Air Kubu Desaku tercinta
Artis : Soffwan&Wseam
Lirik : Ibnu desa
Melodi&Acapella : Abuyusuf Almenara
Air Kubu Desaku tercinta
Artis : Soffwan&Wseam
Lirik : Ibnu desa
Melodi&Acapella : Abuyusuf Almenara
อำเภอสายบุรีเป็นอีกหนึ่งอำเภอของจังหวัดปัตตานีที่มีแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่ควรรู้และน่าสนใจมากมาย มีท่าเรือใหญ่ในอดีตที่บรรดาพ่อค้าต่างประเทศมาค้าขายกันเป็นจำนวนมาก พอถึงช่วงมรสุม พ่อค้าเดินเรือมักหลบพายุบริเวณนี้ จึงกลายเป็นที่มาของคำว่าสลินดงบายู ซึ่งหมายถึงหลบพายุนั่นเอง
ใครที่ยังมีปัญหาคาใจกับลูกๆหรือสมาชิกในครอบครัวเรื่องพาเที่ยว วันนี้ขอเสนอโปรแกรม One day One night trip for family แบบจุใจคับแก้วสไตล์ theustaz.com นะครับ
เริ่มทริปนี้ด้วยจุดแรกที่ภูเขาสลินดงบายู ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาด้านหลังสำนักงานเทศบาลอำเภอตะลุบัน เป็นปากถ้ำขนาดไม่ใหญ่นัก แต่มีหินปิดสนิท ชาวตะลุบันมักใช้เวลาว่างเดินวิ่งในตอนเช้าและตอนเย็น กลายเป็นลานกีฬาประจำชุมชนก็ว่าได้ งานนี้หากร่างกายไม่ฟิตพอ มีหอบแน่ครับ แต่เชื่อว่าหากสามารถพิชิตเขาสลินดงบายูลูกนี้ได้ พร้อมชมทัศนียภาพรอบ ๆ ตัวอำเภอแบบ 360 องศา ซึ่งมีทั้งภูเขาทะเล แม่น้ำและบ้านในตัวอำเภอสายบุรีแล้ว ขอประกันว่าหายเหนื่อยเลยครับ
ที่สำคัญทั้งร่างกายและชุดกีฬาต้องพร้อมครับ ขอแนะนำว่าโปรแกรมนี้ ยิ่งเช้าก็ยิ่งดี ใครที่ประเมินตัวเองไม่ผ่าน ก็ต้องยอมรอด้านล่างก่อน เพราะทางขึ้นทั้งสูงทั้งชัน ส่วนใครที่มั่นใจในสุขภาพของตัวเอง นอกจากถนนสูงชันแล้ว ก็มีบันไดกว่า 300 ขั้น ท้าพิสูจน์สมรรถภาพทางหัวเข่าได้ครับ ไต่ไปหอบไป ก็ได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง ไม่ไหวจริง ๆ ก็พักคุยเก็บอาการไปพลางๆ ใช้เวลาที่นี่ไม่เกิน 1 ชม. ครับ
มีเรื่องราวลี้ลับควบคู่กับภูเขาลูกนี้ ซึ่งถือเป็นตำนานเล่าขานที่ยังมีกลิ่นอายของความเชื่อในภูตผีปีศาจและเมืองลับแลของคนในอดีตที่ตกทอดกันมา ผู้ปกครองควรใช้โอกาสนี้ ปลูกฝังลูกหลานให้รู้จักหลักความเชื่อที่ถูกต้องและบริสุทธิ์ตามคำสอนอิสลาม เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว อยู่ที่ผู้ใหญ่จะแต่งแต้มสีอะไรลงไป
ลงจากเขาก็ไปชมจุดที่สองคือ วังพระยาสายบุรี วังเจ้าเมืองโบราณสายบุรี วังที่ยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งเมืองปัตตานี สร้างเมื่อพ.ศ. 2428 ตัววังจะเป็นอาคารไม้ทั้งหลังสร้างด้วยไม้ตะเคียน เป็นอาคารสองชั้นหลังคาทรงปั้นหยา เป็นเรือนมุสลิมที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมของชาวชวา ในบริเวณวังพระยาสายบุรี มีมัสยิดรายาสร้างเมื่อ พ.ศ. 2428 เช่นกัน เป็นมัสยิดหลังแรกของเมืองสายบุรี ตัวอาคารเป็นรูปทรงปั้นหยาตามสถาปัตยกรรมชาวชวา ปัจจุบันได้รับการต่อเติมและบูรณะจากกรมศิลปากร มัสยิดรายาแห่งนี้คือจุดที่สามที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง
ตรงข้ามวังพระยาสายบุรี ก็เป็นวังพิพิธภักดี บริเวณด้านหน้ามีหอนาฬิกาเทศบาลเมืองตะลุบันสูงเด่นสวยงาม ซึ่งเป็นจุดที่สี่ของทริปนี้ รอบ ๆ วังเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายผลไม้ ถือเป็นย่านเศรษฐกิจของชาวตะลุบันที่ใครแวะเวียนแถวนี้ก็ต้องสะดุดตา ขอกระซิบดัง ๆ ว่าแหล่งช็อปชิมของจริงในเมืองตะลุบัน ก็อยู่แถวนี้แหล่ะครับ มื้อเที่ยงอย่าให้พลาดเชียว แต่หากจะลิ้มลองบรรยากาศร้านอาหารที่ขึ้นชื่อในเมืองตะลุบัน ก็ขอแนะนำ ครัวนาซิ อุลังค์ บังเฮ เลยครับ
ในตำนานเล่าว่า ความจริงวังพิพิธภักดีเรือนนี้ ไม่ใช่เป็นวัง แต่เป็นเรือนหอของหลานเจ้าเมืองสายบุรีคือตนกูอับดุลมุตอเล็บ ซึ่งได้แต่งงานกับลูกเจ้าเมืองยะหริ่งจึงสร้างเรือนหอแยกออกมาเป็นส่วนตัวแต่ที่เรียกวังพิพิธภักดี เพราะเป็นการให้เกียรติบุคคลสำคัญของวังยะหริ่งและวังสายบุรี
วังพิพิธภักดีเคยถูกทิ้งร้างมานานเกือบ 40 ปี เนื่องจากทายาทเจ้าของเดิมได้ขายจนกระทั่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งต่อมาเจ้าของไม่ได้ใช้งานจึงได้ประกาศขาย ทางชมรมมุสลิมะห์สายบุรีจึงติดต่อขอซื้อเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 ในราคา 10,500,000 บาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ควบคู่กับชาวตะลุบันต่อไป
ผู้เขียนมีความผูกพันกับที่นี่ เพราะครั้งหนึ่งเคยเวียนวนใช้ชีวิตในละแวกนี้เป็นเวลานานถึง 4 ปี กับเสื้อและกางเกงชุดขาวของโรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา บ่อยครั้ง หลังเลิกเรียนต้องเดินจากโรงเรียนมาที่นี่ เพื่อดูบอลทีมโปรด “ฉลามบก” ระยะทางไปกลับราว 5 กม. สมัยนั้นชิว ๆ มาก หรือไม่ก็ขึ้นรถโดยสารไม้โบราณสุดคลาสิก เพื่อซื้อข้าวซื้อปลาที่ตลาดสดตะลุบัน ซึ่งต้องผ่านเส้นทางนี้ประจำและทุกครั้งที่ดูบ้านสีขาวสะดุดตาอาคารร้างหลังนั้น ก็เกิดคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นของใครผู้ใดกัน
หลังรับประทานอาหารมื้อเที่ยง สถานที่เช็คอินจุดที่ห้าประจำทริปนี้คือ มัสยิดตะลุบัน เพื่อละหมาดซุฮรีและอัศรี สำหรับผู้เดินทาง มัสยิดแห่งนี้ขึ้นชื่อเป็นมัสยิดที่มีระบบการบริหารจัดการอันโดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการบัยตุลมาล โดยใช้ระบบซะกาตชุมชนมาประยุกต์ใช้ สามารถเก็บซะกาตได้ปีละหลายล้านบาท โดยข้อมูลจากอิมามหนุ่มชื่ออุสต๊าซฮาซัน มูดาวีย์ระบุว่า ในปีฮ.ศ.1442 ที่ผ่านมา มัสยิดสามารถเก็บซะกาตรวมมูลค่า 2.5 ล้านบาท นอกจากนี้ มัสยิดยังมีการจัดการศึกษา ตั้งแต่อนุบาลและประถมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอิมามนักพัฒนาผู้ล่วงลับ อุสต๊าซหะซัน นิมะตุลลอฮ์ (เราะฮิมะฮุลลอฮ์) เป็นผู้บุกเบิกและวางฐานที่มั่นคง ให้ชนรุ่นหลังได้สานต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด
หลังจากนี้ เป็นโหมดของหาดวาสุกรี มนต์เสน่ห์ของสลินดงบายู ซึ่งทริปนี้ขอแนะนำโฮมสเตย์ใหม่ซิงๆ ชนิดโฟร์อินวันไปเลย ถึงแม้ยังอยู่ในระหว่างเตรียมพร้อม แต่ห้องนอน และห้องน้ำสำหรับ 1-2 ครอบครัว ขอการันตีว่าพร้อมบริการ
สลินดงบายูบีข คือแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ที่อยากแนะนำประจำทริปนี้ครับ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามศูนย์ศิลปาชีพบ้านปาตาติมอ
ที่นี่มีพร้อมทั้งห้องอาหาร ห้องพักแบบโฮมสเตย์ ห้องประชุมขนาด 30 คน ร้านมินิมาร์ท สนามขับรถเด็กแบตเตอรี่ที่เตรียมให้เด็ก ๆ สนุกสนานเต็มอิ่มถึง 15 คัน เราสามารถจัดโปรแกรมช่วงเย็นด้วยการขับเรือกอและ ชมวิวแม่น้ำสายบุรีทั้งสองฟากฝั่ง สัมผัสชีวิตวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหาหอยปลาเพื่อเตรียมปิ้งย่างในคืนนี้ หากจับปลาไม่ได้ ก็มีแผงขายอาหารทะเลสดๆที่อยู่ไม่ไกลจากสลินดงบายูบีขมากนัก รับรองว่าทั้งสดทั้งราคาถูก ช๊อปจนมือแทบสั่น คืนนี้หลังกิจกรรมปิ้งย่าง ก็นอนพักที่นี่สักคืน รอลุ้นกิจกรรมเข้าวันรุ่งขึ้น ติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณอัดลี สือนิ โทร 0862979732
พรุ่งนี้เช้า ตื่นตาตื่นใจกับการล่องเรือสู่เกาะยือลาปีหรือเกาะเลาปี เป็นเกาะที่นักดำน้ำยกย่องให้เป็นเกาะมหัศจรรย์ของอ่าวไทยตอนล่าง ถือเป็นจุด Unseen แห่งใหม่ของจังหวัดปัตตานี เป็นเกาะเดี่ยวกลางทะเล หากยืนอยู่บนเกาะสามารถชมทิวทัศน์ท้องทะเลในมุม 360 องศา ใต้ผืนทะเลรอบ ๆ เกาะมีดอกไม้ทะเลและทุ่งปะการัง เช่น ปะการังฟองน้ำครก รวมถึงฝูงปลาจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับคือกัลปังหาสีชมพู กัลปังหาที่บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ถึงขีดสุดของท้องทะเลอ่าวไทย ใครรักการดำน้ำ ชื่นชอบชีวิตใต้ท้องทะเล “เกาะยือลาปี” คือจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด ชาวบ้านบอกว่าช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงทะเลกำลังสวย คลื่นสงบ
เกาะนี้ก็ไม่พ้นตำนานอภินิหารที่เป็นเรื่องราวเล่าขานมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่มีใครที่สามารถพิสูจน์ได้ ผู้ปกครองควรปลูกฝังให้ลูกหลานเคารพเขื่อฟังพ่อแม่ และอันตรายของลูกอกตัญญู โดยยกคำสอนที่ถูกต้องในอิสลามจะดีที่สุดครับ
ทริปล่องเรือชมเกาะยือลาปีควรเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ควรพกพาน้ำดื่มและอาหารเช้ารองท้องไปก่อน แล้วกลับมาที่พักสิบโมงเข้า พร้อมข้าวยำตะลุบันที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในปฐพี
อย่าลืมว่าทริปนี้เป็นทริปครอบครัวหรือเพื่อนฝูง อย่าละเลยเรื่องละหมาดตามผู้นำ ขอย้ำเรื่องความสะอาด และมารยาทต้องเป็นที่หนึ่งเสมอ
