์ไม่มีความหวังใดๆ ที่จะได้รับความยุติธรรมในข้อเรียกร้องที่ชอบธรรม และผู้นำอาหรับส่วนใหญ่จะปฏิเสธแผนสันติภาพนี้ในทางพิธีการ แม้ว่าพวกเขายังต้องการที่จะร่วมมือกับอิสราเอลในการทำสงครามทางอุดมการณ์กับอิหร่าน

ในขณะที่สหภาพยุโรปเองก็มีความแตกแยก แต่จะมีเสียงสนับสนุนอิสราเอลในการตั้งอาณานิคมมากขึ้น แม้ว่าอาจจะได้ยินเสียงคัดค้านจากประเทศที่สำคัญเช่น เบลเยี่ยม แต่จะเห็นการสนับสนุน โดยสมบูรณ์จากประเทศอื่นๆ ที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับอิสราเอล รวมถึงอังกฤษ

ซึ่งรัฐบาลปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสก็ได้ปฏิเสธแผนดังกล่าวแล้ว

ถึงกระนั้น ชาวยิวในนิคมหัวรุนแรงก็ยังปฏิเสธแผนของทรัมป์ เช่นกลุ่มผู้หญิงเขียว ที่สนับสนุนการตั้งนิคมชาวยิว แถลงว่า แผ่นดินของอิสราเอลเป็นแผ่นดินเฉพาะสำหรับชาวยิว และจะไม่อนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่โดยเสรีในแผ่นดินนี้

แผนสันติภาพของทรัมป์ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพ หรือสร้างความพึงพอใจให้กับชาวปาเลสไตน์ซึ่งไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วมการประกาศข้อตกลงดังกล่าวที่มีขึ้นในทำเนียบขาว ซึ่งเชลดอน อะเดลสัน พวกขวาจัดนายทุนใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ผู้ที่ต้องการโจมตีอิหร่านด้วยนิวเคลียร์ นั่งอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วย กลุ่มผู้ต่อต้านอิสลามและอาหรับ กลุ่มบ้าสงคราม นักสร้างความเกลียดชัง ตลอดจนกลุ่มอีวานเจลิคัล Evangelicalism คริสต์อเมริกาขวาจัด นายคนนี้คือหัวโจกการปล้นแห่งศตวรรษที่ทรัมป์ได้นำเสนอขณะนี้

มาไรฟ์ ซอนส์เซน นักเขียนยิวชาวอเมริกาคนดังได้โพสต์ข้อความ เมื่อได้สังเกตเห็นผู้เข้าร่วมในห้องเพื่อฟังคำปราศรัยของธรรมและเนทันยาฮูว่า “จดจำภาพนี้ไว้ให้ดี ภาพของไซออนิสต์อีวานเจลิคัลผู้นี้ ผู้ที่เชื่อว่าจะเกิดวันอวสานของโลกและการกลับมาของพระเยซูครั้งที่ 2 ที่จะนำไปสู่การทำลายล้างชาวยิวทั้งหมด เขานั่งอยู่กลางห้องที่รายรอบไปด้วยชาวยิว เขาปรบมือยามที่ผู้นำชาวยิวได้แสดงกิริยาท่าทางต่างๆ ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนไซออนิสต์แอนตี้เซมิติกผู้ต่อต้านยิว”

ทั้งนี้ เชลดอน อะเดลสัน ผู้นี้เป็นคริสต์ไซออนิสต์ระดับแกนนำ ผู้ข่มขู่ทำลายล้างชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด

ถึงกระนั้น ในอิสราเอลก็ยังมีเสียงคัดค้าน ฮาไจ อิลอาด Hagai El Ad ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสารข้อมูลสิทธิมนุษยชนในแผ่นดินที่ถูกยึดครอง Executive Director of Btselem เขียนหลังจากทรัมป์ได้ประกาศแผนดังกล่าวว่า “วันนี้หรือพรุ่งนี้ จะมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงหรือไม่

เวลานี้มีคน 14 ล้านคน อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำจอร์แดนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน 4 ล้านคนเป็นชาวปาเลสไตน์ ที่ไม่มีสิทธิทางการเมืองใดๆเลย เราอยู่ที่นี่ เรายังคงอยู่ที่นี่ภายใต้รัฐบาลในเยรูซาเล็ม รัฐบาลที่ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการที่จะให้การสนับสนุนชนชาติหนึ่ง ให้เอาเปรียบอีกชนชาติหนึ่ง ท่ามกลางการละเมิดสิทธิ์ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

แล้วในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ในวันนี้ที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ หรือประเทศ แต่อยู่ในประเทศที่แบ่งแยกเชื้อชาติโดยสมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างความอดสูหรือความจริงอันนี้ได้ แต่ความจริงอันเจ็บปวดวันนี้ ทำให้เกิดความหวังขึ้นในอนาคต ความหวังเดียวที่จะทำให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง อนาคตที่ไม่มีกลุ่มชนหนึ่งเหนือกว่ากลุ่มชนหนึ่ง และกดขี่อีกกลุ่มชนหนึ่ง แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันโดยสมบูรณ์ มีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีให้กับทุกคนโดยเท่าเทียมกัน”

