ลิเบีย : จากสงครามกลางเมืองถึงสงครามตัวแทน

การลุกฮือของประชาชนในลิเบียจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่ตามมาด้วยการแทรกแซงทางทหารของกองกำลังนาโต้ ได้ทำให้ระบอบกัดดาฟีที่ดำรงอยู่มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษต้องจบสิ้นลง

แต่ผลที่ตามมาประการหนึ่งหลังจากนั้นคือการถือกำเนิดเกิดขึ้นมากมายของกลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์เป้าหมายแตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่สังกัดกลุ่มชนเผ่าและวงศ์ตระกูลต่างๆ

นับรวม ๆ กันแล้วกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 100 ถึง 300 กลุ่ม โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ มากถึง 125,000 คน

ยิ่งเวลาผ่านไป จำนวนกลุ่มติดอาวุธก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลปี 2014 ปรากฏว่ามีกลุ่มติดอาวุธในลิเบียอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,600 กลุ่ม ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ทั้งที่เป็นกลุ่มนิยมแนวทางศาสนาและเป็นกลุ่มที่ไม่นิยมแนวทางศาสนา

แต่กลุ่มติดอาวุธสำคัญ ๆ นั้นเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดซินตาน มิสราต้า เบงกาซี และตริโปลี

นับตั้งแต่ปี 2012 กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ (ที่บางครั้งก็ผนวกรวมหลายกลุ่มเข้าเป็นพันธมิตรกัน) ได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองโดยการสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองสำคัญฝ่ายต่าง ๆ การเข้าร่วมสังกัดพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะใช้ความสัมพันธ์ทางสายตระกูล ชนเผ่า ความรู้สึกภูมิภาคนิยม อุดมการณ์ศาสนา และอุดมการณ์การเมืองเป็นเครื่องมือยึดโยงระหว่างกัน

ถึงอย่างนั้นกลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่หลังยุคกัดดาฟีก็ได้หลอมรวมเป็นพันธมิตรที่เข้าไปสังกัดกองทัพลิเบีย 2 หน่วยงานคือ กองกำลังป้องกันลิเบีย (Libya Shield Force) และกรรมาธิการความมั่นคงสูงสุด (Supreme Security Committee)

ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นหน่วยงานความมั่นคงในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยที่หน่วยงานแรกสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม ขณะที่หน่วยงานหลังอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย

แม้จะสังกัดกระทรวง แต่กองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีอำนาจที่เป็นอิสระและเคลื่อนไหวตามเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก บางกลุ่มมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ บางกลุ่มเคลื่อนไหวให้ตนเองมีอำนาจทางการเมือง บางกลุ่มมีเป้าหมายระดับท้องถิ่น และบางกลุ่มก็มีเป้าหมายก่ออาชญากรรม

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่กองทัพลิเบียอ่อนแอไร้เอกภาพจึงทำให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอำนาจมากขึ้น อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในลิเบียเลวร้ายลง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้กลุ่มติดอาวุธแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนสภาแห่งชาติลิเบีย (General National Congress: GNC) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตริโปลี โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางอิสลาม (ตอนหลังพัฒนาไปเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก)

ขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเมืองตับลู๊ก (Tobluk) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางเซคิวล่าร์ (พัฒนาไปเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในภายหลัง)

สถานการณ์ความรุนแรงยิ่งเลวร้ายลงเมื่อแต่ละฝ่ายพยายามขอความช่วยเหลือจากตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐอื่น ๆ ทั้งที่เป็นตัวแสดงในภูมิภาคตะวันออกกลางและนอกภูมิภาค เกิดเป็นสงครามตัวแทนในลิเบียที่ยากจะแก้ไขได้

ส่วนใครเป็นใครในสงครามตัวแทนนี้ ค่อยมาอธิบายขยายความกันอีกทีครับ

เครดิตภาพจาก https://www.aljazeera.com/news/2020/01/eyes-berlin-world-powers-set-libya-talks-200118052038464.html

เขียนโดย Srawut Aree

1 ปี กับการจากไปของมุรซีย์ผู้นำอียิปต์

อดีต 3 เผด็จการอียิปต์ นัสเซอร์ ซาดัต มุบาร๊อก ที่เคยยิ่งใหญ่จนวันตาย แต่วันนี้ไร้คนคิดถึง และสรรพเสียงเสียใจกับการจากไป