ขอให้สนุกกับทริปนี้และเดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ
วัสสลาม
โดย Mazlan Muhammad
เชื่อว่าหลายครอบครัวกำลังวางแผนใช้เวลาหยุดยาวสิ้นปีกับการเดินทางและท่องเที่ยวเพื่อให้รางวัลชีวิตกับสมาชิกในครอบครัว และบางคนเพิ่งเดินทางกลับจากโครงการพาเที่ยวหมาด ๆ
สำหรับครอบครัวที่มีโครงการท่องเที่ยวแบบพอเพียง ในสถานการณ์ New normal เช่นนี้ ขอแนะนำทริปหนึ่งวันพร้อมครอบครัวทริปนี้ครับ โดยเฉพาะชาวจังหวัดยะลาหรือใกล้เคียง หากเป็นคนนอกพื้นที่ขอแนะว่าควรค้างคืนที่ยะลา ก่อนจะตะลุยในวันรุ่งขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่
จุดแรกที่อยากแนะนำคือ จุดชมวิวแห่งใหม่ที่เชิงเขา หมู่ 2 บ้านบันนังลูวา ห่างจากเมืองยะลาไปทางเส้นทางยะหาไม่ถึง 10 กม. ซึ่งภายหลังการปรับปรุงภูมิทัศน์และถนนเลียบชายคลองเชิงเขาหน้าถ้ำทำให้ชาวบ้านทั้งในและต่างพื้นที่ให้ความสนใจเที่ยวชมเป็นจุดเช็กอินที่ได้รับความนิยมกันอย่างล้นหลาม หากไปในชั่วโมงปกติ อาจต้องจอดรถไกลและต้องเดินเข้าอีกหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ แต่หากมาถึงราว 06.00-08.30 น. ช่วงนี้บรรยากาศยังเงียบเหงาไร้ผู้คน สามารถพารถยนต์เข้ามาในบริเวณได้สะดวก แถมไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ จะมีบ้างก็เป็นชาวบ้านที่ออกมาเดินวิ่งหรือทีมนักปั่นที่มักมาเซลฟี่เก็บภาพเป็นที่ระลึก ก่อนแยกย้ายไปตามเป้าหมายต่อไป
หากใส่ชุดวอร์ม สวมรองเท้า ก็สามารถใช้เวลาช่วงนี้เดินวิ่งเพื่อสุขภาพ เติมเต็มบรรยากาศสุดคลาสิกอีกแบบหนึ่ง ยิ่งมีคลิปตอนออกกำลังกาย โดยมีฉากหน้าผาสูงชันและปากถ้ำที่ดูลึกลับแล้ว รับรองว่าสามารถเพิ่มอรรถรสกับทริปนี้มากมายครับ
ข้อเสียที่มาในช่วงนี้คือ หากมีเด็กเล็ก ก็จะพลาดโอกาสขึ้นรถไฟหรรษาหรือรถบังคับและเรือเป็ดที่เริ่มเปิดบริการตั้งแต่ 9 โมงเป็นต้นไป แต่เรามีข้อเสนอด้วยสิ่งทดแทนที่ไฉไลกว่านี้ครับ ส่วนมื้อเช้า ก็สามารถจอดรถริมทางตอนออกจากจุดเช็คอิน มีร้านรวงของชาวบ้านกับอาหารพื้นเมืองที่ทานได้แบบไร้กังวล แต่ถ้าจะให้ฟินสุดๆ ก็เตรียมซื้ออาหารเช้าล่วงหน้า พร้อมเตรียมชาร้อนที่ชงมาจากบ้าน ปูเสื่อเลียบชายคลองหน้าถ้ำ ก็สร้างมูลค่าเพิ่มกับอาหารมื้อเช้าได้มากโข ที่สำคัญ เวลา 08.00 น. ควรออกจากจุดแรกนี้ เพื่อไปต่อครับ
ออกจากที่นี่ ไปตามถนนสี่เลนยะลา- ดอนยาง สาย 418 ซึ่งอาจแวะเติมน้ำมันรถที่ปั้มปตท . ท่าสาป ทั้งเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและซื้อขนมขบเคี้ยวตามใจต้องการ เสร็จแล้วก็มุ่งสู่จุดที่สองคือสวนบายใจนิ๊ ยาบีฟาร์ม ใช้เวลาเดินทางปกติจจากปั้มปตท.ท่าสาปประมาณ 15 นาที แต่ขอบอกว่า หากเป็นคนนอกพื้นที่ ควรศึกษาเส้นทางให้ดี อย่าไว้ใจ GPS มากนัก ขนาดไปมาแล้ว 2-3 ครั้ง ก็เจอปัญหาแทบทุกครา หากจะใช้ GPS ควรปักหมุดที่อบต.