อิสราเอลวันนี้และพรุ่งนี้ จะยังคงเดินหน้าทำลายหมู่บ้านอาหรับเบดุอินต่อไป และจะยังคงกล่าวร้ายต่อนักการเมืองชาวปาเลสไตน์ และชาวปาเลสไตน์ในลุ่มน้ำจอร์แดนจะยังคงต่อสู้เพื่อชีวิตของตัวเอง โดยที่ไม่มีการทำร้ายต่อทหารและผู้ถิ่นฐานในนิคมชาวยิว

แม้ว่าทรัมป์อาจจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในปีนี้ แต่ความคาดหวังก็เกี่ยวกับข้อเสนอของประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตให้แก่ชาวปาเลสไตน์ก็ไม่น่าจะมีอะไรดีขึ้น เพราะว่าประวัติของโจ บายเด้น มีเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างมากมาย แม้ว่าจะมีความหวังอยู่บ้างกับ เบอร์นี่ เซนเดอรส์ ก็ตาม

แต่เราจะสิ้นหวังหรือไม่ ไม่มีวัน เพราะมีสงครามภายในสังคมยิวอเมริกา เกี่ยวกับความเห็นที่ว่าผู้ใดจะเป็นตัวแทนชาวยิวยุคใหม่ ซึ่งการต่อสู้นี้จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

ขณะสิ้นสุดการแถลงข่าวของทรัมป์และเนทันยาฮูในกรุงวอชิงตัน จะได้ยินเสียงดนตรีในเพลง What a Wonderful World “โลกนี้ช่างแสนงามเหลือเกิน” ประกอบบรรยากาศท่ามกลางแขกเหรื่อกำลังแสดงความยินดีต่อกัน อันแสดงถึงการดูถูกดูแคลนชาวปาเลสไตน์อย่างชัดเจน

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านบทความต้นฉบับ https://www.trtworld.com/opinion/israel-s-hard-right-and-us-evangelicals-unite-for-the-heist-of-the-century-33315

ปธน. ตูนีเซียระบุแผนสันติภาพทรัมป์คือ “อธรรมแห่งศตวรรษ”

ประธานาธิบดีตูนีเซีย นาย ไกส์ สะอีด ได้ให้สัมภาษณ์เนื่อง 100 วันหลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกรณีแผนสันติภาพทรัมป์ ว่า “ ข้อตกลงแห่งศตวรรษนี้ความจริงคือ อธรรมแห่งศตวรรษ ที่เป็นผลของการยึดครองของอิสราเอลต่อแผ่นดินปาเลสไตน์ที่ต่อเนื่องกันมา”

ประธานาธิบดีตูนีเซียยังยืนยันว่า การสร้างความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอลถือเป็นการทรยศ และข้อตกลงนี้จะถูกปฏิเสธโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เพราะปาเลสไตน์ไม่ใช่ไร่นาที่จะมีการซื้อขายได้ตามอำเภอใจของใครผู้ใด

อ้างอิง https://www.facebook.com/178851562816716/posts/493827284652474/?d=n

รายละเอียดข้อตกลงแห่งศตวรรษ (Deal of the Century)

ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ แถลงรายละเอียดข้อตกลงแห่งศตวรรษ 10 ข้อเพื่อสร้างสันติภาพอิสราเอล -ปาเลสไตน์ พร้อมยืนยันว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีฝ่ายที่ยอมเสียสละ ซึ่งสหรัฐฯไม่ประสงค์ให้อิสราเอลเสียสละในเรื่องใดๆกรณีนี้

รายละเอียด 10 ข้อมีดังนี้
1.นิคมสร้างตนเองของอิสราเอลที่อยู่ในเขตเวสต์แบงค์ จะต้องผนวกรวมเข้าไปในเขตครอบครองของประเทศอิสราเอลเท่านั้น

2.ลุ่มแม่น้ำจอร์แดนที่อิสราเอลอ้างว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของอิสราเอล ต้องเป็นเขตที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอลเท่านั้น

3.อัลกุดส์จะต้องเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแบ่งแยกฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกและเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลหนึ่งเดียวเท่านั้น

4.ประชาชนทุกศาสนามีอิสระเดินทางไปยังสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณอัลกุดส์ และจะยังอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจอร์แดนต่อไป

5.เมืองหลวงของชาวปาเลสไตน์ในอนาคต จะถูกกำหนดขึ้นใหม่ทางภาคตะวันออกหรือภาคเหนือของกำแพงที่ล้อมรอบอัลกุดส์ สถานที่แห่งใหม่นี้อาจตั้งชื่ออัลกุดส์ หรือชื่อใหม่ที่กำหนดโดยรัฐบาลปาเลสไตน์ในอนาคต

6.องค์กรฮามาสจะต้องปลดอาวุธ เช่นเดียวกับเขตกาซ่าและรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต จะต้องเป็นเขตปลอดอาวุธเช่นกัน

7.ถนนหรืออุโมงค์ใต้ดินที่เชื่อมระหว่างเขตเวสต์แบงค์และกาซ่า จะถูกสร้างขึ้นโดยให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของอิสราเอลเท่านั้น

8.ทั้งสองฝ่ายต้องให้การยอมรับรัฐปาเลสไตน์ใหม่ว่าเป็นรัฐของชาวปาเลสไตน์ และยอมรับรัฐอิสราเอลว่าเป็นรัฐของชาวอิสราเอลเท่านั้น

9.อิสราเอลจะไม่ดำเนินการก่อสร้างใดๆ ในเขตนิคมสร้างตนเองแห่งใหม่ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอลเป็นเวลา 4 ปี พร้อมจะได้รับงบสนับสนุนเพื่อการพัฒนาจำนวน 50,000 ล้านดอลล่าร์

