ชาวฝรั่งเศสประท้วงต่อต้านความรุนแรงของบิดาและการละเลยต่อคดีล่วงละเมิดทางเพศ

ชาวฝรั่งเศสนับหมื่นรวมตัวกันที่กรุงปารีส เพื่อประท้วงความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะจากบิดา นอกจากนี้พวกเขายังชูป้ายประท้วงการละเลยของศาลที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อคดีการล่วงละเมิดทางเพศ

นี่คือวิกฤตของสังคมยุโรปที่สำลักอาการประชาธิปไตยอย่างไร้ของเขตและมัวเมาในกามารมณ์ พวกเขาใช้ประชาธิปไตยเพื่อบูชาอารมณ์และกดขี่ผู้อ่อนแอภายใต้วาทกรรมสิทธิ์เสรีภาพเท่านั้น

น่าแปลกที่ชาวโลกพากันยกย่องคุณค่าที่ยืนอยู่บนขาเดียว (โลกนิยม) ทั้งๆ ที่มนุษย์ปกติต้องยืนอยู่บนสองขา (โลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์)


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

โครงการสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ 1/63

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายนิเลาะ อับดุลบุตร ประธานชมรมจิตอาสาฉันและเธอ และผศ. มัสลัน มาหะมะ ที่ปรึกษาชมรมฯ พร้อมคณะ ได้ส่งมอบบ้าน ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านรอแตตาวา  99/2 ม. 7 ต. ลุโบะยือไร อ. มายอ จ. ปัตตานี ให้แก่นางยารอ สือแลแม (43ปี) เป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็กทรงโมเดิร์น ขนาด 4×10.5 ม. ประกอบด้วย 1 ห้องน้ำ 1 ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัวพร้อมระบบไฟฟ้าและน้ำประปา มูลค่าก่อสร้าง 176,000 บาท พร้อมเงินสด ถุงยังชีพและของใช้ในครัวมูลค่า 3,000 บาท

นายนิเลาะ อับดุลบุตร กล่าวว่า ชมรมจิตอาสาฉันและเธอและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพระดมเงินเพื่อสร้างบ้านให้แก่นางยารอ สือแลแม ซึ่งมีลูกชายอายุ 17 ปีเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตั้งแต่แรกเกิด นางยารอจึงไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากต้องดูแลลูกชายตลอดเวลา โดยสามารถระดมเงินบริจาครวมทั้งสิ้น 178,752 บาท

“ บ้านหลังนี้ถือเป็นเคสแรก เราเริ่มวางศิลารากฐานสร้างบ้านเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 ระหว่างก่อสร้าง เป็นช่วงฤดูฝนและเกิดน้ำท่วม ทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากทีมงานบางส่วนต้องระดมให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ด้วยเตาฟิกจากอัลลอฮ์ โครงการแรกนี้สำเร็จไปด้วยดี สามารถส่งมอบบ้านเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 จึงใคร่ถือโอกาสนี้ขอบคุณชาวมือบนทุกท่านที่ช่วยกันสานฝันให้ครอบครัวนางยารอ สือแลแม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจ Mazlan Muhammad และเว็บไซต์ theustaz.com ที่ช่วยประชาสัมพันธ์รณรงค์การระดมทุนโครงการนี้ จนสำเร็จลุล่วงด้วยเตาฟิกจากอัลลอฮ์ “ นายนิเลาะ กล่าว

“ ชมรมจิตอาสาฉันและเธอ ยังมีโครงการสร้างบ้านแก่ผู้ยากไร้อีกหลายโครงการซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งมอบทุนช่วยเหลือเเก่ครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยติดเตียง จึงขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้ชาวมือบนทุกท่านสมทบทุนโครงการต่างๆของชมรมโดยสามารถติดตามได้ตาม fb : Niloh Abdulbut” นายนิเลาะ กล่าวทิ้งท้าย


โดย Mazlan Muhammad

ออสเตรเลียฆ่าอูฐกว่า 10,000 ตัวอ้างดื่มน้ำมากเกินไป

อูฐนับ 10,000 ตัว กำลังถูกฆ่าตายในเขตภัยแล้งของประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากอูฐกำลังเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน

สำนักข่าว CNN รายงานว่า เจ้าหน้าที่ชาวอะบอริจินในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐเซาท์ออสเตรเลียอนุมัติให้มีการฆ่าอูฐ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 5 วันในการฆ่าอูฐกว่า 10,000 ตัว ซึ่งอูฐเหล่านี้จะถูกยิงโดยนักยิงปืนมืออาชีพบนเฮลิคอปเตอร์ ในพื้นของ Anangu Pitjantjatjara Yankunytjatjara (AYP)  เนื่องจากอูฐ ดื่มน้ำมากจนเกินไปในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญทั้งไฟป่าและแห้งแล้งแบบนี้

อาลี สุลฏอนอัลฮาจิรีย์ ชาวกาตาร์ ได้เดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรอูฐ ณ แดนจิงโจ้

เขาเล่าถึงตัวเองว่า ได้จบการศึกษาสาขาบัญชีจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสสหรัฐอเมริกา และบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งนักบัญชี แต่เขายังหลงเสน่ห์กับอูฐและการใช้ชีวิตในทะเลทราย เขายังผูกพันกับอูฐหลายร้อยตัวที่เขาเลี้ยงอย่างเอาใจใส่ ชนิดที่อูฐแต่ละตัวมีชื่อเรียกเฉพาะของมัน

อัลฮาจิรีย์เล่าว่า เมื่อเขาทราบว่าที่ออสเตรเลียมีการฆ่าอูฐนับ 10,000 ตัวต่อปี ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางหาความจริงที่ออสเตรเลียทันที

เขาพบว่า ประชากรอูฐที่ออสเตรเลียถูกนำเข้าครั้งแรกจากปากีสถานกลางศตวรรษที่ 19 พร้อมคนเลี้ยง เพื่อใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าและเป็นสัตว์พาหนะ แต่เมื่อประเทศมีความเจริญและมีระบบขนส่งเหมือนปัจจุบัน อูฐจึงเป็นสัตว์ที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป จึงถูกปล่อยโดยไม่มีการเลี้ยงดู ทำให้อูฐต้องอาศัยตามทะเลทรายและมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ที่ประมาณกันว่า ในรัฐเซาท์ออสเตรเลียมีประชากรอูฐจำนวนกว่า 1 ล้านตัว บางครั้งฝูงอูฐได้ทำลายไร่สวนของชาวบ้านและดื่มน้ำจากต้นลำธารที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียใช้มาตรการกำจัดอูฐด้วยการร่างกฎหมายให้ฆ่าอูฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

อัลฮาจิรีย์กล่าวว่า  มาตรการกำจัดประชากรอูฐของรัฐบาลออสเตรเลีย เป็นมาตรการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากอูฐให้คุณค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ อาหารสุขภาพและประโยชน์อื่นๆมากมาย แต่รัฐบาลออสเตรเลียกลับมองข้ามเรื่องนี้และถือว่าเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ

ยุคนบีศอลิห์ ชาวษะมูดได้ท้าทายนบีศอลิห์ด้วยการให้ท่านขอพรจากพระเจ้าให้ประทานอูฐที่มาจากก้อนหินขนาดใหญ่ตามคุณสมบัติที่พวกเขากำหนด เมื่ออูฐได้ปรากฏตัวจริงตามคำขอ พวกเขาถูกกำชับให้เลี้ยงดูอูฐตัวเมียตัวนั้นอย่างดี แต่แทนที่พวกเขาจะปฏิบัติตาม พวกเขาฆ่าอูฐตัวนั้น ด้วยเหตุผลว่าอูฐแย่งน้ำดื่มของพวกเขา ทำให้พวกเขาประสบภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อบริโภคและอุปโภค

อูฐออสเตรเลีย ก็โดนข้อหาใกล้เคียงกัน ทั้งๆที่ในอดีต รัฐบาลออสเตรเลียได้นำเข้าประชากรอูฐที่ขนย้ายไกลมาจากปากีสถาน

https://www.youtube.com/watch?fbclid=IwAR3v4fW5Q22-et2bYa705Fv-6rETWyMUivailHE2uHmZUJ6zvCeR-aGuP0E&v=KQz2k86frs4&feature=youtu.be