ในขณะที่มุรซีย์ ผู้นำอียิปต์ที่ตายคาคุกเผด็จการซีซี และมุบมิบปิดบังแอบฝังศพอย่างไร้พิธี ผิดธรรมเนียมปฏิบัติต่ออดีตผู้นำประเทศ

ที่วันนี้ (17 มิถุนายน 2563) คนล้นหลามหลายล้านคนจากทั่วโลก พากันแสดงความเสียใจ แซ่ซ้องคุณงามความดีและขอดุอาอ์ให้
37 ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมุรซี

1) ดร.มุฮัมมัด มุรซี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรม เอกการดูแลรักษาเครื่องยนต์ยานอวกาศ มหาวิทยาลัยเซาต์แคลิฟอร์เนีย อเมริกา เป็นนักวิจัยคนสำคัญของมหาวิทยาลัยที่นีล อารมสตรอง มนุษย์คนแรกที่ขึ้นดวงจันทร์สำเร็จการศึกษา

2) รอยเตอร์วิเคราะห์ “ปีเดียวที่ปกครองทำให้มุรซีเข้าในอนุสรณ์ประวัติศาสตร์”

3) เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอียิปต์ครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่อยู่ในการควบคุมของทหาร นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1952

4) ท่องจำคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่ม ที่หมู่บ้านอุดวะฮ์บ้านเกิด ในจังหวัดชัรกียะฮ์ และจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรม มหาวิทยาลัย ด้วยคะแนนเกียรตินิยม ทำให้ได้บรรจุเป็นอาจารย์โดยอัตโนมัติ

5) ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012 และถูกปฏิวัติในปี 2013 หลังจากมีการจัดตั้งและปลุกระดมมวลชนให้ออกมาประท้วงต่อต้าน จนมาเสียชีวิตในปี 2019 ขณะขึ้นศาลพิจารณาในความผิดข้อหาจารกรรมข้อมูลให้กับกาตาร์และฮามาส แต่ที่ประหลาดคือ คำพูดสุดท้ายในศาลของมุรซี ก่อนเสียชีวิตคือ

بلادي وإن جارت علي عزيزة وأهلي وإن ضنوا علي كرام
“โอ้ว่าประเทศที่ฉันรัก
แม้เธอจะกดขี่ต่อฉันสักเพียงไหน
เธอก็ยังสูงเกียรติและยิ่งใหญ่
ในสายตาคนอย่างฉัน

โอ้พี่น้องที่ฉันรัก
แม้พวกท่านจะทำร้ายฉันหนักเพียงไหน
พวกท่านก็ยังสูงเกียรติและยิ่งใหญ่
ในสายตาคนอย่างฉัน”

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะกล่าวบทกวีนี้ มุรซีแจ้งต่อศาลว่า มีข้อมูลลับที่ทำให้ตนเองพ้นผิดได้ แต่จะไม่พูดที่นี่เพราะจะกระทบกับความมั่นคง ขอให้จัดวาระพิเศษเพื่อชี้แจง

6) วันเสียชีวิตของมุรซี ตรงกับวันเสียชีวิตของท่านอุษมาน บินอัฟฟาน ทั้งสองท่านมีจุดเด่นเหมือนกันที่พยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด

สำนักข่าว แอสโซเสตเพรส กล่าวว่า นายทหารอียิปต์บอกว่า มุรซีสั่งไม่ให้ทหารใช้กำลังในการแก้ปัญหาที่ซีนาย

7) ในขณะที่อียิปต์สั่งห้ามละหมาดศพ และร่วมพิธีฝังศพในอียิปต์ ในขณะที่ประเทศต่างๆ นับสิบๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งมัสยิดอักซอ อินเดีย ปากีสถาน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อเมริกา อังกฤษ แคนาดา เยอรมัน และประเทศอาหรับส่วนใหญ่

รัฐบาลอียิปต์ต้องการให้ข่าวการเสียชีวิตของมุรซีเป็นข่าวเล็กๆ ผ่านแล้วผ่านเลย สื่อมวลชนอียิปต์ทั้งของรัฐและเอกชนเสนอเป็นข่าวย่อยในมุมเล็กๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์ แต่กลับได้รับความสนใจอย่างสูงจากสังคมโลก