10. ชาวปาเลสไตน์ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องกลับสู่มาตุภูมิเดิม

อ้างอิง
https://arabic.cnn.com/middle-east/article/2020/01/29/here-are-key-points-trumps-plan

เนทันยาฮูขอบคุณชาติอาหรับ 3 ประเทศที่เป็นสักขีพยานข้อตกลงแห่งศตวรรษ (Deal of the Century)

นายกรัฐมนตรีอิสราเอลขอบคุณประเทศอาหรับ 3 ประเทศที่ร่วมเป็นสักขีพยานในข้อตกลงแห่งศตวรรษที่นำเสนอโดยประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เพื่อสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง ที่ทำเนียบขาว เมื่อ 28 มกราคม 2563 พร้อมกล่าวชื่นชมแผนการดังกล่าวว่าเป็นแผนการสันติภาะแห่งประวัติศาสตร์

3 ประเทศที่นายเนทันยาฮูกล่าวขอบคุณคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมานและบาห์เรน ที่ได้ส่งทูตของตนที่ประจำกรุงวอชิงตันเข้าร่วมเป็นสักขีพยานครั้งนี้

อ้างอิง https://arabic.sputniknews.com/world/202001281044210807-%D9%86%D8%AA%D9%86%D9%8A%D8%A7%D9%87%D9%88-%D9%8A%D8%B4%D9%83%D8%B1-%D8%B3%D9%81%D8%B1%D8%A7%D8%A1-3-%D8%AF%D9%88%D9%84-%D8%B9%D8%B1%D8%A8%D9%8A%D8%A9-%D8%AD%D8%B6%D8%B1%D9%88%D8%A7-%D8%A5%D8%B9%D9%84%D8%A7%D9%86-%D8%AA%D8%B1%D8%A7%D9%85%D8%A8-%D8%B5%D9%81%D9%82%D8%A9-%D8%A7%D9%84%D9%82%D8%B1%D9%86-%D9%81%D9%8A-%D8%A7%D9%84%D8%A8%D9%8A%D8%AA-%D8%A7%D9%84%D8%A3%D8%A8%D9%8A%D8%B6/

ข้อตกลงแห่งศตวรรษ 2020 (Deal of the Century) รื้อฟื้นคำประกาศบัลโฟร์ 1917

สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยแผนการตะวันออกกลางต่อสาธารณชนในวันที่ 28 ม.ค. 2020 ที่ทำเนียบขาวภายหลังรัฐบาลของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เวลาร่างแผนดังกล่าวถึง 2 ปี โดยแผนการตะวันออกกลางจะเป็นแนวทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

โดยปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้หารือถึงรายละเอียดของแผนการสันติภาพกับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 ม.ค. 2020) โดยภายหลังการหารือดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวชื่นชมแผนการดังกล่าวว่าเป็นแผนการสันติภาพแห่งประวัติศาสตร์

แผนสันติภาพหรือข้อตกลงแห่งศตวรรษครั้งนี้ ทำให้โลกอิสลามนึกถึงคำประกาศบัลโฟร์ที่รัฐบาลอังกฤษโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น นายอาเธอร์ บัลโฟร์ได้พิมพ์ข้อความจำนวน 67 คำส่งไปยังบิดาแห่งไซออนนิสต์ นายธิวดอร์ เฮิรติเซิล ซึ่งมีสาระหลักมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้แก่ชาวยิว สร้างตำนาน ”สัญญาจากผู้ที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของมอบให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ครอบครอง” ที่กลายเป็นปฐมเหตุแห่งความขัดเเย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อจนกระทั่งปัจจุบัน

ช่วงแถลงข่าว ประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยว่า แผนสันติภาพที่มีเนื้อหา 80 หน้านี้ ถือเป็นหลักไมล์สำคัญของการสร้างสันติภาพและมีความแตกต่างกับแผนการที่ผ่านมา เรามีวิสัยทัศน์อันชัดเจนว่า อัลกุดส์คือเมืองหลวงของอิสราเอลอันเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น เขายืนยันว่า สันติภาพมีความจำเป็นที่คู่กรณีต้องเสียสละ แต่เราจะไม่เรียกร้องให้อิสราเอลเสียสละใดๆเพื่อสร้างสันติภาพ

ทรัมป์ได้กล่าวถึงผลงานตนเองที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้แก่อิสราเอลอาทิ ย้ายสถานทูตสหรัฐฯไปยังอัลกุดส์รวมทั้งยอมรับที่ราบสูงโกลานให้เป็นกรรมสิทธิ์ถาวรของอิสราเอล

ทรัมป์เปิดเผยว่าตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาแผนสันติภาพดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามาก บัดนี้ได้เวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่จะปกครองแผ่นดินโดยสมบูรณ์ที่สามารถขยายเพิ่มขึ้นมากมายหลายเท่า

ทรัมป์ได้สัญญาจะมีการลงทุนเพื่อพัฒนาปาเลสไตน์ด้วยวงเงินจำนวน 50,000 ล้านดอลล่าร์ พร้อมยืนยันว่ากลุ่มต่อต้านแผนสันติภาพนี้โดยเฉพาะกลุ่มฮามาสและญิฮาดอิสลามจะต้องยุติบทบาทลง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อตกลงนี้จัดขึ้น ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิสราเอลที่ทำเนียบขาว โดยไม่มีคู่กรณีสำคัญคือผู้แทนของชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมแม้แต่คนเดียว ซึ่งทำให้เรานึกถึงสัญญาบัลโฟร์ที่เกิดขึ้นในปี 1917 หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา

ข้อตกลงแห่งศตวรรษครั้งนี้ มีชาติอาหรับส่งผู้แทนระดับเอกอัครราชทูตร่วมเป็นสักขีพยาน 3 ประเทศคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรนและโอมาน ส่วนประเทศอาหรับอื่นๆต่างส่งสัญญาณที่ดีและชื่นชมกับความสำเร็จของข้อตกลงครั้งนี้ ในขณะที่สันนิบาตอาหรับ องค์การความร่วมมืออิสลามหรือโอไอซี ยังไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ

ทั้งนี้ทางสหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติของรายละเอียดแผนการสันติภาพได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอิสราเอลมีปัญหาทางด้านเสถียรภาพทางการเมือง โดยส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ไม่สามารถรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งส่งผลต่อความล่าช้าในการหาข้อสรุปต่อแผนการดังกล่าว

จากการขาดผู้ชนะที่เด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ส่งผลให้อิสราเอลจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปีนี้ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่าปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อต่อไป ดังนั้นทางสหรัฐฯ จึงเชิญผู้นำทางการเมืองของอิสราเอลมาหารือ เพื่อให้การจัดทำแผนสันติภาพสามารถหาข้อยุติได้

ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังต้องการสร้างหลักประกันว่า ตนสามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในการเลือกตั้งสมัยหน้า

ทางด้านประธานาธิบดีแอร์โดอานแห่งตุรกีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลตุรกี ได้แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแผนสันติภาพนี้ พร้อมยืนยันว่าอัลกุดส์คือเส้นแดงที่ไม่มีใครสามารถแตะต้องได้

โดยทีมงานต่างประเทศ

ลิงค์อ้างอิง
https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/1/28/%d8%a3%d9%85%d9%8a%d8%b1%d9%83%d8%a7-%d8%b5%d9%81%d9%82%d8%a9-%d8%a7%d9%84%d9%82%d8%b1%d9%86-%d8%ae%d8%b7%d8%a9-%d8%aa%d8%b1%d8%a7%d9%85%d8%a8-%d9%81%d9%84%d8%b3%d8%b7%d9%8a%d9%86-%d8%a5%d8%b3%d8%b1%d8%a7%d8%a6%d9%8a%d9%84?fbclid=iwar1ftjkghfniwd4jegjeevlb18_uc3ucrvj55oguzmfrf2gkgwfdwvixbu0

https://www.bbc.com/thai/international-41862209?fbclid=IwAR3l8_v5hTy26HyNcpLUx2m-VkCJn3uJcutfdAdEgrEgZHeLPEQuHHIOn5M

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ให้การต้อนรับ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มฟน.

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 เวลา 15.00 น. นายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ให้การต้อนรับ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และคณะ ณ ที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ฯ

โดยทั้งสองฝ่ายได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับสถานกงสุลใหญ่ฯ ทั้งนี้ กงสุลใหญ่ได้แสดงความขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่รับนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษจากศูนย์การเรียน กศน. ณ เมืองเจดดาห์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสถานกงสุลใหญ่ฯ จำนวน 2 คน เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฯ ในระดับอุดมศึกษา

ซึ่งอธิการบดีฯ ได้กล่าวชื่นชมสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่จัดโครงการด้านการศึกษาแก่บุตรหลานและเยาวชนไทยที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้เยาวชนไทยเหล่านี้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของทางมหาวิทยาลัยฯ ที่ต้องการยกระดับให้เยาวชนไทยมุสลิมได้มีการศึกษาที่สูงและในหลากหลายสาขาวิชามากยิ่งขึ้น

ที่มา : The Royal Thai Consulate-General in Jeddah

รัฐบาลตุรกีร่างกฏหมายให้ผู้ชายข่มขืนสตรี อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยไม่ผิดกฎหมายจริงหรือ?

การแพร่ข่าวลวงที่แฝงด้วยความอคติ อันตรายยิ่งกว่าไวรัสโคโรน่า (ไวรัสอู่ฮั่น)

จากกรณีเพจที่ใช้นามว่า CatDumb News ได้แพร่ข่าวที่อ้างจากสำนักข่าว The sun, Mirror,The Guardian,Independent และ Dailystar ซึ่งล้วนเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ ที่อคติต่อประชาชาติอิสลามและเป็นแหล่งที่มาของข่าวลวงที่ทำลายความน่าเชื่อถือและสร้างความปั่นป่วนในประเทศอิสลามโดยเฉพาะประเทศตุรกีมาโดยตลอด

โดยในครั้งนี้เพจ CatDumb News ซึ่งอ้างจากแหล่งข่าวดังกล่าวระบุว่า ตุรกีร่างกฏหมายใหม่ว่า “ผู้ชายสามารถหลีกเลี่ยงโทษข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ ถ้าหากว่าแต่งงานกับเหยื่อ “ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลที่ได้มีการคอมเม้นตท์ด่าทอประเทศตุรกีด้วยถ้อยคำรุนแรง หยาบคายและเต็มไปด้วยความอคติ

theustaz.com เห็นว่า การนำเสนอข่าวที่ไม่รอบด้านในลักษณะนี้ จะส่งผลร้ายต่อองค์ความรู้ของชาวไทยที่นอกจากทำลายภูมิปัญญาอันดีงามแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความอวิชชาและสะสมความเกลียดชังในสังคมอีกด้วย

theustaz.com จึงได้สัมภาษณ์อาจารย์อับดุลเอาวัล ศิดดีก Abdulevvel Siddiq ดีกรีปริญญาโทจาก Marmara University และเคยใช้ชีวิตในกรุงอิสตันบูลเกือบ 20 ปีเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ผลการสัมภาษณ์สรุปได้ดังนี้