ลิปะสะโงครับ ถึงที่นี่ ก็ถึงที่หมายชัวร์ ที่สำคัญต้องถึงที่นี่ ก่อน 9 โมงเช้าครับ เด็ก ๆ จะได้เล่นน้ำจุใจ ไม่ต้องแย่งกับผู้คน ยอมรับว่า หลังปรับปรุงใหม่ ที่นี่น่าจะเป็นสวนสวรรค์กลางทุ่งที่ใหญ่ที่สุดใน 5 จังหวัดภาคใต้ทีเดียวครับ ทั้งบ้านกลางน้ำ สไลเดอร์ สระว่ายน้ำ และเรือเป็ด อาจเผื่อเวลาให้ลูกหลานสนุกสนานที่นี่อย่างน้อยชั่วโมงครึ่ง แต่ขอแนะนำว่า กิจกรรมเล่นน้ำ ควรเป็นกิจกรรมสุดท้ายก็แล้วกัน ช่วงแรกให้เป็นช่วงเวลาเซลฟี่บรรยากาศสวยๆกับการปั่นเป็ดน้ำท่ามกลางบรรยากาศชิว ๆ ไปก่อนครับ คลื่นมหาชนเริ่มทยอยเข้ามา 10 โมงขึ้นไป คณะของเราก็เริ่มเตรียมตัวออกจากที่นี่โดยพลัน
เป้าหมายจุดที่สามของทริปนี้คืออาหารมื้อเที่ยงในเมืองปัตตานี ซึ่งมีร้านอาหารขึ้นชื่อมากมายหลากหลายรสชาติ ตั้งแต่รสขาติดั้งเดิมประจำท้องถิ่น อาหารสไตล์อาหรับ แขกปากี จีน เกาหลียันญี่ปุ่น ขอบอกว่ามีครบครัน อร่อยทุกเมนู แต่ทริปนี้อยากชวนผู้อ่านพาครอบครัวรับประทานมื้อเที่ยงที่อาเซี่ยนมอลล์ ที่นี่มีเมนูอาหารหลากหลายแสนอร่อย เพราะนอกจากได้มีโอกาสตากแอร์เย็นฉ่ำแล้ว ยังสามารถสนับสนุนธุรกิจวากัฟของพี่น้องมุสลิม ปลูกฝังลูกหลานให้มีความเคยชินกับการบริจาคทาน แม้ด้วยสิ่งเล็กน้อยก็ตาม ที่สำคัญได้ร่วมละหมาดยะมาอะฮ์พร้อมกันที่มัสยิด ซึ่งอยู่ติดกับห้างอย่างสบายอุรา ไปทริปไหน อย่าลืมปลูกฝังลูกหลาน ละหมาดร่วมกันที่มัสยิดด้วยครับ อีกเรื่องขอย้ำเรื่องความสะอาด
ยามบ่ายแก่ ๆ ก็เคลื่อนสมาชิกไปทัศนศึกษาตำนานโบราณสถานอันเป็นคู่บ้านคู่เมืองปาตานีในอดีต นั่นคือมัสยิดกรือเซะ ใช้เวลาที่นี่สัก 30 นาทีในการเก็บภาพและศึกษาประวัติศาสตร์ แล้วมุ่งหน้าสู่บางปู ชมมัสยิดตะอาวุน อันสวยงามตระการตา พร้อมขึ้นเรือลอดอุโมงค์โกงกางบนเส้นทางป่าชายเลนสุดอุดมสมบูรณ์ระดับประเทศทีเดียว สามารถติดต่อ ขอจองล่วงหน้าได้ตามสื่อโชเชียลและเฟสบุ๊คเพจได้ไม่ยากเย็น เผื่อเวลากับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่นี่สักชั่วโมงครึ่ง ก็สามารถดื่มด่ำบรรยากาศเต็มอิ่มแล้วครับ ขอบอกว่า ความสวยงามทั้งทางธรรมชาติและอัธยาศัยของชุมชนที่นี่ คือมนต์เสน่ห์ของบางปูที่คุณอาจลืมไม่ลง
จบทริปวันนี้ที่ชายหาดตะโล๊ะสะมีแล อ. ยะหริ่ง จ .ปัตตานี สามารถแหวกว่ายท่ามกลางเกลียวคลื่นและน้ำทะเลใส ๆ ชวนให้ลงไปสัมผัสคลื่นเบา ๆ ชิมบรรยากาศความเป็นธรรมชาติริมเล สูดอากาศบริสุทธิ์อย่างเต็มปอด
หลังชมตะวันตกดินที่แหลมตาชี ก็สามารถกลับบ้านได้ แต่หากจะอยู่ต่อ ก็สามารถค้างคืนเพื่อกิจกรรมปิ้งย่างช่วงกลางคืนและชมดวงอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้น โดยค้างแรมตามโฮมสเตย์ที่ขึ้นราวดอกเห็ด ราคามีตั้งหลักร้อยถึงหลักพัน หากจะให้ชัวร์ ควรจองล่วงหน้าครับ รับรองว่า เป็นค่ำคืนที่คงหลับยาว เพราะน่วมกับทริปอันแสนวิบากนี้ จึงขอแนะนำว่า ควรหาโฮมสเตย์ที่มีแอร์นะครับ