9) ขณะเริ่มพิจารณาคดีในชั้นศาล หลังถูกปฏิวัติ มุรซีไม่ยอมรับการดำเนินคดี พร้อมกล่าวท้าทายศาลว่า “ผมคือ ดร.มุฮัมมัด มุรซี ประธานาธิบดีอียิปต์ แต่มีการก่อกบฏโดยคณะทหาร แกนนำกบฏควรถูกนำมาขึ้นศาลที่นี่มากกว่า” ทำให้หลังจากนั้น มีการจัดทำตู้กระจกทีบเก็บเสียงไม่ให้มุรซีพูดกับผู้ใดได้อีก

10) มุรซีที่ถูกกล่าวว่าเป็นกลุ่มอิควาน แต่ความจริงได้เสนอตำแหน่งรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีให้แก่กลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มฝ่ายซ้าย กลุ่มผู้ประท้วง กลุ่มเสรีนิยม กลุ่มประชาสังคม กลุ่มนักเคลื่อนไหวการเมือง แม้ว่าคนเหล่านั้นไม่ยอมรับก็ตาม

11) ในยุคมุรซีมีการผลิตข้าวสาลีในปริมาณสูงขึ้น ด้วยการส่งเสริมเกษตรกร

12) มีการลดการนำเข้า เพิ่มสินค้าส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มมากขึ้น

13) มีการปลดหนี้เกษตรกร และเพิ่มค่าจ้าง

14) ในเวลาไม่กี่เดือน สามารถแก้ปัญหาระบบจัดสรรการปันส่วนอาหารที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ อันเป็นปัฐหาเรื้อรังมาตั้งแต่ยุคซาดัตตลอดถึงยุคมุบาร๊อก อันเคยทำให้เกิดการประท้วงมาแล้วในอดีต

15) มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 170 พันล้านปอนด์อียิปต์ เป็นมูลค่ามากกว่า 180 พันล้าน น้ำมันส่งออกเพิ่มขึ้น 21 % จีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 1.8 เป็น 2.4

16) สื่อได้รับเสรีภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน ก่อนจะถูกยกเลิกไปหลังรัฐประหาร มีการลงเลิกโทษกักขังชั่วคราวในความผิดหมิ่นประมาทประธานาธิบดี และปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่ถูกกักขังในวันที่แก้ไขกฎหมายดังกล่าวทันที

17) แต่งตั้งกรรมการสอบสวนความผิดของมุบาร๊อกในการสังหารผู้ชุมนุมต่อต้าน และผลสอบสวนมีมติว่ามีความผิด แต่ถูกศาลพิพากษาให้พ้นผิดในยุคซีซี

18) ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เข้าร่วมการประท้วง ในปี 2011-2012 ยกเว้นคดีฆ่าคนตาย

19) ปี 2012 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เป็นฉบับแรกของอียิปต์

20) ในยุคมุรซี ชาวอียิปต์ได้เห็นขบวนรถประธานาธิบดีจำนวน 2 คัน พร้อมมอเตอร์ไซต์ 2 คัน

21) เป็นประธานาธิบดีโลกอาหรับคนแรกที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่าตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง และปฏิเสธที่จะเข้าพักในทำเนียบประธานาธิบดี

22) ทำตัวปกติเหมือนประชาชนทั่วไป น้องชายยังคงเป็นเกษตรกรทำนา พี่สาวเสียชีวิตในโรงพยาบาลเล็กๆ ของรัฐ ลูกชายไปทำงานหาเงินยังต่างประเทศ

23) ประเทศแรกที่มุรซีไปเยี่ยมหลังรับตำแหน่ง คือซาอุดิอาระเบียเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบจากอาหรับสปริงส์ แต่ซาอุดีอาระเบียก็ยังคงเป็นผู้สนับสนุนงบหลักแก่ฝ่ายปฏิวัติ

24) มุรซีสนับสนุนอาหรับสปริงส์ทุกประเทศ และออกกฎหมายให้ดูแลชาวซีเรียอพยพเช่นเดียวกับชาวอียิปต์ทั้งในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและอื่นๆ

25) ฉนวนกาซ่าไม่เคยได้ใช้ชีวิตอย่างดีเท่ากับยุคมุรซี และเปิดด่านให้ชาวปาเลสไตน์และสินค้าเข้าออกผ่านชายแดนได้