1. การสมรสในประเทศตุรกีมี 2 ประเภทคือ 1) การสมรสที่มีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฏหมายซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยครอบครัวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งคือการกำหนดอายุของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง 2) การสมรสโดยยึดจารีตประเพณี ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมอาหรับ แม้กระทั่งสังคมมลายูที่อนุญาตให้ลูกสาวแต่งงานได้ถึงแม้ยังไม่ถึงอายุ 18 ปีตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม

2. ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์คือการสมรสในประเภทที่ 2 ซึ่งรัฐบาลตุรกีพยายามจัดระเบียบใหม่ด้วยการร่างกฏหมายคุ้มครองเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกกระทำชำเราหรือล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้กระทำผิดสามารถแต่งงานกับผู้ถูกกระทำอย่างถูกต้องตามกฏหมายโดยคำพิจารณาของศาล ถึงแม้เด็กหญิงจะมีอายุต่ำกว่า 18 ปีก็ตาม ซึ่งในกฎหมายทั่วไปจะไม่เปิดช่องว่างนี้เลย

3. เมื่อทั้งคู่เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หากเกิดการหย่าร้างภายหลัง ฝ่ายชายต้องรับผิดชอบอุปการะค่าเลี้ยงดูอดีตภรรยาของตนเอง จนกระทั่งนางเสียชีวิตหรือมีสามีคนใหม่ โดยอาศัยอำนาจการพิจารณาของศาลทั้งสิ้น

4. ในสังคมตุรกี มีหลายกรณีด้วยกันที่สามีถูกฟ้องร้องจนกระทั่งถูกศาลตัดสินให้เป็นคนล้มละลาย เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเลี้ยงดูอดีตภรรยาตนเอง

5. กฎหมายตุรกียังระบุอีกว่า ภรรยามีสิทธิ์ฟ้องร้องสามีได้ หากนางเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยในชีวิตหรือถูกคุกคาม

6. การเปิดช่องว่างเรื่องอายุ ถือเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาลตุรกีที่จะลดปัญหาเรื่องการชู้สาว ปัญหาท้องก่อนแต่ง แม้กระทั่งปัญหาโสเภณี ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเซคิวล่าร์ที่ต่อต้านการสมรสแต่กลับเพิกเฉยเรื่องการผิดประเวณี

7. สื่อตะวันตกไม่เคยเปิดโปงสตรีที่ถูกคุกคามทางเพศ จนกลายเป็นธุรกิจค้ากาม ธุรกิจค้ามนุษย์ที่มีอยู่เกลื่อนในสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมยุโรป แต่กลับใส่สีตีไข่ในข้อปลีกย่อยของกฎหมายประเทศตุรกี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นการคุ้มครอง และปกป้องสตรีต่างหาก

8. แม้กระทั่งกฎหมายไทยที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาหน้า 129 เล่ม 136 ตอนที่ 69 ก ที่ระบุว่า “ให้ศาลพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแทนการลงโทษก็ได้ “ ถามว่า รัฐบาลไทยสนับสนุนให้ผู้ชายข่มขืนหรือกระทำชำเราเด็กหญิงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้แหล่ะ ที่รัฐบาลตุรกีกำลังแก้ไขอยู่

9. ขอฝากไปยังสังคมไทยและประชาชนชาวไทย ควรมีสติในการเลือกบริโภคข่าวในลักษณะนี้ เพราะจะเป็นการปลูกฝังความอคติและความเกลียดชังด้วยข้อมูลบิดเบือนและไม่รอบด้าน

ลิ้งค์ข่าวลวง https://www.facebook.com/CatDumbNews/posts/2885206004855503

ไทย-ซาอุดิอาระเบีย : จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนามว่า ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคมที่ผ่านมา ตนได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน พร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียนั้น เป็นการเดินทางเยือนตามคำเชิญของฝ่ายซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าและยังถือเป็นการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในรอบ 30 ปี

ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลสะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย กับนายอาดิล บิน อะหมัด อัล-นูบีร รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเยือนครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี และถือเป็นพัฒนาการในทางบวกที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศต่อไป”

เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะถือเป็นความก้าวหน้าในความพยายามของไทยมาช้านานที่ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย อะไรคือปัจจัยอันทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง เป็นคำถามที่ผมอยากลองอธิบายในบทความนี้ แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงข้อมูล “วงใน” ที่ผมยังไม่รู้และไม่เข้าใจอีกมาก แต่ก่อนที่จะตอบคำถามหลักของบทความ ขออนุญาตพาพวกเราย้อนกลับไปพิจารณาต้นตอปัญหาความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 30 ปีเสียก่อน


ย้อนรอยสัมพันธ์แตกร้าว : ไทย-ซาอุดิอาระเบีย

หากย้อนอดีตไปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียคือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบียถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 1989 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1990 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดิอาระเบียอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ยังคงไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว ในเดือนเดียวกัน นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-สะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา “อุ้ม” นายอัลรูไวลี่ไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