อ้างอิง

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/117354?fbclid=IwAR2NAxOV7Zr29pHsdAxBoRWM7iVbUpMKeiEPXZbrDm0RhJ8rpaAqPy30qn4

โดย Mazlan Muhammad

สตรีชาวอเมริกันเข้ารับอิสลามหลังติดตามซีรีส์ประวัติศาสตร์ชื่อดังของตุรกี “Ertugrul Resurrection-คืนชีพคืนแผ่นดิน”

ได้รับอิทธิพลจากซีรีส์ประวัติศาสตร์ชื่อดังของตุรกี “Ertugrul Resurrection-คืนชีพคืนแผ่นดิน” สตรีชาวอเมริกันในนิวยอร์กซิตี้ประกาศนับถือศาสนาอิสลาม หลังจากติดตามเหตุการณ์ในซีรีส์ที่พูดถึงยุคที่มีส่วนในการก่อตั้งจักรวรรดิออตโตมัน

นางเปลี่ยนชื่อเป็น“คอดีญะฮ์” กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว “อนาโตเลีย” ว่า เธอตัดสินใจเข้ารับอิสลามเนื่องจากได้รับผลกระทบจากซีรีส์เรื่อง The Resurrection of Ertugrul และสิ่งที่เธอได้ยินเกี่ยวกับพระเจ้า, อิสลาม, สันติภาพ, ความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่

หญิงวัย 60 ปีกล่าวว่า ก่อนที่เธอจะดูซีรีส์เธอไม่รู้อะไรเกี่ยวกับยุคประวัติศาสตร์นั้น และซีรีส์นี้ดึงดูดเธอด้วยการเสนอแนวคิดของศาสนาอิสลามความยุติธรรมและการช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่

เธอระบุว่าเธอรักตัวละครของแอร์ตุฆรุล ตูร์กูต  และ เซลจัน มากกว่าคนอื่น ๆ ในซีรีส์ โดยแสดงความผิดหวังเมื่อเธอรู้ว่า บัมซี  ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแอร์ตุฆรุลและยืนอยู่ข้างเขา

ตัวละครอิบนุอารอบีก็เป็นที่ชื่นชอบของเธอ  เธอดูซีรีส์นี้ 4 ครั้งติดต่อกันและตอนนี้เธอดูซีรีส์นี้เป็นครั้งที่ 5 โดยแสดงความชื่นชมในคุณค่าที่เขานำเสนอโดยเฉพาะเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

นอกจากนี้เธอยังชี้ให้เห็นว่าเธอถูก “แยกทางสังคม” โดยเพื่อนของเธอหลังจากที่พวกเขาทราบข่าวเกี่ยวกับการเข้ารับศาสนาอิสลามของเธอ โดยแสดงความหวังว่าเธอจะได้ไปเยือนตุรกี และชมสุสานทางประวัติศาสตร์ของตัวละครในซีรีส์โดยเร็วที่สุด


โดย Ghazali Benmad

ตุรกีเชิดชูตำรวจ 3 นายปฏิเสธเงินใต้โต๊ะจากแก๊งค์อาชญากรรม

สถานีตำรวจภูธรจังหวัดโกลาจี เมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือตุรกี ได้เชิดชูตำรวจ 3 นายที่ปฏิเสธรับเงินสินบนจำนวน 7 แสนลีร่า ( ประมาณ 3.5 ล้านบาท) จากแก๊งค์อาชญากรรม

ผู้ต้องหารายหนึ่งถูกจับกลุ่มในข้อหาปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารทางการเงิน ซึ่งได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยเงินสดจำนวน 3 แสนลีร่าและเรือมูลค่า 4 แสนลีร่า เพื่อแลกกับการปล่อยตัว

สถานีตำรวจภูธร ได้เปิดคลิปเสียงบันทึกการสนทนา ซึ่งผู้ต้องหาพูดว่า “ผมไม่ใช่ผู้ร้าย ผมไม่ขโมยและไม่เคยค้ายาเสพติด มันเป็นเรื่องของธนาคารปล่อยผมและผมจะบอกว่าผมหนีจากการคุมตัว ผมจะโอนเข้าบัญชีของพวกคุณทันที”