26) ในปี 2012 มุรซีชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยคะแนน 51.7 ในประเทศที่ประธานาธิบดีชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 99.99 %

27) สาบานตนดำรงประธานาธิบดีที่จตุรัสตะห์รีร ซึ่งเป็นสถานที่ประท้วงหลักในยุคโค่นมุบาร๊อก

28) มุรซีไม่ได้ต้องการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ต้องลงตามมติของกลุ่มอิควาน

29) มุรซีเคยเป็น สส. ในปี 2000 และเป็นหัวหน้าคณะ สส. ของพรรค

30) มุรซีเคยถูกจับกุมมาก่อนหน้านี้หลายๆครั้ง ในปี 2006 ถูกจำคุก 7 เดือน ในความผิดประท้วงสนับสนุนความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ตลอดจนถูกจำคุกในปี 2011

31) เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกของพรรคที่เป็นตัวแทนกลุ่มอิควานในอียิปต์

32) ร่วมตั้งกลุ่มกิฟายะฮ์ ต่อต้านการต่อวาระของมุบาร๊อก ในปี 2004 และตั้งกลุ่มอียิปต์เพื่อการเปลี่ยนแปลง ร่วมกับ ดร.มุฮัมมัด อัลบาราได ในปี 2010

33) เป็นโฆษกกลุ่มอิควานมุสลิมีน และคณะกรรมการนโยบาย – มักตับอิรชาด – ในปี 2010

34) เคยเป็นอาจารย์สอนในอเมริกาหลายๆ มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเซาต์แคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียนอร์จริจ ลอสแอนเจลิส และมหาวิทยาลัยฟาติห์ในลิเบีย

35) เริ่มเป็นสมาชิกกลุ่มอิควานมุสลิมีน ในปี 1977

36) กลับมาอียิปต์ในปี 1985 สอนและเป็นหัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรม ที่มหาวิทยาลัยซากอซีก อียิปต์ จนกระทั่ง ปี 2010

37) เกณฑ์ทหารในปี 1975- 1976

เครดิต
เว็บไซต์อัลจาซีร่า

หมายเหตุ
ดูคลิปเกี่ยวกับมุรซีย์ใน

เขียนโดย Ghazal Benmad

ไฟแค้นที่ไม่มีวันดับมอด

ตุรกีประณามการก่อวินาศกรรมของระบอบการปกครองของซีเรียต่อสุสานของคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ

ยาวูซ ซาลิม กีรอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี แถลงผ่านทาง Twitter ประนามการก่อวินาศกรรมและขุดรื้อสุสานของคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ที่ตั้งอยู่ในเขต มะอัรเราะฮ์นุมาน ทางใต้ของจังหวัดอิดลิบ พร้อมกับภาพสุสานที่ถูกทำลาย

“เราขอประณามการโจมตีอย่างร้ายกาจโดยระบอบการปกครองของซีเรียและผู้สนับสนุนต่ออนุสรณ์สุหนี่และออตโตมันในภูมิภาค”

“ระบอบการปกครองของซีเรียแสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพในคุณค่าทางจิตวิญญาณ”

การบันทึกวิดีโอของผู้สนับสนุนระบอบการปกครองซีเรียบนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากอิหร่านได้ขุดสุสานคอลีฟะฮ์ที่ตั้งในหมู่บ้านเดรชัรกีย์ เมืองมะอัรเราะฮ์นุมาน ทางใต้ของอิดลิบ

ทั้งนี้ กองกำลังของรัฐบาลซีเรียได้จุดไฟเผาพื้นที่รอบสุสานเมื่อพวกเขาได้เข้าควบคุมหมู่บ้านเดรชัรกีย์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งได้ทำให้สุสานประสบความเสียหาย

คอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ เป็นคอลีฟะฮ์ลำดับที่แปดในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ แม่ของท่านเป็นหลานของท่านอุมัร บินค๊อตตอบคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคุลาฟารอชีดีนลำดับที่ 5 จากการปกครองโดยยุติธรรมในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และ 5 เดือน

● คลิปสุสานคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ที่ถูกขุดทำลาย
https://twitter.com/i/status/1265357310475501568

https://www.aa.com.tr/ar/1867052/علماء-المسلمين-يدين-نبش-ضريح-الخليفة-عمر-بن-عبدالعزيز/الدول-العربية

เขียนโดย Ghazali Benmad

เปาะวอแม ตำนานแห่งบางปู

วันนี้ 8 เชาวาล 1441 (31 พ.ค. 2563) ได้มีโอกาสละหมาดญะนาซะฮ์เปาะซูแม หรือเป็นที่รู้จักในนามเปาะวอ (86 ปี) ที่มัสยิดอัตตะอาวุน บางปู เวลา 13.00 น.