กรณีนี้ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย- ซาอุดิอาระเบียไม่ได้เลวร้ายลงเพียงเพราะคดีฆาตกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากกรณีที่คนงานไทย นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายซาอุดิอาระเบีย ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศอีกด้วย ตำรวจไทยไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการกลับส่งคืนให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร “บลูไดมอนด์” เม็ดใหญ่สุด หนักหนาสาหัสไปอีก เมื่อของกลางในส่วนที่ติดตามกลับมาได้ ยังมีการเอาไปปลอมแปลงก่อนเอาไปคืนให้ซาอุดิอาระเบียอีกด้วย ทั้งหมดจึงเป็น เรื่องของ “เหตุซ้ำกรรมซัด” ที่สร้างความอึดอัดเจ็บแค้นต่อซาอุดิอาระเบียอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งกรณีฆาตกรรมนักการทูต กรณีเพชรซาอุฯ และกรณีการอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่”

หากถามว่ากรณีใดสำคัญที่สุดที่ทางการไทยต้องรีบคลี่คลายเป็นลำดับแรก เราคงต้องกลับมาพิจารณาถึงลักษณะต้นตอของแต่ละกรณีปัญหา

1.กรณีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะเกิดจากต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย อันเกิดจากการที่ซาอุดิอาระเบียได้เข้าสลายม็อบในช่วงพิธีฮัจญ์ เมื่อ ค.ศ. 1987 จนทำให้ชาวอิหร่าน (ผู้ก่อม็อบประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ และอิสราเอล) ตายไปกว่า 200 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศ

2. กรณีลักลอบขโมยเพชรซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้เกิดจากการกระทำผิดของปัจเจกบุคคล ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนไทย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ในทางกลับกัน การที่เพชรซาอุถูกลักขโมยอย่างไม่ยากนัก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของระบบการรักษาความปลอดภัยของทางซาอุดิอาระเบียเองด้วย ฉะนั้น จึงต้องยอมรับสภาพและรับผิดชอบร่วมกัน แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ทำผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยจนได้ เมื่อทางซาอุดิอาระเบียจับได้ว่ารายการเพชรบางส่วนที่ส่งคืนเป็นของปลอม

3. คดีอุ้มฆ่าอัล-รูไวลี่ กรณีนี้ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะแทนที่เราจะเชื่อมโยงการฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบียกับกรณีความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย เรากลับเข้าใจว่าการตายของนักการทูตซาอุดิอาระเบียเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดิอาระเบีย จนนำไปสู่การ”อุ้ม” “อัลรูไวลี่” ไปกักขังไว้และบีบบังคับให้สารภาพผิด แต่ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเสียชีวิตของนักธุรกิจซาอุดิอาระเบียรายนี้อย่างเป็นปริศนา ฉะนั้น กรณีอัลรูไวลี่จึงมีความสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ เพราะการที่ไทยไม่สามารถจับคนฆ่าเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย และไม่สามารถนำเพชรของกลางที่ถูกขโมยมาให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมดนั้น ถือเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย แต่การ “อุ้มฆ่า” อัลรูไวลี่ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรงที่ยากจะให้อภัยได้


ไทยกับการดำเนินคดีกรณี “อัล-รูไวลี่”

หากมองจากมุมของซาอุดิอาระเบียเอง คดีอัลรูไวลี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะประการแรก อัลรูไวลี่เป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย พูดง่ายๆ คือเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ

ประการที่สองคือ ในธรรมเนียมปฏิบัติของระบบชนเผ่าอาหรับนั้น การถูกทำร้ายจนตายของสมาชิกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการชดใช้ด้วยชีวิต (หรืออาจเจรจาชดเชยเป็นสินไหม) ในอดีตความขัดแย้งส่วนตัวจนถึงระดับที่เอาชีวิตกันระหว่างสมาชิกของ 2 ชนเผ่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามนองเลือดที่ยื้อเยื้อเลยทีเดียว การตายหรือการหายตัวไปของอัลรูไวลี่จึงกลายเป็นกรณีที่สร้างความเจ็บแค้นต่อสมาชิกชนเผ่าคนอื่นๆ ที่เขาสังกัดอยู่

ประการสุดท้าย การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของอัลรูไวลี่ก่อให้เกิดประเด็นยุ่งยากทางหลักการศาสนาต่อครอบครัวของเขาทันที เพราะการไม่รู้แน่ชัดว่าเขาตายหรือยัง ทำให้การแบ่งมรดกให้หมู่เครือญาติไม่สามารถกระทำได้ นอกจากนั้น หากภรรยาของเขาต้องการแต่งงานใหม่ เธอก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันจนกว่าจะถึงเวลาที่กรอบศาสนากำหนด ฉะนั้น นอกจากครอบครัวของอัลรูไวลี่จะต้องทุกข์ระทมกับการรอคอยข่าวความคืบหน้าของอัลรูไวลี่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายในเรื่องกฎหมายมรดกและครอบครัว

ทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทย

อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่คดีอัลรูไวลี่ไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2010 (ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี บางฝ่ายมองไกลไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไทยจะได้รับจากการจัดส่งแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว ฯลฯ จนดูเหมือนว่าความคืบหน้าในคดีอัลรูไวลี่จะ เป็นตัวชี้วัดผลประโยชน์ของไทยที่จะได้จากซาอุดิอาระเบียในอนาคต