เป็นความสุขใกล้ตัวที่หาได้จากที่นี่ เด็ก ๆ เล่นน้ำทะเลกันอย่างสนุกสนาน ผู้ปกครองได้พักผ่อนหย่อนใจพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ วิถีแห่งความเรียบง่ายด้วยสโลว์ไลฟ์ที่หลายคนใฝ่หา ปลายด้ามขวานแห่งนี้ ยังคงมีความงดงามของธรรมชาติ ทุกคนมีน้ำใจ เป็นความจริงที่สัมผัสได้และยังคงอยู่ในดินแดนแห่งนี้
สุดท้ายจริง ๆ ไปเที่ยวที่ไหน ขอให้รักษาอย่างน้อยสามอย่างนี้ครับ 1. รักษาละหมาด 2. รักษามารยาท และ 3. รักษาความสะอาด
โดย Mazlan Muhammad
7 พฤศจิกายน 2555
วันที่สองของการเดินทาง เราได้ถึงเมืองรอยฮานียะฮ์ เมืองทางตอนใต้ตุรกีติดชายแดนจังหวัดอิดลิบแห่งซีเรีย เราเริ่มลุยสถานพยาบาลชั่วคราว ซึ่งสมาคมแพทย์ซีเรียเป็นผู้ดูแล โดยใช้อาคารหอพักเป็นที่ทำการ ก่อนเข้าสถานที่แห่งนี้ ต้องพูดคุยต่อรองนานพอสมควร เพราะมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก แต่สุดท้ายก็ได้รับอนุญาต ที่นี่เป็นสถานที่พยาบาลคนเจ็บที่ถูกขนย้ายมาจากชายแดนซีเรียซึ่งการเดินทางปกติใช้เวลาเพียง 2 ชม.เท่านั้น แต่กับสภาวะที่เต็มไปด้วยจุดตรวจที่เข้มงวด พวกเขาต้องใช้เวลากว่า 2 วันกว่าจะเข้าเขตตุรกี จำนวนคนเจ็บที่รักษาที่นี่เกือบ 100 คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บางคนแขนขาด ขาพิการ กระดูกสันหลังหัก ถูกกระสุนที่ศรีษะ แต่ที่รู้สึกขัดใจที่สุดคือ ทั้งผู้บาดเจ็บและญาติผู้ดูแล ดูดบุหรี่ควันโขมงเต็มห้อง แม้กระทั่งร้านขายของใต้ตึกพยาบาล ก็สังเกตมีบุหรี่วางขายกันเกลื่อน เราเดินแจกเงินรายละ 100 ดอลล่าร์ และเตือนว่า ห้ามนำเงินนี้ไปซื้อบุหรี่โดยเด็ดขาด พร้อมมอบเงินจำนวนหนึ่งให้สถานพยาบาลแห่งนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้
แต่ที่สะเทือนใจเป็นที่สุดไปเมื่อเข้าห้องหนึ่ง พบชายอายุประมาณ 40 ปีต้น ๆ มีสมาชิกครอบครัวดูแล 2-3 คน และเป็นห้องเดียวที่ผู้เขียนสามารถสูดลมหายใจเต็มปอด เพราะนอกจากไร้ควันบุหรี่แล้ว ยังรับรู้ถึงบรรยากาศที่เงียบสงบ บนเตียงมีอัลกุรอานเล่มเล็กวางไว้ ในใจจึงคิดว่า ชายผู้บาดเจ็บคนนี้ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา
หลังพูดคุยทราบว่า ท่านโดนจรวดของทหารบัชชาร์ถล่ม เมื่อเดือนกันยายน 2555 ขณะที่จะไปติดต่อราชการที่ศาลเมืองเอเลบโป แรงระเบิดทำให้โดนศรีษะ ลำคอ และส่วนอื่น ๆ ตามร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองนาน 14 วัน เรามีโอกาสเจอท่าน หลังเกิดเหตุการณ์สุดระทึกนี้เพียง 2 เดือน
ท่านรอดชีวิตราวปาฏิหาริย์ แต่การพูดจาเชื่องช้าและไม่ค่อยชัด ทันทีที่เราบอกว่ามาจาก ปัตตานี ภาคใต้ของประเทศไทย เขาบอกด้วยเสียงที่เชื่องช้าและสั่นเครือว่า ทำไมไม่ไปช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมโรฮิงญา ที่โน่นเดือดร้อนกว่าเรา ฟังแล้วกลั้นน้ำตาไม่อยู่จริง ๆ ท่านถามเรื่องราวปัตตานีเสมือนท่านมีข้อมูลอันมากมาย