ตำรวจนายหนึ่งตอบว่า “เราจะไม่แตะต้องเงินบาปนี้ ผมจะบอกอะไรคุณ หากเรารับเงินนี้ เราไม่มีเกียรติใดๆเลย

จากนั้น ชายคนนั้นถูกนำตัวไปโรงพักและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมา สถานีตำรวจภูธรจังหวัดโกลาจี ได้จัดพิธีเชิดชูตำรวจทั้ง 3 นายดังกล่าว พร้อมมอบรางวัลและเกียรติบัตรเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป


อ้างอิง

โดยทีมงานต่างประเทศ

เหตุการณ์ผ่านไป 1 ปี เหยื่อแผ่นดินไหวมีบ้านพักฟรี

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2021 เป็นวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเอลาซิก เมืองทางภาคตะวันออกของตุรกี ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาคารบ้านเรือนเสียหายยับเยิน

รัฐบาลตุรกีประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติพร้อมระดมความช่วยเหลือทั้งด้านการแพทย์ หน่วยกู้ภัยและอาสาสมัครต่างทำงานหนักเพื่อบรรเทาทุกข์แก่เพื่อนร่วมชาติที่ประสบภัยครั้งนี้

ประธานาธิบดีแอร์โดอานประกาศว่ารัฐบาลจะสร้างที่พักใหม่ให้แก่ผู้ประสบภัยภายใน 1 ปี และในวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2021 รัฐบาลได้ปฏิบัติตามสัญญาด้วยการมอบบ้านใหม่ฟรีให้แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งนี้จำนวน 8,000 ยูนิค

เหตุร้ายผ่านไปแล้ว ความสูญเสีย ไม่มีวันกลับคืน แต่ชีวิตที่ปลอดภัย ก็ต้องต่อสู้ต่อไป

ปลื้มใจแทนชาวตุรกีจริงๆ


อ้างอิง

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ทหารอิสราเอลสั่งห้ามซ่อมแซมมัสยิดโดมทอง

24 มกราคม 2021 ทหารอิสราเอลบุกเข้ามัสยิดโดมทองพร้อมสั่งห้ามบูรณะซ่อมแซมมัสยิดในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ ประณามการ กระทำครั้งนี้และถือว่าเป็นการทำลายความรู้สึกของชาวอาหรับและมุสลิมทั่วโลก

กองกำลังอิสราเอลได้บุกเข้าไปในมัสยิดโดมทองในบริเวณมัสยิดอักศอและสั่งยุติการบูรณะซ่อมแซมข้างในมัสยิด พร้อมข่มขู่คนงานว่าจะขับไล่ออกจากสถานที่หรืออาจถูกจับกุม

ก่อนหน้านี้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง กองกำลังอิสราเอลได้สั่งห้ามการบูรณะซ่อมแซมห้องน้ำและห้องอาบน้ำละหมาดมัสยิดมัรวานมาแล้ว

กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์เรียกร้ององค์กรสากลโดยเฉพาะยูเนสโกให้รีบดำเนินการยับยั้งการกระทำของอิสราเอลในครั้งนี้ ทั้งนี้อาคารศาสนสถานของศาสนาคริสต์และอิสลามถูกละเมิดโดยกองกำลังอิสราเอลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมายาวนาน


โดยทีมข่าวต่างประเทศ

มนุษย์ในมุมมองของจอมเผด็จการ

คำกล่าวของประธานาธิบดีแห่งอียิปต์นายซีซีย์ได้สร้างกระแสความไม่พอใจแก่ชาวอียิปต์อย่างมาก หลังจากที่นายซีซีย์เรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์ควบคุมกำเนิด ก่อนที่พวกเขาจะเรียกร้องให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

หลังจากที่ชาวอียิปต์ทุกหมู่เหล่า ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง นายซีซีย์ได้กล่าวแก่ประชาชนว่าก่อนที่ท่านทั้งหลายจะเรียกร้องให้เร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขอให้ท่านทั้งหลายเร่งดำเนินการคุมกำเนิดให้ได้ผลก่อน