แต่แล้วความหวังดังกล่าวก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี่ และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้งดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อ้างว่า ตามมาตรา 95 ของ พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัวไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน

ความเป็นไปดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายขณะนั้น ต้องออกมาเตือนรัฐบาลถึงความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับซาอุดิอาระเบียว่าอาจจะเลวร้ายลงจนถึงขั้นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จากที่เคยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมานาน ฉะนั้น การตัดสินใจกรณีการเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ของรัฐบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย อย่าลืมว่า ซาอุดิอาระเบียไม่ได้มีสถานะเหมือนกับประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นๆ เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศชั้นนำที่มีอิทธิพลเหนือประเทศมุสลิมอีกกว่า 50 ประเทศ

เป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การการประชุมอิสลาม เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสหรัฐ เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ตั้งของเมืองอันประเสริฐของชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2 แห่ง นั้นคือนครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมทั่วโลก หวังที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต รวมถึงมุสลิมในประเทศไทยด้วย


ปัจจัยอันนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์

ปลายเดือนมีนาคม 2014 หลังศาลยกฟ้องพลตำรวจโท สมคิด บุญถนอม และพวกในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ทำให้หลายฝ่ายมองไม่เห็นอนาคตการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย

แต่เมื่อปลายปีเดียวกันนั้น เรากลับเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบียเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 (อันถือเป็นการมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซาอุดิอาระเบีย) พร้อมทั้งได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

ว่ากันว่าก่อนที่จะมีการหารือกันดังกล่าว ได้มีความพยายามจากบางฝ่ายช่วยประสานผลักดันให้เกิดการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเองที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย หรือนักการทูตฝ่ายไทยเองที่ขอความร่วมมือจากมิตรประเทศที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมานานอย่างบาห์เรนให้ช่วยเป็น “สื่อกลาง” เชื่อมต่อความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

ด้วยเหตุนี้ ในวันที่มีการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย เราจึงเห็นนายกรัฐมนตรีบาห์เรน เจ้าชายคอลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัล-คอลีฟะฮ์ นั่งสนทนาอยู่ด้วย อันเป็นการหารือกันแบบสามฝ่าย

การประสานผลักดันของคนกลางย่อมเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งอันทำให้เกิดการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผมเชื่อว่าการกลับหลังหันของนโยบายต่างประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไทยเกิดจากสถานการณ์แวดล้อมซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของซาอุดิอาระเบียเอง

หากยังจำกันได้ช่วงกลางปี 2015 มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในซาอุดิอาระเบีย คือการปรับคณะรัฐมนตรี และการจัดลำดับการสืบสันติวงศ์ใหม่ของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนั้นคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลของซาอุดิอาระเบียมักจะมีแต่ผู้อาวุโสระดับสูง

นอกจากจะแต่งตั้งคนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด พระราชโอรสของกษัตริย์ เป็นรองมกุฎราชกุมารแล้ว ยังได้มีการแต่งตั้งคนนอกที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ แต่เป็นคนมีความสามารถอย่างนายอาดิล อัล-จูเบอีร์ เอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงวอชิงตันของสหรัฐ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนเจ้าชายซาอุด อัล-ฟัยซ็อล ที่ดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 40 ปี

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ้านเมืองจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ย่อมทำให้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของประเทศเปลี่ยนไป ผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับกรณีต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่พวกเขาตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ซาอุดิอาระเบียจะได้รับหากฟื้นความสัมพันธ์กับไทยมากกว่า

ปัญหาทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียในช่วงที่ผ่านมาอันเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศขาดดุลงบประมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 98,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องคิดโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ขึ้นมา เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็จะเปิดช่วงทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น

นโยบายนี้ย่อมต้องบีบให้ซาอุดิอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ แต่ครั้นจะหันไปร่วมมือกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางด้วยกันก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะแต่ละประเทศก็ล้วนมีปัญหาของตนเอง หลายประเทศต้องเผชิญภัยสงคราม บางประเทศเกิดภาวะรัฐล้มเหลว และมีอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศยากจน

ขณะที่มองไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่ระยะหลังสหรัฐฯเองที่ถือเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นที่สุดของซาอุดิอาระเบีย กลับออกกฎหมายเล่นงานซาอุดิอาระเบียในกรณีการก่อการร้าย 9/11

ในสภาพอย่างนี้ซาอุดิอาระเบียไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างพันธมิตรใหม่ และผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่หวังพึ่งสหรัฐฯประเทศเดียวเหมือนในอดีต ประเทศไทยก็อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ซาอุดิอาระเบียมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพครับ


ทำไมควรเร่งฟื้นคืนสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย

วิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบียมีรายละเอียดเนื้อหาอยู่มาก แต่หากจะสรุปตามที่มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงให้สัมภาษณ์ไว้แก่สำนักข่าวอัล-อาราบียะฮ์ เมื่อปลายเดือนเมษายน 2017 ก็คงได้ใจความหลักๆ ว่า

วิสัยทัศน์นี้เป็นการวางแผนอนาคต 15 ปีของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันให้ได้ภายในปี 2020 จัดตั้งกองทุนมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แปรรูปบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ARAMCO โดยเอาหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 5 ออกมาขาย พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธด้วยตนเอง เพิ่มสัดส่วนแรงงานหญิง ลดอัตราการว่างงาน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สำคัญอื่นๆ ของประเทศนอกจากน้ำมัน เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ประเทศนี้ยังมีศักยภาพอยู่มาก