พอคุยอีกจึงรู้ว่าท่านคืออุละมาอฺที่ยิ่งใหญ่ มีผลงานเขียนตำรามากกว่า 50 เล่ม มีรายการโทรทัศน์ที่มีคนอาหรับติดตามเป็นจำนวนมาก ท่านชื่อ
أ. د . أحمد بن عبد الكريم نجيب أبوالهيتم الشهبائي
ฉายาของท่านคืออะบุลฮัยตัมหรือ อะบุดดัรดาอฺ มีเชื้อสายจากท่านนบี (ชะรีฟ) เป็นชาวเอเลบโป
พี่น้องลองหาชื่อนี้ในยูทูป จะรู้ว่าชายคนนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน ท่านเป็นผู้อำนวยการศูนย์ตำราโบราณที่ยังเขียนด้วยลายมือ ท่านพิการสายตาทั้งสองข้าง แต่ท่านตระเวนไปยังยุโรปและประเทศอาหรับเพื่อเผยแพร่งานเขียนของท่านในงานมหกรรมหนังสือต่าง ๆ
ติดตามผลงานของท่านได้ที่
https://www.facebook.com/dr.a.a.najeeb
บันทึกการเดินทางโดย Mazlan Muhammad
วันหนึ่งโยฮาขี่ลาของเขาผ่านชุมชนหนึ่ง มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งต้องการเยาะเย้ยโยฮา
จึงพูดว่า “โอ้โยฮา พวกเราต่างรู้จักลาของท่านเป็นอย่างดี แต่เรายังไม่รู้จักท่านดีพอ”
โยฮาตอบเสียงเรียบ ๆ ว่า “ปกติดีนี่ครับ ธรรมชาติของลา มักรู้จักเฉพาะสมาชิกในสมาคมของมันเท่านั้น”
โดย Mazlan Muhammad
วันหนึ่งโยฮายืมหม้อของเพื่อนบ้านใบหนึ่ง พอถึงเวลาส่งคืน ก็มีหม้อเล็กๆ อีกใบแถมให้ เพื่อนบ้านแปลกใจ ทำไมถึงมีหม้อเล็กเพิ่มอีกใบหนึ่ง โยฮาตอบว่าหม้อใบเก่าคลอดลูกออกมาเป็นหม้อเล็ก ดังนั้นมันจึงเป็นสิทธิ์ของท่าน เพื่อนบ้านจึงรีบเก็บหม้อทั้งสองใบด้วยความดีใจ
เวลาผ่านไปหลายเดือน โยฮามาขอยืมหม้อใบเดิมจากเพื่อนบ้านคนเดิมอีกครั้ง เพื่อนบ้านจึงรีบมอบหม้อใบเดิม แต่คราวนี้ โยฮาไม่ไปนำคืน ถึงแม้เวลาผ่านไปนานมากแล้ว เขาจึงไปหาโยฮาที่บ้าน จึงพบว่า โยฮากำลังนั่งร้องไห้
เพื่อนบ้าน : ร้องไห้ทำไมหรือโยฮา
โยฮา : หม้อของท่านตายแล้วเมื่อวาน
เพื่อนบ้าน : มันจะตายได้อย่างไร ข้าไม่เชื่อหรอก
โยฮา : ท่านเชื่อหม้อคลอดได้ แต่ไม่เชื่อว่ามันตายหรือ
โดย Mazlan Muhammad
เช้าวันหนึ่ง ขณะที่โยฮาเดินจ่ายตลาด มีชายคนหนึ่งเดินมาจากด้านหลังตบแก้มเขาอย่างจัง โยฮาโกรธมาก จึงคว้าคอชายคนนั้น เพื่อจะเอาคืน ชายคนนั้นกลัวจนตัวสั่น พลางกล่าวว่า “นายครับ ผมขอโทษ ผมตบผิดคน” แต่โยฮาไม่ยอมความ จึงนำเรื่องฟ้องกอฎี
ณ ห้องพิจารณาคดี หลังทราบเรื่องราว กอฎีซึ่งรู้จักมักคุ้นกับคู่กรณีของโยฮา ได้ส่งสายตาให้เพื่อนเขา ทำนองว่า “ไม่ต้องห่วงเพื่อน เดี๋ยวฉันจัดการให้ “ ว่าแล้วก็ตัดสินให้คู่กรณีจ่ายค่าเสียหาย 20 ดีนาร์ ซึ่งเป็นเงินที่มีจำนวนมาก คู่กรณีจึงโอดครวญว่า “ข้าแต่ผู้พิพากษาข้าไม่มีเงินแม้แต่ดิรฮัมเดียว” กอฎีจึงออกคำสั่งให้คู่กรณีกลับไปนำเงินมาเดี๋ยวนี้ โดยปล่อยให้โยฮานั่งรออยู่ที่ห้อง
เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง จนเกือบหมดเวลาราชการ ก็ยังไม่เห็นคู่กรณีปรากฏตัวแม้แต่เงา เขาจึงรู้ว่า นี่คงเป็นอุบายของกอฎีเจ้าเล่ห์คนนี้อย่างแน่นอน เขาจึงไปหากอฎี แล้วตบแก้มเขาสุดแรง จนหมวกประจำตำแหน่งหลุดกระเด็น พลางกล่าวว่า “ข้าแต่ผู้พิพากษาที่เคารพยิ่ง หากคู่กรณีของข้านำเงิน 20 ดีนาร์ ท่านจงรับแทนข้าด้วยเถิด เงินดังกล่าว หะลาลสำหรับท่าน “ ว่าแล้วก็เดินออกจากไป