“ตลกแห่งบางปู”
“บุรุษในตำนานอัตตะอาวุน”
“ผู้เฒ่าจิตอาสา”
“เปาะวอ ชายชราผู้มีแต่ให้”
“ชายธรรมดาที่มีใจไม่ธรรมดา”
ฉายาเหล่านี้ ไม่ได้มาด้วยเวลาอันฉาบฉวย แต่เป็นการสะสมผลงานอันยาวนานจนกลายเป็นตำนานเล่าขาน ส่วนที่มาของแต่ละฉายา มีเรื่องเล่าที่ซุกซ่อนอันมากมาย

غفر الله له ورحمه وأسكنه فسيح جناته ورزق لأهله وذويه الصبر والسلوان
وإنا لله وإنا إليه راجعون


อาลัยลา….เปาะซูแม….
บุรุษในตำนานแห่งอัตตะอาวุน

*****//**/********//************

ชาวบางปู สิ้นแล้วเฒ่า ผู้อุทิศ
ร่วมคิดสร้าง ตะอาวุน จนยิ่งใหญ่
ท่านจากไป ทิ้งความดี ประดับใน
ณ ดวงใจ ฤทัยรัก ตลอดกาล

ขอพระองค์ ทรงเมตตา อภัยท่าน
โปรดประทาน รางวัล สูงสถาน
ด้วยสวรรค์ ที่สถิต แสนยาวนาน
สุขศานติ ที่แดนนั้น นิจนิรันดร์


ด้วยรักและเคารพ…
Qamaruddin Abdul-Muntaqim Al-Jamali

31 May 2020 / 8 Syawal 1441

เบื้องหลังเปิดเกาะประชาธิปไตยและอิสรภาพ ตุรกี

60 ปี ในอดีต ในวันที่ 27 พค. 1960 ทายาทเคมาลิสต์ได้ก่อรัฐประหารครั้งแรก และโค่นรัฐบาลอัดนาน มันเดรส ที่ชนะเลือกตั้ง 2 วาระซ้อน(10 ปี) ด้วยเหตุผลนำพาประเทศที่ปฏิปักษ์กับปรัชญาเคมาลิสต์และพยายามสร้างตุรกีเป็นรัฐศาสนา มันเดรสและรัฐมนตรีอีก 2 คน ถูกจับตัวและถูกขังที่เกาะ Yassiada เพื่อให้ห่างไกลจากผู้คน ต่อมา ในเดือนกันยายน 1961 พวกเขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

หนึ่งในความผิดพลาดอันร้ายแรงของมันเดรส ที่กลุ่มก่อรัฐประหารยัดเยียดคือ รัฐบาลแมนดาริสอนุญาตให้ชาวตุรกีสามารถอะซานด้วยภาษาอาหรับ อนุญาตให้ชาวตุรกีสามารถทำหัจญ์และประกอบพิธีทางศาสนาตามความเขื่อของตน

เกาะ Yassiada ถูกปล่อยร้างตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งปธน. แอร์โดอานดำริที่จะฟื้นฟูเกาะนี้อีกครั้ง โดยเริ่มพัฒนาจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น เกาะประชาธิปไตยและอิสรภาพ การก่อสร้างตามแผนพัฒนาเริ่มต้นในปี 2013

เมื่อวันที่ 27 พค. 2020 ซึ่งเป็นวันคล้าย 60 ปีแห่งรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตุรกียุคใหม่ ปธน. ตุรกี ได้เป็นประธานเปิดเกาะภายใต้ชื่อใหม่นี้อย่างเป็นทางการ

เกาะที่มีขนาดเพียง 0.05 ตร.กม. นี้ มีทั้งโรงแรมที่พัก อาคารประชุมสัมมนา ภัตตาคาร พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อว่าพิพิธภัณฑ์อัดนาน มันเดรส รวมทั้งมัสยิดขนาดความจุ 1,200 คน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชม. และกลายเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่หลังถูกทิ้งร้างนานถึง 26 ปี

