ผศ. ดร. มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม
หลังปฏิบัติภารกิจผู้สังเกตการเลือกตั้งระหว่างประเทศเสร็จ ผมก็มีโอกาสได้พูดคุยและเดินทางไปยังสถานที่สำคัญ ๆ หลายเมือง ยิ่งทำให้เห็นความสวยงามของประเทศนี้ในหลายแง่มุมซึ่งน่าทึ่งมาก ส่วนบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอุซเบกิสถานจะตามมาหลังปีใหม่ครับ แต่จะขอเล่าเกี่ยวกับความประทับใจสำหรับประเทศนี้เป็นข้อ ๆ เท่าที่นึกออกนะครับ เผื่อใครสนใจไปเที่ยว ส่วนผมตั้งใจจะไปอีกบ่อย ๆ
– อุซเบกิสถานตั้งอยู่ในเอเชียกลาง เป็นประเทศที่สวยงาม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีโบราณสถานที่สำคัญ ๆ สวยสดงดงามตระการตา
– ประชากรที่นี่ มีประมาณ 34 ล้านคน เป็นแหล่งรวมคนหลากเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ หน้าตาผสมผสานกันไปหมด จีน แขก ฝรั่ง เปอร์เซีย อาหรับ ฯลฯ อยู่ด้วยกันอย่างสันติ (มากๆ) ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติหรือเลือกปฎิบัติบนความแตกต่างทางศาสนา ภาษา ฯลฯ ไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีการปลุกระดมให้เกิดความแตกแยกไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่น ๆ คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 88 นับถือศาสนาอิสลาม รองลงมาเป็นคริสต์ และยิว ( ที่เมืองบุคคอรอ มียิวประมาณ 500 คน มี synagogue หรือโบสถ์ของตัวเอง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิสราเอลด้วย แต่ที่นี่อยู่กันอย่างปกติสุขร่วมกับชุมชนมุสลิมในเขตเมืองเก่า) คนพุทธแทบจะหาไม่เจอ ผมเจอครอบครัวหนึ่งมีเชื้อสายเกาหลี (เป็นอุซเบกเกาหลี แต่พูดเกาหลีไม่ได้ พูดได้แต่ภาษาอุซเบกกับภาษารัสเซีย) ก็นับถือศาสนาคริสต์
– ในปี 2018 อุซเบกิสถานถูกจัดอับดับโดย Gallup ให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดอันดับ 5 ของโลก เราอาจคุ้นชินกับประเทศที่มีคำว่า “สถาน ๆ” ทั้งหลาย ว่าเต็มไปด้วยความรุนแรงและอันตราย แต่ที่นี่ปลอดภัยมาก ไม่มีอาชญากรรม มีคนต่างชาติหลายคนไปอยู่ที่นั้น แล้วชอบความสงบสุขเรียบร้อย ความปลอดภัย จนไม่กลับประเทศ หลายคนได้สัญชาติเลย มีคนต่างชาติคนหนึ่งไปอยู่ที่นั่น แล้วบอกผมว่าคนที่นี่ดีมากๆๆๆ ต่อให้คุณเอาเงินไปตั้งไว้ข้างถนนเป็นล้าน ก็ไม่มีใครมายุ่งกับมัน ในประเทศนี้แทบจะไม่มีข่าวอาชญากรรมเลย
– อุซเบกิสถานมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกหลายแห่ง แต่น่าแปลกว่าไม่มีเก็บค่าเข้าชม ทั้งที่ไม่ได้เป็นประเทศร่ำรวยอะไร ประเทศรวยๆ หรือหลายประเทศยังเก็บตังค่าเข้าทั้งนั้นเลย
– คนอุซเบกมีความภาคภูมิใจในศิลปะแขนงต่าง ๆ ของตัวเอง ทั้งสถาปัตกรรม การวาดลวดลายต่างๆ การเต้นรำ ร้องเพลง ฯลฯ การไม่เก็บค่าเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ อาจเพราะต้องการเผยแพร่ความสวยสดงดงามของประเทศตัวเองให้กับทุกคนได้เห็นบนความเท่าเทียม ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าชมได้ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากวิธีคิดแบบสังคมนิยมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยอดีตสหภาพโซเวียต
– อากาศดี หนาวมากในฤดูหนาว ฤดูร้อนก็ร้อนจัดในบางเมือง คนที่นั่นจะชอบอากาศช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน เพราะกำลังดีไม่ร้อนไม่หนาว
– รถไฟใต้ดินในทาชเค้นต์แต่ละสถานีมีสถาปัตกรรมไม่เหมือนกัน มีความงามคลาสสิคที่ให้บรรยากาศยุคสมัยโซเวียตและสงครามเย็นมาก บรรไดเลื่อนเป็นลายไม้เก่า ผมมีโอกาสโดยสารเพียงไม่กี่สถานี เสียดายมาก ค่าโดยสารก็ถูกมากน่าจะไม่ถึง 10 บาทตลอดสาย นั่งได้ทั้งวัน เปลี่ยนสายไปมาก็ได้ ไม่ต้องเสียตังเพิ่ม ค่าบริการสาธารณะต่าง ๆ ถือว่าถูกมาก เพราะเขายังมองว่ารัฐมีหน้าที่บริการและดูแลประชาชน ไม่ใช่ขูดรีดหรือเอื้อประโยชน์นายทุนนักธุรกิจ
ต่อ…ตอนที่ 2 ได้ที่ : https://www.theustaz.com/?p=1663
เขียนโดย Manoch Aree