โดย Mazlan Muhammad
เป็นสถานที่ที่พูดได้เต็มปากเลยว่า
“ถ้ามาหนานจิงแล้วไม่ได้มามัสญิดจิ้งเจว๋จะเสียดายมาก” 净觉寺 สวยงาม ดีงาม ใหญ่โต มีประวัติศาสตร์
มัสญิดจิ้งเจว๋ 净觉寺 Jingjue Mosque เมืองหนานจิง
มัสญิดหลังนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของจักรพรรดิหงอู่ 洪武皇帝 Hongwu Emperor (หรือ จูหยวนจาง Zhu Yuanzhang 朱元璋 ) จักรพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง เริ่มสร้างในปี ค.ศ.1388 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 1392
ระหว่างการปกครองของจักรพรรดิเซวียนเต๋อ 宣德帝 Xuande Emperor เจิ้งเหอได้ขอให้มีการปรับปรุงบูรณะมัสญิดในปี ค.ศ. 1430 เนื่องจากก่อนหน้านี้บางส่วนของมัสญิดเสียหายจากเหตุไฟไหม้
ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ในสมัยจักรพรรดิเจียจิ้งแห่งราชวงศ์หมิง 嘉靖帝 Jiajing Emperor มีการขยายพื้นที่และบูรณะเพิ่มเติม
หลังจากนั้นก็มีการบูรณะมาตลอด ในปี ค.ศ. 1492, 1877, 1879, 2500, 1982, 1984 และ 2002
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สมัยกบฏไท่ผิง มัสญิดถูกลดขนาดพื้นที่จากเดิม 264 เอเคอร์ เหลือเพียง 1,650 ตารางเมตร เพื่อลดหนี้จากการที่มัสญิดค้างชำภาระภาษี
โครงสร้างปัจจุบันของมัสญิดสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายและพื้นที่ลดลงอีก ในปี ค.ศ. 2007
ในปี ค.ศ. 2014 มัสญิดได้รับการบูรณะใหม่โดยการสนับสนุนจากเทศบาลหนานจิง
ต่อมารัฐบาลได้รวมโรงเรียนประถมที่อยู่ติดกันเข้าไปในพื้นที่มัสยิด จึงเป็นการเพิ่มพื้นที่มัสญิดขึ้นเป็นสองเท่า
การเดินทางง่าย ๆ เลย รถไฟใต้ดิน (Nanjing Metro) ลงที่สถานีซานซานเจย์ 三山街站 Sanshanjie station
อ้างอิง :
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Jinjue_Mosque
FB: อุมมะฮฺ อิสลาม
เราไม่ทิ้งกัน
ในวันที่เธอเดียวดายและมืดมน
รู้สึกสับสนเลี้ยวมองไม่เหลือใคร
ชีวิตนั้นดูเหมือนไร้ทางไป
หัวใจของเธอสิ้นหวัง
วันที่ชีวิตเธอจมลงอับปาง
คลื่นลมพัดเธอออกไปไกลฝั่ง
แต่อย่าเพิ่งหมดหวังในความโปรดปราน
ตราบที่เธอนั้นยังมีลมหายใจ
ราตรีที่มืดมน
ปกคลุมโลกได้ไม่นาน
ชีวิตก็เช่นกัน พรุ่งนี้ก็คงสดใส
แต่สิ่งที่สำคัญ ยิ่งกว่าสิ่งใด
นั่นก็คือสายใยพี่น้องร่วมศรัทธา
เราจะเคียงข้างกัน จะอยู่ตรงนี้กับเธอ
ในเวลาที่เจอเรื่องราวเลวร้าย
ยามหิวจะทำให้อิ่ม
จะให้รอยยิ้มทดแทนความเศร้าเสียใจ
จับมือเดินฝ่ากันไป
เราไม่ทิ้งกัน
ร่วมกันฝ่าฟันไป
เราไม่ทิ้งกัน
———————-
ศิลปิน Abuyusuf Almenara
เนื้อร้อง Ibnu Desa & Abuyusuf Almenara
ทำนอง/ อะคาเปล่า Abuyusuf Almenera
ถ่ายทำ NV theustaz.com