ร้องเรียนมาตรฐานข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายู ถึง สทศ.

จดหมายเปิดผนึกถึง สทศ.

         เรื่อง ร้องเรียนมาตรฐานข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายู
         เรียน ประธานกรรมการ สทศ.

         ตามที่สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – สทศ. ได้ดำเนินการสอบ I-NET เพื่อทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา โดยออกข้อสอบทั้งภาษาไทยและภาษามลายูอักษรยาวี นั้น

ขอเรียนแจ้งว่า ในส่วนของข้อสอบภาษามลายูพบว่า มีข้อผิดพลาดนับไม่ถ้วนที่สะท้อนถึงความไม่มีมาตรฐานของคณะกรรมการออกข้อสอบทุกฝ่ายและความสะเพร่าของผู้เกี่ยวข้องทุกชุด

ผลของการไร้ซึ่งมาตรฐานนี้ นอกจากบ่งชี้ถึงความไม่จริงจังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาทางอิสลามศึกษา ความไร้มาตรฐานของคณะทำงานของผู้ทดสอบมาตรฐานในทุกขั้นตอนการทำงานแล้ว ยังเป็นการดูถูกภูมิปัญญาและความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษามลายูอักษรยาวีอีกด้วย

จึงขอร้องเรียนมาตรฐานข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายูมายัง สทศ. และเสนอให้ สทศ. รับพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

  • ยุติการปฏิบัติงานของคณะกรรมการออกข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายูทุกชุด และแต่งตั้งบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทน
  • ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานของคณะกรรมการออกข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายูทุกชุด
  • ประสานหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการออกข้อสอบ I-NET ภาคภาษามลายู เพื่อสามารถปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของ สทศ. อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานต่อไป
ที่มา : www.niets.or.th

         theustaz.com ขอส่งกำลังใจและเชื่อมั่นต่อ สทศ. เป็นหน่วยงานที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาด้านอิสลามศึกษาในภูมิภาคสมดังเจตนารมณ์ที่วางไว้ทุกประการ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
theustaz.com
21 มกราคม 2563

ที่มา : www.niets.or.th

เตือนมุสลิมระวังแก๊งต้มตุ๋นออนไลน์ อ้างมีทุนจากรัฐบาลซาอุฯทำฮัจญ์ฟรี

19 มกราคม 2563
เกิดกระแสที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ขณะนี้ว่า มีการประกาศเสนอทุนทำพิธีฮัจญ์ฟรีโดยทุนของประเทศซาอุดิอาระเบีย ผ่านกระทรวงกิจการศาสนาและศาสนสมบัติที่ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมลงทะเบียนสมัครผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะฮ์ในปีนี้

ข่าวที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอาหรับระบุว่า มีทุนฮัจญ์ฟรีโดยมอบทุนๆละ 2 คน ซึ่งกระทรวงกิจการศาสนาและศาสนสมบัติร่วมกับมักกะฮ์ชาแนลเป็นฝ่ายรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายค่าเดินทาง ค่าที่พักและค่าอาหารตลอดระยะเวลาทำพิธีฮัจญ์ โดยผู้สมัครจะต้องกรอกใบสมัครและตอบคำถามเป็นภาษาอาหรับตามที่ได้ระบุไว้

theustaz.com ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่อาวุโสสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย ได้รับการยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด และเชื่อว่าน่าจะมีแก๊งค์มิจฉาชีพที่ตั้งใจหลอกลวงประชาชน จึงขอเตือนมายังพี่น้องมุสลิมอย่าได้หลงเชื่อกับข่าวในทำนองนี้ เพราะรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีการคัดเลือกและให้ทุนทำฮัจญ์ในนามรัฐบาลผ่านองค์กรและหน่วยงานที่เป็นทางการเท่านั้น

โดยทีมข่าวในประเทศ

แก้ปัญหาใต้ : การเยียวยาเเค่ส่วนหนึ่ง

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

การเยียวยาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน :กรณีทหารพรานยิงชาวบ้าน
จากกรณีที่ทหารพรานยิงชาวบ้านที่เขาตะเว จังหวัดนราธิวาส ได้มีการนำเงินเยียวยาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และแม่ทัพภาคที่สี่ นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากจะให้ปัญหามีโอกาสที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีกตามหลักการสากลแล้ว (ตามข้อเสนอแนะของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) จะต้องดำเนินการไปด้วยกันสี่ขั้นตอนตามหลักกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (ศัพท์ทางวิชาการ) (Transitional Justice – TJ) และทุกกรณีไม่ว่าเหตุการณ์ที่ลำพะยาและอื่นๆมาใช้โดยให้นำมาใช้ทั้งกับการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้งจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อลดความขัดแย้ง เกลียดชังโดยประสานกับหลักการความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restroative Justice -RJ) โดยจะต้องยึดหลักการตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่นนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่ได้รับความเคารพเชื่อถือ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหยื่อของความรุนแรงและสังคมรับทราบความจริง เข้าใจปัญหาและรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในแง่มุมต่างๆ อย่างเป็นภาวะวิสัยพร้อมทั้ง การชดเชย ฟื้นฟู แก้ไข เยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเช่นเดิม รวมทั้งการเยียวยาทางด้านจิตใจ ซึ่งที่ผ่านมาบุคคลดังกล่าวยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐเท่าที่ควร ความคับแค้นใจที่ยังคงดำรงอยู่ไม่เป็นดีอย่างยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพและการสร้างความปรองดองใน จชต. อีกทั้งการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลงโทษผู้กระทำผิด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะฝ่ายใด ที่สั่งการ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจในการก่ออาชญากรรมร้ายแรง โดยอาจนำหลักการของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice-RJ) มาใช้สำหรับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งสองฝ่ายด้วย

สิ่งสำคัญไม่ควรมองข้ามคือการปฏิรูปเชิงสถาบัน ทั้งในทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ จชต. โดยกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่สันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยท้ายสุดคือการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเยียวยาโดยพัฒนากลไกในการรับเรื่องร้องเรียน โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถเข้าถึงชุมชนและผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและได้รับผลกระทบมากกว่ากลไกของรัฐ โดยรัฐจะต้องประกันความปลอดภัยและความเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ร้องเรียนมีความมั่นใจและกล้าร้องเรียน การร้องเรียนเป็นการเปิดเผยความจริงของความขัดแย้งและปัญหาต่อรัฐต่อสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาและกระบวนการสันติภาพและพัฒนากลไกการร้องเรียนและตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อป้องปราม ค้นหาความจริงและให้มีการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างได้ผล ทั้งการตรวจสอบโดยกลไกในท้องถิ่น กลไกประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ที่เป็นอิสระ โดยกลไกเหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และข้อเสนอแนะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานของรัฐและรัฐบาล

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้ การช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเหยื่อและครอบครัว ฯลฯ การเยียวยาเป็นการบรรเทาความขัดแย้งที่ได้ผลระดับหนึ่ง ในขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับความสำเร็จ


หมายเหตุ : ฟังคลิปบทสัมภาษณ์หน่วยความมั่นคงหลังเยียวยาครอบครัวเหยื่อทหารพรานยิงประชาชน

เขียนโดย อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)