นอกจากนั้นยังจะเพิ่มความสามารถของราชอาณาจักรในการรองรับมุสลิมจากทั่วโลกที่จะเข้ามาแสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ จากปีละประมาณ 8 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 15 ล้านคน ในปี 2020 และเพิ่มเป็น 30 ล้านคน ในปี 2030 อีกทั้งเจ้าชายซัลมานทรงกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซาอุดีอาระเบียจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเยือน แต่เป็นการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้กรอบค่านิยมและความเชื่อความศรัทธาของราชอาณาจักร

คาดกันว่าการจะบรรลุความสำเร็จตามที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้วางไว้ในวิสัยทัศน์ 2030 ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันจะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ สิ่งที่ตามมาคือความต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และโอกาสทางธุรกิจที่จะเปิดให้สำหรับนักลงทุนทั่วโลก ที่จะหลั่งไหลเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันให้วิสัยทัศน์ 2030 กลายเป็นจริงขึ้นมา

สำหรับประเทศไทย เราเคยส่งแรงงานเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบียมากที่สุดเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จำนวนประมาณกว่า 2 แสนคน สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ก่อนที่แรงงานของเราจะลดจำนวนลงเหลือแค่หลักพันจากความสัมพันธ์ร้าวฉานอันเกี่ยวเนื่องกับคดี “เพชรซาอุฯ” การอุ้มฆ่านักการทูต-นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงปัญหาแรงงานล้นตลาดซาอุดีอาระเบียในยุคนั้น

แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตขณะนี้ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียจะยังไม่คืบหน้า แต่จากวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นโอกาสที่กระทรวงแรงงานต้องหาลู่ทางขยายตลาดแรงงานไทย เพราะซาอุดิอาระเบียกำลังมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งบริษัทลงทุนใหญ่ๆ ในซาอุดิอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐ ยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น ต่างก็เคยชื่นชอบแรงงานไทยมาก่อน

ขณะเดียวกันนโยบายเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวก็อาจเป็นช่องทางให้ไทยได้ฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาและความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่พอสมควร

ในอีกด้านหนึ่งการที่ไทยจะกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศนั้น เราต้องสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ หากดูสมการของความสัมพันธ์ในตะวันออกกลางชณะนี้จะเห็นว่าประเทศ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และตุรกีเป็นตัวเล่นหลักในสมการนี้ แต่ประเทศไทยยังมีความสัมพัน์ที่ดีไม่ครบกับทุกประเทศ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียยังไม่ปรากฏเต็มรูปแบบ

ด้วยเหตุนี้ นโยบายหลักที่ประเทศไทยต้องสร้างขึ้นในตะวันออกกลางคือสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยต้องเป็นนโยบายที่การสานความสัมพันธ์กับประเทศหนึ่งแล้วไม่ให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์กับอีกประเทศหนึ่ง และวิธีที่ดีที่สุดคือฟื้นคืนสัมพันธ์ขั้นปรกติกับซาอุดิอาระเบีย (เหมือนที่เรามีกับอิหร่านและตุรกี) อันจะทำให้ไทยสามารถสร้างความสมดุลของสมการที่เป็นดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนี้ได้


เอกสารอ้างอิง

  • “ไทย-ซาอุฯ เล็งฟื้นสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี”. กรุงเทพธุรกิจ. 16 มกราคม 2563. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862383
  • ศราวุฒิ อารีย์. “ย้อนรอยคดีอัลรูไวลี่: ตัวชี้วัดสัมพันธภาพไทย-ซาอุดีฯ”. มติชนรายวัน. 21 กันยายน 2553. หน้า 6.
  • ศราวุฒิ อารีย์. “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 กับโอกาสของไทย”. คม ชัด ลึก. 13 พฤษภาคม 2559. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.komchadluek.net/news/politic/227548
  • อัคนี คคนัมพร. “สัมพันธ์ไทย – ซาอุดิฯ”. โลกวันนี้. 27 กันยายน 2553.
  • Saudi Vision 2030. สืบค้นออนไลน์จาก file:///D:/Users/7A41001/Downloads/Saudi_Vision2030_EN.pdf

ที่มา : www.msc.ias.chula.ac.th

บทความโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

สงครามกลางเมืองที่ลิเบีย

ทีวีอัลจาซีร่าหเผยแพร่ภาพ ชาวลิเบีย 150,000 คน ไร้ที่อยู่อาศัย ทั้งขาดน้ำและไฟฟ้าเนื่องจากการถล่มเมืองหลวงทรีโปลีของกองกำลังนายพลฮัฟตาร์ ในขณะที่เด็กนักเรียนจำนวนกว่า 90,000 คนไม่มีที่เรียนเนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งถูกถล่มเสียหายยับเยิน

กองกำลังนายพลฮัฟตาร์ยังคงเดินหน้ายึดเมืองและถล่มพลเรือนอย่างบ้าคลั่งเพื่อโค่นล้มรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ

กองกำลังฮัฟตาร์ได้รับการสนับสนุนด้านการทหารและอาวุธจากรัฐบาลอียิปต์ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย โดยมีสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปคอยให้ท้ายคุมเชิงอยู่เบื้องหลัง

ทีมข่าวต่างประเทศ