คำพูดของนายซีซีย์ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนชาวอียิปต์อย่างมาก โดยเฉพาะชาวโลกออนไลน์ที่ได้ตอบโต้ว่า “เบื้องหลังความสำเร็จของญี่ปุ่น ทั้งๆที่เป็นประเทศที่เล็กกว่าอียิปต์ มีทรัพยากรน้อยกว่าและมากด้วยภัยธรรมชาติ เนื่องจากญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการศึกษา ในขณะที่รัฐบาลอียิปต์มองว่า มนุษย์เป็นตัวถ่วงความเจริญและการพัฒนา”

หะซัน อับดุรเราะห์มาน เขียนในทวีตส่วนตัวว่า “ การเพิ่มอัตราประชากรเป็นการเพิ่มขีดความสามารถสู่การพัฒนาและความเจริญของประเทศที่ปกครองโดยประชาธิปไตยที่แท้จริง ในขณะที่รัฐบาลเผด็จการถือว่า มันเป็นตัวถ่วงความเจริญ”

ผู้ใช้ทวีตคนหนึ่งเขียนว่า “ เขามักจะอ้างความยากจน แล้วที่เขาสร้างปราสาทราชวังใหญ่โต รัฐบาลใช้งบประมานส่วนไหนกันแน่”

ในขณะที่ประชาชนผู้สนับสนุนนายซีซีย์ และยกย่องนายซีซีย์เป็นผู้ปกครองทรงคุณธรรมแห่งอียิปต์ กล่าวว่า มาตรการคุมกำเนิด เป็นโครงการที่เราต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะครอบครัวชาวอียิปต์จำนวนมากที่ไม่สามารถส่งเสียลูกหลานให้เรียนหนังสือ เนื่องจากมีลูกมากและไม่มีการควบคุมกำเนิด


อ้างจาก

https://www.aljazeera.net/programs/aja-interactive/2021/1/24/تسألوني-عن-التعليم-أسألكم-عن-تحديد?fbclid=IwAR3hJrhT5iZA1dGeMqo5TQ-chGWXcE9oze-K878UKb4OlGFnuxPRekFDs1g

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงสหรัฐคนใหม่ผู้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเมือง ของสหรัฐฯ

ชัยชนะของพรรคเดโมแครตทำให้แฮร์ริสสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่กว่า 200 ปีของสหรัฐไปโดยสิ้นเชิง ด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกและคนผิวสีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรก ที่ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

รองประธานาธิบดีวัย 56 ปีเกิดที่เมืองโอคแลนด์ในรัฐแคลิฟอร์เนียในครอบครัวผู้อพยพ มีแม่ชาวอินเดียและ พ่อชาวจาไมกาที่เป็นศาสตรจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ หย่าร้างกันเมื่อเธออายุเพียง 5 ขวบ

และหลังจากนั้นแฮร์ริสก็ได้รับการเลี้ยงดูโดย คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พ่วงด้วยตำแหน่งนักวิจัยมะเร็งและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนมาตลอด ซึ่งต่อมาแม่เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2009

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลับฮาวเวิร์ดในกรุงวอชิงตันดีซีในปี 1986 และโรงเรียนกฎหมายแฮสติงส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในปี 1989 แฮร์ริสก็สอบผ่านเนติบัณฑิตในปีต่อมาและเข้าทำงานเป็นอัยการผู้ช่วยในเขตแอละมีดาในรัฐแคลิฟอร์เนียบ้านเกิด

เส้นทางสู่สายการเมืองของแฮร์ริสได้เริ่มขึ้น ณ ที่แห่งนี้

ปี 2003 แฮร์ริสได้รับเลือกให้เป็นอัยการเขตของซานฟรานซิสโก กลายเป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกในแคลิฟอร์เนียที่ได้รับตำแหน่งนี้

ต่อมาในปี 2010 เธอเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย และปี 2016 เธอเป็นผู้หญิงผิวสีคนที่สองและเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิกของสหรัฐ

โจ ไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการเมื่อ วันที่ 20 มกราคม 2021 ในวัย 78 ปี ถือเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเขาน่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้เพียงแค่วาระเดียว โดยที่นางแฮร์ริส อาจเป็นประธานาธิบดีหญิงผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ในกรณีที่โจ ไบเดนเสียชีวิตหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยใช้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 25 เปิดทางโอนอำนาจให้รองประธานาธิบดีไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไป


ขอบคุณข้อมูล

https://www.posttoday.com/world/637506?fbclid=IwAR3SqV4zFBObKhhwnINJMjX-yo7OTw_quFg0p5v_1A2oZCESe53TuWd7dZ0

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

16 คุณูปการของทรัมป์ต่ออิสราเอล 16 ความอัปยศของประชาชาติมุสลิม

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงให้แก่อิสราเอล 16 ประการ ซึ่งเป็น 16 ประการของความอัปยศของประชาชาติมุสลิมโดยเฉพาะชาวปาเลสไตน์และชาวซีเรีย ทั้ง 16 ประการนี้ นอกจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของชาวปาเลสไตน์และขาวซีเรียโดยสิ้นเชิง

16 ประการนี้ได้แก่

          1.      การรับรองอัลกุดส์เป็นเมืองหลวงอิสราเอล

เมื่อ 6 ธันวาคม 2017 โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศรับรองอัลกุดส์เป็นเมืองหลวงอิสราเอลอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชาติมุสลิมทั่วโลก

          2.      ยุติการเรียก”แผ่นดินที่ถูกยึดครอง”ในเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่า

เมื่อ 20 เมษายน 2018 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ประกาศยกเลิกการเรียก”แผ่นดินที่ถูกยึดครอง” โดยเรียกเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่าแทน

          3.      ย้ายสถานทูตสหรัฐฯจากเทลอาวีฟไปยังอัลกุดส์

เมื่อ 14 พฤษภาคม 2018 ทรัมป์ออกคำสั่งย้ายสถานทูตสหรัฐฯจากเทลอาวีฟไปยังอัลกุดส์ ซึ่งถือเป็นสถานทูตต่างชาติแห่งแรกที่ได้รับการสถาปนาที่เมืองอัลกุดส์

          4.      ยุติความช่วยเหลือด้านการเงินแก่รัฐบาลปาเลสไตน์

เมื่อ 2 สิงหาคม 2018 รัฐบาลสหรัฐฯประกาศยุติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลปาเลสไตน์ โดยทรัมป์อ้างว่า เพื่อกดดันให้รัฐบาลปาเลสไตน์ยอมรับมาตรการของอิสราเอลที่สร้างนิคมตนเองในพื้นที่ชาวปาเลสไตน์

          5.      ตัดงบประมาณความช่วยเหลือทางการเงินแก่ UNRWA

เมื่อ 3 สิงหาคม 2018 รัฐบาลสหรัฐฯประกาศตัดงบประมาณสนับสนุนสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ซึ่งสหรัฐฯคือผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดที่ให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรนี้ โดยสหรัฐฯสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สวัสดิการด้านการศึกษา พยาบาลและอื่นๆ กว่า 300 ล้านดอลล่าร์ต่อปี

          6.      ตัดงบประมาณให้ความช่วยเหลือแก่โรงพยาบาลชาวปาเลสไตน์ที่อัลกุดส์ตะวันออก

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2018 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศยุติการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงพยาบาลปาเลสไตน์จำนวน 6 แห่งที่ให้บริการแก่ชาวปาเลสไตน์ ในเขตอุลกุดส์ตะวันออก

          7.      ปิดสำนักงาน องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ PLO ที่กรุงวอชิงตัน

วันที่ 10 กันยายน 2018 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศปิดสำนักงานองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ PLO ที่กรุงวอชิงตันพร้อมขับไล่เจ้าหน้าที่และคนงานออกจากสำนักงาน

          8.      ยุบสถานกงสุลสหรัฐฯที่เมืองอัลกุดส์

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2019 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศยุบสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่อัลกุดส์ โดยผนวกรวมให้อยู่ภายใต้การบริหารของสถานทูตสหรัฐฯที่เมืองอัลกุดส์แทน

          9.      รับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงโกลาน

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2019 ทรัมป์ประกาศรับรองอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลเหนือที่ราบสูงโกลานที่อิสราเอลยึดครองจากซีเรียเมื่อสงคราม 6 วัน ปีค.ศ. 1967 และในโอกาสนี้อิสราเอลได้เปลี่ยนชื่อที่ราบสูงโกลานเป็นที่ราบสูงทรัมป์ทรัมป์แทน