บางตอนของคำกล่าวประธานาธิบดีแอร์โดอานในพิธีเปิด

– เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่เป็นเหตุการณ์อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ และบนเกาะแห่งนี้ได้เกิดอาชญากรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกีเช่นกัน
– สัญลักษณ์เดียวที่สำคัญที่สุดของผู้ก่อปฏิวัติในประเทศเราคือ ความเกลียดชังต่อประชาชนและประวัติศาสตร์ของเรา
– พวกเขาไม่ได้หวังทำลายบุคคลใดเป็นการเฉพาะ แต่เป้าหมายเดียวของพวกเขาคือประชาชนชาวตุรกี ประวัติศาสตร์ อารยธรรมและการศรัทธาของชาวตุรกีต่างหาก
– อาชญากรที่ประหารท่านแมนดาริสและสหายของท่าน พวกเขาใช้ชีวิตด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังและโกรธแค้นจากประชาชนตลอดเวลา


ทั้งมันเดรสและคณะผู้ประหารได้ตายจากไปแล้ว แต่ที่ยังคงอยู่ตราบจนวันกิยามะฮ์คือความจริงและความเท็จ ความดีและความชั่วที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติไว

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

บรรยากาศละหมาดอีดิลฟิฏร์ ณ มัสยิดดารุลอามาน โสร่ง

ชาวบ้านและสัปบุรุษมัสยิดดารุลอามาน หมู่บ้านโสร่ง ทำนบ ม.3 ต. เขาตูม อ. ยะรัง จ. ปัตตานี ราว 800 คน ได้ร่วมละหมาดสุนัตอีดิลฟิฏร์ ณ ลานบริเวณมัสยิด ท่ามกลางมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด

ผศ. มัสลัน มาหะมะ ในฐานะผู้อ่านคุตบะฮ์ได้กล่าวถึงบรรยากาศที่ชาวโลกต้องประกาศสงครามโรคระบาดนี้ ซึ่งถือเป็นบททดสอบจากพระผู้เป็นเจ้าที่ต้องการจัดระเบียบโลกใหม่และย้ำเตือนให้มนุษย์กลับไปสู่พระองค์ด้วยหัวใจที่สำรวม พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนตระหนักรู้และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวผู้ศรัทธา

อิมามซะการียา กีไร อิมามประจำมัสยิดดารุลอามาน กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี หน่วยงานราชการทุกภาคส่วน ที่ได้อนุญาตให้มัสยิดดารุลอามาน โสร่งจัดละหมาดอีดิลฟิฏร์ ท่ามกลางการเฝ้าระวังการเผยแพร่ของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพี่น้องทุกท่าน

มนุษยธรรมต้องมาก่อน

รัฐบาลตุรกีส่งความช่วยเหลือครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่สหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบินประจำกองทัพอากาศตุรกีได้ลำเลียงความช่วยเหลือที่สนามบินกรุงวอชิงตัน

นายแอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า เราได้มอบความข่วยเหลือด้านการแพทย์ไปยัง 54 ประเทศทั่วโลก จากประเทศบอลข่านไปถึงแอฟริกา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และถือเป็นหน้าที่ของตุรกีที่จะต้องปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมครั้งนี้

สหรัฐอเมริกาโดนวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักหน่วง ล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อทะลุ 1.1 ล้าน คนตายดุจใบไม้ร่วงเกือบ 2 พันรายต่อวัน

จุฬาราชมนตรีออกมาตรการผ่อนปรนละหมาดวันศุกร์

จุฬาราชมนตรีออกมาตรการผ่อนปรนการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะละหมาดวันศุกร์ พร้อมแนวทางปฎิบัติ

แต่ยังให้งดกิจกรรมทางศาสนาที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มทุกประเภท

โดยให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใช้ดุลยพินิจร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด โดยขอคำปรึกษาหารือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ตามนัยของประกาศจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 5/2563 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2563

พร้อมแนะนำวิธีการและแนวทางมาตราการป้องกันอย่างรัดกุมและเคร่งครัด

การคะนึงคิดของผมคือให้โลกใบนี้ได้รับความดีงามของอิสลาม

Omandaily.om ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ฉบับวันที่ 29 /4/2020 ในคราวสัมมนานานาชาติว่าด้วยการพัฒนาศาสตร์กฎหมายอิสลามที่กรุงมัสคัต ประเทศโอมานระหว่างวันที่ 1-3/12/2019 โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามทั่วโลกกว่า 50 คนเข้าร่วม

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยประโยคว่า “ทุกเสี้ยวนาทีในคะนึงคิดของผม คืออยากให้โลกใบนี้ได้รับความดีงามของอิสลามพร้อมยืนยันว่าความแตกแยกในหมู่มนุษย์ หาใช่มีสาเหตุอื่นใดนอกจากผลพวงการทำงานของมารร้าย(ชัยฏอน)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยังได้กล่าวถึงอิสลามว่า เป็นศาสนาแห่งความโปรดปรานและสันติ และความขัดแย้งในประเด็นข้อปลีกย่อยทางอะกีดะฮ์เนื่องจากความไม่เข้าใจในองค์รวมศาสนา และไม่สมควรทำเป็นสาเหตุแห่งความแตกแยก

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยฟาฏอนีว่าในฐานะอธิการบดี เราได้ตั้งเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการนำสารอิสลามแห่งสันติไปยังสังคมในทุกระดับ ทุกคนสามารถเข้าเรียนในสถาบันแห่งนี้โดยไม่เลือกเพศ ศาสนาและอายุ ในขณะที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนกิจการของชาวมุสลิมด้วยดีมาโดยตลอดและให้อิสระแก่ชาวมุสลิมปฏิบัติตามความเชื่ออย่างอิสระเสรี http://www.ftu.ac.th/

พร้อมนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวถึงหนังสือที่ท่านเพิ่งเขียนเสร็จล่าสุดคือประชาชาติหนึ่งเดียววิถีชีวิตของชาวสุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยกล่าวย้ำอันตรายแผนการของมารร้าย (ชัยฏอน) ที่คอยยุแหย่ผู้คนให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชัง พร้อมระบุว่าการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมารร้ายเป็นสิ่งที่จำเป็นเหนือทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม https://www.omandaily.om/?p=786386

โรงพยาบาลศูนย์แห่งที่ 4 ในตุรกี

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2020 ประธานาธิบดีตุรกีนายแอร์โดอาน ได้เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลศูนย์แห่งใหม่ที่เมือง Basaksehir เมืองทางทิศตะวันตกของอิสตันบูลฝั่งยุโรป เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในนครอิสตันบูลและอันดับ 3 ของประเทศ ถือเป็นการเปิดตัวในเฟสแรก ส่วนเฟส 2 คาดว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2020 นี้

โรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2016 ใช้คนงานที่ครอบคลุมฝ่ายต่างๆจำนวน 6,000 คน โดยสร้างขึ้นบนเนื้อที่กว่า 600 ไร่ที่เมือง Basaksehir โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยจำนวน 32,700 รายต่อวัน พร้อมด้วย 2,640 เตียง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นผลความร่วมมือการลงทุนระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนโดยมีวัตถุประสงค์ให้บริการและสวัสดิการทางการแพทย์แก่ประชาชนในนครอิสตันบูลและพื้นที่ใกล้เคียง

โรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้ ได้ถูกออกแบบที่เชื่อมโยงกับระบบจราจรและการคมนาคมอย่างครบวงจร ทั้งทางบก ทางทะเลและอากาศ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาระบบจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ตัวอาคารได้ถูกออกแบบตามมาตรฐานต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรประจำการกว่า 10,000 คนในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 4,300 คน เจ้าหน้าที่แผนกบริการจำนวน 4,050 คน บุคลากรสายบริหารสำนักงานทั่วไป 810 คนและอื่นๆ

ปัจจุบันทั่วประเทศตุรกีมีโรงพยาบาลจำนวน 1,518 แห่ง ประกอบด้วย 240,000 เตียงสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและ 40,000 เตียงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะ

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ที่มา : https://www.aljazeera.net/news/healthmedicine/2020/4/19/%D9%85%D8%AF%D9%8A%D9%86%D8%A9-%D8%B7%D8%A8%D9%8A%D8%A9-%D8%AC%D8%AF%D9%8A%D8%AF%D8%A9-%D9%81%D9%8A-%D8%AA%D8%B1%D9%83%D9%8A%D8%A7