          10.    ยกเลิกนับจำนวนนิคมอิสราเอลที่ผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2019 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกประกาศว่าจะไม่มีการนับจำนวนนิคมสร้างตนเองอิสราเอลที่สร้างขึ้นอย่างผิดกฎหมายในบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์

          11.    ประกาศแผนสันติภาพข้อตกลงแห่งศตวรรษ

วันที่ 28 มกราคม 2020 ทรัมป์ประกาศแผนสันติภาพ”ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” ที่มีเป้าหมายยุติความขัดแย้งและกดดันให้ชาวปาเลสไตน์ยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลเหนืออัลกุดส์ฝั่งตะวันออกและพื้นที่อีก 30 % ในเขตเวสต์แบงค์

          12.    รณรงค์แผนดำเนินงาน “การรื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างปกติ”ระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล

เดือนกันยายน 2020 ทรัมป์ประกาศแผนสันติภาพ “การรื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างปกติ” ระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลโดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์บาห์เรน ซูดานและมอร็อกโก เป็น 4 ชาติอาหรับนำร่องจับมือกับอิสราเอลดำเนินตามแผนสันติภาพนี้

          13.    ให้ความคุ้มครองเขตนิคมสร้างตนเองของอิสราเอล

วันที่ 28 ตุลาคม 2020 อิสราเอลและสหรัฐอเมริกาได้บรรลุข้อตกลงให้ความคุ้มครองเขตนิคมสร้างตนเองของอิสราเอลที่สร้างขึ้นในเขตเวสต์แบงค์ฝั่งตะวันตกและที่ราบสูงโกลาน

          14.    อนุญาตให้ชาวสหรัฐฯที่อาศัยที่เมืองกุดส์แจ้งเกิดลูกว่าถือกำเนิดที่ประเทศอิสราเอล

วันที่ 29 ตุลาคม 2020 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศอนุญาตให้ทารกแรกเกิดของชาวสหรัฐอเมริกาที่ถือกำเนิดที่เมืองอัลกุดส์ ให้สามารถระบุในหนังสือเดินทางว่ากำเนิดที่ประเทศอิสราเอล

          15.    ประกาศว่า กิจกรรมที่ดำเนินการโดยกลุ่มเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อรณรงค์คว่ำบาตร ลดการลงทุนและลงโทษต่อประเทศอิสราเอล (Boycott,Divestment and Sanction)

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประกาศว่าแคมเปญ ที่ดำเนินการโดยกลุ่มเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อรณรงค์คว่ำบาตร ลดการลงทุนและลงโทษต่อประเทศอิสราเอล (Boycott,Divestment and Sanction) จนกว่าอิสราเอลจะยอมปฏิบัติตามกฏหมายระหว่างประเทศและยอมรับสิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่ริเริ่มโดยชาวปาเลสไตน์ในปี ค.ศ. 2005 ว่า เป็นมาตรการที่ไร้จรรยาบรรณและถือเป็นกิจกรรมที่เป็นศัตรูต่อคุณค่าอันสูงส่ง

          16.    ติดสติ๊กเกอร์บนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเขตนิคมสร้างตนเองว่าผลิตจากอิสราเอล

วันที่ 24 ธันวาคม 2020 สหรัฐอเมริกาเริ่มใช้สติ๊กเกอร์บนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเขตนิคมสร้างตนเองว่าผลิตมาจากอิสราเอล ทั้งๆที่เขตนิคมดังกล่าวถูกสร้างบนพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ที่อิสราเอลยึดครองอย่างผิดกฎหมายสากล

https://www.facebook.com/masjidabibakrphatna/videos/504118867390503

อ้างจาก

https://www.aljazeera.net/news/2021/1/20/هذه-مكاسب-إسرائيل-في-عهد-ترامب-على-حساب?fbclid=IwAR1zZgc7ouAv1JqO3S-mJ8cupCOOR_0X364aWDCHphZIuaK2tKgc2cztKcc

โดย Mazlan Muhammad